ย่อ วิชา๘ (ญาณ๘)
1. วิปัสสนาญาณ (มีญาณทัศนะ เห็นว่ากายนี้ประกอบด้วย นาม-รูป หรือธาตุ๔)
2. มโนมยิทธิญาณ (ฤทธิ์ทางใจ นิรมิตกายอื่นออกจากกายนี้ ดุจชักดาบจากฝัก )
3. อิทธิวิธญาณ (มีฤทธิ์ต่างๆ เดินบนน้ำ บนอากาศ ทะลุกำแพง ไปถึงพรหมโลกได้)
4. ทิพยโสตญาณ (หูทิพย์ ได้ยินเสียงทิพย์ในชั้นเทวดา เสียงมนุษย์ ใกล้ ไกล)
5. เจโตปริยญาณ (รู้ใจผู้อื่นได้ ว่าผู้นั้น จิตมีราคะ โทสะ โมหะ ก็รู้)
6. ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ (ระลึกชาติ รู้ชาติในอดีต รู้ภพในอดีต)
7. จุตูปปาตญาณ (ตาทิพย์ รู้การจุติ การอุบัติ รู้ภพใหม่ ด้วยทิพย์จักษุ)
8. อาสวักขยญาณ (รู้ชัดอริยสัจสี่ เมื่อจิตหลุดพ้นแล้ว ก็มีญาณรู้ว่าจิตหลุดพ้นแล้ว) |
วิชชา ๘ (ญาณ ๘)
1 วิปัสสนาญาณ (มีญาณทัศนะ เห็นว่ากายนี้ประกอบด้วย นาม-รูป หรือธาตุ๔)
จิตเป็นสมาธิบริสุทธิ์ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลสอ่อน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว ย่อมโน้มน้อม จิตไปเพื่อ ญาณทัสนะ ย่อมรู้ชัดว่ากายของเรานี้ประกอบด้วยมหาภูต ๔ เกิดแต่มารดาบิดา เติบโต ขึ้นด้วยข้าวสุก และวิญญาณของเรานี้ ก็อาศัยอยู่ในกายนี้ เปรียบเหมือน แก้วไพฑูรย์อันงาม เกิดเองอย่างบริสุทธิ์ นายช่างเจียระไนดีแล้ว สุกใสแวววาวสมส่วนทุกอย่าง
2 มโนมยิทธิญาณ (ฤทธิ์ทางใจ นิรมิตกายอื่นออกจากกายนี้ ดุจชักดาบจากฝัก)
เมื่อจิตเป็นสมาธิบริสุทธิ์ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลส ย่อมโน้มน้อมจิตไปเพื่อนิรมิตรูปอันเกิดแต่ใจ คือนิรมิต กายอื่นจากกายนี้ มีรูปเกิดแต่ใจ มีอวัยวะน้อยใหญ่ครบถ้วน มีอินทรีย์ไม่บกพร่อง เปรียบเหมือน บุรุษชักไส้ออกจากหญ้าปล้อง หรือบุรุษชักดาบออกจากฝัก ย่อมรู้ว่า นี้ดาบ นี้ฝัก ดาบอย่างหนึ่ง ฝักอย่างหนึ่ง ก็แต่ดาบชักออกจากฝักนั่นเอง อีกนัยหนึ่ง ชักงูออกจากคราบ เขาจะพึงคิดเห็นอย่าง นี้ว่า นี้งู นี้คราบ งูอย่างหนึ่ง คราบอย่างหนึ่ง ก็แต่งูชักออก จากคราบนั่นเอง
3 อิทธิวิธญาณ (มีฤทธิ์ต่างๆ เดินบนน้ำ บนอากาศ ทะลุกำแพง ไปถึงพรหมโลกได้)
เมื่อจิตเป็นสมาธิบริสุทธิ์ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลสอ่อน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว ย่อมน้อม จิตไปเพื่ออิทธิวิธี คือ คนเดียวเป็นหลายคนก็ได้ หลายคนเป็น คนเดียวก็ได้ ทำให้ปรากฏก็ได้ ทำให้หายก็ได้ ทะลุฝากำแพงภูเขาไปได้ไม่ติดขัด เหมือนไปในที่ว่าง ก็ได้ เหาะไปในอากาศ เหมือนนกก็ได้ ลูบคลำพระจันทร์ พระอาทิตย์ซึ่งมีฤทธิ์ มีอานุภาพ มากด้วยฝ่ามือก็ได้ ใช้อำนาจ ทางกายไปตลอด พรหมโลกก็ได้
4 ทิพยโสตญาณ (หูทิพย์ ได้ยินเสียงทิพย์ในชั้นเทวดา เสียงมนุษย์ ใกล้ ไกล)
เมื่อจิตเป็นสมาธิบริสุทธิ์ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลส ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว ย่อมน้อมจิตไป เพื่อทิพยโสตธาตุ เธอย่อมได้ยินเสียง ๒ ชนิด คือเสียงทิพย์ และเสียงมนุษย์ ทั้งที่อยู่ไกลและใกล้ด้วย ทิพยโสต ธาตุ อันบริสุทธิ์ล่วงโสตของมนุษย์ เปรียบเหมือนบุรุษเดินทางไกล เขาจะพึงได้ยินเสียง กลองบ้าง เสียงตะโพนบ้าง เสียงสังข์บ้าง เสียงบัณเฑาะว์บ้าง เสียงเปิงมางบ้าง เสียงกลองบ้าง
