เว็บไซต์ อนาคามี เผยแพร่คำพระศาสดา เผยแพร่คำสอนตถาคต เว็บไซต์เผยแพร่พระสุตรคำสอนของพระพุทธเจ้า คลิปคำสอน คลิปสาธยายธรรม
  ประวัติบุคคล และสถานที่ ในสมัยพุทธกาล
ค้นหาคำที่ต้องการ           

  พุทธคยา สถานที่ตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า 202 Next


พุทธคยา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

พุทธคยา (บาลี: พุทฺธคยา, อังกฤษ: Bodh Gaya, Mahabodhi Temple, ฮินดี: बोधगया) คือคำเรียก กลุ่ม พุทธสถานสำคัญใน อำเภอคยา รัฐพิหาร ประเทศอินเดีย ซึ่งเป็นพุทธสถานที่มีความสำคัญที่สุด 1 ใน 4 แห่ง ของชาวพุทธ เนื่องจากเป็นที่ตั้งของสถานที่ตรัสรู้ของ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า

พุทธสังเวชนียสถาน ที่มีความสำคัญที่สุดของชาวพุทธทั่วโลก ปัจจุบันบริเวณพุทธศาสนสถาน อันเป็นที่ตั้งของ สถานที่ตรัสรู้ ของพระพุทธเจ้า มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า วัดมหาโพธิ อยู่ในความดูแลของคณะกรรมการร่วม พุทธ-ฮินดู

พุทธคยา ปัจจุบันตั้งอยู่ด้านตะวันตกของ แม่น้ำเนรัญชรา ไกลจากฝั่งแม่น้ำประมาณ 350 เมตร (นับจาก พระแท่นวัชรอาสน์) พุทธคยามีสัญลักษณ์ที่สำคัญคือองค์เจดีย์สี่เหลี่ยมที่สูงใหญ่ โดยสูงถึง 51 เมตร ฐานวัด โดยรอบได้ 121.29 เมตร ล้อมรอบด้วยโบราณวัตถุ โบราณสถานสำคัญ เช่น ต้นพระศรีมหาโพธิ์ พระแท่น วัชรอาสน์ ที่ประทับตรัสรู้ และ อนิมิสสเจดีย์ เป็นต้น ซึ่งนอกจากพุทธสถานโบราณแล้ว บริเวณโดยรอบ พุทธคยา ยังเป็นที่ตั้งของวัดพุทธนานาชาติ รวมทั้งวัดไทยคือ วัดไทยพุทธคยา

สำหรับชาวพุทธ พุทธคยา นับเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางที่สำคัญที่สุด ของนักแสวงบุญชาวพุทธทั่วโลก ที่ต้องการมาสักการะสังเวชนียสถานสำคัญ 1 ใน 4 แห่งของพระพุทธศาสนา โดยในปี พ.ศ. 2545 วัดมหาโพธิ (พุทธคยา) สถานที่ตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก ประเภทมรดกทางวัฒนธรรม ขององค์การยูเนสโก

ที่ตั้งพุทธคยา
พุทธคยา เป็นพุทธสังเวชนียสถานที่สำคัญที่สุด 1 ใน 4 สังเวชนียสถาน และถือว่าเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุด ของชาวพุทธทั่วโลก เพราะเป็นจุดเริ่มต้นของพระพุทธศาสนา เป็นสถานที่เจ้าชายสิทธัตถะ ได้ตรัสรู้ พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ เป็นสมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นเวลากว่าสองพันห้าร้อยปี ที่สถานที่แห่งนี้เป็นศูนย์รวม ของจุดหมายแสวงบุญ ของชาวพุทธผู้มีศรัทธาทั่วโลก

