เว็บไซต์ อนาคามี เผยแพร่คำพระศาสดา เผยแพร่คำสอนตถาคต เว็บไซต์เผยแพร่พระสุตรคำสอนของพระพุทธเจ้า คลิปคำสอน คลิปสาธยายธรรม
  ประวัติบุคคล และสถานที่ ในสมัยพุทธกาล
ค้นหาคำที่ต้องการ                    

  พระมหาปชาบดีโคตรมีเถรี ภิกษุณี รูปแรกในพระพุทธศาสนา 116    
ข้อมูลของบุคคล และสถานที่เมื่อครั้งพุทธกาล รวมรวมมาจากหลายๆแหล่ง อาจไม่ใช่คำกล่าวของพระศาสดา หรือของสาวกที่เชื่อถือได้ บางเรื่องไม่ได้กล่าวไว้
ในพระไตรปิฏก บางเรื่องได้แต่งเสริม ทำให้ดูคล้ายนิยายปรำปราที่เล่าสืบต่อกันมา ผู้ที่ศึกษาจึงควรใช้วิจารณญาณในการอ่าน และพิจารณาตาม “กาลามสูตร


พระอานนท์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี


พระอานนท์ เป็นพระอรหันต์สาวกของพระโคตมพุทธเจ้า ทรงยกย่องท่านว่าเป็นเอตทัคคะ ผู้เลิศกว่าพระภิกษุสาวกทั้งหลาย 5 ประการ คือ เป็นพหูสูต มีสติ มีคติ มีธิติ และเป็นพุทธอุปัฏฐาก


ประสูติ
พระอานนท์ เดิมเป็นเจ้าชายชาวสักกะ เป็นพระโอรสของเจ้าอมิโตทนะ พระอนุชาในพระเจ้าสุทโธทนะ แห่งแคว้นสักกะ ท่านประสูติที่พระตำหนักของพระบิดา คัมภีร์มธุรัตถวิลาสินีระบุว่า ท่านประสูติวันเดียวกับเจ้าชายสิทธัตถะ


ออกผนวช

เมื่อพระพุทธเจ้าประทับที่อนุปิยนิคมของพวกมัลลกษัตริย์ เจ้าอานนท์ได้ตามเสด็จพระเจ้าภัททิยะ เจ้าอนุรุทธะ เจ้าภคุ เจ้ากิมพิละ และเจ้าเทวทัต กับอุบาลีซึ่งเป็นช่างกัลบก ออกบวชพร้อมกัน เมื่อได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าแล้ว เจ้าชายทั้ง 6 พระองค์ กราบทูลขอให้บวชอุบาลีก่อน เจ้าชายบวชภายหลัง จะได้ลุกต้อนรับ ทำอัญชลีกรรม สามีจิกรรมแก่เขา เพื่อเป็นการลดความถือตัวว่าเป็นเจ้าศากยะ พระพุทธเจ้าทรงจัดการตามพระประสงค์ของเจ้าศากยะ โดยให้พระเวลัฏฐสีสะเป็นอุปัชฌาย์ของพระอานนท์ หลังบวชแล้ว พระอานนท์ก็ได้บรรลุโสดาบันในพรรษาแรกนั้น


บรรลุโสดาบัน

ในอานันทสูตร พระอานนท์กล่าวกับภิกษุทั้งหลายว่าท่านบรรลุธรรม เพราะได้ฟังธรรมจากพระปุณณมันตานีบุตร ซึ่งมีใจความว่า เพราะบุคคลยึดมั่นถือมั่นในขันธ์ 5 จึงเกิดตัณหา มานะ และทิฏฐิว่า "เรามี" เมื่อไม่ยึดมั่นถือมั่นในขันธ์ 5 จึงไม่เกิดตัณหา มานะ และทิฏฐิว่า "เรามี" เมื่อบุคคลเข้าใจว่าขันธ์ 5 ไม่เที่ยงแล้วจึงจบกิจได้


เป็นพุทธอุปัฎฐาก

สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแม้ตรัสรู้แล้วถึง 20 พรรษา แต่ยังไม่มีผู้ใดเป็นพุทธอุปัฎฐากประจำ ซึ่งได้สร้างความลำบาก แก่พระองค์เป็นอย่างมาก สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสว่า บัดนี้พระองค์ทรงพระชราแล้ว ภิกษุผู้อุปัฏฐากพระองค์ บางรูปทอดทิ้งพระองค์ไปตามทางที่ตนปรารถนา บางรูปวางบาตรจีวรของพระองค์ไว้บนพื้นดินแล้วเดินจากไปเสีย จึงขอให้พระสงฆ์เลือกพระภิกษุรูปใดรูปหนึ่งขึ้นเป็นพุทธอุปัฏฐากประจำ คณะสงฆ์เห็นว่า ควรจะมีพระภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง คอยสนองงานของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

ในครั้งนั้นพระสงฆ์ทั้งหลายนำโดยพระสารีบุตรมหาเถระ ได้กราบทูลขอเป็นพุทธอุปัฎฐาก แต่พระพุทธองค์ทรงห้ามเสีย แม้พระเถระรูปอื่นๆ จะกราบทูลเสนอตัวเป็นพุทธอุปัฏฐาก แต่พระพุทธองค์ก็ทรงห้ามเสียทุกรูป คงเว้นแต่พระอานนท์ ที่มิได้กราบทูลด้วยถ้อยคำใด พระภิกษุรูปอื่นได้เตือนให้พระอานนท์ขอโอกาส แต่ท่านพระอานนท์กล่าวว่า

