เว็บไซต์ อนาคามี เผยแพร่ พุทธวจน คำสอนของพระศาสดา คำสอนตถาคต รวมพระสูตรสำคัญ อนาคามี เว็บไซต์เผยแพร่คำสอนของพระพุทธเจ้า
ค้นหาคำที่ต้องการ            

 
๒. เสลสูตร ทรงโปรดเสลพราหมณ์ (พระสูตรนี้เป็นอรรถกถา) 1378
 

(โดยย่อ)



เรื่องสำคัญของพระพุทธเจ้า
การบำเพ็ญบารมีในอดีตชาติ
การประสูติ แสงสว่าง แผ่นดินไหว
แสวงหาสัจจะบำเพ็ญทุกรกิริยา
ปัญจวัคคีย์หลีก สิ่งที่ตรัสรู้
ตรัสรู้ แสดงเทศนาปัญจวัคคีย์
ปลงสังขาร ปรินิพพาน
ลำดับขั้นการปรินิพพาน
เทวดาแสดงฤทธิ์ขณะถวายเพลิง
แบ่งพระสรีระออกเป็น ๘ ส่วน

๒. เสลสูตร ทรงโปรดเสลพราหมณ์ เป็นอรรถกถา
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง (ภาษาไทย) เล่มที่ ๑๓
สุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ หน้าที่ หน้าที่ ๔๑๔
 


(อรรถกถา)

พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๓ หน้าที่ ๔๑๔


๒. เสลสูตร
ทรงโปรดเสลพราหมณ์


พระเกียรติคุณของพระพุทธเจ้า

        [๖๐๔] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้:
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาค เสด็จเที่ยวจาริกไปในอังคุตราปชนบท พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ หมู่ใหญ่ประมาณ ๑๒๕๐ รูป เสด็จถึงนิคมของชนชาวอังคุตราปะอันชื่อว่าอาปณะ.

        ชฎิลชื่อเกณิยะได้สดับข่าวว่า พระสมณโคดมศากยบุตร เสด็จออกบวชจาก ศากยสกุล เสด็จจาริกไปในอังคุตราปชนบท พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ประมาณ ๑๒๕๐ รูป เสด็จถึงอาปณนิคมแล้วก็กิตติศัพท์อันงามของท่านพระโคดมพระองค์นั้น ขจรไปแล้ว อย่างนี้ว่า แม้เพราะเหตุนี้ๆ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น เป็นพระอรหันต์ ... เป็นผู้ เบิกบานแล้ว เป็นผู้จำแนกธรรม

        พระองค์ทรงทำโลกนี้ พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ให้แจ้งชัดด้วย พระปัญญาอันยิ่งของพระองค์เองแล้ว ทรงสอน หมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดา และมนุษย์ ให้รู้ตาม ทรงแสดงธรรมอันงาม ใน เบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด ทรงประกาศพรหมจรรย์ พร้อมทั้งอรรถ ทั้ง พยัญชนะ บริสุทธิ์ บริบูรณ์ สิ้นเชิง ก็การได้เห็นพระอรหันต์ ทั้งหลายเห็นปานนั้น ย่อมเป็นความดีแล.

เกณิยชฎิลนิมนต์เสวยภัตตาหาร

        [๖๐๕] ครั้งนั้นแล เกณิยชฎิลได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ได้ปราศรัยกับพระผู้มีพระภาค ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง.

        ครั้นแล้วพระผู้มีพระภาคทรงชี้แจง ให้เกณิยชฎิลเห็นแจ้ง ให้สมาทาน ให้ อาจหาญ ให้ร่าเริงด้วยธรรมีกถา.

        ลำดับนั้นแล เกณิยชฎิลอันพระผู้มีพระภาค ทรงชี้แจงให้เห็นแจ้ง ให้สมาทาน ให้อาจหาญ ให้ร่าเริง ด้วยธรรมีกถา แล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ขอพระโคดม ผู้เจริญ พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ โปรดทรงรับภัตตาหารของข้าพระองค์ในวันพรุ่งนี้ พระเจ้าข้า.

