เว็บไซต์ อนาคามี เผยแพร่ พุทธวจน คำสอนของพระศาสดา คำสอนตถาคต รวมพระสูตรสำคัญ อนาคามี เว็บไซต์เผยแพร่คำสอนของพระพุทธเจ้า
ค้นหาคำที่ต้องการ            

 
 พระเจ้าปเสนทิโกศลเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า (เป็นอรรถกถา) 1377
 

(โดยย่อ)

 พระเจ้าปเสนทิโกศลเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า
(พระสูตรนี้เป็นอรรถกถา
ไม่ใช่คำสอนของพระศาสดา)

(P1378)

เรื่องสำคัญของพระพุทธเจ้า
การบำเพ็ญบารมีในอดีตชาติ
การประสูติ แสงสว่าง แผ่นดินไหว
แสวงหาสัจจะบำเพ็ญทุกรกิริยา
ปัญจวัคคีย์หลีก สิ่งที่ตรัสรู้
ตรัสรู้ แสดงเทศนาปัญจวัคคีย์
ปลงสังขาร ปรินิพพาน
ลำดับขั้นการปรินิพพาน
เทวดาแสดงฤทธิ์ขณะถวายเพลิง
แบ่งพระสรีระออกเป็น ๘ ส่วน

 

พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๓ หน้าที่ ๓๙๒

พระเจ้าปเสนทิโกศลเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า

        [๕๗๓] ลำดับนั้นแล พระเจ้าปเสนทิโกศล เสวยพระกระยาหารเช้าเสร็จแล้ว เวลาบ่ายเสด็จเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ทรงถวายบังคมพระผู้มีพระภาค แล้วประทับนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง.

        ครั้นแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระภคินี*นามว่า โสมา และพระภคินีนามว่า สกุลา ขอถวายบังคมพระยุคลบาทของพระผู้มี พระภาค ทูลถามถึงความมีพระอาพาธน้อย มีพระโรคเบาบาง ทรงกระปรี้กระเปร่า ทรงพระกำลัง ทรงพระสำราญพระเจ้าข้า.
*ภคินี แปลว่าลูกพี่ลูกน้องที่เป็นหญิง

        พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า ดูกรมหาบพิตร ก็พระราชภคินีพระนามว่าโสมา และ พระราชภคินีพระนามว่าสกุลา ไม่ทรงได้ผู้อื่นเป็นทูตแล้วหรือ ขอถวายพระพร?

     ป. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระภคินีนามว่าโสมา และพระภคินีนามว่า สกุลา ได้สดับข่าวว่า วันนี้หม่อมฉัน บริโภคอาหารเช้าแล้ว เวลาบ่ายจักมาเฝ้า พระผู้มี พระภาค ลำดับนั้นพระภคินี พระนามว่าโสมา และภคินีพระนามว่าสกุลา ได้เข้ามาหา หม่อมฉันในที่บริโภคอาหาร แล้วตรัสสั่งว่า

        ข้าแต่มหาราช ถ้าเช่นนั้น ขอพระองค์ ทรงถวายบังคมพระยุคลบาท ของ พระผู้มี พระภาค ด้วยเศียรเกล้า ขอให้ทูลถามถึง ความมีพระอาพาธน้อย มีพระโรค เบาบาง ทรงกระปรี้กระเปร่า ทรงพระกำลัง ทรงพระสำราญ พระภคินีพระนามว่า โสมา และ พระภคินี พระนามว่าสกุลา ถวายบังคม พระยุคลบาท ของพระผู้มีพระภาค ด้วยเศียรเกล้า และทูลถามความมีพระอาพาธน้อย มีพระโรคเบาบาง ทรงกระปรี้ กระเปร่า ทรงพระกำลัง ทรงพระสำราญพระเจ้าข้า

      พ. ดูกรมหาบพิตร ขอพระราชภคินีพระนามว่าโสมา และพระราชภคินีพระนาม ว่า สกุลา จงทรงพระสำราญเถิด ขอถวายพระพร.

