ลุมพินีวัน
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ลุมพินีวัน (อักษรโรมัน: Lumbini Vana) เป็นพุทธสังเวชนียสถานที่สำคัญแห่งที่ 1 ใน 4 สังเวชนียสถาน ของชาวพุทธ เป็นสถานที่ประสูติของเจ้าชายสิทธัตถะ ผู้ซึ่งต่อมาตรัสรู้เป็น พระบรมศาสดา สัมมาสัมพุทธเจ้า ตั้งอยู่ที่อำเภอไภรวา แคว้นอูธ ประเทศเนปาล เป็นพุทธสังเวชนียสถาน 4 ตำบล เพียงแห่งเดียว ที่อยู่นอกประเทศอินเดีย
ลุมพินีวัน เดิมเป็นสวนป่าสาธารณะ หรือวโนทยานที่ร่มรื่นเหมาะแก่การพักผ่อน ในสมัยพุทธกาล ลุมพินีวันตั้งอยู่กึ่งกลางระหว่างเมืองกบิลพัสดุ์ กับ เมืองเทวทหะ ในแคว้นสักกะ บนฝั่งแม่น้ำโรหิณี หลังจากพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว พระเจ้าอโศกมหาราช ได้โปรดให้สร้างเสาหินขนาดใหญ่ มาปักไว้ตรงบริเวณที่ประสูติ เรียกว่า เสาอโศก ที่จารึกข้อความเป็น อักษรพราหมี ว่า พระพุทธเจ้าประสูติที่ตรงนี้
ปัจจุบันลุมพินีวัน อยู่ในเขตประเทศเนปาล ติดชายแดนประเทศอินเดียทางเหนือเมืองโคราฆปุระ ห่างจากเมืองติเลาราโกต (หรือ นครกบิลพัสดุ์) ทางทิศตะวันออก 11 กิโลเมตร และห่างจากสิทธารถนคร (หรือ นครเทวทหะ) ทางทิศตะวันตก 11 กิโลเมตร ซึ่งถูกต้องตามตำราพระพุทธศาสนาที่กล่าวว่า ลุมพินีวันสถานที่ประสูติ ตั้งอยู่ระหว่าง เมืองกบิลพัสดุ์ และ เมืองเทวทหะ ปัจจุบัน ลุมพินีวัน มีเนื้อที่ประมาณ 2,000 ไร่ ทางการเรียกสถานที่นี้ว่า รุมมินเด มีสภาพเป็นชนบท มีผู้อาศัยอยู่ไม่มาก มีสิ่งปลูกสร้างเป็นพุทธสถานเพียงเล็กน้อย แต่มีวัดพุทธอยู่ในบริเวณนี้หลายวัด รวมทั้งวัดไทยลุมพินี
ลุมพินีวันได้รับการยกย่องจาก องค์การยูเนสโกให้เป็นมรดกโลก ประเภทมรดกทางวัฒนธรรม ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2540
ลุมพินีวันในสมัยพุทธกาล
ในสมัยพุทธกาล ลุมพินีวัน อยู่ในเขตแห่งดินแดนที่เรียกว่าชมพูทวีป ตั้งอยู่ระหว่างกรุงกบิลพัสดุ์ เมืองหลวงของพระเจ้าสุทโธทนะ และกรุงเทวทหะ เมืองหลวงของพระเจ้าชนาธิป เป็นพระราชอุทยาน ลาดลุ่มร่มรื่น กึ่งกลางระหว่างทาง สำหรับพักผ่อนหย่อนใจของกษัตริย์ และประชาชน สภาพของลุมพินีวัน ในสมัยนั้นอาจจะพิจารณาได้จาก คัมภีร์วิสุทธชนวิลาสินี อรรถกถาขุททกนิกาย อปทาน ได้พรรณนา เป็นภาษาบาลีไว้ว่า
"ทวินฺนํ ปน นครานํ อนฺตเร อุภยนครวาสีนมฺปิ ลุมพินีวนํ นาม มงฺคลสาลวนํ อตฺถิ, ตสฺมึ สมเย มูลโต ปฏฺฐาย ยาว อคฺคสาขา สพฺพํ เอกปาลิผุลฺลํ อโหสิ สาขนฺตเรหิ เจว ปุปฺผนฺตเรหิ จ ปญฺจวณฺณา ภมรคณา นานปฺปการา จ สกุณสงฺฆา มธุรสฺสเรน วิกูชนฺตา สกลํ ลุมฺพินีวนํ จิตฺตลตาวนสทิสํ ฯเปฯ"
