ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๒ หน้าที่ ๓๙๕
ธรรมสมาทาน ๔
[๕๑๔] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้:
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่วิหารเชตวัน อารามของท่าน อนาถบิณฑิก เศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี. ณ ที่นั้น พระผู้มีพระภาค ตรัสเรียกภิกษุ ทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย. ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคแล้ว.
[๕๑๕] พระผู้มีพระภาคได้ตรัสดังนี้ว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย
ธรรมสมาทานนี้มี ๔ อย่าง๔ อย่างเป็นไฉน
ธรรมสมาทานที่มีสุขในปัจจุบัน แต่มีทุกข์เป็นวิบากต่อไปก็มี
ธรรมสมาทานที่มีทุกข์ในปัจจุบัน และมีทุกข์เป็นวิบากต่อไปก็มี
ธรรมสมาทานที่มีทุกข์ในปัจจุบัน แต่มีสุขเป็นวิบากต่อไปก็มี
ธรรมสมาทานที่มีสุขในปัจจุบัน และมีสุขเป็นวิบากต่อไปก็มี.
(ข้อ ๕๑๕) ฉบับหลวง พิมพ์คลาดเคลื่อนไปจากฉบับอื่น (มีเพียง 3 อย่าง)
[๕๑๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย
(1) ก็ธรรมสมาทานที่ มีสุขในปัจจุบัน แต่ มีทุกข์เป็นวิบาก ต่อไปเป็นไฉน? ดูกรภิกษุทั้งหลาย มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่ง มีวาทะ อย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า โทษใน กามทั้งหลายมิได้มี สมณพราหมณ์พวกนั้น ย่อมถึง ความเป็นผู้ดื่มในกาม ทั้งหลาย.
(อุปมาเรื่องที่1) รสอร่อยในกาม แต่ทุกข์ในภายหลัง
ย่อมบำเรอกับพวกนางปริพาชิกา ที่เกล้ามวยผม และกล่าวอย่างนี้ว่า ไฉนท่าน พระ สมณพราหมณ์พวกนั้น เห็นภัยในอนาคตในกามทั้งหลาย จึงกล่าวการละกาม ทั้งหลาย บัญญัติความกำหนดรู้กามทั้งหลาย(อันที่จริง) การสัมผัสที่แขนมีขนอ่อนนุ่ม แห่ง นางปริพาชิกานี้ นำให้เกิดสุข ดังนี้แล้ว ก็ถึงความเป็นผู้ดื่มในกามทั้งหลาย.
สมณพราหมณ์เหล่านั้น ครั้นถึงความเป็นผู้ดื่มในกามทั้งหลายว่าแล้ว เบื้องหน้า แต่ตาย เพราะกายแตก ย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก. เสวยทุกขเวทนา หยาบ เผ็ดร้อน ในที่ที่ตนเกิดนั้น และกล่าวอย่างนี้ว่า ท่านสมณพราหมณ์พวกนั้น เห็นภัยใน อนาคตในกามทั้งหลายนี่แหละ จึงกล่าวการละกามทั้งหลาย บัญญัติ ความกำหนดรู้ กามทั้งหลายพวกเรานี้ ย่อมเสวยทุกขเวทนาหยาบ เผ็ดร้อนเพราะกาม เป็นปัจจัย.
(อุปมาเรื่องที่2)
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนลูกสุกแห่งเครือถามาลุว่า (ย่านซายหรือย่างซาย) พึงแตกในเดือนท้ายฤดูร้อน. พืชแห่งเครือเถามาลุวานั้น ตกลงที่โคนต้นสาละต้นใด ต้นหนึ่ง เทวดาผู้สิงอยู่ที่ต้นสาละนั้น กลัวหวาดเสียวถึงความสะดุ้ง. พวกอาราม วนเทวดา รุกขเทวดา และพวก เทวดา ที่สิงอยู่ที่ต้นไม้อันเป็นป่าหญ้า และต้นไม้ เป็นเจ้าไพร ผู้เป็นมิตรสหาย ญาติ สาโลหิต แห่งเทวดาที่สิงอยู่ที่ต้นสาละ นั้นต่าง ก็พา กันมาปลอบอย่างนี้ว่า ท่านผู้เจริญ อย่ากลัวเลย ท่านผู้เจริญอย่ากลัวเลย พืชแห่งเครือเถามาลุวานั้น บางทีนกยูง พึงกลืนกินเสีย เนื้อพึงเคี้ยวกินเสีย ไฟป่า พึงไหม้เสีย พวกทำงานในป่า พึงถอนเสีย ปลวกพึงกัดเสีย หรือไม่เป็นพืชต่อไป.
