พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๒ หน้าที่ ๒๐
๖. วิมุตตายตนสูตร
ว่าด้วยเหตุแห่งวิมุตติ
[๒๖] ภิกษุทั้งหลาย เหตุแห่งวิมุตติ ๕ ประการนี้ ซึ่งเป็นเหตุให้จิต ของ ภิกษุ ผู้ไม่ประมาท มีความเพียร อุทิศกายและใจอยู่ ที่ยังไม่หลุดพ้น ย่อมหลุดพ้น อาสวะที่ยังไม่สิ้นไป ย่อมถึงความสิ้นไป หรือเธอย่อมบรรลุธรรม อันเป็นแดนเกษม จากโยคะอันยอดเยี่ยม ที่ยัง ไม่ได้บรรลุ
เหตุแห่งวิมุตติ ๕ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ศาสดาหรือเพื่อนพรหมจารี ผู้ตั้งอยู่ในฐานะครูบางรูป แสดงธรรมแก่ ภิกษุ ในธรรมวินัยนี้ เธอรู้แจ้งอรรถ รู้แจ้งธรรมในธรรมนั้น ตามที่ศาสดา หรือ เพื่อน พรหมจารี ผู้ตั้งอยู่ในฐานะครู บางรูป แสดงแก่เธอ เมื่อเธอ รู้แจ้งอรรถ รู้แจ้งธรรม ย่อมเกิดปราโมทย์ เมื่อมีปราโมทย์ ย่อมเกิดปีติ เมื่อใจมีปีติ กายย่อมสงบ เธอมีกาย สงบ ย่อมได้รับสุข เมื่อมีสุข จิตย่อมตั้งมั่น นี้เป็นเหตุแห่งวิมุตติประการที่ ๑ ซึ่งเป็นเหตุให้จิตของภิกษุผู้ไม่ประมาท มีความเพียร อุทิศกาย และใจอยู่ ที่ยังไม่ หลุดพ้น ย่อมหลุดพ้น อาสวะที่ยังไม่สิ้นไป ย่อมถึงความสิ้นไป หรือเธอย่อม บรรลุธรรม อันเป็นแดนเกษม จากโยคะอันยอดเยี่ยม ที่ยังไม่ได้บรรลุ
๒. ศาสดาหรือเพื่อนพรหมจารี ผู้ตั้งอยู่ในฐานะครูบางรูป ไม่ได้แสดงธรรมแก่ภิกษุ แต่ภิกษุแสดงธรรม ตามที่ตนได้สดับมา ตามที่ตนได้เรียนมา แก่ผู้อื่น โดยพิสดาร เธอรู้แจ้งอรรถ รู้แจ้งธรรมในธรรมนั้น ตามที่ภิกษุแสดงธรรม ตามที่ตนได้ สดับมา ตามที่ตนได้เรียนมา แก่ผู้อื่นโดยพิสดาร เมื่อเธอรู้แจ้งอรรถ รู้แจ้งธรรม ย่อม เกิดปราโมทย์ เมื่อมีปราโมทย์ ย่อมเกิดปีติ เมื่อใจมีปีติ กายย่อมสงบ เธอมีกายสงบ ย่อมได้รับสุข เมื่อมีสุข จิตย่อมตั้งมั่น นี้เป็นเหตุแห่งวิมุตติประการที่ ๒ ซึ่งเป็นเหตุให้จิต ของภิกษุผู้ไม่ประมาท ฯลฯ หรือเธอย่อมบรรลุธรรม อันเป็นแดน เกษมจากโยคะ อันยอดเยี่ยมที่ยังไม่ได้บรรลุ
๓. ศาสดาหรือเพื่อนพรหมจารี ผู้ตั้งอยู่ในฐานะครูบางรูป ไม่ได้แสดงธรรม แก่ภิกษุ แม้ภิกษุ ก็ไม่ได้แสดงธรรม ตามที่ตนได้สดับมา ตามที่ตนได้เรียนมา แก่ผู้อื่นโดยพิสดาร แต่ภิกษุสาธยายธรรม ตามที่ตนได้สดับมา ตามที่ตนได้เรียนมาโดยพิสดาร เธอ รู้แจ้งอรรถ รู้แจ้งธรรม ในธรรมนั้น ตามที่ภิกษุสาธยายธรรม ตามที่ตน ได้สดับมาตามที่ตนได้เรียนมา โดยพิสดาร เมื่อเธอรู้แจ้งอรรถรู้แจ้งธรรม ย่อมเกิดปราโมทย์ เมื่อมีปราโมทย์ ย่อมเกิดปีติ เมื่อใจมีปีติ กายย่อมสงบ เธอมีกาย สงบ ย่อมได้รับสุข เมื่อมีสุข จิตย่อมตั้งมั่น นี้เป็นเหตุแห่ง วิมุตติประการที่ ๓ ซึ่งเป็นเหตุให้จิตของภิกษุผู้ไม่ประมาท มีความเพียร ฯลฯ หรือเธอย่อม บรรลุธรรม อันเป็นแดนเกษมจากโยคะอันยอดเยี่ยม ที่ยังไม่ได้บรรลุ
