เว็บไซต์ อนาคามี เผยแพร่คำพระศาสดา เผยแพร่คำสอนตถาคต เว็บไซต์เผยแพร่พระสุตรคำสอนของพระพุทธเจ้า คลิปคำสอน คลิปสาธยายธรรม
 
ค้นหาคำที่ต้องการ          

 
  ทรงรำพึงถึงปฐมเทศนา ทรงนึกถึง อาฬารดาสบส อุทกดาบส และปัญจวัคีย์ 855
 
(เนื้อหาพอสังเขป)

หลังจากพระพุทธเจ้าตรัสรู้ ที่ตำบลอุรุเวลา
ทรงปรารภว่า จะแสดงธรรมแก่พระอาจารย์ คือ อาฬารดาบส กาลามโคตร บัณฑิตผู้ฉลาด มีปัญญา แต่มี เทวดาตนหนึ่งเข้ามาหาเราแล้วทูล อาฬารดาบส กาลามโคตร ตายไปแล้วได้ ๗

หลังจากนั้นทรงดำริว่าจะแสดงธรรมแก่ อุททกดาบส รามบุตร บัณฑิตผู้ฉลาด มีปัญญาครั้งนั้น เทวดาตนหนึ่ง เข้ามาหาเราแล้วทูล อุททกดาบส รามบุตร ได้ตายไปเสียแล้วเมื่อเย็นวานนี้.

เราจึงคิดว่า ปัญจวัคคีย์ ได้อุปัฏฐากเรา ผู้กำลังบำเพ็ญเพียรอยู่ เป็นผู้มี อุปการะแก่เรามากนัก เราจึงคิด ดังนี้ว่า บัดนี้ ภิกษุปัญจวัคคีย์อยู่ที่ไหนหนอ

เราก็รู้ได้ว่า ภิกษุปัญจวัคคีย์ อยู่ในป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เขตพระนครพาราณสี ด้วยทิพยจักษุที่บริสุทธิ์ ล่วงจักษุของมนุษย์ ครั้นเราอยู่ที่ ตำบลอุรุเวลา พอสมควรแล้ว จึงได้ออกจาริกไปเมืองพาราณสี

แสดงธรรมให้กับ ปัญจวัคคีย์ เรื่อง กามคุณ ๕
คือ รูปที่พึงทราบชัดได้ด้วยจักษุ ซึ่งเป็นที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าชอบใจ น่ารัก ประกอบด้วยกาม เป็นที่ตั้งแห่ง ความกำหนัด เสียงที่พึงทราบชัดได้ด้วยโสต ... กลิ่นที่พึงทราบชัดได้ด้วยฆานะ ... รสที่พึงทราบชัดได้ด้วยชิวหา ... โผฏฐัพพะที่พึง ทราบชัดได้ด้วยกาย ซึ่งเป็นที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าชอบใจ น่ารัก ประกอบด้วยกาม เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด


 
 


ฉบับหลวง (ไทย) เล่มที่ ๑๒ สุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ หน้าที่ ๒๒๘



ทรงรำพึงถึงปฐมเทศนา


                [๓๒๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราจึงคิดดังนี้ว่า เราจะพึงแสดงธรรม เป็นครั้งแรก แก่ใครหนอ ใครจักทราบชัดธรรมนี้ได้โดยเร็ว. เราจึงคิดดังนี้ว่า อาฬารดาบส กาลามโคตรนี้แล เป็นบัณฑิต ฉลาด มีปัญญา มีกิเลสดุจธุลี ในดวงตา น้อยมานาน ถ้าไฉน เราพึงแสดงธรรมเป็นครั้งแรกแก่เธอ เธอจักทราบชัด ธรรมนี้ ได้โดยเร็ว.

     ครั้งนั้น เทวดาตนหนึ่งเข้ามาหาเราแล้วทูลดังนี้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อาฬารดาบส กาลามโคตร ตายไปแล้วได้ ๗ วัน. อนึ่ง เราก็เกิดญาณทัสสนะว่า อาฬารดาบส กาลามโคตร ตายไปแล้วได้ ๗ วัน.

