เว็บไซต์ อนาคามี เผยแพร่ พุทธวจน คำสอนของพระศาสดา คำสอนตถาคต รวมพระสูตรสำคัญ อนาคามี เว็บไซต์เผยแพร่คำสอนของพระพุทธเจ้า
 
ค้นหาคำที่ต้องการ          

  ธรรมิกสูตรที่ ๑๔ ว่าด้วยข้อปฏิบัติของนักบวชและผู้ครองเรือน 1164
  (สรุปย่อพอสังเขป)

บุคคลเหล่านี้มาประชุมกันเพื่อต้องการฟังธรรมที่นำสุขมาให้ จึงพร้อมใจเฝ้าพระศาสดา
1. ธรรมิกอุบาสก พร้อมด้วยอุบาสก ๕๐๐
2. พญาช้าง เอราวัณ (นับเนื่องเทวดาขั้นจาตุ-)
3. พระราชา พระนามว่า เวสสวัณกุเวร
4. พวกเดียรถีย์ อาชีวก
5. พวกเดียรถีย์ นิครนถ์
6. พราหมณ์ ผู้เฒ่า

คำถามที่ต้องการทราบคือ ผู้ออกบวช(ภิกษุ) กับ อุบาสก(ชาย)ผู้ครองเรือน ทำอย่างไร จึงจะยังประโยชน์ให้สำเร็จ ทั้งของโลก และ เทวโลก
ธรรมของบรรพชิต
1. พึงเสพอิริยาบถอันสมควรแก่บรรพชิต ไม่พึงเที่ยวไปในเวลาวิกาล (ตกค่ำต้องกลับวัด)
2. ภิกษุพึงเที่ยวไปเพื่อบิณฑบาตในบ้านในกาล (ตอนเช้า)
3. ภิกษุได้บิณฑบาตแล้ว พึงกลับไปนั่งในที่สงัดแต่ผู้เดียว
4. ภิกษุพึงกล่าวธรรมอันประณีต ไม่กล่าวคำส่อเสียด ไม่กล่าวคำติเตียนผู้อื่น
5. ไม่สรรเสริญผู้เกี่ยวข้องกับการวิวาท เพราะบุคคลเหล่านั้นส่งจิตไปไกลจากสมถะและวิปัสสนา
6. ภิกษุไม่ติดแล้วในการบิณฑบาต ที่นอน ที่นั่ง น้ำ และผ้าสังฆาฏิ เหมือนหยาดน้ำไม่ติดในใบบัว
ธรรมของคฤหัสถ์ (อุโบสถ ๘ ประการ)
1. สาวก วางอาชญาในสัตว์ ไม่ฆ่าสัตว์เอง ไม่ใช้ผู้อื่นให้ฆ่า และไม่อนุญาตให้ผู้อื่นฆ่า
2. สาวก เว้นสิ่งที่เขาไม่ได้ให้  ไม่ให้ผู้อื่นลัก ไม่อนุญาตให้ผู้อื่นลัก
3. สาวก พึงเว้น อพรหมจรรย์ ไม่ก้าวล่วงภรรยาของผู้อื่น 
4. สาวก ไม่กล่าวเท็จ ไม่ให้ผู้อื่นกล่าวคำเท็จ ไม่อนุญาตให้ผู้อื่นกล่าวเท็จ เว้นคำไม่เป็นจริงทั้งหมด
5. สาวก ผู้เป็นคฤหัสถ์ ไม่ดื่มน้ำเมา ไม่ใช้ให้ผู้อื่นดื่ม ไม่อนุญาตให้ผู้อื่นดื่ม อันเป็นบ่อเกิดแห่งบาป ไม่พึงฆ่าสัตว์ ไม่ถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้ ไม่พูดมุสา ไม่พึงดื่มน้ำเมา พึงเว้นจากเมถุนธรรม
6. ไม่พึงบริโภคโภชนะในเวลาวิกาลในราตรี
7. ไม่พึงทัดทรงดอกไม้ และ ไม่พึงลูบไล้ของหอม
8. พึงนอนบนเตียง หรือบนพื้นดิน ที่เขาลาดแล้ว
เรื่องสำคัญของพระพุทธเจ้า
การบำเพ็ญบารมีในอดีตชาติ
การประสูติ แสงสว่าง แผ่นดินไหว
แสวงหาสัจจะบำเพ็ญทุกรกิริยา
ปัญจวัคคีย์หลีก สิ่งที่ตรัสรู้
ตรัสรู้ แสดงเทศนาปัญจวัคคีย์
ปลงสังขาร ปรินิพพาน
ลำดับขั้นการปรินิพพาน
เทวดาแสดงฤทธิ์ขณะถวายเพลิง
แบ่งพระสรีระออกเป็น ๘ ส่วน

