เว็บไซต์ อนาคามี เผยแพร่คำพระศาสดา เผยแพร่คำสอนตถาคต เว็บไซต์เผยแพร่พระสุตรคำสอนของพระพุทธเจ้า คลิปคำสอน คลิปสาธยายธรรม
 
ค้นหาคำที่ต้องการ          

 
 หมอชีวกโกมารภัจจ์ ประวัติของหมอ ชีวก หมอประจำพระเจ้าพิมพิสาร  และพระพุทธเจ้า
 (พระสูตรนี้น่าจะเป็นอรรถกถา)
728
 
(เนื้อหาพอสังเขป)

ประวัติชีวิต และประวัติการรักษา ของหมอชีวกโกมารภัจจ์

หมอชีวกโกมารภัจจ์ เป็นลูกของหญิงงามเมือง ต่อมาได้ตั้งตั้งครรภ์ เกรงว่าจะกระทบกับอาชีพ หญิง บริการ เมื่อคลอดแล้ว ได้นำเด็กไปทิ้งที่กองขยะนอกเมือง  เจ้าชายอภัย(โอรสพระเจ้าพิมพิสาร) กำลังเสด็จเข้าพระราชวัง ทอดพระเนตรเห็นทารก มีฝูงกาห้อมล้อม จึงนำมาชุบเลี้ยง พร้อมตั้งชื่อว่า ชีวก (แปลว่ายังมีชีวิตอยู่ - ชีวโก)

เมื่อโตขึ้นได้ออกเรียนแพทย์ยังต่างเมือง จนสำเร็จ ในชีวิตได้รักษาโรคให้กับบรรดาเศรษฐี คหบดี จนมีชื่อเสียง จึงได้มาอยู่ในวัง เป็นแพทย์ประจำพระเจ้าพิมพิสาร และเป็นแพทย์ประจำพระพุทธเจ้า

ประวัติการรักษา

1. รักษาเศรษฐี ที่ปวดศรีษะมานานถึง 7 ปี จนหายขาด ได้เงิน 16,000 กษาปณ์ รถม้า และทาส ทาสี

2. รักษาเจ้าพิมพิสาร ที่ทรงประชวรด้วย โรคริดสีดวงงอก ให้หายได้เพียงรักษาครั้งเดียว ได้รางวัล เป็นสตรี 500 นาง พร้อมเครื่องประดับ (แต่หมอชีวกไม่ขอรับ) ถ้าอย่างนั้น เจ้าจงบำรุงเรากับพวกฝ่ายใน (ได้อยู่ในวัง) และ ภิกษุสงฆ์ มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข ชีวกโกมารภัจจ์ทูลรับสนอง

3. เศรษฐีชาวพระนครราชคฤห์ ป่วยเป็นโรคปวดศีรษะ อยู่ ๗ ปี มีนายแพทย์ใหญ่ๆ หลายคน มารักษา ก็ไม่หาย ทำให้เสียเงินทองเป็นอันมาก หมอชีวก รักษาโดยเปิดกระโหลกศีรษะ นำสัตว์มีชีวิต 2 ตัวที่อยู่ในศรีษะ ออกมา เศรษฐีจึงตบรางวัลให้มากมาย พร้อมยอมเป็นทาส... แต่หมอชีวกปฏิเสธ จึงขอรับเงินแค่ 1 แสนกษาปณ์ และอีก 1 แสนกษาปณ์ ได้มอบให้พระเจ้าพิมพิสาร

4. รักษาบุตรเศรษฐี ป่วยโรคเนื้องอกที่ลำไส้ หมอชีวกรักษาโดยเปิดผ่าผนังท้อง นำเนื้องอก ออกมาได้

5. รักษาให้พระเจ้าจัณฑปัชโชต ทรงประชวรโรคผอมเหลือง หมอชีวกปรุงยาผสมด้วยเนยใส แล้วต้องรีบหนี ออกจากเมือง เนื่องจากพระเจ้าจัณฑปัชโชติ ไม่โปรดเนยใส แต่จำเป็นใช้เนยใสปรุงยา หมอชีวกจำต้องโกหก โดยใช้สมุนไพรอื่นผสมเพื่อให้มีรสฝาด และเหตุที่ต้องโกหกเพราะเกรงว่า พระเจ้าจัณฑจะทำร้าย เนื่องจากมีนิสัย โหดเหี้ยมดุร้าย
หลังจากพระเจ้าจัณฑฯ เสวยยา จึงได้เรอขึ้น ทำให้รู้ว่ามีเนยใสในตัวยา ทรงกริ้วกราดมาก ให้ทหารตามไปจับตัว แต่หมอชีวกหนีออกนอกเมืองไป แล้ว แต่ทหารก็ตามไปจนถึงตัว แต่ก็ถูกหมอชีวก หลอกล่อ ให้กินยาถ่าย จนถ่ายอุจาระไม่หยุด จึงร้องขอให้หมอชีวกช่วยเหลือ

6. รักษาพระผู้มีพระภาค เนื่องจากมีของหมักหมมในลำใส้ ต้องการยาถ่าย หมอชีวกให้ สูดดมก้านบัว ที่อบด้วย ตัวยา 3 ก้าน ทำให้ถ่าย 30 ครั้ง จนหายเป็นปกติ

7. รักษาภิกษุที่ป่วยเป็น โรคมองคร่อ(ไอเรื้อรัง) สมัยนั้นในมคธชนบทเกิดโรคระบาด ๕ ชนิด คือ โรคเรื้อน โรคฝี โรคกลาก โรคมองคร่อ โรคลมบ้าหมู ชาวบ้านที่เป็นโรคได้เข้าหาหมอชีวก แต่ถูกหมอ ปฏิเสธ อ้างว่ามีกิจ ธุระมาก ต้องดูแลสุขภาพ พระเจ้าแผ่นดิน (พิมพิสาร) ชาวบ้านจึงคิดว่า พระสมณะ เชื้อสาย พระศากยบุตรเหล่านี้ มีปกติเป็นสุขสบาย ฉันอาหารที่ดี ถ้าเช่นนั้น พวกเราพึงบวชในสำนัก พระสมณะเชื้อสาย พระศากยบุตร เผื่อหมอ ชีวกจะมีโอกาสรักษาพวกเรา
และเมื่อได้รับการ รักษา จนหายแล้ว ชาวบ้านทั้งหมดได้สึกออกไป

เหตุการณ์นี้จึงเป็นที่มาของการ บัญญัติพระวินัย ห้ามบวชสำหรับผู้ป่วยเป็นโรคติดต่อ 5 โรคนี้
คือ โรคเรื้อน โรคฝี โรคกลาก โรคมองคร่อ(ไอเรื้อรัง) โรคลมบ้าหม

เอตทัคคะ
หมอขีวกได้รับยกย่องจากพระพุทธองค์ว่าเป็น เอตทัคคะ ผู้เลิศกว่าอุบาสกทั้งปวงในทาง "เป็นที่รักของปวงชน"

 
 


เรื่องราวของ หมอชีวกโกมารภัจจ์
รวบรวมหลายๆพระสูตร จากพระไตรปิฎก ฉบับหลวง

 (กำเนิดชีวกโกมารภัจจ์ พระสูตรนี้น่าจะเป็นอรรถกถา)

พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๕   วินัยปิฎก มหาวรรค ภาค ๒ หน้าที่ ๑๓๕ - ๑๔๙

กำเนิดชีวกโกมารภัจจ์
               

               [๑๒๘].... ก็สมัยนั้น ในพระนครราชคฤห์ มีกุมารีชื่อสาลวดีเป็นสตรี ทรงโฉมสคราญตา น่าเสน่หา ประกอบด้วย ผิวพรรณเฉิดฉายยิ่ง จึงพวกคนมีทรัพย์ ชาว พระนครราชคฤห์ ได้คัดเลือกกุมารีสาลวดีเป็นหญิงงามเมือง