     เราจึงคิดดังนี้ว่า อาฬารดาบส กาลามโคตร เป็นผู้เสื่อมจากคุณอันยิ่งใหญ่ เสียแล้วหนอ เพราะถ้าเธอพึงได้สดับธรรมนี้ไซร้ ก็จะพึงทราบชัดได้โดยเร็ว.

     เราจึงคิดดังนี้ว่า เราจะพึงแสดงธรรมเป็นครั้งแรกแก่ใครหนอ ใครจักทราบชัดธรรม นี้ ได้โดยเร็ว.

     เราจึงคิดดังนี้ว่า อุททกดาบส รามบุตร นี้แลเป็นบัณฑิตฉลาด มีปัญญา มีกิเลส ดุจธุลีในดวงตาน้อยมานาน ถ้าไฉนเราพึงแสดงธรรมเป็นครั้งแรกแก่เธอ เธอจักทราบชัด ธรรมนี้ได้โดยเร็ว.

     ครั้งนั้น เทวดาตนหนึ่งเข้ามาหาเราแล้วทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อุททกดาบส รามบุตร ได้ตายไปเสียแล้วเมื่อเย็นวานนี้.

     อนึ่ง เราก็เกิดญาณทัสสนะว่า อุททกดาบส รามบุตร ได้ตายไปเสียแล้วเมื่อ เย็นวานนี้.

     เราจึงคิดดังนี้ว่าอุททกดาบส รามบุตร เป็นผู้เสื่อมจากคุณอันยิ่งใหญ่เสียแล้วหนอ เพราะถ้าเธอพึงได้สดับธรรมนี้ไซร้ ก็พึงทราบชัดได้โดยเร็ว.

     เราจึงคิดดังนี้ว่า เราจะพึงแสดงธรรมเป็นครั้งแรกแก่ใครหนอ ใครจักทราบชัดธรรม นี้ โดยเร็ว.

     เราจึงคิดดังนี้ว่า ภิกษุปัญจวัคคีย์ได้อุปัฏฐากเรา ผู้กำลังบำเพ็ญเพียรอยู่ เป็นผู้มี อุปการะแก่เรามากนัก ถ้าไฉน เราพึงแสดงธรรมเป็นครั้งแรกแก่พวกเธอ.

     เราจึงคิดดังนี้ว่า บัดนี้ ภิกษุปัญจวัคคีย์อยู่ที่ไหนหนอ.

     เราก็รู้ได้ว่า ภิกษุปัญจวัคคีย์อยู่ในป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เขตพระนครพาราณสี ด้วยทิพยจักษุที่บริสุทธิ์ ล่วงจักษุของมนุษย์. ครั้นเราอยู่ที่ตำบลอุรุเวลาพอสมควรแล้ว จึงได้ออกจาริกไปเมืองพาราณสี.

..............................................................................................

(ระหว่างเดินทางไปพบกับปัญจวัคคีย์ ได้พบกับ อาชีวก ชื่ออุปกะ )

                [๓๒๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย อาชีวก ชื่ออุปกะ ได้เห็นเราผู้กำลังเดินทาง ไกล ที่ระหว่างแม่น้ำคยาและต้นมหาโพธิ จึงถามเราว่า ดูกรอาวุโส อินทรีย์ของท่าน ผ่องใสนัก ฉวีวรรณของท่านบริสุทธิ์ผุดผ่อง ท่านได้บรรพชาเฉพาะใคร ใครเป็น ศาสดาของท่าน หรือท่านชอบใจธรรมของใคร.

     เมื่ออุปกะอาชีวกถามอย่างนี้ เราจึงได้กล่าวคาถาตอบว่า เราเป็นผู้ครอบงำธรรม ทั้งปวง รู้แจ้งธรรมทั้งปวง อันตัณหาให้ติดไม่ได้ใน ธรรมทั้งปวง ละเว้นธรรมทั้งปวง พ้น (น้อมใจ) ไปในธรรมเป็นที่สิ้นตัณหาเพราะรู้ยิ่งด้วยตนเอง เราจะพึงแสดง ใครเล่าว่าเป็นอาจารย์ อาจารย์ของเราไม่มี ผู้ที่ดีเหมือนเราไม่มี ผู้ที่เทียมเสมอเรา ไม่มีในโลก ทั้งเทวโลก เพราะเราเป็น พระอรหันต์ เป็นศาสดาผู้ยอดเยี่ยม เป็น สัมมาสัมพุทธ องค์เอก เป็นผู้เย็น ดับกิเลสได้แล้ว เราจะไปบุรีของชาวกาสีเพื่อแสดง ธรรมจักร โดยหมายจะ บันลือกลองอมฤตธรรม ในโลกที่มืดมน.