        [๕๗๔] ลำดับนั้นแล พระเจ้าปเสนทิโกศลได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉันได้สดับมาว่า พระสมณโคดมตรัสอย่างนี้ว่า สมณะ หรือพราหมณ์ ผู้รู้ธรรมทั้งปวง ผู้เห็นธรรมทั้งปวง จักปฏิญาณความรู้ความเห็นอันไม่มี ส่วนเหลือ ไม่มี ข้อนี้ไม่เป็นฐานะที่จะมีได้

        ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ชนเหล่าใด กล่าวอย่างนี้ว่า พระสมณโคดมตรัส อย่างนี้ว่า สมณะหรือพราหมณ์ผู้รู้ธรรมทั้งปวง ผู้เห็นธรรมทั้งปวง จักปฏิญาณความรู้ ความเห็นอันไม่มีส่วนเหลือไม่มี ข้อนี้ไม่เป็นฐานะที่จะมีได้

        
ชนเหล่านั้น เป็นอันกล่าวตามที่ พระผู้มีพระภาคตรัสแล้ว ไม่เป็นอันกล่าวตู่ พระผู้มีพระภาค ด้วยคำ ไม่จริง และ พยากรณ์ธรรม สมควรแก่ธรรม อนึ่งการกล่าว และการกล่าวตาม อันประกอบด้วย เหตุบางอย่าง จะไม่มาถึงฐานะ อันผู้รู้จะพึง ติเตียนแลหรือ พระเจ้าข้า.

        พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ดูกรมหาบพิตร ชนเหล่าใดกล่าวอย่างนี้ว่า พระสมณโคดม ตรัสอย่างนี้ว่า สมณะหรือพราหมณ์ ผู้รู้ธรรมทั้งปวง ผู้เห็นธรรม ทั้งปวงจัก ปฏิญาณความรู้ ความเห็นอันไม่มีส่วนเหลือ ไม่มี ข้อนั้นไม่เป็นฐานะ ที่จะมีได้ดังนี้ ชนเหล่านั้นไม่เป็นอันกล่าว ตามที่อาตมภาพกล่าวแล้ว และย่อม กล่าวตู่อาตมภาพ ด้วยคำอันไม่เป็นจริง ขอถวายพระพร.

ว่าด้วยวรรณ ๔

        [๕๗๕] ลำดับนั้นแล พระเจ้าปเสนทิโกศล จึงรับสั่งถาม วิฑูฑภเสนาบดีว่า ดูกรเสนาบดี ใครหนอกล่าวเรื่องนี้ ในภายในพระนคร.

        วิฑูฑภเสนาบดีกราบทูลว่า ข้าแต่มหาราชา พราหมณ์สญชัย อากาสโคตร กล่าว เรื่องนี้ ขอเดชะ. ลำดับนั้น พระเจ้าปเสนทิโกศล จึงตรัสเรียกบุรุษคนหนึ่ง มารับสั่งว่า มานี่แน่ะบุรุษผู้เจริญ ท่านจงไปเชิญ พราหมณ์สญชัยอากาสโคตร ตามคำของเราว่า ดูกรท่านผู้เจริญ พระเจ้าปเสนทิโกศล รับสั่งหาท่าน.

        บุรุษนั้นทูลรับสนอง พระบรมราชโองการแล้ว ได้เข้าไปหาพราหมณ์สญชัย อากาสโคตรถึงที่อยู่ แล้วกล่าวกะพราหมณ์สญชัยอากาสโคตรว่า ดูกรท่านผู้เจริญ พระเจ้าปเสนทิโกศล รับสั่งหาท่าน

     ครั้งนั้น พระเจ้าปเสนทิโกศล ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระดำรัส อย่างหนึ่งที่พระผู้มีพระภาค ทรงหมายเอาเนื้อความบางอย่างตรัสไว้ แต่คนอื่นกลับเข้าใจพระภาษิตนั้น เป็นอย่างอื่นไป พึงมีหรือหนอ ก็พระผู้มีพระภาค ยังทรงจำพระดำรัสว่า ตรัสแล้วอย่างไรบ้างหรือ พระเจ้าข้า? พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรมหาบพิตร อาตมภาพจำคำที่กล่าวแล้ว อย่างนี้ว่า สมณะหรือพราหมณ์จักรู้ธรรม ทั้งปวง จักเห็นธรรมทั้งปวง ในคราวเดียวเท่านั้นไม่มี ข้อนี้ไม่เป็นฐานะที่จะมีได้.