"ท่านผู้เจริญทั้งหลาย อันตำแหน่งที่ขอได้มานั้นจะมีความหมายอะไรเล่า พระบรมศาสดาไม่ทรงเห็นข้าพเจ้าเลยกระนั้นหรือ? ก็หากพระองค์ทรงพอพระทัยในตัวข้าพเจ้าแล้วไซร้ พระองค์ก็คงตรัสเองว่า อานนท์เธอจงอุปัฏฐากเราเถิด"
พระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสกับพระภิกษุทั้งหลายว่า ไม่มีผู้ใดจะสามารถให้ท่านพระอานนท์ เกิดความอุตสาหะขึ้นมาได้เลย แต่เมื่อท่านพระอานนท์รู้แล้ว ท่านจักอุปัฏฐากพระองค์เอง เมื่อพระภิกษุทั้งหลายได้ยินพระดำรัสนั้น ก็ทราบทันทีว่า พระองค์ทรงประสงค์ให้ท่านพระอานนท ์เป็นพุทธอุปัฏฐาก จึงได้พูดตักเตือนให้ท่านทูลขอตำแหน่งพุทธุปัฏฐากจากพระองค์

พร 8 ประการ
ดังนั้น ท่านพระอานนท์จึงได้กราบทูลขอพร 8 ประการ หากพระองค์ทรงประทานพร 8 ประการนี้ ท่านจึงจะรับตำแหน่งพุทธุปัฏฐาก ท่านกราบทูลขอพรว่า
1.ถ้าจักไม่ประทานจีวรอันประณีตที่พระองค์ได้แล้วแก่ข้าพระองค์
2.ถ้าจักไม่ประทานบิณฑบาตอันประณีตที่พระองค์ได้แล้วแก่ข้าพระองค์
3.ถ้าจักไม่โปรดให้ข้าพระองค์อยู่ในที่ประทับของพระองค์
4.ถ้าจักไม่ทรงพาข้าพระองค์ไปในที่ที่ทรงรับนิมนต์ไว้
5.ถ้าพระองค์จักไปสู่ที่นิมนต์ที่ข้าพระองค์รับไว้
6.ถ้าข้าพระองค์จะพาบริษัทซึ่งมาแต่ที่ไกลเพื่อเฝ้าพระองค์ได้ในขณะที่มาแล้ว
7.ถ้าความสงสัยของข้าพระองค์เกิดขึ้นเมื่อใด ขอให้ได้เข้าเฝ้าทูลถามเมื่อนั้น
8.ถ้าพระองค์ทรงแสดงธรรมเทศนา อันใดในที่ลับหลังข้าพระองค์ จักเสด็จมาตรัสบอกพระธรรมเทศนานั้นแก่ข้าพระองค์อีก

เมื่อข้าพระองค์ได้รับพร 8 ประการนี้ แหละจึงจักเป็นพุทธุปัฏฐากของพระองค์
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสถามถึงโทษ และอานิสงส์ที่ทูลขอพร 8 ประการนี้ ท่านได้กราบทูลว่า

* ถ้าท่านไม่ทูลขอพรข้อ 1-4 ก็จักมีคนพูดได้ว่า ท่านรับตำแหน่งพุทธุปัฏฐาก เพื่อหวังลาภสักการะอย่างนั้น ๆ เพื่อป้องกันปรวาทะอย่างนั้น ท่านจึงได้ทูลขอพร 4 ข้อนี้
*ถ้าท่านไม่ทูลขอพรข้อ 5-7 ก็จักมีคนพูดได้ว่า พระอานนท์บำรุงพระศาสดาไปทำไม เพราะกิจเท่านี้พระองค์ก็ยังไม่ทรงสงเคราะห์เสียแล้ว และ
*หากท่านไม่ทูลขอพรข้อ 8 เมื่อมีคนมาถามท่านลับหลัง พระพุทธองค์ว่า คาถานี้ สูตรนี้ ชาดกนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสที่ไหน? ถ้าท่านตอบเขาไม่ได้ เขาก็จะพูดได้ว่า พระอานนท์เฝ้าติดตามพระผู้มีพระภาคเหมือนเงาของพระองค์อยู่เป็นเวลานาน ทำไมเรื่องเท่านี้ยังไม่รู้?
ครั้นท่านได้ทูลชี้แจงแสดงโทษในข้อที่ไม่ควรได้ และอานิสงส์ในข้อที่ควรได้อย่างนี้แล้ว พระผู้มีพระภาคจึงทรงประทานพร ตามที่พระอานนท์กราบทูลขอทุกประการ ท่านพระอานนท์จึงได้รับตำแหน่งพุทธอุปัฏฐาก และได้อุปัฏฐากพระพุทธองค์ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา จนถึงวันเสด็จดับขันธปรินิพพานของพระผู้มีพระภาค เป็นเวลา 25 พรรษา


กิจในหน้าที่ของพุทธอุปัฏฐาก

ท่านพระอานนท์ได้รับตำแหน่ง ท่านก็ได้อุปัฏฐากพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยดี กิจที่ท่านทำเป็นประจำแก่พระพุทธเจ้า คือ

1.ถวายน้ำ 2 อย่าง คือน้ำเย็นและน้ำร้อน
2.ถวายไม้สีฟัน 3 ขนาด
3.นวดพระหัตถ์และพระบาท (มือและเท้า)
4.นวดพระปฤษฏางค์ (หลัง)
5.ปัดกวาดพระคันธกุฏี และบริเวณพระคันธกุฏี

ในตอนกลางคืนท่านกำหนดเวลาได้ว่า เวลานี้พระพุทธองค์ทรงต้องการอย่างนั้นอย่างนี้ แล้วเข้าเฝ้า เมื่อเฝ้าเสร็จก็ออกมา อยู่ยาม ณ ภายนอกพระคันธกุฏีในคืนหนึ่ง ๆ ท่านถือประทีปด้ามใหญ่เวียนรอบบริเวณพระคันธกุฏี ถึง 8 ครั้ง ท่านคิดว่าหากท่าน ง่วงนอน เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสเรียกท่านจะไม่สามารถขานรับได้ ฉะนั้น จึงไม่ยอมวางประทีปตลอดทั้งคืน