ปัจจุบันพุทธคยามีชื่อเรียกอีกชื่อว่า วัดมหาโพธิ์ (อังกฤษ: Mahabodhi Temple) ตั้งอยู่ที่จังหวัดคยา รัฐพิหาร ประเทศอินเดีย ห่างจากริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา 350 เมตร อดีตตำบลที่ตั้งพุทธคยาชื่อว่า อุรุเวลาเสนานิคม ปัจจุบันเพี้ยนมาเป็น อุเรล ในปัจจุบันพุทธคยา อยู่ในความดูแล ของคณะกรรมการร่วม พุทธ-ฮินดู2 และพุทธคยา ได้รับการยกย่องจากองค์การยูเนสโก UNESCO ให้เป็นมรดกโลก ประเภทมรดกทางวัฒนธรรม เมื่อปี พ.ศ. 2545

พุทธคยาในสมัยพุทธกาล
ในสมัยพุทธกาล พุทธคยา อยู่ในดินแดนที่เรียกกันว่า ชมพูทวีป ตั้งอยู่ในหมู่บ้านนิคมชื่อว่าอุรุเวลา ในแคว้นมคธ เป็นสถานที่ ๆ ร่มรื่นเป็นรมณียสถาน สะดวกด้วยโคจรคาม เหมาะแก่การบำเพ็ญเพียรทางจิต สภาพของพุทธคยา ในสมัยพุทธกาล อาจจะพิจารณาได้จากพุทธพจน์ในพระไตรปิฏก ที่ได้ตรัสกับโพธิราชกุมาร ในโพธิราชกุมารสูตร ราชวรรค มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ ซึ่งพระพุทธองค์ได้ทรงพรรณาถึงตำบล อุรุเวลาเสนานิคมไว้ว่า

ราชกุมาร! เรานั้นเมื่อหลีกไปจากสำนักอุทกผู้รามบุตรแล้ว แสวงหาอยู่ว่าอะไรเป็นกุศล ค้นหาแต่สิ่งที่ประเสริฐ ฝ่ายสันติอันไม่มีอื่นยิ่งกว่า, เที่ยวจาริกไปตามลำดับหลายตำบลในมคธรัฐ จนบรรลุถึงตำบล อุรุเวลาเสนานิคม พักแรมอยู่ ณ ตำบลนั้น.

ณ ที่นั้น เราได้พบภาคพื้นรมณียสถาน มีชัฏป่าเยือกเย็น แม่น้ำใสเย็นจืดสนิท มีท่าน้ำราบเรียบ เป็นอันดี น่าเพลินใจ มีบ้านสำหรับโคจร ตั้งอยู่โดยรอบ.

ราชกุมาร! เราได้เห็นแล้ว เกิดความรู้สึกว่า "ภูมิภาคนี้น่ารื่นรมย์จริง ชัฏป่าเย็นเยือก แม่น้ำไหลใสเย็นจืดสนิท มีท่าน้ำราบเรียบเป็นอันดีน่าเพลินใจ ทั้งที่โคจรก็ตั้งอยู่โดยรอบ, ที่นี้สมควรเพื่อจะตั้งความเพียร ของกุลบุตร ผู้ต้องการ ด้วยความเพียร" ดังนี้. ราชกุมาร! เรานั่งพักอยู่ ณ ตำบลนั้นเอง ด้วยคิดว่าที่นี้สมควรแล้ว เพื่อการตั้ง ความเพียร ดังนี้.
สยามรฏฺฐเตปิฏกํ ปาลี. โพธิราชกุมารสุตฺตํ ราชวคฺค ม. ม. ๑๓/๔๔๘/๔๙๑

เมื่อพระพุทธองค์ได้ตรัสรู้แล้ว พระองค์ก็ได้ประทับอยู่ ณ พุทธคยา เพื่อเสวยวิมุตติสุข (ความสุขอันเกิดจาก ความหลุดพ้น) อยู่ 7 สัปดาห์ และเกิดเรื่องราวต่าง ๆ มากมาย ณ โพธิมณฑลแห่งนี้ภายในเวลา 7 สัปดาห์ ดังกล่าว ซึ่งรวมถึงเรื่องราว ของตปุสสะ และภัลลิกะ 2 พ่อค้า ที่เดินทางผ่านมาเห็นพระพุทธองค์ มีพระวรกาย ผ่องใส จึงเข้ามาถวายข้าวสัตตุผล และสัตตุก้อน แล้วแสดงตนเป็นทวิวาจกอุบาสก ผู้ถึงพระพุทธและพระธรรม เป็นสรณะคู่แรกของโลก และพระพุทธองค์ ได้ทรงประทาน พระเกศาแก่พ่อค้าทั้งคู่เป็นที่ระลึก ในพุทธานุสสติ ด้วย3

