เว็บไซต์ อนาคามี เผยแพร่ พุทธวจน คำสอนของพระศาสดา คำสอนตถาคต รวมพระสูตรสำคัญ อนาคามี เว็บไซต์เผยแพร่คำสอนของพระพุทธเจ้า
ค้นหาคำที่ต้องการ          

 พระพุทธเจ้าทรงพระประชวร ใน 4 เหตุการณ์ (จากที่พบในพระไตรปิฎก) 1287
 

(โดยย่อ)

4 พระสูตร ที่กล่าวถึงการประชวรของพระพุทธเจ้า
ด้วยพระโรคต่างๆ
1.ไม่สบายเป็นไข้หนัก... 2.อาหารเป็นพิษ... 3.ประชวรอย่างหนัก... 4.เสวยสุกรมัททวะ

(1) พระผู้มีพระภาคหายประชวรด้วยโพชฌงค์ ๗
(ไม่สบายเป็นไข้หนัก)

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหาร เวฬุวันกลันทก นิวาปสถาน ใกล้ พระนครราชคฤห์ ก็สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคทรงประชวร ไม่สบาย เป็นไข้หนัก ดูกรจุนทะ โพชฌงค์ ๗ ดีนัก ท่านพระมหาจุนทะ ได้กล่าวไวยากรณภาษิตนี้แล้ว พระศาสดาทรงพอพระทัย พระผู้มีพระภาค ทรงหายจากประชวรนั้น และอาพาธนั้นอันพระผู้มีพระภาค ทรงละแล้ว ด้วยประการฉะนี้แล

(2) พระผู้มีพระภาคเสวยพระโอสถถ่าย ด้วยก้านบัวอบยา
(กระเพาะอาหารหมักหมกด้วยอาหารเป็นพิษ)
สมัยนั้นแล พระกายของพระผู้มีพระภาค หมักหมมด้วยสิ่งอันเป็นโทษ จึงรับสั่งกับ พระอานนท์ว่า ตถาคตต้องการจะ ฉันยาถ่าย... ครั้งนั้นชีวกโกมารภัจจ์ ขอให้พระองค์ทำพระกายให้ชุ่มชื่นสัก ๒-๓ วัน จากนั้นชีวกได้อบก้านอุบล (ก้านบัว) ๓ ก้าน ด้วยยาต่างๆ แล้วกราบทูลขอพระผู้มีพระภาค สูดก้านอุบล ที่ละก้าน จนครบ เมื่อสูดแต่ละก้านจะถ่าย ๑๐ ครั้ง ด้วยวิธีนี้ พระผู้มีพระภาคจักทรงถ่าย ถึง ๓๐ ครั้ง

(3) เสด็จไปยังบ้านเวฬุวคาม
(ทรงประชวรอย่างหนักเกิดเวทนา อย่าง ร้ายแรง ถึงใกล้จะปรินิพพาน)
เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงจำพรรษา ที่ บ้านเวฬุวคามแล้ว ทรงประชวรอย่างหนักเกิดเวทนา อย่าง ร้ายแรง ถึงใกล้จะปรินิพพาน ได้ยินว่า ณ ที่นั้น พระผู้มีพระภาคทรงมีพระสติสัมปชัญญะ อดกลั้น ไม่พรั่นพรึง ทรงพระดำริว่าการที่เราจะไม่บอก ภิกษุผู้อุปัฏฐาก ไม่อำลาภิกษุสงฆ์ปรินิพพานเสียนั้น ไม่สมควรแก่เราเลย ถ้ากระไร เราพึงใช้ความเพียรขับไล่อาพาธนี้ ดำรงชีวิตสังขารอยู่เถิด

4) เสด็จเมืองปาวา ฉันท์ภัตตาหารของนายจุนท
(ทรงเสวย สุกรมัททวะ ที่นายจุนทจัดถวาย จนถ่ายเป็นโลหิต)
พระผู้มีพระภาคเสด็จ เมืองปาวา นายจุนทกัมมารบุตร ได้เตรียมอาหารอันประณีต และ สุกรมัททวะ (พืชท้องถิ่น) มาถวาย หลังฉันท์ ได้รับสั่งให้นายจุนท ฝังสุกรมัททวะ ในหลุม จากนั้นเกิดอาพาธหนัก ถึงขั้นลงพระบังคน (ท้องเสีย) และถ่ายเป็นพระโลหิต ต่อมาได้เสด็จไปยัง เมืองกุสินารา อันเป็น สถานที่ เสด็จปรินิพพาน

ครั้งที่ พระโรค การรักษา
1 ไม่สบายเป็นไข้หนัก เจริญโพชฌงค์ ๗
2 อาหารเป็นพิษ สูดก้านบัว 3 ก้าน ของหมอชีวก (ล้างพิษด้วยการถ่าย 30 ครั้ง)
3 ประชวรอย่างหนัก ทรงมีสตืสัมปะชัญญะ ทรงอดกลั้นเวทนา
4 เสวยสุกรมัททวะ ของนายฉัทน ทรงอดกลั้นเวทนา ...(เสด็จปรินิพพานที่กุสินารา)
เรื่องสำคัญของพระพุทธเจ้า
การบำเพ็ญบารมีในอดีตชาติ
การประสูติ แสงสว่าง แผ่นดินไหว
แสวงหาสัจจะบำเพ็ญทุกรกิริยา
ปัญจวัคคีย์หลีก สิ่งที่ตรัสรู้
ตรัสรู้ แสดงเทศนาปัญจวัคคีย์
ปลงสังขาร ปรินิพพาน
ลำดับขั้นการปรินิพพาน
เทวดาแสดงฤทธิ์ขณะถวายเพลิง
แบ่งพระสรีระออกเป็น ๘ ส่วน


พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๙ หน้าที่ ๑๐๘


(1)

พระผู้มีพระภาคหายประชวรด้วยโพชฌงค์ ๗
(คิลานสูตรที่ ๓ )

  สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหาร เวฬุวันกลันทก นิวาปสถาน ใกล้
  พระนครราชคฤห์ ก็สมัยนั้น
พระผู้มีพระภาคทรงประชวร ไม่สบาย เป็นไข้หนัก
  ดูกรจุนทะ
โพชฌงค์ ๗ ดีนัก ท่านพระมหาจุนทะ ได้กล่าวไวยากรณภาษิตนี้แล้ว
  พระศาสดาทรงพอพระทัย พระผู้มีพระภาค
ทรงหายจากประชวรนั้น และอาพาธนั้น
  อันพระผู้มีพระภาค ทรงละแล้ว ด้วยประการฉะนี้แล

        [๔๒๕] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหาร เวฬุวันกลันทก นิวาปสถาน ใกล้พระนครราชคฤห์ ก็สมัยนั้น พระผู้มีพระภาค ทรงประชวร ไม่สบาย เป็นไข้หนัก

        [๔๒๖] ครั้งนั้น ท่านพระมหาจุนทะ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง พระผู้มีพระภาค ได้ตรัส กะท่านพระจุนทะว่าดูกรจุนทะ โพชฌงค์จงแจ่มแจ้งกะเธอ.

     จ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ โพชฌงค์ ๗ เหล่านี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ชอบแล้ว อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพานโพชฌงค์ ๗ เป็นไฉน?

        [๔๒๗] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ สติสัมโพชฌงค์ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ชอบ แล้ว อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความ ตรัสรู้ เพื่อนิพพานฯลฯ อุเบกขาสัมโพชฌงค์ พระผู้มีพระภาคได้ตรัสไว้ชอบแล้ว อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญโพชฌงค์ ๗ เหล่านี้แล พระผู้มีพระภาคตรัส ไว้ชอบแล้ว อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน.

        [๔๒๘] ดูกรจุนทะ โพชฌงค์ดีนัก ดูกรจุนทะ โพชฌงค์ดีนัก ท่านพระ มหาจุนทะ ได้กล่าวไวยากรณภาษิตนี้แล้ว พระศาสดาทรงพอพระทัย พระผู้มีพระภาค ทรงหายจากประชวรนั้น และอาพาธนั้น อันพระผู้มีพระภาค ทรงละแล้ว ด้วยประการฉะนี้แล.


พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๕ หน้าที่ ๑๔๗

(2)
พระผู้มีพระภาคเสวยพระโอสถถ่าย ด้วยก้านบัวอบยา

  สมัยนั้นแล พระกายของพระผู้มีพระภาค หมักหมมด้วยสิ่งอันเป็นโทษ จึงรับสั่งกับ
  พระอานนท์ว่า ตถาคตต้องการจะ
ฉันยาถ่าย... ครั้งนั้นชีวกโกมารภัจจ์ ขอให้พระองค์
  ทำพระกายให้ชุ่มชื่นสัก ๒-๓ วัน จากนั้นชีวกได้อบก้านอุบล (ก้านบัว) ๓ ก้าน ด้วยยา
  ต่างๆ แล้วกราบทูลขอพระผู้มีพระภาคสูดก้านอุบลที่ละก้าน จนครบ เมื่อสูดแต่ละก้าน
  จะถ่าย ๑๐ ครั้ง ด้วยวิธีนี้
พระผู้มีพระภาคจักทรงถ่ายถึง ๓๐ ครั้

        [๑๓๕] ก็โดยสมัยนั้นแล พระกายของพระผู้มีพระภาค หมักหมม ด้วยสิ่ง อันเป็นโทษ จึงพระผู้มีพระภาค รับสั่งกะท่านพระอานนท์ว่า ดูกรอานนท์ กายของ ตถาคตหมักหมม ด้วยสิ่งอันเป็นโทษ ตถาคตต้องการจะฉันยาถ่าย.

        ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์ เดินไปหาชีวกโกมารภัจจ์ ครั้นถึงแล้วได้กล่าวคำนี้ กะชีวกโกมารภัจจ์ว่า ท่านชีวก พระกายของพระตถาคตหมักหมม ด้วยสิ่งอันเป็น โทษ พระตถาคตต้องการจะเสวยพระโอสถถ่าย ชีวกโกมารภัจจ์กล่าวว่า พระคุณเจ้า ถ้าอย่างนั้น ขอท่านจงโปรดทำพระกาย ของพระผู้มี พระภาคให้ชุ่มชื่นสัก ๒-๓ วัน

        ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์ ได้ทำพระกายของพระผู้มีพระภาคให้ชุ่มชื่น ๒-๓ วันแล้วเดินไปหาชีวกโกมารภัจจ์ ครั้นถึงแล้วได้กล่าวคำนี้กะ ชีวกโกมารภัจจ์ว่า ท่านชีวก พระกายของพระตถาคตชุ่มชื่นแล้ว บัดนี้ ท่านรู้กาลอันควรเถิด

      ครั้งนั้น ชีวกโกมารภัจจ์ได้มีความปริวิตกดังนี้ว่า การที่เราจะพึงทูลถวาย พระโอสถถ่ายที่หยาบ แด่พระผู้มีพระภาคนั้น ไม่สมควรเลย ถ้ากระไร เราพึง อบ ก้านอุบล ๓ ก้าน ด้วยยาต่างๆ แล้วทูลถวายพระตถาคต ครั้นแล้วได้อบก้านอุบล ๓ ก้านด้วยยาต่างๆ แล้วเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาค

      ครั้นแล้วได้ทูลถวายก้านอุบลก้านที่หนึ่งแด่พระผู้มีพระภาค กราบทูลว่า พระพุทธเจ้าข้า ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงสูดก้านอุบลก้านที่ ๑ นี้ การทรงสูด ก้านอุบลนี้ จักยังพระผู้มีพระภาคให้ถ่ายถึง ๑๐ ครั้ง แล้วได้ทูลถวายก้านอุบลก้านที่ ๒ แด่พระผู้มีพระภาคกราบทูลว่าพระพุทธเจ้าข้า ขอพระผู้มีพระภาค จงทรงสูด อุบลก้านที่ ๒ นี้ การทรงสูดก้านอุบลนี้จักยังพระผู้มีพระภาคให้ถ่ายถึง ๑๐ ครั้ง แล้วได้ทูลถวายก้านอุบลก้านที่ ๓ แด่พระผู้มีพระภาค กราบทูลว่าพระพุทธเจ้าข้า ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงสูดก้านอุบลก้านที่ ๓ นี้ การทรงสูดก้านอุบลนี้จักยัง พระผู้มีพระภาคให้ถ่ายถึง ๑๐ ครั้ง ด้วยวิธีนี้ พระผู้มีพระภาคจักทรงถ่ายถึง ๓๐ ครั้ง

        ครั้นชีวกโกมารภัจจ์ ทูลถวายพระโอสถถ่ายแด่พระผู้มีพระภาคเพื่อถ่ายครบ ๓๐ ครั้งแล้วถวายบังคมพระผู้มีพระภาค ทำประทักษิณกลับไป ขณะเมื่อ ชีวก โกมารภัจจ์ เดินออกไปนอกซุ้มประตูแล้วได้มีความปริวิตกดังนี้ว่า เราทูลถวาย พระโอสถ ถ่ายแด่พระผู้มีพระภาคเพื่อถ่ายครบ ๓๐ ครั้ง พระกายของพระตถาคต หมักหมมด้วยสิ่งอันเป็นโทษ จักไม่ยังพระผู้มีพระภาคให้ถ่ายครบ ๓๐ ครั้ง จักให้ ถ่ายเพียง ๒๙ ครั้ง แต่พระผู้มีพระภาคทรงถ่ายแล้วจักสรงพระกาย ครั้นสรง พระกายแล้ว จักถ่ายอีกครั้งหนึ่ง อย่างนี้ พระผู้มีพระภาคจักทรงถ่ายครบ ๓๐ ครั้ง

        ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบความปริวิตกแห่งจิต ของชีวกโกมารภัจจ์ ด้วยพระทัยแล้ว รับสั่งกะท่านพระอานนท์ว่าอานนท์ ชีวกโกมารภัจจ์ กำลังเดินออก นอกซุ้มประตูวิหารนี้ ได้มีความปริวิตกดังนี้ว่า เราถวายพระโอสถถ่าย แด่พระผู้มี พระภาค เพื่อถ่ายครบ ๓๐ ครั้งแล้วพระกายของพระตถาคต หมักหมมด้วยสิ่ง อันเป็นโทษ จักไม่ยังพระผู้มีพระภาคให้ถ่ายครบ ๓๐ ครั้งจักให้ถ่ายเพียง ๒๙ ครั้ง แต่พระผู้มีพระภาคทรงสรงพระกาย ครั้นสรงพระกายแล้วจักถ่ายอีกครั้งหนึ่ง อย่างนี้ พระผู้มีพระภาคจักทรงถ่ายครบ ๓๐ ครั้ง อานนท์ถ้าอย่างนั้น เธอจงจัดเตรียมน้ำร้อนไว้

        พระอานนท์ทูลรับสนองพระพุทธพจน์แล้ว จัดเตรียมน้ำร้อนไว้ถวายต่อมา ชีวกโกมารภัจจ์ไปในพุทธสำนัก ครั้นถึงแล้วถวายบังคมพระผู้มีพระภาคนั่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า พระผู้มีพระภาค ทรงถ่ายแล้วหรือ พระพุทธเจ้าข้า