ครั้นนาง กุมารีสาลวดี ได้รับเลือกเป็นหญิงงามเมืองแล้ว ไม่ช้านานเท่าไรนักก็ได้ เป็นผู้ชำนาญในการฟ้อนรำ ขับร้อง บรรเลงเครื่องดนตรี มีคนที่มีความประสงค์ ต้องการ ตัวไปร่วมอภิรมย์ ราคาตัว คืนละ ๑๐๐ กษาปณ์

ครั้นมิช้ามินาน นางสาลวดีหญิงงามเมืองก็ตั้งครรภ์ จึงนางมีความคิดเห็นว่าธรรมดา สตรีมีครรภ์ไม่เป็นที่พอใจ ของพวกบุรุษ ถ้าใครๆ ทราบว่าเรามีครรภ์ ลาภผลของเรา จักเสื่อมหมด ถ้ากระไรเราควรแจ้งให้เขาทราบว่าเป็นไข้ ต่อมานางได้ สั่งคนเฝ้าประตู ไว้ว่านายประตูจ๋าโปรดอย่าให้ชายใดๆเข้ามา และผู้ใดถามหาดิฉัน จงบอกให้เขา ทราบว่าเป็นไข้นะ

คนเฝ้าประตูนั้นรับคำนางสาลวดีหญิงงามเมืองว่าจะปฏิบัติตามคำสั่งเช่นนั้น หลังจาก นั้นอาศัย ความแก่แห่งครรภ์นั้น นางได้คลอดบุตรเป็นชาย และสั่ง กำชับทาสีว่า แม่สาวใช้จงวางทารกนี้ลงบนกระด้งเก่าๆ แล้วนำออกไปทิ้งที่กองหยากเยื่อ(กองขยะ)

ทาสีนั้นรับคำนางว่า ทำเช่นนั้นได้ เจ้าค่ะ ดังนี้ แล้ววางทารกนั้น ลงบนกระด้งเก่าๆ นำออกไปทิ้งไว้ ณ กองหยากเยื่อ ก็ครั้งนั้นเป็นเวลาเช้า เจ้าชายอภัย กำลังเสด็จ เข้าสู่พระราชวัง ได้ทอดพระเนตรเห็นทารกนั้น อันฝูงกาห้อมล้อมอยู่

ครั้นแล้วได้ถาม มหาดเล็กว่า พนายนั่นอะไรฝูงการุมกันตอม

ม. ทารก พ่ะย่ะค่ะ

อ. ยังเป็นอยู่หรือ พนาย

ม. ยังเป็นอยู่ พ่ะย่ะค่ะ

อ. พนาย ถ้าเช่นนั้น จงนำทารกนั้นไปที่วังของเรา ให้นางนมเลี้ยงไว้

คนเหล่านั้นรับสนองพระบัญชาว่า อย่างนั้น พ่ะย่ะค่ะ แล้วนำทารกนั้นไปวังเจ้าชาย อภัยมอบแก่นางนมว่า โปรดเลี้ยงไว้ด้วย อาศัยคำว่ายังเป็นอยู่ เขาจึงขนานนาม ทารกนั้นว่า ชีวก ชีวกนั้น อันเจ้าชายรับสั่งให้เลี้ยงไว้ เขาจึงได้ตั้งนามสกุลว่า โกมารภัจจ์

ต่อมาไม่นานนักชีวกโกมารภัจจ์ก็รู้เดียงสา จึงเข้าเฝ้าเจ้าชายอภัย ครั้นแล้วได้ทูล คำนี้แด่เจ้าชายอภัยว่า ใครเป็นมารดาของเกล้ากระหม่อม ใครเป็นบิดาของเกล้า กระหม่อม พ่ะย่ะค่ะ เจ้าชายรับสั่งว่า พ่อชีวก แม้ถึงตัวเราก็ไม่รู้จักมารดาของเจ้า ก็แต่ว่าเราเป็นบิดาของเจ้า เพราะเราได้ให้เลี้ยงเจ้าไว้

จึงชีวกโกมารภัจจ์มีความคิดเห็นว่า ราชสกุลเหล่านี้แล คนที่ไม่มีศิลปะ จะเข้าพึ่ง พระบารมี ทำไม่ได้ง่าย ถ้ากระไร เราควรเรียนวิชาแพทย์ไว้.


เรียนศิลปะทางแพทย์


                [๑๒๙] ก็โดยสมัยนั้นแล นายแพทย์ทิศาปาโมกข์ตั้งสำนักอยู่ ณ เมือง ตักกสิลา จึงชีวกโกมารภัจจ์ ไม่ทูลลาเจ้าชายอภัย ลอบเดินทางไปเมือง ตักกสิลา เดินรอนแรมไปโดยลำดับ ถึงเมืองตักกสิลา แล้วเข้าไปหานายแพทย์ผู้นั้น ครั้นแล้ว ได้กราบเรียน คำนี้แก่นายแพทย์ว่าท่านอาจารย์ กระผมประสงค์จะศึกษาศิลปะ นายแพทย์สั่งว่า พ่อชีวก ถ้าเช่นนั้น จึงศึกษาเถิด.

ครั้งนั้นชีวกโกมารภัจจ์ เรียนวิชาได้มาก เรียนได้เร็ว เข้าใจดีด้วย และวิชาที่เรียน ได้แล้วก็ไม่ลืม ครั้นล่วงมาได้ ๗ ปี ชีวกโกมารภัจจ์คิดว่า ตัวเราเรียนวิชาได้มาก เรียนได้เร็วเข้าใจดีด้วย ทั้งวิชาที่เรียนได้ก็ไม่ลืม และเราเรียนมาได้ ๗ ปีแล้ว ยังไม่สำเร็จศิลปะนี้ เมื่อไรจักสำเร็จสักที

จึงเข้าไปหานายแพทย์ผู้นั้นแล้วได้เรียนถามว่า ท่านอาจารย์ กระผมเรียนวิชาได้มาก เรียนได้เร็ว เข้าใจดีด้วย ทั้งวิชาที่เรียนได้แล้วก็ไม่ลืม และกระผมได้เรียนมาเป็นเวลา ๗ ปีก็ยังไม่สำเร็จ เมื่อไรจักสำเร็จสักทีเล่า ขอรับ.

นายแพทย์ตอบว่า พ่อชีวก ถ้าเช่นนั้นเธอจงถือเสียม เที่ยวไปรอบเมืองตักกสิลา ระยะทาง ๑ โยชน์ ตรวจดูสิ่งใด ไม่ใช่ตัวยา จงขุดสิ่งนั้นมา ชีวกโกมารภัจจ์รับคำ นายแพทย์ว่า เป็นเช่นนั้นท่านอาจารย์ ดังนั้นแล้ว ถือเสียม เดินไปรอบเมืองตักกสิลา ระยะทาง ๑ โยชน์ มิได้เห็นสิ่งใดที่ไม่เป็นตัวยาสักอย่างหนึ่ง

จึงเดินทางกลับเข้าไปหานายแพทย์ และได้กราบเรียนคำนี้ต่อนายแพทย์ว่า ท่านอาจารย์ กระผมเดินไปรอบเมือง ตักกสิลา ระยะทาง ๑ โยชน์แล้ว มิได้เห็นสิ่งที่ ไม่เป็นยาสักอย่างหนึ่ง

นายแพทย์บอกว่าพ่อชีวก เธอศึกษาสำเร็จแล้ว เท่านี้ก็พอที่เธอจะครองชีพ ได้แล้ว ได้ให้เสบียงเดินทาง เล็กน้อย แก่ชีวกโกมารภัจจ์

ลำดับนั้น ชีวกโกมารภัจจ์ถือเสบียงเล็กน้อยนั้นแล้ว ได้เดินทางมุ่งไปพระนครราชคฤห์ ครั้นเดินทางไปเสบียง เพียงเล็กน้อยนั้นได้หมดลง ที่เมืองสาเกต ในระหว่างทาง จึงเกิดความปริวิตกว่าหนทางเหล่านี้ แลกันดาร อัตคัดน้ำ อัตคัดอาหาร คนไม่มี เสบียงจะเดินไป ทำไม่ได้ง่ายจำเราจะต้องหาเสบียง.