พุทธคยาในสมัยพุทธกาล หลังจากการตรัสรู้ และเสวยวิมุตติสุขของพระพุทธองค์แล้ว ไม่ปรากฏหลักฐานว่า พระพุทธองค์ได้เสด็จมา ณ ที่แห่งนี้แต่อย่างใด มีกล่าวถึงในอรรถกถาแต่เมื่อคราวพระอานนท์ ได้มา ณ พุทธคยา เพื่อนำเมล็ดพันธ์ต้น พระศรีมหาโพธิ์ที่เจ้าชายสิทธัตถะตรัสรู้ กลับไปปลูก ณ วัดพระเชตวัน เมืองสาวัตถี ตามความต้องการของ อนาถบิณฑิกเศรษฐี ซึ่งปรารถนาให้มีสิ่งเตือนใจเมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จไปประทับที่อื่น ต่อมาต้นโพธิ์ต้นที่อยู่ ณ วัดพระเชตะวันจึงได้ชื่อว่า อานันทโพธิ์ และยังคงยืนต้นมาจนถึงปัจจุบัน

พุทธคยาหลังพุทธปรินิพพาน
บริเวณกลุ่มพุทธสถานพุทธคยา อันเป็นอนุสรณ์สถานระลึกถึงการตรัสรู้ของพระพุทธองค์นั้น เริ่มสร้างขึ้น ตั้งแต่สมัย พระเจ้าอโศกมหาราช4 และสร้างต่อเติมเรื่อยมา โดยกษัตริย์ชาวพุทธในอินเดีย พระองค์ต่อ ๆ มา จนกระทั่ง เมื่อกองทัพมุสลิมบุก เข้ามาโจมตีอินเดีย พุทธคยาจึงถูกปล่อยให้รกร้างไม่มีผู้คอยเฝ้าดูแล


สำหรับความเป็นไปของต้นพระศรีมหาโพธิ์ตรัสรู้นั้น

ต้นแรกเป็นสหชาติกับพระพุทธเจ้า (เกิดวันเดียวกันกับเจ้าชายสิทธัตถะประสูติ) มีอายุมาได้ 352 ปี จนถึงสมัย พระเจ้าอโศกมหาราช จึงถูกทำลายโดยพระชายาของพระเจ้าอโศกมหาราช เพราะความอิจฉาที่พระเจ้าอโศกรัก และหวงแหนต้นพระศรีมหาโพธิ์ต้นนี้ จนไม่สนใจพระนาง

ต้นพระศรีมหาโพธิ์ต้นที่สองนั้น ปลูกโดย พระเจ้าอโศกมหาราชจากหน่อพระศรีมหาโพธิ์ต้นเดิม และมีอายุยืนมา ประมาณ 871-891 ปี จนถูกทำลายในประมาณปี พ.ศ. 1143-1163 ด้วยน้ำมือของพระราชาฮินดู แห่งเบงกอลพระนามว่า ศศางกา ซึ่งพระองค์อิจฉาพระพุทธศาสนาที่มีความรุ่งเรืองมาก จึงทรงแอบนำกองทัพ เข้ามาทำลาย ต้นโพธิ์ต้นนี้

ต้นพระศรีมหาโพธิ์ต้นที่สามนั้น ปลูกโดยพระเจ้าปูรณวรมา กษัตริย์พระองค์สุดท้ายแห่งราชวงศ์เมารยะ และต้นที่สามนี้มีอายุยืนมากว่า 1,258-1,278 ปี จึงล้มลงในสมัยที่อินเดียเป็นอาณานิคมของอังกฤษ และ

