พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๕ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๘๙
ราชสูตร
[๓๓๑] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามแห่ง ท่านอนาถ บิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี ฯ
ครั้งนั้นแล พระเจ้าปเสนทิโกศลเสด็จเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นแล้ว จึงทรงถวายบังคม พระผู้มีพระภาค แล้วประทับนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ฯ
พระเจ้าปเสนทิโกศลประทับนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้วแล ได้กราบทูลพระผู้มี พระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ผู้ที่เกิดมาแล้วที่พ้นจากชราและมรณะ มีอยู่บ้าง หรือไม่ ฯ
[๓๓๒] พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ดูกรมหาบพิตร คนเกิดมาแล้ว ที่จะพ้น จากชรามรณะ ไม่มีเลย แม้กษัตริย์มหาศาลซึ่งเป็นผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก มีทองและเงินมากมาย มีทรัพย์เครื่องอุปกรณ์น่าปลื้มใจมากมาย มี ทรัพย์คือ ข้าวเปลือก มากมาย ก็ไม่มีพ้นจากชรามรณะ
แม้พราหมณ์มหาศาล ซึ่งเป็นผู้มั่งคั่ง ฯลฯ ก็ไม่มีพ้นจากชรามรณะ แม้คฤหบดีมหาศาล ก็ไม่มีพ้นจากชรา มรณะ ภิกษุแม้ทุกองค์ ซึ่งเป็นพระอรหันต์ หมดสิ้นอาสวะแล้ว อยู่จบ พรหมจรรย์ แล้ว กระทำกรณียะเสร็จแล้ว วางภาระหนักลงได้แล้ว ได้บรรลุ ประโยชน์ของตนแล้ว หมดสิ้นกิเลส เครื่องประกอบไว้ในภพแล้ว หลุดพ้นแล้วเพราะรู้ โดยชอบร่างกายนี้ แม้แห่งพระอรหันต์เหล่านั้น ก็เป็นสภาพแตกดับ ถูกทอดทิ้งเป็น ธรรมดา ฯ
[๓๓๓] พระผู้มีพระภาคผู้พระสุคตศาสดา ครั้นตรัสไวยากรณ์ภาษิตนี้ จบลงแล้ว จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า ราชรถอันวิจิตรดีย่อมชำรุดโดยแท้ อนึ่ง แม้สรีระก็ย่อมเข้าถึง ชรา แต่ว่าธรรมของสัตบุรุษหาเข้าถึงชราไม่ สัตบุรุษเท่านั้น ย่อมรู้กันได้กับสัตบุรุษ ฯ
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๒ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๑๕๒-๑๕๔
ราชสูตร
[๑๓๓] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย พระเจ้าจักรพรรดิผู้ทรงดำรง อยู่ในธรรม เป็นพระธรรมราชา แม้พระองค์ใดพระเจ้า จักรพรรดิแม้พระองค์นั้น ย่อมไม่ทรงยังจักรให้เป็นไป ณ ประเทศที่ไม่มีพระราชา เมื่อพระผู้มีพระภาค ตรัสอย่างนี้แล้ว ภิกษุรูปหนึ่งได้ทูลถามว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็ใครเป็นพระราชา ของพระเจ้าจักรพรรดิผู้ทรงดำรงอยู่ในธรรม เป็นพระธรรมราชา พระผู้มีพระภาค ตรัสตอบว่า ธรรมซิ ภิกษุ แล้วจึงตรัสต่อไปว่า
ดูกรภิกษุ พระเจ้าจักรพรรดิผู้ทรงดำรงอยู่ในธรรม เป็นพระธรรมราชาในโลกนี้ ทรงอาศัยธรรม นั่นแหละ ทรงสักการะ เคารพ นอบน้อม ธรรม ทรงมีธรรมเป็นธง มีธรรมเป็นยอด มีธรรมเป็นใหญ่ ย่อมทรงจัดแจงการรักษา ป้องกัน คุ้มครอง ที่เป็นธรรมในชนภายใน ฯ
อีกประการหนึ่ง พระเจ้าจักรพรรดิผู้ทรงดำรงอยู่ในธรรม เป็นพระธรรมราชา ฯลฯ มีธรรมเป็นใหญ่ ย่อมทรงจัดแจงการรักษา ป้องกัน คุ้มครองที่เป็นธรรม ในกษัตริย์ เหล่าอนุยนต์ [พระราชวงศานุวงศ์] ในหมู่ทหาร พราหมณ์คฤหบดี ชาวนิคมชนบท สมณพราหมณ์ เนื้อ และ นกทั้งหลาย พระเจ้าจักรพรรดิผู้ทรงดำรงอยู่ ในธรรม เป็นพระธรรมราชาพระองค์นั้น ฯลฯ มีธรรมเป็นใหญ่