ภาคปฏิบัติงานแพทย์
(รักษาเศรษฐีที่ปวดศรีษะมานานถึง 7 ปี รักษาโดย)

[๑๓๐] ก็โดยสมัยนั้นแล ภรรยาเศรษฐีที่เมืองสาเกต เป็นโรคปวดศีรษะ อยู่ ๗ ปี นายแพทย์ทิศาปาโมกข์ใหญ่ๆ หลายคนมารักษา ก็ไม่สามารถรักษาให้หาย ได้ขนเงิน ไปเป็นอันมาก จึงชีวกโกมารภัจจ์ เข้าไปสู่เมืองสาเกต ถามคนทั้งหลายว่าพนาย ใครเจ็บไข้บ้าง ฉันจะรักษา

คนทั้งหลายพากันบอกว่า ท่านอาจารย์ ภรรยาเศรษฐีนั้นปวดศีรษะอยู่ ๗ ปี เชิญไป รักษาภรรยาเศรษฐีเถิด ท่านอาจารย์ จึงชีวกโกมารภัจจ์เดินทางไปบ้านเศรษฐีคหบดี

ครั้นถึงแล้วได้สั่งคนเฝ้าประตูว่า พ่อนาย ท่านจงไปกราบเรียนภรรยาเศรษฐีว่า คุณนายขอรับ หมอมาแล้วเขามีความประสงค์จะเยี่ยมคุณนาย คนเฝ้าประตู รับคำ ชีวกโกมารภัจจ์ว่า เป็นอย่างนั้นขอรับ อาจารย์ ดังนั้น แล้วเข้าไปหาภรรยาเศรษฐี แล้วได้กราบเรียนว่า คุณนายขอรับ หมอมาแล้ว เขามีความประสงค์จะเยี่ยมคุณนาย

ภรรยาเศรษฐีถามว่า พ่อนายเฝ้าประตูจ๋า หมอเป็นคนเช่นไร

พ. เป็นหมอหนุ่มๆ ขอรับ

ภ. ไม่ละ พ่อนายเฝ้าประตู หมอหนุ่มๆ จักทำอะไรแก่ฉันได้ นายแพทย์ทิศาปาโมกข์ ใหญ่ๆ หลายคนมารักษา ก็ไม่สามารถรักษาให้หาย ได้ขนเงินไปเป็นอันมาก จึงนาย ประตูนั้น เดินออกมาหาชีวกโกมารภัจจ์ แล้วได้เรียนว่า ท่านอาจารย์ ภรรยาเศรษฐี พูดอย่างนี้ว่า ไม่ละ พ่อนายเฝ้าประตู หมอหนุ่มๆ จักทำอะไรแก่ฉันได้

นายแพทย์ทิศาปาโมกข์ใหญ่ๆ หลายคนมารักษาก็ไม่สามารถรักษาให้หาย ได้ขนเงิน ไปเป็นอันมาก

ชี. พ่อนายเฝ้าประตู ท่านจงไปกราบเรียนภรรยาเศรษฐีว่า คุณนายขอรับ คุณหมอสั่ง มาอย่างนี้ว่า ขอคุณนายอย่า เพิ่งให้อะไรๆ ต่อเมื่อหายโรคแล้ว คุณนายประสงค์ จะให้สิ่งใด จึงค่อยให้สิ่งนั้นเถิด

นายประตูรับคำ ชีวกโกมารภัจจ์ว่า เป็นอย่างนั้น ขอรับอาจารย์ ดังนั้นแล้วเข้าไปหา ภรรยาเศรษฐี ได้กราบเรียนว่าคุณนายขอรับ คุณหมอบอกข่าวมาอย่างนี้ว่า ขอคุณนาย อย่าเพิ่งให้อะไรๆ ก่อน ต่อเมื่อคุณนายหายโรคแล้ว ประสงค์จะให้สิ่งใด จึงค่อยให้ สิ่งนั้นเถิด ภรรยาเศรษฐีสั่งว่า พ่อนายประตู ถ้าเช่นนั้นเชิญคุณหมอมานายประตู รับคำภรรยาเศรษฐีว่า อย่างนั้น ขอรับ แล้วเข้าไปหาชีวก โกมารภัจจ์ แล้วได้แจ้งให้ ทราบว่า ท่านอาจารย์ ภรรยาเศรษฐีขอเชิญท่านเข้าไป เริ่มรักษาภรรยาเศรษฐี

ลำดับนั้นชีวกโกมารภัจจ์เข้าไปหาภรรยาเศรษฐี ครั้นแล้วตรวจดูความผันแปรของ ภรรยาเศรษฐี แล้วได้กล่าวคำนี้ แก่ภรรยาเศรษฐีว่า คุณนายขอรับ ผมต้องการเนยใส หนึ่งซองมือ

ครั้นภรรยาเศรษฐีสั่งให้หาเนยใสหนึ่งซองมือมาให้แก่ชีวกแล้ว ชีวกโกมารภัจจ์ จึงหุงเนยใสหนึ่งซองมือนั้น กับยาต่างๆ ให้ภรรยาเศรษฐีนอนหงายบนเตียง แล้วให้ นัตถุ์ ขณะนั้นเนยใสที่ให้นัตถุ์นั้นได้พุ่งออกจากปาก จึงภรรยาเศรษฐีถ่มเนยใสนั้น ลงในกระโถน สั่งทาสีว่าแม่สาวใช้จงเอาสำลีซับเนยใสนี้ไว้

จึงชีวกโกมารภัจจ์ได้คิดว่า แปลกจริงพวกเรา แม่บ้านคนนี้ช่างสกปรกเนยใสนี้ จำเป็น จะต้องทิ้ง ยังใช้ให้ทาสี เอาสำลีซับไว้ ส่วนยาของเรามีราคาแพงๆ มากกว่าปล่อย ให้เสีย แม่บ้านคนนี้จักให้ขวัญข้าวอะไรแก่เราบ้าง

ขณะนั้นภรรยาเศรษฐี สังเกตรู้อาการอันแปลกของชีวกโกมารภัจจ์ แล้วได้ถามคำนี้ แก่ชีวกโกมารภัจจ์ว่า อาจารย์ท่านแปลกใจอะไรหรือ

ชี. เวลานี้ผมกำลังคิดอยู่ว่า แปลกจริงแม่บ้านคนนี้ช่างสกปรกเหลือเกิน เนยใสนี้ จำเป็นจะต้องทิ้ง ยังใช้ให้ทาสี เอาสำลีซับไว้ ส่วนยาของเรามีราคาแพงๆ มากกว่า ปล่อยให้เสียแม่บ้านคนนี้จักให้ขวัญข้าวอะไรแก่เราบ้าง