ต้นพระศรีมหาโพธิ์ต้นที่สี่
ที่ยังคงยืนต้นมาจนปัจจุบัน ปลูกโดยนายพลเซอร์ อเล็กซานเดอร์ คันนิ่งแฮม เมื่อ พ.ศ. 2423

สำหรับความเป็นไปขององค์พระมหาโพธิเจดีย์นั้น พระเจ้าหุวิชกะ (อังกฤษ: Huvishka) มีพระราชศรัทธาสร้าง มหาเจดีย์ถวายเป็นพุทธบูชา ในปี พ.ศ. 694 เพื่อเป็นสถานที่สักการะสำหรับพุทธบริษัท โดยได้สร้างเป็น พระเจดีย์ รูปทรงสี่เหลี่ยม ทรงรีสวยงาม ติดกับพระแท่นวัชรอาสน์ทางทิศตะวันออก มี 2 ชั้น โดยชั้นล่าง เป็นสถานที่ กราบนมัสการ และชั้นบนเป็นห้องเจริญภาวนา ลักษณะของพระมหาโพธิเจดีย์มีเอกลักษณ์เฉพาะ และตั้งตระหง่าน เป็นสัญลักษณ์ของ มหาโพธิมณฑล มากว่าสองพันปี

ในบางช่วงพระราชาแห่งแคว้นต่าง ๆ ได้เข้ามาทำนุบำรุงอยู่เสมอ และได้รับการบูชารักษา จากชาวพุทธมาตลอด แต่มาขาดตอนไปเมื่อช่วงพันกว่าปี ที่ผ่านมา เนื่องจากแผ่นดินอินเดีย แถบนี้ถูกคุกคาม จากสงคราม และการ เสื่อมถอยของพระพุทธศาสนา พุทธคยาจึงถูกปล่อยทิ้งร้าง และถูกชาวฮินดูเข้าครอบครอง รวมทั้ง แปลงมหา โพธิเจดีย์ เป็นเทวสถาน

โดยเหตุการณ์ที่พุทธคยาถูกชาวฮินดูครอบครองนั้น เริ่มขึ้นในปี พ.ศ. 2133 จากการที่นักบวชฮินดูชื่อ โคเสนฆมัณฑิคีร์ ได้เดินทางมาถึงพุทธคยา และได้ตั้งสำนักเล็ก ๆ ใกล้กับพระมหาโพธิเจดีย์ เมื่ออยู่ไปนาน ๆ จึงกลายเป็นเจ้าของที่ไป โดยปริยาย (มีผู้กล่าวว่า พราหมณ์มหันต์นี้ คือ นักธุรกิจการค้าที่มาในรูปนักบวชฮินดู กล่าวกันว่าติดอันดับมหาเศรษฐี 1 ใน 5 ของรัฐพิหาร ผู้นำของมหันต์องค์ที่ 15 ในปัจจุบันก็มีการสืบทอดมา ตั้งแต่โคเสณฆมัณฑิคีร์) ซึ่งการที่พราหมณ์มหันต์เข้ามาครอบครองพุทธคยานั้น ก็ไม่ได้ดูแลพุทธคยา แต่อย่างไร

สภาพอันเสื่อมโทรมของพุทธคยานั้น อาจพิจารณาได้จากบทความของท่านเซอร์ เอดวินด์ อาโนลด์ (Sir Edwin Arnold) ผู้เรียบเรียงหนังสือพุทธประวัติภาษาอังกฤษ ที่มีชื่อเสียงโด่งดัง และกล่าวกันว่า เป็นพุทธประวัติฉบับ ภาษาอังกฤษ ที่มีความไพเราะ และน่าเลื่อมใสมาก คือ ประทีบแห่งเอเชีย (The Light of Asia) ซึ่งท่านเซอร์ ได้เดินทางไปที่พุทธคยา และได้พบกับความน่าเศร้าสลดใจหลายประการ ท่านได้เขียนบทความไว้ตอนหนึ่งว่า (แปลจากภาษาอังกฤษ)