ท่านพระพุทธโฆษาจารย์(อรรถาจารย์)ได้กล่าวยกย่องท่านพระอานนท์ไว้ว่า ท่านขยันในการอุปัฏฐากมาก ในบรรดาพระภิกษุผู้เคยอุปัฏฐาก พระพุทธเจ้ามาแล้ว ไม่มีใครทำได้เหมือนท่าน เพราะพระภิกษุเหล่านั้น ไม่รู้พระทัยของพระพุทธองค์ดี แต่พระอานนท์ท่านรู้พระทัยของพระบรมศาสดาดี จึงอุปัฏฐากได้นาน ด้วยเหตุนี้ในคราวที่พระพุทธองค์ จะเสด็จดับขันธปรินิพพานพระองค์ได้ตรัสกับท่านว่า

"อานนท์ เธอได้อุปัฏฐากตถาคตด้วยกายธรรม วจีกรรมมโนกรรม อันประกอบด้วยเมตตา ซึ่งเป็นประโยชน์เกื้อกูล เป็นความสุข ไม่มีสอง หากประมาณมิได้มาช้านานแล้ว เธอได้ทำบุญไว้มากแล้วอานนท์ เธอจงประกอบความเพียรเถิด จักเป็นผู้ไม่มีอาสวะ โดยฉับพลัน" แล้วตรัสประกาศเกียรติคุณของพระอานนท์ ให้ปรากฏแก่ภิกษุทั้งหลายว่า

“ดูกรภิกษุทั้งหลาย พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลายเหล่าใด ที่มีมาแล้วในอดีตกาลภิกษุผู้เป็นอุปัฏฐาก ของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เหล่านั้นอย่างยิ่ง ก็เหมือนกับอานนท์ของเราเท่านั้น พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลายเหล่าใด ที่จักมีอนาคตกาล ภิกษุผู้เป็นอุปัฏฐากของพระอรหันต สัมมาสัมพุทธเจ้าเหล่านั้นอย่างยิ่ง ก็เพียงอานนท์ของเราเท่านั้น อานนท์เป็นบัณฑิตย่อมรู้ว่า นี่เป็นกาล เพื่อจะเข้าเฝ้าพระตถาคต นี่เป็นกาลของพวกภิกษุ นี่เป็นกาลของพวกภิกษุณี นี่เป็นกาลของพวกอุบาสก นี่เป็นกาล ของพวกอุบาสิกา นี่เป็นกาลของพระราชา นี่เป็นกาลของพวกอำมาตย์ราชเสวก นี่เป็นกาลของพวกเดียรถีย์ นี่เป็นกาลของพวกสาวกของพวกเดียรถีย์”


พระอานนท์ผู้เป็นเอตทัคคะผู้เลิศกว่าภิกษุรูปอื่น

พระอานนท์ได้รับการสรรเสริญจากสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้เป็นเอตทัคคะ (เลิศ) 5 ประการคือ
1.มีสติ รอบคอบ
2.มีคติ คือความทรงจำแม่นยำ
3.มีความเพียรดี
4.เป็นพหูสูต
5.เป็นยอดของภิกษุผู้อุปัฏฐากพระพุทธเจ้า


ภิกษุอื่น ๆ ที่ได้รับยกย่องว่าเป็นเอตทัคคะก็ได้รับเพียงอย่างเดียว แต่พระอานนท์ท่านได้รับถึง 5 ประการ นับว่าหาได้ยากมาก ความเป็นพหูสูตของพระอานนท์นั้นนับว่าเป็นคุณูปการต่อพระพุทธศาสนา กล่าวคือ ภายหลังพุทธปรินิพพานแล้ว มีภิกษุบางพวกกล่าวติเตียนพระศาสนา ทำให้พระมหากัสสปเถระเกิดความสังเวชในใจว่า ในอนาคตพวกอลัชชีจะพากันกำเริบ ย่ำเหยียบพระศาสนา จำต้องกระทำการสังคายนาพระไตรปิฎกให้เป็นหมวดหมู่ จึงได้นัดแนะพระภิกษุสงฆ์ให้ไปประชุมกันที่กรุงราชคฤห์ เพื่อสังคายนาพระธรรมวินัยตลอดเข้าพรรษา

การสังคายนาพระธรรมวินัยครั้งนั้นได้มีพระมหาเถระ 3 รูปที่มีส่วนสำคัญในการสังคายนา กล่าวคือ พระอานนท์เถระ ผู้เป็นพุทธอุปฐาก ซึ่งได้รับประทานพรข้อที่ 8 ทำให้ท่านเป็นผู้ทรงจำพระพุทธวจนะไว้ได้มาก ท่านจึงได้รับหน้าที่ตอบ คำถามเกี่ยวกับพระธรรม ดังบทสวดคาถาต่าง ๆ มักขึ้นต้นด้วย “เอวัมเม สุตัง เอกัง สะมะยัง ภะคะวา.....” อันหมายถึง “ข้าพเจ้า (คือพระอานนท์เถระ) ได้สดับมาแล้วอย่างนี้ สมัยหนึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า”

พระอุบาลี ซึ่งเคยเป็นพนักงานภูษามาลาในราชสำนักกรุงกบิลพัสดุ์ และออกบวชพร้อมศากยราชกุมาร ท่านได้จดจำพระวินัย เป็นพิเศษ มีเรื่องเล่าในพระวินัยปิฏกว่าสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงแสดงเรื่องวินัยแก่พระภิกษุทั้งหลาย และสรรเสริญพระวินัย และสรรเสริญพระอุบาลีเป็นอันมาก ภิกษุทั้งหลายจึงพากันไปเรียนวินัยจากพระอุบาลี ในการสังคายนาครั้งนี้ ท่านจึงได้รับหน้าที่วิสัชชนาเกี่ยวกับพระวินัย

