เว็บไซต์ อนาคามี เผยแพร่คำพระศาสดา เผยแพร่คำสอนตถาคต เว็บไซต์เผยแพร่พระสุตรคำสอนของพระพุทธเจ้า คลิปคำสอน คลิปสาธยายธรรม
หนังสือพุทธวจนออนไลน์   ดูหนังสือทั้งหมด
90 90 90 90 90
 
พุทธประวัติ ขุมทรัพย์
อริยสัจ
ภาคต้น
อริยสัจ
ภาคปลาย
ปฏิจจ ปฐมธรรม ตถาคต อนาคามี อินทรีย์
สังวร
สัตว์
สัตตานัง
ทาน
สกทาคามี
ฆราวาส
ชั้นเลิศ
มรรควิธี
ที่ง่าย
 
   
อริยวินัย เดรัจฉานวิชา กรรม สมถะ
วิปัสสนา
โสดาบัน อานา
ปานสติ
จิต มโน
วิญญาณ
ก้าวย่าง
อย่างพุทธะ
ตามรอย
ธรรม
ภพ ภูมิ
พุทธวจน
สาธยาย
ธรรม
สังโยชน์  
   
ค้นหาคำที่ต้องการ           

  ก้าวย่าง อย่างพุทธะ-พุทธวจน   ดาวน์โหลดหนังสือ(ไฟล์ PDF)
  
  3 of 3  
 
  ก้าวย่าง อย่างพุทธะ พุทธวจน  ที่มา : http://watnapp.com/book  
       
    สารบัญ หน้า  
  ๒๕. อริยสัจสี่โดยสังเขป ....(ทรงแสดงด้วยความยึดในขันธ์ ๕) 71  
  ๒๖. อริยสัจ-ปฏิจจสมุปบาท 75  
  ๒๗. ความเป็นโสดาบัน ......ประเสริฐกว่าเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ 79  
  ๒๘. คุณสมบัติของพระโสดาบัน 82  
  ๒๙. ปาฏิหาริย์ สาม 91  
  ๓๐. ผู้อยู่ใกล้นิพพาน 98  
  ๓๑. ลักษณะแห่งอินทรียภาวนาชั้นเลิศ 103  
  ๓๒. สิ้นกิเลสก็แล้วกัน ไม่ต้องรู้ว่าสิ้นไปเท่าไร 105  
  ๓๓. ตถาคตเป็นเพียงผู้บอก .....จะถึงที่หมายต้องเดินเอาเอง 106  
  ๓๔. เหตุให้ไม่ปรินิพพานในปัจจุบัน 109  
  ๓๕. หมด “อาหาร” ก็นิพพาน 111  
  ๓๖. กฎอิทัปปัจจยตา หรือ หัวใจปฏิจจสมุปบาท 114  
  ๓๗. ปฏิจจสมุปบาท คือ ธรรมอันเป็นธรรมชาติ.....อาศัยกันแล้วเกิดขึ้น 115  
  ๓๘. ปัญญา สติ กับนามรูปดับ เพราะวิญญาณดับ 118  
  ๓๙. นิพพานเพราะไม่ยึดถือธรรมที่ได้บรรลุ 119  
  ๔๐. การปรินิพพาน 120  
  ๔๑. ผู้หลุดพ้นได้เพราะไม่ยึดมั่นถือมั่น 121  
  ๔๒. ธรรมเป็นส่วนแห่งวิชชา 122  
  ๔๓. คำ ชี้ชวนวิงวอน 123  
       
 
 





หน้า 71

๒๕
อริยสัจสี่โดยสังเขป (ทรงแสดงด้วยความยึดในขันธ์ ๕)

ภิกษุทั้งหลาย ! ความจริงอันประเสริฐมีสี่อย่าง
เหล่านี้, สี่อย่างเหล่าไหนเล่า ? สี่อย่าง คือ :-
ความจริงอันประเสริฐ คือ ทุกข์
ความจริงอันประเสริฐ คือ เหตุให้เกิดทุกข์
ความจริงอันประเสริฐ คือ ความดับไม่เหลือของทุกข์
และความจริงอันประเสริฐ คือ ทางดำเนินให้ถึงความดับไม่เหลือของทุกข์.

ภิกษุทั้งหลาย ! ความจริงอันประเสริฐคือทุกข์เป็นอย่างไรเล่า ? คำตอบ คือขันธ์อันเป็นที่ตั้งแห่งความยึดมั่นถือมั่น ห้าอย่าง.

ห้าอย่างนั้นอะไรเล่า ? ห้าอย่าง คือขันธ์อันเป็นที่ตั้งแห่งความยึดมั่นถือมั่น ได้แก่รูป เวทนา สัญญา สังขาร และ วิญญาณ.

ภิกษุทั้งหลาย ! อันนี้เรากล่าวว่าความจริงอันประเสริฐ คือ ทุกข์.

ภิกษุทั้งหลาย ! ความจริงอันประเสริฐคือเหตุให้เกิดทุกข์ เป็นอย่างไรเล่า ?
คือ ตัณหาอันใดนี้ที่เป็นเครื่องนำให้มีการเกิดอีก อันประกอบด้วยความกำหนัด เพราะอำนาจความเพลิน มักทำให้เพลิด เพลินยิ่งในอารมณ์นั้นๆ ได้แก่ ตัณหาในกาม ตัณหาในความมีความเป็น ตัณหาในความไม่มีไม่เป็น.

ภิกษุทั้งหลาย ! อันนี้เรากล่าวว่าความจริงอันประเสริฐ คือ เหตุให้เกิดทุกข์.
ภิกษุทั้งหลาย ! ความจริงอันประเสริฐคือความดับไม่เหลือของทุกข์ เป็นอย่างไรเล่า ? คือ ความดับสนิท เพราะความจางคลาย ดับไปโดยไม่เหลือ ของตัณหานั้น ความสละลงเสีย ความสลัดทิ้งไป ความปล่อยวาง ความไม่อาลัย ถึงซึ่งตัณหา นั้นเอง อันใด.

ภิกษุทั้งหลาย ! อันนี้เรากล่าวว่าความจริงอันประเสริฐ คือความดับไม่เหลือ ของทุกข์.

ภิกษุทั้งหลาย ! ความจริงอันประเสริฐคือทางดำเนิน ให้ถึงความดับไม่เหลือ ของทุกข์ เป็นอย่างไรเล่า ? คือ หนทาง อันประเสริฐประกอบด้วยองค์ ๘ นั่นเอง ได้แก่สิ่งเหล่านี้คือความเห็นชอบ ความดำริชอบ การพูดจาชอบ การทำงานชอบ การเลี้ยงชีวิตชอบ ความพากเพียรชอบ ความระลึกชอบ ความตั้งใจมั่นชอบ.

ภิกษุทั้งหลาย ! อันนี้เรากล่าวว่าความจริงอันประเสริฐ คือทางดำเนินให้ถึง ความดับไม่เหลือของทุกข์. ภิกษุทั้งหลาย ! เหล่านี้แลคือความจริงอันประเสริฐ สี่อย่าง.

ภิกษุทั้งหลาย ! เพราะเหตุนั้นในกรณีนี้พวกเธอพึงทำความเพียร เพื่อให้รู้ ตามเป็นจริงว่า

“นี้เป็นทุกข์
นี้เป็นเหตุให้เกิดขึ้นของทุกข์
นี้เป็นความดับไม่เหลือของทุกข์
นี้เป็นทางดำเนินให้ถึงความดับไม่เหลือของทุกข์”ดังนี้เถิด.


หน้า 75

๒๖
อริยสัจ-ปฏิจจสมุปบาท

ภิกษุทั้งหลาย !
ทุกขอริยสัจ เป็นอย่างไรเล่า ?
แม้ความเกิด ก็เป็นทุกข์
แม้ความแก่ ก็เป็นทุกข์
แม้ความตาย ก็เป็นทุกข์
แม้โสกะปริเทวะทุกขะโทมนัสอุปายาสทั้งหลาย ก็เป็นทุกข์ การประสบกับสิ่งไม่เป็นที่รัก เป็นทุกข์ ความพลัดพรากจากสิ่งเป็นที่รัก เป็นทุกข์ ปรารถนาสิ่งใดแล้วไม่ได้สิ่งนั้น นั่นก็เป็นทุกข์
กล่าวโดยย่อ ปัญจุปาทานักขันธ์ทั้งหลาย เป็นทุกข์.
ภิกษุทั้งหลาย ! นี้เรากล่าวว่า ทุกขอริยสัจ.