        เมื่อเกณิยชฎิลกราบทูลอย่างนี้แล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า ดูกรเกณิยะ ภิกษุสงฆ์ หมู่ใหญ่มีภิกษุประมาณ ๑๒๕๐ รูป และท่านก็เลื่อมใสในพราหมณ์ ทั้งหลาย.

        แม้ครั้งที่ ๒ เกณิยชฎิลก็กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ มีภิกษุประมาณ ๑๒๕๐ รูป และข้าพระองค์เลื่อมใสในพราหมณ์ ทั้งหลาย ก็จริง ถึงกระนั้นขอพระโคดมผู้เจริญ พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์โปรดทรงรับ ภัตตาหารของข้าพระองค์ในวันพรุ่งนี้ พระเจ้าข้า.

        แม้ครั้งที่ ๒ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสว่า ดูกรเกณิยะ ภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ มีภิกษุ ประมาณ ๑๒๕๐ รูป และท่านก็เลื่อมใสในพราหมณ์ทั้งหลาย.

        แม้ครั้งที่ ๓ เกณิยชฎิลก็ได้กราบทูล พระผู้มีพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระ โคดมผู้เจริญ ภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ มีภิกษุประมาณ ๑๒๕๐ รูป และข้าพระองค์เลื่อมใส ในพราหมณ์ทั้งหลายก็จริง ถึงกระนั้นขอพระโคดมผู้เจริญ พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ โปรดทรงรับภัตตาหารของข้าพระองค์ในวันพรุ่งนี้แหละ พระเจ้าข้า.

พระผู้มีพระภาคทรงรับโดยดุษณีภาพ.

        ครั้งนั้นแล เกณิยชฎิลทราบว่าพระผู้มีพระภาค ทรงรับอาราธนาแล้ว จึงลุก จากที่นั่ง เข้าไปยังอาศรมของตนแล้วเรียกมิตรอำมาตย์ และญาติสาโลหิตมาบอกว่า ดูกรท่านผู้เจริญทั้งหลาย ขอมิตรอำมาตย์ และญาติสาโลหิตทั้งหลายจงฟังข้าพเจ้า ข้าพเจ้านิมนต์พระสมณโคดม พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์มาฉันภัตตาหารในวันพรุ่งนี้ ขอท่านทั้งหลายพึงกระทำความขวนขวายด้วยกำลังกายเพื่อข้าพเจ้าด้วยเถิด.

        มิตรอำมาตย์ และญาติสาโลหิตทั้งหลาย รับคำเกณิยชฎิลแล้ว บางพวก ขุดเตา บางพวกผ่าฟืน บางพวกล้างภาชนะ บางพวกตั้งหม้อน้ำ บางพวกปูลาด อาสนะ. ส่วนเกณิยชฎิลจัดแจงโรงประรำด้วยตนเอง.

เสลพราหมณ์ได้ฟังคำว่าพุทโธ

        [๖๐๖] ก็สมัยนั้นแล พราหมณ์ชื่อว่าเสละ อาศัยอยู่ในอาปณนิคม เป็นผู้รู้จบ ไตรเทพพร้อมทั้งคัมภีร์นิฆัณฑุและคัมภีร์เกฏุกะ พร้อมทั้งประเภทอักษร มีคัมภีร์ อิติหาสะเป็นที่ ๕ เข้าใจตัวบท เข้าใจไวยากรณ์ ชำนาญในคัมภีร์โลกายตนะ และ ตำราทำนายมหาปุริสลักษณะ สอนมนต์ให้มาณพ ๓๐๐ คน. ก็สมัยนั้น เกณิยชฎิล เลื่อมใสในเสลพราหมณ์.

