เว็บไซต์ อนาคามี เผยแพร่ พุทธวจน คำสอนของพระศาสดา คำสอนตถาคต รวมพระสูตรสำคัญ อนาคามี เว็บไซต์เผยแพร่คำสอนของพระพุทธเจ้า
 
ค้นหาคำที่ต้องการ          

 
  อาฏานาฏิยสูตร (ฉบับหลวง) ท้าวเวสวัณมหาราชเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาค
  เทียบเคียง กับ ของท่านพุทธทาส ในพุทธประวัติจากพระโอษฐ์ ภาค ๔
1024
 
 
อาฏานาฏิยสูตร (ฉบับหลวง) ท้าวเวสวัณมหาราชเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาค
เทียบเคียง กับ ของท่านพุทธทาส ในพุทธประวัติจากพระโอษฐ์ ภาค ๔

ท่านพุทธทาส แปลเฉพาะ ในส่วนที่คิดว่าเป็น พุทธวจนเท่านั้น
พร้อมทำเชิงอรรถไว้ตอนท้ายว่า มนต์ต่อนี้ไป ยังมีอีกมาก แต่ไม่แน่ใจว่าเป็นพุทธภาษิตแท้
และกลัวว่าจะไม่เป็นประโยชน์ ในการนำมาใส่ไว้ ทั้งหมด

อาฏานาฏิยสูตร มีผู้นำไป ต่อยอด แต่งเติม หลายยุคหลายสมัย เป็นพิธีกรรมที่ความเชื่อกันว่า เป็นสามารถขจัดปัดเป่าสิ่งชั่วร้าย บทสวดที่ใช้เรียกว่า สวดภาณยักษ์

ข้อมูลวิกิพีเดีย
ในสุมังคลวิลาสินี อรรถกถาอาฏานาฏิยสูตร ในปาฏิกวรรค ทีฆนิกาย พระสุตตันตปิฎก พระอรรถกถาจารย์ ได้อธิบายแนวทางการสวดสาธยายอาฏานาฏิยสูตร หรือ รักขา ไว้ในข้อ  "ปริตฺตปริกมฺมกถา" ว่า "ไม่ควรสวดอาฏานาฏิยสูตรก่อนทีเดียว. ควรสวดพระสูตรเหล่านี้ คือ เมตตาสูตร ธชัคคสูตร รตนสูตร ตลอด ๗ วัน. หากว่าพ้นไปได้ เป็นการดี. หากไม่พ้น ควรสวด อาฏานาฏิยสูตร. ภิกษุผู้สวดอาฏานาฏิยสูตรนั้น ไม่ควรเคี้ยวแป้งหรือเนื้อ ไม่ควรอยู่ในป่าช้า.

การสวดภาณยักษ์ในประเทศไทย
การสวดภาณยักษ์ในประเทศไทยไม่ปรากฏหลักฐานทางประวัติศาสตร์ว่า เริ่มต้นขึ้นเมื่อใด แม้จะมี มุขปาฐะ เล่าขานถึงที่มากันต่างๆ ออกไป แต่ก็ไม่มีหลักฐานยืนยันได้ แต่มีหลักฐานทาง ประวัติศาสตร์ ปรากฏว่า ได้มีการสวดอาฏานาฏิยสูตร หรืออาฏานาฏิยปริตร เพื่อสะเดาะเคราะห์ ในพระนคร สมัยกรุงรัตนโกสินทร์เป็นต้น นอกจากนี้ยังปรากฏจารึกอาฏานาฏิยสูตร ในพระอารามหลวง สำคัญอย่างวัดชุมพลนิกายาราม ด้วย

   เรื่องสำคัญของพระพุทธเจ้า
   การบำเพ็ญบารมีในอดีตชาติ
   การประสูติ แสงสว่าง แผ่นดินไหว
   แสวงหาสัจจะ บำเพ็ญทุกรกิริยา
   ปัญจวัคคีย์หลีก สิ่งที่ตรัสรู้
   ตรัสรู้ แสดงเทศนาปัญจวัคคีย์
   ปลงสังขาร ปรินิพพาน
   ลำดับขั้นการปรินิพพาน
   เทวดาแสดงฤทธิ์ขณะถวายเพลิง
   แบ่งพระสรีระออกเป็น ๘ ส่วน
 
 

 

ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๑ สุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค หน้าที่ ๑๔๘ - ๑๕๗


๙. อาฏานาฏิยสูตร (๓๒)


 [๒๐๗] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ภูเขาคิชฌกูฏ เขตพระนครราชคฤห์ ครั้งนั้น ท้าวมหาราชทั้ง ๔ ตั้งการรักษาไว้ทั้ง ๔ ทิศ ตั้งพลขันธ์ไว้ทั้ง ๔ทิศ ตั้งผู้ตรวจตราไว้ ทั้ง ๔ ทิศด้วยเสนายักษ์กองใหญ่ ด้วยเสนาคนธรรพ์กองใหญ่ด้วยเสนากุมภัณฑ์ กองใหญ่ และด้วยเสนานาคกองใหญ่ เมื่อราตรีล่วงปฐมยามไปแล้ว เปล่งรัศมีงามยิ่ง ยังภูเขาคิชฌกูฏทั้งสิ้น ให้สว่างไสว แล้วเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาค แล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ฯ

ฝ่ายยักษ์เหล่านั้น บางพวกถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง บางพวกได้ปราศรัยกับพระผู้มีพระภาค ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว นั่ง ณที่ควรส่วนข้างหนึ่ง บางพวกประนมอัญชลีไปทางที่พระผู้มีพระภาคประทับ แล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง บางพวกประกาศชื่อและโคตร แล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วน ข้างหนึ่ง บางพวกได้นั่งนิ่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ฯ

[๒๐๘] ท้าวเวสวัณมหาราช ประทับนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง แล้วได้กราบทูล พระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
ยักษ์ชั้นสูงบางพวก มิได้เลื่อมใสต่อพระผู้มีพระภาคก็มี
ยักษ์ชั้นสูงบางพวก ที่เลื่อมใสต่อพระผู้มีพระภาคก็มี
ยักษ์ชั้นกลางบางพวก มิได้เลื่อมใสต่อพระผู้มีพระภาคก็มี
ยักษ์ชั้นกลางบางพวก ที่เลื่อมใสต่อพระผู้มีพระภาคก็มี
ยักษ์ชั้นต่ำบางพวกมิได้เลื่อมใส ต่อพระผู้มีพระภาคก็มี
ยักษ์ชั้นต่ำบางพวก ที่เลื่อมใสต่อพระผู้มีพระภาคก็มี

