เว็บไซต์ อนาคามี เผยแพร่ พุทธวจน คำสอนของพระศาสดา คำสอนตถาคต รวมพระสูตรสำคัญ อนาคามี เว็บไซต์เผยแพร่คำสอนของพระพุทธเจ้า
 
ค้นหาคำที่ต้องการ          

  ว่าด้วยหมอชีวกโกมารภัจจ์..ประวัติการรักษาโรค 1172
  (ย่อ)

ประวัติหมอขีวกโกมารภัจจ์
เป็นลูกหญิงงามเมืองโฉมงานในกรุงราชคฤห์ หลังคลอดแล้วนำมาทิ้งไว้ที่กองขยะนอกเมือง เจ้าชายอภัย เสด็จผ่านได้ทอดพระเนตรเห็น จึงนำมาชุบเลี้ยง ตั้งชื่อว่า ชีวก (แปลว่าผู้รอดตาย) ชีวกได้ไปเรียนแพทย์ที่เมือง ตักกสิลา จนจบ จากนั้นได้ตระเวณรักษาคนไข้ให้กับเศรษฐี และตระกูล กษัตริย์

ประวัติการรักษา
รักษา ภรรยาเศรษฐี ด้วยโรคปวดศรีษะมานานถึง ๗ ปี
รักษา พระเจ้าพิมพิสารทรงประชวรโรคริดสีดวงงอก
รักษา เศรษฐีชาวพระนครราชคฤห์ เป็นโรคปวดศีรษะ ต้องผ่าสมองเอาแมลง 2 ตัวออก
รักษา บุตรเศรษฐีป่วยโรคเนื้องอกที่ลำไส้
รักษา พระเจ้าจัณฑปัชโชตทรงประชวรโรคผอมเหลือง
รักษา พระผู้มีพระภาคเสวยพระโอสถ เพื่อขับของหมักหมมในลำใส้

หมอขีวกโกมารภัจจ์ ได้รับแต่งตั้งจากพระพุทธเจ้า ให้เป็น เอตทัคคะ ในด้านผู้เลื่อมใสในบุคคล

เรื่องสำคัญของพระพุทธเจ้า
การบำเพ็ญบารมีในอดีตชาติ
การประสูติ แสงสว่าง แผ่นดินไหว
แสวงหาสัจจะบำเพ็ญทุกรกิริยา
ปัญจวัคคีย์หลีก สิ่งที่ตรัสรู้
ตรัสรู้ แสดงเทศนาปัญจวัคคีย์
ปลงสังขาร ปรินิพพาน
ลำดับขั้นการปรินิพพาน
เทวดาแสดงฤทธิ์ขณะถวายเพลิง
แบ่งพระสรีระออกเป็น ๘ ส่วน

พระไตรปิฎก ฉบับหลวง ล่มที่ ๕ วินัยปิฎก หน้าที่ ๑๓๔ - ๑๕๐


ว่าด้วยหมอชีวกโกมารภัจจ์

(เรื่องคณะกุฎุมพีชาวกรุงราชคฤห์พบหญิงงามเมืองชื่อ อัมพปาลี)

          [๑๒๘] โดยสมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเวฬุวัน อันเป็นสถานที่ พระราชทานเหยื่อแก่กระแต เขตพระนครราชคฤห์ ครั้งนั้นพระนคร เวสาลี เป็นบุรีมั่งคั่ง กว้างขวาง มีคนมาก มีคนคับคั่ง และมีอาหารหาได้ง่าย มีปราสาท ๗,๗๐๗ หลัง มีเรือนยอด ๗,๗๐๗ หลัง มีสวนดอกไม้ ๗,๗๐๗ แห่ง มีสระโบกขรณี ๗,๗๐๗ สระ และมีหญิงงามเมืองชื่ออัมพปาลี เป็นสตรีทรงโฉม สคราญ ตาน่าเสน่หา ประกอบด้วย ผิวพรรณเฉิดฉายยิ่ง ชำนาญในการฟ้อนรำ ขับร้อง และประโคมดนตรี

คนทั้งหลายที่มีความประสงค์ต้องการพาตัวไปร่วมอภิรมย์ด้วย ราคาตัวคืนละ ๕๐ กษาปณ์ พระนครเวสาลีงามเพริศพริ้งยิ่งกว่าประมาณ เพราะนางอัมพปาลี หญิงงามเมืองนั้น

ครั้งนั้น พวกคนมีทรัพย์คณะหนึ่ง ชาวพระนครราชคฤห์ได้เดินทางไปพระนครเวสาลี ด้วยกรณียะบางอย่าง และได้เห็นพระนครเวสาลีมั่งคั่งกว้างขวาง มีคนมาก มีคนคับคั่ง และมีอาหารหาได้ง่าย มีปราสาท ๗,๗๐๗ หลัง มีเรือนยอด ๗,๗๐๗ หลัง มีสวนดอกไม้ ๗,๗๐๗ แห่ง มีสระโบกขรณี ๗,๗๐๗ สระ และมีนางอัมพปาลี หญิงงามเมืองผู้ทรงโฉม สคราญ ตาน่าเสน่หา ประกอบด้วยผิวพรรณเฉิดฉายยิ่ง ชำนาญในการฟ้อนรำ ขับร้อง และประโคมดนตรี

คนทั้งหลายที่มีความประสงค์ต้องการตัวไปร่วมอภิรมย์ด้วย ราคาตัวคืนละ ๕๐ กษาปณ์ และพระนครเวสาลี งามเพริศพริ้งยิ่งกว่าประมาณ เพราะนางอัมพปาลี หญิงงามเมืองนั้น ครั้นพวกเขาเสร็จกรณียะนั้นในพระนครเวสาลีแล้ว กลับมาพระนคร ราชคฤห์ตามเดิม เข้าเฝ้าพระเจ้าพิมพิสาร จอมเสนามาคธราช

ครั้นแล้วได้กราบทูลคำนี้แด่ท้าวเธอว่า ขอเดชะฯพระนครเวสาลี เป็นบุรีที่มั่งคั่ง กว้างขวาง มีคนมาก มีคนคับคั่ง และมีอาหารหาได้ง่ายมีปราสาท ๗,๗๐๗ หลัง มีเรือนยอด ๗,๗๐๗ หลัง มีสวนดอกไม้ ๗,๗๐๗ แห่ง มีสระโบกขรณี๗,๗๐๗ สระ และมีนางอัมพปาลี หญิงงามเมือง ผู้ทรงโฉมสคราญตา น่าเสน่หา ประกอบด้วย ผิวพรรณ เฉิดฉายยิ่ง ชำนาญในการฟ้อนรำ ขับร้องและประโคมดนตรี คนทั้งหลาย ที่มีความประสงค์ ต้องการพาตัวไปร่วมอภิรมย์ด้วยราคาตัวคืนละ ๕๐ กษาปณ์ และพระนครเวสาลีงามเพริศพริ้งยิ่งกว่าประมาณ เพราะนางอัมพปาลีหญิงงามเมืองนั้น ขอเดชะฯ แม้ชาวเราจะตั้งหญิงงามเมืองขึ้นบ้าง ก็จะเป็นการดี.

พระราชารับสั่งว่า พนาย ถ้าเช่นนั้น พวกท่านจงเสาะหากุมารีผู้มีลักษณะงามเช่นนั้น ที่ควรจะคัดเลือกให้เป็นหญิงงามเมือง.