      ภ. เราถ่ายแล้ว ชีวก
      ชี. พระพุทธเจ้าข้า ข้าพระพุทธเจ้ากำลังเดินออกไปนอกซุ้มประตูพระวิหารนี้ ได้มีความปริวิตกดังนี้ว่า เราถวายพระโอสถถ่ายแด่พระผู้มีพระภาคเพื่อถ่ายครบ ๓๐ ครั้งแล้ว พระกายของพระผู้มีพระภาค หมักหมมด้วยสิ่งอันเป็นโทษ จักไม่ยังพระผู้มี พระภาคให้ถ่ายครบ ๓๐ ครั้ง แต่พระผู้มีพระภาคทรงถ่ายแล้ว จักสรงพระกาย ครั้นสรงพระกาย แล้วจักถ่ายอีกครั้งหนึ่งอย่างนี้พระผู้มีพระภาคจักทรงถ่ายครบ ๓๐ ครั้ง พระพุทธเจ้าข้า ขอพระผู้มีพระภาคจงโปรดสรงพระกาย ขอพระสุคตจงโปรด สรงพระกาย

        ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงสรงน้ำอุ่น ครั้นสรงแล้ว ทรงถ่ายอีกครั้งหนึ่ง อย่างนี้ เป็นอันพระผู้มีพระภาค ทรงถ่ายครบ ๓๐ ครั้ง ลำดับนั้น ชีวกโกมารภัจจ์ ได้กราบทูลคำนี้แด่พระผู้มีพระภาคว่า พระพุทธเจ้าข้า พระผู้มีพระภาคไม่ควรเสวย พระกระยาหารที่ปรุงด้วยน้ำต้มผักต่างๆ จนกว่าจะมีพระกายเป็นปกติ

      ต่อมาไม่นานนัก พระกายของพระผู้มีพระภาคได้เป็นปกติแล้ว.

กราบทูลขอพร

      ครั้งนั้น ชีวกโกมารภัจจ์ ถือผ้าสิไวยกะคู่นั้นไปในพุทธสำนัก ครั้นถึงแล้ว ถวายบังคมพระผู้มีพระภาค นั่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ชีวกโกมารภัจจ์ นั่ง เรียบร้อยแล้ว ได้กราบทูลคำนี้แด่พระผู้มีพระภาคว่า ข้าพระพุทธเจ้าจะขอ ประทานพร ต่อพระผู้มีพระภาคสักอย่างหนึ่ง พระพุทธเจ้าข้า
      ภ. พระตถาคตทั้งหลายเลิกให้พรเสียแล้ว ชีวก
      ชี. ข้าพระพุทธเจ้าขอประทานพรที่สมควรและไม่มีโทษ พระพุทธเจ้าข้า
      ภ. จงว่ามาเถิด ชีวก

      ชี. พระพุทธเจ้าข้า พระผู้มีพระภาคและพระสงฆ์ทรงถือผ้าบังสุกุลเป็นปกติอยู่ ผ้าสิไวยกะของข้าพระพุทธเจ้าคู่นี้ พระเจ้าปัชโชตทรงส่งมาพระราชทาน เป็นผ้า เนื้อดีเลิศ ประเสริฐมีชื่อเสียงเด่นอุดม และเป็นเยี่ยมกว่าผ้าทั้งหลาย เป็นอันมาก ตั้งหลายคู่ ตั้งหลายร้อยคู่หลายพันคู่ หลายแสนคู่ ขอพระผู้มีพระภาคจงทรง พระกรุณาโปรดรับผ้าคู่สิไวยกะของข้าพระพุทธเจ้า และขอจงทรงพระพุทธานุญาต คหบดีจีวร แก่พระสงฆ์ด้วยเถิด พระพุทธเจ้าข้า.

        พระผู้มีพระภาคทรงรับผ้าคู่สิไวยกะแล้ว ครั้นแล้วทรงชี้แจงให้ชีวกโกมารภัจจ์ เห็นแจ้งสมาทาน อาจหาญ ร่าเริงด้วยธรรมีกถา ครั้นชีวกโกมารภัจจ์ อันพระผู้มี พระภาคทรงชี้แจงให้เห็นแจ้ง สมาทาน อาจหาญ ร่าเริงด้วยธรรมีกถา แล้วลุกจาก ที่นั่งถวายบังคมพระผู้มีพระภาคทำประทักษิณกลับไป.


พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๐ หน้าที่ หน้าที่ ๘๕

(3)
เสด็จไปยังบ้านเวฬุวคาม
(มหาปรินิพพานสูตร
)

  เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงจำพรรษา ที่ บ้านเวฬุวคามแล้ว ทรงประชวรอย่างหนัก
  เกิดเวทนาอย่างร้ายแรง ถึงใกล้จะปรินิพพาน ได้ยินว่า ณ ที่นั้น พระผู้มีพระภาค
  ทรงมีพระสติสัมปชัญญะ อดกลั้น ไม่พรั่นพรึง ทรงพระดำริว่าการที่เราจะไม่บอก   ภิกษุผู้อุปัฏฐาก ไม่อำลาภิกษุสงฆ์ปรินิพพานเสียนั้น ไม่สมควรแก่เราเลย
  ถ้ากระไร เราพึงใช้ความเพียรขับไล่อาพาธนี้ ดำรงชีวิตสังขารอยู่เถิด