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ โดยมากยักษ์มิได้เลื่อมใสต่อพระผู้มีพระภาคเลย ข้อนั้นเหตุไร เพราะพระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรม เพื่องดเว้นจาก ปาณาติบาต ทรงแสดงธรรม เพื่องดเว้นจาก อทินนาทาน ทรงแสดงธรรมเพื่องดเว้นจาก กาเมสุมิจฉาจาร  ทรงแสดงธรรมเพื่องดเว้นจาก มุสาวาท ทรงแสดงธรรมเพื่องดเว้นจากการดื่มน้ำเมา คือสุราและเมรัย อันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท แต่โดยมากพวกยักษ์มิได้งดเว้นจาก ปาณาติบาต มิได้งดเว้นจากอทินนาทาน มิได้งดเว้นจากกาเมสุมิจฉาจาร มิได้งดเว้น จากมุสาวาท มิได้งดเว้นจากการดื่มน้ำเมา คือสุรา และเมรัย อันเป็นที่ตั้ง แห่งความ ประมาทข้อที่พระองค์ให้งดเว้นนั้น จึงไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่ชอบใจของยักษ์เหล่านั้น

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็พระสาวกของพระผู้มีพระภาค บางพวกย่อมเสพราวไพรในป่า เสนาสนะอันสงัด มีเสียงน้อย มีเสียงกึกก้องน้อย ปราศจากลมแต่ชนผู้เดินเข้าออก ควรแก่การทำกรรม อันเร้นลับของมนุษย์ ควรแก่การหลีกเร้น ยักษ์ชั้นสูงบางพวก มักอยู่ในป่านั้นพวกใด มิได้เลื่อมใสในปาพจน์ของพระผู้มีพระภาคนี้ ขอพระผู้มี พระภาค จงทรงเรียนการรักษา อันชื่อว่า อาฏานาฏิยะ เพื่อให้ยักษ์พวกนั้นเลื่อมใส คุ้มครอง เพื่อรักษา เพื่อไม่เบียดเบียน เพื่ออยู่สำราญของอุบาสกอุบาสิกา ภิกษุ ภิกษุณีทั้งหลายเถิด พระพุทธเจ้าข้า ฯ

พระผู้มีพระภาคทรงรับโดยดุษณีภาพ ลำดับนั้น ท้าวเวสวัณมหาราชทรงทราบ การทรงรับของพระผู้มีพระภาค แล้วได้ทรงภาษิตอาฏานาฏิยรักขานี้ในเวลานั้นว่า

[๒๐๙] ขอนอบน้อมแด่พระวิปัสสีพุทธเจ้า ผู้มีพระจักษุ มีพระสิริ
ขอนอบน้อมแด่พระสิขีพุทธเจ้า ผู้ทรงอนุเคราะห์แก่สัตว์ทั่วหน้า
ขอนอบน้อมแด่พระเวสสภูพุทธเจ้า ผู้ทรงชำระกิเลสมีความเพียร
ขอนอบน้อมแด่พระกกุสันธพุทธเจ้า ผู้ทรงย่ำยีมารและเสนามาร
ขอนอบน้อมแด่พระโกนาคมน์พุทธเจ้า ผู้มีบาปอันลอยแล้ว อยู่จบพรหมจรรย์
ขอนอบน้อมแด่พระกัสสปพุทธเจ้า ผู้พ้นพิเศษแล้วในธรรมทั้งปวง
ขอนอบน้อมแด่พระอังคีรสพุทธเจ้า ผู้ศากยบุตร ผู้มีพระสิริ พระพุทธเจ้าพระองค์ใดได้ทรงแสดงธรรมนี้ อันเป็นเครื่องบรรเทาทุกข์ทั้งปวง

อนึ่งพระพุทธเจ้าเหล่าใด ผู้ดับแล้วในโลก ทรงเห็นแจ้งแล้วตามเป็นจริง พระพุทธเจ้า เหล่านั้น เป็นผู้ไม่ส่อเสียด เป็นผู้ยิ่งใหญ่ ปราศจากความครั่นคร้ามเทวดา และมนุษย์ ทั้งหลาย นอบน้อมพระพุทธเจ้าพระองค์ใด ผู้โคตมโคตร ทรงเกื้อกูลแก่ทวยเทพ และมนุษย์  

ทรงถึงพร้อมด้วยวิชชา และจรณะ เป็นผู้ยิ่งใหญ่ ปราศจากความครั่นคร้าม พระสุริยาทิตย์ มีมณฑลใหญ่อุทัยขึ้นแต่ทิศใดแล เมื่อพระอาทิตย์อุทัยขึ้น ราตรี ก็หายไป ครั้นพระอาทิตย์อุทัยขึ้น ย่อมเรียกกันว่ากลางวัน แม้น่านน้ำ ในที่พระอาทิตย์อุทัยนั้นเป็นสมุทรลึก มีน้ำแผ่เต็มไป ชนทั้งหลายย่อมรู้จักน่านน้ำนั้น ในที่นั้นอย่างนี้ว่า สมุทรมีน้ำแผ่เต็มไป ฯ

[๒๑๐] แต่ที่นี้ไป ทิศที่ชนเรียกกันว่า ปุริมทิศ ที่ท้าวมหาราชผู้ทรงยศเป็นเจ้าเป็นใหญ่ ของพวกคนธรรพ์ ทรงนามว่าท้าวธตรฏฐ์ อันพวกคนธรรพ์แวดล้อมแล้ว ทรงโปรด ปราน ด้วยการฟ้อนรำขับร้อง ทรงอภิบาลอยู่ข้าพเจ้าได้สดับมาว่า โอรสของท้าวเธอ มีมากองค์ มีพระนามเดียวกันทั้งเก้าสิบเอ็ดองค์ มีพระนามว่าอินทะ ทรงพระกำลังมาก

ทั้งท้าวธตรฏฐ์และโอรสเหล่านั้นเห็นพระพุทธเจ้าผู้เบิกบานแล้ว ผู้เป็นเผ่าพันธุ์แห่ง พระอาทิตย์พากันถวายบังคมพระพุทธเจ้า ซึ่งเป็นผู้ยิ่งใหญ่ปราศจากความครั่นคร้าม แต่ที่ไกลว่า ข้าพระพุทธเจ้าขอนอบน้อมแด่พระองค์ พระอุดมบุรุษ ข้าพระพุทธเจ้า ขอนอบน้อมแด่พระองค์ ขอพระองค์ทรงตรวจดูมหาชนด้วยพระญาณอันฉลาด แม้พวกอมนุษย์ก็ถวายบังคมพระองค์

ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายได้สดับมาอย่างนั้นเนืองๆฉะนั้น จึงกล่าวเช่นนี้ ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ถามเขาว่า พวกท่านถวายบังคมพระชินโคดมหรือ เขาพากันตอบว่า ถวายบังคมพระชินโคดม ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายขอถวายบังคม พระพุทธเจ้า ผู้ถึงพร้อมด้วยวิชชา และจรณะชนทั้งหลาย ผู้กล่าวส่อเสียด ผู้กัดเนื้อ ข้างหลังทำปาณาติบาตลามก เป็นโจร เป็นคนตลบตะแลง ตายแล้วชนทั้งหลาย พากันกล่าวว่า จงนำออกไปโดยทิศใด ฯ

[๒๑๑] แต่นี้ไป ทิศที่ชนเรียกกันว่า ทักขิณทิศ ที่ท้าวมหาราชผู้ทรงยศ  เป็นเจ้าเป็นใหญ่ ของพวกกุมภัณฑ์ ทรงนามว่า ท้าววิรุฬหะอันพวกกุมภัณฑ์ แวดล้อมแล้ว ทรงโปรดปรานด้วยการฟ้อนรำขับร้อง ทรงอภิบาลอยู่ข้าพเจ้า ได้สดับมาว่า โอรสของท้าวเธอมีมากองค์ มีพระนามเดียวกันทั้งเก้าสิบเอ็ดองค์ มีพระนามว่า อินทะ ทรงพระกำลังมาก ทั้งท้าววิรุฬหะและโอรสเหล่านั้น ได้เห็นพระพุทธเจ้าผู้เบิกบานแล้ว ผู้เป็นเผ่าพันธุ์แห่งพระอาทิตย์ พากันถวายบังคม พระพุทธเจ้า ซึ่งเป็นผู้ยิ่งใหญ่ปราศจากความครั่นคร้ามแต่ที่ไกลว่า พระบุรุษอาชาไนย

ข้าพระพุทธเจ้าขอนอบน้อมแด่พระองค์ พระบุรุษอุดม ข้าพระพุทธเจ้าขอนอบน้อม แด่พระองค์ ขอพระองค์ทรงตรวจดูมหาชน ด้วยพระญาณอันฉลาด แม้พวกอมนุษย์ ก็ถวายบังคมพระองค์ ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายได้สดับมาอย่างนั้นเนืองๆ ฉะนั้น จึงกล่าวเช่นนี้ ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายถามเขาว่า พวกท่านถวายบังคมพระชินโคดม หรือ เขาพากันตอบว่า ถวายบังคมพระชินโคดม

ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ขอถวายบังคมพระพุทธโคดม ผู้ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ พระสุริยาทิตย์มีมณฑลใหญ่ อัสดงคตในทิศใด และเมื่อพระอาทิตย์อัสดงคต กลางวัน ก็ดับไป ครั้นพระอาทิตย์อัสดงคตแล้ว ย่อมเรียกกันว่ากลางคืน แม้น่านน้ำในที่ พระอาทิตย์อัสดงคตแล้ว เป็นสมุทรลึก มีน้ำแผ่เต็มไปชนทั้งหลายย่อมรู้จักน่านน้ำนั้น ในที่นั้นอย่างนี้ว่าสมุทรมีน้ำแผ่เต็มไป ฯ

[๒๑๒] แต่ที่นี้ไป ทิศที่มหาชนเรียกกันว่า ปัจฉิมทิศที่ท้าวมหาราชผู้ทรงยศ เป็นเจ้า เป็นใหญ่ของพวกนาค ทรงนามว่าท้าววิรูปักษ์อันพวกนาคแวดล้อมแล้ว ทรง โปรดปราน ด้วยการฟ้อนรำ ขับร้อง ทรงอภิบาลอยู่ข้าพเจ้าได้สดับมาว่า โอรสของ ท้าวเธอมีมากองค์ มีพระนามเดียวกันทั้งเก้าสิบเอ็ดองค์ มีพระนามว่าอินทะ ทรงพระกำลังมาก ทั้งท้าววิรูปักษ์และโอรสเหล่านั้น ได้เห็นพระพุทธเจ้า ผู้เบิกบานแล้ว ผู้เป็นเผ่าพันธุ์ แห่งพระอาทิตย์พากันถวายบังคมพระพุทธเจ้า ซึ่งเป็นผู้ยิ่งใหญ่ ปราศจากความครั่นคร้าม แต่ที่ไกลเทียวว่า พระบุรุษอาชาไนย ข้าพระพุทธเจ้าขอนอบน้อมแด่พระองค์ พระอุดมบุรุษ

ข้าพระพุทธเจ้าขอนอบน้อมแด่พระองค์ ขอพระองค์ทรงตรวจดูมหาชน ด้วยพระญาณ อันฉลาด แม้พวกอมนุษย์ก็ถวายบังคมพระองค์ ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ได้สดับมา อย่างนั้นเนืองๆ ฉะนั้น จึงกล่าวเช่นนี้ ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายถามเขาว่า พวกท่าน ถวายบังคมพระชินโคดมหรือ เขาพากันตอบว่า ถวายบังคมพระชินโคดม

ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ขอถวายบังคมพระพุทธโคดม ผู้ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ อุตตรกุรุทวีปเป็นรมณียสถาน มีภูเขาหลวงชื่อสิเนรุแลดูงดงาม ตั้งอยู่ทิศใด พวกมนุษย์ ซึ่งเกิดในอุตตรกุรุทวีปนั้น ไม่ยึดถือสิ่งใดว่าเป็นของตน ไม่หวงแหนกัน มนุษย์เหล่านั้น ไม่ต้องหว่านพืช และไม่ต้องนำไถออกไถ หมู่มนุษย์บริโภคข้าวสาลี อันผลิตผลในที่ไม่ต้องไถ ไม่มีรำ ไม่มีแกลบ บริสุทธิ์มีกลิ่นหอม เป็นเมล็ดข้าวสาร หุง [ข้าวนั้น] ในเตาอันปราศจากควันแล้วบริโภคโภชนะ