ภ. อาจารย์ พวกดิฉันชื่อว่าเป็นคนมีเหย้าเรือน จำเป็นจะต้องรู้จักสิ่งที่ ควรสงวน เนยใสนี้ ยังดีอยู่ จะใช้เป็นยา สำหรับทาเท้าพวกทาสหรือกรรมกรก็ได้ ใช้เป็นน้ำมัน เติมตะเกียงก็ได้อาจารย์ท่านอย่าได้คิดวิตกไปเลย ค่าขวัญข้าวของท่านจักไม่ลดน้อย

คราวนั้นชีวกโกมารภัจจ์ ได้กำจัดโรคปวดศีรษะของภรรยาเศรษฐี ซึ่งเป็นมา ๗ ปี ให้หาย โดยวิธีนัตถุ์ยาคราวเดียวเท่านั้น

ครั้นภรรยาเศรษฐีหายโรคแล้ว ได้ให้รางวัลชีวกโกมารภัจจ์เป็นเงิน ๔,๐๐๐ กษาปณ์

บุตรเศรษฐีได้ทราบว่ามารดา ของเราหายโรคแล้ว ได้ให้รางวัลเพิ่มอีก ๔,๐๐๐ กษาปณ์ บุตรสะใภ้ได้ทราบว่า แม่ผัวของเราหายโรคแล้ว ก็ได้ให้รางวัล ๔,๐๐๐ กษาปณ์เศรษฐีคหบดีทราบว่า ภรรยาของเราหายโรคแล้ว ได้เพิ่มรางวัลให้อีก ๔,๐๐๐ กษาปณ์ และให้ทาส ทาสี รถม้าอีกด้วย

จึงชีวกโกมารภัจจ์รับเงิน ๑๖,๐๐๐ กษาปณ์ กับทาส ทาสี และรถม้า เดินมุ่งไป พระนครราชคฤห์ ถึงพระนครราชคฤห์ โดยลำดับ เข้าเฝ้าเจ้าชายอภัย

ครั้นแล้วได้กราบทูลว่าเงิน ๑๖,๐๐๐ กษาปณ์ กับทาส ทาสี และรถม้านี้ เป็นการ กระทำครั้งแรกของเกล้า กระหม่อม ขอใต้ฝ่าพระบาทจงทรงพระกรุณา โปรดรับค่า เลี้ยงดูเกล้ากระหม่อมเถิด พระเจ้าข้า

พระราชกุมารรับสั่งว่า อย่าเลยพ่อนายชีวก ทรัพย์นี้จงเป็นของเจ้าคนเดียวเถิด และ เจ้าจงสร้างบ้านอยู่ในวังของเราเถิด

ชีวกโกมารภัจจ์ทูลรับพระบัญชาเจ้าชายอภัยว่า เป็นพระกรุณายิ่งพระเจ้าข้า แล้วได้สร้างบ้านอยู่ในวังของ เจ้าชายอภัย.



เรื่องพระเจ้าพิมพิสารทรงประชวรโรคริดสีดวงงอก

(พระเจ้าพิมพิสารป่วยโรคริดสีดวง มีโลหิตไหล)


[๑๓๑] ก็โดยสมัยนั้นแล พระเจ้าพิมพิสารจอมเสนามาคธราชทรงประชวร โรค ริดสีดวงงอก พระภูษาเปื้อนพระโลหิต พวกพระสนมเห็นแล้วพากันเย้ยหยันว่า บัดนี้พระเจ้าอยู่หัวทรงมีระดู ต่อมาพระโลหิตบังเกิดแก่พระองค์แล้ว ไม่นานเท่าไรนัก พระองค์จักประสูติ พระราชาทรงเก้อเพราะคำเย้ยหยันของพวกพระสนมนั้น

ต่อมาท้าวเธอได้ตรัสเล่าความนั้นแก่เจ้าชายอภัยว่าพ่ออภัย พ่อป่วยเป็นโรคเช่นนั้น ถึงกับภูษาเปื้อนโลหิต พวกพระสนมเห็นแล้วพากันเย้ยหยันว่า บัดนี้พระเจ้าอยู่หัว ทรงมีระดู ต่อมพระโลหิตบังเกิดแก่พระองค์แล้ว ไม่นานเท่าไรนัก พระองค์จักประสูติ เอาเถอะ พ่ออภัย เจ้าช่วยหาหมอชนิดที่พอจะรักษาพ่อได้ให้ทีเถิด

อ. ขอเดชะ นายชีวกผู้นี้เป็นหมอประจำข้าพระพุทธเจ้า ยังหนุ่ม ทรงคุณวุฒิ เธอจัก รักษาพระองค์ได้

พ. พ่ออภัย ถ้าเช่นนั้นเธอจงสั่งหมอชีวก เขาจักได้รักษาพ่อ

ครั้งนั้นเจ้าชายอภัย สั่งชีวกโกมารภัจจ์ว่า พ่อนายชีวก เธอจงไปรักษาพระเจ้าอยู่หัว ชีวกโกมารภัจจ์ รับสนอง พระบัญชาว่าอย่างนั้นพระเจ้าข้า แล้วเอาเล็บตักยาเดินไป ในราชสำนัก ครั้นถึงแล้วเข้าเฝ้าพระเจ้าพิมพิสาร จอมเสนามาคธราช แล้วได้กราบทูล คำนี้แด่พระเจ้าพิมพิสารจอมเสนามาคธราชว่า พระพุทธเจ้าข้า

ข้าพระพุทธเจ้าจักตรวจโรคของพระองค์ แล้วรักษาโรคริดสีดวงงอกของ พระเจ้า พิมพิสาร จอมเสนามาคธราช หายขาดด้วยทายาเพียงครั้งเดียวเท่านั้น

ครั้นพระเจ้าพิมพิสารจอมเสนามาคธราช ทรงหายประชวรจึงรับสั่งให้สตรี ๕๐๐ นาง ตกแต่งเครื่องประดับทั้งปวง ให้เปลื้องออกทำเป็นห่อแล้วได้มีพระราชโองการแก่ ชีวก โกมารภัจจ์ว่าพ่อนายชีวก เครื่องประดับทั้งปวงของสตรี ๕๐๐ นาง นี้จงเป็นของเจ้า

ชี. อย่าเลย พระพุทธเจ้าข้า ขอพระองค์จงทรงโปรดระลึกว่าเป็นหน้าที่ของข้าพระ-พุทธเจ้าเถิด

พ. ถ้าอย่างนั้น เจ้าจงบำรุงเรากับพวกฝ่ายใน และภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้า เป็นประมุข ชีวกโกมารภัจจ์ทูลรับ สนอง พระบรมราชโองการว่า เป็นอย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า.

เรื่องเศรษฐีชาวพระนครราชคฤห์
(แมลง 2 ตัวกินสมอง จนแพทย์อื่นๆเลิกรักษา)

                [๑๓๒] ก็โดยสมัยนั้นแล เศรษฐีชาวพระนครราชคฤห์ป่วย เป็นโรค ปวดศีรษะ อยู่ ๗ ปี นายแพทย์ ทิศาปาโมกข์ใหญ่ๆ หลายคนมารักษา ก็ไม่สามารถ รักษาให้หาย ขนเงินไปเป็นอันมาก

อนึ่งเศรษฐีนั้น ถูกนายแพทย์บอกคืน(ไม่รักษาต่อ)

นายแพทย์ บางพวกได้ทำนายไว้อย่างนี้ว่า เศรษฐีคหบดีจักถึงอนิจกรรมในวันที่ ๕ บางพวก ทำนายไว้อย่างนี้ว่า จักถึงอนิจกรรมในวันที่ ๗

ครั้งนั้นพวกคนร่ำรวย ชาวพระนครราชคฤห์ได้มีความปริวิตกว่า เศรษฐีคหบดีผู้นี้ แลมีอุปการะมากแก่พระเจ้าอยู่หัวและชาวนิคม แต่ท่านถูกนายแพทย์บอกคืนเสียแล้ว