กำเนิดชีวกโกมารภัจจ์

          ก็สมัยนั้น ในพระนครราชคฤห์ มีกุมารีชื่อ สาลวดี เป็นสตรีทรงโฉม สคราญตา น่าเสน่หา ประกอบด้วยผิวพรรณเฉิดฉายยิ่ง จึงพวกคนมีทรัพย์ชาว พระนครราชคฤห์ ได้คัดเลือก กุมารี สาลวดีเป็นหญิงงามเมือง

ครั้นนางกุมารีสาลวดี ได้รับเลือกเป็นหญิงงามเมืองแล้ว ไม่ช้านานเท่าไรนักก็ได้ เป็นผู้ชำนาญในการฟ้อนรำ ขับร้อง บรรเลงเครื่องดนตรี มีคนที่มีความประสงค์ ต้องการตัวไปร่วมอภิรมย์ ราคาตัวคืนละ ๑๐๐ กษาปณ์

ครั้นมิช้ามินาน นางสาลวดี หญิงงามเมืองก็ตั้งครรภ์จึงนางมีความคิดเห็นว่า ธรรมดา สตรี มีครรภ์ไม่เป็นที่พอใจของพวกบุรุษ ถ้าใครๆ ทราบว่าเรามีครรภ์ ลาภผลของเร าจักเสื่อมหมด ถ้ากระไร เราควรแจ้งให้เขาทราบว่าเป็นไข้ ต่อมานางได้สั่งคนเฝ้า ประตู ไว้ว่า นายประตูจ๋า โปรดอย่าให้ชายใดๆ เข้ามา และผู้ใดถามหาดิฉัน จงบอก ให้เขา ทราบว่าเป็นไข้นะ

คนเฝ้าประตูนั้นรับคำนางสาลวดีหญิงงามเมืองว่า จะปฏิบัติตามคำสั่งเช่นนั้น หลังจาก นั้น อาศัยความแก่แห่งครรภ์นั้น นางได้คลอดบุตรเป็นชาย และสั่งกำชับทาสีว่า แม่สาว ใช้จงวางทารกนี้ลงบนกระด้งเก่าๆ แล้วนำออกไปทิ้งที่กองหยากเยื่อ

ทาสีนั้นรับคำนางว่า ทำเช่นนั้นได้ เจ้าค่ะ ดังนี้ แล้ววางทารกนั้นลงบนกระด้งเก่าๆ นำออกไปทิ้งไว้ ณ กองหยากเยื่อ

ก็ครั้งนั้นเป็นเวลาเช้า เจ้าชายอภัย กำลังเสด็จเข้าสู่พระราชวัง ได้ทอดพระเนตร เห็นทารกนั้นอันฝูงกาห้อมล้อมอยู่ ครั้นแล้วได้ถามมหาดเล็กว่า พนายนั่นอะไร ฝูงการุมกันตอม
ม. ทารก พ่ะย่ะค่ะ
อ. ยังเป็นอยู่หรือ พนาย
ม. ยังเป็นอยู่ พ่ะย่ะค่ะ
อ. พนาย ถ้าเช่นนั้น จงนำทารกนั้นไปที่วังของเรา ให้นางนมเลี้ยงไว้

คนเหล่านั้น รับสนองพระบัญชาว่า อย่างนั้น พ่ะย่ะค่ะ แล้วนำทารกนั้นไปวังเจ้าชาย อภัย มอบแก่นางนมว่า โปรดเลี้ยงไว้ด้วย อาศัยคำว่า ยังเป็นอยู่ เขาจึงขนานนาม ทารกนั้นว่า ชีวก

ชีวกนั้น อันเจ้าชายรับสั่งให้เลี้ยงไว้ เขาจึงได้ตั้งนามสกุลว่า โกมารภัจจ์ ต่อมาไม่นาน นัก ชีวกโกมารภัจจ์ก็รู้เดียงสา จึงเข้าเฝ้าเจ้าชายอภัย ครั้นแล้วได้ทูลคำนี้แด่เจ้าชาย อภัยว่า ใครเป็นมารดาของเกล้ากระหม่อม ใครเป็นบิดาของเกล้ากระหม่อม พ่ะย่ะค่ะ

เจ้าชายรับสั่งว่า พ่อชีวก แม้ถึงตัวเราก็ไม่รู้จักมารดาของเจ้า ก็แต่ว่าเราเป็นบิดา ของเจ้าเพราะเราได้ให้เลี้ยงเจ้าไว้.

จึงชีวกโกมารภัจจ์มีความคิดเห็นว่า ราชสกุลเหล่านี้แล คนที่ไม่มีศิลปะ จะเข้าพึ่ง พระบารมี ทำไม่ได้ง่าย ถ้ากระไร เราควรเรียนวิชาแพทย์ไว้.

เรียนศิลปะทางแพทย์

          [๑๒๙] ก็โดยสมัยนั้นแล นายแพทย์ทิศาปาโมกข์ตั้งสำนักอยู่ ณ เมือง ตักกสิลาจึง ชีวกโกมารภัจจ์ ไม่ทูลลาเจ้าชายอภัย ลอบเดินทางไปเมืองตักกสิลา เดินรอนแรมไป โดยลำดับถึงเมืองตักกสิลา แล้วเข้าไปหานายแพทย์ผู้นั้น ครั้นแล้ว ได้กราบเรียนคำนี้ แก่นายแพทย์ว่าท่านอาจารย์ กระผมประสงค์จะศึกษาศิลปะ นายแพทย์สั่งว่า พ่อชีวก ถ้าเช่นนั้น จึงศึกษาเถิด.

ครั้งนั้นชีวกโกมารภัจจ์ เรียนวิชาได้มาก เรียนได้เร็ว เข้าใจดีด้วย และวิชาที่เรียน ได้แล้ว ก็ไม่ลืม ครั้นล่วงมาได้ ๗ ปี ชีวกโกมารภัจจ์คิดว่า ตัวเราเรียนวิชาได้มาก เรียนได้เร็ว เข้าใจดีด้วย ทั้งวิชาที่เรียนได้ก็ไม่ลืม และเราเรียนมาได้ ๗ ปีแล้ว ยังไม่สำเร็จศิลปะนี้ เมื่อไรจักสำเร็จสักที จึงเข้าไปหานายแพทย์ผู้นั้นแล้ว ได้เรียน ถามว่า ท่านอาจารย์ กระผมเรียนวิชาได้มากเรียนได้เร็ว เข้าใจดีด้วย ทั้งวิชาที่เรียน ได้แล้วก็ไม่ลืม และกระผมได้เรียนมาเป็นเวลา ๗ ปีก็ยังไม่สำเร็จ เมื่อไรจักสำเร็จ สักทีเล่า ขอรับ.

นายแพทย์ตอบว่า พ่อชีวก ถ้าเช่นนั้นเธอจงถือเสียมเที่ยวไปรอบเมืองตักกสิลา ระยะทาง ๑ โยชน์ ตรวจดูสิ่งใดไม่ใช่ตัวยา จงขุดสิ่งนั้นมา

ชีวกโกมารภัจจ์รับคำนายแพทย์ว่า เป็นเช่นนั้นท่านอาจารย์ ดังนั้นแล้ว ถือเสียม เดินไป รอบเมืองตักกสิลาระยะทาง ๑ โยชน์ มิได้เห็นสิ่งใดที่ไม่เป็นตัวยา สักอย่าง หนึ่ง จึงเดินทางกลับเข้าไปหานายแพทย์ และได้กราบเรียนคำนี้ต่อนายแพทย์ว่า ท่านอาจารย์ กระผมเดินไปรอบเมืองตักกสิลาระยะทาง ๑ โยชน์แล้ว มิได้เห็นสิ่ง ที่ไม่เป็นยา สักอย่างหนึ่ง

นายแพทย์บอกว่า พ่อชีวก เธอศึกษาสำเร็จแล้ว เท่านี้ก็พอที่เธอจะครองชีพได้ แล้ว ได้ให้เสบียงเดินทางเล็กน้อย แก่ชีวกโกมารภัจจ์

ลำดับนั้น ชีวกโกมารภัจจ์ถือเสบียงเล็กน้อยนั้นแล้ว ได้เดินทางมุ่งไปพระนคร ราชคฤห์ ครั้นเดินทางไปเสบียงเพียงเล็กน้อยนั้น ได้หมดลงที่เมืองสาเกต ใน ระหว่างทาง จึงเกิด ความปริวิตกว่าหนทางเหล่านี้แลกันดารอัตคัดน้ำ อัตคัดอาหาร คนไม่มีเสบียงจะเดินไป ทำไม่ได้ง่ายจำเราจะต้องหาเสบียง.

