พระไตรปิฎก ฉบับหลวง) เล่มที่ ๒๓ หน้าที่ ๓๒๔
ภิกษุอบรมจิต ให้ดีด้วยจิตอย่างไร (สิลายูปสูตรที่ ๒)
(พระสารีบุตรกล่าวกะ
พระจันทิกาบุตร)
ดูกรอาวุโส ก็ภิกษุอบรมจิต ให้ดีด้วยจิตอย่างไร คือ
อบรมจิตให้ดีด้วยจิตอย่างนี้ ว่า
จิตของเรา ปราศจากราคะแล้ว
จิตของเรา ปราศจากโทสะแล้ว
จิตของเรา ปราศจากโมหะแล้ว
จิตของเรา ไม่มีราคะ เป็นธรรมดา
จิตของเรา ไม่มีโทสะ เป็นธรรมดา
จิตของเรา ไม่มีโมหะ เป็นธรรมดา
จิตของเรา ไม่เวียนมาใน กามภพ เป็นธรรมดา
จิตของเรา ไม่เวียนมาใน รูปภพ เป็นธรรมดา
จิตของเรา ไม่เวียนมาใน อรูปภพ เป็นธรรมดา
ดูกรอาวุโส ถึงแม้รูปที่จะพึงรู้แจ้งด้วยจักษุ อย่างหยาบๆ ผ่านมาทางคลอง จักษุแห่งภิกษุผู้มีจิตหลุดพ้น โดยชอบอย่างนี้
รูปเหล่านั้น ก็ครอบงำจิตเธอไม่ได้
จิตของเธอไม่เจือด้วยรูปเหล่านั้น
เป็นจิตมั่น ถึงความไม่หวั่นไหว
และเธอย่อม พิจารณาเห็นความเสื่อมไปแห่งรูปนั้น
ถึงแม้เสียงที่จะพึงรู้แจ้งด้วยหู ฯลฯ
กลิ่นที่จะ พึงรู้แจ้งด้วยจมูก ฯลฯ
รสที่พึงจะรู้แจ้งด้วยลิ้น ฯลฯ โผฏฐัพพะ ที่จะพึงรู้แจ้งด้วยกาย ฯลฯ ธรรมารมณ์ที่จะพึงรู้แจ้งด้วยใจอย่างหยาบๆ ผ่านมาทางคลองใจแห่งภิกษุ ผู้มีจิต หลุดพ้นโดยชอบอย่างนี้ ธรรมารมณ์นั้น ก็ครอบงำจิตของเธอไม่ได้ จิตของเธอ ไม่เจือ ด้วยธรรมารมณ์นั้นเป็นจิตมั่น ถึงความไม่หวั่นไหว และเธอย่อมพิจารณา เห็นความเสื่อมไปแห่งธรรมารมณ์นั้น
ดูกรอาวุโส เปรียบเหมือนเสาหิน ยาว ๑๖ ศอก หยั่งลงไป ในหลุม ๘ ศอก ข้างบนหลุม ๘ ศอก ถึงแม้ลมพายุอย่างแรง พัดมาทางทิศบูรพาเสาหินนั้น ไม่พึง สะเทือนสะท้านหวั่นไหว ถึงแม้ลมพายุอย่างแรง พัดมาทางทิศประจิม ทิศอุดร ทิศทักษิณ เสาหินนั้นก็ไม่พึงสะเทื้อนสะท้านหวั่นไหว |