            [๙๓] ครั้นนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ตามความพอพระทัยใน อัมพปาลีวัน แล้วตรัสเรียกท่านพระอานนท์มารับสั่งว่า ดูกรอานนท์ มาไปกันเถิด เราจักไปยัง บ้านเวฬุวคาม ท่านพระอานนท์ทูลรับพระดำรัสของ พระผู้มีพระภาค แล้ว พระผู้มีพระภาคพร้อมภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ เสด็จถึงบ้านเวฬุวคาม แล้วได้ยินว่า พระผู้มีพระภาคเสด็จ ประทับอยู่ในบ้านเวฬุวคามนั้น

ณ ที่นั้นพระผู้มีพระภาค ตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมารับสั่งว่า มาเถิด ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงจำพรรษารอบ เมืองเวสาลี ตามที่เป็นมิตรกัน ตามที่เคยเห็นกัน ตามที่เคยคบกันเถิด ส่วนเราจะจำพรรษา ในบ้านเวฬุวคามนี้แหละ พวกภิกษุ ทูลรับ พระดำรัส ของพระผู้มีพระภาคแล้ว จำพรรษารอบเมืองเวสาลี ตามที่เป็นมิตรกัน ตามที่เคยเห็นกัน ตามที่เคย คบกัน ส่วนพระผู้มีพระภาคทรงจำ พรรษาในบ้าน เวฬุวคาม นั้นแหละ

      ครั้งนั้น เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงจำพรรษาแล้ว ทรงประชวรอย่างหนัก เกิดเวทนาอย่างร้ายแรง ถึงใกล้จะปรินิพพาน ได้ยินว่า ณ ที่นั้น พระผู้มีพระภาค ทรงมีพระสติสัมปชัญญะ อดกลั้น ไม่พรั่นพรึง ทรงพระดำริว่า การที่เราจะไม่บอก ภิกษุผู้อุปัฏฐาก ไม่อำลาภิกษุสงฆ์ปรินิพพานเสียนั้น ไม่สมควรแก่เราเลย ถ้ากระไร เราพึงใช้ความเพียรขับไล่อาพาธนี้ ดำรงชีวิตสังขารอยู่เถิด

      ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงใช้ความเพียรขับไล่อาพาธนั้น ทรงดำรงชีวิต สังขารอยู่ แล้วอาพาธของพระองค์สงบไปแล้ว พระผู้มีพระภาคทรงหาย ประชวร คือหายจากความเป็นคนไข้ไม่นาน เสด็จออกจากวิหารไปประทับนั่ง บนอาสนะที่ ภิกษุ จัดถวายไว้ที่เงาวิหาร ฯ

      ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถึงที่ประทับ ครั้นเข้าไป เฝ้าแล้วถวายบังคม พระผู้มีพระภาคนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นท่าน พระอานนท์ นั่งเรียบร้อยแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ  ข้าพระองค์ เห็นความอดทน ของพระผู้มีพระภาคแล้ว ก็แต่ว่า เพราะการประชวรของพระผู้มี พระภาค กายของข้าพระองค์ประหนึ่ง จะงอมระงมไปแม้ทิศทั้งหลาย ก็ไม่ปรากฏ แก่ข้าพระองค์ แม้ธรรมทั้งหลายก็ไม่แจ่มแจ้ง แก่ข้าพระองค์

      ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็แต่ว่า ข้าพระองค์มามีความเบาใจ อยู่หน่อยหนึ่ง ว่าพระผู้มีพระภาค จักยังไม่เสด็จปรินิพพาน จนกว่าจะได้ทรงปรารภภิกษุสงฆ์ แล้วตรัสพระพุทธพจน์อย่างใดอย่างหนึ่ง

      พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรอานนท์ ภิกษุสงฆ์ยังจะหวังอะไรในเราเล่า ธรรมอันเรา ได้แสดงแล้ว กระทำไม่ให้มีในมีนอก กำมืออาจารย์ในธรรมทั้งหลาย มิได้มีแก่ตถาคต ผู้ใดจะพึงคิดอย่างนี้ว่า เราจักบริหารภิกษุสงฆ์ หรือว่า ภิกษุสงฆ์ 
จะเชิดชูเราดังนี้ ผู้นั้นจะพึงปรารภภิกษุสงฆ์ แล้วกล่าวคำอย่างใด อย่างหนึ่งเป็นแน่

      ดูกรอานนท์ ตถาคตมิได้มีความดำริอย่างนี้ว่า เราจักบริหารภิกษุสงฆ์หรือว่า ภิกษุสงฆ์จักเชิดชูเรา ตถาคตจักปรารภภิกษุสงฆ์แล้ว กล่าวคำอย่างใด อย่างหนึ่ง ในคราวหนึ่ง

      ดูกรอานนท์ บัดนี้เราแก่เฒ่าเป็นผู้ใหญ่ ล่วงกาลผ่านวัยมาโดย ลำดับแล้ว วัยของเราเป็นมาถึง ๘๐ ปีแล้ว เกวียนเก่ายังจะใช้ไปได้ เพราะการซ่อมแซม ด้วยไม้ไผ่ แม้ฉันใดกายของตถาคต ฉันนั้นเหมือนกัน ยังเป็นไปได้ ก็คล้ายกับ เกวียนเก่า ที่ซ่อมแซมด้วยไม้ไผ่ ฯ