ภาคปฏิบัติงานแพทย์

          [๑๓๐] ก็โดยสมัยนั้นแล ภรรยาเศรษฐีที่เมืองสาเกต เป็นโรคปวดศีรษะ อยู่ ๗ ปี นายแพทย์ ทิศาปาโมกข์ใหญ่ๆ หลายคนมารักษา ก็ไม่สามารถรักษาให้หาย ได้ขนเงิน ไปเป็นอันมาก จึงชีวกโกมารภัจจ์เข้าไปสู่เมือง สาเกต ถามคนทั้งหลายว่า พนาย ใคร เจ็บไข้บ้าง ฉันจะรักษา

คนทั้งหลายพากันบอกว่า ท่านอาจารย์ ภรรยาเศรษฐีนั้นปวดศีรษะอยู่ ๗ ปี เชิญไป รักษาภรรยา เศรษฐีเถิด ท่านอาจารย์ จึงชีวกโกมารภัจจ์เดินทางไปบ้านเศรษฐีคหบดี ครั้นถึงแล้ว ได้สั่งคนเฝ้าประตูว่า พ่อนาย ท่านจงไปกราบเรียนภรรยาเศรษฐีว่า คุณนายขอรับ หมอมาแล้ว เขามีความประสงค์จะเยี่ยมคุณนาย

คนเฝ้าประตูรับคำชีวกโกมารภัจจ์ว่า เป็นอย่างนั้นขอรับ อาจารย์ ดังนั้น แล้วเข้าไปหา ภรรยาเศรษฐี แล้วได้กราบเรียนว่า คุณนายขอรับ หมอมาแล้ว เขามีความประสงค์ จะเยี่ยมคุณนาย

ภรรยาเศรษฐีถามว่า พ่อนายเฝ้าประตูจ๋า หมอเป็นคนเช่นไร
พ. เป็นหมอหนุ่มๆ ขอรับ
ภ. ไม่ละ พ่อนายเฝ้าประตู หมอหนุ่มๆ จักทำอะไรแก่ฉันได้ นายแพทย์ทิศาปาโมกข์ ใหญ่ๆ หลายคน มารักษา ก็ไม่สามารถรักษาให้หาย ได้ขนเงินไปเป็นอันมาก จึงนายประตูนั้น เดินออกมาหาชีวกโกมารภัจจ์ แล้วได้เรียนว่า ท่านอาจารย์ ภรรยา เศรษฐี พูดอย่างนี้ว่า ไม่ละ พ่อนายเฝ้าประตู หมอหนุ่มๆ จักทำอะไรแก่ฉันได้ นายแพทย์ ทิศาปาโมกข์ ใหญ่ๆ หลายคนมารักษา ก็ไม่สามารถรักษาให้หาย ได้ขนเงินไปเป็นอันมาก

ชี. พ่อนายเฝ้าประตู ท่านจงไปกราบเรียนภรรยาเศรษฐีว่า คุณนายขอรับ คุณหมอ สั่งมา อย่างนี้ว่า ขอคุณนายอย่าเพิ่งให้อะไรๆ ต่อเมื่อหายโรคแล้ว คุณนายประสงค์ จะให้สิ่งใด จึงค่อยให้สิ่งนั้นเถิด

นายประตูรับคำชีวกโกมารภัจจ์ว่า เป็นอย่างนั้น ขอรับอาจารย์ ดังนั้นแล้วเข้าไปหา ภรรยาเศรษฐี ได้กราบเรียนว่า คุณนายขอรับ คุณหมอบอกข่าวมาอย่างนี้ว่า ขอคุณ นายอย่าเพิ่งให้อะไรๆ ก่อน ต่อเมื่อคุณนายหายโรคแล้ว ประสงค์จะให้สิ่งใด จึงค่อย ให้สิ่งนั้นเถิด

ภรรยาเศรษฐีสั่งว่า พ่อนายประตู ถ้าเช่นนั้นเชิญคุณหมอมา นายประตูรับคำภรรยา เศรษฐีว่า อย่างนั้นขอรับ แล้วเข้าไปหาชีวกโกมารภัจจ์ แล้วได้แจ้งให้ทราบว่า ท่านอาจารย์ ภรรยาเศรษฐี ขอเชิญท่านเข้าไป

เริ่มรักษาภรรยาเศรษฐี
(ด้วยโรคปวดศรีษะมานานถึง ๗ ปี)

          ลำดับนั้นชีวกโกมารภัจจ์เข้าไปหาภรรยาเศรษฐี ครั้นแล้วตรวจดูความผันแปร ของ ภรรยา เศรษฐี แล้วได้กล่าวคำนี้แก่ภรรยาเศรษฐีว่า คุณนายขอรับ ผมต้องการ เนยใส หนึ่ง ซองมือ ครั้นภรรยาเศรษฐี สั่งให้หาเนยใสหนึ่งซองมือมาให้แก่ชีวกแล้ว ชีวกโกมารภัจจ์จึงหุงเนยใสหนึ่ง ซองมือนั้น กับยาต่างๆ ให้ภรรยาเศรษฐีนอนหงาย บนเตียง แล้วให้นัตถุ์

ขณะนั้นเนยใสที่ให้นัตถุ์นั้น ได้พุ่งออกจากปาก จึงภรรยาเศรษฐี ถ่มเนยใสนั้นลงใน กระโถน สั่งทาสีว่า แม่สาวใช้จงเอาสำลี ซับเนยใสนี้ไว้ จึงชีวกโกมารภัจจ์ได้คิดว่า แปลกจริงพวกเรา แม่บ้านคนนี้ช่างสกปรกเนยใสนี้ จำเป็น จะต้องทิ้ง ยังใช้ให้ทาสี เอาสำลี ซับไว้ ส่วนยาของเรามีราคาแพงๆ มากกว่าปล่อยให้เสีย แม่บ้านคนนี้จักให้ ขวัญข้าวอะไรแก่เราบ้าง

ขณะนั้นภรรยาเศรษฐีสังเกตรู้ อาการอันแปลกของชีวกโกมารภัจจ์ แล้วได้ถามคำนี้แก่ ชีวก โกมารภัจจ์ ว่า อาจารย์ท่านแปลกใจอะไรหรือ

ชี. เวลานี้ผมกำลังคิดอยู่ว่า แปลกจริงแม่บ้านคนนี้ช่างสกปรกเหลือเกิน เนยใสนี้ จำเป็นจะต้องทิ้ง ยังใช้ให้ทาสีเอาสำลีซับไว้ ส่วนยาของเรามีราคาแพงๆ มากกว่า ปล่อยให้เสียแม่บ้านคนนี้ จักให้ขวัญข้าวอะไรแก่เราบ้าง

ภ. อาจารย์ พวกดิฉันชื่อว่าเป็นคนมีเหย้าเรือน จำเป็นจะต้องรู้จัก สิ่งที่ควรสงวน เนยใส นี้ ยังดีอยู่ จะใช้เป็นยาสำหรับทาเท้าพวกทาสหรือกรรมกรก็ได้ ใช้เป็นน้ำมัน เติมตะเกียง ก็ได้ อาจารย์ท่าน อย่าได้คิดวิตกไปเลย ค่าขวัญข้าวของท่านจัก ไม่ลดน้อย

คราวนั้นชีวกโกมารภัจจ์ได้กำจัดโรคปวดศีรษะของภรรยาเศรษฐี ซึ่งเป็นมา ๗ ปี ให้หายโดย วิธีนัตถุ์ยาคราวเดียวเท่านั้น ครั้นภรรยาเศรษฐีหายโรคแล้ว ได้ให้รางวัล ชีวกโกมารภัจจ์เป็นเงิน ๔,๐๐๐ กษาปณ์ บุตรเศรษฐีได้ทราบว่ามารดาของเรา หายโรคแล้ว ได้ให้รางวัลเพิ่มอีก๔,๐๐๐ กษาปณ์ บุตรสะใภ้ได้ทราบว่า แม่ผัวของเรา หายโรคแล้ว ก็ได้ให้รางวัล ๔,๐๐๐ กษาปณ์

เศรษฐีคหบดี ทราบว่า ภรรยาของเราหายโรคแล้วได้เพิ่มรางวัลให้อีก ๔,๐๐๐ กษาปณ์ และให้ทาส ทาสี รถม้าอีกด้วย จึงชีวกโกมารภัจจ์รับเงิน ๑๖,๐๐๐ กษาปณ์ กับทาส ทาสี และรถม้าเดินมุ่งไป พระนครราชคฤห์ ถึงพระนครราชคฤห์โดยลำดับ เข้าเฝ้าเจ้าชายอภัย ครั้นแล้วได้กราบทูลว่าเงิน ๑๖,๐๐๐ กษาปณ์ กับทาส ทาสี และรถม้านี้เป็นการกระทำครั้งแรก ของเกล้ากระหม่อม ขอใต้ฝ่า พระบาท จงทรงพระกรุณาโปรดรับค่าเลี้ยงดูเกล้ากระหม่อมเถิด พระเจ้าข้า

พระราชกุมารรับสั่งว่า อย่าเลย พ่อนายชีวก ทรัพย์นี้จงเป็นของเจ้าคนเดียวเถิด และเจ้าจงสร้างบ้าน อยู่ในวังของเราเถิด

ชีวกโกมารภัจจ์ทูลรับพระบัญชาเจ้าชายอภัยว่า เป็นพระกรุณายิ่งพระเจ้าข้า แล้วได้สร้างบ้านอยู่ในวัง ของเจ้าชายอภัย.