แปลว่า: "ในระหว่างเมืองทั้งสอง มีป่าสาละชื่อลุมพินีวันอันเป็นมงคล สมัยนั้นสาละทั้งหมด ล้วนมีดอก ออกสะพรั่ง เป็นแนวเดียวกัน แต่รากจนสุดปลายกิ่ง ตามกิ่งก้านสาขา และดอกนั้นล้วนมีหมู่ภมรนานาชนิด และหมู่นกหลากหลายชนิดส่งเสียงกู่ร้องประสานสำเนียง ดังทั่วทั้งป่า ลุมพินีวันนั้นจึงประดุจเช่นเดียวกับ สวนจิตรลดา (อันมีในดาวดึงสเทวโลก) ฉะนั้น ฯลฯ"
— วิสุทฺธชนวิลาสินี 1, หน้า 64
หลังจากการประสูติของพระพุทธองค์แล้ว ไม่ปรากฏหลักฐานอื่นว่าพระพุทธเจ้าได้เสด็จมา ณ ที่แห่งนี้แต่อย่างใด แม้พระพุทธเจ้าจะได้เสด็จมา ณ กรุงกบิลพัสดุ์ ก็ประทับที่นิโครธาราม ที่พระประยูรญาติ จัดถวายหา ได้มาประทับหรือแสดงธรรม ณ ลุมพินีวันอีกไม่ เนื่องเพราะลุมพินีวันนั้นเป็นอุทยาน ไม่มีผู้คนอาศัยนั่นเอง
ลุมพินีวันหลังพุทธปรินิพพาน
หลังพุทธปรินิพาน กษัตริย์ซึ่งได้รับส่วนแบ่งแห่งพระบรมสารีริกธาตุ ได้นำพระบรมสารีริกธาตุ มาบรรจุไว้ในสถูปแห่งหนึ่ง ไม่ไกลจากลุมพินีวันนัก จวบจนพุทธศักราชได้ 294 ปี พระเจ้าอโศกมหาราช ได้เสด็จนมัสการพุทธสังเวชนียสถานทั่วทั้งชมพูทวีป พร้อมด้วยพระโมคคัลลีบุตรติสสเถระ (หรือพระอุปคุต) ได้เสด็จมานมัสการ ณ ลุมพินีนี้ พระองค์โปรดฯ ให้พระโมคคัลลีบุตรติสสเถระนำทาง และชี้จุดที่ เจ้าชายสิทธัตถะ ประสูติ แล้วทรงสร้างอาราม พระเจดีย์และเสาศิลาจารึกไว้เป็นสัญลักษณ์ว่า ลุมพินีวันนี้มีความสำคัญอย่างไร ซึ่งเสาศิลาหินทรายของพระเจ้าอโศกยังคงตั้งอยู่ ณ ที่เดิมจนถึงปัจจุบัน
หลังจากยุคของพระเจ้าอโศกมหาราช เรื่องราวของลุมพินีวันได้หายไปจากหน้าประวัติศาสตร์ ของพระพุทธศาสนา เกือบ 700 ปี โดยไม่ปรากฏหลักฐานเอกสาร ที่สามารถสืบค้นถึงความเป็นไป ของลุมพินีวัน ในช่วงนี้ได้ จนในประมาณ พ.ศ. 900 สมณะฟาเหียน ได้เดินทางจากประเทศจีน มาถึงลุมพินีวัน ท่านได้กล่าวไว้สั้น ๆ เพียงว่าได้พบ บ่อสรงสนาน และระบุที่ตั้งของลุมพินีวันว่า อยู่ไกลจากกรุงกบิลพัสดุ์ ไปทางทิศตะวันออกประมาณ 14-16 กิโลเมตร
ต่อมา ในปี พ.ศ. 1181 สมณะเฮี้ยนจัง หรือ พระถังซำจั๋ง ได้เดินทางมาถึง ลุมพินีวัน โดยได้จดบันทึก ระบุที่ตั้งสถานที่ต่าง ๆ ในลุมพินีวันไว้คร่าว ๆ ท่านได้กล่าวถึงบ่อสรงสนาน ซึ่งคงเป็นบ่อเดียวกับที่ สมณะฟาเหียน กล่าวไว้ในบันทึก ซึ่งบ่อนี้ยังคงมีอยู่มาจนปัจจุบัน และกล่าวว่าไม่ไกลจากบ่อนั้นไปประมาณ 24 ก้าว มีต้นสาละต้นหนึ่ง เชื่อกันว่าเป็นจุดที่เจ้าชายสิทธัตถะประสูติ จากจุดนั้นไปทางใต้มีเจดีย์องค์หนึ่ง เชื่อกันว่าเป็นจุดที่พระอินทร์เสด็จจากสวรรค์ ลงมาต้อนรับพระราชโอรสที่ประสูติใหม่ ใกล้ ๆ กันมีเจดีย์อีกสี่องค์ ที่สร้างไว้เพื่อถวายแก่ท้าวจตุโลกบาล ที่ทำหน้าที่ถวายอภิบาลพระโอรสประสูติใหม่ และใกล้กันนั้นมีเสาอโศกรูปสิงห์ประดิษฐานอยู่บนยอด
