เว็บไซต์ อนาคามี เผยแพร่ พุทธวจน คำสอนของพระศาสดา คำสอนตถาคต รวมพระสูตรสำคัญ อนาคามี เว็บไซต์เผยแพร่คำสอนของพระพุทธเจ้า
 
ค้นหาคำที่ต้องการ          

 
  ผู้ไม่ประมาทในชีวิต (หลายพระสูตร) 1007
 
 
ผู้ไม่ประมาทในชีวิต (หลายพระสูตร)
1 วันคืนล่วงไปๆ บัดนี้เราทำอะไรอยู่
2 สังขารมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา จงยังความไม่ประมาทเถิด
3 เป็นผู้มีปกติ อยู่ด้วยความไม่ประมาท เป็นอย่างไร
4 กุศลธรรมทั้งหลาย มีความไม่ประมาทเป็นมูล
5 บุคคลผู้ไม่ประมาท ย่อมทำให้กุศลธรรมที่ยังไม่เกิด ย่อมเกิดขี้น
6 ผู้ยินดีในความไม่ประมาท ชื่อว่าประพฤติใกล้นิพพานทีเดียว
7 จงเป็นผู้ไม่ประมาท มีสติ ศีล มีความดำริอันตั้งไว้ด้วยดี
8 ผู้อยู่ด้วยปกติ ไม่ประมาท จิตไม่เกลือกกลั้วในอายตนะทั้ง๖
9 ควรทำความไม่ประมาทโดยฐานะ ๔ ประการ (อัปปมาทสูตร)
10 ผู้สำรวมอินทรีย์ ย่อมชื่อว่าเป็นผู้ไม่ประมาท
11 ผู้คุมครองทวารอินทรีย์ คือผู้ไม่ประมาท
12 พึงกระทำความไม่ประมาท คือ มีสติ (อารักขสูตร)
13 ความไม่ประมาท คือธรรมที่เจริญแล้วได้ประโยชน์ทั้งปัจจุบันและสัมปรายภพ
14 คาถาธรรมบท ๑๗ ข้อ ในความไม่ประมาท
15 ความตายรออยู่เบื้องหน้า อย่าพึงประมาท
16 ความไม่ประมาทเลิศกว่ากุศลธรรม
17 กุศลธรรมทั้งปวงมีความไม่ประมาทเป็นมูล
18 ไม่ควรคำนึงถึงอดีตและอนาคต ให้เอาจิตอยู่กับปัจจุบัน

19 อริยสาวกผู้เป็นผู้อยู่ด้วยความไม่ประมาทอย่างไร

 
   เรื่องสำคัญของพระพุทธเจ้า
   การบำเพ็ญบารมีในอดีตชาติ
   การประสูติ แสงสว่าง แผ่นดินไหว
   แสวงหาสัจจะ บำเพ็ญทุกรกิริยา
   ปัญจวัคคีย์หลีก สิ่งที่ตรัสรู้
   ตรัสรู้ แสดงเทศนาปัญจวัคคีย์
   ปลงสังขาร ปรินิพพาน
   ลำดับขั้นการปรินิพพาน
   เทวดาแสดงฤทธิ์ขณะถวายเพลิง
   แบ่งพระสรีระออกเป็น ๘ ส่วน
 
 


ผู้ไม่ประมาทในชีวิต (หลายพระสูตร)

1
วันคืนล่วงไปๆ
"... พึงพิจารณา เนืองๆ ว่า
วันคืนล่วงไปๆ บัดนี้เราทำอะไรอยู่..."

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๑๐ ประการนี้ อันบรรพชิตพึงพิจารณาเนืองๆเป็นไฉน
๑) ว่า เราเป็นผู้มีเพศต่างจากคฤหัสถ์
๒) ว่า การเลี้ยงชีพ ของเราเนื่องด้วยผู้อื่น
๓) ว่า อากัปกิริยาอย่างอื่น อันเราควรทำมีอยู่
๔) ว่า เราย่อมติเตียนตนเองได้ โดยศีลหรือไม่
๕) ว่า เพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลาย พิจารณาแล้ว ติเตียนเราได้โดยศีลหรือไม่
๖) ว่า เราจะต้องพลัดพรากจากของรักของชอบใจทั้งสิ้น
๗) ว่า เราเป็นผู้มีกรรมเป็นของตน เป็นทายาทของกรรม
มีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย เราจักทำกรรมใด
ดีหรือชั่วก็ตาม เราจักต้องเป็นผู้รับผลของกรรมนั้น
๘) ว่า วันคืนล่วงไปๆ บัดนี้เราทำอะไรอยู่
๙) ว่า เราย่อมยินดีในเรือนว่างเปล่าหรือไม่
๑๐) ว่า ญาณทัสนะวิเศษอันสามารถกำจัดกิเลส เป็นอริยะ คือ อุตริมนุสธรรม อันเราได้บรรลุแล้วมีอยู่หรือหนอ ที่เป็นเหตุให้เราผู้อัน เพื่อนพรหมจรรย์ถามแล้ว จักไม่เป็นผู้เก้อเขินในกาลภายหลัง