     ป. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคตรัส สภาพอันเป็นตัวเหตุ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคตรัส สภาพอันเป็นตัวผล พร้อมทั้งเหตุว่า สมณะหรือพราหมณ์ จักรู้ธรรมทั้งปวง จักเห็นธรรมทั้งปวง ในคราวเดียวเท่านั้นไม่มี ข้อนี้ไม่เป็นฐานะที่จะมีได้ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ วรรณะ ๔ จำพวกนี้ คือ กษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญวรรณะ ๔ จำพวกนี้ จะพึงมีความแปลก กัน จะพึงมีการกระทำต่างกันกระมังหนอ?

        [๕๗๖] พ. ดูกรมหาบพิตร วรรณะ ๔ จำพวกนี้ คือ กษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร ดูกรมหาบพิตร บรรดาวรรณะ ๔ จำพวกนี้ คือ วรรณะ ๒ จำพวก คือ กษัตริย์ และพราหมณ์ อาตมาภาพกล่าวว่าเป็นผู้เลิศ คือ เป็นที่กราบไหว้ เป็นที่ลุกรับ เป็นที่กระทำอัญชลี เป็นที่กระทำสามีจิกรรม ขอถวายพระพร.

     ป. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉันมิได้ทูลถามถึงความแปลกกัน ในปัจจุบัน กะพระผู้มีพระภาค หม่อมฉันทูลถาม ถึงความแปลกกัน ในสัมปรายภพ* กะพระผู้มี พระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ วรรณะ ๔ จำพวกนี้ คือ กษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญวรรณะ ๔ จำพวกนี้ จะพึงมีความแปลกกัน จะพึงมีการ กระทำต่างกัน กระมังหนอ พระเจ้าข้า.
* ทรงถามถึงภพใหม่ ของวรรณะ ทั้ง ๔ หลังความตายว่าต่างกันอย่างไร

ว่าด้วยองค์แห่งผู้มีความเพียร

        [๕๗๗] พ. ดูกรมหาบพิตร องค์แห่งภิกษุผู้มีความเพียร ๕ ประการนี้. ๕ ประการเป็นไฉน? ดูกรมหาบพิตร ๑ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีศรัทธาเชื่อ พระปัญญา ตรัสรู้ ของพระตถาคตว่า แม้เพราะเหตุนี้ๆ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น เป็นพระอรหันต์ ... เป็นผู้เบิกบานแล้ว เป็นผู้จำแนกพระธรรม.

      ๒. ภิกษุเป็นผู้มีอาพาธน้อย มีโรคเบาบาง ประกอบด้วยไฟธาตุ สำหรับย่อย อาหาร อันสม่ำเสมอ ไม่เย็นนัก ไม่ร้อนนัก เป็นปานกลาง ควรแก่การทำความเพียร.

     ๓. เป็นผู้ไม่โอ้อวด ไม่มีมายา เปิดเผยตนตามความเป็นจริง ในพระศาสดา หรือในเพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลายผู้เป็นวิญญู.

     ๔. เป็นผู้ปรารภความเพียร เพื่อละอกุศลธรรม เพื่อยังกุศลธรรม ให้ถึงพร้อม เป็นผู้มีกำลัง มีความบากบั่นมั่น คงไม่ทอดธุระในกุศลธรรมทั้งหลาย.

     ๕. เป็นผู้มีปัญญา ประกอบด้วยปัญญา เครื่องพิจารณาความเกิด และ ความดับ เป็นอริยะเป็นเครื่องชำแรกกิเลส ให้ถึงความสิ้นทุกข์โดยชอบ.

     ดูกรมหาบพิตร องค์แห่งภิกษุผู้มีความเพียร ๕ ประการนี้แล.  

