มหาสติปัฏฐานสูตร (พระสูตรแบบย่อ)
สติปัฎฐาน ๔ คือ กองกุศล ที่แท้จริง (กุศลราสี)
(ดูพระสูตรฉบับเต็ม)
[๒๗๓] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ใน กุรุชนบท มีนิคมของ ชาวกุรุ ชื่อว่า กัมมาสทัมมะ ณ ที่นั้น พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษทั้งหลาย ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระผู้มีพระภาคว่า พระพุทธเจ้าข้า พระผู้มีพระภาคได้ตรัส พระพุทธภาษิตนี้ว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย หนทางนี้เป็นที่ไปอันเอก เพื่อความบริสุทธิ์ ของเหล่าสัตว์ เพื่อล่วงความโศกและปริเทวะ เพื่อความดับสูญ แห่งทุกข์และโทมนัส เพื่อบรรลุธรรมที่ถูกต้อง เพื่อทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพาน
หนทางนี้ คือ สติปัฏฐาน ๔ ประการ ๔ ประการ เป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้
พิจารณาเห็นกายในกายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและ โทมนัส ในโลกเสียได้ ๑
พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติกำจัดอภิชฌาและ โทมนัสในโลกเสียได้ ๑
พิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัส ในโลก เสียได้ ๑
พิจารณาเห็นธรรมในธรรมอยู่ มีความเพียรมีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌา และ โทมนัส ในโลกเสียได้ ๑
เห็นกายในกาย
เห็นกายในกาย นัยยะ 1
(มีสติ รู้ลมหายใจ หายใจออกยาว-รู้ เข้ายาว-รู้ ออกสั้น-รู้ เข้าสั้นรู้ กำหนดรู้ทั้งกองลม เราจักระงับกายสังขาร ทั้งการหายใจเข้า หายใจออก)
ภิกษุพิจารณาเห็นกายในกายอยู่อย่างไรเล่า ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ไปสู่ป่าก็ดี ไปสู่โคนไม้ก็ดี ไปสู่เรือนว่างก็ดี นั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า เธอมีสติหายใจออก มีสติหายใจเข้า
เมื่อหายใจออกยาว ก็รู้ชัดว่าเราหายใจออกยาว
เมื่อหายใจเข้ายาว ก็รู้ชัดว่าเราหายใจเข้ายาว
เมื่อหายใจออกสั้น ก็รู้ชัดว่าเราหายใจออกสั้น
เมื่อหายใจเข้าสั้น ก็รู้ชัดว่า เราหายใจเข้าสั้น
ย่อมสำเหนียกว่า เราจักเป็นผู้กำหนดรู้ตลอดกองลมหายใจ ทั้งปวงหายใจออก ย่อมสำเหนียกว่า เราจักเป็นผู้กำหนดรู้ตลอด กอง ลมหายใจ ทั้งปวงหายใจเข้า ย่อมสำเหนียกว่า เราจักระงับกายสังขารหายใจออก ย่อมสำเหนียกว่า เราจักระงับ กายสังขารหายใจเข้า
เห็นกายในกาย นัยยะ 2
(รู้ตัวเมื่อกายเคลื่อนไหว ยืน นั่ง เดิน นอน ตั้งกายไว้ด้วยอาการใดๆ ก็รู้ชัดอาการอย่างนั้นๆ)