        ครั้งนั้น เสลพราหมณ์แวดล้อมด้วยมาณพ ๓๐๐ คน เดินเที่ยวไปมาเป็นการ พักผ่อน ได้เข้าไปทางอาศรมของเกณิยชฎิล. ได้เห็นชนทั้งหลายกำลังช่วย เกณิยชฎิล ทำงานอยู่ บางพวกขุดตา บางพวกผ่าฟืน บางพวกล้างภาชนะ บางพวก ตั้งหม้อน้ำ บางพวกปูลาดอาสนะ ส่วนเกณิยชฎิลกำลังจัดแจงโรงประรำด้วยตนเอง

        ครั้นแล้วจึงได้ถามเกณิยชฎิลว่า ท่านเกณิยจักมีอาวาหมงคล หรือวิวาหมงคล หรือ จักบูชามหายัญ หรือท่านทูลอัญเชิญพระเจ้าพิมพิสารจอมทัพ พระเจ้าแผ่นดิน มคธ พร้อมด้วยพลนิกาย มาเสวยพระกระยาหารในวันพรุ่งนี้. เกณิยชฎิลตอบว่า ข้าแต่ท่านเสละ ข้าพเจ้ามิได้มีอาวาหมงคล หรือวิวาหมงคล และมิได้ทูลอัญเชิญ เสด็จพระเจ้าพิมพิสาร จอมทัพพระเจ้าแผ่นมคธ พร้อมด้วยพลนิกาย มาเสวย พระกระยาหารในวันพรุ่งนี้

        แต่ข้าพเจ้าจักบูชามหายัญ คือมีพระสมณโคดมศากยบุตร เสด็จออกทรงผนวช จากศากยสกุล เสด็จจาริกมาในอังคุตราปชนบท พร้อมด้วย ภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ มีภิกษุประมาณ ๑๒๕๐ รูป เสด็จถึงอาปณนิคม ก็กิตติศัพท์อันงาม ของท่าน พระโคดม พระองค์นั้น ขจรไปแล้วอย่างนี้ว่า แม้เพราะเหตุนี้ๆ พระผู้มีพระภาค พระองค์นั้น เป็นพระอรหันต์ ... เป็นผู้เบิกบานแล้ว เป็นผู้จำแนกธรรม.

        ท่านพระโคดมพระองค์นั้นข้าพเจ้าทูลนิมนต์แล้วเพื่อเสวยภัตตาหารในวันพรุ่งนี้ พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์.
เส. ดูกรท่านเกณิยะ ท่านกล่าวว่า พุทโธ ดังนี้หรือ?
เก. ข้าแต่ท่านเสละ ข้าพเจ้ากล่าวว่า พุทโธ.
เส. ดูกรท่านเกณิยะ ท่านกล่าวว่า พุทโธ ดังนี้หรือ?
เก. ข้าแต่ท่านเสละ ข้าพเจ้ากล่าวว่า พุทโธ.

        ครั้งนั้นแล เสลพราหมณ์ได้มีความคิดว่า แม้แต่เสียงว่า พุทโธ นี้แล ก็ยาก ที่สัตว์ จะพึงได้ในโลก ก็มหาปุริสลักษณะ ๓๒ ประการ อันมาแล้วในมนต์ของเรา ทั้งหลาย ที่พระมหาบุรุษประกอบแล้ว ย่อมมีคติเป็น ๒ เท่านั้น ไม่เป็นอย่างอื่น คือ ถ้าอยู่ ครองเรือน จะได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิผู้ทรงธรรม เป็นพระราชาโดยธรรม เป็นใหญ่ ในแผ่นดินมีมหาสมุทร ๔ เป็นขอบเขต ทรงชนะวิเศษ มีพระราชอาณาจักร มั่นคง สมบูรณ์ด้วยรัตนะ ๗ ประการ คือ จักรแก้ว ๑ ช้างแก้ว ๑ ม้าแก้ว ๑ แก้วมณี ๑ นางแก้ว ๑ คฤหบดีแก้ว ๑ ปริณายกแก้ว ๑

        พระองค์มีพระราชโอรสมากกว่าพัน ล้วนกล้าหาญ มีรูปทรงสมเป็นวีรกษัตริย์ สามารถ ย่ำยีเสนาของข้าศึกได้ พระองค์ทรงชนะโดยธรรม โดยไม่ต้องใช้อาชญา ไม่ต้องใช้ ศาสตรา ทรงครอบครองแผ่นดินนี้ มีสมุทรสาคร เป็นขอบเขต ๑ ถ้าเสด็จออกผนวช เป็นบรรพชิต จะได้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า มีหลังคาคือกิเลส อันเปิดแล้ว ในโลก ๑

        ดูกรท่านเกณิยะก็ท่านพระโคดมอรหันต สัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น เดี๋ยวนี้ประทับ อยู่ที่ไหน?