แต่ที่นั้นทำแม่โคให้มีกีบเดียว  แล้วเที่ยวไปสู่ทิศน้อย ทิศใหญ่ทำปศุสัตว์ให้มีกีบเดียว แล้วเที่ยวไปสู่ทิศน้อยทิศใหญ่ ทำหญิงให้เป็นพาหนะ  แล้วเที่ยวไปสู่ทิศน้อย ทิศใหญ่ ทำชายให้เป็นพาหนะ แล้วเที่ยวไปสู่ทิศน้อยทิศใหญ่ ทำกุมารีให้เป็น พาหนะ แล้วเที่ยวไปสู่ทิศน้อยทิศใหญ่ ทำกุมารให้เป็นพาหนะ แล้วเที่ยวไปสู่ทิศ น้อยทิศใหญ่ บรรดานางบำเรอของพระราชานั้น ก็ขึ้นยานเหล่านั้นตามห้อมล้อมไป ทุกทิศด้วย ยานช้างยานม้า ยานทิพย์ ปราสาทและวอ ก็ปรากฏแก่ท้าวมหาราช ผู้ทรงยศ ฯและท้าวมหาราชนั้น ได้ทรงนิรมิตนครไว้ในอากาศ

คือ อาฏานาฏานคร กุสินาฏานครปรกุสินาฏานคร นาฏปริยานคร ปรกุสิตนาฏานคร ทางทิศอุดรมีกปีวันตนคร และอีกนครหนึ่งชื่อชโนฆะ อีกนครหนึ่งชื่อนวนวติยะ อีกนครหนึ่งชื่อ อัมพรอัมพรวติยะ มีราชธานีนามว่าอาฬกมันทา ข้าแต่พระองค์ ผู้นิรทุกข์ ก็ราชธานีของท้าวกุเวรมหาราช ชื่อวิสาณา ฉะนั้น มหาชนจึงเรียก ท้าวกุเวรมหาราชว่าท้าวเวสวัณยักษ์ชื่อตโตลา ชื่อตัตตลา ชื่อตโตตลา ชื่อโอชสี ชื่อเตชสี  ชื่อตโตชสีชื่อสุระ ชื่อราชา ชื่ออริฏฐะ ชื่อเนมิ ย่อมปรากฏมีหน้าที่ คนละแผนก ในวิสาณาราชธานีนั้น มีห้วงน้ำ ชื่อธรณีเป็นแดนที่เกิดเมฆ เกิดฝนตกในวิสาณาราชธานีนั้นมีสภาชื่อภคลวดี เป็นที่ประชุมของพวกยักษ์

ณ ที่นั้น มีต้นไม้เป็นอันมาก มีผลเป็นนิจ ดารดาษด้วยหมู่นกต่างๆ มีนกยูง นกกะเรียน นกดุเหว่า อันมีเสียงหวาน ประสานเสียง มีนกร้องว่าชีวะชีวะ และบางเหล่ามีเสียง ปลุกใจ มีไก่ป่า มีปู และนกโปกขรสาตกะ อยู่ในสระประทุม ในที่นั้นมีเสียงนกสุกะ และ นกสาลิกา และหมู่นกทัณฑมานวกะ [มีหน้าเหมือนมนุษย์]สระนฬินีของ ท้าวกุเวรนั้นงดงามอยู่ตลอดเวลาทุกเมื่อ ฯ

[๒๑๓] แต่ทิศนี้ไป ทิศที่ชนเรียกกันว่าอุตตรทิศ ที่ท้าวมหาราชผู้ทรงยศ เป็นเจ้า เป็นใหญ่ ของยักษ์ทั้งหลาย ทรงนามว่าท้าวกุเวร อันยักษ์ทั้งหลายแวดล้อมแล้ว ทรงโปรดปรานด้วยการฟ้อนรำ ขับร้อง ทรงอภิบาลอยู่ข้าพเจ้าได้สดับมาว่า โอรสของ ท้าวเธอมีมากองค์ มีพระนามเดียวกัน ทั้งเก้าสิบเอ็ดพระองค์ มีพระนามว่าอินทะทรง พระกำลังมาก ทั้งท้าวกุเวรและโอรสเหล่านั้น ได้เห็นพระพุทธเจ้า ผู้เบิกบานแล้ว ผู้เป็นเผ่าพันธุ์แห่งพระอาทิตย์ พากันถวายบังคมพระพุทธเจ้า ซึ่งเป็นผู้ยิ่งใหญ่ ปราศจากความครั่นคร้ามแต่ที่ไกลว่า พระบุรุษอาชาไนย ข้าพระพุทธเจ้าขอนอบน้อม แด่พระองค์ พระอุดมบุรุษ

ข้าพระพุทธเจ้า ขอนอบน้อมแด่พระองค์ขอพระองค์ ทรงตรวจดูมหาชนด้วยพระญาณ อันฉลาด  แม้พวกอมนุษย์ก็ถวายบังคมพระองค์  ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายได้สดับมา อย่างนั้นเนืองๆ ฉะนั้น  จึงกล่าวเช่นนี้  ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายถามเขาว่าพวกท่าน ถวายบังคมพระชินโคดม หรือ เขาพากันตอบว่าถวายบังคมพระชินโคดม ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ขอถวายบังคมพระพุทธโคดม ผู้ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ ฯ

[๒๑๔] ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ การรักษาอันชื่อว่าอาฏานาฏิยะนี้นั้นแล ย่อมเป็นไป เพื่อคุ้มครอง เพื่อรักษา เพื่อไม่เบียดเบียน เพื่ออยู่สำราญของภิกษุ ภิกษุณีอุบาสก และอุบาสิกาฉะนี้แล ฯ

ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ผู้ใดผู้หนึ่ง จักเรียนการรักษา อันชื่อว่า อาฏานาฏิยะ นี้ให้แม่นยำ ให้บริบูรณ์แล้ว

ถ้า อมนุษย์เป็นยักษ์ก็ตาม ยักษิณีก็ตาม บุตรยักษ์ก็ตาม ธิดายักษ์ก็ตาม ยักษ์มหาอำมาตย์ก็ตาม ยักษ์บริษัทก็ตาม ยักษ์ผู้รับใช้ก็ตาม

เป็นคนธรรพ์ก็ตาม นางคนธรรพ์ก็ตาม บุตรคนธรรพ์ก็ตาม ธิดาคนธรรพ์ก็ตาม คนธรรพ์มหาอำมาตย์ก็ตาม คนธรรพ์บริษัทก็ตาม คนธรรพ์ผู้รับใช้ก็ตาม