      ดูกรอานนท์ สมัยใด ตถาคตเข้าถึงเจโตสมาธิ อันไม่มีนิมิต เพราะไม่ทำไว้ ในใจซึ่งนิมิตทั้งปวง เพราะดับเวทนาบางเหล่าแล้วอยู่ สมัยนั้นกายของตถาคต
ย่อมผาสุก เพราะฉะนั้น พวกเธอจงมีตนเป็นเกาะ มีตนเป็นที่พึ่ง มิใช่มีสิ่งอื่น เป็นที่พึ่ง คือจงมีธรรมเป็นเกาะมีธรรมเป็นที่พึ่ง มิใช่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง อยู่เถิด ฯ

      ดูกรอานนท์ อย่างไรเล่า ภิกษุจึงจะชื่อว่า มีตนเป็นเกาะ มีตนเป็นที่พึ่ง มิใช่มี
สิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง คือจงมีธรรมเป็นเกาะ มีธรรมเป็นที่พึ่ง มิใช่มีสิ่งอื่นเป็น ที่พึ่งอยู่ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ พิจารณาเห็นเวทนา
ในเวทนาอยู่ พิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่พิจารณาเห็นธรรมในธรรมอยู่ เป็นผู้มี เพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ พึงกำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลก อย่างนี้แล

      อานนท์ ภิกษุจึงจะชื่อว่า มีตนเป็นเกาะ มีตนเป็นที่พึ่ง มิใช่มีสิ่งอื่นเป็น ที่พึ่ง คือมีธรรมเป็นเกาะ มีธรรมเป็นที่พึ่ง มิใช่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่งอยู่

      ดูกรอานนท์ ผู้ใดผู้หนึ่งในบัดนี้ก็ดี โดยที่เราล่วงไปแล้วก็ดี จักเป็นผู้มีตน เป็นเกาะ มีตนเป็น ที่พึ่ง มิใช่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง คือ มีธรรมเป็นเกาะ มีธรรม เป็นที่พึ่ง มิใช่มีสิ่ง อื่นเป็นที่พึ่งอยู่ ภิกษุของเราที่เป็นผู้ใคร่ต่อการศึกษาจัก ปรากฏอยู่ในความ เป็นยอดยิ่ง ฯ


พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๐ หน้าที่ ๑๐๓

4)
ภัตตาหารมื้อสุดท้าย เสด็จเมืองปาวา ฉันท์ภัตตาหารของนายจุนท
(มหาปรินิพพานสูตร ๙)

  พระผู้มีพระภาคเสด็จ เมืองปาวา นายจุนทกัมมารบุตร ได้เตรียมอาหารอันประณีต และ
  สุกรมัททวะ (พืชท้องถิ่น) มาถวาย หลังฉันท์ ได้รับสั่งให้นายจุนท ฝังสุกรมัททวะ
  ในหลุม จากนั้นเกิดอาพาธหนัก ถึงขั้นลงพระบังคน (ท้องเสีย) และถ่ายเป็นพระโลหิต
  ต่อมาได้เสด็จไปยัง เมืองกุสินารา อันเป็นสถานที่ เสด็จปรินิพพาน


     [๑๑๗] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ในโภคนคร ตามความ พอพระทัยแล้ว ตรัสเรียก ท่านพระอานนท์มารับสั่งว่า ดูกรอานนท์ มาไปกันเถิด เราจักไปยังเมืองปาวา ท่านพระอานนท์ทูลรับ พระดำรัส ของพระผู้มีพระภาคแล้ว

ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ เสด็จถึงเมืองปาวาแล้ว ได้ยินว่าพระผู้มีพระภาค ประทับ ณ อัมพวันของนายจุนทกัมมารบุตร ในเมือง ปาวานั้น

      ครั้งนั้น นายจุนทกัมมารบุตรได้สดับข่าวว่า พระผู้มีพระภาคเสด็จถึง เมืองปาวา ประทับอยู่ ณ อัมพวันของเราในเมืองปาวา จึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถึงที่ ประทับ ครั้นเข้าไปเฝ้าแล้ว ถวายบังคมพระผู้มีพระภาค นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นนายจุนทกัมมารบุตรนั่งเรียบร้อยแล้ว พระผู้มีพระภาคทรงให้เห็นแจ้ง ให้สมาทาน ให้อาจหาญ ให้รื่นเริงด้วยธรรมีกถา

      ลำดับนั้น นายจุนท กัมมารบุตร อันพระผู้มีพระภาคให้เห็นแจ้ง ให้สมาทาน ให้อาจหาญ ให้รื่นเริงด้วยธรรมีกถาแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคพร้อม ด้วยภิกษุสงฆ์ จงทรงรับภัตของ ข้าพระองค์ เพื่อเสวยในวันพรุ่งนี้ พระผู้มีพระภาคทรงรับด้วยดุษณีภาพ