เสลพราหมณ์เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า

        [๖๐๗] เมื่อเสลพราหมณ์ กล่าวถามอย่างนี้แล้ว เกณิยชฎิลยกแขนขวาขึ้น ชี้บอก เสลพราหมณ์ว่า ข้าแต่ท่านเสละ ท่านพระโคดมพระองค์นั้น เดี๋ยวนี้ประทับอยู่ ทางราวป่าอันเขียวนั่น.

        ลำดับนั้นแล เสลพราหมณ์พร้อมด้วยมาณพ ๓๐๐ คน ได้เดินเข้าไปทาง ที่ พระผู้มีพระภาคประทับอยู่. แล้วได้บอกมาณพเหล่านั้นว่า ท่านทั้งหลาย จงเงียบเสียง จงเว้นระยะ ให้ไกลกัน ย่างเท้าหนึ่งเดินมา ท่านทั้งหลาย จงเป็นเหมือน ราชสีห์ ตัวเดียวเที่ยวไปทุกเมื่อ และเมื่อกำลังเจรจากับท่านพระสมณ โคดม ท่านทั้งหลาย จงอย่าพูดสอดขึ้นในระหว่างๆ ขอจงรอคอยให้จบถ้อยคำ ของเรา.

        ลำดับนั้น เสลพราหมณ์ ได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถึงที่ประทับ ได้สนทนา ปราศรัย กับพระผู้มีพระภาค ครั้นผ่านการสนทนาปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง.

        ครั้นแล้วได้พิจารณาดูมหาปุริสลักษณะ ๓๒ ประการในพระกาย ของพระผู้มีพระภาค ได้เห็นมหาปุริสลักษณะ ๓๒ ประการในพระกายของพระผู้มีพระภาคโดยมาก เว้นอยู่ ๒ ประการ คือ พระคุยหฐานอันเร้นอยู่ในฝัก ๑ พระชิวหาใหญ่ ๑ จึงยังเคลือบแคลง สงสัย ไม่น้อมใจเชื่อ ไม่เลื่อมใสในพระมหาปุริสลักษณะ ๒ ประการ.

        [๖๐๘] ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคได้มีพระดำริว่า เสลพราหมณ์นี้เห็นมหา ปุริสลักษณะ ๓๒ ประการของเราโดยมากเว้นอยู่ ๒ ประการ คือ คุยหฐานอันเร้น อยู่ในฝัก ๑ ชิวหาใหญ่ ๑จึงคงเคลือบแคลง สงสัย  ไม่น้อมใจเชื่อ ไม่เลื่อมใส ในพระมหาปุริสลักษณะ ๒ ประการ.

        ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาค จึงทรงบันดาลอิทธาภิสังขาร  ให้เสลพราหมณ ์ได้เห็น พระคุยหฐาน อันเร้นอยู่ในฝัก และทรงแลบพระชิวหา สอดเข้าช่อง พระกรรณ ทั้งสอง กลับไปมา สอดเข้าช่องพระนาสิกทั้งสองกลับไปมา ทรงแผ่ปิดทั่วมณฑลพระนลาฏ.

เสลพราหมณ์และบริษัทได้บรรชาอุปสมบท

        [๖๐๙] ครั้งนั้นแล เสลพราหมณ์ได้มีความดำริว่า พระสมณโคดมทรงประกอบ ด้วย มหาปุริสลักษณะ ๓๒ ประการ บริบูรณ์ ไม่บกพร่อง แต่เรายังไม่ทราบชัดซึ่ง พระองค์ว่าเป็น พระพุทธเจ้าหรือไม่ และเราได้สดับเรื่องนี้มาแต่สำนัก พราหมณ์ ทั้งหลาย ซึ่งเป็นผู้แก่เฒ่า เป็นผู้ใหญ่ เป็นอาจารย์และปาจารย์กล่าวกันว่า ท่านที่เป็นพระอรหันต สัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลาย ย่อมแสดงพระองค์ให้ปรากฏ ในเมื่อผู้ใด ผู้หนึ่ง กล่าวพระคุณของพระองค์ มิฉะนั้น เราพึงชมเชยพระสมณโคดม เฉพาะ พระพักตร์ ด้วยคาถาอันสมควรเถิด.

