ความมีขึ้นแห่งภพ (นัยที่ ๑) เนื้อนา คือภพ คือกรรม
ติก. อํ. ๒๐/๒๘๗/๕๑๖.
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระองค์ตรัสว่า ‘ภพ–ภพ’ ดังนี้ภพ ย่อมมีได้ ด้วยเหตุเพียงเท่าไร พระเจ้าข้า.
อานนท์ ถ้ากรรมมี กามธาตุ(1) เป็นวิบาก จักไม่ได้มีแล้วไซร้ กามภพ จะพึงปรากฏได้หรือ.
ไม่พึงปรากฏเลย พระเจ้าข้า.
อานนท์ ด้วยเหตุนี้แหละ
กรรม จึงเป็นผืนนา (กมฺมํเขตฺตํ)
วิญญาณ เป็นพืช (วิญฺญาณํ พีชํ)
ตัณหา เป็นยางของพืช (ตณฺหา สิเนโห)
วิญญาณของสัตว์ทั้งหลาย ที่มีอวิชชาเป็นเครื่องกั้น มีตัณหาเป็นเครื่องผูก ตั้งอยู่แล้ว ด้วยธาตุชั้นทราม การบังเกิดขึ้นในภพใหม่ต่อไป ย่อมมีได้ด้วยอาการอย่างนี้ (อวิชฺชานีวรณานํ สตฺตานํ ตณฺหาสญฺโญชนานํหีนาย ธาตุยา วิญฺญาณํ ปติฏฺฐิตํ เอวํ อายตึ ปุนพฺภวาภิ นิพฺพตฺติ โหติ).
อานนท์ ถ้ากรรมมี รูปธาตุ(2) เป็นวิบาก จักไม่ได้มีแล้วไซร้ รูปภพ จะพึงปรากฏได้หรือ.
ไม่พึงปรากฏเลย พระเจ้าข้า.
อานนท์ ด้วยเหตุนี้แหละ กรรมจึงเป็นเนื้อนา
วิญญาณเป็นพืช ตัณหาเป็นยาง ของพืช วิญญาณของสัตว์ทั้งหลาย ที่มีอวิชชาเป็นเครื่องกั้น มีตัณหาเป็นเครื่องผูก ตั้งอยู่แล้วด้วยธาตุชั้นกลาง (มชฺฌิมาย ธาตุยา) การบังเกิดขึ้นในภพใหม่ต่อไป ย่อมมีได้ ด้วยอาการอย่างนี้.
อานนท์ ถ้ากรรมมี อรูปธาตุ (3) เป็นวิบาก จักไม่ได้มีแล้วไซร้ อรูปภพ จะพึงปรากฏได้หรือ.
ไม่พึงปรากฏเลย พระเจ้าข้า.
อานนท์ ด้วยเหตุนี้แหละ กรรมจึงเป็นเนื้อนาวิญญาณเป็นพืช ตัณหาเป็นยาง ของพืช วิญญาณของสัตว์ทั้งหลาย ที่มีอวิชชาเป็นเครื่องกั้น มีตัณหาเป็น เครื่องผูก ตั้งอยู่แล้วด้วยธาตุชั้นประณีต (ปณีตาย ธาตุยา) การบังเกิดขึ้น ในภพใหม่ต่อไป ย่อมมีได้ ด้วยอาการอย่างนี้.
อานนท์ ภพ ย่อมมีได้ ด้วยอาการอย่างนี้แล.
1. กามธาตุ : ธาตุดิน ธาตุนํ้า ธาตุลมและธาตุไฟ.
(ดูเพิ่มเติม ไตรปิฎกไทย นิทาน. สํ. ๑๖/๑๔๘/๓๕๕-๖.)
2. รูปธาตุ : สิ่งที่เป็นรูปในส่วนละเอียด. (ดูเพิ่มเติม “มีอวัยวะน้อยใหญ่ครบถ้วน
มีอินทรีย์ไม่ทราม” ไตรปิฎกไทย สี. ที. ๙/๓๒/๔๙.)