        ดูกรมหาบพิตร วรรณะ๔ จำพวกนี้ คือ กษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร ถ้าวรรณะ ๔ จำพวกนั้น จะพึงเป็นผู้ประกอบด้วย องค์แห่งภิกษุ ผู้มีความเพียร ๕ ประการนี้ ข้อนั้นก็จะพึงเป็นไป เพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขแก่วรรณะ ๔ จำพวกนั้น ตลอดกาลนาน ขอถวายพระพร.

        [๕๗๘] ป. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ วรรณะ ๔ จำพวกนี้ คือ กษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร ถ้าวรรณะ ๔ จำพวกนั้น พึงเป็นผู้ประกอบด้วยองค์แห่งภิกษุผู้ มี ความเพียร ๕ ประการนี้ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ในข้อนี้ วรรณะ ๔ จำพวกนั้น จะพึงมีความแปลกกัน จะมีการกระทำต่างกันหรือ พระเจ้าข้า.

     พ. ดูกรมหาบพิตร ในข้อนี้ อาตมภาพกล่าวความต่างกัน ด้วยความเพียรแห่ง วรรณะ๔ จำพวกนั้น. ดูกรมหาบพิตร เปรียบเหมือนสัตว์คู่หนึ่ง เป็นช้างที่ควรฝึก ก็ตาม เป็นม้าที่ควรฝึกก็ตาม เป็นโคที่ควรฝึกก็ตาม เขาฝึกดีแล้ว แนะนำดีแล้ว คู่หนึ่งไม่ได้ฝึก ไม่ได้แนะนำ ดูกรมหาบพิตร มหาบพิตรจะทรงสำคัญความข้อนั้น เป็นไฉน สัตว์คู่หนึ่งเป็นช้างที่ควรฝึกก็ตาม เป็นม้าที่ควรฝึกก็ตาม เป็นโคที่ควรฝึก ก็ตาม เขาฝึกดีแล้ว แนะนำดีแล้ว สัตว์คู่หนึ่งที่เขาฝึกแล้วเท่านั้น พึงถึงเหตุของสัตว์ ที่ฝึกแล้ว พึงยังภูมิของสัตว์ที่ฝึกแล้วให้ถึงพร้อมมิใช่หรือขอถวายพระพร?

    ป. อย่างนั้น พระเจ้าข้า.

     พ. ดูกรมหาบพิตร ก็สัตว์คู่หนึ่งเป็นช้าง ที่ควรฝึกก็ตาม เป็นม้าที่ควรฝึกก็ตาม เป็นโคที่ควรฝึกก็ตาม เขาไม่ได้ฝึก ไม่ได้แนะนำ สัตว์คู่นั้นที่เขาไม่ได้ฝึกเลย จะพึงถึงเหตุของสัตว์ที่ฝึกแล้ว จะพึงยังภูมิของสัตว์ที่ฝึกแล้ว ให้ถึงพร้อมเหมือนสัตว์ คู่หนึ่ง เป็นช้างที่ควรฝึกก็ตาม เป็นม้าที่ควรฝึกก็ตาม เป็นโคที่ควรฝึกก็ตาม ที่เขาฝึก ดีแล้ว แนะนำดีแล้ว ฉะนั้นบ้างหรือไม่ขอถวายพระพร?

     ป. ไม่เป็นอย่างนั้นเลย พระเจ้าข้า.

     พ. ดูกรมหาบพิตร ฉันนั้นเหมือนกันแล อิฐผลใดอันบุคคลผู้มีศรัทธามีอาพาธ น้อย ไม่โอ้อวด ไม่มีมายา ปรารภความเพียร มีปัญญา พึงถึงอิฐผลนั้น บุคคลผู้ไม่มี ศรัทธา มีอาพาธมาก โอ้อวด มีมายา เกียจคร้าน มีปัญญาทราม จักถึงได้ ดังนี้ ข้อนี้ ไม่เป็นฐานะที่จะมีได้ ขอถวายพระพร.