        ลำดับนั้นแล เสลพราหมณ์ ได้ชมเชยพระผู้มีพระภาค เฉพาะพระพักตร์ด้วย คาถา อันสมควรว่า พระผู้มีพระภาค ทรงมีพระกายบริบูรณ์ มีพระรัศมีรุ่งเรืองงาม มีพระชาติดี ผู้ได้เห็นแม้นานก็ไม่รู้อิ่ม มีพระฉวีวรรณดังทองคำ มีพระทาฐะขาวสะอาด มี พระวิริยภาพ มหาปุริสลักษณะ อันเป็นเครื่องแตกต่างจากสามัญชน มีอยู่ในพระกาย ของพระองค์ ผู้เป็นนรสุชาตครบถ้วน

        พระองค์มีพระเนตรผ่องใส มี พระพักตร์งาม มีพระกายตรงดังกายพรหม มีสง่า ในท่ามกลาง หมู่สมณะ เหมือนพระอาทิตย์ไพโรจน์ฉะนั้น พระองค์เป็น ภิกษุงาม น่าชม มีพระตจะดังไล้ทาด้วยทองคำ พระองค์มีพระคุณสมบัติอันสูงสุดอย่างนี้ จะต้องการอะไร ด้วยความเป็นสมณะ พระองค์ควรจะเป็นพระเจ้าจักรพรรดิผู้ประเสริฐ เป็นใหญ่ในแผ่นดินมีมหาสมุทร ๔ เป็นขอบเขต ทรงชนะวิเศษ เป็นใหญ่ในชมพูทวีป กษัตริย์ทั้งหลายผู้เป็นพระราชามหาศาล จงเป็นผู้ติดตามพระองค์  ข้าแต่พระโคดม ขอเชิญพระองค์ทรง ครองราชสมบัติเป็นราชาธิราชจอมมนุษย์เถิด.

พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า
        ดูกรเสลพราหมณ์ เราเป็นพระราชา เป็นพระราชาโดยธรรม ไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่า  เราประกาศ ธรรมจักร อันเป็นจักรที่ใครๆ ประกาศไม่ได้.

    เส. ข้าแต่พระโคดม พระองค์ทรงปฏิญาณว่าเป็นสัมพุทธะ และ ตรัสว่าเป็น ธรรมราชา ไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่า ทรงประกาศธรรมจักร  ดังนี้ ใครหนอเป็นเสนาบดีของ พระองค์ท่าน เป็นสาวก ผู้อำนวยการของพระศาสดา ใครหนอประกาศธรรมจักร ตามที่ พระองค์ทรงประกาศแล้วนี้ได้?

     พ. ธรรมจักร อันไม่มีจักรอื่นยิ่งกว่า เป็นจักรที่เราประกาศแล้ว สารีบุตรผู้เกิด ตามตถาคต ย่อมประกาศตามได้ ดูกรพราหมณ์ สิ่งที่ควรรู้ยิ่ง เรารู้ยิ่งแล้ว สิ่งที่ควร เจริญเราเจริญแล้ว สิ่งที่ควร ละเราละได้แล้ว เพราะฉะนั้น เราจึงเป็นพระพุทธเจ้า

        ดูกรพราหมณ์ ท่านจงกำจัดความสงสัยในเรา จงน้อมใจเชื่อเถิด การได้เห็น พระสัมพุทธเจ้าทั้งหลายเนืองๆ เป็นการได้ยาก ความปรากฏแห่งพระสัมพุทธเจ้า ทั้งหลายเนืองๆ เป็นการหา ได้ยากในโลกแล ดูกรพราหมณ์ เราเป็นพระสัมพุทธเจ้า เป็นผู้เชือดลูกศร ไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่า เป็นผู้ประเสริฐ ไม่มี ใครเปรียบ ย่ำยีเสียซึ่งมาร และเสนาแห่งมาร ทำข้าศึกทั้งปวง ให้อยู่ในอำนาจ ไม่มีภัยแต่ที่ไหนๆ บันเทิงใจอยู่.