ภิกษุทั้งหลาย !
ทุกขสมุทยอริยสัจ เป็นอย่างไรเล่า ?
เพราะมีอวิชชาเป็นปัจจัย จึงมีสังขารทั้งหลาย
เพราะมีสังขารเป็นปัจจัย จึงมีวิญญาณ
เพราะมีวิญญาณเป็นปัจจัย จีงมีนามรูป
เพราะมีนามรูปเป็นปัจจัย จึงมีสฬายตนะ
เพราะมีสฬายตนะเป็นปัจจัย จึงมีผัสสะ
เพราะมีผัสสะเป็นปัจจัย จึงมีเวทนา
เพราะมีเวทนาเป็นปัจจัย จึงมีตัณหา
เพราะมีตัณหาเป็นปัจจัย จึงมีอุปาทาน
เพราะมีอุปาทานเป็นปัจจัย จึงมีภพ
เพราะมีภพเป็นปัจจัย จึงมีชาติ
เพราะมีชาติเป็นปัจจัย
ชรามรณะ โสกะปริเทวะทุกขะโทมนัสอุปายาสทั้งหลายจึงเกิดขึ้นครบถ้วน ความเกิดขึ้นพร้อมแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้ ย่อมมีด้วยอาการอย่างนี้.
ภิกษุทั้งหลาย ! นี้เรากล่าวว่าทุกขสมุทยอริยสัจ.

ภิกษุทั้งหลาย !
ทุกขนิโรธอริยสัจ เป็นอย่างไรเล่า?
เพราะความจางคลายดับไปโดยไม่เหลือแห่งอวิชชานั้นนั่นเทียว จึงมีความดับ แห่งสังขาร
เพราะมีความดับแห่งสังขาร จึงมีความดับแห่งวิญญาณ
เพราะมีความดับแห่งวิญญาณ จึงมีความดับแห่งนามรูป
เพราะมีความดับแห่งนามรูป จึงมีความดับแห่งสฬายตนะ
เพราะมีความดับแห่งสฬายตนะ จึงมีความดับแห่งผัสสะ
เพราะมีความดับแห่งผัสสะ จึงมีความดับแห่งเวทนา
เพราะมีความดับแห่งเวทนา จึงมีความดับแห่งตัณหา
เพราะมีความดับแห่งตัณหา จึงมีความดับแห่งอุปาทาน
เพราะมีความดับแห่งอุปาทาน จึงมีความดับแห่งภพ
เพราะมีความดับแห่งภพ จึงมีความดับแห่งชาติ
เพราะมีความดับแห่งชาติ นั่นแล
ชรามรณะ โสกะปริเทวะทุกขะโทมนัสอุปายาสทั้งหลายจึงดับสิ้น
ความดับลงแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้ ย่อมมี ด้วยอาการอย่างนี้.
ภิกษุทั้งหลาย ! นี้เรากล่าวว่าทุกขนิโรธอริยสัจ.

ภิกษุทั้งหลาย ! ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ เป็นอย่างไรเล่า ?
มรรคอันประเสริฐ ประกอบด้วยองค์ ๘ ประการนี้นั่นเอง กล่าวคือ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติสัมมาสมาธิ. ภิกษุทั้งหลาย ! นี้เรากล่าวว่าทุกข นิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ.

ภิกษุทั้งหลาย !ธรรมอันเราแสดงแล้วว่า “เหล่านี้ คืออริยสัจทั้งหลาย ๔ ประการ” ดังนี้ เป็นธรรมอันสมณพราหมณ์ ผู้รู้ทั้งหลายข่มขี่ไม่ได้ ทำให้เศร้าหมองไม่ได้ ติเตียนไม่ได้คัดง้างไม่ได้ ดังนี้ อันใด อันเรากล่าวแล้ว ข้อนั้น เรากล่าว หมายถึงข้อความนี้ ดังนี้ แล.

หน้า 80

๒๗
ความเป็นโสดาบันประเสริฐกว่าเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ

ภิกษุทั้งหลาย ! แม้พระเจ้าจักรพรรดิ ได้ครองความเป็นใหญ่ยิ่งแห่งทวีปทั้งสี่ เบื้องหน้าจากการตาย เพราะร่างกาย แตกดับ อาจได้เข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ เป็นสหายอยู่ร่วมกับเหล่าเทวดาชั้นดาวดึงส์ ถูกแวดล้อมอยู่ด้วยหมู่นางอัปษร ในสวนนันทวัน ท้าวเธอเป็นผู้เอิบอิ่มเพียบพร้อมด้วยกามคุณทั้งห้า อันเป็นของทิพย์อย่างนี้ก็ตาม แต่กระนั้น ท้าวเธอก็ยัง รอดพ้นไปไม่ได้จากนรก จากกำเนิดเดรัจฉาน จากวิสัยแห่งเปรต และจากอบาย ทุคติ วินิบาต.

ภิกษุทั้งหลาย ! ส่วนอริยสาวกในธรรมวินัยนี้แม้เป็นผู้ยังอัตตภาพ ให้พอเป็นไปด้วยคำข้าวที่ได้มาจากบิณฑบาต ด้วยปลีแข้งของตนเอง พันกายด้วยการนุ่งห่มผ้าปอนๆ ไม่มีชาย หากแต่ว่าเป็นผู้ประกอบพร้อมแล้ว ด้วยธรรม ๔ ประการ เธอก็ยังสามารถรอดพ้น เสียได้ จากนรก จากกำเนิดเดรัจฉาน จากวิสัยแห่งเปรต และจากอบาย ทุคติ วินิบาต.

ภิกษุทั้งหลาย ! ธรรม ๔ ประการนั้นเป็นไฉน ? ๔ ประการ คือ อริยสาวก ในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ประกอบพร้อมแล้ว ด้วยความเลื่อมใส อันหยั่งลงมั่น ไม่หวั่นไหว ในองค์พระพุทธเจ้า...ในองค์พระธรรม... ในองค์พระสงฆ์... เป็นผู้ประกอบพร้อมแล้ว ด้วยศีลทั้งหลาย ชนิดเป็นที่พอใจ ของเหล่าอริยเจ้า ฯลฯ ดังนี้.

ภิกษุทั้งหลาย ! ระหว่างการได้ทวีปทั้งสี่ กับการได้ธรรม ๔ ประการนี้นั้น การได้ทวีปทั้งสี่มีค่าไม่ถึงเสี้ยวที่สิบหก ของการได้ธรรม ๔ ประการนี้ เลย.

หน้า 82

๒๘
คุณสมบัติของพระโสดาบัน

คหบดี !
ในกาลใด ภัยเวรห้าประการ อันอริยสาวกทำให้สงบรำงับได้แล้ว ด้วยอริยสาวก ประกอบพร้อมแล้วด้วยโสตาปัตติยังคะสี่ ด้วย อริยญายธรรมเป็นธรรม ที่อริยสาวกเห็นแล้วด้วยดี แทงตลอดแล้วด้วยดีด้วยปัญญา ด้วย

ในกาลนั้น อริยสาวกนั้น เมื่อหวังอยู่ก็พยากรณ์ตนด้วยตน นั่นแหละ ว่า “เราเป็นผู้มีนรกสิ้นแล้ว มีกำเนิดเดรัจฉานสิ้นแล้ว มีเปรตวิสัยสิ้นแล้ว มีอบาย ทุคติวินิบาติ สิ้นแล้ว เราเป็นผู้ถึงแล้วซึ่งกระแส (แห่งนิพพาน)มีความไม่ตกต่ำ เป็นธรรมดา เป็นผู้เที่ยงแท้ต่อนิพพานมีการตรัสรู้พร้อมเป็นเบื้องหน้า” ดังนี้.

คหบดี ! ภัยเวร ๕ ประการ เหล่าไหนเล่า อันอริยสาวกทำให้สงบรำงับได้แล้ว ?

(๑) คหบดี ! บุคคลผู้ ฆ่าสัตว์อยู่เป็นปกติ ย่อมประสบภัยเวรใดใน ทิฏฐธรรม (ปัจจุบัน) บ้าง ย่อมประสบภัยเวรใดใน สัมปรายิก (ในเวลาถัดมา) บ้าง ย่อมเสวยทุกขโทมนัสแห่งจิตบ้าง เพราะปาณาติบาต เป็นปัจจัย ภัยเวรนั้นๆ เป็นสิ่งที่อริยสาวกผู้เว้นขาดแล้วจากปาณาติบาต ทำให้สงบรำงับได้แล้ว.

(๒) คหบดี ! บุคคลผู้ ถือเอาสิ่งของที่เขาไม่ได้ให้อยู่เป็นปกติ ย่อมประสบภัยเวรใดในทิฏฐธรรมบ้าง ย่อมประสบภัยเวรใดในสัมปรายิก บ้าง ย่อมเสวยทุกขโทมนัสแห่งจิตบ้าง เพราะ อทินนาทาน เป็นปัจจัย ภัยเวรนั้นๆ เป็นสิ่งที่อริยสาวก ผู้เว้นขาดแล้วจาก อทินนาทาน ทำให้สงบรำงับได้แล้ว.