     อุปกะอาชีวกถามเราว่า เหตุใด ท่านจึงปฏิญาณว่า เป็น อรหันต์อนันตะชินะ ? เราจึงกล่าวคาถาตอบว่าผู้ที่ถึงอาสวักขัยเช่นเรา ย่อมเป็นผู้มีนามว่า ชินะเพราะบาป ธรรมทั้งหลายเราได้ชนะแล้ว ฉะนั้น เราจึงมีนามว่า ชินะ.

     เมื่อเรากล่าวตอบอย่างนี้ อุปกะอาชีวกนั้นได้กล่าวว่า พึงเป็นเช่นนั้นหรือ ท่าน สั่นศีรษะ แล้วหลีกทางไป.

..............................................................................................

ทรงโปรดเบญจวัคคีย์

                [๓๒๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราจึงออกเดินทางต่อไปโดยลำดับ จนถึง พวกภิกษุปัญจวัคคีย์ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวันเขตเมืองพาราณสี. พวกภิกษุปัญจวัคคีย์ ได้เห็นเราเดินทางมาแต่ไกลจึงได้นัดหมายกันว่า ท่านพระสมณโคดม พระองค์นี้ ที่เป็นผู้มักมาก คลายความเพียร เวียนมาเพื่อความเป็นผู้มักมาก กำลังเสด็จมา พวกเราไม่ต้องไหว้ ไม่ต้องลุกขึ้นยืนรับ ไม่ต้องรับบาตรจีวร แต่ว่าต้องปูอาสนะไว้ ถ้าทรงปรารถนา ก็จักประทับนั่ง.

     เมื่อเราเข้าไปใกล้ พวกภิกษุปัญจวัคคีย์ ก็ไม่สามารถดำรงอยู่ในข้อนัดหมายกัน คือ บางรูปลุกขึ้นรับบาตรจีวร บางรูปปูอาสนะ บางรูปตั้งน้ำล้างเท้า แต่พูดกับเรา โดยระบุนาม และใช้คำพูดว่า "อาวุโส" เราจึงบอกภิกษุปัญจวัคคีย์ว่า

     ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกเธออย่าได้พูดกับตถาคตโดยระบุนาม และใช้คำพูดว่า "อาวุโส" ตถาคตได้เป็นอรหันตสัมมาสัมพุทธ พวกเธอจงเงี่ยโสตลงสดับ เราจะสอน อมฤตธรรมที่เราได้บรรลุ เราจะแสดงธรรม เมื่อพวกเธอปฏิบัติตามที่เราสอน ไม่นานนัก ก็จักกระทำให้แจ้งซึ่งที่สุดพรหมจรรย์ อันเป็นคุณยอดเยี่ยม ที่กุลบุตรผู้ออก บรรพชา โดยชอบ มุ่งหมาย ในปัจจุบันเข้าถึงอยู่ เพราะรู้ยิ่งด้วยตนเอง.

     เมื่อเรากล่าวอย่างนี้แล้ว พวกภิกษุปัญจวัคคีย์ได้กล่าวกับเราว่า ดูกรอาวุโส โคดม แม้เพราะการประพฤติอย่างนั้น เพราะการปฏิบัติอย่างนั้น เพราะการบำเพ็ญ ทุกกรกิริยา อย่างนั้น ท่านก็ไม่ได้บรรลุอุตตริมนุสสธรรม ที่เป็นอริยญาณทัสสนะ ชั้นพิเศษ อย่าง เพียงพอ ก็บัดนี้ ไฉนเล่า ท่านผู้เป็นคนมักมาก คลายความเพียร เวียนมาเพื่อความ เป็นคนมักมาก จักบรรลุอุตตริมนุสสธรรม ที่เป็นอริยญาณทัสสนะ ชั้นพิเศษ อย่างเพียงพอได้ เมื่อพวกภิกษุปัญจวัคคีย์กล่าวอย่างนี้แล้ว เราจึงได้กล่าวว่า