นายแพทย์บางพวกทำนายไว้อย่างนี้ว่า เศรษฐีคหบดีจักถึงอนิจกรรมในวันที่ ๕ บางพวก ทำนายไว้อย่างนี้ว่าจักถึงอนิจกรรมในวันที่ ๗ ก็ชีวกผู้นี้เป็นนายแพทย์ หลวงที่หนุ่มทรงคุณวุฒิ ถ้าเช่นนั้นพวกเราพึงทูลขอนายแพทย์ชีวกต่อ พระเจ้าอยู่หัว เพื่อจะให้รักษาเศรษฐีคหบดี แล้วจึงพากันไปในราชสำนัก

ครั้นถึงแล้วได้เข้าเฝ้ากราบบังคมทูลแด่พระเจ้าพิมพิสาร จอมเสนามาคธราชว่า ขอเดชะฝ่าละอองธุลีพระบาท ปกเกล้าปกกระหม่อม เศรษฐีคหบดีผู้นี้มีอุปการะมาก แก่ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทและชาวนิคม แต่ท่านถูกนายแพทย์บอกคืนเสียแล้ว

นายแพทย์บางพวกทำนายไว้ อย่างนี้ว่าเศรษฐีคหบดี จักถึงอนิจกรรมในวันที่ ๕ บางพวกทำนายไว้อย่างนี้ว่า จักถึงอนิจกรรมในวันที่ ๗ ขอพระราชทานพระบรม ราชวโรกาส ขอใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทจงทรงมี พระบรมราชโองการสั่งนายแพทย์ ชีวก เพื่อได้รักษาเศรษฐีคหบดี

ครั้งนั้นพระเจ้าพิมพิสารจอมเสนามาคธราช ทรงมีพระราชดำรัสสั่งชีวกโกมารภัจจ์ ว่าพ่อนายชีวก เจ้าจงไปรักษาเศรษฐีคหบดี ชีวกโกมารภัจจ์ทูลรับสนองพระบรม ราชโองการว่า อย่างนั้นขอเดชะ แล้วไปหาเศรษฐีคหบดี สังเกตอาการที่ผิดแปลก ของเศรษฐีคหบดีแล้ว ได้ถามเศรษฐีคหบดีว่า ท่านคหบดีถ้าฉันรักษาท่าน หายโรค จะพึงมีรางวัลอะไรแก่ฉันบ้าง?

ศ. ท่านอาจารย์ ทรัพย์สมบัติทั้งปวงจงเป็นของท่าน และตัวข้าพเจ้าก็ยอมเป็นทาส ของท่าน
ชี. ท่านคหบดี ท่านอาจนอนข้างเดียวตลอด ๗ เดือนได้ไหม?
ศ. ท่านอาจารย์ ข้าพเจ้าอาจนอนข้างเดียวตลอด ๗ เดือนได้
ชี. ท่านคหบดี ท่านอาจนอนข้างที่สองตลอด ๗ เดือนได้ไหม?
ศ. ท่านอาจารย์ ข้าพเจ้าอาจนอนข้างที่สองตลอด ๗ เดือนได้
ชี. ท่านคหบดี ท่านอาจนอนหงายตลอด ๗ เดือนได้ไหม?
ศ. ท่านอาจารย์ ข้าพเจ้าอาจนอนหงายตลอด ๗ เดือนได้

ครั้งนั้น ชีวกโกมารภัจจ์ให้เศรษฐีคหบดีนอนบนเตียง มัดไว้กับเตียง ถลกหนังศีรษะ เปิดรอยประสานกระโหลกศีรษะ นำสัตว์มีชีวิตออกมาสองตัว แล้วแสดงแก่ ประชาชน ว่าท่านทั้งหลายจงดูสัตว์มีชีวิต ๒ ตัวนี้ เล็กตัวหนึ่ง ใหญ่ตัวหนึ่ง

พวกอาจารย์ที่ทำนายไว้อย่างนี้ว่าเศรษฐีคหบดีจักถึงอนิจกรรมในวันที่ ๕ เพราะท่าน ได้เห็นสัตว์ตัวใหญ่นี้ มันจักเจาะกินมันสมองของเศรษฐีคหบดีในวันที่ ๕ เศรษฐี คหบดี ถูกมันเจาะกินสมองหมด ก็จักถึงอนิจกรรม สัตว์ตัวใหญ่นี้ ชื่อว่าอันอาจารย์ พวกนั้นเห็นถูกต้องแล้ว

ส่วนพวกอาจารย์ที่ทำนายไว้อย่างนี้ว่าเศรษฐีคหบดีจักถึงอนิจกรรมในวันที่ ๗ เพราะท่านได้เห็นสัตว์ตัวเล็กนี้ มันจักเจาะกินมันสมองของเศรษฐีคหบดีในวันที่ ๗ เศรษฐีคหบดีถูกมันเจาะกินมันสมองหมด ก็จักถึงอนิจกรรม สัตว์ตัวเล็กนี้ ชื่อว่าอัน อาจารย์พวกนั้นเห็นถูกต้องแล้ว ดังนี้ แล้วปิดแนวประสานกระโหลกศีรษะ เย็บหนังศีรษะ แล้วได้ทายาสมานแผล

ครั้นล่วงสัปดาห์หนึ่ง เศรษฐีคหบดีได้กล่าวคำนี้ต่อชีวกโกมารภัจจ์ว่า ท่านอาจารย์ ข้าพเจ้าไม่อาจนอนข้างเดียวตลอด ๗ เดือนได้

ชี. ท่านคหบดี ท่านรับคำฉันว่า ท่านอาจารย์ ข้าพเจ้าอาจนอนข้างเดียวตลอด ๗ เดือนได้ดังนี้ มิใช่หรือ?

ศ. ข้าพเจ้ารับคำท่านจริง ท่านอาจารย์ แต่ข้าพเจ้าจักตายแน่ ข้าพเจ้าไม่อาจนอน ข้างเดียวตลอด ๗ เดือนได้

ชี. ท่านคหบดี ถ้าเช่นนั้น ท่านจงนอนข้างที่สองตลอด ๗ เดือนเถิด

ครั้นล่วงสัปดาห์หนึ่ง เศรษฐีคหบดี ได้กล่าวคำนี้ต่อชีวกโกมารภัจจ์ว่า ท่านอาจารย์ ข้าพเจ้าไม่อาจนอนข้างที่สองตลอด ๗ เดือนได้

ชี. ท่านคหบดี ท่านรับคำฉันว่า ท่านอาจารย์ ข้าพเจ้านอนข้างที่สองตลอด ๗ เดือน ได้ดังนี้มิใช่หรือ?

ศ. ข้าพเจ้ารับคำท่านจริง ท่านอาจารย์ แต่ข้าพเจ้าจักตายแน่ ข้าพเจ้าไม่อาจนอน ข้างที่สองตลอด ๗ เดือนได้

ชี. ท่านคหบดี ถ้าเช่นนั้น ท่านจงนอนหงายตลอด ๗ เดือนเถิด

ครั้นล่วงสัปดาห์หนึ่ง เศรษฐีคหบดี ได้กล่าวคำนี้ต่อชีวกโกมารภัจจ์ว่า ท่านอาจารย์ ข้าพเจ้าไม่อาจนอนหงาย ตลอด ๗ เดือนได้

ชี. ท่านคหบดี ท่านรับคำฉันว่า ท่านอาจารย์ ข้าพเจ้าอาจนอนหงายตลอด ๗ เดือน ได้ดังนี้ มิใช่หรือไม่?