ตะวันตกและวันออก โอกาสแจ่มจรัส โอกาสแห่งความรุ่งโรจน์
( EAST and West ; A Splendid Opportunity)
เขียนโดย ท่านเซอร์ เอ็ดวิน อาร์โนลด์

ในความเป็นจริง ไม่มีข้อกังขาสงสัยใดๆ ในความเป็นจริง ของสถานที่ สังเวชนียสถาน 4 ตำบลของชาวพุทธ คือ กบิลพัสดุ์ (ปัจจุบัน Bhuila) ซึ่ง เจ้าชายสิทธัตถะประสูติ, ป่าอิสิปตนะ ภายนอกเมืองพาราณสี ซึ่งพระพุทธองค์ ได้แสดงธรรมเทศนา กุสินารา ที่พระองค์ได้ปรินิพพาน และสถานที่ตรัสรู้ซึ่งมี ต้นโพธิ์เป็นเครื่องหมาย

ในวันเพ็ญเดือน 6 เมื่อ 2383 ปี มาแล้ว พระองค์ได้บำเพ็ญเพียรทางจิต และมีศรัทธาเป็นอย่างมาก ซึ่งพระองค์ ได้นำ ความเจริญทางอาารยธรรม มาสู่เอเชีย บรรดาสังเวชนียสถาน 4 ตำบล ต้นพระศรีมหาโพธิ์ ที่พุทธคยา คือสิ่งที่มีค่า และศักดิ์สิทธิ์ของชาวพุทธทั่วทั้งเอเชีย ทำไมหรือ เพราะว่า ปัจจุบันตกอยู่ในมือของ นักบวช พราหมณ์ ผู้ไม่ได้ดูแลวัดเลย นอกจากว่าจะถือเอาเป็นกรรมสิทธิ์เท่านั้น และพวกเขา ได้ตักตวงเอา ผลประโยชน์ เป็นอย่างมาก

ความจริงในเรื่องนี้ ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 13 กล่าวคือ 1400 ปีมาแล้ว สถานที่แห่งนี้ เป็นสถานที่พิเศษสุด และ ชาวพุทธ รักษาไว้ แต่ได้ทรุดโทรมลง และถูกปล่อยปละ ละเลย เหมือนกับวัดพุทธศาสนาแห่งอื่น ๆ จากการ อันตรธานสูญหาย ของพุทธศาสนา จากอินเดีย

300 ปีต่อมา นักบวชศาสนาพราหมณ์ที่ นับถือพระศิวะมาถึงที่นี้ และตั้งหลักปักฐาน ณ ที่ตรงนี้ ได้เริ่มครอบครอง สิ่งที่อยู่รอบ ๆ ซึ่งได้เห็นและก่อตั้งโรงเรียน สอนศาสนา ขึ้นมา พวกเขามีกำลังมากจึงเข้ายึดครอง เป็นเจ้าของวัด พุทธคยา ซึ่งรัฐบาล เบงกอล ได้เข้ามาบูรณะ และพื้นที่รอบพุทธคยา ในปี พ.ศ. 2423 (ค.ศ. 1880) และได้ขอ ส่วนหนึ่ง ของรั้วเสาหิน สมัยพระเจ้าอโศก จากพวกมหันต์ ซึ่งพวกเขา ได้นำไปสร้างบ้าน เพื่อนำกลับมาตั้งไว้ ณ ที่เดิม แต่พวกมหันต์ ไม่ได้คืนมา และท่านเซอร์ อาชเลย์ เอเดน (Sir Ashley Eden) ก็ไม่สามารถผลักดัน การบูรณะ ให้แล้วเสร็จได้

