วาจาของสัตบุรุษ (การพูดของสัตตบุรุษ)
บาลี จตุกฺก. อํ. ๒๑/๑๐๐/๗๓.
ภิกษุทั้งหลาย ! บุคคลประกอบด้วยธรรม
๔ ประการ เป็นที่รู้กันว่าเป็นสัตบุรุษ.
๔ ประการ อย่างไรเล่า ?
๔ ประการ คือ
ภิกษุทั้งหลาย ! สัตบุรุษในกรณีนี้ แม้มีใครถามถึงความไม่ดีของบุคคลอื่น ก็ไม่เปิดเผย ให้ปรากฏ จะกล่าวทำไมถึงเมื่อไม่ถูกใครถาม ก็เมื่อถูกใคร ถามถึงความไม่ดีของบุคคลอื่น ก็นำเอาปัญหาไปทำ ให้หลีกเลี้ยวลดหย่อนลง กล่าวความไม่ดีของผู้อื่นอย่างไม่พิสดาร เต็มที่. ภิกษุทั้งหลาย ! ข้อนี้พึงรู้กันเถิดว่าคนคนนี้ เป็น สัตบุรุษ.
ภิกษุทั้งหลาย ! สัตบุรุษอย่างอื่นยังมีอีก คือแม้ไม่ถูกใครถามอยู่ถึงความดีของบุคคลอื่น ก็ยังนำมาเปิดเผยให้ปรากฏ จะต้องกล่าว ทำไม ถึงเมื่อถูกใครถาม ก็เมื่อถูกใครถามถึง ความดีของบุคคลอื่น ก็นำเอาปัญหา ไปทำให้ ไม่หลีกเลี้ยวลดหย่อน กล่าวความดี ของผู้อื่นโดยพิสดารบริบูรณ์. ภิกษุทั้งหลาย ! ข้อนี้พึงรู้กันเถิดว่าคนคนนี้ เป็น สัตบุรุษ.
ภิกษุทั้งหลาย ! สัตบุรุษอย่างอื่นยังมีอีก คือแม้ไม่มีใครถามถึงความไม่ดีของตน ก็ยังนำมาเปิดเผย ทำให้ปรากฏ ทำไมจะต้องกล่าวถึงเมื่อถูกถาม เล่า ก็เมื่อถูกใครถาม ถึงความไม่ดีของตน ก็ไม่นำเอา ปัญหาไปหาทางทำให้ ลดหย่อนบิดพลิ้ว แต่กล่าว ความไม่ดีของตนโดยพิสดารเต็มที่. ภิกษุทั้งหลาย ! ข้อนี้พึงรู้กันเถิดว่าคนคนนี้ เป็น สัตบุรุษ.
ภิกษุทั้งหลาย ! สัตบุรุษอย่างอื่นยังมีอีก คือแม้มีใครถามถึงความดีของตน ก็ไม่เปิดเผย ให้ปรากฏ ทำไมจะต้องกล่าวถึงเมื่อไม่ถูกใครถามเล่า ก็เมื่อถูกใครถามถึงความดีของตน ก็นำเอาปัญหาไปกระทำ ให้ลดหย่อน หลีกเลี้ยวเสีย กล่าวความดีของตนโดยไม่พิสดาร เต็มที่. ภิกษุทั้งหลาย ! ข้อนี้พึงรู้กันเถิดว่าคนคนนี้ เป็น สัตบุรุษ.
ภิกษุทั้งหลาย ! บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการเหล่านี้แล เป็นที่รู้กันว่าเป็น สัตบุรุษ.
ลักษณะการพูดของตถาคต
(คัดย่อจากพระสูตรเต็ม อภัยราชกุมารสูตร
เรื่องอภัยราชกุมาร ด้านล่าง)
ราชกุมาร !
๑.
ตถาคตรู้ชัดซึ่งวาจาใด อันไม่จริง ไม่แท้ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ และไม่เป็นที่รักที่พึงใจของผู้อื่น ตถาคตย่อม ไม่กล่าววาจานั้น.
๒. ตถาคตรู้ชัดซึ่งวาจาใด อันจริง อันแท้ แต่ไม่ประกอบด้วยประโยชน์และไม่เป็น ที่รัก ที่พึงใจของผู้อื่น ตถาคตย่อมไม่กล่าววาจานั้น.
๓. ตถาคตรู้ชัดซึ่งวาจาใด อันจริง อันแท้ ประกอบด้วยประโยชน์ แต่ไม่เป็นที่รัก ที่พึงใจของผู้อื่น ตถาคตย่อมเลือกให้เหมาะกาล เพื่อกล่าววาจานั้น.