ศ. ข้าพเจ้ารับคำท่านจริง ท่านอาจารย์ แต่ข้าพเจ้าจักตายแน่ ข้าพเจ้าไม่อาจนอน หงายตลอด ๗ เดือนได้

ชี. ท่านคหบดี ถ้าฉันไม่บอกท่านไว้ ท่านก็นอนเท่านั้นไม่ได้ แต่ฉันทราบอยู่ก่อนแล้ว ว่า เศรษฐีคหบดีจักหายโรคในสามสัปดาห์ ลุกขึ้นเถิดท่านหายป่วยแล้ว ท่านจงรู้ จะได้รางวัลอะไรแก่ฉัน

ศ. ท่านอาจารย์ ก็ทรัพย์สมบัติทั้งปวงจงเป็นของท่าน ตัวข้าพเจ้าก็ยอมเป็นทาส ของท่าน

ชี. อย่าเลย ท่านคหบดี ท่านอย่าได้ให้ทรัพย์สมบัติทั้งหมดแก่ฉันเลย และท่านก็ไม่ ต้องยอมเป็นทาสของฉัน ท่านจงทูลเกล้าถวายทรัพย์แก่พระเจ้าอยู่หัว แสนกษาปณ์ ให้ฉันแสนกษาปณ์ ก็พอแล้ว

ครั้นเศรษฐีคหบดีหายป่วย ได้ทูลเกล้าถวายทรัพย์แด่พระเจ้าอยู่หัวแสนกษาปณ์ ได้ให้แก่ ชีวกโกมารภัจจ์ แสนกษาปณ์.


เรื่องบุตรเศรษฐีป่วยโรคเนื้องอกที่ลำไส้

(ผ่าผนังท้อง นำเนื้องอกที่สำใส้ออก)

                [๑๓๓] ก็โดยสมัยนั้นแล เศรษฐีบุตรชาวพระนครพาราณสี ผู้เล่นกีฬา หกคะเมน ได้ป่วยเป็นโรค เนื้องอกที่ลำไส้ ข้าวยาคูที่เธอดื่มเข้าไปก็ดี ข้าวสวย ที่เธอรับประทานก็ดี ไม่ย่อย อุจจาระและปัสสาวะออก ไม่สะดวก เพราะโรคนั้น

เธอจึงซูบผอม เศร้าหมอง มีผิวพรรณซูบซีดเหลืองขึ้นๆ มีตัวสะพรั่งด้วยเอ็น ครั้งนั้น เศรษฐีชาวพระนคร พาราณสี ได้มีความปริวิตกดังนี้ว่าบุตรของเราได้เจ็บป่วยเช่นนั้น ข้าวยาคูที่เธอดื่มก็ดี ข้าวสวยที่เธอรับประทานก็ดี ไม่ย่อย อุจจาระและปัสสาวะ ออกไม่สะดวก

บุตรของเรานั้นจึงซูบผอม เศร้าหมอง มีผิวพรรณซูบซีดเหลืองขึ้นๆ มีตัวสะพรั่ง ด้วยเอ็น เพราะโรคนั้น ถ้ากระไร เราพึงไปพระนครราชคฤห์แล้วทูลขอ นายแพทย์ชีวก ต่อพระเจ้าอยู่หัว เพื่อจะได้รักษาบุตรของเรา

ต่อแต่นั้น เศรษฐีชาวพระนครราชคฤห์แล้ว เข้าเฝ้าพระเจ้าพิมพิสารจอมเสนา มาคธราช แล้วได้กราบทูลว่า ขอเดชะฯ บุตรของข้าพระพุทธเจ้าได้เจ็บป่วยเช่นนั้น ข้าวยาคูที่เธอดื่มก็ดี ข้าวสวยที่เธอรับประทานก็ดี ไม่ย่อย อุจจาระและปัสสาวะ ออกไม่สะดวก เธอจึงซูบผอม เศร้าหมอง มีผิวพรรณซูบซีด เหลืองขึ้นๆมีตัวสะพรั่ง ด้วยเอ็นเพราะโรคนั้น

ขอพระราชทานพระบรมราชวโรกาส ขอใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท จงมีพระบรมราช โองการ สั่งนายแพทย์ชีวก เพื่อจะได้รักษาบุตรของข้าพระพุทธเจ้า

ลำดับนั้น พระเจ้าพิมพิสารจอมเสนามาคธราช ได้ทรงมีพระราชดำรัสสั่ง ชีวก โกมารภัจจ์ ว่าไปเถิด พ่อนายชีวก เจ้าจงไปพระนครพาราณสี แล้วรักษาบุตร ของเศรษฐีชาวกรุงพาราณสี

ชีวกโกมารภัจจ์ทูลรับสนอง พระบรมราชโองการว่า อย่างนั้นขอเดชะฯ แล้วไป พระนครพาราณสี เข้าไปหาเศรษฐี บุตรชาวพระนครพาราณสี สังเกตอาการ ที่ผิดแปลก ของเศรษฐี บุตรชาวพระนครพาราณสี เชิญประชาชนให้ออกไปเสีย ขึงม่านมัดเศรษฐีบุตรไว้กับเสา ให้ภรรยาอยู่ข้างหน้า ผ่าหนังท้อง นำเนื้องอก ที่ลำไส้ออก แสดงแก่ภรรยาว่า

เธอจงดูความเจ็บป่วยของสามีเธอ ข้าวยาคูที่สามีเธอดื่มก็ดี ข้าวสวยที่สามีเธอ รับประทานก็ดี ไม่ย่อย อุจจาระ และปัสสาวะออกไม่สะดวก เพราะโรคนี้ สามีเธอนี้ จึงซูบผอม เศร้าหมอง มีผิวพรรณซูบซีด เหลืองขึ้นๆ มีตัวสะพรั่งด้วยเอ็นดังนี้ แล้วตัดเนื้องอกในลำไส้ออก สอดใส่ลำไส้กลับดังเดิม แล้วเย็บหนังท้องทายา สมานแผล ต่อมาไม่นานเท่าไรนัก เศรษฐีบุตรชาวพระนครพาราณสี ได้หายโรคแล้ว

                ครั้งนั้น เศรษฐีชาวพระนครพาราณสีคิดว่า บุตรของเราหายโรคพ้น อันตรายแล้ว จึงให้รางวัลแก่ ชีวกโกมารภัจจ์เป็นเงิน ๑๖,๐๐๐ กษาปณ์ ชีวก โกมารภัจจ์ รับเงิน ๑๖,๐๐๐ กษาปณ์นั้นเดินทางกลับมาสู่พระนครราชคฤห์ ตามเดิม.