      ลำดับนั้น นายจุนทกัมมารบุตรทราบว่า พระผู้มีพระภาคทรงรับแล้ว ลุกจาก อาสนะถวายบังคม พระผู้มีพระภาค กระทำประทักษิณ หลีกไปแล้ว นายจุนท กัมมารบุตร ให้ตระเตรียมของเคี้ยวของฉัน อันประณีต และ สุกรมัททวะ เป็นอันมาก ในนิเวศน์ของตน โดยล่วงราตรีนั้นไป ให้กราบทูลกาล แด่พระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ได้เวลาแล้ว ภัตตาหารสำเร็จแล้ว ฯ

      ครั้งนั้น เวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงนุ่งแล้ว ทรงถือบาตรและจีวร พร้อมด้วย ภิกษุสงฆ์เสด็จ เข้าไปยัง นิเวศน์ของนายจุนทกัมมารบุตร ประทับนั่ง บนอาสนะ ที่เขาจัดถวาย ครั้นพระผู้มีพระภาค ประทับนั่งแล้วรับสั่งกะนายจุนท กัมมารบุตรว่า

      ดูกรนายจุนทะ ท่านจงอังคาสเราด้วยสุกรมัททวะที่ท่านตระเตรียมไว้ จงอังคาส ภิกษุสงฆ์ ด้วยของ เคี้ยวของฉัน อย่างอื่นที่ท่านตระเตรียมไว้ นายจุนท กัมมารบุตร ทูลรับพระดำรัสของ พระผู้มีพระภาคแล้ว จึงอังคาสพระผู้มีพระภาค ด้วยสุกรมัททวะ ที่ตนตระเตรียมไว้ อังคาสภิกษุสงฆ์ ด้วยของเคี้ยวของฉันอย่างอื่น ที่ตนตระเตรียม ไว้ ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งกะ นายจุนทกัมมารบุตรว่า

      ดูกรนายจุนทะ ท่านจงฝัง สุกรมัททวะ ที่ยังเหลือเสียในหลุม เรายังไม่เห็น บุคคล ในโลก พร้อมทั้ง เทวโลก มารโลกพรหมโลก ในหมู่สัตว์พร้อมทั้ง สมณ พราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ซึ่งบริโภค สุกร มัททวะ นั้นแล้ว จะพึงให้ย่อยไปด้วย ดีได้ นอกจากตถาคต นายจุนทกัมมารบุตร ทูลรับพระดำรัสของ พระผู้มีพระภาค แล้ว จึงฝังสุกรมัททวะที่ยังเหลือ เสียในหลุม แล้วเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค

      ครั้นเข้าไปเฝ้าแล้วถวายบังคมนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง พระผู้มีพระภาค ยังนายจุนทกัมมารบุตร ผู้นั่งเรียบร้อยแล้วให้เห็นแจ้ง ให้สมาทาน ให้อาจหาญ ให้รื่นเริงด้วยธรรมีกถา แล้วเสด็จลุกจากอาสนะ เสด็จหลีกไป ฯ

      ลำดับนั้น เมื่อพระผู้มีพระภาค เสวยภัตตาหารของนายจุนทกัมมารบุตรแล้ว ก็เกิดอาพาธอย่างร้ายแรง มีเวทนากล้าเกิดแต่การประชวรลงพระโลหิต ใกล้จะ นิพพาน ได้ยินว่าพระผู้มีพระภาค ทรงมีพระสติสัมปชัญญะ ทรงอดกลั้นเวทนา เหล่านั้น ไว้ มิได้ทรงพรั่นพรึง

      ลำดับนั้นพระผู้มีพระภาคตรัสเรียก ท่านพระอานนท์มารับสั่งว่า มาไปกันเถิด อานนท์เราจักไปยัง เมืองกุสินารา ท่านพระอานนท์ทูลรับพระดำรัสของพระผู้มี พระภาคแล้ว ฯ

        [๑๑๘] ข้าพเจ้าได้ฟังมาว่า พระผู้มีพระภาคทรงพระปรีชาเสวย ภัตตาหาร ของ นายจุนท กัมมารบุตร แล้วทรงพระประชวรอย่างหนัก ใกล้จะนิพพานเมื่อ พระศาสดาเสวย สุกรมัททวะ แล้ว การประชวรอย่างหนักได้บังเกิดขึ้น พระผู้มีพระภาค ลงพระบังคน(ท้องเสีย ถ่ายเป็นเลือด) ได้ตรัสว่าเราจะไปยังเมือง กุสินารา ดังนี้ ฯ

(คาถาเหล่านี้ พระสังคีติกาจารย์ทั้งหลายกล่าวไว้ในเวลาทำสังคายนา)

        [๑๑๙] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเสด็จแวะจากหนทาง แล้วเสด็จเข้าไป  ยังโคนไม้ ต้นหนึ่ง รับสั่งกะท่านพระอานนท์ว่า