เป็นกุมภัณฑ์ก็ตาม นางกุมภัณฑ์ก็ตาม บุตรกุมภัณฑ์ก็ตาม ธิดากุมภัณฑ์ก็ตาม กุมภัณฑ์มหาอำมาตย์ก็ตาม  กุมภัณฑ์บริษัทก็ตาม กุมภัณฑ์ผู้รับใช้ก็ตาม

เป็นนาคก็ตาม นางนาคก็ตาม บุตรนาคก็ตาม ธิดานาคก็ตาม นาคมหาอำมาตย์ก็ตาม นาคบริษัทก็ตาม นาคผู้รับใช้ก็ตาม ซึ่งมีจิตประทุษร้ายพึงเดินตาม ยืนใกล้ นั่งใกล้ นอนใกล้ ภิกษุก็ดี ภิกษุณีก็ดี อุบาสกก็ดี อุบาสิกาก็ดีซึ่งกำลังเดิน ยืน นั่ง นอนอยู่

ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ อมนุษย์นี้ไม่พึงได้สักการะหรือเคารพ ในบ้าน หรือในนิคม ไม่พึงได้เหย้าเรือนหรือที่อยู่ ในราชธานีซึ่งมีนามว่า อาฬกมันทา ไม่พึงได้เข้าสู่ ที่ประชุมของพวกยักษ์ อนึ่ง พวกอมนุษย์ทั้งหลายจะไม่พึงทำอาวาหะ วิวาหะกับมัน พึงบริภาษมัน ด้วยคำบริภาษอย่างเหยียดหยามเต็มที่ พึงคว่ำบาตรเปล่าบนศีรษะมัน หรือพึงทุบศีรษะของมันให้แตกออก ๗ เสี่ยง 

ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ มีอยู่บ้าง ที่พวกอมนุษย์ที่ดุร้าย หยาบช้า กล้าแข็ง มันย่อม ไม่เชื่อถือถ้อยคำของท้าวมหาราช ไม่เชื่อถือถ้อยคำของราชบุรุษผู้ใหญ่ แห่งท้าวมหาราช ไม่เชื่อถือถ้อยคำของราชบุรุษที่เป็นชั้นรองๆ แห่งท้าวมหาราช พวกมันนั้นเรียกได้ว่าเป็นข้าศึกของท้าวมหาราช เปรียบเหมือนพวกโจรในแว่นแคว้น ของพระเจ้ามคธ พวกมันหาได้เชื่อถือถ้อยคำของพระเจ้ามคธไม่ หาเชื่อถือถ้อยคำ ของราชบุรุษผู้ใหญ่แห่งพระเจ้ามคธไม่ หาเชื่อถือถ้อยคำของพวกราชบุรุษ ที่เป็นชั้น รองๆ ของพระเจ้ามคธไม่ มหาโจรเหล่านั้นๆ เรียกได้ว่าเป็นข้าศึกของพระเจ้ามคธ ฉะนั้น   

ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ อมนุษย์ผู้ใดผู้หนึ่งเป็นยักษ์ก็ตาม ยักษิณีก็ตาม บุตรยักษ์ ก็ตาม ธิดายักษ์ก็ตาม ยักษ์มหาอำมาตย์ก็ตาม ยักษ์บริษัทก็ตาม ยักษ์ผู้รับใช้ก็ตาม เป็นคนธรรพ์ก็ตาม

นางคนธรรพ์ก็ตาม บุตรคนธรรพ์ก็ตาม ธิดาคนธรรพ์ก็ตาม คนธรรพ์มหาอำมาตย์ก็ตาม คนธรรพ์บริษัทก็ตาม คนธรรพ์ผู้รับใช้ก็ตาม

เป็นกุมภัณฑ์ก็ตาม นางกุมภัณฑ์ก็ตาม บุตรกุมภัณฑ์ก็ตาม ธิดากุมภัณฑ์ก็ตาม กุมภัณฑ์มหาอำมาตย์ก็ตาม กุมภัณฑ์บริษัทก็ตาม กุมภัณฑ์ผู้รับใช้ก็ตาม

เป็นนาคก็ตาม นางนาคก็ตามบุตรนาคก็ตาม ธิดานาคก็ตามนาคมหาอำมาตย์ก็ตาม นาคบริษัทก็ตาม นาคผู้รับใช้ก็ตาม มีจิตประทุษร้ายพึงเดินตาม ยืนใกล้ นั่งใกล้ นอนใกล้ ภิกษุก็ดี ภิกษุณีก็ดี อุบาสกก็ดี  อุบาสิกาก็ดีซึ่งกำลังเดิน ยืน นั่ง นอนอยู่ อันภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก หรืออุบาสิกานั้น 

พึงยกโทษพึงคร่ำครวญ พึงร้องแก่ยักษ์ มหายักษ์ เสนาบดี มหาเสนาบดีว่า ยักษ์ตนนี้ ย่อมจับ ยักษ์ตน นี้ย่อมสิง ยักษ์ตนนี้ย่อมเบียดเบียน ยักษ์ตนนี้ย่อมบีบคั้น ยักษ์ตนนี้ ย่อมทำให้ลำบาก ยักษ์ตนนี้ย่อมทำให้ยาก ยักษ์ตนนี้ย่อมไม่ปล่อย ดังนี้ ฯ

[๒๑๕] พวกยักษ์ มหายักษ์ เสนาบดี มหาเสนาบดี เป็นไฉน  คือ อินทะ ๑โสมะ ๑ วรุณะ ๑ ภารทวาชะ ๑ ปชาบดี ๑ จันทนะ ๑ กามเสฏฐะ ๑กินนุ ๑ ฆัณฑุ ๑ นิฆัณฑุ ๑ ปนาทะ ๑ โอปมัญญะ ๑ เทวสูตะ ๑มาตลิ ๑ จิตตเสนะ ๑คันธัพพะ ๑ นโฬราชา ๑ ชโนสภะ ๑ สาตาคิระ ๑ เหมวตะ ๑ ปุณณากะ ๑ กรติยะ ๑ คุละ ๑ สิวกะ ๑ มุจจลินทะ๑  เวสสามิตตะ ๑ ยุคันธระ ๑ โคปาละ ๑ สุปปเคธะ ๑ หิริ ๑เนตติ ๑ มันทิยะ ๑ ปัญจาลจันทะ ๑ อาลวกะ ๑ ปชุณณะ ๑ สุมุขะ ๑ทธิมุขะ ๑ มณิ ๑ มานิจระ ๑ ทีฆะ ๑ กับเสริสกะ ๑ ฯ