(๓) คหบดี ! บุคคลผู้ ประพฤติผิดในกามทั้งหลายอยู่เป็นปกติ ย่อมประสบภัยเวรใดใน ทิฏฐธรรม บ้าง ย่อมประสบภัยเวร ใดในสัมปรายิกบ้าง ย่อมเสวยทุกขโทมนัสแห่งจิตบ้าง เพราะกาเมสุมิจฉาจารเป็นปัจจัย ภัยเวรนั้นๆ เป็นสิ่งที่อริยสาวก ผู้เว้นขาดแล้วจากกาเมสุมิจฉาจาร ทำให้สงบรำงับได้แล้ว.

(๔) คหบดี ! บุคคลผู้กล่าวคำ เท็จอยู่เป็นปกติ ย่อมประสบภัยเวรใดในทิฏฐธรรมบ้าง ย่อมประสบภัยเวรใด ในสัมปรายิกบ้าง ย่อมเสวยทุกขโทมนัสแห่งจิตบ้าง เพราะมุสาวาทเป็นปัจจัย ภัยเวรนั้นๆ เป็นสิ่งที่อริยสาวก ผู้เว้นขาดแล้วจาก มุสาวาท ทำให้สงบรำงับได้แล้ว.

(๕) คหบดี ! บุคคลผู้ ดื่มสุราและเมรัยเป็นที่ตั้งของความประมาท อยู่เป็นปกติ ย่อมประสบภัยเวรใดในทิฏฐธรรม บ้าง ย่อมประสบภัยเวรใด ในสัมปรายิกบ้าง ย่อมเสวยทุกขโทมนัสแห่งจิตบ้าง เพราะสุราเมรยปานะ เป็นปัจจัย ภัยเวรนั้นๆ เป็นสิ่งที่อริยสาวก ผู้เว้นขาดแล้ว จากสุราเมรยปานะ ทำให้สงบรำงับได้แล้ว.

คหบดี ! ภัยเวร ๕ ประการเหล่านี้แล อันอริยสาวกทำให้สงบรำงับได้แล้ว.
.... .... .... ....
คหบดี ! อริยสาวก เป็นผู้ประกอบพร้อมแล้วด้วยองค์แห่งโสดาบัน ๔ ประการ เหล่าไหนเล่า ?

(๑) คหบดี ! อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ประกอบพร้อมแล้ว ด้วยความเลื่อมใสอันหยั่งลงมั่นไม่หวั่นไหว ในพระพุทธเจ้า (พุทธอเวจจัปปสาท) ว่า“ เพราะเหตุอย่างนี้ๆ พระผู้มีพระภาคเจ้านั้นเป็นผู้ไกล จากกิเลส ตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เอง เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยวิชชา และจรณะ เป็นผู้ไปแล้วด้วยดี เป็นผู้รู้โลกอย่างแจ่มแจ้ง เป็นผู้สามารถฝึกคน ที่ควรฝึกได้ อย่างไม่มีใครยิ่งกว่า เป็นครูของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้รู้ผู้ตื่น ผู้เบิกบานด้วยธรรม เป็นผู้มีความจำเริญ จำแนกธรรมสั่งสอนสัตว์” ดังนี้.

(๒) คหบดี ! อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ประกอบพร้อมแล้ว ด้วยความเลื่อมใสอันหยั่งลงมั่นไม่หวั่นไหว ในพระธรรม (ธัมมอเวจจัปปสาท) ว่า“พระธรรม เป็นสิ่งที่พระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสไว้ดีแล้วเป็นสิ่งที่ผู้ศึกษา และปฏิบัติพึงเห็นได้ด้วยตนเอง เป็นสิ่งที่ปฏิบัติได้ และให้ผลได้ ไม่จำกัดกาล เป็นสิ่งที่ควรกล่าวกะผู้อื่นว่า ท่านจงมาดูเถิด เป็นสิ่งที่ควรน้อมเข้ามาใส่ตัว เป็นสิ่งที่ผู้รู้ก็รู้ได้เฉพาะตน” ดังนี้.

(๓) คหบดี ! อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ประกอบพร้อมแล้ว ด้วยความเลื่อมใสอันหยั่งลงมั่นไม่หวั่นไหว ในพระสงฆ์ (สังฆอเวจจัปปสาท) ว่า“สงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า เป็นผู้ปฏิบัติดีแล้วเป็นผู้ปฏิบัติตรงแล้ว เป็นผู้ ปฏิบัติ เพื่อรู้ธรรมเป็นเครื่องออกจากทุกข์แล้ว เป็นผู้ปฏิบัติสมควรแล้ว ได้แก่บุคคลเหล่านี้คือ คู่แห่งบุรุษสี่คู่ นับเรียงตัวได้แปดบุรุษ นั่นแหละคือ สงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า เป็นสงฆ์ควรแก่สักการะที่เขานำมาบูชา เป็นสงฆ์ควรแก่สักการะ ที่เขาจัดไว้ต้อนรับเป็นสงฆ์ควรรับทักษิณาทาน เป็นสงฆ์ที่บุคคลทั่วไป จะพึงทำอัญชลี เป็นสงฆ์ที่เป็นนาบุญของโลก ไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า” ดังนี้.

(๔) คหบดี ! อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ประกอบพร้อมแล้ว ด้วยศีลทั้งหลายในลักษณะเป็นที่พอใจของพระอริยเจ้า (อริยกันตศีล) เป็นศีลที่ไม่ขาดไม่ทะลุ ไม่ด่าง ไม่พร้อย เป็นศีลที่เป็นไทจากตัณหา วิญญูชนสรรเสริญ ไม่ถูกทิฏฐิลูบคลำ เป็นศีลที่เป็นไปพร้อมเพื่อสมาธิ ดังนี้.

คหบดี ! อริยสาวก เป็นผู้ประกอบพร้อมแล้วด้วยองค์แห่งโสดาบัน ๔ ประการ เหล่านี้แล.
.... .... .... ....
คหบดี ! ก็ อริยญายธรรม เป็นสิ่งที่อริยสาวกเห็นแล้วด้วยดี แทงตลอดแล้ว ด้วยดี ด้วยปัญญา เป็นอย่างไรเล่า ?

คหบดี ! อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ ย่อม ทำไว้ในใจโดยแยบคายเป็นอย่างดี ซึ่งปฏิจจสมุปบาทนั่นเทียวดังนี้ว่า “เพราะสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี เพราะความเกิดขึ้น แห่งสิ่งนี้ สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น.

เพราะสิ่งนี้ไม่มี สิ่งนี้จึงไม่มี เพราะความดับไปแห่งสิ่งนี้ สิ่งนี้จึงดับไป ข้อนี้ได้แก่ สิ่งเหล่านี้คือ เพราะมีอวิชชาเป็นปัจจัย จึงมีสังขารทั้งหลาย เพราะมีสังขารเป็น ปัจจัย จึงมีวิญญาณ ... ฯลฯ ... ฯลฯ... ฯลฯ ... เพราะมีชาติเป็นปัจจัย ชรามรณะ โสกะปริเทวะทุกขะโทมนัสอุปายาสทั้งหลาย จึงเกิดขึ้นครบถ้วน ความเกิดขึ้น พร้อม แห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้ ย่อมมี ด้วยอาการอย่างนี้.

เพราะความจางคลายดับไปไม่เหลือแห่งอวิชชานั้นนั่นเทียว จึงมีความดับแห่ง สังขาร เพราะมีความดับแห่งสังขาร จึงมีความดับแห่งวิญญาณ ... ฯลฯ ... ฯลฯ... ฯลฯ ... เพราะมีความดับแห่งชาตินั่นแล ชรามรณะโสกะปริเทวะ ทุกขะโทมนัสอุปายาสทั้งหลาย จึงดับสิ้น ความดับลงแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้ ย่อมมี ด้วยอาการอย่างนี้”.

คหบดี ! อริยญายธรรมนี้แล เป็นสิ่งที่อริยสาวกเห็นแล้วด้วยดี แทงตลอดแล้ว ด้วยดี ด้วยปัญญา.
.... .... .... ....