        [๕๗๙] ป. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคตรัสสภาพ อันเป็นเหตุ และตรัสสภาพ อันเป็นผลพร้อมกับเหตุ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ วรรณะ ๔ จำพวกนี้ คือ กษัตริย์ พราหมณ์แพศย์ ศูทร ถ้าวรรณะ ๔ จำพวกเหล่านั้น พึงเป็นผู้ประกอบ ด้วย องค์แห่งภิกษุ ผู้มีความเพียร๕ ประการนี้ และมีความเพียรชอบเหมือนกัน ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ในข้อนี้ วรรณ ๔ จำพวกนั้น จะพึงมีความแปลกกัน พึงมีการ กระทำต่างกันหรือ พระเจ้าข้า?

     พ. ดูกรมหาบพิตร ในข้อนี้ อาตมภาพย่อม ไม่กล่าวการกระทำต่างกันอย่างไร คือวิมุติกับวิมุติ ของวรรณะ ๔ จำพวกนั้น ขอถวายพระพร.

        ดูกรมหาบพิตร เปรียบเหมือนบุรุษเก็บเอาไม้สาละแห้ง มาใส่ไฟ พึงก่อไฟให้ โพลงขึ้น. ต่อมา บุรุษอีกคนหนึ่ง เก็บเอาไม้มะม่วงแห้งมาใส่ไฟ พึงก่อไฟให้โพลง ขึ้น. และภายหลังบุรุษอีกคนหนึ่ง เก็บเอาไม้มะเดื่อแห้งมาใส่ไฟ พึงก่อไฟให้ โพลงขึ้น.

        ดูกรมหาบพิตร มหาบพิตร จะทรงสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน เปลวกับเปลวสี กับสี หรือแสงกับแสงของไฟ ที่เกิดขึ้นจากไม้ต่างๆ กันนั้น จะพึงมีความแตกต่างกัน อย่างไร หรือหนอ ขอถวายพระพร?

      ป. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ไม่พึงมีความแตกต่างกันเลย พระเจ้าข้า.

     พ. ดูกรมหาบพิตร ฉันนั้นเหมือนกันแล เดชอันใดอันความเพียร ย่ำยีแล้วเกิดขึ้น ด้วยความเพียร ในข้อนี้ อาตมภาพย่อม ไม่กล่าวการกระทำต่างกันอย่างไร คือ วิมุติกับวิมุติขอถวายพระพร.



ว่าด้วยเรื่องเทวดา
(ก็เทวดามีจริงหรือ)
ตรัสกับวิฑูฑภเสนาบดี โอรสของพระเจ้าปเสนทิโกศล
1.เทวดามีจริงหรือ
2.เทวดามาสู่โลกนี้ หรือไม่มา
3. เทวดาเหล่าใดมีทุกข์

        [๕๘๐] ป. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคตรัสสภาพ อันเป็นเหตุ และ ตรัสสภาพ อันเป็นผลพร้อมกับเหตุ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็เทวดามีจริงหรือ พระเจ้าข้า?

        พ. ดูกรมหาบพิตร ก็เพราะเหตุอะไรมหาบพิตร จึงตรัสถามอย่างนี้ว่า ข้าแต่พระองค์ ผู้เจริญ ก็เทวดามีจริงหรือ?

     ป. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถ้าเทวดามีจริง เทวดาเหล่านั้น มาสู่โลกนี้ หรือไม่มา สู่โลกนี้ พระเจ้าข้า?

     พ. ดูกรมหาบพิตร เทวดาเหล่าใดมีทุกข์ เทวดาเหล่านั้น มาสู่โลกนี้ เทวดา เหล่าใด ไม่มีทุกข์ เทวดาเหล่านั้น ไม่มาสู่โลกนี้ ขอถวายพระพร.

        [๕๘๑] เมื่อพระผู้มีพระภาค ตรัสอย่างนี้แล้ว วิฑูฑภเสนาบดี ได้กราบทูล พระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เทวดาเหล่าใดมีทุกข์ มาสู่โลกนี้ เทวดา เหล่านั้น จักยังเทวดาทั้งหลาย ผู้ไม่มีทุกข์ ไม่มาสู่โลกนี้ ให้จุติ หรือจักขับไล่เสีย จากที่นั้น.