     ดูกรภิกษุทั้งหลาย ตถาคตมิได้เป็นคนมักมาก มิได้คลายความเพียร เวียนมา เพื่อความ เป็นคนมักมาก ตถาคตได้เป็นอรหันตสัมมาสัมพุทธ พวกเธอจงเงี่ยโสต ลงสดับ เราจะ สอนอมฤตธรรมที่เราได้บรรลุแล้ว เราจะแสดงธรรม เมื่อพวกเธอ ปฏิบัติตามที่เราสอน ไม่นานนัก ก็จักกระทำให้แจ้งซึ่งที่สุดพรหมจรรย์อันเป็นคุณ ยอดเยี่ยม ที่กุลบุตรผู้ออก บรรพชาโดยชอบ มุ่งหมาย ในปัจจุบัน เข้าถึงอยู่ เพราะรู้ยิ่งด้วยตนเอง.

     พวกภิกษุปัญจวัคคีย์ได้กล่าวคัดค้านกะเรา เป็นครั้งที่สอง เป็นครั้งที่สาม

เมื่อพวกภิกษุปัญจวัคคีย์กล่าวคัดค้านอยู่อย่างนี้ เราจึงได้กล่าวว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจำได้หรือไม่ว่า คำอย่างนี้ เราได้เคยพูดมาแล้วแต่ก่อน.

     พวกภิกษุปัญจวัคคีย์กล่าวว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ คำอย่างนี้พระองค์ มิได้เคยตรัส เลย.

     เราจึงกล่าวว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ตถาคตมิได้เป็นคนมักมาก มิได้คลาย ความเพียร เวียนมาเพื่อความเป็นคนมักมาก ตถาคตได้เป็นอรหันตสัมมาสัมพุทธ พวกเธอจงเงี่ย โสตลงสดับ เราจะสอนอมฤตธรรมที่เราได้บรรลุแล้ว เราจะแสดงธรรม เมื่อพวกเธอ ปฏิบัติตามที่เราสอน ไม่นานนัก ก็จักกระทำให้แจ้งซึ่งที่สุดพรหมจรรย์ อันเป็นคุณ ยอดเยี่ยมที่กุลบุตรผู้ออกบรรพชาโดยชอบ มุ่งหมายในปัจจุบัน เข้าถึงอยู่ เพราะรู้ยิ่ง ด้วยตนเอง.

เราจึงได้สามารถให้พวกภิกษุปัญจวัคคีย์ยอมเข้าใจตาม. เรากล่าวสอนภิกษุสองรูปภิกษุสามรูปก็เที่ยวไปบิณฑบาต เราทั้งหกคนฉันบิณฑบาตที่ภิกษุสามรูปนำมา.
เรากล่าวสอนภิกษุสามรูป ภิกษุสองรูปก็เที่ยวไปบิณฑบาต เราทั้งหกคนฉันบิณฑบาตที่ภิกษุสองรูปนำมา


ครั้งนั้น พวกภิกษุปัญจวัคคีย์อันเราโอวาทอนุศาสน์อยู่อย่างนี้ โดยตนเองเป็นผู้มีชาติ เป็นธรรมดา

ทราบชัดโทษในสิ่งมีชาติเป็นธรรมดา แสวงหาจนได้บรรลุนิพพาน ที่ไม่เกิด หาธรรมอื่นยิ่งกว่ามิได้ เกษมจากโยคะ เป็นผู้มีชราเป็นธรรมดา

ทราบชัดโทษในสิ่งที่มีชราเป็นธรรมดา แสวงหาจนได้บรรลุนิพพาน ที่ไม่แก่ หาธรรมอื่นยิ่งกว่ามิได้ เกษมจากโยคะ เป็นผู้มีพยาธิเป็นธรรมดา