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๑๐ ประการ นี้แล อันบรรพชิตพึงพิจารณาเนืองๆ

อภิณหปัจจเวกขณธรรมสูตร
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------

2
สังขารมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา จงยังความไม่ประมาทเถิด

"...เราขอเตือนพวกเธอว่า สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา พวกเธอจงยัง ความ ไม่ประมาท ให้ถึงพร้อมเถิด นี้เป็นพระปัจฉิมวาจาของ พระตถาคต..."
พระไตรปิฎก เล่ม ๑๐ ข้อ ๑๔๓

ดูกรภิกษุทั้งหลาย  บัดนี้เราขอเตือนพวกเธอ สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมเป็นธรรมดา พวกเธอจงยัง ความไม่ประมาทให้ถึงพร้อม ความปรินิพพานแห่งตถาคต จักมีในไม่ช้า โดย ล่วงไปอีกสามเดือนแต่นี้ ตถาคตก็จักปรินิพพาน ฯ
(ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๐ สุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค หน้า ๑๐๐)

-------------------------------------------------------------------------------------------------------------

3
เป็นผู้มีปกติ อยู่ด้วยความไม่ประมาท เป็นอย่างไร

"...ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุเป็นผู้มีปกติ อยู่ด้วยความไม่ประมาท เป็นอย่างไรเล่า ?

ภิกษุทั้งหลาย ! เมื่อภิกษุสำรวมระวัง ซึ่งอินทรีย์ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจอยู่
จิตย่อมไม่เกลือกกลั้ว ในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์ทั้งหลาย
อันเป็นวิสัยแห่งการรู้สึกด้วย(อินทรีย์ ๖)

เมื่อภิกษุนั้นไม่มีจิตเกลือกกลั้วแล้ว ปราโมทย์...ปีติ...ปัสสัทธิ...อยู่เป็นสุข...
จิตย่อมตั้งมั่น...ธรรมทั้งหลายย่อมปรากฏ เพราะธรรมทั้งหลายย่อมปรากฏ ภิกษุนั้น
ย่อมถึงซึ่งการถูกนับว่า เป็นผู้มีปกติอยู่ด้วยความไม่ประมาท โดยแท้..."
พระไตรปิฎก เล่ม ๑๘ ข้อ ๑๔๓
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------

4
กุศลธรรมทั้งหลาย มีความไม่ประมาทเป็นมูล

"...ภิกษุ ท. ! กุศลธรรมเหล่าใดเหล่าหนึ่ง บรรดามีกุศลธรรมทั้งหลายทั้งปวงนั้น
มีความไม่ประมาทเป็นมูล มีความไม่ประมาทเป็นที่ประชุมลง.

ความไม่ประมาท ย่อมปรากฏว่า เป็นเลิศกว่าบรรดากุศลธรรมเหล่านั้น ฉันใดก็ฉันนั้น.

ภิกษุ ท. ! ข้อนี้ เป็นสิ่งที่ภิกษุผู้ไม่ประมาท พึงหวังได้ คือ เธอจักเจริญกระทำให้มาก
ซึ่งอริยอัฏฐังคิกมรรค..."
พระไตรปิฎก เล่ม ๑๙ ข้อ ๒๔๕
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------

5
บุคคลผู้ไม่ประมาท ย่อมทำให้กุศลธรรมที่ยังไม่เกิด ย่อมเกิดขี้น

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราย่อมไม่เล็งเห็นธรรมอื่นแม้อย่างหนึ่ง ที่เป็นเหตุให้กุศลธรรม ที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้น หรืออกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว เสื่อมไปเหมือนความไม่ประมาท ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อบุคคลไม่ประมาทแล้ว กุศลธรรมที่ยังไม่เกิด ย่อมเกิดขึ้น และ อกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมเสื่อมไป ฯ

ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๐ สุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอก-ทุก-ติกนิบาต หน้าที่ ๙

-------------------------------------------------------------------------------------------------------------