     ครั้งนั้นแล ท่านพระอานนท์ ได้มีความดำริว่า วิฑูฑภเสนาบดีนี้ เป็นพระราช โอรส ของพระเจ้าปเสนทิโกศล เราเป็นโอรสของพระผู้มีพระภาค บัดนี้เป็นกาล อันสมควรที่โอรส กับโอรสจะพึงสนทนากัน.

        ลำดับนั้น ท่านพระอานนท์ จึงกล่าวกะวิฑูฑภเสนาบดีว่า ดูกรเสนาบดี ถ้าเช่นนั้น ในข้อนี้ อาตมาจะขอย้อนถามท่านก่อน ปัญหาใดพึงพอใจแก่ท่านฉันใด ท่านพึง พยากรณ์ปัญหานั้น ฉันนั้น

        ดูกรเสนาบดี ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน พระราชอาณาจักร ของ พระเจ้าปเสนทิโกศลมีประมาณเท่าใด และในพระราช อาณาจักรใด พระเจ้า ปเสนทิโกศล เสวยราชสมบัติเป็นอิศราธิบดี ในพระราช อาณาจักรนั้น ท้าวเธอย่อม ทรงสามารถยังสมณะ หรือพราหมณ์ ผู้มีบุญ หรือ ผู้ไม่มีบุญ ผู้มีพรหมจรรย์ หรือ ผู้ไม่มีพรหมจรรย์ ให้เคลื่อน หรือทรงขับไล่เสียจากที่นั้น ได้มิใช่หรือ?

        วิฑูฑภเสนาบดีตอบว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ พระราชอาณาจักร ของพระเจ้า ปเสนทิโกศล มีประมาณเท่าใด และในพระราชอาณาจักรใด พระเจ้าปเสนทิโกศล เสวยราชสมบัติ เป็นอิศราธิบดี ในพระราชอาณาจักรนั้น ท้าวเธอย่อมทรงสามารถ ยังสมณะ หรือพราหมณ์ ผู้มีบุญ หรือผู้ไม่มีบุญ ผู้มีพรหมจรรย์ หรือผู้ไม่มีพรหมจรรย์ ให้เคลื่อน หรือทรงขับไล่เสียจากที่นั้นได้(ทำได้)

     อา. ดูกรเสนาบดี ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ที่อันมิใช่พระราชอาณาจักร ของพระเจ้าปเสนทิโกศล มีประมาณเท่าใด และในที่ใด พระเจ้าปเสนทิโกศลมิได้ เสวยราชสมบัติ เป็นอิศราธิบดี ในที่นั้น ท้าวเธอย่อมทรงสามารถยังสมณะ หรือ พราหมณ์ ผู้มีบุญ หรือผู้ไม่มีบุญ ผู้มีพรหมจรรย์ หรือผู้ไม่มีพรหมจรรย์ ให้เคลื่อน หรือ ทรงขับไล่เสียจากที่นั้นได้หรือ?

     วิ. ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ในที่อันมิใช่พระราชอาณาจักร ของพระเจ้าปเสนทิโกศล มีประมาณ เท่าใด และในที่ใด พระเจ้าปเสนทิโกศล มิได้เสวยราชสมบัติเป็น อิศราธิบดี ในที่นั้นท้าวเธอ ย่อมไม่ทรงสามารถ จะยังสมณะ หรือพราหมณ์ ผู้มีบุญ หรือผู้ไม่มีบุญ ผู้มีพรหมจรรย์ หรือผู้ไม่มีพรหมจรรย์ ให้เคลื่อน หรือทรงขับไล่ จากที่นั้นได้.(ทำได้)

     อา. ดูกรเสนาบดี ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน เทวดาทั้งหลายชั้น ดาวดึงส์ ท่านได้ฟังมาแล้วหรือ?

     วิ. อย่างนั้น ท่านผู้เจริญ  เทวดาทั้งหลายชั้นดาวดึงส์ ข้าพเจ้าได้ฟังมาแล้ว แม้ในบัดนี้ เทวดาทั้งหลายชั้นดาวดึงส์ พระเจ้าปเสนทิโกศลก็ได้ทรงสดับมาแล้ว.