ทราบชัดโทษในสิ่งมีพยาธิเป็นธรรมดา แสวงหาจนได้บรรลุนิพพาน ที่หาพยาธิมิได้หาธรรมอื่นยิ่งกว่ามิได้ เกษมจากโยคะ เป็นผู้มีมรณะเป็นธรรมดา

ทราบชัดโทษในสิ่งมีมรณะเป็นธรรมดา แสวงหาจนได้บรรลุนิพพานที่ไม่ตาย หาธรรมอื่นยิ่งกว่ามิได้ เกษมจากโยคะ เป็น ผู้มีโศกเป็นธรรมดา

ทราบชัดโทษในสิ่งมีโศกเป็นธรรมดา แสวงหาจนได้บรรลุนิพพาน ที่หาโศกมิได้ หาธรรมอื่นยิ่งกว่ามิได้ เกษมจากโยคะ เป็นผู้มีสังกิเลสเป็นธรรมดา

ทราบชัดโทษในสิ่งมีสังกิเลสเป็นธรรมดา แสวงหาจนได้บรรลุนิพพาน ที่ไม่เศร้าหมอง หาธรรมอื่นยิ่งกว่ามิได้เกษมจากโยคะ

และพวกภิกษุปัญจวัคคีย์เหล่านั้น ได้เกิดญาณทัสสนะขึ้นมาว่า วิมุติของพวกเรา ไม่กำเริบ ชาตินี้มีในที่สุด ไม่มีภพใหม่ต่อไป.

                [๓๒๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย กามคุณเหล่านี้มี ๕.

กามคุณ ๕ เป็นไฉน
?

     คือ รูปที่พึงทราบชัดได้ด้วยจักษุ ซึ่งเป็นที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าชอบใจ น่ารัก ประกอบด้วยกาม เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด เสียงที่พึงทราบชัดได้ด้วยโสต ... กลิ่นที่พึงทราบชัดได้ด้วยฆานะ ... รสที่พึงทราบชัดได้ด้วยชิวหา ... โผฏฐัพพะที่พึง ทราบชัดได้ด้วยกาย ซึ่งเป็นที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าชอบใจ น่ารัก ประกอบด้วยกาม เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด

     ดูกรภิกษุทั้งหลาย กามคุณ ๕เหล่านี้แล.

     สมณพราหมณ์พวกใดพวกหนึ่งใฝ่ฝัน ลุ่มหลง ติดพัน ไม่เห็นโทษ ไม่มีปัญญา ที่จะคิด นำตนออก ย่อมบริโภคกามคุณ ๕ เหล่านี้  สมณพราหมณ์พวกนั้น บัณฑิต พึงทราบว่า เป็นผู้ถึงความเสื่อมความพินาศ ถูกมารผู้ใจบาปกระทำได้ตามต้องการ.

อุปมาสมณพราหมณ์กับฝูงเนื้อ


                [๓๒๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เหมือนอย่างว่า เนื้อป่าที่ติดบ่วง นอนทับ กองบ่วง พึงทราบว่า เป็นสัตว์ที่ถึงความเสื่อมความพินาศ ถูกพรานกระทำได้ตาม ต้องการ เมื่อพรานเดินเข้ามาก็หนีไปไม่ได้ ตามปรารถนา ฉันใด สมณพราหมณ์พวก ใด พวกหนึ่ง ใฝ่ฝัน ลุ่มหลง ติดพันไม่เห็นโทษ ไม่มีปัญญาที่จะคิดนำตนออก ย่อมบริโภคกามคุณ ๕ เหล่านี้ สมณพราหมณ์พวกนั้น.

     บัณฑิตพึงทราบว่า เป็นผู้ถึงความเสื่อมความพินาศ ถูกมารผู้ใจบาปกระทำได้ตาม ต้องการ ฉันนั้นสมณพราหมณ์พวกใดพวกหนึ่งไม่ใฝ่ฝัน ไม่ลุ่มหลง ไม่ติดพัน เห็นโทษ มีปัญญาที่จะคิดนำตนออก ย่อมบริโภคกามคุณ ๕ เหล่านี้ สมณพราหมณ์
พวกนั้น บัณฑิตพึงทราบว่า เป็นผู้ไม่ถึงความเสื่อมความพินาศไม่ถูกมารผู้ใจบาป กระทำได้ตามต้องการ.