3. อรูปธาตุ : สิ่งที่ไม่ใช่รูป เป็นนามธรรม เช่น เวทนา สัญญา สังขาร.
(ผู้ได้สมาธิระดับ อากาสานัญจายตนะขึ้นไป)
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
ความเกิดขึ้นแห่งภพใหม่ (นัยที่ ๒) คิดถึงสิ่งใด ดำริถึงสิ่งใดสิ่งนั้นคือภพ
-บาลี นิทาน. สํ. ๑๖/๗๙/๑๔๗.
ภิกษุทั้งหลาย ถ้าบุคคลย่อมคิด (เจเตติ) ถึงสิ่งใดอยู่ ย่อมดำริ (ปกปฺเปติ) ถึงสิ่งใดอยู่ และย่อมมีจิตปักลงไป (อนุเสติ)ในสิ่งใดอยู่ สิ่งนั้นย่อมเป็นอารมณ์ เพื่อการตั้งอยู่แห่งวิญญาณ
เมื่ออารมณ์มีอยู่ ความตั้งขึ้นเฉพาะแห่งวิญญาณย่อมมี
เมื่อวิญญาณนั้น ตั้งขึ้นเฉพาะ เจริญงอกงามแล้ว การก้าวลงแห่งนามรูป (นามรูปสฺส อวกฺกนฺติ) ย่อมมี
เพราะมีนามรูปเป็นปัจจัย จึงมีสฬายตนะ เพราะมีสฬายตนะเป็นปัจจัย จึงมีผัสสะ เพราะมีผัสสะเป็นปัจจัย จึงมีเวทนาเพราะมีเวทนาเป็นปัจจัย จึงมีตัณหา เพราะมีตัณหาเป็นปัจจัย จึงมีอุปาทาน เพราะมีอุปาทานเป็นปัจจัย จึงมีภพเพราะมีภพเป็นปัจจัย จึงมีชาติ เพราะมีชาติเป็นปัจจัย ชรามรณะ โสกะปริเทวะทุกขะโทมนัสอุปายาสะทั้งหลาย จึงเกิดขึ้นครบถ้วน ความเกิดขึ้นพร้อมแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้ ย่อมมีด้วยอาการอย่างนี้.
ภิกษุทั้งหลาย ถ้าบุคคลย่อมไม่คิดถึงสิ่งใด ย่อมไม่ดำริถึงสิ่งใด แต่เขายังมีใจ ฝังลงไป (คือมีอนุสัย)ในสิ่งใดอยู่ สิ่งนั้นย่อมเป็นอารมณ์ เพื่อการตั้งอยู่แห่งวิญญาณ
เมื่ออารมณ์มีอยู่ ความตั้งขึ้นเฉพาะแห่งวิญญาณ ย่อมมีเมื่อวิญญาณนั้น ตั้งขึ้นเฉพาะ เจริญงอกงามแล้ว การก้าวลงแห่งนามรูป ย่อมมี
เพราะมีนามรูป เป็นปัจจัย จึงมีสฬายตนะ
เพราะมีสฬายตนะเป็นปัจจัย จึงมีผัสสะ
เพราะมีผัสสะเป็นปัจจัย จึงมีเวทนา
เพราะมีเวทนาเป็นปัจจัย จึงมีตัณหา
เพราะมีตัณหาเป็นปัจจัย จึงมีอุปาทาน
เพราะมีอุปาทานเป็นปัจจัย จึงมีภพ
เพราะมีภพเป็นปัจจัย จึงมีชาติ
เพราะมีชาติเป็นปัจจัย ชรามรณะ โสกะปริเทวะ
ทุกขะโทมนัสอุปายาสะทั้งหลาย จึงเกิดขึ้นครบถ้วน ความเกิดขึ้นพร้อมแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้ ย่อมมี ด้วยอาการอย่างนี้. |