[๒๑๖] อันภิกษุเป็นต้นนั้น พึงยกโทษ พึงคร่ำครวญ พึงร้องแก่ยักษ์  มหายักษ์ เสนาบดี มหาเสนาบดี เหล่านี้ว่า ยักษ์ตนนี้ย่อมจับ ยักษ์ตนนี้ย่อมสิงยักษ์ตนนี้ ย่อมเบียดเบียนยักษ์ตนนี้ย่อมบีบคั้น ยักษ์ตนนี้ย่อมทำให้ลำบาก ยักษ์ตนนี้ย่อม ทำให้ยาก ยักษ์ตนนี้ย่อมไม่ปล่อย ดังนี้ ฯ

[๒๑๗] ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ การรักษาอันชื่อว่า อาฏานาฏิยะนี้ นั้นแล ย่อมเป็นไป เพื่อความคุ้มครอง เพื่อรักษา เพื่อไม่เบียดเบียน เพื่ออยู่สำราญแห่งภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ทั้งหลาย ฉะนี้ ฯ

ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ และบัดนี้ ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลาย เป็นผู้มีกิจมาก มีกรณีย์มาก ขอทูลลาไป ฯพระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรมหาบพิตร มหาบพิตร จงทรงทราบกาลอันควร ณ บัดนี้เถิด ฯ

[๒๑๘] ลำดับนั้นแล ท้าวมหาราชทั้ง ๔ เสด็จลุกขึ้นจากอาสนะ ถวายบังคมพระผู้มี พระภาคแล้ว ทรงกระทำประทักษิณ แล้วอันตรธานไปในที่นั้นแล ฝ่ายยักษ์เหล่านั้น ก็พากันลุกขึ้นจากอาสนะ บางพวกถวายบังคมพระผู้มีพระภาค กระทำประทักษิณ แล้วอันตรธานไปในที่นั้นเอง บางพวกได้ปราศรัยกับพระผู้มีพระภาค ครั้นผ่าน การปราศรัย พอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว อันตรธานไปในที่นั้นเอง บางพวกประนมอัญชลี ไปทางที่พระผู้มีพระภาคประทับ แล้วอันตรธานไปในที่นั้นเอง บางพวกประกาศนาม และโคตร แล้วอันตรธานไปในที่นั้นเอง บางพวกนิ่งอยู่แล้วอันตรธานไปในที่นั้นเอง ฯ

[๒๑๙] ครั้งนั้นแล พอล่วงราตรีนั้นไปแล้ว พระผู้มีพระภาคจึงตรัสเรียกภิกษุทั้งหลาย มารับสั่งว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในราตรีนี้ ท้าวมหาราชทั้ง ๔  ตั้งการรักษาไว้ทั้ง ๔ ทิศ ตั้งพลขันธ์ไว้ทั้ง ๔ ทิศ ตั้งผู้ตรวจตราไว้ทั้ง ๔ ทิศด้วยเสนายักษ์กองใหญ่ ด้วยเสนา คนธรรพ์กองใหญ่ ด้วยเสนากุมภัณฑ์กองใหญ่ และด้วยเสนานาคกองใหญ่ เมื่อราตรี ล่วงปฐมยามไปแล้ว ได้เปล่งรัศมีงามยิ่ง ยังภูเขาคิชฌกูฏทั้งสิ้นให้สว่างไสว แล้วเข้ามาหาเราถึงที่อยู่ ไหว้เราแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ส่วนยักษ์เหล่านั้น บางพวกไหว้เราแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง บางพวกได้ปราศรัยกับเรา ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง บางพวกประนมอัญชลีมาทางที่เราอยู่ แล้วนั่งณ ที่ควรส่วน ข้างหนึ่ง บางพวกประกาศนามและโคตร แล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง บางพวก นิ่งเฉย แล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ท้าวเวสวัณมหาราช ประทับนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง แล้วได้กล่าวกะเราว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ยักษ์ชั้นสูงบางพวกมิได้เลื่อมใสต่อพระผู้มีพระภาคก็มี ยักษ์ชั้นสูงบางพวกที่เลื่อมใสต่อพระผู้มีพระภาคก็มี ยักษ์ชั้นกลางบางพวกมิได้เลื่อมใสต่อพระผู้มีพระภาคก็มี ยักษ์ชั้นกลางบางพวกที่เลื่อมใสต่อพระผู้มีพระภาคก็มี ยักษ์ชั้นต่ำบางพวกมิได้เลื่อมใสต่อพระผู้มีพระภาคก็มี ยักษ์ชั้นต่ำบางพวกที่เลื่อมใสต่อพระผู้มีพระภาคก็มี พระพุทธเจ้าข้า แต่โดยมากยักษ์ทั้งหลายมิได้เลื่อมใสต่อพระผู้มีพระภาคเลย

ข้อนั้นเพราะเหตุไร

เพราะพระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมเพื่องดเว้นจากปาณาติบาต ทรงแสดงธรรม เพื่องดเว้นจากอทินนาทาน ทรงแสดงธรรมเพื่องดเว้นจากกาเมสุมิจฉาจาร ทรงแสดงธรรม เพื่องดเว้นจากมุสาวาท ทรงแสดงธรรมเพื่องดเว้นจากการดื่มน้ำเมา คือสุราและเมรัย อันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท แต่โดยมากพวกยักษ์ มิได้งดเว้น จากปาณาติบาต มิได้งดเว้นจากอทินนาทาน มิได้งดเว้นจากกาเมสุมิจฉาจาร มิได้งดเว้นจากมุสาวาท มิได้งดเว้นจากการดื่มน้ำเมาคือสุราและเมรัย อันเป็นที่ตั้ง แห่ง ความประมาท ข้อที่พระองค์ให้งดเว้นนั้น จึงไม่เป็นที่รักไม่เป็นที่ชอบใจ ของยักษ์เหล่านั้น ฯ พระพุทธเจ้าข้า