แต่พืชแห่งเครือเถามาลุวานั้น นกยูงก็ไม่กลืนกิน เนื้อก็ไม่เคี้ยวกิน ไฟป่าก็ไม่ไหม้ พวกทำการงานในป่าก็ไม่ถอน ปลวกไม่กัด ยังคงเป็นพืชต่อไป.
ถูกเมฆฝนตกรด เข้าแล้วก็งอกขึ้นโดยดี.เป็นเครือเถามาลุวาเล็ก อ่อน มีย่านห้อยย้อย เข้าไปอาศัยต้น สาละนั้น. เทวดาที่สิงอยู่ที่ต้นสาละนั้นจึงกล่าวว่า ไฉนพวกท่าน อารามเทวดา วนเทวดา รุกขเทวดา และเทวดาที่สิงอยู่ที่ต้นไม้อันเป็น ป่าหญ้า และ ต้นไม้เป็นเจ้า ไพร ผู้เป็นมิตรสหาย ญาติสาโลหิต จึงเห็นภัยในอนาคตในเพราะพืช แห่งเครือ เถามาลุวา พากันมาปลอบอย่างนี้ว่า
ท่านผู้เจริญอย่ากลัวเลย ท่านผู้เจริญ อย่ากลัวเลย พืชแห่งเครือเถามาลุวานั้น บางที นกยูง พึงกลืนกินเสีย เนื้อพึงเคี้ยวกิน เสีย ไฟป่าพึงไหม้เสีย พวกทำการงาน ในป่า พึงถอนเสียปลวกพึงกัดเสีย หรือไม่เป็น พืชต่อไป เครือเถามาลุวานี้ เล็กอ่อน มีย่าน ห้อมย้อยอยู่ มีสัมผัสนำความสุขมาให้.
เครือเถามาลุมานั้นเข้าพันต้นสาละนั้น. ครั้นเข้าพันแล้ว ทำให้เป็นดังร่มอยู่ข้างบน ให้แตกเถาอยู่ข้างล่าง ทำลายลำต้นใหญ่ๆ ของต้นสาละนั้นเสีย.
เทวดาที่สิงอยู่ที่ต้นสาละนั้นก็กล่าวอย่างนี้ว่า พวกท่านอารามเทวดา วนเทวดา รุกขเทวดา และพวกเทวดาที่สิงอยู่ที่ต้นไม้อันเป็นป่าหญ้าและต้นไม้เป็นเจ้าไพร เป็นผู้มิตรสหาย ญาติสาโลหิต เห็นภัยในอนาคตในเพราะพืชแห่งเครือเถามาลุวานี้
จึงพากันมาปลอบอย่างนี้ว่า ท่านผู้เจริญอย่ากลัวเลย ท่านผู้เจริญอย่ากลัวเลย พืชแห่งเครือเถามาลุวานั้น บางทีนกยูงพึงกลืนกินเสีย เนื้อพึงเคี้ยวกินเสียไฟป่า พึงไหม้เสีย พวกทำการงานในป่าพึงถอนเสีย ปลวกพึงกัดเสีย หรือไม่เป็นพืชต่อไป เรานั้น เสวยทุกขเวทนาหยาบ เผ็ดร้อน เพราะพืชแห่งเครือเถามาลุมาวา เป็นเหตุ ฉันใด.
ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมณพราหมณ์พวกหนึ่ง มีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า โทษใน กามทั้งหลายมิได้มีจึงถึงความเป็นผู้ดื่มในกามทั้งหลาย บำเรอกับพวกนางปริพาชิกา ที่เกล้ามวยผม. และกล่าวอย่างนี้ว่า ไฉนท่านสมณเหล่านั้น จึงเห็นภัยในอนาคต ในกามทั้งหลาย กล่าวการละกามทั้งหลาย บัญญัติความกำหนดรู้ในกามทั้งหลายว่า อันที่จริงการ สัมผัสที่แขนมีขนอ่อนนุ่มแห่งนางปริพาชิกานี้นำให้เกิดสุข จึงถึงความ เป็นผู้ดื่ม ในการกามทั้งหลาย.
