เว็บไซต์ อนาคามี เผยแพร่ พุทธวจน คำสอนของพระศาสดา คำสอนตถาคต รวมพระสูตรสำคัญ อนาคามี เว็บไซต์เผยแพร่คำสอนของพระพุทธเจ้า
 
ค้นหาคำที่ต้องการ          

 
  ทรงเปล่งอุทานคาถา เมื่อแรกตรัสรู้ 1022
 
   
   เรื่องสำคัญของพระพุทธเจ้า
   การบำเพ็ญบารมีในอดีตชาติ
   การประสูติ แสงสว่าง แผ่นดินไหว
   แสวงหาสัจจะ บำเพ็ญทุกรกิริยา
   ปัญจวัคคีย์หลีก สิ่งที่ตรัสรู้
   ตรัสรู้ แสดงเทศนาปัญจวัคคีย์
   ปลงสังขาร ปรินิพพาน
   ลำดับขั้นการปรินิพพาน
   เทวดาแสดงฤทธิ์ขณะถวายเพลิง
   แบ่งพระสรีระออกเป็น ๘ ส่วน
 
 

 

ฉบับหลวง เล่มที่ ๔ วินัยปิฎก มหาวรรค ภาค ๑ หน้าที่ ๒

ทรงเปล่งอุทานคาถา เมื่อแรกตรัสรู้


(โดยสมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้า แรกตรัสรู้ ประทับอยู่ ณ ควงไม้โพธิพฤกษ์ (ต้นที่๑) ใกล้ฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ในอุรุเวลาประเทศ. ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับ นั่งด้วย บัลลังก์เดียวเสวยวิมุตติสุข ณ ควงไม้โพธิพฤกษ์ตลอด ๗ วัน และทรง มนสิการ ปฏิจจสมุปบาทเป็นอนุโลมและปฏิโลม ตลอดปฐมยามแห่งราตรี...

ขณะพระองค์กำลังพิจารณา ปฏิจ สายเกิด-สายดับ เพราะชาติดับ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส จึงดับเป็นอันว่ากองทุกข์ทั้งมวลนั่นย่อมดับ ด้วย ประการฉะนี้. ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงทรงเปล่งอุทาน นี้ในเวลานั้น)

พุทธอุทานคาถาที่ ๑
เมื่อใดแล ธรรมทั้งหลาย ปรากฏแก่พราหมณ์
ผู้มีเพียรเพ่งอยู่ เมื่อนั้น ความสงสัยทั้งปวง
ของพราหมณ์นั้นย่อมสิ้นไป
เพราะมารู้ธรรมพร้อมทั้งเหตุ.
(รู้เหตุเกิด)

พุทธอุทานคาถาที่ ๒
เมื่อใดแล ธรรมทั้งหลาย ปรากฏแก่พราหมณ์
ผู้มีเพียรเพ่งอยู่ เมื่อนั้น ความสงสัยทั้งปวง
ของพราหมณ์นั้นย่อมสิ้นไป
เพราะได้รู้ความสิ้นแห่งปัจจัยทั้งหลาย.
(รู้เหตุดับ)

พุทธอุทานคาถาที่ ๓
เมื่อใดแล ธรรมทั้งหลาย ปรากฏแก่พราหมณ์
ผู้มีเพียรเพ่งอยู่ เมื่อนั้น พราหมณ์นั้น ย่อม
กำจัดมารและเสนาเสียได้ ดุจพระอาทิตย์อุทัย
ทำอากาศให้สว่าง ฉะนั้น.
(รู้แจ้ง)

----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

ครั้นล่วง ๗ วัน พระผู้มีพระภาคทรงออกจากสมาธินั้น เสด็จจากควงไม้โพธิพฤกษ์ เข้าไปยัง ต้นไม้อชปาลนิโครธ(ต้นที่๒) แล้วประทับนั่ง ด้วย บัลลังก์เดียว เสวยวิมุตติสุข ณ ควงไม้อชปาลนิโครธ ตลอด ๗ วัน ครั้งนั้น พราหมณ์ หุหุกชาติ คนหนึ่ง ได้ไปในพุทธสำนัก.. ได้ทูลคำนี้ แด่ผู้มีพระภาคว่า ท่านพระโคดม บุคคลชื่อว่าเป็นพราหมณ์ ด้วยเหตุเพียงเท่าไรหนอ ก็แลธรรมเหล่าไหน ทำบุคคลให้ เป็นพราหมณ์?
            ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้ ในเวลานั้นว่าดังนี้:-