อีกข้อหนึ่ง ภิกษุเมื่อเดิน ก็รู้ชัดว่าเราเดิน เมื่อยืน ก็รู้ชัดว่าเรายืน เมื่อนั่ง ก็รู้ชัดว่าเรานั่ง เมื่อนอนก็รู้ชัดว่าเรานอน หรือ เธอตั้งกายไว้ ด้วยอาการอย่างใดๆ ก็รู้ชัดอาการอย่างนั้นๆ
เห็นกายในกาย นัยยะ 3
(รู้ตัวทั่วพร้อม การก้าวไป ถอยกลับ การแล การเหลียว การเคี้ยว ถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ การพูด การยืน นั่ง นอน หลับ)
อีกข้อหนึ่ง ภิกษุย่อมทำความรู้สึกตัวในการ ก้าว ในการถอย ในการแล ในการเหลียว ในการคู้เข้า ในการเหยียดออก ในการทรงผ้า สังฆาฏิบาตรและจีวร ในการฉัน การดื่ม การเคี้ยว การลิ้ม ใน การถ่ายอุจจาระและ ปัสสาวะ ย่อมทำความรู้สึกตัว ในการเดิน การยืน การนั่ง การหลับ การตื่น การพูด การนิ่ง
เห็นกายในกาย นัยยะ 4
(พิจารณากายภายนอกเช่น ผม เล็บ หนัง.. พิจารณากายภายในเช่น หัวใจ ม้าม ปอด เลือด)
อีกข้อหนึ่ง ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นกายนี้ แหละ แต่พื้นเท้าขึ้นไป แต่ปลายผมลงมา มีหนังเป็นที่สุดรอบ เต็มด้วยของ ไม่สะอาดมี ประการต่างๆ ว่า มีอยู่ในกายนี้ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ม้าม หัวใจ ตับ ผังผืด ไต ปอด ไส้ใหญ่ ไส้ทบ อาหารใหม่ อาหารเก่า ดี เสลด หนอง เลือด เหงื่อมันข้น น้ำตา มันเหลว น้ำลาย น้ำมูก ไขข้อ มูตร .....
เห็นกายในกาย นัยยะ 5
(พิจารณาว่ากายว่าประกอบด้วยธาตุ ดิน น้ำ ไฟ ลม พิจารณาในความเป็นธาตุ)
อีกข้อหนึ่ง ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นกายนี้แหละ ซึ่งตั้งอยู่ตามที่ ตั้งอยู่ตามปรกติ โดยความเป็นธาตุว่า มีอยู่ในกายนี้ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลมคนฆ่าโคหรือ ลูกมือของคนฆ่าโคผู้ขยัน ฆ่าโค แล้ว แบ่งออกเป็นส่วน นั่งอยู่ที่หนทางใหญ่สี่แพร่ง ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้น เหมือนกัน ย่อมพิจารณาเห็นกาย นี้แหละ ซึ่งตั้งอยู่ตามที่ ตั้งอยู่ ตามปรกติ โดยความเป็นธาตุว่า มีอยู่ในกายนี้ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม
เห็นกายในกาย นัยยะ 6
(พิจารณาสรีระ เห็นกายเน่า ตายในป่าช้า มีน้ำหนอง น้ำเหลือง ตายแล้ว1วันบ้าง 2 วัน 3 วัน)
อีกข้อหนึ่ง ภิกษุเหมือนกะว่าพึงเห็นสรีระ ที่เขาทิ้งไว้ในป่าช้า ตายแล้ววันหนึ่งบ้าง สองวันบ้าง สามวันบ้าง ที่ขึ้นพอง มี สีเขียวน่าเกลียด มีน้ำเหลืองไหลน่าเกลียด เธอย่อมน้อมเข้ามาสู่กายนี้แหละว่า ถึงร่างกายอันนี้เล่า ก็มีอย่างนี้เป็นธรรมดา คงเป็น อย่างนี้ ไม่ล่วงความเป็นอย่างนี้ ไปได้