    เส. ดูกรท่านผู้เจริญทั้งหลาย ขอท่านทั้งหลาย จงใคร่ครวญธรรมนี้ ตามที่พระผู้มี พระภาคผู้มีพระจักษุตรัสอยู่ พระผู้มีพระภาคเป็นผู้ เชือดลูกศร เป็นพระมหาวีระ ดังราชสีห์บันลืออยู่ในป่าฉะนั้น ใครเล่าแม้เกิดในสกุลต่ำ  ได้เห็นพระผู้มีพระภาค ผู้ประเสริฐ ไม่มีใครเปรียบ ทรงย่ำยีเสียซึ่งมารและเสนามาร จะไม่พึง เลื่อมใส ผู้ใดปรารถนา เชิญผู้นั้นตามเรา ส่วนผู้ใดไม่ปรารถนา เชิญผู้นั้นอยู่เถิด เราจักบวช ในสำนักพระผู้มีพระภาคผู้มี พระปัญญาอันประเสริฐนี้.

 มาณพเหล่านั้นกล่าวว่า
        ข้าแต่ท่านพราหมณ์ ถ้าท่านผู้เจริญ ชอบใจคำสั่งสอนของพระ สัมมา สัมพุทธเจ้า อย่างนี้ แม้ข้าพเจ้าทั้งหลาย ก็จักบวชในสำนัก  ของพระผู้มีพระภาค ผู้มีพระปัญญา อันประเสริฐ ดังนี้แล้ว พราหมณ์ ๓๐๐ คนเหล่านั้น พากันประนม อัญชลี ทูลขอ บรรพชา ว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์ทั้งหลายจักประพฤติ พรหมจรรย์ ในสำนักของพระองค์.

     พ. พรหมจรรย์อันเรากล่าวดีแล้ว  อันผู้ปฏิบัติจะพึงเห็นเอง ไม่ ประกอบด้วยกาล เป็นเหตุทำให้บรรพชาของผู้ไม่ประมาทศึกษา อยู่ ไม่เป็นโมฆะ.

     เสลพราหมณ์พร้อมทั้งบริษัท ได้บรรพชา ได้อุปสมบทในสำนักของ พระผู้มีพระภาค.

        [๖๑๐] ครั้งนั้นแล เกณิยชฎิลสั่งให้จัดแจงขาทนียโภชนียาหาร อย่างประณีต ในอาศรมของตน ตลอดราตรีนั้นแล้ว ใช้ให้คนไปกราบทูลภัตกาล แด่พระผู้มีพระภาค ว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ได้เวลาแล้ว ภัตตาหารสำเร็จแล้ว พระเจ้าข้า.

        ครั้งนั้น เป็นเวลาเช้า พระผู้มีพระภาค ทรงครองอันตรวาสก แล้วทรงถือบาตร และจีวร เสด็จเข้าไปยังอาศรมของเกณิยชฎิล แล้วประทับนั่งบนอาสนะ ที่เขาจัดไว้ ถวาย พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์.

        ลำดับนั้น เกณิยชฎิลได้อังคาสภิกษุสงฆ์ มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุขให้อิ่มหนำ เพียงพอ ด้วยขาทนียโภชนียาหารอันประณีต ด้วยมือของตน.

        เมื่อพระผู้มีพระภาคเสวยเสร็จแล้ว ละพระหัตถ์จากบาตรแล้ว เกณิยชฎิล ถือเอา อาสนะต่ำ แห่งหนึ่งแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง.

เกณิยานุโมทนา

        [๖๑๑] ครั้นเกณิยชฎิลนั่งเรียบร้อยแล้ว พระผู้มีพระภาค ทรงอนุโมทนาด้วย พระคาถาเหล่านี้ว่า ยัญทั้งหลาย มีการบูชาไฟเป็นประมุข คัมภีร์สาริตติศาสตร์ เป็น ประมุขแห่งคัมภีร์ฉันท์ พระราชาเป็นประมุขของมนุษย์ทั้งหลาย สาครเป็นประมุข ของแม่น้ำทั้งหลาย ดวงจันทร์เป็นประมุขของ ดวงดาวทั้งหลาย ดวงอาทิตย์เป็น ประมุข ของความร้อน พระสงฆ์ เป็นประมุขของผู้หวังบุญบูชาอยู่.