พระไตรปิฏกภาษาไทย(ฉบับหลวง) เล่มที่ ๒๕ หน้าที่ ๓๐๓

ธรรมิกสูตรที่ ๑๔
ว่าด้วยข้อปฏิบัติของนักบวชและผู้ครองเรือน


              [๓๓๒] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิก เศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี ครั้งนั้นแล ธรรมิกอุบาสก พร้อมด้วยอุบาสก ๕๐๐ เข้าไป เฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้ว นั่งณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคด้วยคาถาว่า

              [๓๓๓] ข้าแต่พระโคดม ผู้มีพระปัญญาเสมอด้วยแผ่นดิน ข้าพระองค์ ขอ ทูลถามพระองค์ อุบาสกผู้ออกบวชเป็นบรรพชิต ก็ดี อุบาสกผู้ยังอยู่ครองเรือน อีกก็ดี
บรรดาสาวกทั้งสองพวกนี้ สาวกกระทำอย่างไร จึงจะเป็นผู้ยังประโยชน์ให้สำเร็จ พระองค์เท่านั้นแล ทรงทราบชัดซึ่งคติ และความสำเร็จของโลก พร้อมทั้งเทวโลก บุคคลผู้เห็นประโยชน์อันละเอียด เช่นกับพระองค์ย่อมไม่มี บัณฑิตทั้งหลายย่อมกล่าว พระองค์แล ว่าเป็นพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐ พระองค์ทรงแทงตลอด ไญยธรรม (ธรรมที่ควรรู้) ทรงอนุเคราะห์เหล่าสัตว์ ได้ทรงประกาศพระญาณและ ธรรมทั้งปวง ข้าแต่พระโคดมผู้มีพระจักษุรอบคอบ พระองค์ผู้มีกิเลสดุจหลังคา ที่เปิดแล้ว เป็นผู้ ปราศจากมลทิน ไพโรจน์อยู่ในโลกทั้งปวง

พญาช้าง (เทพบุตร) ชื่อเอราวัณทราบว่า พระผู้มีพระภาคนี้ทรงชนะบาปธรรมดังนี้แล้ว ได้ไปในสำนักของพระองค์ พญาช้างเอราวัณ แม้นั้นทูลถามปัญหากะพระองค์ ได้สดับ ปัญหา แล้วซ้องสาธุการชื่นชมยินดี ได้บรรลุธรรมไปแล้ว แม้พระราชา พระนามว่า เวสสวัณกุเวร ก็เข้าเฝ้าพระองค์ทูลไต่ถามธรรมอยู่ พระองค์อันพระราชา พระนามว่า เวสสวัณกุเวรแม้นั้นแล ทูลถามแล้วย่อมตรัสบอก ท้าวเวสสวัณกุเวร แม้นั้นแล ได้สดับ ปัญหาแล้วทรงชื่นชมยินดี ได้เสด็จไปแล้ว พวกเดียรถีย์ก็ดี อาชีวก ก็ดี นิครนถ์ ก็ดี ผู้มีปรกติกระทำวาทะทั้งหมดนี้ ย่อมไม่เกินพระองค์ด้วยปัญญา เหมือนบุคคล ผู้หยุดอยู่ ไม่พึงเกินคนเดินเร็วซึ่งเดินอยู่ ฉะนั้น พวกพราหมณ์ก็ดี แม้พวกพราหมณ์ ผู้เฒ่าก็ดี ผู้มีปรกติกระทำวาทะเหล่าใดเหล่าหนึ่งมีอยู่ และแม้ชนเหล่าอื่น สำคัญอยู่ว่า เราทั้งหลาย ผู้มีปรกติกระทำวาทะ ชนเหล่านั้นทั้งหมด เป็นผู้เนื่องด้วย ประโยชน์ ในพระองค์

ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์ทั้งหมดกำลังคอยฟังด้วยดี ซึ่งธรรมที่ละเอียด และนำความสุขมาให้ อันพระองค์ตรัสดีแล้วนี้ ข้าแต่พระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐ พระองค์ อันข้าพระองค์ทั้งหลายทูลถามแล้ว ได้โปรดตรัสบอกความข้อนั้น แก่ข้าพระองค์ ทั้งหลาย

ภิกษุกับทั้งอุบาสกเหล่านี้แม้ทั้งหมดนั่งประชุมกันแล้วในที่นั้นแหละ เพื่อจะฟังขอจง ตั้งใจฟังธรรมที่พระผู้มีพระภาคผู้ไม่มีมลทินตรัสรู้แล้ว เหมือนเทวดาทั้งหลายตั้งใจฟัง สุภาษิตของท้าววาสวะ ฉะนั้น ฯ

บุคคลเหล่านี้มาประชุมกันเพื่อต้องการฟังธรรมที่นำสุขมาให้ จึงพร้อมใจเฝ้าพระศาสดา
1. ธรรมิกอุบาสก พร้อมด้วยอุบาสก ๕๐๐
2. พญาช้าง เอราวัณ (นับเนื่องเทวดาขั้นจาตุ-)
3. พระราชา พระนามว่า เวสสวัณกุเวร
4. พวกเดียรถีย์ก็ดี อาชีวก
5. พวกเดียรถีย์ นิครนถ์
6. พราหมณ์ ผู้เฒ่า

คำถามที่ต้องการทราบคือ ผู้ออกบวช(ภิกษุ) กับ อุบาสก(ชาย)ผู้ครองเรือน ทำอย่างไร จึงจะยังประโยชน์ให้สำเร็จ ทั้งของโลก และ เทวโลก

พระผู้มีพระภาค เพื่อจะทรงแสดงปฏิปทา ของบรรพชิตก่อน ตรัสเรียก ภิกษุทั้งหลาย มาแล้ว จึงตรัสพระคาถาว่า

(ธรรมของบรรพชิต)

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงฟังเรา เราจะยังเธอทั้งหลายให้ฟังธรรม อัน กำจัด กิเลส และเธอทั้งปวงจงประพฤติธรรม อันกำจัดกิเลสนั้นภิกษุผู้มีปัญญา ความคิด ผู้เห็นประโยชน์ พึงเสพอิริยาบถอันสมควรแก่บรรพชิตนั้นภิกษุไม่พึง เที่ยวไป ในเวลาวิกาลเลย (๑)

อนึ่ง ภิกษุพึงเที่ยวไปเพื่อบิณฑบาตในบ้านในกาล (๒) ด้วยว่าธรรมเป็นเครื่องข้อง ทั้งหลาย ย่อมข้องภิกษุผู้เที่ยวไปในกาลอันไม่สมควรไว้

เพราะเหตุนั้น ท่านผู้รู้ ทั้งหลาย ย่อมไม่เที่ยวไปในเวลาวิกาล รูป เสียง กลิ่น รส และ ผัสสะ ย่อมยังสัตว์ ทั้งหลายให้มัวเมา ภิกษุนั้นกำจัดเสียแล้วซึ่งความพอใจ ในธรรมเหล่านี้ พึงเข้าไป ยังโอกาสที่จะพึงบริโภคอาหารในเวลาเช้าโดยกาล