เรื่องพระเจ้าจัณฑปัชโชตทรงประชวรโรคผอมเหลือง

(หมอชีวกปรุงยาผสมด้วยเนยใส แล้วต้องรีบหนีออกจากเมือง)

                [๑๓๔] ก็โดยสมัยนั้นแล พระเจ้าปัชโชตราชาในกรุงอุชเชนี ทรงประชวร โรคผอมเหลือง นายแพทย์ที่ใหญ่ๆ มีชื่อเสียงโด่งดังหลายคนมารักษา ก็ไม่อาจทำให้ โรคหาย ได้ขนเงินไปเป็นอันมาก

ครั้งนั้น พระเจ้าปัชโชตได้ส่งราชทูตถือพระราชสาส์น ไปในพระราชสำนักพระเจ้า พิมพิสารจอมเสนามาคธราช มีใจความว่าหม่อมฉันเจ็บป่วยเป็นอย่างนั้น ขอพระราชทาน พระบรมราชวโรกาส ขอพระองค์โปรดสั่งหมอชีวก เขาจักรักษา หม่อมฉัน จึงพระเจ้าพิมพิสาร จอมเสนามาคธราช ได้ดำรัสสั่งชีวกโกมารภัจจ์ ว่า ไปเถิด พ่อนายชีวก เจ้าจงไปเมืองอุชเชนี รักษาพระเจ้าปัชโชต

ชีวกโกมารภัจจ์ ทูลรับสนองพระบรมราชโองการ แล้วเดินทางไปเมืองอุชเชนี เข้าไปใน พระราชสำนัก แล้วเข้าเฝ้า พระเจ้าปัชโชต ได้ตรวจอาการที่ผิดแปลกของ พระเจ้าปัชโชต แล้วได้กราบทูลคำนี้แด่ท้าวเธอว่า

ขอเดชะฯ ข้าพระพุทธเจ้าจักหุงเนยใส พระองค์จักเสวยเนยใสนั้น พระเจ้าปัชโชต รับสั่งห้ามว่าอย่าเลย พ่อนายชีวก ท่านเว้นเนยใสเสีย อาจรักษาเราให้หายโรคได้ ด้วยวิธีใดท่านจงทำวิธีนั้นเถิด เนยใสเป็นของน่าเกลียด น่าสะอิดสะเอียนสำหรับฉัน

ขณะนั้น ชีวกโกมารภัจจ์ได้มีความปริวิตกว่าพระเจ้าอยู่หัวพระองค์นี้แล ทรงประชวร เช่นนี้ เราเว้นเนยใสเสีย ไม่อาจรักษาพระองค์ให้หายโรคได้ เอาละเราควรหุงเนยใส ให้มีสีกลิ่น รส เหมือนน้ำฝาด ดังนี้

แล้วได้หุงเนยใสด้วยเภสัชนานาชนิด ให้มีสี กลิ่น รสเหมือนน้ำฝาด ครั้นแล้วฉุกคิด ได้ว่าเนยใสที่พระเจ้าอยู่หัวพระองค์นี้เสวยแล้ว เมื่อย่อยจักทำให้เรอ พระเจ้าอยู่หัว พระองค์นี้ ทรงเกรี้ยวกราด จะพึงรับสั่งให้พิฆาตเราเสีย ก็ได้ ถ้ากระไรเราพึงทูลลา ไว้ก่อน วันต่อมาจึงไปในพระราชสำนักเข้าเฝ้าพระเจ้าปัชโชต แล้วได้กราบทูลคำนี้ แด่ท้าวเธอว่า

ขอเดชะ ฯ พวกข้าพระพุทธเจ้าชื่อว่าเป็นนายแพทย์ จักถอนรากไม้มาผสมยาชั่วเวลา ครู่หนึ่ง เช่นที่ประสงค์นั้น ขอประทานพระบรมราชวโรกาส ขอฝ่าละอองธุลีพระบาท จงทรงมี พระราชโองการตรัสสั่งเจ้าพนักงาน ในโรงราชพาหนะและ ที่ประตู ทั้งหลายว่า หมอชีวกต้องการไปด้วยพาหนะใด จงไปด้วยพาหนะนั้น ปรารถนาไป ทางประตูใด จงไปทางประตูนั้น ต้องการไปเวลาใด จงไปเวลานั้น ปรารถนาจะเข้ามา เวลาใด จงเข้ามาเวลานั้น จึงพระเจ้า ปัชโชต ได้มีพระราชดำรัสสั่ง เจ้าพนักงาน ในโรงราชพาหนะและที่ประตูทั้งหลาย ตามที่หมอชีวก กราบทูลขอบรมราชานุญาต ไว้ทุกประการ

ก็โดยสมัยนั้นแล พระเจ้าปัชโชตมีช้างพัง ชื่อภัททวดี เดินทางได้วันละ ๕๐ โยชน์ จึงหมอชีวก โกมารภัจจ์ได้ทูลถวายเนยใสนั้น แด่พระเจ้าปัชโชต ด้วยกราบทูลว่า ขอใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทจงเสวยน้ำฝาด ครั้นให้พระเจ้าปัชโชต เสวยเนยใส แล้วก็ไปโรงช้าง หนีออกจากพระนครไปโดยช้างพังภัททวดี

ขณะเดียวกันนั้น เนยใสที่พระเจ้าปัชโชตเสวยนั้นย่อย ได้ทำให้ทรงเรอขึ้น จึงพระเจ้า ปัชโชต ได้รับสั่งแก่พวก มหาดเล็กว่า พนายทั้งหลาย เราถูกหมอชีวกชาติชั่ว ลวงให้ดื่มเนยใส พวกเจ้าจงค้นจับหมอชีวกมาเร็วไว พวกมหาดเล็กกราบทูลว่า หมอชีวกหนีออกจากพระนคร ไปโดยช้างพังภัททวดีแล้วพระพุทธเจ้าข้า

ก็โดยสมัยนั้นแล พระเจ้าปัชโชตมีมหาดเล็กชื่อ กากะ ซึ่งอาศัยเกิดกับ อมนุษย์ เดินทางได้วันละ ๖๐ โยชน์ จึงพระเจ้าปัชโชตดำรัสสั่งกากะมหาดเล็กว่า พ่อนาย กากะ เจ้าจงไปเชิญหมอชีวกกลับมา ด้วยอ้างว่าท่านอาจารย์พระเจ้าอยู่หัวรับสั่ง ให้เชิญท่านกลับไป ขึ้นชื่อว่าหมอเหล่านี้แลมีมารยามาก เจ้าอย่ารับวัตถุอะไรๆ ของเขา

ครั้งนั้น กากะมหาดเล็กได้เดินไปทันชีวกโกมารภัจจ์ ผู้กำลังรับประทานอาหาร มื้อเช้าในระหว่างทาง เขตพระนครโกสัมพี จึงได้เรียนแก่ชีวกโกมารภัจจ์ว่า ท่านอาจารย์พระเจ้าอยู่หัวรับสั่งให้เชิญท่านกลับไป

ชี. พ่อนายกากะ ท่านจงรออยู่เพียงชั่วเวลาที่เรารับประทานอาหาร เชิญท่าน รับประทานอาหารด้วยกันเถิด

                ก. ช่างเถิดท่านอาจารย์ พระเจ้าอยู่หัวดำรัสสั่งข้าพเจ้าไว้ว่า พ่อนาย กากะ ขึ้นชื่อว่าหมอเหล่านี้มีมารยามาก อย่ารับวัตถุอะไรของเขา

                ทันใดนั้น ชีวกโกมารภัจจ์ ได้แซกยาทางเล็บ พลางเคี้ยวมะขามป้อม และดื่มน้ำรับประทานแล้วได้ร้องเชื้อเชิญกากะมหาดเล็กว่า เชิญพ่อนายกากะ มาเคี้ยว มะขามป้อมและดื่มน้ำรับประทานด้วยกัน จึงกากะมหาดเล็กคิดว่าหมอคนนี้ แลกำลัง เคี้ยวมะขามป้อม และดื่มน้ำรับประทาน คงไม่มีอะไรจะให้โทษ แล้วเคี้ยวมะขามป้อม ครึ่งผล และดื่มน้ำรับประทานมะขามป้อมครึ่งผลที่เขาเคี้ยวนั้น ได้ระบายอุจจาระ ออกมาในที่นั้นเอง

ครั้งนั้น กากะมหาดเล็กได้เรียนถามชีวกโกมารภัจจ์ว่า ท่านอาจารย์ ชีวิตของข้าพเจ้าจะรอดไปได้หรือ?