6
ผู้ยินดีในความไม่ประมาท ชื่อว่าประพฤติใกล้นิพพานทีเดียว

ภิกษุผู้ดำรงอยู่ในศีล สำรวมในอินทรีย์ทั้งหลาย รู้ประมาณในโภชนะ และย่อมประกอบ เนืองๆ ซึ่งความเพียรเครื่องตื่น อยู่ ภิกษุผู้มีปรกติพากเพียรอยู่อย่างนี้ ไม่เกียจคร้าน ตลอดวันและคืน บำเพ็ญกุศลธรรมเพื่อถึงความเกษมจากโยคะ ภิกษุผู้ยินดีในความ ไม่ประมาท หรือมีปรกติเห็นภัยในความ ประมาทเป็นผู้ไม่ควรเพื่อความเสื่อม ชื่อว่าประพฤติใกล้ นิพพานทีเดียว

ฉบับหลวง  เล่มที่ ๒๑ สุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต  หน้าที่ ๔๐
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------

7
จงเป็นผู้ไม่ประมาท มีสติ ศีล มีความดำริอันตั้งไว้ด้วยดี

ภิกษุทั้งหลาย ! พวกเธอจงเป็นผู้ไม่ประมาท มีสติ ศีลเป็นอย่างดี มีความดำริอันตั้งไว้แล้วด้วยดี ตามรักษาซึ่งจิต ในธรรมวินัยนี้ ภิกษุใดเป็นผู้ไม่ประมาทแล้ว จักละชาติสงสาร ทำที่สุดแห่งทุกข์ได้
- มหา. ที. ๑๐/๑๔๑/๑๐๘.
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------

8
ผู้อยู่ด้วยปกติ ไม่ประมาท เป็นอย่างไร
(จิตไม่เกลือกกลั้วในอายตนะทั้ง๖)

ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุเป็นผู้มีปกติอยู่ด้วยความไม่ประมาท เป็นอย่างไรเล่า ?
ภิกษุทั้งหลาย ! เมื่อภิกษุสำรวมระวัง ซึ่งอินทรีย์คือตาอยู่ จิตย่อมไม่เกลือกกลั้ว ในรูปทั้งหลาย อันเป็นวิสัยแห่งการรู้สึกด้วยตา เมื่อภิกษุนั้น ไม่มีจิตเกลือกกลั้วแล้ว ปราโมทย์ ย่อมเกิด

เมื่อปราโมทย์ แล้ว ปีติ ย่อมเกิด
เมื่อใจมี ปีติ ปัสสัทธิ(ความสงบจากกิเลส) ย่อมมี
เมื่อมีปัสสัทธิ ภิกษุนั้น ย่อมอยู่เป็นสุข
เมื่อมีสุข จิตย่อมตั้งมั่น
เมื่อจิตตั้งมั่น แล้ว ธรรมทั้งหลายย่อมปรากฏ
เพราะธรรมทั้งหลายย่อมปรากฏ ภิกษุนั้น ย่อมถึงซึ่งการถูกนับว่า เป็นผู้มีปกติอยู่ด้วยความไม่ประมาท โดยแท้.
(ในกรณีแห่งอินทรีย์ คือ หู จมูก ลิ้น กาย และใจ ก็ทรงตรัสนัยยะเดียวกัน)

ภิกษุทั้งหลาย ! อย่างนี้แล ภิกษุเป็นผู้มีปกติอยู่ด้วยความไม่ประมาท.
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------

9
ควรทำความไม่ประมาทโดยฐานะ ๔ ประการ (อัปปมาทสูตร)

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ควรทำความไม่ประมาทโดยฐานะ ๔ ประการ๔ ประการเป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย

๑) เธอทั้งหลายจงละ กายทุจริต จงเจริญกายสุจริต และอย่าประมาทในการละ กายทุจริต และการเจริญกายสุจริตนั้น

๒) จงละวจีทุจริต จงเจริญวจีสุจริต และอย่าประมาทในการละวจีทุจริตและการเจริญ วจีสุจริตนั้น

๓) จงละมโนทุจริต จงเจริญมโนสุจริต และอย่าประมาทในการละมโนทุจริต และ การเจริญ มโนสุจริตนั้น

๔) จงละมิจฉาทิฐิ จงเจริญสัมมาทิฐิ และอย่าประมาทในการละมิจฉาทิฐิ และ การเจริญ สัมมาทิฐินั้น

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในกาลใดแล ภิกษุละกายทุจริต เจริญกายสุจริต ละวจีทุจริต เจริญวจีสุจริต ละมโนทุจริต เจริญมโนสุจริต ละมิจฉาทิฐิ เจริญสัมมาทิฐิได้แล้ว ในกาลนั้น เธอย่อมไม่กลัวต่อความตาย อันจะมีในภายหน้า

ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๑ สุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต หน้าที่ ๑๑๙
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------

10
ผู้สำรวมอินทรีย์ ย่อมชื่อว่าเป็นผู้ไม่ประมาท
(สำรวมอินทรีย์คือ ตาหู จมูก ลิ้น กาย ใจ รู้แจ้งตามความเป็นจริง รู้อบายเครื่องออก เรียกว่าโสดาบัน)

ภิกษุทั้งหลาย ! อินทรีย์หกเหล่านี้ มีอยู่. หกเหล่าไหนเล่า ?
หกอย่าง คือ อินทรีย์คือตา อินทรีย์คือหู อินทรีย์คือจมูก อินทรีย์คือลิ้น
อินทรีย์คือกาย อินทรีย์คือใจ.

ภิกษุทั้งหลาย ! เมื่อใด อริยสาวก รู้ชัดแจ้งตามเป็นจริง ซึ่งความเกิดขึ้น (สมุทัย)
ซึ่งความตั้งอยู่ไม่ได้ (อัตถังคมะ) ซึ่งรสอร่อย (อัสสาทะ) ซึ่งโทษอันต่ำทราม (อาทีนวะ) และซึ่งอุบายเครื่องออก (นิสสรณะ) แห่งอินทรีย์หกเหล่านี้ ภิกษุทั้งหลาย ! อริยสาวกนี้ เราเรียกว่า เป็นโสดาบัน มีอันไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา เป็นผู้เที่ยงแท้ต่อ พระนิพพาน จักตรัสรู้พร้อมในเบื้องหน้า
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------

11
ผู้คุมครองทวารอินทรีย์ คือผู้ไม่ประมาท

ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุเป็นผู้คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย เป็นอย่างไรเล่า ?
ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ได้เห็นรูปด้วยตา ได้ฟังเสียงด้วยหู ได้ดมกลิ่น ด้วยจมูก ได้ลิ้มรสด้วยลิ้น ได้สัมผัสโผฏฐัพพะด้วยกาย และได้รู้ธรรมารมณ์ด้วยใจแล้ว ก็ไม่รวบถือเอาทั้งหมด (โดยนิมิต) และไม่แยกถือเอาเป็นส่วนๆ (โดยอนุพยัญชนะ)
อกุศลธรรมอันเป็นบาป คือ อภิชฌาและโทมนัส มักไหลไปตามภิกษุ ผู้ไม่สำรวม
ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เพราะการไม่สำรวมอินทรีย์เหล่าใดเป็นเหตุ เธอก็ปฏิบัติเพื่อ ปิดกั้นอินทรีย์นั้นไว้ เธอรักษาและถึงความสำรวม ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุอย่างนี้ชื่อว่า เป็นผู้คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย.

ภิกษุทั้งหลาย ! ในกาลใด พวกเธอทั้งหลาย จักเป็นผู้คุ้มครองทวารในอินทรีย์ ทั้งหลายอยู่ ในกาลนั้น มารผู้ใจบาป จักไม่ได้ช่อง แม้จากพวกเธอทั้งหลาย และจักต้องหลีกไปเอง เหมือนสุนัขจิ้งจอกไม่ได้ช่องจากเต่า ก็หลีกไปเอง ฉะนั้น.
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------

12
พึงกระทำความไม่ประมาท คือ มีสติ (อารักขสูตร)

         [๑๑๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพึงกระทำความไม่ประมาท คือ มีสติ เครื่องรักษาใจโดยสมควรแก่ตน ในฐานะ ๔ ประการ ๔ ประการเป็นไฉน คือภิกษุ พึง กระทำความไม่ประมาท คือ มีสติเครื่องรักษาใจโดยสมควรแก่ตนว่า

๑) จิตของเราอย่ากำหนัดในธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด
๒) จิตของเราอย่าขัดเคืองในธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความขัดเคือง
๓) จิตของเราอย่าหลงในธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความหลง
๔) จิตของเราอย่ามัวเมาในธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความมัวเมา


ดูกรภิกษุทั้งหลายในกาลใดแล จิตของภิกษุไม่กำหนัดในธรรม เป็นที่ตั้งแห่งความ กำหนัด เพราะปราศจากความกำหนัดจิต ของภิกษุไม่ขัดเคืองในธรรม เป็นที่ตั้งแห่ง ความขัดเคือง เพราะปราศจากความขัดเคือง จิตของภิกษุไม่หลงในธรรมเป็นที่ตั้ง แห่งความหลง เพราะปราศจากความหลง จิตของภิกษุไม่มัวเมาในธรรม เป็นที่ตั้งแห่ง ความมัวเมา เพราะปราศจากความมัวเมา