พุทธอุทานคาถา
พราหมณ์ใดมีบาปธรรมอันลอยเสียแล้ว ไม่
ตวาดผู้อื่นว่า หึ หึ ไม่มีกิเลสดุจน้ำฝาด มีตน
สำรวมแล้ว ถึงที่สุดแห่งเวท มีพรหมจรรย์
อยู่จบแล้ว พราหมณ์นั้นไม่มีกิเลสเครื่องฟูขึ้น
ในอารมณ์ไหนๆ  ในโลก ควรกล่าวถ้อยคำว่า
ตนเป็นพราหมณ์โดยธรรม.


----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

ครั้นล่วง ๗ วัน พระผู้มีพระภาคทรงออกจากสมาธินั้น เสด็จจากควงไม้อชปาลนิโครธเข้าไปยัง ต้นไม้มุจจลินท์ (ต้นที่๓) แล้วประทับนั่ง ด้วยบัลลังก์ เดียว เสวยวิมุตติสุข ณ ควงไม้มุจจลินท์ตลอด ๗ วัน.

            ครั้งนั้น เมฆใหญ่ในสมัยมิใช่ฤดูกาลตั้งขึ้นแล้ว ฝนตกพรำเจือด้วยลมหนาว ตลอด ๗ วัน. ครั้งนั้น มุจจลินทนาคราช ออกจากที่อยู่ของตน ได้แวดวงพระกาย พระผู้มีพระภาค ด้วยขนด ๗ รอบ ได้แผ่ พังพานใหญ่ เหนือพระเศียรสถิตอยู่ด้วย หวังใจว่า ความหนาว ความร้อนอย่าเบียดเบียนพระผู้มีพระภาค สัมผัสแห่งเหลือบ ยุง ลม แดด และสัตว์เลื้อยคลาน อย่าเบียดเบียนพระผู้มีพระภาค.

           ครั้นล่วง ๗ วัน มุจจลินทนาคราชรู้ว่า อากาศปลอดโปร่งปราศจากฝนแล้ว จึงคลายขนด จากพระกายของพระผู้มีพระภาค จำแลงรูปของตน เป็นเพศมาณพ ได้ยืนประคองอัญชลีถวาย มนัสการ พระผู้มีพระภาค ทางเบื้องพระพักตร์พระผู้มี พระภาค.

            ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้ ในเวลานั้นว่า ดังนี้:-

พุทธอุทานคาถา
ความสงัดเป็นสุขของบุคคลผู้สันโดษ มีธรรม
ปรากฏแล้ว เห็นอยู่ ความไม่พยาบาท คือความ
สำรวมในสัตว์ทั้งหลาย เป็นสุขในโลก ความ
ปราศจากกำหนัด คือความล่วงกามทั้งหลาย
เสียได้ เป็นสุขในโลก การกำจัดอัสมิมานะ
เสียได้นั่นแล เป็นสุขอย่างยิ่ง.


----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

ครั้นล่วง ๗ วัน พระผู้มีพระภาคทรงออกจากสมาธินั้น แล้วเสด็จจากควงไม้มุจจลินท์ เข้าไปยัง ต้นไม้ราชายตนะ (ต้นที่๔ )แล้วประทับนั่งด้วยบัลลังก์เดียว เสวย วิมุตติสุข ณควงไม้ราชายตนะ ตลอด ๗ วัน.

            ก็สมัยนั้น พ่อค้าชื่อตปุสสะ ๑ ภัลลิกะ ๑ เดินทางไกลจากอุกกลชนบท ถึงตำบลนั้น. ครั้งนั้น เป็นเทพยดาผู้เป็นญาติสาโลหิตของตปุสสะ ภัลลิกะ ๒ พ่อค้า ได้กล่าวคำนี้กะ ๒ พ่อค้านั้นว่า ดูกรท่านผู้นิรทุกข์ พระผู้มีพระภาคพระองค์นี้แรกตรัสรู้ ประทับอยู่ ณ ควงไม้ ราชายตนะ ท่านทั้งสองจงไปบูชาพระผู้มีพระภาคนั้น ด้วย สัตตุผง และ สัตตุก้อน การบูชาของ ท่านทั้งสองนั้น จักเป็นไปเพื่อประโยชน์และ ความสุข แก่ท่านทั้งหลาย ตลอดกาลนาน.