คหบดี ! ในกาลใดแล ภัยเวร ๕ ประการเหล่านี้ เป็นสิ่งที่อริยสาวกทำให้สงบ รำงับได้แล้ว ด้วย อริยสาวก เป็นผู้ประกอบ พร้อมแล้ว ด้วยโสตาปัตติยังคะสี่ เหล่านี้ ด้วยอริยญายธรรมนี้ เป็นธรรมอันอริยสาวกเห็นแล้วด้วยดี แทงตลอดแล้ว ด้วยดี ด้วยปัญญาด้วย

ในกาลนั้น อริยสาวกนั้น ปรารถนาอยู่ก็พยากรณ์ตนด้วยตนนั้นแหละว่า “เราเป็นผู้มีนรกสิ้นแล้ว มีกำเนิด เดรัจฉาน สิ้นแล้วมีเปรตวิสัยสิ้นแล้วมีอบาย ทุคติ วินิบาตสิ้นแล้ว เราเป็นผู้ถึงแล้วซึ่งกระแส (แห่งนิพพาน) มีธรรมอันไม่ ตกต่ำ เป็นธรรมดา เป็นผู้เที่ยงแท้ต่อนิพพาน มีการตรัสรู้พร้อมเป็นเบื้องหน้า” ดังนี้ แล.

หน้า 91

๒๙
ปาฏิหาริย์ สาม

เกวัฏฏะ ! นี่ปาฏิหาริย์สามอย่าง ที่เราได้ทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งเอง แล้วประกาศให้ผู้อื่นรู้ได้ ๓ อย่างอะไรเล่า ? ๓ อย่าง คือ :-

๑. อิทธิปาฏิหาริย์
๒. อาเทสนาปาฏิหาริย์
๓. อนุศาสนีปาฏิหาริย์

(๑) เกวัฏฏะ ! อิทธิปาฏิหาริย์นั้น เป็นอย่างไรเล่า ?
เกวัฏฏะ ! ภิกษุในกรณีนี้ กระทำอิทธิวิธีมีประการต่างๆ ผู้เดียวแปลงรูป เป็นหลายคน หลายคนเป็นคนเดียว ทำที่กำบัง ให้เป็นที่แจ้ง ทำที่แจ้งให้เป็น ที่กำบัง ไปได้ไม่ขัดข้อง ผ่านทะลุฝา ทะลุกำแพง ทะลุภูเขาดุจไปในอากาศ ว่างๆ ผุดขึ้น และดำรงอยู่ในแผ่นดินได้เหมือนในน้ำ เดินไปได้เหนือน้ำ เหมือนเดินบนแผ่นดินไปได้ในอากาศเหมือนนกมีปีก ทั้งที่ยัง นั่งสมาธิคู้บัลลังก์ ลูบคลำดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ อันมีฤทธิ์อานุภาพมากได้ด้วยฝ่ามือ และ แสดงอำนาจทางกาย เป็นไปตลอดถึงพรหมโลกได้.

เกวัฏฏะ ! กุลบุตรผู้มีศรัทธาเลื่อมใสได้เห็นการแสดงนั้นแล้ว เขาบอกเล่าแก่ กุลบุตรอื่นบางคนที่ไม่ศรัทธาเลื่อมใส ว่าน่าอัศจรรย์นัก. กุลบุตรผู้ไม่มีศรัทธา เลื่อมใสนั้น ก็จะพึงตอบว่า วิชาชื่อคันธารี1 มีอยู่ ภิกษุนั้นแสดงอิทธิวิธี ด้วยวิชานั่นเท่านั้น.

เกวัฏฏะ ! ท่านจะเข้าใจว่าอย่างไร  ก็คนไม่เชื่อ ไม่เลื่อมใส ย่อมกล่าวตอบผู้เชื่อ ผู้เลื่อมใสได้อย่างนั้น มิใช่หรือ ?

“พึงตอบได้ พระเจ้าข้า !”.

เกวัฏฏะ ! เราเห็นโทษในการแสดงอิทธิปาฏิหาริย์ ดังนี้แลจึงอึดอัด ขยะแขยง เกลียดชัง ต่ออิทธิปาฏิหาริย์.

1. คันธารี ชื่อมนต์ แต่งโดยฤษีมีนามคันธาระ อีกความหมายหนึ่งหมายถึงคำแปลว่าในแคว้นคันธาระ.

(๒) เกวัฏฏะ ! อาเทสนาปาฏิหาริย์นั้น เป็นอย่างไรเล่า ?
เกวัฏฏะ ! ภิกษุในกรณีนี้ ย่อมทายจิต ทายความรู้สึกของจิต ทายความตรึก ทายความตรอง ของสัตว์เหล่าอื่น ของบุคคลเหล่าอื่นได้ ว่า ใจของท่านเช่นนี้ ใจของท่านมีประการนี้ ใจของท่านมีด้วยอาการอย่างนี้. ... ฯลฯ ... กุลบุตรผู้ไม่เชื่อ ไม่เลื่อมใส ย่อมค้านกุลบุตรผู้เชื่อ ผู้เลื่อมใส ว่า วิชาชื่อมณิกา มีอยู่ ภิกษุนั้นกล่าวทายใจ ได้เช่นนั้นๆ ก็ด้วยวิชานั้น (หาใช่มีปาฏิหาริย์ไม่) เกวัฏฏะ ! ท่านจะเข้าใจว่าอย่างไร  ก็คนไม่เชื่อ ไม่เลื่อมใสย่อมกล่าวตอบผู้เชื่อ ผู้เลื่อมใสได้อย่างนั้น มิใช่หรือ ? “พึงตอบได้ พระเจ้าข้า !”.

เกวัฏฏะ ! เราเห็นโทษในการแสดง อาเทสนาปาฏิหาริย์ ดังนี้แลจึงอึดอัด ขยะแขยง เกลียดชัง ต่ออาเทสนาปาฏิหาริย์.

(๓) เกวัฏฏะ ! อนุศาสนีปาฏิหาริย์นั้น เป็นอย่างไรเล่า ?
เกวัฏฏะ ! ภิกษุในกรณีนี้ ย่อมสั่งสอนว่า“ท่านจงตรึกอย่างนี้ๆ อย่าตรึกอย่าง นั้นๆ จงทำไว้ในใจอย่างนี้ๆ อย่าทำไว้ในใจอย่างนั้นๆ จงละสิ่งนี้ จงเข้าถึงสิ่งนี้ๆ แล้วแลอยู่” ดังนี้. เกวัฏฏะ ! นี้เราเรียกว่าอนุศาสนีปาฏิหาริย์.

เกวัฏฏะ ! ข้ออื่นยังมีอีก  ตถาคตเกิดขึ้นในโลกนี้ เป็นพระอรหันต์ตรัสรู้ชอบเอง สมบูรณ์ด้วยวิชชาและจรณะ ดำเนินไปดี รู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกคนควรฝึกได้ อย่างไม่มีใครยิ่งกว่า เป็นครูของเทวดาและมนุษย์เป็นผู้เบิกบานแล้ว จำแนกธรรม สั่งสอนสัตว์.

ตถาคตนั้นทำให้แจ้งซึ่งโลกนี้ กับทั้งเทวดา มาร พรหม หมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณ พราหมณ์ เทวดาพร้อมทั้งมนุษย์ ด้วยปัญญาอันยิ่งเองแล้ว สอนผู้อื่นให้รู้แจ้ง ตาม.

ตถาคตนั้น แสดงธรรมไพเราะในเบื้องต้น–ท่ามกลาง–ที่สุด ประกาศพรหมจรรย์ พร้อมทั้งอรรถะ และพยัญชนะบริสุทธิ์ บริบูรณ์สิ้นเชิง. คหบดีหรือบุตรคหบดี หรือผู้เกิดในตระกูลใดตระกูลหนึ่ง ในภายหลังก็ดี ได้ฟังธรรมนั้นแล้วเกิด ศรัทธาในตถาคต.

เขาผู้ประกอบด้วยศรัทธา ย่อมพิจารณาเห็นว่า “ฆราวาสคับแคบ เป็นทางมาแห่ง ธุลี บรรพชาเป็นโอกาสว่าง การที่คนอยู่ครองเรือนจะประพฤติพรหมจรรย์ ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ โดยส่วนเดียว เหมือนสังข์ที่เขาขัดแล้วนั้น ไม่ทำได้โดยง่าย
ถ้ากระไร เราจะปลงผมและหนวด ครองผ้ากาสายะ ออกจากเรือน บวชเป็นผู้ ไม่เกี่ยวข้องด้วยเรือนเถิด” ดังนี้. โดยสมัยอื่นต่อมา เขาละกองสมบัติน้อยใหญ่ และวงศ์ญาติน้อยใหญ่ ปลงผมและหนวด ออกจากเรือน บวชเป็นผู้ไม่เกี่ยวข้องด้วยเรือนแล้ว.

ภิกษุนั้น ผู้บวชแล้วอย่างนี้ สำรวมแล้วด้วยความสำรวมในปาติโมกข์ ถึงพร้อม ด้วยมรรยาทและโคจร มีปกติเห็นเป็น ภัยในโทษทั้งหลาย แม้ว่าเป็นโทษ เล็กน้อย สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย ประกอบแล้วด้วยกายกรรม วจีกรรม อันเป็นกุศล มีอาชีวะบริสุทธิ์ ถึงพร้อมด้วยศีล มีทวารอันคุ้มครองแล้ว ในอินทรีย์ทั้งหลาย ประกอบด้วยสติ สัมปชัญญะ มีความสันโดษ.