พระมหากัสสปเถระ ซึ่งเป็นเลิศทางธุดงวัตรและเป็นผู้ชักชวนให้สังคายนาพระธรรมวินัย เป็นผู้ถามทั้งพระธรรมและพระวินัย

ท่านพระพุทธโฆษาจารย์ได้เล่าไว้ว่า ท่านพระอานนท์มีปัญญา มีความจำดี ท่านได้ฟังครั้งเดียว ไม่ต้องถามอีกก็สามารถจำได้ เป็น 15,000 คาถา โดยไม่เลอะเลือน ไม่คลาดเคลื่อน เหมือนบุคคลเอาเถาวัลย์มัดดอกไม้ถือไป เหมือนจารึกอักษรลงบน แผ่นศิลา เหมือนน้ำมันใสของราชสีห์ที่บุคคลใส่ไว้ในหม้อทองคำ ฉะนั้น

ด้วยเหตุที่ท่านขยันเรียน และมีความจำดีนี่เอง ท่านจึงได้รับยกย่องว่าเป็นพหูสูต เป็นธรรมภัณฑาคาริก ทรงจำพระพุทธพจน์ ได้ถึง 84,000 พระธรรมขันธ์ คือท่านเรียนจากพระพุทธองค์ 82,000 พระธรรมขันธ์ และเรียนจากเพื่อนสหธรรมมิกอีก 2,000 พระธรรมขันธ์ แม้ท่านจะเป็นเพียงพระโสดาบันก็ตาม แต่ท่านก็มีปัญญาแตกฉาน ในปฏิสัมภิทา มีความรู้เชี่ยวชาญในเรื่อง ปฏิจจสมุปบาท จึงสามารถสั่งสอนศิษย์ได้มากมาย ศิษย์ของท่านส่วนมากก็เป็นพหูสูตเช่นเดียวกับท่าน ว่ากันว่า ท่านพูดได้เร็วกว่าคนธรรมดา 8 เท่า คือคนเราพูด 1 คำ ท่านพูดได้ 8 คำ

ท่านพระพุทธโฆษาจารย์ได้พรรณนาคุณของท่านพระอานนท์ไว้อีกอย่างหนึ่งว่า ท่านมีรูปงาม น่าเลื่อมใส น่าทัศนายิ่งนัก ยิ่งเป็นพหูสูตด้วย ก็ยิ่งทำให้สังฆมณฑลนี้งดงามยิ่งขึ้น ด้วยเหตุนี้จึงมีบริษัททั้ง 4 นิยมไปหาท่านกันมาก ข้อนี้สมจริง ดังพระดำรัสที่ตรัสยกย่องท่านว่า ท่านมีอัพภูตธรรม คือคุณอันน่าอัศจรรย์ 4 ประการ คือ ถ้าภิกษุบริษัทภิกษุณีบริษัท อุบาสกบริษัท และอุบาสิกาบริษัทเข้าไปหาท่าน พอได้เห็นรูปเท่านั้นก็มีความยินดี พอได้ฟังธรรมเทศนาของท่าน ก็ยิ่งมีความยินดี แม้เมื่อท่านแสดงธรรมจบลงแล้ว ก็ยังฟังไม่อิ่ม แล้วทรงเปรียบเทียบท่าน ซึ่งมีคุณอันน่าอัศจรรย์นี้กับ พระเจ้าจักรพรรดิ คือว่า พระเจ้าจักรพรรดินั้นเมื่อขัตติยบริษัท พราหมณบริษัท คฤหบดีบริษัท และสมณบริษัทเข้าเฝ้า พอได้เห็นก็มีความยินดี ครั้นได้ฟังพระราชดำรัส ก็ยิ่งมีความยินดี แม้ตรัสจบแล้วก็ยังไม่อิ่ม

นอกจากหน้าที่อุปัฏฐากประจำองค์อย่างใกล้ชิดแล้ว ท่านพระอานนท์ ยังปฏิบัติหน้าที่อื่น ๆ อีกหลายอย่าง เป็นต้นว่า งานรับสั่ง เช่น ครั้งหนึ่งพระพุทธองค์รับสั่งให้ท่านไปประกาศคว่ำบาตรแก่วัฑฒลิจฉวี เพราะเหตุที่วัฑฒลิจฉวี ได้สมรู้ร่วมคิด กับพระเมตติยะ และพระภุมมชกะ กล่าวใส่ร้ายท่านพระทัพพมัลลบุตร ว่า เสพเมถุนธรรมกับชายาเดิมของท่าน ครั้งหนึ่งรับสั่งให้ท่านนำนางยักษิณีเข้าเฝ้า เพื่อระงับการจองเวรจองผลาญกันและกัน ครั้งหนึ่งรับสั่งให้ท่านเรียกพระภิกษุสงฆ์ที่นครเวสาลีเข้าประชุม เพื่อฟังอานาปานสติ ครั้งหนึ่งรับสั่งให้ท่านแจ้งข่าว แก่พวกมัลลกษัตริย์ กรุงกุสินาราว่า พระพุทธองค์จะเสด็จดับขันธปรินิพพานที่ป่าไม้สาละ ณ ราตรีนั้น เป็นต้น