      ครั้นพระผู้มีพระภาค ทรงอนุโมทนาด้วยพระคาถาเหล่านี้ แล้วเสด็จลุกจาก อาสนะหลีกไป.

        ครั้งนั้นแล ท่านพระเสละ พร้อมด้วยบริษัท หลีกออกจากหมู่เป็นไม่ประมาท มีความเพียร มีใจแน่วแน่ ไม่นานนัก ก็ได้กระทำที่สุดแห่งพรหมจรรย์ อันยอดเยี่ยม ที่กุลบุตร ทั้งหลายออกบวช เป็นบรรพชิ ตโดยชอบต้องการนั้น ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง ในปัจจุบัน เข้าถึงอยู่ รู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว สิ่งอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี ก็ท่านพระเสละพร้อมทั้งบริษัท ได้เป็นพระอรหันต์องค์หนึ่ง ในจำนวนพระอรหันต์ทั้งหลาย.

        [๖๑๒] ครั้งนั้นแล ท่านพระเสละ พร้อมทั้งบริษัท ได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มี พระภาคถึงที่ประทับ ห่มผ้าเฉวียงบ่าข้างหนึ่ง ประนมอัญชลีไปทางพระผู้มีพระภาค แล้วกราบทูลด้วยคาถาว่า

        ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้มีพระจักษุ นับแต่วันที่ข้าพระองค์ทั้งหลาย ได้ถึง พระองค์ เป็นสรณะเป็นวันที่ ๘ เข้านี่แล้ว ข้าพระองค์ ทั้งหลายเป็นผู้อันพระองค์ ทรงฝึกแล้ว ในคำสั่งสอนของพระองค์ โดย ๗ ราตรี พระองค์เป็นพระพุทธเจ้า เป็นพระศาสดา เป็นมุนี ผู้ครอบงำมาร ทรงเป็นผู้ฉลาดในอนุสัย ทรงข้ามได้เองแล้ว ทรงยังหมู่สัตว์นี้ให้ข้ามได้ด้วย

        พระองค์ทรงก้าวล่วงอุปธิทั้ง หลายแล้ว ทรงทำลายอาสวะ ทั้งหลายแล้ว ไม่ทรงยึดมั่น เลย ทรงละภัยและความขลาดกลัวได้แล้ว ดุจดังราชสีห์ ภิกษุ ๓๐๐ รูปนี้ ยืนประนมอัญชลีอยู่ ข้าแต่พระองค์ผู้มีความเพียร ขอได้ทรงโปรดเหยียด พระยุคลบาทออกเถิด  ขอเชิญนาคทั้งหลาย ถวายบังคมพระศาสดาเถิด.

                   จบ เสลสูตร ที่ ๒.





 






พุทธวจน : อ่านคำสอนพระศาสดา อ่านแบบสบายตา โดยคัดลอกหนังสือทั้งเล่มมาจัดทำเป็นเว็บเพจ (คลิกอ่านพร้อมดาวน์โหลดไฟล์ pdf)
90 90 90 90
พุทธประวัติ ขุมทรัพย์ อริยสัจ
ภาคต้น
อริยสัจ
ภาคปลาย
ปฏิจจ ปฐมธรรม ตถาคต อนาคามี อินทรีย์
สังวร
สัตว์
สัตตานัง
ทาน
สกทาคามี
ฆราวาส
ชั้นเลิศ
มรรควิธี
ที่ง่าย
อริยวินัย เดรัจฉานวิชา กรรม สมถะ
วิปัสสนา
โสดาบัน นา
ปานสติ
จิต มโน
วิญญาณ
ก้าวย่าง
อย่างพุทธะ
ตามรอย
ธรรม
ภพ ภูมิ
พุทธวจน
สาธยาย
ธรรม
สังโยชน์