      ดูกรอานนท์ เธอจงช่วยปูผ้าสังฆาฏิซ้อนกันเป็นสี่ชั้น ให้เราเราเหน็ดเหนื่อยนัก จักนั่ง ท่านพระอานนท์ ทูลรับพระดำรัส ของพระผู้มีพระภาคแล้ว ปูผ้าสังฆาฏิ ซ้อนกัน เป็นสี่ชั้น พระผู้มีพระภาค ประทับนั่ง บนอาสนะที่พระอานนท์ปูถวายแล้ว ครั้นพระผู้มีพระภาคประทับนั่งแล้ว จึงรับสั่ง กะท่านพระอานนท์ว่า ดูกรอานนท์ เธอจงช่วยนำน้ำมาให้เราเราระหาย จักดื่มน้ำ

      เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว ท่านพระอานนท์ได้กราบทูลว่า ข้าแต่ พระองค์ผู้เจริญ เมื่อกี้นี้ เกวียนประมาณ ๕๐๐ เล่ม ข้ามไปแล้วน้ำนั้นน้อย ถูกล้อ เกวียน บดแล้ว ขุ่นมัว ไหลไปอยู่ แม่น้ำ กกุธานที นี้อยู่ไม่ไกล มีน้ำใสจืด เย็น ขาว
 มีท่าราบเรียบน่ารื่นรมย์ พระผู้มีพระภาคจักทรงดื่มน้ำ ในแม่น้ำนี้ และจักทรง สรงสนานพระองค์ แม้ครั้งที่สอง พระผู้มีพระภาคก็ยังรับสั่งกะท่าน พระอานนท์ว่า

      ดูกรอานนท์ เธอจงช่วยนำน้ำดื่ม มาให้เรา เราระหาย จัดดื่มน้ำ แม้ ครั้งที่ สอง ท่านพระอานนท์ ก็ได้กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อกี้นี้เกวียนประมาณ ๕๐๐ เล่ม ข้ามไปแล้วน้ำนั้นน้อย ถูกล้อเกวียนบดแล้ว ขุ่นมัวไหลไปอยู่ แม่น้ำ กกุธานที นี้อยู่ไม่ไกล มีน้ำใส จืด เย็น ขาว มีท่าราบเรียบ น่ารื่นรมย์ พระผู้มีพระภาค จักทรงดื่มน้ำในแม่น้ำนี้ แล้วจักทรงสรงสนานพระองค์ แม้ครั้งที่สาม พระผู้มีพระภาค ก็ยังรับสั่งกะท่านพระอานนท์ว่า

      ดูกรอานนท์ เธอจงช่วยนำน้ำมาให้เรา เราระหาย จักดื่มน้ำ ท่านพระอานนท์ ทูลรับ พระดำรัสของ พระผู้มีพระภาค แล้วถือบาตรไปยังแม่น้ำนั้น ครั้งนั้น แม่น้ำนั้น ถูกล้อเกวียนบดแล้ว มีน้ำน้อยขุ่นมัว ไหลไปอยู่ เมื่อท่านพระอานนท์เข้าไปใกล้ ก็ใสสะอาด ไม่ขุ่นมัวไหลไปอยู่

      ท่านพระอานนท์ ได้มีความดำริว่า น่าอัศจรรย์หนอเหตุไม่เคยเป็นมาเป็นแล้ว ความที่ พระตถาคต เป็นผู้มีฤทธิ์มากมีอานุภาพมาก แม่น้ำนี้ถูกล้อเกวียนบดแล้ว มีน้ำน้อย ขุ่นมัว ไหลไปอยู่ เมื่อเราเข้า ไปใกล้ กลับใสสะอาด ไม่ขุ่นมัว ไหลไปอยู่

      ท่านพระอานนท์ตักน้ำมาด้วยบาตรแล้ว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นเข้าไปเฝ้า แล้ว ได้กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ น่าอัศจรรย์ เหตุไม่เคย เป็นมาเป็นแล้ว ความที่พระตถาคตเป็นผู้มีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมาก เมื่อกี้นี้ แม่น้ำ นั้นถูกล้อเกวียนบดแล้วมีน้ำน้อยขุ่นมัวไหลไปอยู่ เมื่อข้า พระองค์เข้าไปใกล้ กลับใสสะอาด ไม่ขุ่นมัว ไหลไปแล้วขอพระผู้มีพระภาคจงเสวยน้ำเถิด ขอพระสุคต จงเสวยน้ำเถิด

      ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเสวยน้ำแล้ว ฯ






พุทธวจน : อ่านคำสอนพระศาสดา อ่านแบบสบายตา โดยคัดลอกหนังสือทั้งเล่มมาจัดทำเป็นเว็บเพจ (คลิกอ่านพร้อมดาวน์โหลดไฟล์ pdf)
90 90 90 90
พุทธประวัติ ขุมทรัพย์ อริยสัจ
ภาคต้น
อริยสัจ
ภาคปลาย
ปฏิจจ ปฐมธรรม ตถาคต อนาคามี อินทรีย์
สังวร
สัตว์
สัตตานัง
ทาน
สกทาคามี
ฆราวาส
ชั้นเลิศ
มรรควิธี
ที่ง่าย
อริยวินัย เดรัจฉานวิชา กรรม สมถะ
วิปัสสนา
โสดาบัน นา
ปานสติ
จิต มโน
วิญญาณ
ก้าวย่าง
อย่างพุทธะ
ตามรอย
ธรรม
ภพ ภูมิ
พุทธวจน
สาธยาย
ธรรม
สังโยชน์