เรื่องพระเจ้าพิมพิสารทรงประชวรโรคริดสีดวงงอก

          [๑๓๑] ก็โดยสมัยนั้นแล พระเจ้าพิมพิสารจอมเสนามาคธราช ทรงประชวร โรคริดสีดวง งอก พระภูษาเปื้อนพระโลหิต พวกพระสนมเห็นแล้ว พากันเย้ยหยันว่า บัดนี้ พระเจ้าอยู่หัว ทรงมีระดู ต่อมาพระโลหิตบังเกิดแก่พระองค์แล้ว ไม่นานเท่าไร นัก พระองค์จักประสูติ พระราชาทรงเก้อเพราะคำเย้ยหยันของพวกพระสนมนั้น

ต่อมาท้าวเธอได้ตรัสเล่าความนั้น แก่เจ้าชายอภัยว่าพ่ออภัย พ่อป่วยเป็นโรคเช่นนั้น ถึงกับภูษาเปื้อนโลหิต พวกพระสนม เห็นแล้ว พากันเย้ยหยันว่าบัดนี้พระเจ้าอยู่หัว ทรง มีระดู ต่อมพระโลหิตบังเกิดแก่พระองค์แล้ว ไม่นานเท่าไรนัก พระองค์จักประสูติ เอาเถอะ พ่ออภัย เจ้าช่วยหาหมอชนิดที่พอจะรักษาพ่อ ได้ให้ทีเถิด

อ. ขอเดชะ นายชีวกผู้นี้เป็นหมอประจำข้าพระพุทธเจ้า ยังหนุ่ม ทรงคุณวุฒิ เธอจัก รักษา พระองค์ได้

พ. พ่ออภัย ถ้าเช่นนั้นเธอจงสั่งหมอชีวก เขาจักได้รักษาพ่อ

ครั้งนั้นเจ้าชายอภัย สั่งชีวกโกมารภัจจ์ว่า พ่อนายชีวก เธอจงไปรักษาพระเจ้าอยู่หัว ชีวก โกมารภัจจ์ รับสนองพระบัญชาว่าอย่างนั้นพระเจ้าข้า แล้วเอาเล็บตักยา เดินไป ในราชสำนัก

ครั้นถึงแล้วเข้าเฝ้าพระเจ้าพิมพิสารจอมเสนามาคธราช แล้วได้กราบทูลคำนี้แด่ พระเจ้าพิมพิสาร จอมเสนามาคธราชว่า พระพุทธเจ้าข้า ข้าพระพุทธเจ้าจักตรวจโรค ของ พระองค์ แล้วรักษาโรคริดสีดวงงอกของพระเจ้าพิมพิสารจอมเสนามาคธราช หายขาดด้วยทายา เพียงครั้งเดียวเท่านั้น

ครั้นพระเจ้าพิมพิสารจอมเสนามาคธราช ทรงหายประชวรจึงรับสั่งให้สตรี ๕๐๐ นาง ตกแต่ง เครื่องประดับทั้งปวง ให้เปลื้องออกทำเป็นห่อแล้ว ได้มีพระราชโองการ แก่ ชีวกโกมาร-ภัจจ์ว่า พ่อนายชีวก เครื่องประดับทั้งปวงของสตรี ๕๐๐ นางนี้ จงเป็นของเจ้า

ชี. อย่าเลย พระพุทธเจ้าข้า ขอพระองค์จงทรงโปรดระลึกว่าเป็นหน้าที่ของข้าพระ-พุทธเจ้าเถิด

พ. ถ้าอย่างนั้น เจ้าจงบำรุงเรากับพวกฝ่ายใน และภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข

ชีวกโกมารภัจจ์ทูลรับสนองพระบรมราชโองการว่า เป็นอย่างนั้นพระพุทธเจ้าข้า.

เรื่องเศรษฐีชาวพระนครราชคฤห์

          [๑๓๒] ก็โดยสมัยนั้นแล เศรษฐีชาวพระนครราชคฤห์ป่วยเป็นโรค ปวดศีรษะ อยู่ ๗ ปี นายแพทย์ทิศาปาโมกข์ใหญ่ๆ หลายคนมารักษา ก็ไม่สามารถรักษาให้หาย ขนเงิน ไป เป็นอันมากอนึ่ง เศรษฐีนั้นถูกนายแพทย์บอกคืน นายแพทย์บางพวก ได้ทำนายไว้ อย่างนี้ว่า เศรษฐีคหบดีจักถึงอนิจกรรมในวันที่ ๕ บางพวกทำนายไว้ อย่างนี้ว่า จักถึงอนิจกรรมในวันที่ ๗

ครั้งนั้นพวกคนร่ำรวย ชาวพระนครราชคฤห์ได้มีความปริวิตกว่า เศรษฐีคหบดีผู้นี้แล มีอุปการะมาก แก่พระเจ้าอยู่หัวและชาวนิคม แต่ท่านถูกนายแพทย์บอกคืนเสียแล้ว นายแพทย์บางพวกทำนายไว้อย่างนี้ว่า เศรษฐีคหบดีจักถึงอนิจกรรมในวันที่ ๕ บางพวก ทำนายไว้อย่างนี้ว่าจักถึงอนิจกรรมในวันที่ ๗ ก็ชีวกผู้นี้เป็นนายแพทย์หลวง ที่หนุ่ม ทรงคุณวุฒิ

ถ้าเช่นนั้นพวกเราพึงทูลขอนายแพทย์ชีวกต่อพระเจ้าอยู่หัว เพื่อจะให้รักษา เศรษฐี คหบดี แล้วจึงพากันไปในราชสำนัก ครั้นถึงแล้วได้เข้าเฝ้ากราบบังคมทูล แด่พระเจ้า พิมพิสาร จอมเสนามาคธราชว่า ขอเดชะฝ่าละอองธุลีพระบาท ปกเกล้า ปกกระหม่อม เศรษฐีคหบดี ผู้นี้มีอุปการะมากแก่ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท และชาวนิคม แต่ท่านถูก นายแพทย์บอกคืน เสียแล้ว

นายแพทย์บางพวกทำนายไว้ อย่างนี้ว่า เศรษฐีคหบดี จักถึงอนิจกรรมในวันที่ ๕ บางพวก ทำนายไว้อย่างนี้ว่า จักถึงอนิจกรรมในวันที่ ๗ ขอพระราชทานพระบรม ราชวโรกาส ขอใต้ฝ่าละออง ธุลีพระบาท จงทรงมีพระบรมราชโองการ สั่งนายแพทย์ ชีวก เพื่อได้รักษาเศรษฐีคหบดี

ครั้งนั้นพระเจ้าพิมพิสารจอมเสนามาคธราช ทรงมีพระราชดำรัสสั่งชีวกโกมารภัจจ์ว่า พ่อนายชีวก เจ้าจงไปรักษาเศรษฐีคหบดี

ชีวกโกมารภัจจ์ทูลรับสนองพระบรมราชโองการว่า อย่างนั้นขอเดชะ แล้วไปหาเศรษฐี คหบดี สังเกตอาการที่ผิดแปลกของเศรษฐีคหบดีแล้ว ได้ถามเศรษฐีคหบดีว่า ท่าน คหบดีถ้าฉัน รักษาท่านหายโรค จะพึงมีรางวัลอะไรแก่ฉันบ้าง?