ก็พระสาวกของพระผู้มีพระภาคบางพวก ย่อมเสพ ราวไพรในป่า เสนาสนะอันสงัด มีเสียงน้อย มีเสียงกึกก้องน้อย ปราศจากลมแต่ชนผู้เดินเข้าออก ควรแก่การทำกรรม อันเร้นลับของมนุษย์ ควรแก่การหลีกเร้น ยักษ์ชั้นสูงบางพวกมักอยู่ในป่านั้น พวกใด มิได้ เลื่อมใสในปาพจน์ของพระผู้มีพระภาคนี้ ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงเรียน การรักษาอันชื่อว่า อาฏานาฏิยะ เพื่อให้ยักษ์พวกนั้นเลื่อมใส เพื่อคุ้มครอง เพื่อรักษา เพื่อไม่เบียดเบียน เพื่ออยู่สำราญแห่งภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ทั้งหลายเถิด พระพุทธเจ้าข้า ฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราได้รับอาราธนาโดยดุษณีภาพแล้ว ลำดับนั้นท้าวเวสวัณทราบว่า เรารับแล้ว ได้กล่าวอาฏานาฏิยะรักษานี้ ในเวลานั้น [ความว่า] ฯ

[๒๒๐] ขอนอบน้อมแด่พระวิปัสสีพุทธเจ้า ผู้มีพระจักษุ มีพระสิริ ขอนอบน้อมแด่ พระสิขีพุทธเจ้า ผู้ทรงอนุเคราะห์แก่สัตว์ทั่วหน้า ฯ ล ฯ [บัณฑิตพึงให้พิสดาร เหมือนกับที่มีมาแล้วในก่อน] ฯ ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ การรักษาอันชื่อว่า อาฏานาฏิยะ นี้แล ย่อมเป็นไปเพื่อคุ้มครองเพื่อรักษา เพื่อไม่เบียดเบียน เพื่อความอยู่ สำราญแห่งภิกษุ ภิกษุณีอุบาสก อุบาสิกาทั้งหลาย ฉะนี้ ฯ

ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ และบัดนี้ ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลาย เป็นผู้มีกิจมาก มีกรณีย์มาก ขอทูลลาไป เราได้กล่าวว่า ดูกรมหาบพิตร มหาบพิตรจงทรงทราบกาล อันควร ณ บัดนี้เถิด ฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ลำดับนั้น ท้าวมหาราชทั้ง ๔ เสด็จลุกขึ้นจากอาสนะ ไหว้เรา ทำประทักษิณ แล้วอันตรธานไปในที่นั้นเอง ฝ่ายยักษ์เหล่านั้นก็พากันลุกขึ้น จากอาสนะ บางพวกไหว้เรา ทำประทักษิณ แล้วอันตรธานไปในที่นั้นเอง บางพวกปราศรัยกับเรา ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว อันตรธานไป ในที่นั้นเอง บางพวกประนมอัญชลีมาทางที่เราอยู่ แล้วอันตรธานไปในที่นั้นเอง บางพวกประกาศนามและโคตร แล้วอันตรธานไปในที่นั้นเอง บางพวกนิ่งอยู่แล้ว อันตรธานไปในที่นั้นเอง ฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลาย จงเล่าเรียนการรักษาอันชื่อว่า อาฏานาฏิยะ จงทรงไว้ซึ่งการรักษาอันชื่อว่าอาฏานาฏิยะ การรักษาอันชื่อว่า อาฏานาฏิยะ ประกอบด้วยประโยชน์ ย่อมเป็นไปเพื่อคุ้มครอง เพื่อรักษา เพื่อไม่เบียดเบียน เพื่ออยู่สำราญแห่งภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกาทั้งหลาย ดังนี้ ฯ

พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระพุทธพจน์ นี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นยินดีชื่นชมพระภาษิต ของพระผู้มีพระภาค ดังนี้แล ฯ

จบ อาฏานาฏิยสูตร ที่ ๙



เทียบเคียง กับ ของท่านพุทธทาส ในพุทธประวัติจากพระโอษฐ์
ที่แปลจากบาลี แตท่านคัดมาเฉพาะ ในส่วนที่เป็น พุทธวจนเท่านั้น
ท่านทำเชิงอรรถไว้ตอนท้ายว่า มนต์ต่อนี้ไป ยังมีอีกมาก แต่ไม่แน่ใจว่าเป็นพุทธ ภาษิตแท้ และกลัวว่าจะไม่เป็นประโยชน์ ในการนำมาใส่ไว้ ทั้งหมด

.
พุทธประวัติจากพระโอษฐ์ ภาค ๔ เรื่องเบ็ดเตล็ด ตั้งแต่โปรดปัญจวัคคีย์แล้ว ไปจนถึง จวนจะปรินิพพาน


การมาเฝ้าของจาตุมมหาราช

            ภิกษุ ท. !  เมื่อคืนนี้ มหาราช ๒ ทั้งสี่ พร้อมทั้งเสนายักษ์ เสนาคนธรรพ์ เสนากุมภัณฑ์ และเสนานาค หมู่ใหญ่ ๆ ตั้งการรักษา การคุ้มครอง แวดล้อมไว้ ทั้งสี่ทิศแล้ว, มีวรรณะรุ่งเรืองยิ่ง ส่องเชตวันทั้งสิ้นให้สว่าง ได้เข้ามาหาเราถึงที่อยู่ ในเมื่อราตรีล่วงไปเป็นอันมาก (ดึก) ครั้นเข้ามาหาแล้ว ไหว้และนั่งอยู่ ณ ที่ควร.

ภิกษุ ท. !  ยักษ์ (คือเสนา) เหล่านั้น บางพวกไหว้เรา, บางพวกปราศรัยด้วยคำ น่าบันเทิงใจ จับใจ, บางพวกน้อมอัญชลีมาทางเรา, บางพวกร้องขานชื่อและโคตร ของตน, บางพวกเฉย ๆ, แล้วนั่งในที่ควรส่วนข้างหนึ่งด้วยกันทั้งนั้น.

ภิกษุ ท. !  มหาราชชื่อเวสสวัณ ผู้นั่งแล้วในที่ควร ได้กล่าวคำนี้กะเราว่า :-

“ข้าแต่พระองค์ !  ยักษ์ชั้นสูง ที่ไม่เลื่อมใสในพระผู้มีพระภาคก็มี ที่เลื่อมใสก็มี, ยักษ์ชั้นกลาง ที่ไม่เลื่อมใสในพระผู้มีพระภาคก็มี ที่เลื่อมใสก็มี, ยักษ์ชั้นต่ำ ที่ไม่เลื่อมใสในพระผู้มีพระภาคก็มี ที่เลื่อมใสก็มี, แต่ว่า ยักษ์ส่วนมาก ไม่เลื่อมใสในพระผู้มีพระภาคดอก, พระองค์ผู้เจริญ ! 