เห็นกายในกาย นัยยะ 7
(พิจารณาสรีระที่เขาทิ้งไว้ในป่าช้า ฝูงกาจิกกิน สุนัขกัดกิน พิจารณาในความเป็นธรรมดา)
อีกข้อหนึ่ง ภิกษุเหมือนกะว่าพึงเห็นสรีระ ที่เขาทิ้ง ไว้ในป่าช้า อันฝูงกาจิกกินอยู่บ้าง ฝูงนกตะกรุมจิกกินอยู่บ้าง ฝูงแร้งจิกกินอยู่บ้าง หมู่สุนัขกัดกินอยู่บ้าง หมู่สุนัขจิ้งจอก กัดกินอยู่บ้าง หมู่สัตว์ตัวเล็กๆ ต่างๆ กัดกิน อยู่บ้าง เธอย่อมน้อมเข้ามาสู่กายนี้แหละ ว่า ถึงร่างกายอันนี้เล่าก็มี อย่างนี้เป็นธรรมดา คงเป็นอย่างนี้ ไม่ล่วงความเป็นอย่างนี้ ไปได้
เห็นกายในกาย นัยยะ 8
(พิจารณาสรีระในป่าช้า ว่าร่างกระดูกยังมีเนื้อติด ไม่มีเนื้อติด ไม่มีเลือด-เนื้อแต่มีเอ็นติด
พิจารณาเห็นกระดูกแต่ละส่วน หลุดไปคนละทิศละทาง พิจารณาถึงความเป้นธรรมดา เห็นความเสื่อม เห็นว่ากายมีอยู่เพื่อการระลึกเท่านั้น ไม่ควรถือมั่น
)
อีกข้อหนึ่ง ภิกษุเหมือนกะว่าพึงเห็นสรีระที่เขาทิ้ง ไว้ในป่าช้า
เป็นร่างกระดูก ยังมีเนื้อและเลือด ยังมีเส้นเอ็นผูกรัดอยู่ ...
ปราศจากเนื้อ แต่ยังเปื้อนเลือด ยังมีเส้นเอ็น ผูกรัดอยู่...
ปราศจากเนื้อ และเลือดแล้ว ยังมีเส้นเอ็น ผูกรัดอยู่..
อีกข้อหนึ่ง ภิกษุเหมือนกะว่าพึงเห็นสรีระ ที่เขาทิ้ง ไว้ในป่าช้า
คือเป็นกระดูก ปราศจากเส้นเอ็นผูกรัดแล้ว เรี่ยรายไปในทิศใหญ่ ทิศน้อย
คือ
กระดูกมือไปทางหนึ่ง กระดูกเท้าไปทางหนึ่ง กระดูกแข้ง ไปทางหนึ่ง กระดูกขาไปทางหนึ่ง กระดูกสะเอวไปทางหนึ่ง กระดูกหลังไปทางหนึ่ง กระดูกสันหลัง ไปทางหนึ่ง กระดูกสีข้างไปทางหนึ่ง กระดูกหน้าอกไปทางหนึ่ง กระดูกไหล่ไปทางหนึ่ง กระดูกแขนไปทางหนึ่ง กระดูกคอไปทางหนึ่ง กระดูกคางไปทางหนึ่ง กระดูกฟันไปทางหนึ่ง กระโหลกศีรษะไปทางหนึ่ง
เธอย่อมน้อมเข้ามาสู่กายนี้แหละว่า ถึงร่างกายอันนี้เล่า ก็มีอย่างนี้เป็นธรรมดา คงเป็น อย่างนี้ ไม่ล่วงความเป็นอย่างนี้ไปได้
ดังพรรณนามาฉะนี้ ภิกษุย่อมพิจารณา เห็นกายในกายภายในบ้าง พิจารณา เห็นกาย ในกายภายนอกบ้าง พิจารณาเห็นกาย ในกายทั้งภายในทั้งภายนอกบ้าง
พิจารณาเห็นธรรม คือความเกิดขึ้นในกายบ้าง พิจารณาเห็นธรรมคือความเสื่อมใน กายบ้าง พิจารณาเห็นธรรมคือทั้งความเกิดขึ้น ทั้งความเสื่อมในกายบ้าง ย่อมอยู่
อีกอย่างหนึ่ง สติของเธอที่ตั้งมั่นอยู่ว่า กายมี อยู่ ก็เพียงสักว่าความรู้ เพียงสัก ว่าอาศัยระลึกเท่านั้น เธอเป็นผู้อันตัณหาและทิฐิไม่อาศัยอยู่แล้ว และไม่ถือมั่นอะไรๆ ในโลก
เห็นกายในกาย นัยยะ 9