ศ. ท่านอาจารย์ ทรัพย์สมบัติทั้งปวงจงเป็นของท่าน และตัวข้าพเจ้าก็ยอมเป็น ทาส ของท่าน
ชี. ท่านคหบดี ท่านอาจนอนข้างเดียวตลอด ๗ เดือนได้ไหม?
ศ. ท่านอาจารย์ ข้าพเจ้าอาจนอนข้างเดียวตลอด ๗ เดือนได้
ชี. ท่านคหบดี ท่านอาจนอนข้างที่สองตลอด ๗ เดือนได้ไหม?
ศ. ท่านอาจารย์ ข้าพเจ้าอาจนอนข้างที่สองตลอด ๗ เดือนได้
ชี. ท่านคหบดี ท่านอาจนอนหงายตลอด ๗ เดือนได้ไหม?
ศ. ท่านอาจารย์ ข้าพเจ้าอาจนอนหงายตลอด ๗ เดือนได้

ครั้งนั้น ชีวกโกมารภัจจ์ให้เศรษฐีคหบดีนอนบนเตียง มัดไว้กับเตียงถลก หนังศีรษะ เปิดรอย ประสานกระโหลกศีรษะ นำสัตว์มีชีวิตออกมาสองตัว แล้วแสดงแก่ประชาชน ว่า ท่านทั้งหลาย จงดูสัตว์มีชีวิต ๒ ตัวนี้ เล็กตัวหนึ่ง ใหญ่ตัวหนึ่ง พวกอาจารย์ ที่ทำนายไว้ อย่างนี้ว่า เศรษฐีคหบดีจักถึงอนิจกรรมในวันที่ ๕ เพราะท่านได้เห็นสัตว์ ตัวใหญ่นี้ มันจัก เจาะกินมันสมองของเศรษฐีคหบดีในวันที่ ๕

เศรษฐีคหบดีถูกมันเจาะกินสมองหมด ก็จักถึง อนิจกรรม สัตว์ตัวใหญ่นี้ ชื่อว่าอัน อาจารย์พวกนั้นเห็นถูกต้องแล้ว ส่วนพวกอาจารย์ที่ทำนาย ไว้ อย่างนี้ว่าเศรษฐีคหบดี จักถึงอนิจกรรมในวันที่ ๗ เพราะท่านได้เห็นสัตว์ตัวเล็กนี้ มันจักเจาะกินมันสมอง ของเศรษฐีคหบดีในวันที่ ๗ เศรษฐีคหบดีถูกมันเจาะกินมันสมองหมด ก็จักถึง อนิจกรรม สัตว์ตัวเล็กนี้ ชื่อว่าอันอาจารย์พวกนั้นเห็นถูกต้องแล้ว ดังนี้ แล้วปิดแนว ประสาน กระโหลกศีรษะเย็บหนังศีรษะแล้วได้ทายาสมานแผล

ครั้นล่วงสัปดาห์หนึ่ง เศรษฐีคหบดีได้กล่าวคำนี้ต่อชีวกโกมารภัจจ์ว่า ท่านอาจารย์ ข้าพเจ้า ไม่อาจนอนข้างเดียว ตลอด ๗ เดือนได้

ชี.
ท่านคหบดี ท่านรับคำฉันว่า ท่านอาจารย์ ข้าพเจ้าอาจนอนข้างเดียวตลอด ๗ เดือนได้ดังนี้ มิใช่หรือ?

ศ.
ข้าพเจ้ารับคำท่านจริง ท่านอาจารย์ แต่ข้าพเจ้าจักตายแน่ ข้าพเจ้าไม่อาจนอน ข้างเดียว ตลอด ๗ เดือนได้

ชี. ท่านคหบดี ถ้าเช่นนั้น ท่านจงนอนข้างที่สองตลอด ๗ เดือนเถิด

ครั้นล่วงสัปดาห์หนึ่ง เศรษฐีคหบดี ได้กล่าวคำนี้ต่อชีวกโกมารภัจจ์ว่า ท่านอาจารย์ ข้าพเจ้า ไม่อาจนอน ข้างที่สองตลอด ๗ เดือนได้

ชี. ท่านคหบดี ท่านรับคำฉันว่า ท่านอาจารย์ ข้าพเจ้านอนข้างที่สองตลอด ๗ เดือน ได้ ดังนี้มิใช่หรือ?

ศ. ข้าพเจ้ารับคำท่านจริง ท่านอาจารย์ แต่ข้าพเจ้าจักตายแน่ ข้าพเจ้าไม่อาจนอน ข้างที่สอง ตลอด ๗ เดือนได้

ชี. ท่านคหบดี ถ้าเช่นนั้น ท่านจงนอนหงายตลอด ๗ เดือนเถิด

ครั้นล่วงสัปดาห์หนึ่ง เศรษฐีคหบดี ได้กล่าวคำนี้ต่อชีวกโกมารภัจจ์ว่า ท่านอาจารย์ ข้าพเจ้า ไม่อาจนอนหงายตลอด ๗ เดือนได้

ชี. ท่านคหบดี ท่านรับคำฉันว่า ท่านอาจารย์ ข้าพเจ้าอาจนอนหงายตลอด ๗ เดือน ได้ดังนี้ มิใช่หรือไม่?

ศ. ข้าพเจ้ารับคำท่านจริง ท่านอาจารย์ แต่ข้าพเจ้าจักตายแน่ ข้าพเจ้าไม่อาจนอน หงายตลอด ๗ เดือนได้

ชี. ท่านคหบดี ถ้าฉันไม่บอกท่านไว้ ท่านก็นอนเท่านั้นไม่ได้ แต่ฉันทราบอยู่ก่อน แล้วว่า เศรษฐีคหบดี จักหายโรคในสามสัปดาห์ ลุกขึ้นเถิด ท่านหายป่วยแล้ว ท่านจงรู้ จะได้รางวัล อะไรแก่ฉัน

ศ. ท่านอาจารย์ ก็ทรัพย์สมบัติทั้งปวงจงเป็นของท่าน ตัวข้าพเจ้าก็ยอมเป็น ทาสของ ท่าน

ชี. อย่าเลย ท่านคหบดี ท่านอย่าได้ให้ทรัพย์สมบัติทั้งหมดแก่ฉันเลย และท่าน ก็ไม่ ต้อง ยอม เป็นทาส ของฉัน ท่านจงทูลเกล้าถวายทรัพย์แก่พระเจ้าอยู่หัว แสน กษาปณ์ ให้ฉันแสนกษาปณ์ ก็พอแล้ว

ครั้นเศรษฐีคหบดีหายป่วย ได้ทูลเกล้าถวายทรัพย์แด่พระเจ้าอยู่หัว แสนกษาปณ์ ได้ให้แก่ ชีวกโกมารภัจจ์ แสนกษาปณ์.

เรื่องบุตรเศรษฐีป่วยโรคเนื้องอกที่ลำไส้

          [๑๓๓] ก็โดยสมัยนั้นแล เศรษฐีบุตรชาวพระนครพาราณสี ผู้เล่นกีฬา หกคะเมน ได้ป่วย เป็นโรค เนื้องอก ที่ลำไส้ ข้าวยาคูที่เธอดื่มเข้าไปก็ดี ข้าวสวย ที่เธอ รับประทาน ก็ดี ไม่ย่อย อุจจาระและปัสสาวะออกไม่สะดวก เพราะโรคนั้น เธอจึงซูบผอม เศร้าหมอง มีผิวพรรณซูบซีด เหลืองขึ้นๆ มีตัวสะพรั่งด้วยเอ็น

ครั้งนั้นเศรษฐีชาวพระนครพาราณสีได้มีความปริวิตกดังนี้ว่า บุตรของเราได้เจ็บป่วย เช่นนั้น ข้าวยาคู ที่เธอดื่มก็ดี ข้าวสวยที่เธอรับประทานก็ดี ไม่ย่อยอุจจาระ และ ปัสสาวะ ออกไม่สะดวก บุตรของเรานั้น จึงซูบผอม เศร้าหมอง มีผิวพรรณซูบซีด เหลือง ขึ้นๆ มีตัวสะพรั่งด้วยเอ็น เพราะโรคนั้น ถ้ากระไร เราพึงไป พระนครราชคฤห์ แล้ว ทูลขอนายแพทย์ชีวก ต่อพระเจ้าอยู่หัว เพื่อจะได้รักษาบุตรของเรา

ต่อแต่นั้นเศรษฐีชาวพระนครราชคฤห์แล้ว เข้าเฝ้าพระเจ้า พิมพิสารจอมเสนา มาคธราช แล้วได้กราบทูลว่า ขอเดชะฯ บุตรของข้าพระพุทธเจ้าได้เจ็บป่วยเช่นนั้น ข้าวยาคู ที่เธอดื่มก็ดี ข้าวสวยที่เธอรับประทานก็ดี ไม่ย่อยอุจจาระและปัสสาวะ ออกไม่สะดวก เธอจึงซูบผอม เศร้าหมอง มีผิวพรรณซูบซีด เหลืองขึ้นๆ มีตัวสะพรั่ง ด้วยเอ็น เพราะโรค นั้น ขอพระราชทาน พระบรมราชวโรกาส ขอใต้ฝ่าละอองธุลี-พระบาท จงมีพระบรมราช โองการสั่งนายแพทย์ชีวก เพื่อจะได้รักษาบุตร ของข้า พระพุทธเจ้า