ในกาลนั้น เธอย่อมไม่หวาดเสียวไม่หวั่น ไม่ไหว ไม่ถึงความสะดุ้ง และย่อม ไม่ไป แม้ เพราะเหตุแห่งถ้อยคำของสมณะ ฯ


ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๑ สุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต หน้าที่ ๑๒๐

-------------------------------------------------------------------------------------------------------------

13
ความไม่ประมาท คือธรรมที่เจริญแล้วได้ประโยชน์ทั้งปัจจุบันและสัมปรายภพ


พ. ดูกรพราหมณ์ ธรรมข้อหนึ่งซึ่งเจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมยึดถือประโยชน์ทั้ง ๒ ไว้ได้ คือ ประโยชน์ในปัจจุบัน และประโยชน์ในสัมปรายภพคือ ความไม่ประมาท

ดูกรพราหมณ์ เปรียบเหมือนรอยเท้าชนิดใดชนิดหนึ่งของสัตว์ทั้งหลาย ผู้สัญจรไปบน แผ่นดินรอยเท้าเหล่านั้น ทั้งปวงย่อมรวมลงใน รอยเท้าช้าง รอยเท้าช้างชาวโลก กล่าวว่าเป็นเยี่ยมกว่ารอยเท้าเหล่านั้น เพราะรอยเท้าช้างเป็นรอยเท้าใหญ่ ฉันใด ธรรมข้อหนึ่งซึ่งเจริญแล้ว ทำให้มากแล้วย่อมยึดถือประโยชน์ทั้ง ๒ ไว้ได้ คือ ประโยชน์ ในปัจจุบัน และประโยชน์ในสัมปรายภพ คือความไม่ประมาท ฉันนั้น เหมือนกัน

ดูกรพราหมณ์ เปรียบเหมือนกลอนชนิดใดชนิดหนึ่งแห่งเรือนยอด กลอนเหล่านั้น ทั้งปวงย่อมโน้มน้อมรวมเข้าหายอดเรือน ยอดเรือนชาวโลกกล่าวว่าเป็นเยี่ยม (ที่รวม) แห่งกลอนเหล่านั้น ฉันใด ธรรมข้อหนึ่งซึ่งเจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ...ฉันนั้น เหมือนกัน

ดูกรพราหมณ์ เปรียบเหมือนบุรุษผู้เกี่ยวหญ้า เกี่ยวหญ้าแล้ว จับที่ยอด ถือคว่ำลง สลัดฟาดที่ต้นไม้ ฉันใด ธรรมข้อหนึ่งซึ่งเจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ... ฉันนั้น เหมือนกัน

ดูกรพราหมณ์ เปรียบเหมือนเมื่อพวงผลมะม่วงถูกตัดที่ต้นขั้ว ผลมะม่วงลูกใด ลูกหนึ่ง ที่ติดอยู่กับต้นขั้ว ผลมะม่วงเหล่านั้นทั้งปวง ย่อมเป็นของติดไปกับต้นขั้ว ฉันใด ธรรมข้อหนึ่งซึ่งเจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ... ฉันนั้นเหมือนกัน

ดูกรพราหมณ์ เปรียบเหมือนพระราชาผู้ครองประเทศเล็ก พระองค์ใดพระองค์หนึ่ง พระราชาเหล่านั้นทั้งปวง ย่อมเป็นผู้ขึ้นตรงต่อพระเจ้าจักรพรรดิพระเจ้าจักรพรรดิ ชาวโลกกล่าวว่าเป็นเยี่ยมกว่าพระราชาเหล่านั้น ฉันใด ธรรมข้อหนึ่งซึ่งเจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ... ฉันนั้นเหมือนกัน

ดูกรพราหมณ์เปรียบเหมือนแสงสว่างชนิดใดชนิดหนึ่ง แห่งดาวทั้งหลาย แสงสว่าง เหล่านั้นทั้งปวงย่อมไม่ถึงส่วนที่สิบหก แห่งแสงสว่างพระจันทร์แสงสว่าง พระจันทร์ ชาวโลกกล่าวว่าเป็นเยี่ยมกว่าแสงสว่างแห่งดาวเหล่านั้น ฉันใด ธรรมข้อหนึ่งซึ่งเจริญ แล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมยึดถือประโยชน์ทั้ง ๒ ไว้ได้ คือ ประโยชน์ในปัจจุบัน และ ประโยชน์ในสัมปรายภพ คือ ความไม่ประมาท ฉันนั้นเหมือนกัน