ชาวพุทธทั่วโลกได้ลืมคืนที่ดี และสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ และเป็นศูนย์กลางที่ยิ่งใหญ่ ของศรัทธา ดังเช่นนครเมกกะ และเยรูซาเลม (Mecca and Jeruzaiem) เป็นศูนย์กลางศรัทธาของผู้ศรัทธานับล้านคน เมื่อข้าพเจ้าได้พัก ที่โรงแรม ที่พุทธคยาปีสองปีที่ผ่านมา ข้าพเจ้ารู้สึกเศร้าใจที่เห็นเครื่องบูชา สาร์ท (Shraddh) ของพวกฮินดู ในสถานที่ศักดิ์สิทธิ์เช่นนี้ และวัตถุโบราณที่มีค่า จำนวนมาก หลายพันชิ้น ซึ่งจารึกด้วยภาษาสันสกฤต ได้ถูกทิ้ง จมอยู่ในดิน ข้าพเจ้าได้ถามนักบวชฮินดูว่า

“ข้าพเจ้าจะขอใบโพธิ์จากต้นพระศรีมหาโพธิ์ที่ศักดิ์สิทธิ์ได้หรือไม่”

“เจ้านาย จงหักเอาเท่าที่คุณชอบ มันไม่มีค่าอะไรสำหรับเรา” นี้เป็นคำตอบ จากพวกเขา

ไม่มีความละอายจากอาการที่พวกเขาไม่สนใจใยดี ข้าพเจ้าเก็บใบโพธิ์ 3-4 ใบอย่างเงียบ ๆ ซึ่งพวกมหันต์ได้หัก มาจากกิ่งบนหัวของพวกเขา และข้าพเจ้าได้นำ ใบโพธิ์ไปยังศรีลังกา เมื่อได้คัดลอกจารึกที่เป็นภาษาสันสกฤต ที่นั้น (ศรีลังกา) ข้าพเจ้าได้พบว่า ใบโพธิ์เป็นสิ่งมีค่าสำหรับชาวพุทธที่ศรีลังกา ซึ่งต้อนรับด้วยความ กระตือรือร้น และศรัทธา ใบโพธิ์ที่ข้าพเจ้าถวาย ได้ถูกนำไปที่เมืองแคนดี้ และได้ใส่ ไว้ในผอบที่มีค่าและได้รับการบูชาทุก ๆ วัน”

ในปี พ.ศ. 2417 พระเจ้ามินดง กษัตริย์แห่งพม่า ได้ส่งคณะทูตมายังอินเดีย เพื่อขอ บูรณปฏิสังขรณ์ พระวิหาร และจัดการบางประการ เพื่อดูแลรักษาพุทธสถานแห่งนี้ เมื่อได้รับ ความยินยอมจากพวกมหันต์และรัฐบาลอินเดีย จึงได้เริ่มทำการบูรณะ ทางรัฐบาลอินเดียได้ส่งนายพล เซอร์ อเล็กซานเดอร์ คันนิ่งแฮม กับ ด.ร.ราเชนทรลาละ มิตระ เข้าเป็นผู้ดูแลกำกับการบูรณะ หลังจากนั้น คณะผู้แทน จากพม่า จำเป็นต้องเดินทางกลับ ทางรัฐบาลอินเดียจึงรับงานบูรณะ ทั้งหมดมา ทำแทน และเสร็จสมบูรณ์ ในปี พ.ศ. 2427

จนในปี พ.ศ. 2500 รัฐบาลอินเดีย โดยการนำของ ฯพณฯ เยาวหรลาล เนรูห์ นายกรัฐมนตรีแห่งอินเดีย ได้เฉลิมฉลอง พุทธชยันตี (วิสาขบูชา) โดยเชิญชวน ประเทศ ที่นับถือพระพุทธศาสนาทั่วโลก มาสร้างวัดไว้ ในดินแดนต้นพุทธอุบัติภูมิ ซึ่งประเทศไทยโดยการนำของจอมพล แปลก พิบูลสงคราม ได้ตอบรับ และดำเนิน การสร้างวัด เป็นชาติแรก ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2500 และประเทศชาวพุทธอื่น ๆ (เช่น ญี่ปุ่น พม่า เกาหลี จีน ศรีลังกา ธิเบต ฯลฯ) ได้ดำเนินการสร้างวัดต่อมาตามลำดับ และรัฐบาลอินเดียได้มีส่วนสำคัญ ในการบูรณะพุทธคยา อย่างต่อเนื่อง จนมีสภาพ ดังที่เห็นในปัจจุบัน