ลำดับนั้น พระเจ้าพิมพิสารจอมเสนามาคธราช ได้ทรงมีพระราชดำรัสสั่งชีวก โกมารภัจจ์ ว่า ไปเถิด พ่อนายชีวก เจ้าจงไปพระนครพาราณสี แล้วรักษาบุตรของ เศรษฐีชาว กรุงพาราณสี

ชีวกโกมารภัจจ์ทูลรับสนองพระบรมราชโองการว่า อย่างนั้นขอเดชะฯ แล้วไปพระนคร พาราณสี เข้าไปหาเศรษฐี บุตรชาวพระนครพาราณสี สังเกตอาการที่ผิดแปลก ของ เศรษฐี บุตรชาวพระนครพาราณสี เชิญประชาชนให้ออกไปเสีย ขึงม่านมัดเศรษฐีบุตร ไว้กับเสา ให้ภรรยาอยู่ข้างหน้า ผ่าหนังท้อง นำเนื้องอกที่ลำไส้ ออกแสดงแก่ ภรรยาว่า เธอจงดู ความเจ็บป่วยของสามี เธอข้าวยาคูที่สามีเธอดื่มก็ดี ข้าวสวยที่สามี เธอ รับประทาน ก็ดี ไม่ย่อย อุจจาระและปัสสาวะออกไม่สะดวก เพราะโรคนี้ สามีเธอ นี้ จึงซูบผอม เศร้าหมอง มีผิวพรรณ ซูบซีด เหลืองขึ้นๆมีตัวสะพรั่งด้วยเอ็นดังนี้ แล้วตัดเนื้องอกในลำไส้ออก สอดใส่ลำไส้กลับ ดังเดิม แล้วเย็บหนังท้องทายา สมานแผล ต่อมาไม่นานเท่าไรนัก เศรษฐีบุตรชาวพระนคร พาราณสี ได้หายโรคแล้ว

ครั้งนั้น เศรษฐีชาวพระนครพาราณสีคิดว่า บุตรของเราหายโรคพ้นอันตรายแล้ว จึงให้รางวัล แก่ชีวก โกมารภัจจ์ เป็นเงิน ๑๖,๐๐๐ กษาปณ์ ชีวกโกมารภัจจ์รับเงิน ๑๖,๐๐๐ กษาปณ์นั้น เดินทางกลับมาสู่ พระนครราชคฤห์ตามเดิม.

เรื่องพระเจ้าจัณฑปัชโชตทรงประชวรโรคผอมเหลือง

          [๑๓๔] ก็โดยสมัยนั้นแล พระเจ้าปัชโชตราชาในกรุงอุชเชนี ทรงประชวรโรค ผอม เหลือง นายแพทย์ที่ใหญ่ๆ มีชื่อเสียงโด่งดังหลายคน มารักษา ก็ไม่อาจทำให้ โรคหายได้ ขนเงินไปเป็นอันมาก

ครั้งนั้น พระเจ้าปัชโชตได้ส่งราชทูตถือพระราชสาส์น ไปในพระราชสำนักพระเจ้า พิมพิสาร จอมเสนามาคธราช มีใจความว่า หม่อมฉันเจ็บป่วยเป็นอย่างนั้น ขอพระราชทาน พระบรมราชวโรกาส ขอพระองค์โปรดสั่งหมอชีวก เขาจักรักษา หม่อมฉัน จึงพระเจ้าพิมพิสาร จอมเสนามาคธราช ได้ดำรัสสั่ง ชีวกโกมารภัจจ์ว่า ไปเถิด พ่อนายชีวก เจ้าจงไปเมืองอุชเชนี รักษาพระเจ้าปัชโชต

ชีวกโกมารภัจจ์ทูลรับสนองพระบรมราชโองการ แล้วเดินทางไปเมืองอุชเชนี เข้าไปในพระราชสำนัก แล้วเข้าเฝ้า พระเจ้าปัชโชต ได้ตรวจอาการที่ผิดแปลก ของพระเจ้าปัชโชต แล้วได้กราบทูลคำนี้ แด่ท้าวเธอว่า ขอเดชะฯ ข้าพระพุทธเจ้า จักหุงเนยใส พระองค์จักเสวยเนยใสนั้น

พระเจ้าปัชโชตรับสั่งห้ามว่า อย่าเลย พ่อนายชีวก ท่านเว้นเนยใสเสีย อาจรักษา เราให้หายโรค ได้ด้วยวิธีใด ท่านจงทำวิธีนั้นเถิด เนยใสเป็นของน่าเกลียด น่าสะอิด สะเอียนสำหรับฉัน

ขณะนั้น ชีวกโกมารภัจจ์ได้มีความปริวิตกว่า พระเจ้าอยู่หัวพระองค์นี้แล ทรงประชวร เช่นนี้ เราเว้นเนยใสเสีย ไม่อาจรักษาพระองค์ให้หายโรคได้ เอาละเราควรหุงเนยใส ให้มีสีกลิ่น รส เหมือนน้ำฝาด ดังนี้ แล้วได้หุง เนยใส ด้วยเภสัชนานาชนิด ให้มีสี กลิ่น รสเหมือนน้ำฝาด ครั้นแล้วฉุกคิดได้ว่า เนยใสที่พระเจ้าอยู่หัว พระองค์นี้ เสวยแล้ว เมื่อย่อยจักทำให้เรอ พระเจ้าอยู่หัวพระองค์นี้ทรงเกรี้ยวกราด จะพึงรับสั่งให้ พิฆาต เราเสียก็ได้

ถ้ากระไรเราพึงทูลลาไว้ก่อน วันต่อมาจึงไปในพระราชสำนัก เข้าเฝ้าพระเจ้าปัชโชต แล้วได้กราบทูลคำนี้ แด่ท้าวเธอว่า ขอเดชะ ฯ พวกข้าพระพุทธเจ้าชื่อว่า เป็น นายแพทย์ จักถอนรากไม้มาผสมยาชั่วเวลาครู่หนึ่ง เช่นที่ประสงค์นั้น ขอประทาน พระบรม ราชวโรกาส ขอฝ่าละอองธุลีพระบาท จงทรงมีพระราชโองการ ตรัสสั่งเจ้า พนักงาน ในโรงราชพาหนะ และที่ประตูทั้งหลายว่า หมอชีวกต้องการไปด้วยพาหนะ ใด จงไปด้วย พาหนะนั้น ปรารถนาไปทางประตูใด จงไปทางประตูนั้น ต้องการไป เวลาใด จงไปเวลานั้น ปรารถนาจะเข้ามา เวลาใด จงเข้ามาเวลานั้น

จึงพระเจ้าปัชโชตได้มี พระราชดำรัสสั่ง เจ้าพนักงานในโรงราชพาหนะและ ที่ประตู ทั้งหลาย ตามที่หมอชีวก กราบทูลขอบรม ราชานุญาตไว้ทุกประการ

ก็โดยสมัยนั้นแล พระเจ้าปัชโชตมีช้างพังชื่อภัททวดี เดินทางได้วันละ ๕๐ โยชน์ จึงหมอชีวก โกมารภัจจ์ ได้ทูลถวายเนยใสนั้นแด่พระเจ้าปัชโชตด้วยกราบทูลว่า ขอใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท จงเสวยน้ำฝาด

ครั้นให้พระเจ้าปัชโชตเสวยเนยใสแล้ว ก็ไปโรงช้างหนีออกจากพระนครไปโดยช้างพัง ภัททวดี ขณะเดียวกัน นั้น เนยใส ที่พระเจ้าปัชโชตเสวยนั้นย่อย ได้ทำให้ทรงเรอขึ้น จึงพระเจ้าปัชโชต ได้รับสั่งแก่ พวกมหาดเล็ก ว่า พนายทั้งหลาย เราถูกหมอชีวกชาติ ชั่วลวงให้ดื่มเนยใส พวกเจ้าจงค้นจับ หมอชีวกมาเร็วไว

พวกมหาดเล็กกราบทูลว่า หมอชีวกหนีออกจากพระนครไปโดย ช้างพังภัททวดีแล้ว พระพุทธเจ้าข้า

ก็โดยสมัยนั้นแล พระเจ้าปัชโชตมีมหาดเล็กชื่อกากะ ซึ่งอาศัยเกิดกับอมนุษย์ เดินทางได้วันละ ๖๐ โยชน์ จึงพระเจ้าปัชโชตดำรัสสั่งกากะมหาดเล็กว่า พ่อนาย กากะ เจ้าจงไปเชิญหมอชีวกกลับมา ด้วยอ้างว่า ท่านอาจารย์ พระเจ้าอยู่หัวรับ สั่งให้เชิญท่าน กลับไป ขึ้นชื่อว่าหมอเหล่านี้แลมีมารยามาก เจ้าอย่ารับวัตถุ อะไรๆ ของเขา