เกวัฏฏะ ! ภิกษุถึงพร้อมด้วยศีล เป็นอย่างไรเล่า ?
เกวัฏฏะ ! ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ละการทำสัตว์มีชีวิตให้ตกล่วงไป เป็นผู้เว้นขาด จากปาณาติบาต วางท่อนไม้และ ศัสตราเสียแล้ว มีความละอาย ถึงความเอ็นดู กรุณา หวังประโยชน์เกื้อกูลแก่สัตว์ทั้งหลายทั้งปวงอยู่.
เกวัฏฏะ ! นี้เราเรียกว่า อนุศาสนีปาฏิหาริย์. ...

เกวัฏฏะ ! ภิกษุนั้น ครั้นจิตตั้งมั่นบริสุทธิ์ผ่องใส ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลส เป็นธรรมชาติอ่อนโยนควรแก่การงาน ตั้งอยู่ได้อย่างไม่หวั่นไหว เช่นนี้แล้ว เธอก็น้อมจิตไปเฉพาะต่ออาสวักขยญาณ. เธอย่อมรู้ชัดตามที่เป็นจริงว่า “นี้ทุกข์, นี้เหตุให้เกิดขึ้นแห่งทุกข์ นี้ความดับ ไม่เหลือแห่งทุกข์  นี้ทางดำเนินให้ถึง ความดับไม่เหลือแห่งทุกข์” และรู้ชัดตาม ที่เป็นจริงว่า “เหล่านี้อาสวะ นี้เหตุเกิดขึ้นแห่งอาสวะ นี้ความดับไม่เหลือ แห่งอาสวะ นี้ทางดำเนินให้ถึงความ ดับไม่เหลือแห่งอาสวะ”. เมื่อเธอรู้อยู่อย่างนี้เห็นอยู่อย่างนี้ จิตก็พ้นจากกามาสวะ ภวาสวะ อวิชชาสวะ. ครั้นจิตหลุดพ้นแล้วก็เกิดญาณหยั่งรู้ว่า “จิตพ้นแล้ว”.

เธอรู้ชัดว่า “ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำได้ทำสำเร็จแล้ว กิจอื่นที่จะต้องทำเพื่อความเป็นอย่างนี้ มิได้มีอีก” ดังนี้.
เกวัฏฏะ ! เปรียบเหมือนห้วงน้ำใสที่ไหล่เขาไม่ขุ่นมัว คนมีจักษุดียืนอยู่บนฝั่ง ในที่นั้น เขาเห็นหอยต่างๆ บ้าง กรวดและหินบ้าง ฝูงปลาบ้าง อันหยุดอยู่ และ ว่ายไป ในห้วงน้ำนั้น เขาจะสำเหนียกใจอย่างนี้ว่า“ห้วงน้ำนี้ใส ไม่ขุ่นเลย หอย ก้อนกรวด ปลาทั้งหลายเหล่านี้ หยุดอยู่บ้าง ว่ายไปบ้าง ในห้วงน้ำนั้น” ดังนี้ ฉันใดก็ฉันนั้น.
เกวัฏฏะ ! นี้เราเรียกว่า อนุศาสนีปาฏิหาริย์.

เกวัฏฏะ ! เหล่านี้แล ปาฏิหาริย์ ๓ อย่าง ที่เราได้ทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งเอง แล้วประกาศให้ผู้อื่นรู้ตามด้วย.

หน้า 98

๓๐
ผู้อยู่ใกล้นิพพาน


ภิกษุทั้งหลาย !
ภิกษุ เมื่อประกอบพร้อมด้วยธรรมสี่อย่าง แล้วไม่อาจที่จะเสื่อมเสีย มีแต่จะ อยู่ใกล้นิพพานอย่างเดียว.

ธรรมสี่อย่างอะไรบ้างเล่า ? ธรรมสี่อย่างคือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้
เป็นผู้สมบูรณ์ด้วยศีล

เป็นผู้คุ้มครองทวาร ในอินทรีย์ทั้งหลาย
เป็นผู้รู้ประมาณในโภชนะ
เป็นผู้ตามประกอบในชาคริยธรรมอยู่เนืองนิจ.

ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุ เป็นผู้สมบูรณ์ด้วยศีล เป็นอย่างไรเล่า ?
ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีศีล มีการสำรวมด้วยปาติโมกขสังวร มีมรรยาทและโคจรสมบูรณ์อยู่ เป็นผู้เห็นภัยในโทษทั้งหลาย แม้เล็กน้อย สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย.ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุอย่างนี้ชื่อว่า เป็นผู้สมบูรณ์ด้วยศีล.

ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุ เป็นผู้คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย เป็นอย่างไรเล่า?
ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ได้เห็นรูปด้วยตา ได้ฟังเสียงด้วยหู ได้ดมกลิ่น ด้วยจมูก ได้ลิ้มรสด้วยลิ้น ได้สัมผัสโผฏฐัพพะด้วยกาย และได้รู้ ธรรมารมณ์ด้วยใจแล้ว ก็ไม่รวบถือเอาทั้งหมด และไม่แยกถือเอาเป็นส่วนๆ1 สิ่งที่เป็นบาปอกุศล คืออภิชฌาและโทมนัส
1. คือการไม่รวบถือเอาผัสสะทั้งหมด เป็นตัวเรา ของเรา หรือ ไม่แยก ถือแต่ละส่วน ขององค์ประกอบผัสสะว่า เป็นตัวเรา ของเรา (สำหรับผู้เดินมรรค ในระดับผัสสะ), และการไม่ถือเอาเป็นอารมณ์สำหรับ ยินดียินร้าย ทั้งโดย ส่วนรวม และส่วนปลีกย่อย ของอารมณ์นั้นๆ (สำหรับผู้เดินมรรคในระดับเวทนา).

มักไหลไปตามภิกษุผู้ไม่สำรวม ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจเพราะการไม่สำรวม อินทรีย์ใดเป็นเหตุ เธอก็ปฏิบัติ เพื่อปิดกั้นอินทรีย์นั้นไว้ เธอรักษาและถึง ความสำรวม ตา หูจมูก ลิ้น กาย และใจ. ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุอย่างนี้ชื่อว่า เป็นผู้คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย.

ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุ เป็นผู้รู้ประมาณในโภชนะเป็นอย่างไรเล่า ?
ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุในธรรมวินัยนี้ พิจารณาโดยแยบคายแล้วจึงฉันอาหาร ไม่ฉันเพื่อเล่น ไม่ฉันเพื่อมัวเมา ไม่ฉันเพื่อประดับ ไม่ฉันเพื่อตกแต่ง แต่ฉันเพียง เพื่อให้กายนี้ตั้งอยู่ได้ เพื่อให้ชีวิตเป็นไป เพื่อป้องกันความลำบาก เพื่ออ นุเคราะห์พรหมจรรย์ โดยกำหนดรู้ว่า “เราจะกำจัดเวทนาเก่า (คือหิว) เสียแล้ว ไม่ทำเวทนาใหม่(คืออิ่มจนอึดอัด) ให้เกิดขึ้น ความที่อายุดำเนินไปได้ ความไม่มีโทษเพราะอาหาร และความอยู่ผาสุกสำราญจะมีแก่เรา” ดังนี้. ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุอย่างนี้ชื่อว่า เป็นผู้รู้ประมาณในโภชนะ.

ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุ เป็นผู้ตามประกอบในชาคริยธรรมอยู่เนืองนิจ เป็นอย่างไรเล่า ?
ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมชำระจิตให้หมดจดสิ้นเชิง จากกิเลส ที่กั้นจิต ด้วยการเดินจงกรม ด้วยการนั่ง ตลอดวันยันค่ำไปจนสิ้นยามแรกแหง่ ราตรี ครั้นยามกลางแหง่ ราตรี ย่อมสำเร็จ การนอนอย่างราชสีห์ (คือ) ตะแคง ข้างขวา เท้าเหลื่อมเท้ามีสติสัมปชัญญะ ในการ ลุกขึ้น ครั้นยามสุดท้าย แห่งราตรี กลับลุกขึ้นแล้ว ก็ชำระจิตให้หมดจดสิ้นเชิงจากกิเลส ที่กั้นจิต ด้วยการเดินจงกรม และด้วยการ นั่งอีก. ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุอย่างนี้ ชื่อว่า เป็นผู้ตามประกอบในชาคริยธรรมอยู่เนืองนิจ.

ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุ เมื่อประกอบพร้อมด้วยธรรมสี่อย่างเหล่านี้แล้ว ไม่อาจที่จะเสื่อมเสีย มีแต่จะอยู่ใกล้นิพพาน อย่างเดียวแล.