๔. ตถาคตรู้ชัดซึ่งวาจาใด อันไม่จริง ไม่แท้ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ แต่เป็นที่รัก ที่พึงใจของผู้อื่น ตถาคตย่อมไม่กล่าววาจานั้น.
๕. ตถาคตรู้ชัดซึ่งวาจาใด อันจริง อันแท้ แต่ไม่ประกอบ ด้วยประโยชน์ แต่ก็เป็นที่รัก ที่พึงใจของผู้อื่น ตถาคตย่อมไม่กล่าววาจานั้น.
๖. ตถาคตรู้ชัดซึ่งวาจาใด อันจริง อันแท้ ประกอบด้วยประโยชน์และเป็นที่รัก ที่พึง ใจของผู้อื่น ตถาคตย่อมเป็นผู้ รู้จักกาละที่เหมาะเพื่อกล่าววาจานั้น.
ม. ม. ๑๓/๙๑/๙๔.
ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๓ สุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ หน้าที่ ๗๐
๘. อภัยราชกุมารสูตร
เรื่องอภัยราชกุมาร
[๙๑] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้:
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ เวฬุวันกลันทกนิวาปสถาน เขตพระนคร ราชคฤห์. ครั้งนั้น พระราชกุมารพระนามว่า อภัย เสด็จเข้าไปหานิครนถ์นาฏบุตร ถึงที่อยู่ ทรงอภิวาทนิครนถ์นาฏบุตรแล้ว ประทับนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง.
[๙๒] นิครนถ์นาฏบุตรได้ทูลอภัยราชกุมารว่า ไปเถิด พระราชกุมาร เชิญพระองค์ทรงยกวาทะ แก่พระสมณโคดม เมื่อพระองค์ทรงยกวาทะ แก่พระ สมณโคดมอย่างนี้แล้ว กิตติศัพท์อันงามของพระองค์จักระบือไปว่า อภัยราชกุมาร ทรงยก วาทะแก่สมณโคดมผู้มีฤทธิ์ มีอานุภาพมากอย่างนี้.
อภัยราชกุมารตรัสถามว่า ท่านผู้เจริญ ก็ข้าพเจ้าจะยกวาทะแก่พระสมณโคดม ผู้มีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมาก อย่างนี้ ได้อย่างไร?
นิครนถ์นาฏบุตรทูลว่า ไปเถิด พระราชกุมาร เชิญพระองค์เสด็จเข้าไปเฝ้า พระสมณโคดมถึงที่ประทับ แล้วจงทูลถามพระสมณโคดมอย่างนี้ว่า ข้าแต่พระองค์ ผู้เจริญ พระตถาคตจะพึงตรัสพระวาจา อันไม่เป็นที่ชอบใจ ของคนอื่นบ้างหรือหนอ ถ้าพระสมณโคดมถูกถามอย่างนี้แล้วจะทรงพยากรณ์อย่างนี้ว่า
ดูกรราชกุมาร ตถาคตพึงกล่าววาจาอันไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่ชอบใจของคนอื่น ดังนี้ไซร้ พระองค์พึงทูล พระสมณโคดมอย่างนี้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อเป็นอย่างนั้น การกระทำของพระองค์จะต่างอะไรจากปุถุชน เล่า เพราะแม้ปุถุชน ก็พึงกล่าววาจาอันไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่ชอบใจของคนอื่น ถ้าพระสมณโคดมถูกถาม อย่างนี้แล้ว จะทรงพยากรณ์อย่างนี้ว่า
ดูกรราชกุมาร ตถาคตไม่พึงกล่าววาจาอันไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่ชอบใจของคนอื่น ดังนี้ไซร้ พระองค์พึงทูล พระสมณโคดม อย่างนี้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อเป็นอย่างนั้นอย่างไร พระองค์จึงทรงพยากรณ์พระเทวทัตต์ว่า เทวทัตต์จักเกิด ในอบาย จักเกิดในนรก ตั้งอยู่สิ้นกัปหนึ่ง เป็นผู้อันใครๆ เยียวยาไม่ได้ ดังนี้ เพราะพระวาจา ของพระองค์นั้น พระเทวทัตต์โกรธ เสียใจ
ดูกรพระราชกุมาร พระสมณโคดม ถูกพระองค์ทูลถามปัญหาสองเงื่อนนี้แล้ว จะไม่อาจกลืนเข้า ไม่อาจคายออก ได้เลย เปรียบเหมือนกะจับเหล็กติดอยู่ในคอ ของบุรุษ บุรุษนั้นจะไม่อาจกลืนเข้า ไม่อาจคายออกได้ ฉันใด ดูกรพระราชกุมาร พระสมณโคดมก็ฉันนั้น ถูกพระองค์ทูลถามปัญหาสองเงื่อนนี้แล้ว จะไม่อาจกลืนเข้า ไม่อาจคายออกได้เลย.