            ครั้งนั้น พ่อค้าชื่อตปุสสะ และภัลลิกะ ถือสัตตุผงและสัตตุก้อนเข้าไปเฝ้า พระผู้มี พระภาค แล้วถวายบังคม ได้ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง. สองพ่อค้านั้น ยืนอยู่ ณ ที่ควร ส่วนข้างหนึ่งแล้ว ครั้นแล้วได้ทูลคำนี้แด่พระผู้มีพระภาคว่า พระพุทธเจ้าข้า ขอพระผู้มีพระภาค จงทรงรับสัตตุผงสัตตุก้อนของข้า พระพุทธเจ้า ทั้งสอง ซึ่งจะเป็นไปเพื่อประโยชน์เพื่อความสุข แก่ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ตลอดกาลนาน.

            ขณะนั้น พระผู้มีพระภาคได้ทรงปริวิตกว่า พระตถาคตทั้งหลาย ไม่รับวัตถุ ด้วยมือ เราจะพึงรับสัตตุผง และสัตตุก้อนด้วยอะไรหนอ

            ลำดับนั้น ท้าวมหาราชทั้ง ๔ องค์ทรงทราบพระปริวิตกแห่งจิตของ พระผู้มีพระภาค ด้วยใจของตนแล้ว เสด็จมาจาก ๔ ทิศ ทรงนำบาตรที่สำเร็จด้วยศิลา ๔ ใบเข้าไปถวายพระผู้มี พระภาคกราบทูลว่า ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงรับสัตตุผง และสัตตุก้อนด้วยบาตรนี้ พระพุทธเจ้าข้า.

            พระผู้มีพระภาคทรงใช้บาตรสำเร็จด้วยศิลาอันใหม่เอี่ยม รับสัตตุผงและ สัตตุก้อนแล้วเสวย.

            ครั้งนั้น พ่อค้าตปุสสะและภัลลิกะ ได้ทูลคำนี้แด่พระผู้มีพระภาคว่า พระพุทธเจ้าข้า ข้าพระพุทธเจ้าทั้งสองนี้ ขอถึงพระผู้มีพระภาคและพระธรรมว่าเป็น สรณะ ขอพระผู้มีพระภาค จงทรงจำข้าพระพุทธเจ้าทั้งสองว่าเป็นอุบาสก ผู้มอบชีวิต ถึงสรณะ จำเดิมแต่วันนี้เป็นต้นไป.

            ก็นายพาณิชสองคนนั้น ได้เป็นอุบาสกกล่าวอ้าง ๒ รัตนะ เป็นชุดแรก ในโลก.

----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

            [๗] ครั้นล่วง ๗ วัน พระผู้มีพระภาคทรงออกจากสมาธินั้นแล้ว เสด็จจาก ควงไม้ราชายตนะ เข้าไปยัง ต้นไม้อชปาลนิโครธ(ต้นที่๕). ทราบว่าพระองค์ประทับ อยู่ ณ ควงไม้ อชปาลนิโครธ นั้น และพระองค์เสด็จไปในที่สงัด หลีกเร้นอยู่ ได้มีพระปริวิตก แห่งจิตเกิดขึ้น อย่างนี้ว่า ธรรมที่เราได้บรรลุแล้วนี้ เป็นคุณอันลึก เห็นได้ยาก รู้ตามได้ยาก เป็นธรรมสงบ ประณีต ไม่หยั่ง ลงสู่ความตรึก ละเอียด เป็นวิสัยที่บัณฑิตจะพึงรู้แจ้ง ส่วนหมู่สัตว์นี้เริงรมย์ด้วยอาลัย ยินดีใน อาลัย ชื่นชม ในอาลัย ฐานะคือความที่อวิชชาเป็นปัจจัยแห่งสังขารเป็นต้นนี้ เป็นสภาพอาศัย ปัจจัยเกิดขึ้นนี้ อันหมู่สัตว์ผู้เริงรมย์ด้วยอาลัย ยินดีในอาลัย ชื่นชมในอาลัย เห็นได้ยาก แม้ฐานะ คือธรรมเป็นที่ระงับสังขารทั้งปวง เป็นที่สละคืนอุปธิทั้งปวง เป็นที่สิ้นตัณหา เป็นที่สิ้นกำหนัด เป็นที่ดับสนิท หากิเลสเครื่องร้อยรัดมิได้นี้ ก็แสนยากที่จะเห็นได้ ก็ถ้าเราจะพึงแสดงธรรม สัตว์เหล่าอื่นก็จะไม่พึงรู้ทั่วถึง ธรรมของเรา ข้อนั้น จะพึงเป็นความเหน็ดเหนื่อยเปล่าแก่เรา จะพึงเป็นความลำบาก เปล่าแก่เรา.