ครั้นทรงจัดแจงการรักษา ป้องกัน คุ้มครองที่เป็นธรรมในชนภายในในกษัตริย์ เหล่า อนุยนต์ ในหมู่ทหาร พราหมณ์ คฤหบดี ชาวนิคมชนบทสมณพราหมณ์ เนื้อ และ นก ทั้งหลายแล้ว ย่อมทรงยังจักรให้เป็นไปโดยธรรมเทียว จักรนั้นย่อมเป็นจักรอันมนุษย์ ผู้เป็นข้าศึกใดๆ จะต้านทานมิได้
ดูกรภิกษุ พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็ฉันนั้นเหมือนกันทรงดำรง อยู่ในธรรม เป็นพระธรรมราชา ทรงอาศัยธรรมนั่นแหละ ทรงสักการะ เคารพนอบน้อม ธรรม ทรงมี ธรรมเป็นธง มีธรรมเป็นยอด มีธรรมเป็นใหญ่ ย่อมทรงจัดแจงการรักษา ป้องกัน คุ้มครองที่เป็นธรรม ในพวกภิกษุว่า กายกรรมเช่นนี้ควรเสพ กายกรรม เช่นนี้ ไม่ควรเสพ วจีกรรมเช่นนี้ควรเสพ วจีกรรมเช่นนี้ไม่ควรเสพ มโนกรรม เช่นนี้ควรเสพ มโนกรรม เช่นนี้ ไม่ควรเสพ อาชีวะเช่นนี้ควรเสพ อาชีวะเช่นนี้ ไม่ควรเสพ บ้านนิคมเช่นนี้ ควรเสพ บ้านนิคมเช่นนี้ไม่ควรเสพ ฯ
อีกประการหนึ่ง พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ทรงดำรงอยู่ในธรรม เป็นพระธรรมราชา ฯลฯ มีธรรมเป็นใหญ่ ย่อมทรงจัดแจงการรักษาป้องกัน คุ้มครอง ที่เป็นธรรมในพวกภิกษุณี ... ในพวกอุบาสก ... ในพวกอุบาสิกาว่า กายกรรมเช่นนี้ ควรเสพ กายกรรมเช่นนี้ไม่ควรเสพ ฯลฯ บ้านนิคมเช่นนี้ควรเสพ บ้านนิคมเช่นนี้ ไม่ควรเสพ พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ทรงดำรงอยู่ในธรรม เป็นพระธรรมราชาพระองค์นั้น ฯลฯ มีธรรมเป็นใหญ่ ครั้นทรงจัดแจง การรักษา ป้องกัน คุ้มครองที่เป็นธรรมในพวกภิกษุ ในพวกภิกษุณี ในพวกอุบาสก ในพวกอุบาสิกาแล้ว ย่อมทรงยังธรรมจักรชั้นเยี่ยมให้เป็นไปโดยธรรมเทียว ธรรมจักรนั้นย่อมเป็นจักรอันสมณะ พราหมณ์ เทวดามาร พรหม หรือใครๆ ในโลก จะคัดค้านไม่ได้ ฯ
อริยสัจจากพระโอษฐ์ ๑ หน้าที่ ๕๙๔
- มหาวาร. สํ. ๑๙/๔๒๘-๔๒๙/๑๔๑๑-๑๔๑๓.
ความเป็นโสดาบัน ประเสริฐกว่าเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ
ภิกษุ ท. ! แม้พระเจ้าจักรพรรดิ ได้ครองความเป็นใหญ่ยิ่งแห่งทวีปทั้งสี่ เบื้องหน้าจากการตายเพราะร่างกายแตกดับ อาจได้เข้าถึงสุคติโลกสวรรค์
เป็นสหาย อยู่ร่วมกับเหล่าเทวดาชั้นดาวดึงส์ ถูกแวดล้อมอยู่ด้วยหมู่นางอัปสร ในสวนนันทวัน
ท้าวเธอเป็นผู้เอิบอิ่ม เพียบพร้อมด้วยกามคุณทั้งห้า อันเป็นของทิพย์อย่างนี้ก็ตาม แต่กระนั้น ท้าวเธอก็ยัง รอดพ้นไปไม่ได้ จากนรก จากกำเนิดเดรัจฉาน จากวิสัยแห่ง เปรต และจากอบาย ทุคติ วินิบาต.
ภิกษุ ท. ! ส่วนอริยสาวกในธรรมวินัยนี้ แม้เป็นผู้ยังอัตภาพให้พอเป็นไปด้วยคำข้าว ที่ได้มาจากบิณฑบาตด้วยปลีแข้งของตนเอง พันกายด้วยการนุ่งห่มผ้าปอน ๆ ไม่มีชาย
หากแต่ว่าเป็นผู้ประกอบพร้อมแล้ว ด้วยธรรม๔ ประการ เธอก็ยังสามารถ รอดพ้นเสียได้ จากนรก จากกำเนิดเดรัจฉาน จากวิสัยแห่งเปรต และจากอบาย ทุคติ วินิบาต.
ภิกษุ ท. ! ธรรม ๔ ประการนั้นเป็นไฉน ?
สี่ประการคือ อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ประกอบพร้อมแล้ว
ด้วยความเลื่อมใส อันหยั่งลงมั่นไม่หวั่นไหว
ในองค์พระพุทธเจ้า...
ในองค์พระธรรม ...
ในองค์พระสงฆ์ ...
เป็นผู้ประกอบพร้อมแล้ว ด้วยศีลทั้งหลาย ชนิดเป็นที่พอใจเหล่าอริยเจ้า ฯลฯ ดังนี้.
ภิกษุ ท. ! ระหว่างการได้ทวีปทั้งสี่ กับการได้ธรรม ๔ ประการนี้นั้น การได้ทวีปทั้งสี่ มีค่าไม่ถึงเสี้ยวที่สิบหก ของการได้ธรรม ๔ ประการนี้ เลย.
|