ครั้งนั้น กากะมหาดเล็กได้เดินไปทันชีวกโกมารภัจจ์ ผู้กำลังรับประทานอาหารมื้อเช้า ในระหว่างทางเขต พระนคร โกสัมพี จึงได้เรียนแก่ชีวกโกมารภัจจ์ว่า ท่านอาจารย์ พระเจ้าอยู่หัวรับสั่งให้เชิญท่านกลับไป

ชี. พ่อนายกากะ ท่านจงรออยู่เพียงชั่วเวลาที่เรารับประทานอาหาร เชิญท่าน รับประทานอาหารด้วยกันเถิด

ก. ช่างเถิดท่านอาจารย์ พระเจ้าอยู่หัวดำรัสสั่งข้าพเจ้าไว้ว่า พ่อนายกากะ ขึ้นชื่อว่า หมอเหล่านี้มีมารยามาก อย่ารับวัตถุอะไร ของเขา

ทันใดนั้น ชีวกโกมารภัจจ์ ได้แซกยาทางเล็บ พลางเคี้ยวมะขามป้อม และดื่มน้ำ รับประทาน แล้วได้ร้องเชื้อเชิญกากะมหาดเล็กว่า เชิญพ่อนายกากะมาเคี้ยวมะขาม ป้อม และดื่มน้ำรับประทานด้วยกัน จึงกากะมหาดเล็กคิดว่า หมอคนนี้แลกำลังเคี้ยว มะขามป้อม และดื่มน้ำรับประทาน คงไม่มีอะไรจะให้โทษ แล้วเคี้ยวมะขามป้อม ครึ่งผล และดื่มน้ำ รับประทาน มะขามป้อมครึ่งผลที่เขาเคี้ยวนั้น ได้ระบายอุจจาระ ออกมาในที่นั้นเอง

ครั้งนั้น กากะมหาดเล็กได้เรียนถามชีวกโกมารภัจจ์ว่า ท่านอาจารย์ ชีวิตของข้าพเจ้า จะรอดไปได้หรือ?

ชีวกโกมารภัจจ์ตอบว่า อย่ากลัวเลย พ่อนายกากะ ท่านจักไม่มีอันตราย แต่พระเจ้า-อยู่หัวทรงเกรี้ยวกราด จะพึงรับสั่งให้พิฆาตเราเสียก็ได้ เพราะเหตุนั้น เราไม่กลับละ แล้วมอบช้างพังภัททวดีแก่นายกากะ เดินทางไป พระนครราชคฤห์ รอนแรมไป โดยลำดับ ถึงพระนครราชคฤห์แล้วเฝ้าพระเจ้าพิมพิสาร จอมเสนา มาคธราช กราบทูล เรื่องนั้นให้ทรงทราบทุกประการ

พระเจ้าพิมพิสารรับสั่งว่า พ่อนายชีวก เจ้าไม่กลับไปนั้นชื่อว่าได้ทำถูกแล้ว เพราะ พระราชาองค์นั้นเหี้ยมโหด จะพึงสั่งให้สำเร็จโทษเจ้าเสียก็ได้

ครั้นพระเจ้าปัชโชตทรงหายประชวร ทรงส่งราชทูตไปที่สำนักชีวกโกมารภัจจ์ว่า เชิญหมอ ชีวกมา เราจักให้พร

ชีวกกราบทูลตอบไปว่า ไม่ต้องไปก็ได้ พระพุทธเจ้าข้า ขอใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท จงทรงโปรด อนุสรณ์ถึง ความดี ของข้าพระพุทธเจ้า.

พระราชทานผ้าสิไวยกะ

          ก็โดยสมัยนั้นแล ผ้าสิไวยกะคู่หนึ่งบังเกิดแก่พระเจ้าปัชโชต เป็นผ้าเนื้อดีเลิศ ประเสริฐ มีชื่อเด่น อุดม และเป็นเยี่ยมกว่าผ้าทั้งหลายเป็นอันมาก ตั้งหลายคู่ ตั้งหลายร้อยคู่ หลายพันคู่หลายแสนคู่

ครั้นนั้น พระเจ้าปัชโชต ทรงส่งผ้าสิไวยกะคู่นั้นไปพระราชทานแก่ชีวกโกมารภัจจ์ จึงชีวกโกมารภัจจ์ ได้มีความดำริว่าผ้าสิไวยกะคู่นี้ พระเจ้าปัชโชตส่งมาพระราชทาน เป็นผ้าเนื้อดีเลิศ ประเสริฐ มีชื่อเด่น อุดม และเป็นเยี่ยมกว่าผ้าทั้งหลายเป็นอันมาก ตั้งหลายคู่ตั้งหลายร้อยคู่ หลายพันคู่ หลายแสนคู่ นอกจากพระผู้มี พระภาคอรหันต สัมมา สัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น หรือพระเจ้าพิมพิสารจอมเสนามาคธราชแล้ว ใครอื่นไม่ควร อย่างยิ่ง เพื่อใช้ผ้าสิไวยกะคู่นี้.

พระผู้มีพระภาคเสวยพระโอสถถ่าย

          [๑๓๕] ก็โดยสมัยนั้นแล พระกายของพระผู้มีพระภาคหมักหมม ด้วยสิ่งอัน เป็นโทษ จึงพระผู้มีพระภาค รับสั่งกะท่านพระอานนท์ว่า ดูกรอานนท์ กายของ ตถาคตหมักหมม ด้วยสิ่งอันเป็นโทษ ตถาคตต้องการ จะฉันยาถ่าย.

ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์เดินไปหาชีวกโกมารภัจจ์ ครั้นถึงแล้วได้กล่าวคำนี้กะชีวก-โกมารภัจจ์ว่า ท่านชีวก พระกายของพระตถาคตหมักหมมด้วยสิ่งอันเป็นโทษ พระตถาคตต้องการจะเสวยพระโอสถถ่าย ชีวก โกมารภัจจ์ กล่าวว่า พระคุณเจ้า ถ้าอย่างนั้น ขอท่านจงโปรดทำพระกายของพระผู้มีพระภาคให้ชุ่มชื่นสัก ๒-๓ วัน

ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์ ได้ทำพระกายของพระผู้มีพระภาคให้ชุ่มชื่น ๒-๓ วันแล้วเดิน ไปหาชีวกโกมารภัจจ์ ครั้นถึงแล้วได้กล่าวคำนี้กะชีวกโกมารภัจจ์ว่า ท่านชีวก พระกาย ของพระตถาคตชุ่มชื่นแล้ว บัดนี้ ท่านรู้กาลอันควรเถิด

ครั้งนั้น ชีวกโกมารภัจจ์ได้มีความปริวิตกดังนี้ว่า การที่เราจะพึงทูลถวาย พระโอสถ ถ่ายที่หยาบ แด่พระผู้มีพระภาค นั้น ไม่สมควรเลย ถ้ากระไร เราพึงอบก้านอุบล ๓ ก้านด้วยยาต่างๆ แล้วทูลถวาย พระตถาคต ครั้นแล้วได้อบก้านอุบล ๓ ก้านด้วยยา ต่างๆ แล้วเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาค

ครั้นแล้วได้ทูลถวายก้านอุบลก้านที่หนึ่งแด่พระผู้มีพระภาค กราบทูลว่า พระพุทธเจ้า ข้า ขอพระผู้มีพระภาค จงทรงสูดก้านอุบลก้านที่ ๑ นี้ การทรงสูดก้านอุบลนี้ จักยัง พระผู้มีพระภาคให้ถ่ายถึง ๑๐ ครั้ง แล้วได้ ทูลถวาย ก้านอุบลก้านที่ ๒ แด่พระผู้มี พระภาค กราบทูลว่าพระพุทธเจ้าข้า

ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงสูด อุบลก้านที่ ๒ นี้ การทรงสูดก้านอุบลนี้จักยังพระผู้มี พระภาคให้ถ่ายถึง ๑๐ ครั้ง แล้วได้ทูลถวาย ก้านอุบลก้านที่ ๓ แด่พระผู้มีพระภาค กราบทูลว่าพระพุทธเจ้าข้า ขอพระผู้มีพระภาค จงทรงสูดก้านอุบลก้านที่ ๓ นี้ การทรงสูดก้านอุบลนี้จักยังพระผู้มีพระภาคให้ถ่ายถึง ๑๐ ครั้ง ด้วยวิธีนี้ พระผู้มีพระภาค จักทรงถ่ายถึง ๓๐ ครั้ง