ครั้นถึงความเป็นผู้ดื่มในกามทั้งหลายแล้วเบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก ก็เข้าถึง อบาย ทุคติ วินิบาต นรก.ย่อมเสวยทุกขเวทนาหยาบ เผ็ดร้อน ในที่ที่ตนเกิดนั้น และกล่าวในที่นั้นอย่างนี้ว่า ท่านสมณพราหมณ์เหล่านั้นเห็นภัย ในอนาคตในกาม ทั้งหลาย นี้ จึงกล่าวการละกาม ทั้งหลาย บัญญัติความกำหนดรู้กาม ทั้งหลายว่า พวกเรานี้ ย่อมเสวยทุกขเวทนา หยาบ เผ็ดร้อน เพราะกามเป็นปัจจัย ก็ฉันนั้น เหมือนกัน
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมสมาทานนี้ เรากล่าวว่า มีสุขในปัจจุบัน แต่มีทุกข์เป็น วิบาก ต่อไป.
---------------------------------------------------------------------------------------------------------------
[๕๑๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย
(2) ก็ธรรมสมาทานที่ มีทุกข์ในปัจจุบัน และ มีทุกข์เป็นวิบาก ต่อไป เป็นไฉน?
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปริพาชกบางคนในโลกนี้ เป็นผู้เปลือยกาย ปล่อยมารยาทดีเสีย [ยืนถ่ายอุจาระ ปัสสาวะ แล้วก็กิน] เช็ดอุจจาระที่ถ่ายด้วยมือ ไม่รับภิกษาตาม ที่เขา เชิญให้รับ ไม่หยุดตามที่เขาเชิญให้หยุด ไม่ยินดีภิกษาที่เขานำมาให้ ไม่ยินดีภิกษา ที่เขาเจาะจงให้
ไม่ยินดีการนิมนต์
ไม่รับภิกษาที่เขาให้แต่ปากหม้อ
ไม่รับภิกษาที่เขา ให้แต่ปากกระเช้า
ไม่รับภิกษาในที่มีธรณี มีสาก หรือมีท่อนไม้คั่นในระหว่าง
ไม่รับภิกษาของคน ๒ คนที่กำลังกินอยู่ ไม่รับภิกษาของหญิงมีครรภ์ ของหญิงที่กำลัง ให้ลูกดื่มนม ของหญิงผู้คลอเคลียบุรุษ ไม่รับภิกษาที่เขานัดกันทำ ในที่ที่เขาเลี้ยง สุนัข ไม่รับภิกษาในที่มีหมู่แมลงวันตอม ไม่รับปลา ไม่รับเนื้อไม่ดื่มสุรา ไม่ดื่มเมรัย ไม่ดื่มน้ำหมักดองรับภิกษาที่เรือนแห่งเดียว เฉพาะคำเดียวบ้าง รับที่เรือนสองหลัง เฉพาะสองคำบ้าง ฯลฯ
รับที่เรือนเจ็ดหลัง เฉพาะเจ็ดคำบ้าง ให้อัตภาพเป็นไปด้วยภิกษาอย่างเดียวบ้าง สองอย่างบ้าง ฯลฯ เจ็ดอย่างบ้าง กลืนอาหารที่เก็บค้างไว้วันหนึ่งบ้างสองวันบ้าง ฯลฯ เจ็ดวันบ้าง เป็นผู้หมั่นประกอบเนืองๆ ในการกินภัตที่เวียนมาตลอดกึ่งเดือน แม้เช่นนี้ ด้วยประการฉะนี้อยู่
ปริพาชกนั้น กินผักดองกินข้าวฟ่าง กินลูกเดือยกินกากข้าวกินสาหร่าย กินรำ กินข้าวตัง กินข้าวไหม้ กินหญ้า กินโคมัย กินเหง้าไม้และผลไม้ในป่ากินผลไม้ ที่หล่นเอง เลี้ยงอัตภาพปริพาชกนั้น
ครองผ้าปอ ครองผ้าที่มีวัตถุปนกัน ครองผ้าผี ครองผ้าที่เขา ทิ้งครองผ้าเปลือกไม้ ครองหนังเสือ ครองหนังเสือที่มีเล็บ ครองผ้า คากรอง ครองแผ่นผ้าที่ครองด้วย เปลือกไม้ ครองผ้ากัมพลที่ทำด้วยผมมนุษย์ ครองผ้าที่กรองด้วยขนปีกนกเค้า
เป็นผู้ถอนผมและหนวด หมั่นประกอบเนืองๆ ในการถอนผมและหนวด ยืนในที่สูง ห้ามอาสนะเป็นผู้เดินกระโหย่ง ประกอบความเพียร ในการกระโหย่ง นอนบนขวาก นอนบนหนามหมั่นประกอบ ในการลงน้ำวันละ ๓ ครั้ง
ตามประกอบความหมั่น อันทำ ร่างกาย ให้ลำบาก เดือดร้อนหลายอย่าง เห็นปานนี้ เบื้องหน้า แต่ตายเพราะกายแตก เขาย่อมเข้าถึง อบาย ทุคติ วินิบาต นรก
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมสมาทานนี้ เรากล่าวว่า มีทุกข์ในปัจจุบันและมีทุกข์เป็นวิบาก ต่อไป.