หน้า 103

๓๑
ลักษณะแห่งอินทรียภาวนาชั้นเลิศ

อานนท์ ! อินทรียภาวนาชั้นเลิศ (อนุตฺตรา อินฺทฺริยภาวนา)ในอริยวินัย เป็นอย่างไรเล่า ?

อานนท์ ! ในกรณีนี้ อารมณ์อันเป็นที่ชอบใจ- ไม่เป็นที่ชอบใจ- เป็นที่ชอบใจ และไม่เป็นที่ชอบใจเกิดขึ้นแก่ภิกษุ เพราะเห็นรูปด้วยตา.

ภิกษุนั้นรู้ชัดอย่างนี้ว่า “อารมณ์ที่เกิดขึ้นแล้วแก่เรานี้ เป็นสิ่งที่มีปัจจัย ปรุงแต่ง (สงฺขต) เป็นของหยาบๆ (โอฬาริก) เป็นสิ่งที่อาศัยเหตุปัจจัยเกิดขึ้น (ปฏิจฺจ สมุปฺปนฺน) แต่มีสิ่งโน้นซึ่งรำงับและประณีต กล่าวคือ อุเบกขา” ดังนี้.

(เมื่อรู้ชัดอย่างนี้) อารมณ์อันเป็นที่ชอบใจ-ไม่เป็นที่ชอบใจ- เป็นที่ชอบใจ และไม่เป็นที่ชอบใจ อันบังเกิดขึ้นแก่ภิกษุนั้น ย่อมดับไปอุเบกขายังคงดำรงอยู่.

อานนท์ ! อารมณ์อันเป็นที่ชอบใจ- ไม่เป็นที่ชอบใจ- เป็นที่ชอบใจ และไม่เป็น ที่ชอบใจ อันบังเกิดขึ้นแล้วแก่ภิกษุนั้น ย่อมดับไป เร็วเหมือนการกะพริบตา ของคน ส่วนอุเบกขายังคงเหลืออยู่.

อานนท์ ! นี้แล เราเรียกว่า อินทรียภาวนาชั้นเลิศในอริยวินัยในกรณีแห่ง รูปที่รู้แจ้งด้วยจักษุ.

(ในกรณีแห่งเสียงที่รู้แจ้งด้วยโสตะ กลิ่นที่รู้แจ้งด้วยฆานะ รสที่รู้แจ้งด้วยชิวหา โผฏฐัพพะที่รู้แจ้งด้วยผิวกาย และธรรมารมณ์ที่รู้แจ้งด้วยใจ ก็ได้ตรัสไว้โดย หลักเกณฑ์ อย่างเดียวกัน ต่างกันแต่อุปมาแห่งความเร็วในการดับ แห่งอารมณ์ นั้นๆ เช่นในกรณีแห่งเสียงเปรียบด้วยความเร็วแห่ง การดีดนิ้วมือ เป็นต้น).

(เรื่องที่ควรดูประกอบด้วยกับบทนี้ อยู่ในบทที่ ๓๙ หน้า ๑๑๙ เรื่อง นิพพาน เพราะไม่ยึดถือธรรมที่ได้บรรลุ).


หน้า 105

๓๒
สิ้นกิเลสก็แล้วกันไม่ต้องรู้ว่าสิ้นไปเท่าไร

ภิกษุทั้งหลาย ! เปรียบเหมือนรอยนิ้วมือหรือรอยนิ้วหัวแม่มือ ย่อมปรากฏอยู่ ที่ด้ามเครื่องมือของพวกช่างไม้ หรือลูกมือของพวกช่างไม้ แต่เขาก็ไม่มีความรู้ว่า ด้ามเครื่องมือของเรา วันนี้สึกไปเท่านี้ วานนี้สึกไปเท่านี้วันอื่นๆ สึกไปเท่านี้ๆ คงรู้แต่ว่ามันสึกไปๆ เท่านั้น นี้ฉันใด  

ภิกษุทั้งหลาย ! เมื่อภิกษุตามประกอบภาวนาอยู่ ก็ไม่รู้อย่างนี้ว่า วันนี้อาสวะ ของเราสิ้นไปเท่านี้วานนี้สิ้นไปเท่านี้ วันอื่นๆ สิ้นไปเท่านี้ๆ รู้แต่เพียงว่าสิ้นไป ในเมื่อมันสิ้นไปๆ เท่านั้น ฉันใดก็ฉันนั้น.

หน้า 106

๓๓
ตถาคตเป็นเพียงผู้บอก จะถึงที่หมายต้องเดินเอาเอง

“ก็สาวกของพระโคดมผู้เจริญ เมื่อพระโคดมกล่าวสอนพร่ำสอนอยู่อย่างนี้ ทุกๆ รูปได้บรรลุนิพพานอันเป็นผลสำเร็จ ถึงที่สุดอย่างยิ่งหรือ ? หรือว่าไม่ได้บรรลุ ?”. พราหมณ์ผู้หนึ่งทูลถาม พระผู้มีพระภาค.

พราหมณ์ ! สาวกของเรา แม้เรากล่าวสอนพร่ำสอนอยู่อย่างนี้ น้อยพวกที่ได้ บรรลุนิพพาน อันเป็นผลสำเร็จถึงที่สุด อย่างยิ่ง บางพวกไม่ได้บรรลุ.

“พระโคดมผู้เจริญ ! อะไรเล่าเป็นเหตุ อะไรเล่าเป็นปัจจัย ที่พระนิพพาน ก็ยังตั้งอยู่ หนทางที่ยังสัตว์ให้ถึงนิพพาน ก็ยังตั้งอยู่. พระโคดมผู้ชักชวน (เพื่อดำเนินไป) ก็ยังตั้งอยู่ ทำไมน้อยพวกที่บรรลุ และบางพวกไม่บรรลุ ?”.

พราหมณ์ ! เราจักย้อนถามท่านในเรื่องนี้,ท่านจงตอบตามควร. ท่านเป็นผู้ช่ำชอง ในหนทางไปสู่เมืองราชคฤห์ มิใช่หรือ ? มีบุรุษผู้จะไปเมืองราชคฤห์เข้ามาหา และกล่าวกับท่านว่า “ท่านผู้เจริญ ! ข้าพเจ้าปรารถนาจะไปเมือง ราชคฤห์ ขอท่านจงชี้บอกทางไปเมืองราชคฤห์ แก่ข้าพเจ้าเถิด” ดังนี้

ท่านก็จะกล่าวกะบุรุษผู้นั้นว่า “มาซิท่าน ทางนี้ไปเมืองราชคฤห์ ไปได้ครู่หนึ่ง จักพบบ้านชื่อโน้น แล้วจักเห็นนิคม ชื่อโน้น จักเห็นสวนและป่าอันน่ารื่นรมย์ จักเห็นภูมิภาคอันน่ารื่นรมย์ สระโบกขรณี อันน่ารื่นรมย์ของเมืองราชคฤห์” ดังนี้.

บุรุษนั้นอันท่านพร่ำบอกพร่ำชี้ให้อย่างนี้ ก็ยังถือเอาทางผิด กลับหลังตรงกัน ข้ามไป ส่วนบุรุษอีกคนหนึ่ง ไปถึงเมือง ราชคฤห์ได้โดยสวัสดี.

พราหมณ์เอย ! อะไรเล่าเป็นเหตุ อะไรเล่าเป็นปัจจัยที่เมืองราชคฤห์ก็ยังตั้งอยู่ ท่านผู้ชี้บอกก็ยังตั้งอยู่ แต่ทำไมบุรุษผู้หนึ่ง กลับหลงผิดทาง ส่วนบุรุษอีกผู้หนึ่ง ไปถึงเมืองราชคฤห์ได้โดยสวัสดี ?

“พระโคดมผู้เจริญ ! ในเรื่องนี้ ข้าพเจ้าจักทำอย่างไรได้เล่า เพราะข้าพเจ้าเป็น แต่เพียงผู้บอกทางเท่านั้น”.

พราหมณ์ ! ฉันใดก็ฉันนั้นแล ที่พระนิพพานก็ยังตั้งอยู่ ทางเป็นเครื่องถึง พระนิพพาน ก็ยังตั้งอยู่ เราผู้ชักชวน ก็ยังตั้งอยู่ แต่สาวกแม้เรากล่าวสอน พร่ำสอนอยู่อย่างนี้ น้อยพวกที่ได้บรรลุนิพพานอันเป็นผลสำเร็จถึงที่สุดอย่างยิ่ง บางพวกไม่ได้บรรลุ.

พราหมณ์ ! ในเรื่องนี้ เราจักทำอย่างไรได้เล่า เพราะเราเป็นแต่เพียงผู้บอกทาง เท่านั้น.