อนึ่ง ภิกษุได้บิณฑบาตแล้วตามสมัย พึงกลับไปนั่งในที่สงัดแต่ผู้เดียว(๓)
ภิกษุผู้ สงเคราะห์ อัตภาพแล้ว คิดถึงขันธสันดานในภายใน ไม่พึงส่งใจไปใน ภายนอก ถ้าแม้ว่าภิกษุนั้น พึงเจรจากับสาวกอื่น หรือกับภิกษุรูปไรๆ ไซร้ ภิกษุนั้น พึงกล่าวธรรม อันประณีต ไม่พึงกล่าวคำส่อเสียด ทั้งไม่พึงกล่าวคำติเตียน ผู้อื่น(๔)

ก็บุคคลบางพวก ย่อมประถ้อยคำกัน เราย่อมไม่สรรเสริญบุคคลเหล่านั้น ผู้มีปัญญา น้อย ความเกี่ยวข้อง ด้วยการวิวาท เกิดจากคลองแห่งคำนั้นๆ ย่อมข้องบุคคล เหล่านั้นไว้ เพราะบุคคลเหล่านั้น ส่งจิตไปในที่ไกลจากสมถะ และวิปัสนา (๕)

สาวกผู้มีปัญญาดี ฟังธรรม ที่พระสุคตทรงแสดงแล้ว พิจารณาบิณฑบาต ที่อยู่ ที่นอน ที่นั่ง น้ำ และ การซัก มลทินผ้าสังฆาฏิแล้วพึงเสพ เพราะเหตุนั้นแล ภิกษุไม่ติดแล้ว ในธรรมเหล่านี้ คือ บิณฑบาต ที่นอน ที่นั่ง น้ำ และการซักมลทินผ้าสังฆาฏิ เหมือน หยาดน้ำไม่ติด ในใบบัว (๖)

ฉะนั้น ก็เราจะบอกวัตรแห่งคฤหัสถ์ แก่เธอทั้งหลาย สาวก กระทำอย่างไร จึงจะเป็น ผู้ยังประโยชน์ให้สำเร็จ จริงอยู่สาวกไม่พึงได้เพื่อจะถูกต้อง ธรรม ของภิกษุ ล้วน ด้วยอาการที่มีความหวงแหน

(ธรรมของคฤหัสถ์ อุโบสถ ๘ ประการ)

(๑) สาวก วางอาชญาในสัตว์ทุกหมู่เหล่า ทั้งผู้ที่มั่นคง ทั้งผู้ที่ยังสะดุ้งในโลกแล้ว ไม่พึงฆ่าสัตว์เอง ไม่พึงใช้ผู้อื่นให้ฆ่า และ ไม่พึงอนุญาตให้ผู้อื่นฆ่า แต่นั้น

(๒) สาวกรู้อยู่ พึงเว้นสิ่งที่เขาไม่ให้อะไรๆ ในที่ไหนๆ ไม่พึงใช้ให้ผู้อื่นลัก ไม่พึง อนุญาต ให้ผู้อื่นลัก พึงเว้นวัตถุที่เจ้าของเขาไม่ให้ทั้งหมด

(๓) สาวกผู้รู้แจ้งพึงเว้นอพรหมจรรย์ เหมือนบุคคลเว้นหลุมถ่านเพลิงที่ไฟลุกโชน ฉะนั้น แต่เมื่อไม่สามารถประพฤติพรหมจรรย์ ก็ไม่พึงก้าวล่วงภรรยาของผู้อื่น

(๔) ก็สาวกผู้อยู่ในที่ประชุมก็ดี อยู่ในท่ามกลางบริษัทก็ดี ไม่พึงกล่าวเท็จ แก่บุคคล ผู้หนึ่ง ไม่พึงให้ผู้อื่นกล่าวคำเท็จ ไม่พึงอนุญาตให้ผู้อื่นกล่าวเท็จ พึงเว้นคำไม่เป็นจริง ทั้งหมด