---------------------------------------------------------------------------------------------------------------
[๕๑๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย
(3) ก็ธรรมสมาทานที่มี ทุกข์ในปัจจุบัน แต่ มีสุขเป็นวิบาก ต่อไปเป็นไฉน? ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้มี ราคะกล้าโดยปรกติ ย่อมเสวย ทุกขโทมนัส อันเกิดแต่ราคะเนืองๆ เป็นผู้มีโทสะกล้าโดยปรกติ ย่อมเสวยทุกข โทมนัส อันเกิดแต่โทสะเนืองๆ เป็นผู้มีโมหะกล้า โดยปรกติ ย่อมเสวยทุกขโทมนัส อันเกิดแต่ โมหะเนืองๆ บุคคลนั้นถูกทุกข์บ้าง โทมนัสบ้าง ถูกต้องแล้ว เป็นผู้มี หน้านองด้วยน้ำตา ร้องไห้อยู่ แต่ประพฤติพรหมจรรย์บริบูรณ์ บริสุทธิ์ เบื้องหน้า แต่ตาย เพราะกาย แตก เขาย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมสมาทานนี้ เรากล่าวว่า มีทุกข์ในปัจจุบันแต่มีสุขเป็นวิบาก ต่อไป.
---------------------------------------------------------------------------------------------------------------
[๕๑๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย
(4) ก็ธรรมสมาทานที่ มีสุขในปัจจุบัน และ มีสุขเป็นวิบาก ต่อไปเป็นไฉน? ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้ไม่มีราคะกล้า โดยปรกติ ย่อมไม่เสวยทุกขโทมนัสอันเกิดแต่ราคะเนืองๆ เป็นผู้ไม่มีโทสะกล้า โดยปรกติ ย่อมไม่เสวยทุกขโทมนัสอันเกิดแต่โทสะเนืองๆ เป็นผู้ไม่มีโมหะกล้า โดยปรกติ ย่อมไม่เสวยทุกขโทมนัสอันเกิดแต่โมหะเนืองๆ
บุคคลนั้นสงัดจากกุศลธรรม บรรลุปฐมฌาน มีวิตก มีวิจารมีปีติและสุขอันเกิดแต่วิเวก อยู่ บรรลุทุติยฌาน มีความผ่องใสแห่งจิต ณ ภายในเป็นธรรมเอกผุดขึ้น ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร เพราะวิตก วิจาร สงบไป มีปีติและสุขเกิดแต่สมาธิอยู่ บรรลุตติยฌาน ... แล้วและอยู่บรรลุ จตุตถฌาน ... แล้วและอยู่ เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก เขาย่อม เข้าถึงสุคติ โลกสวรรค์ ดูกรภิกษุทั้งหลายธรรมสมาทานนี้ เรากล่าวว่า มีสุขในปัจจุบัน และมีสุข เป็นวิบากต่อไป:
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมสมาทานมี ๔ อย่างเหล่านี้แล.
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระพุทธพจน์นี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้น ชื่นชม ยินดีพระภาษิต ของพระผู้มีพระภาคแล้วแล.
จบ จูฬธรรมสมาทานสูตร ที่ ๕
|