(พิจารณาร่างกระดูกในป่าช้า สีขาวบ้าง เห็นเป็นกองกระดูกบ้าง ผุเป็นจุณบ้าง พิจารณา
น้อมจิต มาสู่ตนว่า กายนี้มีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา ทั้งกายภายนอก-ภายใน )
อีกข้อหนึ่ง ภิกษุเหมือนกะว่าพึงเห็นสรีระ ที่เขาทิ้ง ไว้ในป่าช้า
คือ เป็นกระดูกมีสีขาว เปรียบด้วยสีสังข์
คือ เป็นกระดูกกอง เรียงรายอยู่แล้วเกินปีหนึ่งขึ้นไป
คือ เป็นกระดูกผุเป็นจุณ แล้ว
เธอย่อมน้อมเข้ามาสู่กายนี้ แหละว่า ถึง ร่างกายอันนี้เล่าก็มีอย่างนี้เป็น ธรรมดา คงเป็นอย่างนี้ ไม่ล่วงความ เป็นอย่างนี้ไปได้
----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
เห็นเวทนาในเวทนา
(จิตรู้ชัดในเวทนาว่ากำลังเสวยสุข ทุกข์ หรือ อทุกขมสุข รับรู้ได้ทั้งอายตนะภายใน และ เวทนาในจิต คือปิติ-สุข ในสมาธิ)
ภิกษุพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาอยู่อย่างไร เล่า ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เสวยสุขเวทนาอยู่ ก็รู้ชัดว่า เราเสวย สุขเวทนา
หรือ เสวย ทุกขเวทนา ก็รู้ชัดว่า เราเสวยทุกขเวทนา
หรือ เสวยอทุกขมสุขเวทนาก็รู้ชัดว่าเรา เสวยอทุกขมสุขเวทนา
หรือเสวยสุขเวทนามีอามิส ก็รู้ชัดว่า เราเสวยสุขเวทนา มีอามิส
หรือ เสวยสุขเวทนาไม่มีอามิส ก็รู้ชัดว่า เราเสวยสุขเวทนาไม่มีอามิส
หรือ เสวยทุกขเวทนามีอามิส ก็รู้ชัดว่าเราเสวยทุกขเวทนามี อามิส
หรือ เสวยทุกขเวทนาไม่มีอามิส ก็รู้ชัดว่า เราเสวยทุกขเวทนาไม่มีอามิส
หรือ เสวยอทุกขมสุขเวทนามีอามิส ก็รู้ชัดว่าเราเสวยอทุกขมสุขเวทนามีอามิส
หรือ เสวยอทุกขมสุขเวทนาไม่มีอามิส ก็รู้ชัดว่า เราเสวยอทุกขมสุขเวทนาไม่มีอามิส
(สุขเวทนามีอามิส คือ สุขที่เกิดจากตากระทบรูป ...หู จมูก ลิ้น กาย ใจ)
(สุขเวทนาไม่มีอามิส หรือ ไม่อิงอามิส คือ ปิติสุขในสมาธิ เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน)
----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
เห็นจิตในจิต
(ตามเห็น เฝ้าสังเกตุอารมณ์ของจิต รู้ว่าจิตรับรู้อารมณ์ใดบ้าง แยกผู้สังเกตุออกมา จากจิตที่ไปรับรู้อารมณ์ต่างๆ)
ภิกษุพิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่อย่างไรเล่า ภิกษุในธรรมวินัยนี้
จิตมีราคะ ก็รู้ว่าจิตมีราคะ หรือจิตปราศจากราคะ ก็รู้ว่าจิต ปราศจากราคะ จิตมีโทสะก็รู้ว่าจิตมีโทสะ หรือจิตปราศจากโทสะ ก็รู้ว่าจิต ปราศจากโทสะ
จิตมีโมหะ ก็รู้ว่าจิตมีโมหะ หรือจิตปราศจากโมหะ ก็รู้ว่าจิต ปราศจากโมหะ