เพราะเหตุไรเล่า ?

เพราะเหตุว่า พระผู้มีพระภาคย่อมแสดงธรรม เพื่องดเว้นจากปาณาติบาต, จากอทินนาทาน, จากกาเมสุมิจฉาจาร, จากมุสาวาท, จากการดื่มสุรา เมรัย ; แต่ยักษ์ส่วนมาก ไม่งดเว้นจากปาณาติบาตเสีย เลย, ไม่งดเว้นจากอทินนาทาน, กาเมสุมิจฉาจาร, มุสาวาท และการดื่มสุราเมรัย.

ธรรมเทศนาของพระผู้มีพระภาคเจ้า จึงไม่เป็นที่รัก ที่พอใจแก่ยักษ์ทั้งหลายเหล่า นั้น.
“ข้าแต่พระองค์ !  เหล่าสาวกของพระผู้มีพระภาค ผู้เสพเสนาสนะป่าอันสงัดในราว ป่า อันน้อยเสียง ไม่กึกก้อง ปราศจากเสียงคน เป็นที่เหมาะแก่การลับของมนุษย์ สมควรแก่การหลีกเร้น, ในที่นั้นมียักษ์ชั้นสูงอาศัยอยู่.

พวกใดไม่เลื่อมใสในธรรมวินัยของพระผู้มีพระภาค เพื่อให้พวกนั้นเลื่อมใส, ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงรับ อาฏานาฏิยรักขมนต์ เพื่อการคุ้มครองรักษา การไม่ถูกเบียดเบียน การอยู่เป็นผาสุก แก่ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก และอุบาสิกา ทั้งหลายเถิด

ภิกษุ ท. !  เรารับการขอร้องของท้าวมหาราชด้วยการนิ่ง. ลำดับนั้นท้าวมหาราช ชื่อ เวสสวัณ รู้ความยอมรับของเรา จึงกล่าว อาฏานาฏิยรักขมนต์ ขึ้นในขณะนั้น (เป็นคำกาพย์) ว่า :-

“ขอ นอบ น้อม แด่พระวิปัสสีพุทธะ  ผู้มีจักขุ มีสิริ.
ขอนอบน้อมแด่พระสิขีพุทธะ  ผู้มีความเอ็นดูในสัตว์ทั้งปวง.
ขอนอบน้อมแด่พระเวสสภูพุทธะ  ผู้มีตบะ ผู้สิ้นบาปแล้ว.
ขอนอบน้อมแด่พระกกุสันธพุทธะ  ผู้ย่ำยีมารและเสนา ได้.
ขอนอบน้อมแด่พระโกนาคมนพุทธะ  ผู้ประเสริฐจบพรหมจรรย์.
ขอนอบน้อมแด่พระกัสสปพุทธะ  ผู้พ้นแล้วจากกิเลสทั้งปวง.
ขอนอบน้อมแด่พระอังคีรสพุทธะ ๓  ผู้เป็นสากยบุตร มีสิริ,
ผู้แสดงธรรมอันเป็นเครื่องบรรเทาทุกข์ทั้งปวง นี้. ฯลฯ ๔”.

ในที่สุดท้าวมหาราชกล่าวแก่เราว่า “

พวกข้าพระองค์ ท. จะลาไปบัดนี้พวกข้าพระองค์ มีกิจมาก มีธุระมาก” ดังนี้. เราตอบว่า พวกท่านทั้งหลายย่อมรู้จัก เวลาของกิจใด ๆ ดีแล้ว ดังนี้.

ภิกษุ ท. !  ลำดับนั้น มหาราชทั้งสี่ ลุกจากที่นั่ง อภิวาทเรา ทำประทักษิณแล้ว หายไปในที่นั้น. ยักษ์เหล่านั้น ครั้นลุกจากที่นั่งแล้ว บางพวกอภิวาท ทำประทักษิณ บางพวกกล่าวถ้อยคำบันเทิงใจจับใจ บางพวกทำอัญชลี บางพวกร้องขานชื่อและ โคตร บางพวกเฉย ๆ แล้วหายไปในที่นั้น.

เชิงอรรถ
๑.  ตรัสเล่าแก่ภิกษุทั้งหลายในวันรุ่งขึ้น,  ที่ภูเขาคิชฌกูฏใกล้นครราชคฤห์. บาลี ปา. ที. ๑๑/๒๑๙/๒๑๙.
๒.  ท้าวมหาราช ยักษ์ คนธรรพ์ กุมภัณฑ์ นาค จะเป็นสัตว์ชนิดใด ควรวินิจฉัยดูจากเรื่องนี้ บ้าง.
๓.  คือพระผู้มีพระภาคเจ้าของเราในปัจจุบัน.
๔.  มนต์ต่อนี้ไป ยังมีอีกมาก แต่ไม่แน่ใจว่าเป็นพุทธภาษิตแท้ และกลัวว่าจะไม่เป็น ประโยชน์ ในการนำมาใส่ไว้ ทั้งหมด ผู้ปรารถนา พึงเปิดดูใน อาฏานาฏิยสูตร เถิด.


 

 

 
พุทธวจน : อ่านคำสอนพระศาสดา อ่านแบบสบายตา โดยคัดลอกหนังสือทั้งเล่มมาจัดทำเป็นเว็บเพจ (คลิกอ่านพร้อมดาวน์โหลดไฟล์ pdf)
90 90 90 90  
 
พุทธประวัติ ขุมทรัพย์
อริยสัจ
ภาคต้น
อริยสัจ
ภาคปลาย
ปฏิจจ ปฐมธรรม ตถาคต อนาคามี อินทรีย์
สังวร
สัตว์
สัตตานัง
ทาน
สกทาคามี
ฆราวาส
ชั้นเลิศ
มรรควิธี
ที่ง่าย
 
   
อริยวินัย เดรัจฉานวิชา กรรม สมถะ
วิปัสสนา
โสดาบัน อานา
ปานสติ
จิต มโน
วิญญาณ
ก้าวย่าง
อย่างพุทธะ
ตามรอย
ธรรม
ภพ ภูมิ
พุทธวจน
สาธยาย
ธรรม
สังโยชน์