5 เจโตปริยญาณ (รู้ใจผู้อื่นได้ ว่าผู้นั้นจิตมีราคะ โทสะ โมหะ ก็รู้)
เมื่อจิตเป็นสมาธิบริสุทธิ์ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลส ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว ย่อมน้อมจิตไปเพื่อ เจโตปริยญาณ เธอย่อมกำหนดรู้ใจของสัตว์อื่น ของบุคคลอื่นด้วยใจ คือจิตมีราคะ ก็รู้ว่าจิตมีราคะ จิตปราศจาก ราคะ ก็รู้ว่าจิตปราศจากราคะ จิตมีโทสะ ก็รู้ว่าจิตมีโทสะ จิตมีโมหะ ก็รู้ว่าจิตมีโมหะ จิตเป็นสมาธิ ก็รู้ว่าจิตเป็นสมาธิ จิตหลุดพ้น ก็รู้ว่าจิตหลุดพ้น เปรียบเหมือนบุรุษหรือสตรี ส่องดูหน้าของตนใน กระจก หรือในภาชนะน้ำ หน้ามีไฝ ก็รู้ว่าหน้ามีไฝ หน้าไม่มีไฝ ก็รู้ว่าหน้าไม่มีไฝ ฉันใดก็ฉันนั้นแล
6 ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ (ระลึกชาติ รู้ชาติในอดีต รู้ภพในอดีต)
เมื่อจิตเป็นสมาธิบริสุทธิ์ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลส ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว ย่อมน้อมจิตไป เพื่อบุพเพนิวาสานุสสติญาณ ย่อมระลึกชาติก่อนได้เป็นอันมาก ระลึกได้ชาติหนึ่งบ้าง สองชาติบ้าง สามชาต สี่ชาติ... ร้อยชาติ พันชาต แสนชาติบ้าง ตลอดสังวัฏฏกัปเป็นอันมากบ้าง ว่าในภพโน้น เรา มีชื่อมีโคตร มีผิวพรรณอย่างนั้น มีอาหารอย่างนั้น เสวยสุข- ทุกข์ อย่างนั้นๆ มีอายุเพียงเท่านั้น ครั้นไปเกิดในภพโน้น บุรุษจะพึงจากบ้านตนไปบ้านอื่น จากบ้านนั้น ไปยังบ้านอื่นๆอีก หรือกลับมา สู่บ้านของตนตามเดิม เขาย่อมจะพึงระลึกได้ว่า เราได้ยืน ได้นั่ง ได้พูด ได้นิ่งอย่างนั้น
7 จุตูปปาตญาณ (ตาทิพย์ รู้การจุติ การอุบัติ รู้ภพใหม่ ด้วยทิพย์จักษุ)
เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผ่องแผ้ว ย่อมโน้มน้อมจิตไปเพื่อรู้จุติ และอุปบัติของสัตว์ เห็นหมู่สัตว์ที่ กำลังจุติ -อุปบัติ เลว-ประณีต มีผิวพรรณดี-ผิวพรรณทราม ได้ดี-ตกยาก ด้วยทิพยจักษุ ย่อมรู้ชัด ว่าหมู่สัตว์เป็นไปตามกรรมว่า สัตว์เหล่านี้ประกอบด้วย กายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต เป็นมิจฉา ทิฏฐิ ย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ส่วนสัตว์ประกอบด้วยกาย สุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต เป็นสัมมาทิฏฐิ เขาย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ เปรียบเหมือนบุรุษ ยืนอยู่ บนปราสาท กลางพระนคร พึงเห็นหมู่ชนกำลังเข้าสู่เรือนบ้าง กำลังออกจากเรือนบ้าง กำลังสัญจร อยู่ในถนนบ้าง
8 อาสวักขยญาณ (รู้ชัดในอริยสัจสี่ เมื่อจิตหลุดพ้นแล้ว ก็มีญาณรู้ว่าจิตหลุดพ้นแล้ว จบกิจแล้ว)
เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลส ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว ย่อมโน้มน้อมจิตไป เพื่ออาสวัก ขยญาณ ย่อมรู้ชัดตามเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา เหล่านี้อาสวะ นี้อาสวสมุทัย นี้อาสวนิโรธ นี้อาสวนิโรธคามินีปฏิปทา เมื่อเธอรู้เห็นอย่างนี้ จิตย่อม หลุดพ้น เมื่อจิตหลุดพ้นแล้ว ก็มีญาณว่า หลุดพ้นแล้ว. รู้ชัดว่าชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี. เปรียบเหมือนสระน้ำบนยอดเขา ใส สะอาด ไม่ขุ่นมัว บุรุษจะพึงเห็น หอยโข่ง หอยกาบ ก้อนกรวด ก้อนหิน ฝูงปลา กำลังว่ายอยู่ |