(๕) สาวกผู้เป็นคฤหัสถ์ ไม่พึงดื่มน้ำเมา พึงชอบใจธรรมนี้ ไม่พึงใช้ให้ผู้อื่นดื่ม ไม่พึงอนุญาตให้ผู้อื่นดื่ม เพราะทราบชัดการดื่มน้ำเมานั้นว่า มีความเป็นบ้าเป็นที่สุด คนพาล ทั้งหลายย่อมกระทำบาปเอง และใช้คนอื่นผู้ประมาทแล้วให้กระทำบาปเพราะ ความเมานั่นเอง สาวกพึงเว้นความเป็นบ้า ความหลงที่คนพาลใคร่แล้ว อันเป็นบ่อเกิด แห่งบาปนี้ ไม่พึงฆ่าสัตว์ ไม่พึงถือเอาสิ่งของที่เจ้าของเขา ไม่ได้ให้ ไม่พึงพูดมุสา ไม่พึงดื่มน้ำเมา พึงเว้นจากเมถุนธรรม(ร่วมประเวณี) อันเป็นความประพฤติไม่ประเสริฐ

(๖) ไม่พึงบริโภคโภชนะในเวลาวิกาลในราตรี

(๗) ไม่พึงทัดทรงดอกไม้และไม่พึงลูบไล้ของหอม

(๘) พึงนอนบนเตียง หรือบนพื้นดินที่เขาลาดแล้ว

บัณฑิตทั้งหลาย กล่าวอุโบสถอันประกอบด้วยองค์ ๘ ประการนี้แล ว่าอันพระพุทธเจ้า ผู้ถึงที่สุดแห่งทุกข์ ทรงประกาศไว้แล้ว แต่นั้นสาวกผู้มีใจเลื่อมใส พึงเข้าจำอุโบสถ อันประกอบด้วยองค์ ๘ ประการให้บริบูรณ์ดี ตลอดวัน ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำและ ๘ ค่ำแห่งปักข์ และ ตลอด ปาฏิหาริกปักข์

แต่นั้นสาวกผู้รู้แจ้งเข้าจำอุโบสถ อยู่แต่เช้าแล้ว มีจิตเลื่อมใส ชื่นชมอยู่เนืองๆ พึงแจก จ่าย ภิกษุสงฆ์ด้วยข้าวและน้ำตามควร พึงเลี้ยงมารดา และบิดา ด้วยโภคสมบัติ ที่ได้มาโดยชอบธรรม พึงประกอบการค้าขายอันชอบธรรม ไม่ประมาท ประพฤติวัตร แห่งคฤหัสถ์นี้อยู่ ย่อมเข้าถึงเหล่าเทวดาชื่อว่าสยัมปภา ผู้มีรัศมีในตน ฯ

จบ ธรรมิกสูตรที่ ๑๔








พุทธวจน : อ่านคำสอนพระศาสดา อ่านแบบสบายตา โดยคัดลอกหนังสือทั้งเล่มมาจัดทำเป็นเว็บเพจ (คลิกอ่านพร้อมดาวน์โหลดไฟล์ pdf)
90 90 90 90
พุทธประวัติ ขุมทรัพย
อริยสัจ
ภาคต้น
อริยสัจ
ภาคปลาย
ปฏิจจ ปฐมธรรม ตถาคต อนาคามี อินทรีย์
สังวร
สัตว์
สัตตานัง
ทาน
สกทาคามี
ฆราวาส
ชั้นเลิศ
มรรควิธี
ที่ง่าย
อริยวินัย เดรัจฉานวิชา กรรม สมถะ
วิปัสสนา
โสดาบัน นา
ปานสติ
จิต มโน
วิญญาณ
ก้าวย่าง
อย่างพุทธะ
ตามรอย
ธรรม
ภพ ภูมิ
พุทธวจน
สาธยาย
ธรรม
สังโยชน์