๔. ศาสดาหรือเพื่อนพรหมจารี ผู้ตั้งอยู่ในฐานะครูบางรูป ไม่ได้แสดงธรรม แก่ภิกษุ แม้ภิกษุก็ไม่ได้แสดงธรรม ตามที่ตนได้สดับมา ตามที่ตนได้เรียนมา แก่ผู้อื่น โดยพิสดาร ไม่ได้สาธยายธรรม ตามที่ตนได้สดับมา ตามที่ตนได้เรียนมาโดยพิสดาร แต่ภิกษุตรึกตาม ตรองตาม เพ่งตามด้วยใจซึ่งธรรมตามที่ตนได้สดับมา ตามที่ตน ได้เรียนมา เธอรู้แจ้งอรรถ รู้แจ้งธรรม ในธรรมนั้น ตามที่ภิกษุตรึกตามตรองตาม เพ่งตามด้วยใจ ซึ่งธรรมตามที่ตน ได้ สดับมา ตามที่ตนได้เรียนมา เมื่อเธอ รู้แจ้งอรรถ รู้แจ้งธรรม ย่อมเกิดปราโมทย์ เมื่อมีปราโมทย์ ย่อมเกิดปีติ เมื่อใจมีปีติ กายย่อมสงบ เธอมีกายสงบ ย่อมได้รับสุขเมื่อมีสุข จิตย่อมตั้งมั่น นี้เป็นเหตุแห่ง วิมุตติประการที่ ๔ ซึ่งเป็นเหตุให้จิตของภิกษุผู้ไม่ประมาท ฯลฯ หรือเธอย่อม บรรลุธรรม อันเป็นแดนเกษมจากโยคะอันยอดเยี่ยมที่ยังไม่ได้บรรลุ
๕. ศาสดาหรือเพื่อนพรหมจารี ผู้ตั้งอยู่ในฐานะครูบางรูป ไม่ได้แสดงธรรม แก่ภิกษุ แม้ภิกษุก็ไม่ได้แสดงธรรม ตามที่ตนได้สดับมา ตามที่ตนได้เรียนมาแก่ผู้อื่น โดยพิสดาร ไม่ได้ สาธยายธรรม ตามที่ตนได้สดับมา ตามที่ตนได้เรียนมา โดยพิสดาร และไม่ได้ตรึกตามตรอง ตามเพ่งตามด้วยใจซึ่งธรรมตามที่ตนได้สดับมา ตามที่ตนได้เรียนมา แต่เธอเรียนสมาธินิมิต อย่างใดอย่างหนึ่งมาดี มนสิการดี ทรงจำไว้ดีแทงตลอดดีด้วยปัญญา เธอรู้แจ้งอรรถ รู้แจ้งธรรม ในธรรมนั้น ตามที่เธอ ได้เรียนสมาธินิมิต อย่างใดอย่างหนึ่งมาดี มนสิการดี ทรงจำ ไว้ดีแทงตลอดดี ด้วยปัญญา เมื่อเธอรู้แจ้งอรรถรู้แจ้งธรรม ย่อมเกิดปราโมทย์ เมื่อมีปราโมทย์ ย่อมเกิด ปีติ เมื่อใจเกิดปีติ กายย่อมสงบเธอมีกายสงบ ย่อมได้รับสุข เมื่อมีสุข จิตย่อมตั้งมั่น นี้เป็นเหตุแห่งวิมุตติประการที่ ๕ ซึ่งเป็นเหตุให้จิตของภิกษุ ผู้ไม่ประมาท ฯลฯ หรือเธอย่อมบรรลุธรรม อันเป็นแดนเกษมจากโยคะ อันยอดเยี่ยม ที่ยังไม่ได้บรรลุ
ภิกษุทั้งหลาย เหตุแห่งวิมุตติ ๕ ประการนี้แล ซึ่งเป็นเหตุให้จิตของภิกษุ ผู้ไม่ประมาท มีความเพียร อุทิศกายและใจอยู่ ที่ยังไม่หลุดพ้น ย่อมหลุดพ้น อาสวะ ที่ยังไม่สิ้นไป ย่อมถึง ความสิ้นไป หรือเธอย่อมบรรลุธรรม อันเป็นแดนเกษมจาก โยคะ อันยอดเยี่ยมที่ยังไม่ได้บรรลุ
วิมุตตายตนสูตรที่ ๖ จบ |