     เหมือนอย่างว่า เนื้อป่าที่ไม่ติดบ่วง นอนทับกองบ่วง พึงทราบว่า เป็นสัตว์ไม่ถึง ความเสื่อม ความพินาศ ไม่ถูกพรานกระทำได้ตามต้องการเมื่อพรานเดินเข้ามา ก็หนีไป ตามปรารถนา ฉันใด สมณพราหมณ์พวกใดพวกหนึ่งไม่ใฝ่ฝันไม่ลุ่มหลง ไม่ติดพัน เห็นโทษ มีปัญญาที่จะคิดนำตนออก ย่อมบริโภคกามคุณ ๕ เหล่านี้ สมณพราหมณ์ พวกนั้น บัณฑิตพึงทราบว่า เป็นผู้ไม่ถึงความเสื่อมความพินาศ ไม่ถูกมารผู้ใจบาป กระทำ ได้ตามต้องการฉันนั้น.

     อนึ่ง เหมือนอย่างว่า เนื้อป่า เมื่อเที่ยวไปตามป่าใหญ่ ย่อมวางใจ เดิน ยืน นั่ง นอนเพราะไม่ได้ประสบพรานป่า ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้น สงัดจากกาม จากอกุศลธรรม ย่อม บรรลุปฐมฌาน มีวิตก มีวิจาร มีปีติและสุขเกิดแต่วิเวกอยู่ ภิกษุนี้เรียกว่าได้ทำ มารให้ตาบอด คือทำลายจักษุของมารไม่ให้เห็นร่องรอย ถึงความไม่เห็นของมาร ผู้มีบาปธรรม.

     ดูกรภิกษุทั้งหลาย ยังอีกข้อหนึ่ง คือภิกษุ บรรลุทุติยฌาน มีความผ่องใสแห่งจิต ในภายในเป็นธรรมเอกผุดขึ้น เพราะวิตกวิจารสงบไป ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร มีปีติและสุข เกิดแต่สมาธิอยู่ภิกษุนี้เรียกว่า ได้กระทำมารให้ตาบอด คือทำลายจักษุของมารไม่ให้ เห็น ร่องรอย ถึงความไม่เห็นของมารผู้มีบาปธรรม.

     ดูกรภิกษุทั้งหลาย ยังอีกข้อหนึ่ง ภิกษุเป็นผู้มีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะเสวยสุข ด้วยนามกาย เพราะปีติสิ้นไป บรรลุตติยฌาน ที่พระอริยะทั้งหลายสรรเสริญว่า ผู้ได้ ฌานนี้ เป็นผู้มีอุเบกขา มีสติอยู่เป็นสุข ภิกษุนี้เรียกว่า ได้ทำมารให้ตาบอด คือ ทำลายจักษุของมารไม่ให้เห็นร่องรอย ถึงความไม่เห็นของมารผู้มีบาปธรรม.

     ดูกรภิกษุทั้งหลาย ยังอีกข้อหนึ่ง คือ ภิกษุ บรรลุจตุตถฌาน ไม่มีทุกข์ไม่มีสุข เพราะละสุขละทุกข์ และดับโสมนัสโทมนัสก่อนๆ ได้ มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์ อยู่ ภิกษุนี้เรียกว่าได้ทำมารให้ตาบอด คือ ทำลายจักษุของมารไม่ให้เห็นร่องรอย ถึงความไม่เห็นของมารผู้มีบาปธรรม.

     ดูกรภิกษุทั้งหลาย ยังอีกข้อหนึ่ง คือ ภิกษุได้บรรลุอากาสานัญจายตนฌาน ซึ่งมี บริกรรมว่าอากาศหาที่สุดมิได้ เพราะก้าวล่วงรูปสัญญา ดับปฏิฆสัญญาไม่มนสิการ นานัตตสัญญาโดยประการทั้งปวงอยู่ ภิกษุนี้เรียกว่า ได้ทำมารให้ตาบอด คือ ทำลายจักษุของมารไม่ให้เห็นร่องรอย ถึงความไม่เห็นของมารผู้มีบาปธรรม.