จุดแสวงบุญและสภาพของพุทธคยาในปัจจุบัน
พุทธคยาในปัจจุบัน เป็นพื้นที่อยู่ต่ำกว่าพื้นปกติ เหมือนหลุมขนาดใหญ่ เนื่องจาก ผ่าน ระยะเวลากว่าสองพันปี ดินและตะกอน จากแม่น้ำได้ทับถมจนพื้นที่ ในบริเวณนี้ สูงขึ้น กว่าในสมัยพุทธกาลหลายเมตร ทำให้ในปัจจุบัน ผู้ไปนมัสการสังเวชนียสถาน แห่งนี้ ต้องเดินลงบันไดกว่าหลายสิบขั้น เพื่อถึงระดับพื้นดิน เดิมที่เป็นฐานที่ตั้ง พุทธสถานโบราณ

ปัจจุบันพุทธคยาได้รับการบูรณะและมีถาวรวัตถุที่สำคัญ ๆ ที่ชาวพุทธนิยมไปสักการะ คือ พระมหาโพธิเจดีย์ อนุสรณ์สถาน แห่งการตรัสรู้ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มีลักษณะเป็นเจดีย์ 4 เหลี่ยม สูง 170 ฟุต วัดโดย รอบฐานได้ 121.29 เมตร ภายในประดิษฐาน พระพุทธเมตตา พระพุทธรูปที่รอดจากการถูกทำลาย จากพระเจ้า ศศางกา

พระพุทธรูปองค์นี้เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย แบบศิลปะปาละ เป็นที่เคารพศรัทธา ของชาวพุทธทั่วโลก พระแท่นวัชรอาสน์ แปลว่าพระแท่นมหาบุรุษใจเพชร สร้างด้วย วัสดุหินทราย เป็นรูปหัวเพชรสี่เหลี่ยม กว้าง 4.10 นิ้ว 7.6 นิ้ว หนา 5 นิ้วครึ่ง ประดิษฐานอยู่ภายใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ เป็นพระแท่นจำลองขึ้นทับพระแท่นเดิม เพื่อเป็นหลักฐานยืนยันว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ ณ จุดนี้

ปัจจุบัน ประชาชนและรัฐบาลประเทศศรีลังกาได้อุทิศสร้างกำแพงแก้ว ทำด้วยทองคำ แท้ ประดิษฐานรอบต้น พระศรีมหาโพธิ์ และพระแท่นวัชรอาสน์ และนอกจากนี้ บริเวณ พุทธคยาและโดยรอบยังมีสถานที่สำคัญมากมาย เช่น กลุ่มพระเจดีย์เสวย วิมุตติสุข สระมุจลินทร์ บ้านนางสุชาดา ถ้ำดงคสิริ (สถานที่เจ้าชายสิทธัตถะ บำเพ็ญ ทุกกรกิริยา) วัดพุทธนานาชาติ เป็นต้น

ต่อมา ชาวพุทธทั่วโลกจึงได้ร่วมเสนอขอให้พุทธคยา ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็น มรดก โลก จนในที่สุด ในปี พ.ศ. 2545 ที่ประชุมคณะกรรมการมรดกโลก จึงได้พิจารณา ให้พุทธคยาเป็นมรดกโลก ด้วยข้อกำหนด และหลักเกณฑ์ ในการพิจารณา ดังนี้