ดูกรพราหมณ์  ธรรมข้อหนึ่งซึ่งเจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมยึดถือประโยชน์ทั้ง ๒ ไว้ได้ คือประโยชน์ในปัจจุบัน และประโยชน์ในสัมปรายภพ คือความไม่ประมาทนี้แลฯ

พราหมณ์ได้กราบทูลว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ฯลฯ ขอท่านพระโคดม โปรดทรงจำข้าพระองค์ว่า เป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะตลอดชีวิต ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ฯ

ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๒ สุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต หน้าที่ ๓๓๑
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------

14
คาถาธรรมบท ๑๗ ข้อ ในความไม่ประมาท

๑.) ความไม่ประมาท เป็นทางเครื่องถึงอมตนิพพาน

๒.) ความประมาทเป็นทางแห่งความตาย

๓.) ชนผู้ไม่ประมาทย่อมไม่ตาย

๔.) ชนเหล่าใดประมาทแล้ว ย่อมเป็นเหมือนคนตายแล้ว

๕.) บัณฑิตทั้งหลาย ตั้งอยู่ในความไม่ประมาท ทราบเหตุนั่นโดยความแปลกกันแล้ว ย่อมบันเทิงในความไม่ประมาท ยินดีแล้วในธรรมอันเป็นโคจรของพระอริยเจ้าทั้งหลาย

๖.) ท่านเหล่านั้นเป็นนักปราชญ์ เพ่งพินิจ มีความเพียรเป็นไปติดต่อ มีความบากบั่น มั่น เป็นนิตย์ ย่อมถูกต้องนิพพานอันเกษมจากโยคะ หาธรรมอื่นยิ่งกว่า มิได้

๗.) ยศ ย่อมเจริญแก่บุคคลผู้มีความหมั่น มีสติ มีการงานอันสะอาด ผู้ใคร่ครวญแล้ว จึงทำ ผู้สำรวมระวัง ผู้เป็นอยู่โดยธรรมและผู้ไม่ประมาท

๘.) ผู้มีปัญญาพึงทำที่พึงที่ห้วงน้ำ ท่วมทับไม่ได้ ด้วยความหมั่นความไม่ประมาท ความสำรวมระวัง และความฝึกตน ชนทั้งหลายผู้เป็นพาล มีปัญญาทรามย่อมประกอบ ตามความประมาท

๙.) ส่วนนักปราชญ์ย่อม รักษาความไม่ประมาท เหมือนทรัพย์อันประเสริฐสุด ท่านทั้งหลาย อย่าประกอบตามความประมาท อย่าประกอบการชมเชยด้วยสามารถ ความยินดีในกาม เพราะว่าคนผู้ไม่ประมาทแล้ว เพ่งอยู่ ย่อมถึงสุขอันไพบูลย์ เมื่อใด บัณฑิตย่อมบรรเทาความประมาท ด้วยความไม่ประมาทเมื่อนั้น

๑๐.) บัณฑิตผู้มีความประมาท อันบรรเทาแล้วนั้น ขึ้นสู่ปัญญาดุจปราสาท ไม่มีความโศก ย่อมพิจารณาเห็นหมู่สัตว์ผู้มีความโศก

๑๑.) นักปราชญ์ย่อมพิจารณาเห็นคนพาล เหมือนบุคคลอยู่บนภูเขามองเห็นคนผู้อยู่ ที่ภาคพื้น

๑๒.) ผู้มีปัญญาดี เมื่อสัตว์ทั้งหลายประมาทแล้ว ย่อมไม่ประมาท

๑๓.) เมื่อสัตว์ทั้งหลายหลับ ย่อมตื่นอยู่โดยมาก ย่อมละบุคคลเห็นปานนั้นไป
ประดุจม้า มีกำลังเร็ว ละม้าไม่มีกำลังไป

๑๔.) ท้าวมัฆวาฬ (พระอินทร์ ชั้นดาวดึงส์ ) ถึงความเป็นผู้ประเสริฐที่สุดกว่าเทวดา ทั้งหลาย ด้วยความไม่ประมาท

๑๕.) บัณฑิตทั้งหลายย่อมสรรเสริญความไม่ประมาท ความประมาทบัณฑิตติเตียน ทุกเมื่อ

๑๖.) ภิกษุยินดีแล้วในความไม่ประมาท หรือเห็นภัยในความประมาท เผาสังโยชน์ น้อยใหญ่ไป ดังไฟไหม้เชื้อน้อยใหญ่ไป ฉะนั้น

๑๗.) ภิกษุผู้ยินดีแล้วในความไม่ประมาท หรือ เห็นภัยใน ความประมาทเป็นผู้ ไม่ควรเพื่อจะเสื่อมรอบ ย่อมมีในที่ใกล้นิพพานทีเดียว
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------

15
ความตายรออยู่เบื้องหน้า อย่าพึงประมาท


สัตว์ทั้งปวง ทั้งที่เป็นคนหนุ่ม คนแก่ ทั้งที่เป็นคนพาลและบัณฑิต ทั้งที่มั่งมี และยากจน ล้วนแต่มีความตายเป็นที่ไปถึงในเบื้องหน้า. 