งานมอบหมาย เช่น ครั้งหนึ่งพระเจ้าปเสนทิโกศล ทรงเลื่อมใสศรัทธา ทรงพระประสงค์จะถวายนิตยภัตแก่พระพุทธองค์ และพระภิกษุสงฆ์เป็นประจำทุกวัน พระพุทธองค์ตรัสว่า พระพุทธเจ้าทั้งหลายย่อมไม่รับนิตยภัตประจำในที่แห่งเดียว เพราะมีคนจำนวนมากต้องการทำบุญกับพระพุทธเจ้า จึงหวังจะให้เสด็จไปหาตนกันทั้งนั้น เมื่อพระเจ้าปเสนทิโกศลทรงทราบ ดังนั้น จึงทูลขอพระภิกษุ 1 รูปให้ไปรับนิตยภัตของพระองค์ พระผู้มีพระภาค จึงทรงมอบภาระนี้ให้แก่ท่านพระอานนท์ เมื่อได้รับมอบหมายแล้ว ท่านก็ไปรับเป็นประจำ แม้ว่าในตอนหลัง ๆ พระเจ้าปเสนทิโกศล จะทรงลืมสั่งให้คน จัดนิตยภัตถวายไปบ้าง แต่ท่านก็ยังไปอยู่เป็นประจำ

อีกครั้งหนึ่ง พระเจ้าปเสนทิโกศล ทรงพระประสงค์จะให้พระนางมัลลิกาเทวี และพระนางวาสภขัตติยา พระมเหสีของพระองค์ ได้ศึกษาธรรม จึงทูลนิมนต์ให้พระพุทธองค์กับภิกษุสงฆ์ 500 รูป ไปสอนธรรมแก่พระมเหสีทั้งสอง พระพุทธองค์ตรัสบอกข้อขัดข้องดังกล่าวแล้วข้างต้น พระเจ้าปเสนทิโกศลจึงทูลขอให้พระพุทธองค์ ทรงมอบหมายให้ภิกษุรูปอื่นไปแทน พระพุทธองค์ก็มอบหมายให้ท่านพระอานนท์รับภาระนี้ และท่านก็ทำได้ดีเช่นเดียวกัน และในตอนที่จะเสด็จปรินิพพาน ได้ทรงมอบหมายให้ท่านลง พรหมทัณฑ์แก่พระฉันนะ เมื่อพระองค์นิพพานไปแล้ว ในฐานหัวดื้อไม่ยอมเชื่อฟังคำตักเตือนของพระอัครสาวก และเมื่อพระพุทธองค์ปรินิพพานแล้วท่านก็ได้ไปลง พรหมทัณฑ์แก่พระฉันนะ สำเร็จตามที่ทรงมอบหมายไว้


ความภักดีต่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

พระอานนท์นั้นเป็นผู้มีความจงรักภักดีต่อสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นอย่างยิ่ง ท่านยอมสละชีพของท่าน เพื่อสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ อย่างเช่น เมื่อพระเทวทัตได้วางอุบายจะปลงพระชนม์ สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยมอมเหล้าช้างนาฬาคิรี ซึ่งกำลังตกมัน แล้วปล่อยออกไป ในขณะที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เสด็จออก บิณฑบาต โดยมีพระอานนท์เป็นปัจฉาสมณะ เมื่อช้างนาฬาคิรีวิ่งเข้ามาทางพระพุทธองค์ พระอานนท์ จึงได้เดินล้ำมา เบื้องหน้าพระศาสดา ด้วยคิดหมายจะเอาองค์ป้องกันสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้มีพระพุทธดำรัสให้พระอานนท์หลีกไป อย่าป้องกันพระองค์เลย แต่พระอานนท์ได้กราบทูลว่า

“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ชีวิตของพระองค์มีค่ายิ่งนัก พระองค์อยู่เพื่อเป็นประโยชน์แก่โลก เป็นดวงประทีปของโลก เป็นที่พึ่งของโลก ขอพระองค์อย่าเสี่ยงกับอันตรายครั้งนี้เลย ชีวิตของข้าพระองค์มีค่าน้อย ขอให้ข้าพระองค์ได้สละ สิ่งซึ่งมีค่าน้อยเพื่อรักษาสิ่งที่มีค่ามาก เหมือนสละกระเบื้อง เพื่อรักษาซึ่งแก้วมณีเถิดพระเจ้าข้าฯ”

สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตรัสว่า

“อย่าเลยอานนท์ บารมีเราได้สร้างมาดีแล้ว ไม่มีใครสามารถปลงชีวิตของตถาคตได้ ไม่ว่าสัตว์ดิรัจฉานหรือมนุษย์ หรือเทวดามารพรหมใด ๆ”

ในขณะนั้นช้างนาฬาคิรีวิ่งมาจนจะถึงพระองค์ของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว พระองค์จึงได้แผ่พระเมตตาจากพระหฤทัย ซึ่งไปกระทบกับใจอันคลุกอยู่ด้วยความมึนเมาของช้างนาฬาคิรีได้ ช้างใหญ่หยุดชะงัก ใจสงบลงและหมอบลงแทบพระบาท พระพุทธองค์ทรงใช้พระหัตถ์ลูบที่ศีรษะพญาช้าง พร้อมกับตรัสว่า

“นาฬาคิรีเอ๋ย เธอกำเนิดเป็นดิรัจฉานในชาตินี้ เพราะกรรมอันไม่ดีของเธอในชาติก่อนแต่งให้ เธออย่าประกอบกรรมหนัก คือทำร้ายพระพุทธเจ้าเช่นเราอีกเลย เพราะจะมีผลเป็นทุกข์แก่เธอตลอดกาลนาน”

ช้างนาฬาคิรีน้ำตาไหลพราก น้อมรับฟังพระพุทธดำรัสด้วยอาการดุษฎี (ในคัมภีร์อนาคตวงศ์กล่าวว่า ในอนาคตกาลนับจาก พระศรีอริยเมตไตรย พุทธเจ้าไป จะมีพระพุทธเจ้ามาตรัสรู้อีกหลายพระองค์ และช้างนาฬาคิรี จะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า องค์หนึ่ง ทรงพระนามว่าพระติสสพุทธเจ้า)