หน้า 109

๓๔
เหตุให้ไม่ปรินิพพานในปัจจุบัน

“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! อะไรหนอเป็นเหตุ อะไรหนอเป็นปัจจัย ที่ทำให้สัตว์ บางพวกในโลกนี้ ไม่ปรินิพพาน ในทิฏฐธรรม(ปัจจุบัน) ?”.

ท่านผู้เป็นจอมเทพ ! รูป ทั้งหลาย ที่จะพึงรู้ได้ด้วยจักษุ มีอยู่ เป็นรูปที่น่า ปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ มีลักษณะน่ารัก เป็นที่เข้าไปตั้งอาศัยแห่งความใคร่ เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด.

ถ้าว่า ภิกษุย่อมเพลิดเพลิน พร่ำสรรเสริญ เมาหมกอยู่ ซึ่งรูปนั้นแล้วไซร้ เมื่อภิกษุนั้นเพลิดเพลิน พร่ำสรรเสริญ เมาหมกซึ่งรูปนั้นอยู่ วิญญาณนั้น เป็นวิญญาณอันตัณหาในอารมณ์คือรูป อาศัยแล้ว วิญญาณนั้นคืออุปาทาน.1

1. ในที่นี้หมายถึงวิญญาณที่รู้สึกต่อความเพลิน และความมัวเมาในรูปนั้น ไม่ใช่ จักขุวิญญาณที่เห็นรูปตามธรรมดา.

ท่านผู้เป็นจอมเทพ ! ภิกษุผู้ มีอุปาทาน ย่อมไม่ปรินิพพาน.

[ในกรณีแห่ง เสียง ที่จะพึงรู้สึกด้วยโสตะ กลิ่น ที่จะพึงรู้สึกด้วยฆานะ รส ที่จะพึงรู้สึกด้วยชิวหา สัมผัสทางกาย ที่จะพึงรู้สึกด้วยกายะ (ผิวกายทั่วไป) และธรรมารมณ์ ที่จะพึงรู้สึกด้วยมนะก็ได้ตรัสไว้ ด้วยข้อความทำนองเดียวกัน กับในกรณีแห่งรูป ที่จะพึงรู้ได้ด้วยจักษุ ข้างบนนั้น].

ท่านผู้เป็นจอมเทพ ! นี้แลเป็นเหตุ นี้เป็นปัจจัยที่ทำให้สัตว์บางพวกในโลกนี้ ไม่ปรินิพพานในทิฏฐธรรม(ปัจจุบัน).

หน้า 111

๓๕
หมด “อาหาร” ก็นิพพาน

ภิกษุทั้งหลาย ! ถ้าไม่มีราคะ ไม่มีนันทิ ไม่มีตัณหา ในอาหารคือคำข้าว ก็ดี ใน อาหารคือผัสสะก็ดี ในอาหารคือ มโนสัญเจตนา ก็ดี ในอาหารคือวิญญาณ ก็ดีแล้วไซร้ วิญญาณก็เป็นสิ่งที่ตั้งอยู่ไม่ได้ เจริญงอกงามอยู่ไม่ได้ ในสิ่งนั้นๆ

วิญญาณตั้งอยู่ไม่ได้เจริญงอกงามอยู่ไม่ได้ในที่ใด การก้าวลงแห่งนามรูป ย่อมไม่มีในที่นั้น การก้าวลงแห่งนามรูป ไม่มีในที่ใด ความเจริญแห่งสังขาร ทั้งหลาย ย่อมไม่มีในที่นั้น ความเจริญแห่งสังขารทั้งหลาย ไม่มีในที่ใด การบังเกิดในภพใหม่ต่อไป ย่อมไม่มีในที่นั้น การบังเกิดในภพใหม่ต่อไป ไม่มีใน ที่ใด ชาติชราและมรณะต่อไป ย่อมไม่มีในที่นั้น ชาติชราและมรณะต่อไป ไม่มีใน ที่ใด

ภิกษุทั้งหลาย ! เราเรียก “ที่” นั้นว่าเป็น “ที่ไม่โศก ไม่มีธุลี และไม่มีความคับ แค้น” ดังนี้.

ภิกษุทั้งหลาย ! เปรียบเหมือนเรือนยอดหรือศาลาเรือนยอด ที่ตั้งอยู่ทางทิศ เหนือหรือใต้ก็ตาม เป็นเรือนมีหน้าต่างทางทิศตะวันออก.

ครั้นดวงอาทิตย์ขึ้นมาแสงสว่างแห่งดวงอาทิตย์ ส่องเข้าไปทางช่องหน้าต่าง แล้ว จักตั้งอยู่ที่ส่วนไหน แห่งเรือนนั้นเล่า ? “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! แสงสว่าง แห่งดวงอาทิตย์ จักปรากฏที่ฝาเรือนข้างใน ด้านทิศตะวันตก พระเจ้าข้า !”.

ภิกษุทั้งหลาย ! ถ้าฝาเรือนทางทิศตะวันตกไม่มีเล่า แสงแห่งดวงอาทิตย์นั้น จักปรากฏอยู่ที่ไหน? “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! แสงสว่างแห่งดวงอาทิตย์นั้น จักปรากฏที่พื้นดิน พระเจ้าข้า !”.

ภิกษุทั้งหลาย ! ถ้าพื้นดินไม่มีเล่า แสงสว่างแห่งดวงอาทิตย์นั้น จักปรากฏ ที่ไหน? “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! แสงสว่างแห่งดวงอาทิตย์นั้น จักปรากฏในน้ำ พระเจ้าข้า !”.

ภิกษุทั้งหลาย ! ถ้าน้ำไม่มีเล่า แสงสว่างแห่งดวงอาทิตย์นั้น จักปรากฏที่ไหนอีก ?“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! แสงสว่างแห่งดวงอาทิตย์นั้น ย่อมเป็นสิ่งที่ไม่ปรากฏ แล้ว พระเจ้าข้า !”.

ภิกษุทั้งหลาย ! ฉันใดก็ฉันนั้นแล ถ้าไม่มีราคะ ไม่มีนันทิ ไม่มีตัณหา ในอาหาร คือคำข้าวก็ดี ในอาหารคือผัสสะก็ดี ในอาหารคือมโนสัญเจตนาก็ดี ในอาหาร คือวิญญาณก็ดี แล้วไซร้ วิญญาณก็เป็นสิ่งที่ตั้งอยู่ไม่ได้เจริญงอกงาม อยู่ไม่ได้ ในอาหารคือคำข้าวเป็นต้นนั้นๆ.

วิญญาณตั้งอยู่ไม่ได้ เจริญงอกงามอยู่ไม่ได้ในที่ใด การก้าวลงแห่ง นามรูป ย่อมไม่มีในที่นั้น การก้าวลงแห่งนามรูป ไม่มีในที่ใด ความเจริญแห่ง สังขารทั้งหลาย ย่อมไม่มีในที่นั้น ความเจริญแห่งสังขารทั้งหลาย ไม่มีในที่ใด การบังเกิดในภพใหม่ต่อไป ย่อมไม่มีในที่นั้น การบังเกิดในภพใหม่ต่อไป ไม่มีในที่ใด ชาติชราและมรณะต่อไป ย่อมไม่มีในที่นั้น ชาติชรามรณะต่อไป ไม่มีในที่ใด

ภิกษุทั้งหลาย !เราเรียก “ที่” นั้น ว่าเป็น “ที่ไม่โศก ไม่มีธุลี และไม่มีความ คับแค้น” ดังนี้.

หน้า 114

๓๖
กฎอิทัปปัจจยตา หรือ หัวใจปฏิจจสมุปบาท

อิมสฺมึ สติ อิทํ โหติ
เมื่อสิ่งนี้ มี สิ่งนี้ ย่อมมี

อิมสฺสุปฺปาทา อิทํ อุปฺปชฺชติ
เพราะความเกิดขึ้นแห่งสิ่งนี้ สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น

อิมสฺมึ อสติ อิทํ นโหติ
เมื่อสิ่งนี้ ไม่มี สิ่งนี้ ย่อมไม่มี

อิมสฺส นิโรธา อิทํ นิรุชฺฌติ
เพราะความดับไปแห่งสิ่งนี้ สิ่งนี้ จึงดับไป

หน้า 115

๓๗
ปฏิจจสมุปบาท คือ ธรรมอันเป็นธรรมชาติ อาศัยกันแล้วเกิดขึ้น

ภิกษุทั้งหลาย ! อะไรเล่าที่เรียกว่าปฏิจจสมุปบาท ?
ภิกษุทั้งหลาย !
เพราะมีอวิชชา เป็นปัจจัย จึงมี สังขารทั้งหลาย
เพราะมีสังขาร เป็นปัจจัย จึงมี วิญญาณ
เพราะมีวิญญาณ เป็นปัจจัย จึงมี นามรูป
เพราะมีนามรูป เป็นปัจจัย จึงมี สฬายตนะ
เพราะมีสฬายตนะ เป็นปัจจัย จึงมี ผัสสะ
เพราะมีผัสสะ เป็นปัจจัย จึงมี เวทนา
เพราะมีเวทนา เป็นปัจจัย จึงมี ตัณหา
เพราะมีตัณหา เป็นปัจจัย จึงมี อุปาทาน
เพราะมีอุปาทาน เป็นปัจจัย จึงมี ภพ
เพราะมีภพ เป็นปัจจัย จึงมี ชาติ
เพราะมีชาติ เป็นปัจจัย, ชรามรณะโสกะปริเทวะทุกขะโทมนัสอุปายาสทั้งหลาย จึงเกิดขึ้นครบถ้วน ความเกิดขึ้นพร้อมแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้ ย่อมมีด้วยอาการอย่างนี้.