เปรียบเหมือนภาชนะดิน ที่ช่างหม้อปั้นแล้ว ทั้งเล็กและใหญ่ ทั้งที่สุกแล้วและยังดิบ ล้วนแต่มีการแตกทำลาย เป็นที่สุด ฉันใด ชีวิตแห่งสัตว์ทั้งหลายก็มีความตาย เป็นเบื้องหน้า ฉันนั้น.

วัยของเราแก่หง่อมแล้ว ชีวิตของเราริบหรี่แล้ว เราจักละพวกเธอไป. สรณะของตัวเอง เราได้ทำไว้แล้ว.

ภิกษุทั้งหลาย !  พวกเธอจงเป็นผู้ไม่ประมาท มีสติ มีศีล เป็นอย่างดี มีความดำริอัน ตั้งไว้แล้วด้วยดี ตามรักษาซึ่งจิตของตนเถิด.  ในธรรมวินัยนี้ ภิกษุใดเป็นผู้ไม่ประมาท แล้ว จักละชาติสงสาร ทำที่สุดแห่งทุกข์ได้.
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------

16
ความไม่ประมาทเลิศกว่ากุศลธรรม

            [๒๕๑] สาวัตถีนิทาน. ดูกรภิกษุทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลายที่ไม่มีเท้าก็ดี มี ๒ เท้าก็ดีมี ๔ เท้าก็ดี มีเท้ามากก็ดี มีรูปก็ดี ไม่มีรูปก็ดี มีสัญญาก็ดี ไม่มีสัญญาก็ดี มีสัญญาก็มิใช่ไม่มีสัญญาก็มิใช่ก็ดี มีประมาณเท่าใด พระตถาคตอรหันตสัมมา สัมพุทธเจ้า

บัณฑิตกล่าวว่าเป็นผู้เลิศกว่าสัตว์เหล่านั้น ฉันใด กุศลธรรมเหล่าใด เหล่าหนึ่ง ทั้งหมดนั้นมีความไม่ประมาท เป็นมูลรวมลงในความไม่ประมาท ความไม่ประมาท บัณฑิตกล่าวว่าเลิศกว่ากุศลธรรมเหล่านั้น ฉันนั้นเหมือนกัน

ดูกรภิกษุทั้งหลาย อันภิกษุผู้ไม่ประมาท พึงหวังข้อนี้ได้ว่า จักเจริญอริยมรรคอัน ประกอบ ด้วยองค์ ๘ จักกระทำให้มากซึ่งอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘.

ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๙ สุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค หน้าที่ ๖๔
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------

17
กุศลธรรมทั้งปวงมีความไม่ประมาทเป็นมูล

            [๒๕๓] สาวัตถีนิทาน. ดูกรภิกษุทั้งหลาย รอยเท้าของสัตว์ทั้งหลาย ผู้สัญจรไปบนแผ่นดิน ชนิดใดชนิดหนึ่ง ทั้งหมดนั้นย่อมถึงความประชุมลง ในรอยเท้า ช้าง รอยเท้าช้าง บัณฑิตกล่าวว่าเลิศกว่ารอยเท้าเหล่านั้น เพราะเป็นรอยใหญ่ แม้ฉันใด กุศลธรรมเหล่าใดเหล่าหนึ่งทั้งหมดนั้น มีความไม่ประมาทเป็นมูลรวมลง ในความไม่ประมาท ความไม่ประมาท บัณฑิตกล่าวว่าเลิศกว่ากุศลธรรมเหล่านั้น ฉันนั้นเหมือนกัน

ดูกรภิกษุทั้งหลาย อันภิกษุผู้ไม่ประมาท พึงหวังข้อนี้ได้ว่า จักเจริญอริยมรรคอัน ประกอบด้วยองค์ ๘ จักกระทำให้มากซึ่งอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘.

ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๙ สุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค หน้าที่ ๖๕
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------

18
ไม่ควรคำนึงถึงอดีตและอนาคต ให้เอาจิตอยู่กับปัจจุบัน

"...บุคคล ไม่ควรคำนึงถึงสิ่งที่ล่วงแล้ว
ไม่ควรมุ่งหวังสิ่งที่ยังไม่มาถึง
สิ่งใดล่วงไปแล้ว สิ่งนั้นก็เป็นอันละไปแล้ว
และสิ่งที่ยังไม่มาถึง ก็เป็นอันยังไม่ถึง
ก็บุคคลใดเห็นแจ้งธรรมปัจจุบัน
ไม่ง่อนแง่น ไม่คลอนแคลน ในธรรมนั้นๆได้
บุคคลนั้น พึงเจริญธรรมนั้นเนืองๆ ให้ปรุโปร่งเถิด
พึงทำความเพียร เสียในวันนี้แหละ
ใครเล่าจะรู้ความตายในวันพรุ่ง..."

พระไตรปิฎก เล่ม ๑๔ ข้อ ๕๓๔

-------------------------------------------------------------------------------------------------------------

19

อริยสาวกผู้เป็นผู้อยู่ด้วยความไม่ประมาทอย่างไร

ดูกรนันทิยะ ก็อริยสาวกผู้เป็นผู้อยู่ด้วยความไม่ประมาทอย่างไร? อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้าว่า แม้เพราะเหตุนี้ๆ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ฯลฯ เป็นผู้จำแนกธรรม อริยสาวกนั้น ยังไม่พอใจด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้านั้น พยายามให้ยิ่งขึ้นไป เพื่อความสงัดในกลางวันเพื่อหลีกเร้นในกลางคืน

เมื่ออริยสาวกนั้นเป็นผู้ไม่ประมาท อยู่อย่างนี้ ย่อมเกิดปราโมทย์ เมื่อเกิดปราโมทย์ ย่อมเกิดปีติ เมื่อมีใจกอปรด้วยปีติ กายย่อมสงบ ผู้มีกายสงบ ย่อมได้เสวยสุข

จิตของผู้มีความสุขย่อมเป็นสมาธิ เมื่อจิตเป็นสมาธิ ธรรมทั้งหลายย่อมปรากฏ เพราะธรรมทั้งหลายปรากฏ อริยสาวกนั้นย่อมถึงความนับว่า อยู่ด้วยความไม่ประมาท อีกประการหนึ่ง

อริยสาวกประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหว ในพระธรรม ... ในพระสงฆ์ ... ประกอบด้วยศีลที่พระอริยเจ้าใคร่แล้ว ไม่ขาด ฯลฯ เป็นไปเพื่อสมาธิ

อริยสาวกนั้นยังไม่พอใจด้วยศีลที่พระอริยเจ้าใคร่แล้ว พยายามให้ยิ่งขึ้นไป เพื่อความ สงัดในกลางวัน เพื่อหลีกเร้นในกลางคืนเมื่ออริยสาวกนั้น เป็นผู้ไม่ประมาทอยู่อย่างนี้ ย่อมเกิดปราโมทย์ เมื่อเกิดปราโมทย์ ย่อมเกิดปีติเมื่อมีใจกอปรด้วยปีติ กายย่อมสงบ ผู้มีกายสงบ ย่อมได้เสวยสุข จิตของผู้มีความสุข ย่อมเป็นสมาธิ เมื่อจิตเป็นสมาธิ ธรรมทั้งหลายย่อมปรากฏ อริยสาวกนั้นย่อมถึงความนับว่า อยู่ด้วยความไม่ประมาท ดูกรนันทิยะ อริยสาวกเป็นผู้อยู่ด้วยความไม่ประมาทอย่างนี้แล.

ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๙ สุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค หน้าที่ ๓๙๕

 

 
พุทธวจน : อ่านคำสอนพระศาสดา อ่านแบบสบายตา โดยคัดลอกหนังสือทั้งเล่มมาจัดทำเป็นเว็บเพจ (คลิกอ่านพร้อมดาวน์โหลดไฟล์ pdf)
90 90 90 90  
 
พุทธประวัติ ขุมทรัพย์
อริยสัจ
ภาคต้น
อริยสัจ
ภาคปลาย
ปฏิจจ ปฐมธรรม ตถาคต อนาคามี อินทรีย์
สังวร
สัตว์
สัตตานัง
ทาน
สกทาคามี
ฆราวาส
ชั้นเลิศ
มรรควิธี
ที่ง่าย
 
   
อริยวินัย เดรัจฉานวิชา กรรม สมถะ
วิปัสสนา
โสดาบัน อานา
ปานสติ
จิต มโน
วิญญาณ
ก้าวย่าง
อย่างพุทธะ
ตามรอย
ธรรม
ภพ ภูมิ
พุทธวจน
สาธยาย
ธรรม
สังโยชน์