            อนึ่ง อนัจฉริยคาถาเหล่านี้ ที่ไม่เคยได้สดับในกาลก่อน ปรากฏแก่ พระผู้มีพระภาค ว่า ดังนี้:-

อนัจฉริยคาถา
บัดนี้ เรายังไม่ควรจะประกาศธรรมที่เราได้บรรลุแล้ว
โดยยาก เพราะธรรมนี้อันสัตว์ผู้อันราคะและโทสะ
ครอบงำแล้วไม่ตรัสรู้ได้ง่าย สัตว์ผู้อันราคะย้อมแล้ว
ถูกกองอวิชชาหุ้มห่อแล้ว จักไม่เห็นธรรมอันละเอียด
ลึกซึ้ง ยากที่จะเห็น ละเอียดยิ่ง อันจะยังสัตว์
ให้ถึงธรรมที่ทวนกระแสคือนิพพาน.


            เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงพิจารณาเห็นอยู่ ดังนี้ พระทัยก็น้อมไปเพื่อความ ขวนขวายน้อย ไม่น้อมไปเพื่อทรงแสดงธรรม.

----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

ครั้งนั้น ท้าวสหัมบดีพรหมทราบพระปริวิตกแห่งจิต ของพระผู้มีพระภาคด้วยใจ ของตนแล้วเกิดความปริวิตกว่า ชาวเราผู้เจริญ โลกจัก ฉิบหายหนอ โลกจักวินาศหนอ เพราะพระตถาคต อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงน้อม พระทัยไปเพื่อความขวนขวายน้อย ไม่ทรงน้อมพระทัยไป เพื่อทรงแสดงธรรม.

            ลำดับนั้น ท้าวสหัมบดีพรหมได้หายไปในพรหมโลก มาปรากฏ ณ เบื้องพระพักตร์ ของพระผู้มีพระภาค ดุจบุรุษมีกำลังเหยียดแขนที่คู้หรือคู้แขน ที่เหยียดฉะนั้น ครั้นแล้วห่มผ้า อุตราสงค์เฉวียงบ่า คุกชาณุมณฑลเบื้องขวาลงบน แผ่นดิน ประณมอัญชลีไปทางพระผู้มีพระภาค แล้ว ได้ทูลคำนี้แด่พระผู้มีพระภาคว่า พระพุทธเจ้าข้า ขอพระผู้มีพระภาคได้โปรดทรงแสดงธรรม ขอพระสุคตได้โปรด ทรงแสดงธรรม เพราะสัตว์ทั้งหลายจำพวกที่มีธุลีในจักษุน้อยมีอยู่ เพราะไม่ได้ ฟังธรรม ย่อมเสื่อม ผู้รู้ทั่วถึงธรรมจักมี.

ท้าวสหัมบดีพรหมได้กราบทูลดังนี้แล้ว จึงกราบทูลเป็นประพันธคาถาต่อไปว่า
เมื่อก่อนธรรมไม่บริสุทธิ์อันคนมีมลทินทั้งหลาย
คิดแล้วได้ปรากฏในมคธชนบท ขอพระองค์ได้
โปรดทรงเปิดประตูแห่งอมตธรรมนี้ ขอสัตว์ทั้ง
หลายจงฟังธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้หมด
มลทินตรัสรู้แล้วตามลำดับ เปรียบเหมือนบุรุษ
มีจักษุยืนอยู่บนยอดภูเขา ซึ่งล้วนแล้วด้วยศิลา
พึงเห็นชุมชนได้โดยรอบฉันใด ข้าแต่พระองค์ผู้มี
ปัญญาดี มีพระปัญญาจักษุรอบคอบ ขอพระองค์
ผู้ปราศจากความโศกจงเสด็จขึ้นสู่ปราสาท อัน
สำเร็จด้วยธรรม แล้วทรงพิจารณาชุมชน ผู้
เกลื่อนกล่นด้วยความโศก ผู้อันชาติและชรา
ครอบงำแล้ว มีอุปมัยฉันนั้นเถิด ข้าแต่
พระองค์ผู้มีความเพียร ทรงชนะสงคราม ผู้นำหมู่
หาหนี้มิได้ ขอพระองค์จงทรงอุตสาหะเที่ยวไป
ในโลกเถิด ขอพระผู้มีพระภาคโปรดแสดงธรรม
เพราะสัตว์รู้ทั่วถึงธรรมจักมี.