ออกแบบจีวร
เกียรติคุณอีกอย่างหนึ่งที่ท่านได้รับยกย่องจากพระพุทธองค์ คือ มีฝีมือทางช่าง สาเหตุที่ทรงชมเชย มีว่าครั้งหนึ่ง พระพุทธองค์เสด็จจากนครราชคฤห์ไปสู่ทักษิณาคิรีชนบท ได้ทอดพระเนตรเห็นคันนาของชาวมคธเป็นรูปสี่เหลี่ยม มีคันนาสั้น ๆ คั่นในระหว่าง แล้วตรัสถามท่านพระอานนท์ว่า จะเย็บจีวรอย่างนั้นได้ไหม? ท่านทูลรับว่า เย็บได้ และต่อมาท่านเย็บ จีวรให้พระหลายรูป แล้วนำไปถวายให้ทอดพระเนตร พระพุทธองค์ทอดพระเนตรแล้วตรัสชมเชย ในท่ามกลางสงฆ์ว่า

"ดูกรภิกษุทั้งหลาย อานนท์เป็นคนฉลาด เป็นเจ้าปัญญา ซาบซึ้งถึงเนื้อความแห่งถ้อยคำ ที่เรากล่าวโดยย่อให้พิสดารได้ ทำผ้ากุสิก็ได้ ทำผ้าอัฑฒกุสิ ผ้ามณฑล ผ้าอัฑฒมณฑล ผ้าวิวัฏฏะ ผ้าอนุวิวัฏฏะ ผ้าคีเวยยกะ ผ้าชังเฆยยกะ และผ้าพาหันตะก็ได้"


ความประหยัด
นอกจากนี้พระอานนท์เป็นผู้ที่ประหยัดและฉลาดในเรื่องนี้มาก ดังเหตุการณ์ที่พระมเหสีของพระเจ้าอุเทน แห่งนครโกสัมพี เสื่อมใสในการแสดงธรรมของพระอานนท์ จึงได้ถวายจีวรจำนวน 500 ผืน แด่พระอานนท์ เมื่อพระเจ้าอุเทนทราบ จึงตำหนิพระอานนท์ว่า รับจีวรไปจำนวนมาก เมื่อได้โอกาสจึงนมัสการถามว่าเอาจีวรไปทำอะไร

อุเทน:  “พระคุณเจ้า ทราบว่าพระมเหสีถวายจีวรพระคุณเจ้า 500 ผืน พระคุณเจ้ารับไว้ทั้งหมดหรือ”
อานนท์:  “ขอถวายพระพร อาตมาภาพรับไว้ทั้งหมด”
อุเทน:  “พระคุณเจ้ารับไว้ทำไมมากมายนัก”
อานนท์:  “เพื่อแบ่งถวายแก่พระภิกษุผู้มีจีวรเก่าคร่ำคร่า”
อุเทน:  “จะเอาจีวรเก่าคร่ำคร่าไปทำอะไร”
อานนท์:  “เอาไปทำผ้าปูที่นอน”
อุเทน:  “จะเอาผ้าปูที่นอนเก่าไปทำอะไร”
อานนท์:  “เอาไปทำผ้าปูพื้น”
อุเทน:  “จะเอาผ้าปูพื้นเก่าไปทำอะไร”
อานนท์:  “เอาไปทำผ้าเช็ดเท้า”
อุเทน:  “จะเอาผ้าเช็ดเท้าเก่าไปทำอะไร”
อานนท์:  “เอาไปโขลกขยำกับโคลนแล้วฉาบทาฝา”
พระเจ้าอุเทนทรงเลื่อมใสว่าพระสมณบุตรเป็นผู้ประหยัด จึงถวายผ้าจีวรอีก 500 ผืนแด่พระอานนท์

กำเนิดภิกษุณี
ภายหลังจากที่สมเด็จพระเจ้าสุทโธทนมหาราช ผู้เป็นพระพุทธบิดาได้สิ้นพระชนม์แล้ว พระนางมหาปชาบดี ผู้เป็นพระอัครมเหสีและพระมาตุจฉาของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้มีศรัทธาปสาทะที่จะออกบวชเป็นภิกษุณี จึงเสด็จพร้อมด้วยเหล่าศากยกุมารีหลายพระองค์ ได้ไปเข้าเฝ้าสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า เพื่อทูลขอออกบวช แต่พระพุทธองค์ทรงห้ามเสีย แม้พระนางเจ้าจะได้กราบทูลขอถึง 3 ครั้ง แต่พระพุทธองค์ก็ไม่ทรงประทานพระพุทธานุญาต ทำให้พระนางเสียพระทัยมาก จึงทรงร้องไห้อยู่หน้าประตูป่ามหาวัน เมื่อพระอานนท์ทราบเข้า จึงมีมหากรุณาจิต คิดจะช่วยเหลือพระนางให้สำเร็จดังประสงค์ จึงได้ไปกราบทูลขอสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยอ้างเหตุผลต่างๆ ทำให้สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประทานพระพุทธานุญาต โดยมีเงื่อนไขว่าสตรีนั้นจะต้องรับครุธรรม 8 ประการ ก่อน ถึงจะอุปสมบทได้ เสร็จแล้วสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงแสดงครุธรรม 8 ประการแก่พระอานนท์ และพระอานนท์ก็จำครุธรรม 8 ประการนั้นไปบอกแก่พระนางมหาปชาบดี ซึ่งพระนางก็ทรงยอมรับครุธรรมนั้น และได้อุปสมบทเป็นภิกษุณีรูปแรกของพระพุทธศาสนา


บรรลุอรหัตผล

ภายหลังจากพิธีถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระแล้ว พระมหากัสสปเถระเจ้าได้ดำริจะให้มีการทำปฐมสังคายนาพระธรรมวินัย พระมหาเถระ ได้รับอนุมัติจากสงฆ์ ให้เลือกพระภิกษุผู้เชี่ยวชาญในพระธรรมวินัย จำนวน 500 รูป เพื่อทำปฐมสังคายนา ท่านพระมหากัสสปเถระเลือกได้ 499 รูปอีกรูปหนึ่งท่านไม่ยอมเลือก