อภัยราชกุมารรับคำนิครนถ์นาฏบุตรแล้ว เสด็จลุกจากอาสนะทรงอภิวาท นิครนถ์นาฏบุตร ทรงทำประทักษิณ แล้วเสด็จเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้วประทับนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว ทรงแหงนดู พระอาทิตย์ ทรงพระดำริว่า วันนี้มิใช่กาล จะยกวาทะแก่ พระผู้มี พระภาค วันพรุ่งนี้เถิด เราจักยกวาทะแก่พระผู้มีพระภาค ในนิเวศน์ของเราดังนี้ แล้วจึงกราบทูล พระผู้มีพระภาคว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคมีพระองค์เป็นที่ ๔ จงทรงรับภัตตาหาร ของหม่อมฉัน เพื่อเสวยในวัน พรุ่งนี้ พระผู้มีพระภาคทรงรับด้วยดุษณีภาพ ลำดับนั้น อภัยราชกุมารทรงทราบว่า พระผู้มีพระภาคทรงรับแล้ว เสด็จลุกจากอาสนะ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาค ทำประทักษิณแล้ว เสด็จหลีกไป
ครั้งนั้น พอล่วงราตรีนั้นไปเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงนุ่งแล้ว ทรงถือบาตรและจีวร เสด็จเข้าไปยังนิเวศน์ ของอภัยราชกุมาร ประทับนั่งบนอาสนะที่เขาปูลาดไว้ ลำดับนั้น อภัยราชกุมารทรงอังคาสพระผู้มีพระภาค ด้วยขาทนียะโภชนียะอันประณีต ให้อิ่มหนำเพียงพอด้วยพระหัตถ์ของพระองค์เอง เมื่อพระผู้มีพระภาคเสวยเสร็จ ทรงชักพระหัตถ์จากบาตรแล้ว อภัยราชกุมารทรงถืออาสนะต่ำอันหนึ่ง ประทับนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง.
วาจาไม่เป็นที่รัก
[๙๓] อภัยราชกุมารประทับ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว ได้ทูลถาม พระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระตถาคตจะพึงตรัสพระวาจา อันไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่พอใจของคนอื่นบ้างหรือหนอ.
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรราชกุมาร ในปัญหาข้อนี้ จะวิสัชนาโดยส่วนเดียวมิได้.
อ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เพราะปัญหาข้อนี้ พวกนิครนถ์ได้ฉิบหายแล้ว.
พ. ดูกรราชกุมาร เหตุไฉนพระองค์จึงตรัสอย่างนี้เล่า?
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เพราะปัญหาข้อนี้ พวกนิครนถ์ได้ฉิบหายแล้ว ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานพระวโรกาส หม่อมฉันเข้าไปหานิครนถ์นาฏบุตร ถึงที่อยู่ อภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง นิครนถ์นาฏบุตรได้บอกว่าไปเถิด พระราชกุมาร เชิญพระองค์เสด็จไปยกวาทะแก่พระสมณโคดมเถิด เมื่อพระองค์ ยกวาทะ แก่พระสมณโคดม อย่างนี้ กิตติศัพท์อันงามของพระองค์จักระบือไปว่า อภัยราชกุมาร ยกวาทะ แก่พระสมณโคดม ผู้มีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมากอย่างนี้ เมื่อนิครนถ์นาฏบุตรกล่าวอย่างนี้ หม่อมฉันได้ถามว่า
ท่านผู้เจริญ ก็ข้าพเจ้าจะยกวาทะ แก่พระสมณโคดมผู้มีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมาก อย่างนี้ได้อย่างไร นิครนถ์นาฏบุตรตอบว่า ไปเถิดพระราชกุมาร เชิญพระองค์เสด็จ เข้าไปเฝ้าพระสมณโคดมถึงที่ประทับ แล้วจงทูลถามอย่างนี้ว่าข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระตถาคตจะพึงตรัสพระวาจาอันไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่ชอบใจของผู้อื่นบ้างหรือหนอ ถ้าพระสมณโคดมถูกพระองค์ ทูลถามอย่างนี้แล้ว จะทรงพยากรณ์อย่างนี้ว่า