ครั้นชีวกโกมารภัจจ์ ทูลถวายพระโอสถถ่ายแด่พระผู้มีพระภาคเพื่อถ่ายครบ ๓๐ ครั้งแล้วถวายบังคม พระผู้มีพระภาค ทำประทักษิณกลับไป ขณะเมื่อชีวกโกมารภัจจ์ เดินออกไปนอกซุ้มประตูแล้ว ได้มีความ ปริวิตก ดังนี้ว่า เราทูลถวายพระโอสถถ่าย แด่พระผู้มีพระภาคเพื่อถ่ายครบ ๓๐ ครั้ง พระกายของพระตถาคต หมักหมม ด้วยสิ่ง อันเป็นโทษ จักไม่ยังพระผู้มีพระภาคให้ถ่ายครบ ๓๐ ครั้ง จักให้ถ่ายเพียง ๒๙ ครั้ง แต่พระผู้มีพระภาคทรงถ่ายแล้ว จักสรงพระกาย ครั้นสรงพระกายแล้ว จักถ่าย อีกครั้งหนึ่ง อย่างนี้ พระผู้มีพระภาค จักทรงถ่ายครบ ๓๐ ครั้ง

ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบความปริวิตก แห่งจิตของชีวกโกมารภัจจ์ด้วยพระทัย แล้ว รับสั่งกะท่าน พระอานนท์ว่า อานนท์ ชีวกโกมารภัจจ์ กำลังเดินออกนอก ซุ้มประตูวิหารนี้ ได้มีความปริวิตกดังนี้ว่า เราถวาย พระโอสถถ่ายแด่พระผู้มีพระภาค เพื่อถ่ายครบ ๓๐ ครั้ง แล้วพระกายของพระตถาคตหมักหมม ด้วยสิ่ง อันเป็นโทษ จักไม่ยังพระผู้มีพระภาคให้ถ่ายครบ ๓๐ ครั้งจักให้ถ่ายเพียง ๒๙ ครั้ง แต่พระผู้มี พระภาค ทรงสรงพระกาย ครั้นสรงพระกายแล้วจักถ่ายอีกครั้งหนึ่ง อย่างนี้ พระผู้มี พระภาค จักทรงถ่ายครบ ๓๐ ครั้ง อานนท์ถ้าอย่างนั้น เธอจงจัดเตรียมน้ำร้อนไว้

พระอานนท์ทูลรับสนองพระพุทธพจน์แล้ว จัดเตรียมน้ำร้อนไว้ถวายต่อมา ชีวก โกมารภัจจ์ ไปในพุทธสำนัก ครั้นถึงแล้วถวายบังคมพระผู้มีพระภาคนั่งอยู่ ณ ที่ควร ส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบทูลถาม พระผู้มีพระภาค ว่า พระผู้มีพระภาคทรงถ่าย แล้ว หรือ พระพุทธเจ้าข้า
ภ. เราถ่ายแล้ว ชีวก
ชี. พระพุทธเจ้าข้า ข้าพระพุทธเจ้ากำลังเดินออกไปนอกซุ้มประตูพระวิหารนี้ ได้มีความปริวิตกดังนี้ว่า เราถวาย พระโอสถถ่ายแด่พระผู้มีพระภาคเพื่อถ่ายครบ ๓๐ ครั้งแล้ว พระกายของพระผู้มีพระภาคหมักหมม ด้วยสิ่งอันเป็นโทษ จักไม่ยังพระผู้มี พระภาคให้ถ่ายครบ ๓๐ ครั้ง แต่พระผู้มีพระภาคทรงถ่ายแล้ว จักสรง พระกาย

ครั้นสรงพระกายแล้วจักถ่ายอีกครั้งหนึ่งอย่างนี้ พระผู้มีพระภาคจักทรงถ่ายครบ ๓๐ ครั้ง พระพุทธเจ้าข้า ขอพระผู้มีพระภาคจงโปรดสรงพระกาย ขอพระสุคตจงโปรด สรงพระกาย

ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงสรงน้ำอุ่น ครั้นสรงแล้ว ทรงถ่ายอีกครั้งหนึ่งอย่างนี้ เป็นอันพระผู้มีพระภาค ทรงถ่ายครบ ๓๐ ครั้ง ลำดับนั้น ชีวกโกมารภัจจ์ได้กราบทูล คำนี้แด่พระผู้มีพระภาคว่า พระพุทธเจ้าข้า พระผู้มีพระภาคไม่ควรเสวยพระกระยาหาร ที่ปรุงด้วยน้ำต้มผักต่างๆ จนกว่าจะมีพระกายเป็นปกติ

ต่อมาไม่นานนัก พระกายของพระผู้มีพระภาคได้เป็นปกติแล้ว.

กราบทูลขอพร

          ครั้งนั้น ชีวกโกมารภัจจ์ ถือผ้าสิไวยกะคู่นั้นไป ในพุทธสำนัก ครั้นถึงแล้ว ถวายบังคมพระผู้มีพระภาค นั่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ชีวกโกมารภัจจ์ นั่งเรียบร้อย แล้ว ได้กราบทูลคำนี้แด่พระผู้มีพระภาคว่า ข้าพระพุทธเจ้าจะขอประทานพร ต่อพระผู้มี พระภาคสักอย่างหนึ่ง พระพุทธ-เจ้าข้า
ภ. พระตถาคตทั้งหลายเลิกให้พรเสียแล้ว ชีวก
ชี. ข้าพระพุทธเจ้าขอประทานพรที่สมควร และไม่มีโทษ พระพุทธเจ้าข้า
ภ. จงว่ามาเถิด ชีวก
ชี. พระพุทธเจ้าข้า พระผู้มีพระภาคและพระสงฆ์ ทรงถือผ้าบังสุกุลเป็นปกติอยู่ ผ้าสิไวยกะ ของ ข้าพระพุทธเจ้า คู่นี้ พระเจ้าปัชโชตทรงส่งมาพระราชทาน เป็นผ้า เนื้อดีเลิศ ประเสริฐมีชื่อเสียงเด่นอุดม และเป็นเยี่ยมกว่าผ้าทั้งหลาย เป็นอันมาก ตั้งหลายคู่ ตั้งหลายร้อยคู่หลายพันคู่หลายแสนคู่ ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงพระกรุณา โปรดรับผ้าคู่สิไวยกะของข้าพระพุทธเจ้า และขอจงทรง พระพุทธานุญาต คหบดีจีวร แก่ พระสงฆ์ด้วยเถิด พระพุทธเจ้าข้า.

พระผู้มีพระภาค ทรงรับผ้าคู่สิไวยกะแล้ว ครั้นแล้วทรงชี้แจงให้ชีวกโกมารภัจจ์ เห็นแจ้ง สมาทาน อาจหาญ ร่าเริงด้วยธรรมีกถา ครั้นชีวกโกมารภัจจ์ อันพระผู้มี พระภาค ทรงชี้แจง ให้เห็นแจ้ง สมาทาน อาจหาญ ร่าเริงด้วยธรรมีกถา แล้วลุกจาก ที่นั่ง ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคทำประทักษิณกลับไป.






พุทธวจน : อ่านคำสอนพระศาสดา อ่านแบบสบายตา โดยคัดลอกหนังสือทั้งเล่มมาจัดทำเป็นเว็บเพจ (คลิกอ่านพร้อมดาวน์โหลดไฟล์ pdf)
90 90 90 90
พุทธประวัติ ขุมทรัพย
อริยสัจ
ภาคต้น
อริยสัจ
ภาคปลาย
ปฏิจจ ปฐมธรรม ตถาคต อนาคามี อินทรีย์
สังวร
สัตว์
สัตตานัง
ทาน
สกทาคามี
ฆราวาส
ชั้นเลิศ
มรรควิธี
ที่ง่าย
อริยวินัย เดรัจฉานวิชา กรรม สมถะ
วิปัสสนา
โสดาบัน นา
ปานสติ
จิต มโน
วิญญาณ
ก้าวย่าง
อย่างพุทธะ
ตามรอย
ธรรม
ภพ ภูมิ
พุทธวจน
สาธยาย
ธรรม
สังโยชน์