ความจริงท่านต้องการจะเลือกเอาท่านพระอานนท์ แต่ขณะนั้นท่านพระอานนท์ยังไม่ได้เป็นพระอรหันต์ ครั้นจะเลือกท่าน พระอานนท์ ก็เกรงจะถูกครหาว่า "เห็นแก่หน้า" เพราะท่านรักพระอานนท์มาก แต่ครั้นจะเลือกภิกษุอื่น ไม่เลือกท่านพระอานนท์ ก็เกรงว่าการทำสังคายนาครั้งนี้จักไม่สำเร็จผลด้วยดี เพราะท่านพระอานนท์ ได้รับยกย่อง จากพระพุทธองค์ว่า เป็นพหุสูต เป็นธรรมภัณฑาคาริก จึงได้ระบุชื่อพระเถระอื่นๆ 499 รูป แล้วนิ่งเสีย ต่อเมื่อพระสงฆ์ลงมติว่า ท่านพระอานนท์ควรจะเข้าร่วมทำสังคายนาครั้งนี้ด้วย ท่านจึงได้รับเข้าเป็นคณะสงฆ์ ผู้จะทำสังคายนา ครบจำนวน 500 รูป

เมื่อได้รับคัดเลือกแล้ว ท่านได้เดินทางจากนครกุสินารากลับไปยังนครสาวัตถีอีก ในระหว่างทาง ท่านได้แสดงพระธรรมเทศนา แก่ประชาชนจำนวนมาก ที่เศร้าโศกเสียใจในการปรินิพพานของพระพุทธองค์ เมื่อถึงพระเชตวันมหาวิหาร ท่านก็ได้ปฏิบัติ ปัดกวาดพระคันธกุฏี เสมือนเมื่อพระพุทธองค์ยังทรงพระชนม์อยู่ นอกจากปฏิบัติพระคันธกุฏีแล้ว ท่านได้ใช้เวลาส่วนมาก ให้หมดไปด้วยการยืนและนั่ง ไม่ค่อยจะได้จำวัด ด้วยเหตุนี้เองจึงทำให้ท่านไม่สบาย ต้องฉันยาระบายเพื่อให้กายเบา

ครั้นให้ปฏิสังขรณ์เสนาสนะที่ชำรุดในพระเชตวันสำเร็จแล้ว พอใกล้วันเข้าพรรษาจึงได้ออกเดินทางไปสู่กรุงราชคฤห์ เพื่อร่วมทำสังคายนา เมื่อถึงแล้ว ท่านได้ทำความเพียรอย่างหนักเพื่อให้สำเร็จอรหัตตผล ก่อนการทำสังคายนา แต่ก็ยังไม่สำเร็จ เพื่อน ๆ ได้ตักเตือนท่านว่า ในวันรุ่งขึ้นท่านจะต้องเข้าไปนั่งในสังฆสันนิบาตแล้ว

ท่านเองเป็นพระเสขบุคคลอยู่ ขอให้ทำความเพียร อย่าประมาท ในคืนนั้น ท่านได้เดินจงกรม กำหนดกายคตาสติ จนจวบปัจจุสมัยใกล้รุ่ง จึงลงจากที่จงกรม หมายใจจะหยุดนอนพักผ่อนในวิหารสักครู่ก่อน เพราะท่านปรารภความเพียรเท่าไหร่ ก็ยังไม่สิ้นอาสวะซักที แต่พอเอนกายลงนอน ศีรษะยังไม่ทันถึงหมอน และเท้า ทั้งสองยังไม่พ้นจากพื้น ก็ได้สำเร็จ เป็นพระอรหันต์ ในอิริยาบถที่ไม่ได้ ยืน เดิน นั่ง นอน

ครั้นถึงเวลาประชุมทำสังคายนา พระมหาเถระรูปอื่น ๆ ก็พากันไปยังธรรมสภา ณ ถ้ำสัตตบรรณคูหา เขตเมืองราชคฤห์ กันอย่างพร้อมเพรียง และต่างรูปต่างก็นั่งอยู่ ณ อาสนะของตน ๆ แต่อาสนะของท่านพระอานนท์ยังว่างอยู่ เพราะท่านพระอานนท์ คิดใคร่จะประกาศให้พระมหาเถระทั้งหลายได้ทราบว่า ท่านได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้ว จึงไม่ได้ไปพร้อมกับพระเถระอื่น ๆ เมื่อกำหนดกาลเวลาพอเหมาะแล้ว ท่านจึงแทรกดินลงไป และผุดขึ้น ณ อาสนะแห่งตน แต่บางท่านกล่าวว่า ท่านเหาะไปทางอากาศตกลงบนอาสนะของท่าน

ความอ่อนน้อม
ก่อนการสังคายนาพระธรรมวินัยจะเริ่ม พระมหากัสสปเถระได้ตั้งปัญหาหลายประการ แก่พระอานนท์ อาทิ การใช้เท้าหนีบผ้า ของพระศาสดาในขณะปะหรือชุนผ้า การไม่อาราธนาให้สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าดำรงพระชนม์อยู่ แม้จะได้ทรงแสดงนิมิต โอภาสหลายครั้ง ก่อนที่พระองค์จะปลงสังขาร การเป็นผู้ขวนขวายให้สตรีเข้ามาบวชในพุทธศาสนา การไม่กราบทูลถามเรื่อง สิกขาบทเล็กน้อย ที่พระพุทธองค์ตรัสให้สงฆ์ถอนได้ว่าคือสิกขาบทอะไรบ้าง และการจัดสตรีให้เข้าไปถวายบังคม พระพุทธสรีระ ก่อนบุรุษภายหลังปรินิพพาน ทำให้น้ำตาของสตรีเหล่านั้นเปื้อนพระพุทธสรีระ ถึงแม้พระอานนท์เถระ จะอ้างเหตุผลมากล่าวแก่ที่ประชุมสงฆ์ แต่เมื่อที่ประชุมสงฆ์เห็นว่าเป็นอาบัติ ท่านก็แสดงอาบัติต่อสงฆ์ หรือแสดงการยอมรับผิด