จวบจน พ.ศ. 2438–2439 เซอร์อเล็กซานเดอร์ คันนิงแฮม และคณะ ได้ค้นพบเสาศิลาพระเจ้าอโศก ซึ่งถูกฝังดินไว้ และพบจารึกเป็นอักษรพราหมี ระบุว่าที่แห่งนี้คือสถานที่ เจ้าชายสิทธัตถะประสูติ จากนั้นจึงเริ่มมีการขุดค้นทางโบราณคดี โดยพบซากปรักหักพังจำนวนมาก ซากสถูปกว่า 50 องค์ และซากวิหารอาราม มีอายุตั้งแต่สมัยราชวงศ์โมริยะ ราชวงศ์ศุงคะ ราชวงศ์กุษาณะ และสมัยคุปตะ (ประมาณ พ.ศ. 300 - พ.ศ. 950)
จุดแสวงบุญและสภาพของลุมพินีวันในปัจจุบัน
ปัจจุบัน ลุมพินีวันได้รับการบูรณะ และมีถาวรวัตถุสำคัญที่ชาวพุทธนิยมไปสักการะ คือ "เสาหินพระเจ้าอโศกมหาราช" ที่ระบุว่าสถานที่นี้เป็นสถานที่ประสูติ ของเจ้าชายสิทธัตถะ นอกจากนี้ ยังมี "วิหารมายาเทวี" ภายในประดิษฐานภาพหินแกะสลักพระรูป พระนางสิริมหามายา ประสูติพระราชโอรส โดยเป็นวิหารเก่า มีอายุร่วมสมัยกับเสาหินพระเจ้าอโศก ปัจจุบัน ทางการเนปาลได้สร้างวิหารใหม่ ทับวิหารมายาเทวีหลังเก่า และได้ขุดค้นพบศิลาจารึกรูปคล้ายรอยเท้า สันนิษฐานว่าเป็นจารึกรอยเท้าก้าวที่เจ็ดของ เจ้าชายสิทธัตถะ ที่ทรงดำเนินได้เจ็ดก้าวในวันประสูติ
พุทธอุทยานประวัติศาสตร์ของโลก
ลุมพินีวันได้รับการพัฒนาจากชาวพุทธทั่วโลก โดยเฉพาะจากโครงการฟื้นฟูพุทธสถาน ลุมพินีวัน ให้เป็น "พุทธอุทยานทางประวัติศาสตร์ของโลก" ซึ่งเป็นดำริของ อู ถั่น ชาวพุทธพม่า ในสมัยที่ท่านดำรงตำแหน่ง เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ ท่านตั้งใจเริ่มโครงการฟื้นฟูให้ ลุมพินีวัน เป็นศูนย์รวมจิตใจชาวพุทธ บนพื้นที่สี่เหลี่ยมผืนผ้ากว่า 6,000 ไร่ (ขนานตามแนวเหนือใต้) แบ่งพื้นที่เป็นสัดส่วนสำหรับปลูกป่า และสร้างวัดพุทธนานาชาติจากทั่วโลกกว่า 41 ประเทศ โดยโบราณสถานลุมพินีวันตั้งอยู่ทางด้านใต้ ปัจจุบัน มีวัดไทย และวัดพุทธทั่วโลกไปสร้างอยู่จำนวนมาก และมีขนาดใหญ่โต เพื่อรองรับพุทธศาสนิกชนที่มาสักการะแสวงบุญ
มรดกโลก
ในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญครั้งที่ 21 ที่เมืองนาโปลี ประเทศอิตาลี เมื่อ พ.ศ. 2540 ลุมพินีวันได้รับการขึ้นทะเบียนให้เป็นมรดกโลก โดยใช้ชื่อว่า "ลุมพินี ที่ประสูติพระพุทธเจ้า" ตามข้อกำหนดและหลักเกณฑ์ในการพิจารณาดังนี้
(iii) - เป็นสิ่งที่ยืนยันถึงหลักฐานของวัฒนธรรม หรืออารยธรรมที่ปรากฏให้เห็นอยู่ในปัจจุบันหรือว่าที่สาบสูญไปแล้ว
(vi) - มีความคิดหรือความเชื่อที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับเหตุการณ์ หรือมีความโดดเด่นยิ่งในประวัติศาสตร์
ฯพณฯ อู ถั่น อดีตเลขาธิการองค์การสหประชาชาติ ผู้ดำริให้ชาวพุทธทั่วโลก
ร่วมกันบูรณะลุมพินีวันให้เป็นพุทธอุทยานประวัติศาสตร์ของโลก
สระสรงสนาน และ มหามายาเทวีวิหาร หลังการบูรณะ
ชาวพุทธนมัสการ เสาพระเจ้าอโศกมหาราช
เครื่องหมายสถานที่
พระพุทธเจ้าประสูติ
ณ ลุมพินีวัน ประเทศเนปาล
ชมคลิป ลุมพินีวัน
|