ดูกรราชกุมาร ตถาคตพึงกล่าววาจาอันไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่ชอบใจของผู้อื่น ดังนี้ไซร้ พระองค์พึงทูล พระสมณโคดม อย่างนี้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อเป็นอย่างนั้น การกระทำของพระองค์ จะต่างอะไรจากปุถุชน เล่า เพราะแม้ปุถุชน ก็กล่าววาจาอันไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่ชอบใจของผู้อื่นแต่ถ้าพระสมณโคดม ถูกพระองค์ ทูลถาม อย่างนี้แล้ว จะทรงพยากรณ์อย่างนี้ว่า
ดูกรราชกุมาร ตถาคตไม่พึงกล่าววาจา อันไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่ชอบใจของผู้อื่น ดังนี้ไซร้ พระองค์พึงทูล พระสมณโคดมอย่างนี้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อเป็นอย่างนั้น อย่างไรพระองค์จึงทรงพยากรณ์เทวทัตต์ว่า เทวทัตต์จักเกิด ในอบาย จักเกิดในนรก ตั้งอยู่สิ้นกัปหนึ่ง เป็นผู้อันใครๆ เยียวยาไม่ได้ ดังนี้ เพราะพระวาจา ของพระองค์นั้น พระเทวทัตต์โกรธ เสียใจ
ดูกรพระราชกุมาร พระสมณโคดม ถูกพระองค์ ทูลถามปัญหา สองเงื่อนนี้แล้ว จะไม่อาจกลืนเข้า ไม่อาจคายออกได้เลยเปรียบ เหมือนกะจับเหล็กติดอยู่ในคอ ของบุรุษ บุรุษนั้นจะไม่ อาจกลืนเข้า ไม่อาจคายออกได้ฉันใด
ดูกรพระราชกุมาร พระสมณโคดมก็ฉันนั้น ถูกพระองค์ทูลถามปัญหาสองเงื่อนนี้แล้ว ไม่อาจกลืนเข้า จะไม่อาจคายออก ได้เลย.
วาจาที่ประกอบด้วยประโยชน์
[๙๔] สมัยนั้นแล เด็กอ่อนเพียงได้แต่นอน นั่งอยู่บนตักของ อภัย ราชกุมาร ลำดับนั้นพระผู้มีพระภาค ได้ตรัสกะอภัยราชกุมารว่า ดูกรราชกุมาร ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ถ้ากุมารนี้อาศัยความเผลอ ของพระองค์ หรือ ของหญิงพี่เลี้ยง พึงนำไม้หรือก้อนกรวดมาใส่ในปากพระองค์ จะพึงทำเด็กนั้น อย่างไร?
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉันจะพึงนำออกเสีย ถ้าหม่อมฉันไม่อาจจะนำออก ได้แต่ทีแรก หม่อมฉัน ก็จะเอามือซ้าย ประคองศีรษะแล้วงอนิ้วมือขวาควักไม้ หรือ ก้อนกรวดแม้พร้อมด้วยเลือดออกเสีย ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะหม่อมฉันมีความเอ็นดู ในกุมาร.
ดูกรราชกุมาร ตถาคตก็ฉันนั้นเหมือนกัน ย่อมรู้วาจาที่ไม่จริง ไม่แท้ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ และวาจานั้นไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่ชอบใจของผู้อื่น ตถาคตไม่กล่าววาจานั้น
อนึ่ง ตถาคตย่อมรู้วาจาที่จริง ที่แท้ แต่ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ และวาจานั้นไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่ชอบใจของผู้อื่น ตถาคตไม่กล่าววาจานั้น
อนึ่ง ตถาคตย่อมรู้วาจาที่จริง วาจาที่แท้ และประกอบด้วยประโยชน์ แต่วาจานั้นไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่ชอบใจของผู้อื่น ในข้อนั้น ตถาคตย่อมรู้กาล ที่จะพยากรณ์วาจานั้น
ตถาคตย่อมรู้วาจาที่ไม่จริง ไม่แท้ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ แต่วาจานั้นเป็นที่รัก เป็นที่ชอบใจของผู้อื่น ตถาคตไม่กล่าววาจานั้น
ตถาคตย่อมรู้วาจาที่จริง ที่แท้ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ แต่วาจานั้นเป็นที่รัก เป็นที่ชอบใจของผู้อื่น ตถาคตไม่กล่าววาจานั้น
อนึ่ง ตถาคตย่อมรู้วาจาที่จริง ที่แท้ และประกอบด้วยประโยชน์ และวาจานั้น เป็นที่รัก เป็นที่ชอบใจ ของผู้อื่น ในข้อนั้น ตถาคตย่อมรู้กาลที่จะพยากรณ์วาจานั้น ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะตถาคตมีความเอ็นดู ในสัตว์ทั้งหลาย. |