จิตหดหู่ ก็รู้ว่าจิตหดหู่ จิตฟุ้งซ่าน ก็รู้ว่าจิตฟุ้งซ่าน จิตเป็นมหรคต ก็รู้ว่าจิตเป็นมหรคต หรือจิตไม่เป็นมหรคต ก็รู้ว่าจิตไม่เป็นมหรคต จิตมีจิตอื่นยิ่งกว่า ก็รู้ว่าจิตมีจิตอื่นยิ่งกว่า หรือจิตไม่มีจิตอื่นยิ่งกว่า
ก็รู้ว่าจิตไม่มีจิต อื่นยิ่งกว่า
จิตเป็นสมาธิ ก็รู้ว่าจิตเป็นสมาธิ หรือจิตไม่เป็นสมาธิ ก็รู้ว่าจิตไม่เป็นสมาธิ
จิตหลุดพ้น ก็รู้ว่าจิตหลุดพ้น หรือจิตไม่หลุดพ้น ก็รู้ว่าจิตไม่หลุดพ้น
(มหรคต บาลี อ่าน มหัคคตะ แปลว่า จิตเป็นใหญ่
เข้าถึงสมาธิจนถึงวิมุุตติ)
----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
เห็นธรรมในธรรม
(เห็นนิวรณ์ทั้ง5 หรือเครื่องคลุม เครื่องกางกั้น เครื่องขัดขวางจิตไม่ให้มีสมาธิ กามฉันท์ พยายาท เบียดเบียน ถีนมิธะ อุทธัจจกุกกุจจะ วิจิกิจฉา.. รู้ชัดว่า มีอยู่ ไม่มีอยูู่ก็รู้ ยังไม่เกิดก็รู้ เกิดแล้วก็รู้ ละได้แล้วก็รู้ )
ภิกษุพิจารณาเห็นธรรมในธรรมอยู่ อย่างไรเล่า ภิกษุในธรรมวินัยนี้ พิจารณาเห็นธรรมในธรรม คือนิวรณ์ ๕ ภิกษุพิจารณา เห็นธรรมในธรรมคือนิวรณ์ ๕ อย่างไรเล่า ภิกษุในธรรมวินัยนี้
กามฉันท์ (มีอยู่-ไม่มีอยู่ในจิต.. ยังไม่เกิด-เกิดแล้ว-ละได้แล้ว)
เมื่อกามฉันท์มีอยู่ ณ ภายในจิต ย่อมรู้ชัดว่า กามฉันท์มีอยู่ ณ ภายในจิตของเรา
เมื่อกามฉันท์ไม่มีอยู่ ณ ภายในจิต ย่อมรู้ชัดว่ากามฉันท์ไม่มีอยู่ ณ ภายในจิตของเรา
กามฉันท์ ที่ยังไม่เกิด จะเกิดขึ้นด้วยประการใด ย่อมรู้ชัดประการนั้น ด้วย
กามฉันท์ ที่เกิดขึ้นแล้ว จะละเสียได้ด้วยประการใด ย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วย
กามฉันท์ ที่ละได้แล้ว จะไม่เกิดขึ้นต่อไปด้วยประการใด ย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วย
พยาบาท (มีอยู่-ไม่มีอยู่ในจิต.. ยังไม่เกิด-เกิดแล้ว-ละได้แล้ว)
เมื่อพยาบาทมีอยู่ ณ ภายในจิต ย่อมรู้ชัดว่า พยาบาทมีอยู่ ณ ภายในจิตของเรา
เมื่อพยาบาทไม่มีอยู่ ณ ภายในจิต ย่อมรู้ชัดว่า พยาบาทไม่มีอยู่ ณ ภายในจิตของเรา
พยาบาท ที่ยังไม่เกิด จะเกิดขึ้นด้วยประการใด ย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วย
พยาบาท ที่เกิดขึ้นแล้ว จะละเสียได้ด้วยประการใด ย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วย
พยาบาท ที่ละได้แล้ว จะไม่เกิดขึ้นต่อไปด้วยประการใด ย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วย
ถีนมิทธะ (มีอยู่-ไม่มีอยู่ในจิต.. ยังไม่เกิด-เกิดแล้ว-ละได้แล้ว)