     ดูกรภิกษุทั้งหลาย ยังอีกข้อหนึ่ง คือ ภิกษุล่วงอากาสานัญจายตนฌาน เสีย โดยประการทั้งปวง ได้บรรลุวิญญาณัญจายตนฌาน ซึ่งมีบริกรรมว่าวิญญาณ หาที่สุด มิได้อยู่ ภิกษุนี้เรียกว่าได้ทำมารให้ตาบอด คือ ทำลายจักษุของมาร ไม่ให้เห็น ร่องรอย ถึงความไม่เห็นของมารผู้มีบาปธรรม.

     ดูกรภิกษุทั้งหลาย ยังอีกข้อหนึ่ง คือ ภิกษุล่วงวิญญาณัญจายตนฌานเสีย โดย ประการทั้งปวง ได้บรรลุอากิญจัญญายตนฌาน ซึ่งมีบริกรรมว่า อะไรหน่อยหนึ่ง ไม่มีอยู่ ภิกษุนี้เรียกว่าได้ทำมารให้ตาบอด คือ ทำลายจักษุของมาร ไม่ให้ เห็นร่องรอย ถึงความไม่เห็นของมารผู้มีบาปธรรม.

     ดูกรภิกษุทั้งหลาย ยังอีกข้อหนึ่ง คือ ภิกษุล่วงอากิญจัญญายตนฌานเสีย โดย ประการทั้งปวง ได้บรรลุเนวสัญญานาสัญญายตนฌานอยู่ ภิกษุนี้เรียกว่าได้ ทำมารให้ตาบอด คือ ทำลายจักษุของมารไม่ให้เห็นร่องรอย ถึงความไม่เห็นของมาร ผู้มีบาปธรรม.

     ดูกรภิกษุทั้งหลาย ยังอีกข้อหนึ่ง คือ ภิกษุล่วงเนวสัญญานาสัญญายตนฌาน เสียโดยประการทั้งปวง ได้บรรลุสัญญาเวทยิตนิโรธอยู่ ก็แลเพราะเห็นด้วยปัญญา เธอย่อมมีอาสวะสิ้นไป ภิกษุนี้เรียกว่า ได้ทำมารให้ตาบอด คือ ทำลายจักษุของมาร ไม่ให้เห็นร่องรอย ถึงความไม่เห็นของมารผู้มีบาปธรรม เป็นผู้ข้ามพ้นตัณหาอันข้องอยู่ ในอารมณ์ต่างๆ ในโลกเสียได้ ย่อมวางใจ เดิน ยืน นั่ง นอน เพราะไม่ได้ประสบมาร ผู้มีบาปธรรม.

     พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระพุทธพจน์นี้จบลงแล้ว ภิกษุเหล่านั้น ชื่นชมยินดี พระภาษิตของพระผู้มีพระภาค แล้วแล.

จบ ปาสราสิสูตร ที่

 
 
พุทธวจน : อ่านคำสอนพระศาสดา อ่านแบบสบายตา โดยคัดลอกหนังสือทั้งเล่มมาจัดทำเป็นเว็บเพจ (คลิกอ่านพร้อมดาวน์โหลดไฟล์ pdf)
90 90 90 90  
 
พุทธประวัติ ขุมทรัพย์
อริยสัจ
ภาคต้น
อริยสัจ
ภาคปลาย
ปฏิจจ ปฐมธรรม ตถาคต อนาคามี อินทรีย์
สังวร
สัตว์
สัตตานัง
ทาน
สกทาคามี
ฆราวาส
ชั้นเลิศ
มรรควิธี
ที่ง่าย
 
   
อริยวินัย เดรัจฉานวิชา กรรม สมถะ
วิปัสสนา
โสดาบัน อานา
ปานสติ
จิต มโน
วิญญาณ
ก้าวย่าง
อย่างพุทธะ
ตามรอย
ธรรม
ภพ ภูมิ
พุทธวจน
สาธยาย
ธรรม
สังโยชน์