การแสดงอาบัติของพระอานนท์นั้น เป็นกุศโลบายของพระมหากัสสปเถระที่ต้องการจะวาง ระเบียบวิธีการปกครองคณะสงฆ์ ให้ที่ประชุมเห็นว่า อำนาจของสงฆ์นั้นยิ่งใหญ่เพียงใด คำพิพากษาวินิจฉัยของสงฆ์ถือเป็นคำเด็ดขาด แม้จะเห็นว่าตนไม่ผิด แต่เมื่อสงฆ์เห็นว่าผิด ผู้นั้นก็ต้องยอม เป็นตัวอย่างที่ภิกษุสงฆ์รุ่นหลังจะได้ยอมทำตาม

นอกจากนี้ยังเป็นการเสริมเกียรติคุณของพระอานนท์เถระ ให้เป็นตัวอย่างของผู้ว่าง่าย เคารพยำเกรงผู้ใหญ่ เป็นปฏิปทาที่ใครๆ พากันอ้างถึงด้วยความนิยมชมชอบในการต่อมา

ปรินิพพาน
ภายหลังสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว พระอานนท์ได้เที่ยวจาริก สั่งสอนเวไนยสัตว์ แทนองค์พระ ศาสดา จนชนมายุของท่านล่วงเข้า 120 ปี (พ.ศ. 40) ท่านจึงได้พิจารณาอายุสังขารของท่านพบว่า อายุสังขารของท่าน นั้นยังอีก 7 วันก็จะสูญสิ้นเข้าสู่พระนิพพาน ท่านจึงพิจารณาว่าท่านจะเข้านิพพาน ณ ที่ใด ก็เห็นว่าท่านจะเข้านิพพาน ที่ปลายแม่น้ำโรหิณี ซึ่งตั้งอยู่ระหว่างเมืองกบิลพัสดุ์ กับเมืองเทวทหะ ซึ่งมีพระประยูรญาติอยู่ทั้ง 2 ฝ่าย จากนั้นท่านจึงได้ลาภิกษุสงฆ์ และชนทั้งหลาย จนครบ 7 วันแล้ว ท่านจึงได้แสดงอิทธิปาฏิหาริย์นานาประการ แล้วตั้งจิตอธิษฐานให้กายของท่านแตกออกเป็น 2 ภาค ภาคหนึ่งให้ตกที่ฝั่งกรุงกบิลพัสดุ์ อีกภาคหนึ่งตกที่เทวทหะ แล้วท่านได้เจริญเตโชกสิณ ทำให้เปลวเพลิงบังเกิดในร่างกาย เผาผลาญมังสะและโลหิตให้สูญสิ้น ยังเหลือแต่พระอัฐิธาตุสีขาวดังสีเงิน พระอัฐิธาตุที่เหลือจึงแตกออกป็น 2 ภาค ด้วยกำลังอธิษฐานของท่าน บรรดาพระประยูรญาติและชนที่มาชุมนุมกัน ณ ที่นั้นต่างก็รองรับพระธาตุไว้ แล้วสร้างพระเจดีย์บรรจุไว้ทั้ง 2 ฟากของแม่น้ำโรหิณี

หมายเหตุ : เรื่องราวของพระอานนท์ จากวิกิพีเดีย อาจมีการแต่เติมจากบรรดาเหล่า อรรถกถาจารย์ (ตามหลักฐานที่อ้างอิงของวิกิ..) เพื่อให้ดูอลังการมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะ เรื่องสุดท้ายคือ ปรินิพพาน ที่กล่าวว่า พระอานนท์มีการแสดง อิทธิปาฏิหาริย์ นานาประการ โดยแยกกายออกเป็น 2 ร่าง ซึ่งไม่น่าจะใช่ เพราะพระศาสดา ก็เคยตำหนิกับ ภาระทวาชะ พระอรหันต์ ที่แสดงฤทธิ์ เหาะไปเอาบาตรของเศรษฐี ที่กรุงราชคฤห์ ดังนั้น ประวัติของพระอานนท์ จึงน่าจะมีการใส่ใข่ให้ดูตื่นเต้น... เป็นธรรมดา (ผู้จัดทำเว็บไซต์ อนาคามี )

   


 
 
 
 
พุทธวจน : อ่านคำสอนพระศาสดา อ่านแบบสบายตา โดยคัดลอกหนังสือทั้งเล่มมาจัดทำเป็นเว็บเพจ (คลิกอ่านพร้อมดาวน์โหลดไฟล์ pdf)
90 90 90 90
พุทธประวัติ ขุมทรัพย์ อริยสัจ
ภาคต้น
อริยสัจ
ภาคปลาย
ปฏิจจ ปฐมธรรม ตถาคต อนาคามี อินทรีย์
สังวร
สัตว์
สัตตานัง
ทาน
สกทาคามี
ฆราวาส
ชั้นเลิศ
มรรควิธี
ที่ง่าย
อริยวินัย เดรัจฉานวิชา กรรม สมถะ
วิปัสสนา
โสดาบัน นา
ปานสติ
จิต มโน
วิญญาณ
ก้าวย่าง
อย่างพุทธะ
ตามรอย
ธรรม
ภพ ภูมิ
พุทธวจน
สาธยาย
ธรรม
สังโยชน์