----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

ทรงพิจารณาสัตวโลกเปรียบด้วยดอกบัว ๓ เหล่า

            [๙] ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาค ทรงกราบคำทูลอาราธนาของพรหม และ ทรงอาศัย ความกรุณาในหมู่สัตว์ จึงทรงตรวจดูสัตวโลกด้วยพุทธจักษุ เมื่อตรวจดู สัตว์โลกด้วยพุทธจักษุ ได้ทรงเห็นสัตว์ทั้งหลายที่มีธุลีคือกิเลสในจักษุน้อยก็มี ที่มีธุลีคือกิเลสในจักษุมากก็มี ที่มีอินทรีย์ แก่กล้าก็มี ที่มีอินทรีย์อ่อนก็มี ที่มีอาการดี ก็มี ที่มีอาการทรามก็มี ที่จะสอนให้รู้ได้ง่ายก็มีที่จะสอน ให้รู้ได้ยากก็มี ที่มีปกติเห็นปรโลก และโทษโดยความเป็นภัยอยู่ก็มี.

            มีอุปมาเหมือน ดอกอุบลในกออุบล ดอกปทุมในกอปทุม หรือ ดอก บุณฑริก ในกอบุณฑริก ที่เกิดแล้วในน้ำ เจริญแล้วในน้ำ งอกงามแล้วในน้ำ บางเหล่ายังจมในน้ำ อันน้ำเลี้ยงไว้บางเหล่าตั้งอยู่เสมอน้ำ บางเหล่าตั้งอยู่พ้นน้ำ อันน้ำไม่ติดแล้ว.

            พระผู้มีพระภาค ทรงตรวจดูสัตวโลกด้วยพุทธจักษุ ได้ทรงเห็นสัตว์ ทั้งหลาย บางพวกมีธุลีคือกิเลสในจักษุน้อย บางพวกมีธุลีคือกิเลสในจักษุมาก บางพวกมีอินทรีย์แก่กล้า บางพวกมีอินทรีย์อ่อน บางพวกมีอาการดี บางพวกมีอาการ ทราม บางพวกสอนให้รู้ได้ง่าย บางพวกสอนให้รู้ได้ยาก บางพวกมีปกติเห็นปรโลก และโทษโดยความเป็นภัยอยู่ ฉันนั้น เหมือนกัน

ครั้นแล้วได้ตรัสคาถาตอบท้าวสหัมบดีพรหมว่า ดังนี้:-
เราเปิดประตูอมตะแก่ท่านแล้ว สัตว์เหล่าใดจะฟัง
จงปล่อยศรัทธามาเถิด ดูกรพรหม เพราะเรา
มีความสำคัญในความลำบาก จึงไม่แสดงธรรม
ที่เราคล่องแคล่ว ประณีต ในหมู่มนุษย์.


            ครั้นท้าวสหัมบดีพรหมทราบว่า พระผู้มีพระภาคทรงประทานโอกาสเพื่อจะ แสดงธรรม แล้ว จึงถวายบังคมพระผู้มีพระภาคทำประทักษิณแล้ว อันตรธานไป ในที่นั้นแล.

 
พุทธวจน : อ่านคำสอนพระศาสดา อ่านแบบสบายตา โดยคัดลอกหนังสือทั้งเล่มมาจัดทำเป็นเว็บเพจ (คลิกอ่านพร้อมดาวน์โหลดไฟล์ pdf)
90 90 90 90  
 
พุทธประวัติ ขุมทรัพย์
อริยสัจ
ภาคต้น
อริยสัจ
ภาคปลาย
ปฏิจจ ปฐมธรรม ตถาคต อนาคามี อินทรีย์
สังวร
สัตว์
สัตตานัง
ทาน
สกทาคามี
ฆราวาส
ชั้นเลิศ
มรรควิธี
ที่ง่าย
 
   
อริยวินัย เดรัจฉานวิชา กรรม สมถะ
วิปัสสนา
โสดาบัน อานา
ปานสติ
จิต มโน
วิญญาณ
ก้าวย่าง
อย่างพุทธะ
ตามรอย
ธรรม
ภพ ภูมิ
พุทธวจน
สาธยาย
ธรรม
สังโยชน์