ภิกษุทั้งหลาย ! นี้เรียกว่า ปฏิจจสมุปบาท.
เพราะความจางคลายดับไปโดยไม่เหลือแห่งอวิชชานั้นนั่นเทียว จึงมีความดับแห่งสังขาร
เพราะมีความดับแห่งสังขาร จึงมีความดับแห่งวิญญาณ
เพราะมีความดับแห่งวิญญาณ จึงมีความดับแห่งนามรูป
เพราะมีความดับแห่งนามรูป จึงมีความดับแห่งสฬายตนะ
เพราะมีความดับแห่งสฬายตนะ จึงมีความดับแห่งผัสสะ
เพราะมีความดับแห่งผัสสะ จึงมีความดับแห่งเวทนา
เพราะมีความดับแห่งเวทนา จึงมีความดับแห่งตัณหา
เพราะมีความดับแห่งตัณหา จึงมีความดับแห่งอุปาทาน
เพราะมีความดับแห่งอุปาทาน จึงมีความดับแห่งภพ
เพราะมีความดับแห่งภพ จึงมีความดับแห่งชาติ
เพราะมีความดับแห่งชาติ นั่นแลชรามรณะ โสกะปริเทวะทุกขะโทมนัสอุปายาสทั้งหลายจึงดับสิ้น ความดับลงแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้ย่อมมี ด้วยอาการอย่างนี้

หน้า 118

๓๘
ปัญญา สติ กับนามรูปดับ เพราะวิญญาณดับ

“ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ ! ข้าพระองค์กราบทูลถามแล้ว
ขอพระองค์จงตรัสบอกธรรมนั้น คือ ปัญญาและสติกับนามรูป แก่ข้าพระองค์เถิด ปัญญา และสติ กับนามรูป นั้น จะดับไปที่ไหน ?”.

อชิตะ ! ท่านถามปัญหานั้นข้อใดเราจะแก้ปัญหา ข้อนั้นแก่ท่าน
นามและรูป ย่อมดับไม่เหลือในที่ใด ปัญญาและสติกับนามรูปนั้น ก็ย่อมดับไปในที่นั้น เพราะความดับไปแห่งวิญญาณ แล.


หน้า 119

๓๘
นิพพานเพราะไม่ยึดถือธรรมที่ได้บรรลุ

อานนท์ ! ส่วนภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้เป็นผู้ปฏิบัติอย่างนั้นแล้ว ย่อมได้เฉพาะ ซึ่งอุเบกขา ว่า“ถ้าไม่ควรมี และไม่พึงมีแก่เรา ก็ต้องไม่มีแก่เรา สิ่งใดมีอยู่ สิ่งใดมีแล้ว เราจะละสิ่งนั้นเสีย” ดังนี้.

ภิกษุ (บางรูป) นั้น ย่อมไม่เพลิดเพลิน ไม่พร่ำสรรเสริญไม่เมาหมกอยู่ ซึ่งอุเบกขานั้น เมื่อไม่เพลิดเพลินไม่พร่ำสรรเสริญ ไม่เมาหมกอยู่ ซึ่งอุเบกขานั้น วิญญาณของเธอก็ไม่เป็นธรรมชาติ อาศัยซึ่งอุเบกขานั้น ไม่มีอุเบกขานั้น เป็นอุปาทาน.

อานนท์ ! ภิกษุผู้ไม่มีอุปาทาน ย่อมปรินิพพานแล.

หน้า 120

๔๐
การปรินิพพาน

สัตว์ทั้งปวง ทั้งที่เป็นคนหนุ่ม คนแก่ ทั้งที่เป็นคนพาลและบัณฑิต ทั้งที่มั่งมี และยากจน ล้วนแต่มีความตาย เป็นที่ไปถึงในเบื้องหน้า.

เปรียบเหมือนภาชนะดินที่ช่างหม้อปั้นแล้ว ทั้งเล็กและใหญ่ ทั้งที่สุกแล้วและ ยังดิบ ล้วนแต่มีการแตกทำลายเป็นที่สุด ฉันใด ชีวิตแห่งสัตว์ทั้งหลายก็มีความ ตายเป็นเบื้องหน้า ฉันนั้น.

วัยของเรา แก่หง่อมแล้ว ชีวิตของเราริบหรี่แล้ว เราจักละพวกเธอไป.
สรณะของตัวเองเราได้ทำไว้แล้ว.

ภิกษุทั้งหลาย ! พวกเธอจงเป็นผู้ไม่ประมาทมีสติ มีศีล เป็นอย่างดี มีความดำริ อันตั้งไว้แล้วด้วยดี ตามรักษาซึ่งจิต ของตนเถิด.

ในธรรมวินัยนี้ ภิกษุใดเป็นผู้ไม่ประมาทแล้วจักละชาติสงสาร ทำที่สุดแห่งทุกข์ ได้.

หน้า 121

๔๑
ผู้หลุดพ้นได้เพราะไม่ยึดมั่นถือมั่น

ในกาลไหนๆ ท่านเหล่าใดเห็นภัยในความยึดถือ อันเป็นตัวเหตุให้เกิด และให้ ตาย แล้วเลิกยึดมั่น ถือมั่น หลุดพ้นไปได้ เพราะอาศัยนิพพาน อันเป็นธรรม ที่สิ้นไปแห่งความเกิดความตาย เหล่าท่านผู้เช่นนั้น ย่อมประสบความสุขลุ พระนิพพาน อันเป็นธรรมเกษมเป็นผู้ดับเย็นได้ ในปัจจุบันนี้เองล่วงเวรล่วงภัย ทุกอย่างเสียได้ และก้าวล่วงเสียได้ ซึ่งความทุกข์ทั้งปวง.

หน้า 122

๔๒
ธรรมเป็นส่วนแห่งวิชา

ภิกษุทั้งหลาย ! ธรรม ๒ อย่างเหล่านี้ เป็นส่วนแห่งวิชชา มีอยู่.
๒ อย่าง อะไรเล่า ? ๒ อย่าง คือสมถะ และ วิปัสสนา.

ภิกษุทั้งหลาย !
สมถะ เมื่ออบรมแล้ว จะได้ประโยชน์อะไร ?
อบรมแล้ว จิตจะเจริญ.

จิตเจริญแล้ว จะได้ประโยชน์อะไร ?
เจริญแล้ว จะละราคะได้.

ภิกษุทั้งหลาย !
วิปัสสนาเล่า เมื่อเจริญแล้ว จะได้ประโยชน์อะไร ?
เจริญแล้ว ปัญญาจะเจริญ.

ปัญญาเจริญแล้ว จะได้ประโยชน์อะไร ?
เจริญแล้ว จะละ อวิชชาได้ แล.

หน้า 123

๔๓
คำชี้ชวนวิงวอน

ภิกษุทั้งหลาย ! โยคกรรม อันเธอพึงกระทำ เพื่อให้รู้ว่า“ นี้ทุกข์ นี้เหตุให้เกิด ทุกข์ นี้ความดับสนิทแห่งทุกข์นี้ทางให้ถึง ความดับสนิทแห่งทุกข์”.

นิพพาน เราได้แสดงแล้ว ทางให้ถึงนิพพาน เราก็ได้แสดงแล้ว แก่เธอทั้งหลาย. กิจใด ที่ศาสดาผู้เอ็นดู แสวงหาประโยชน์เกื้อกูลอาศัยความเอ็นดูแล้ว จะพึงทำ แก่สาวกทั้งหลาย กิจนั้น เราได้ทำแล้วแก่พวกเธอ. นั่น โคนไม้ นั่น เรือนว่าง.

พวกเธอจงเพียรเผากิเลส  อย่าได้ประมาท อย่าเป็นผู้ที่ต้องร้อนใจ ในภายหลังเลย.

นี่แหละ วาจาเครื่องพร่ำสอนของเรา แก่เธอทั้งหลาย.