เมื่อถีนมิทธะมีอยู่ ณ ภายในจิต ย่อมรู้ชัดว่า ถีนมิทธะมีอยู่ ณ ภายในจิตของเรา เมื่อถีนมิทธะไม่มีอยู่ ณ ภายในจิตย่อมรู้ชัดว่า ถีนมิทธะไม่มีอยู่ ณ ภายในจิตของเรา
ถีนมิทธะ ที่ยังไม่เกิด จะเกิดขึ้นด้วยประการใด ย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วย
ถีนมิทธะ ที่เกิดขึ้นแล้ว จะละเสียได้ด้วยประการใด ย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วย
ถีนมิทธะ ที่ละได้แล้ว จะไม่เกิดขึ้นต่อไปด้วยประการใด ย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วย
อุทธัจจกุกกุจจะ (มีอยู่-ไม่มีอยู่ในจิต.. ยังไม่เกิด-เกิดแล้ว-ละได้แล้ว)
เมื่ออุทธัจจกุกกุจจะมีอยู่ ภายในจิต ย่อมรู้ชัดว่า อุทธัจจกุกกุจจะมีอยู่ ภายในจิต
เมื่ออุทธัจจกุกกุจจะไม่มีอยู่ ภายในจิต ย่อมรู้ชัดว่า อุทธัจจกุกกุจจะ ไม่มีอยู่ภายในจิต
อุทธัจจกุกกุจจะ ที่ยังไม่เกิด จะเกิดขึ้นด้วยประการใด ย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วย
อุทธัจจกุกกุจจะ ที่เกิดขึ้นแล้วจะละเสียได้ด้วยประการใด ย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วย
อุทธัจจกุกกุจจะ ที่ละได้แล้วจะไม่เกิดขึ้นต่อไปด้วยประการใดย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วย
วิจิกิจฉา (มีอยู่-ไม่มีอยู่ในจิต.. ยังไม่เกิด-เกิดแล้ว-ละได้แล้ว)
เมื่อวิจิกิจฉามีอยู่ ณ ภายในจิต ย่อมรู้ชัดว่า วิจิกิจฉามีอยู่ ณ ภายใน จิตของเรา เมื่อวิจิกิจฉาไม่มีอยู่ ณ ภายในจิต ย่อมรู้ชัดว่า วิจิกิจฉาไม่มีอยู่ ณ ภายในจิตของเรา
วิจิกิจฉา ที่ยังไม่เกิด จะเกิดขึ้นด้วยประการใด ย่อมรู้ชัดประการนั้น ด้วย
วิจิกิจฉา ที่เกิดขึ้นแล้ว จะละเสียได้ด้วยประการใด ย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วย
วิจิกิจฉา ที่ละได้แล้ว จะไม่เกิดขึ้นต่อไปด้วยประการใด ย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วย
------------------------------------------------------------------------
นิวรณ์ ๕
กามฉันทะ- ความพอใจ ติดใจ หลงใหลใฝ่ฝันในกาม คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ดุจคนหลับอยู่
พยาบาท- ความไม่พอใจ(ในกาม) จากความไม่ได้สมดังปรารถนา ดุจคนถูกทัณท์ทรมานอยู่
ถีนมิทธะ- ความขี้เกียจ เซื่องซึม ท้อแท้ อ่อนแอ หมดอาลัย ไร้กำลังทั้งกายใจ ไม่ฮึกเหิม
อุทธัจจะกุกกุจจะ- ความคิดซัดส่าย ฟุ้งซ่าน ไม่สงบนิ่ง
วิจิกิจฉา- ความไม่แน่ใจ ลังเลใจ สงสัย กังวล กล้า ๆ กลัว ๆ ไม่เต็มที่ ไม่มั่นใจ
(ดูพระสูตรฉบับเต็ม)
|