(i) - เป็นตัวแทนซึ่งแสดงผลงานชิ้นเอก ที่จัดทำขึ้นด้วยการสร้างสรรค์อันฉลาด
(ii) - เป็นสิ่งที่มีอิทธิพลยิ่ง ผลักดันให้เกิดการพัฒนาสืบต่อมา ในด้านการออกแบบ ทางสถาปัตยกรรม อนุสรณ์ สถาน ประติมากรรม สวนและภูมิทัศน์ ตลอดจนการ พัฒนาศิลปกรรมที่เกี่ยวข้อง หรือการ พัฒนาการ ตั้งถิ่นฐาน ของมนุษย์ ซึ่งได้เกิดขึ้น ในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง หรือบนพื้นที่ใดๆของโลก ซึ่งทรงไว้ซึ่งวัฒนธรรม
(iii) - เป็นสิ่งที่ยืนยันถึงหลักฐานของวัฒนธรรม หรืออารยธรรมที่ปรากฏให้เห็นอยู่ ในปัจจุบัน หรือว่าที่สาบสูญ ไปแล้ว
(iv) - เป็นตัวอย่างอันโดดเด่น ของประเภทของสิ่งก่อสร้าง อันเป็นตัวแทนของ การพัฒนา ทางด้านวัฒนธรรม สังคม ศิลปกรรม วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี อุตสาหกรรม ในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ
(vi) - มีความคิดและความเชื่อที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับเหตุการณ์ หรือมีความโดดเด่น ยิ่งในประวัติศาสตร์

ปัจจุบัน พุทธคยาเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทาง ที่สำคัญที่สุดของนักแสวงบุญ ชาวพุทธทั่วโลก และมีผู้แสวง บุญ นับล้านคน ไปนมัสการมหาพุทธสถานแห่งนี้ ในฐานะเป็นสังเวชนียสถาน ที่ศักดิ์สิทธิ์ สำคัญที่สุด ของชาว พุทธ สถานที่ ๆ เป็นจุดเริ่มต้นแห่งพระพุทธศาสนา สถานที่ตรัสรู้ พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ แห่งองค์สมเด็จ พระบรมศาสดา สัมมาสัมพุทธเจ้า พระบรมมหาศาสดา ของชาวพุทธทั้งมวล    



  
เซอร์ เอดวิน อาโนลด์ ผู้แต่งหนังสือ "ประทีปแห่งเอเชีย"




โคนต้นพระศรีมหาโพธิ์ เหนือพระแท่นวัชรอาสนพุทธบัลลังก์ สถานที่ตรัสรู้ของ พระพุทธเจ้า

  
พระพุทธรูป "พระพุทธเมตตา" ในมหาโพธิเจดีย์ สร้างในสมัยปาละ
ด้วยหินแกรนิต สีดำ มีอายุกว่า 1,400 ปี​


พระสงฆ์สวดมนต์รอบปริมณฑลตรัสรู้ในพุทธคยา


พระสงฆ์สวดมนต์ใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์


เครื่องพุทธบูชาทองคำของพระเจ้าหุวิชกะ(กษัตริย์ผู้สร้างมหาโพธิเจดีย์) ที่พบในพุทธคยา



 
 
 
 
พุทธวจน : อ่านคำสอนพระศาสดา อ่านแบบสบายตา โดยคัดลอกหนังสือทั้งเล่มมาจัดทำเป็นเว็บเพจ (คลิกอ่านพร้อมดาวน์โหลดไฟล์ pdf)
90 90 90 90
พุทธประวัติ ขุมทรัพย์ อริยสัจ
ภาคต้น
อริยสัจ
ภาคปลาย
ปฏิจจ ปฐมธรรม ตถาคต อนาคามี อินทรีย์
สังวร
สัตว์
สัตตานัง
ทาน
สกทาคามี
ฆราวาส
ชั้นเลิศ
มรรควิธี
ที่ง่าย
อริยวินัย เดรัจฉานวิชา กรรม สมถะ
วิปัสสนา
โสดาบัน นา
ปานสติ
จิต มโน
วิญญาณ
ก้าวย่าง
อย่างพุทธะ
ตามรอย
ธรรม
ภพ ภูมิ
พุทธวจน
สาธยาย
ธรรม
สังโยชน์