     อา. ดูกรเสนาบดี ท่านจะสำคัญความข้อนั้น เป็นไฉน พระเจ้าปเสนทิโกศล ย่อมทรงสามารถจะยังเทวดาทั้งหลาย ชั้นดาวดึงส์  ให้เคลื่อนหรือจะทรงขับไล่เสีย จากที่นั้นได้หรือ?

     วิ. ข้าแต่ท่านผู้เจริญ แม้แต่จะทอดพระเนตรเทวดาทั้งหลายชั้นดาวดึงส์ พระเจ้า ปเสนทิโกศลก็ไม่ทรงสามารถ ที่ไหนเล่าจักทรงยัง เทวดาทั้งหลาย ชั้นดาวดึงส์ ให้เคลื่อน หรือจักทรงขับไล่เสียจากที่นั้นได้.

     อา. ดูกรเสนาบดี ฉันนั้นเหมือนกันแล เทวดาเหล่าใดมีทุกข์ ยังมาสู่โลกนี้ เทวดาเหล่านั้น ก็ย่อมไม่สามารถแม้เพื่อจะเห็นเทวดา ผู้ไม่มีทุกข์ ผู้ไม่มาสู่โลกนี้ได้ ที่ไหนเล่าจักให้จุติ หรือจักขับไล่เสียจากที่นั้นได้.

     ลำดับนั้นแล พระเจ้าปเสนทิโกศลได้ทูลถาม พระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ ผู้เจริญ ภิกษุรูปนี้ชื่ออะไร พระเจ้าข้า? พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ภิกษุรูปนี้ชื่อ อานนท์ ขอถวายพระพร.

        [๕๘๒] ป. ชื่อของท่านน่ายินดีหนอ สภาพของท่านน่ายินดีจริงหนอ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ท่านพระอานนท์ กล่าวสภาพอันเป็นเหตุ และกล่าวสภาพ อันเป็นผล พร้อมด้วยเหตุข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พรหมมีจริงหรือ?

     พ. ดูกรมหาบพิตร ก็เพราะเหตุไรมหาบพิตรจึงตรัสถามอย่างนี้ว่า ข้าแต่พระองค์ ผู้เจริญ ก็พรหมมีจริงหรือ?

     ป. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถ้าพรหมมีจริง พรหมนั้นมาสู่โลกนี้ หรือไม่มาสู่โลกนี้ พระเจ้าข้า.

     พ. ดูกรมหาบพิตร พรหมใดมีทุกข์ พรหมนั้นมาสู่โลกนี้ พรหมใดไม่มีทุกข์ พรหมนั้น ก็ไม่มาสู่โลกนี้ ขอถวายพระพร.

     ลำดับนั้นแล บุรุษคนหนึ่งได้กราบทูลพระเจ้าปเสนทิโกศลว่า ข้าแต่มหาราชา พราหมณ์สญชัยอากาสโคตรมาแล้ว พระเจ้าข้า. ครั้งนั้น พระเจ้าปเสนทิโกศล จึงตรัสถาม พราหมณ์สญชัยอากาสโคตรว่า ดูกรพราหมณ์ ใครหนอกล่าวเรื่องนี้ ภายในพระนคร พราหมณ์สญชัยอากาสโคตร กราบทูลว่า ข้าแต่มหาราชา วิฑูฑภ เสนาบดี พระพุทธเจ้าข้า.

        วิฑูฑภเสนาบดีได้กราบทูลอย่างนี้ว่า ข้าแต่มหาราชา พราหมณ์สญชัยอากาส โคตร พระพุทธเจ้าข้า. ลำดับนั้นแล บุรุษคนหนึ่งได้กราบทูล พระเจ้าปเสนทิโกศลว่า ข้าแต่มหาราชา บัดนี้ ยานพาหนะพร้อมแล้ว พระพุทธเจ้าข้า.

    พระเจ้าปเสนทิโกศล ทรงชื่นชมภาษิตของพระพุทธเจ้า

        [๕๘๓] ครั้งนั้นแล พระเจ้าปเสนทิโกศล ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉันได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคถึงความเป็นสัพพัญญู พระผู้มีพระภาคก็ทรงพยากรณ์ ความเป็นสัพพัญญูแล้ว และข้อที่ทรงพยากรณ์นั้น ย่อมชอบใจ และควรแก่หม่อมฉันและหม่อมฉัน มีใจชื่นชมด้วยข้อที่ทรงพยากรณ์นั้น

        ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉันได้ทูลถามพระผู้มีพระภาค ถึงคนที่จัดเป็น วรรณะ ๔ จำพวกที่บริสุทธิ์ พระผู้มีพระภาคก็ทรงพยากรณ์คนที่จัดเป็นวรรณะ ๔ จำพวกที่ บริสุทธิ์แล้ว และข้อที่ทรงพยากรณ์นั้นย่อมชอบใจ และควรแก่หม่อมฉัน และหม่อมฉัน มีใจชื่นชม ด้วยข้อที่ทรงพยากรณ์นั้น

        ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉันได้ทูลถามพระผู้มีพระภาค ถึงเทวดาที่ยิ่ง พระผู้มี พระภาคก็ ทรงพยากรณ์เทวดาที่ยิ่งแล้ว และข้อที่ทรงพยากรณ์นั้น ย่อมชอบใจและ ควรแก่หม่อมฉัน และหม่อมฉันมีใจชื่นชม ด้วยข้อที่ทรงพยากรณ์ นั้น

        ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉันได้ทูลถามพระผู้มีพระภาค ถึงพรหมที่ยิ่ง พระผู้มี พระภาค ก็ทรงพยากรณ์พรหมที่ยิ่งแล้ว และข้อที่ทรงพยากรณ์นั้น ย่อม ชอบใจและควรแก่หม่อมฉัน และหม่อมฉัน มีใจชื่นชมด้วยข้อที่ทรงพยากรณ์นั้น ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ

        อนึ่ง หม่อมฉันได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคถึงข้อใดๆ พระผู้มีพระภาคก็ทรง พยากรณ์ ข้อนั้นๆ แล้ว และข้อที่ทรงพยากรณ์นั้นๆ ย่อมชอบใจและควรแก่หม่อมฉัน และ หม่อมฉันมีใจชื่นชม ด้วยข้อที่ทรงพยากรณ์นั้นๆ

        ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉันขอทูลลาไป ณ บัดนี้ หม่อมฉันมีกิจมาก มีกรณียะ มาก.

        พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า มหาบพิตรจงทรงทราบกาลอันควรในบัดนี้เถิด ขอถวายพระพร.

     ครั้งนั้นแล พระเจ้าปเสนทิโกศล ทรงชื่นชมอนุโมทนา พระภาษิตของพระผู้มี พระภาค เสด็จลุกจากที่ประทับ ทรงถวายอภิวาท พระผู้มีพระภาค ทรงกระทำ ประทักษิณ แล้วเสด็จกลับไปฉะนี้แล.





 






พุทธวจน : อ่านคำสอนพระศาสดา อ่านแบบสบายตา โดยคัดลอกหนังสือทั้งเล่มมาจัดทำเป็นเว็บเพจ (คลิกอ่านพร้อมดาวน์โหลดไฟล์ pdf)
90 90 90 90
พุทธประวัติ ขุมทรัพย์ อริยสัจ
ภาคต้น
อริยสัจ
ภาคปลาย
ปฏิจจ ปฐมธรรม ตถาคต อนาคามี อินทรีย์
สังวร
สัตว์
สัตตานัง
ทาน
สกทาคามี
ฆราวาส
ชั้นเลิศ
มรรควิธี
ที่ง่าย
อริยวินัย เดรัจฉานวิชา กรรม สมถะ
วิปัสสนา
โสดาบัน นา
ปานสติ
จิต มโน
วิญญาณ
ก้าวย่าง
อย่างพุทธะ
ตามรอย
ธรรม
ภพ ภูมิ
พุทธวจน
สาธยาย
ธรรม
สังโยชน์