ชีวกโกมารภัจจ์ตอบว่าอย่ากลัวเลยพ่อนายกากะ ท่านจักไม่มีอันตราย แต่พระเจ้าอยู่หัว ทรงเกรี้ยวกราด จะพึงรับสั่งให้พิฆาตเราเสียก็ได้ เพราะเหตุนั้น เราไม่กลับละ แล้วมอบช้างพัง ภัททวดีแก่นายกากะ เดินทางไป พระนครราชคฤห์ รอนแรมไปโดยลำดับ ถึงพระนครราชคฤห์ แล้วเฝ้าพระเจ้าพิมพิสารจอมเสนา มาคธราช กราบทูลเรื่องนั้นให้ทรงทราบทุกประการ

พระเจ้าพิมพิสารรับสั่งว่า พ่อนายชีวก เจ้าไม่กลับไปนั้นชื่อว่าได้ทำถูกแล้ว เพราะพระราชาองค์นั้นเหี้ยมโหด จะพึงสั่งให้สำเร็จโทษเจ้าเสียก็ได้

ครั้นพระเจ้าปัชโชตทรงหายประชวร ทรงส่งราชทูตไปที่สำนักชีวกโกมารภัจจ์ว่า เชิญหมอชีวกมา เราจักให้พร ชีวกกราบทูลตอบไปว่า ไม่ต้องไปก็ได้ พระพุทธเจ้าข้า ขอใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทจงทรงโปรดอนุสรณ์ ถึงความดีของข้าพระพุทธเจ้า.

พระราชทานผ้าสิไวยกะ


ก็โดยสมัยนั้นแล ผ้าสิไวยกะ คู่หนึ่ง บังเกิดแก่พระเจ้าปัชโชต เป็นผ้าเนื้อดีเลิศ ประเสริฐมีชื่อ(เสียง)เด่นอุดม และ เป็นเยี่ยมกว่าผ้าทั้งหลายเป็นอันมาก ตั้งหลายคู่ ตั้งหลายร้อยคู่ หลายพันคู่ หลายแสนคู่

                ครั้นนั้น พระเจ้าปัชโชต ทรงส่งผ้าสิไวยกะ คู่นั้นไปพระราชทานแก่ชีวก โกมารภัจจ์ จึงชีวกโกมารภัจจ์ได้มีความดำริว่าผ้าสิไวยกะคู่นี้ พระเจ้าปัชโชตส่งมา พระราชทาน เป็นผ้าเนื้อดีเลิศ ประเสริฐ มีชื่อเด่นอุดม และเป็นเยี่ยมกว่าผ้าทั้งหลาย เป็นอันมาก ตั้งหลายคู่ตั้งหลายร้อยคู่ หลายพันคู่ หลายแสนคู่ นอกจากพระผู้มี พระภาคอรหันต สัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น หรือ พระเจ้าพิมพิสารจอมเสนา มาคธราชแล้ว ใครอื่นไม่ควรอย่างยิ่งเพื่อใช้ผ้าสิไวยกะคู่นี้.

พระผู้มีพระภาคเสวยพระโอสถถ่าย
(พระผู้มีพระภาคมีของหมักหมมในลำใส้ ต้องการยาถ่าย หมอชีวกให้ดมก้านบัวที่อบ ด้วยตัวยา 3 ก้าน ทำให้ถ่าย 30 ครั้ง)

                [๑๓๕] ก็โดยสมัยนั้นแล พระกายของพระผู้มีพระภาคหมักหมม ด้วยสิ่ง อันเป็นโทษ จึงพระผู้มีพระภาครับสั่งกะท่านพระอานนท์ว่า ดูกรอานนท์ กายของ ตถาคตหมักหมม ด้วยสิ่งอันเป็นโทษ ตถาคตต้องการจะฉันยาถ่าย.

                ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์เดินไปหาชีวกโกมารภัจจ์ ครั้นถึงแล้ว ได้กล่าว คำนี้ กะชีวกโกมารภัจจ์ว่า ท่านชีวก พระกายของพระตถาคต หมักหมมด้วยสิ่ง อันเป็นโทษ พระตถาคตต้องการจะเสวยพระโอสถถ่าย ชีวกโกมารภัจจ์กล่าวว่า พระคุณเจ้า ถ้าอย่างนั้นขอท่านจงโปรดทำพระกายของพระผู้มีพระภาคให้ ชุ่มชื่น สัก ๒-๓ วัน

ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์ได้ทำพระกาย ของพระผู้มีพระภาคให้ชุ่มชื่น ๒-๓ วัน แล้วเดินไปหาชีวกโกมารภัจจ์ ครั้นถึงแล้วได้กล่าวคำนี้กะชีวกโกมารภัจจ์ว่า ท่านชีวก พระกายของพระตถาคตชุ่มชื่นแล้ว บัดนี้ท่านรู้กาลอันควรเถิด

ครั้งนั้นชีวกโกมารภัจจ์ได้มีความปริวิตกดังนี้ว่า การที่เราจะพึงทูลถวายพระโอสถถ่าย ที่หยาบแด่พระผู้มีพระภาคนั้นไม่สมควรเลย ถ้ากระไรเราพึงอบก้านอุบล ๓ (ก้านบัว) ก้านด้วยยาต่างๆ แล้วทูลถวายพระตถาคต ครั้นแล้วได้อบก้านอุบล ๓ ก้านด้วยยา ต่างๆ แล้วเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาค

ครั้นแล้วได้ทูลถวายก้านอุบล ก้านที่หนึ่งแด่พระผู้มีพระภาค กราบทูลว่าพระพุทธเจ้า ข้า ขอพระผู้มีพระภาค จงทรงสูดก้านอุบลก้านที่ ๑ นี้ การทรงสูดก้านอุบลนี้ จักยัง พระผู้มีพระภาคให้ถ่ายถึง ๑๐ ครั้ง แล้วได้ทูลถวายก้านอุบลก้านที่ ๒ แด่พระผู้มีพระภาค กราบทูลว่าพระพุทธเจ้าข้า

ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงสูดอุบลก้านที่ ๒ นี้ การทรงสูดก้านอุบลนี้ จักยังพระผู้มี พระภาคให้ถ่ายถึง ๑๐ ครั้ง แล้วได้ทูลถวายก้านอุบลก้านที่ ๓ แด่พระผู้มีพระภาค กราบทูลว่า

พระพุทธเจ้าข้าขอพระผู้มีพระภาคจงทรงสูด ก้านอุบลก้านที่ ๓ นี้ การทรงสูดก้าน อุบลนี้จักยังพระผู้มีพระภาคให้ถ่ายถึง ๑๐ ครั้ง ด้วยวิธีนี้ พระผู้มี พระภาคจักทรง ถ่ายถึง ๓๐ ครั้ง (สูดก้านอุบล 1 ก้านถ่าย 10 ครั้ง.. 3 ก้านถ่าย 30 ครั้ง)

ครั้นชีวกโกมารภัจจ์ ทูลถวายพระโอสถถ่ายแด่พระผู้มีพระภาคเพื่อถ่ายครบ ๓๐ ครั้งแล้ว ถวายบังคมพระผู้มี พระภาค ทำประทักษิณกลับไป ขณะเมื่อชีวกโกมารภัจจ์ เดินออกไปนอก ซุ้มประตู แล้วได้มีความปริวิตกดังนี้ว่า

เราทูลถวายพระโอสถถ่ายแด่พระผู้มีพระภาค เพื่อถ่ายครบ ๓๐ ครั้ง พระกายของ พระตถาคต หมักหมมด้วยสิ่งอันเป็นโทษ จักไม่ยังพระผู้มีพระภาคให้ถ่ายครบ ๓๐ ครั้ง จักให้ถ่ายเพียง ๒๙ ครั้ง แต่พระผู้มีพระภาคทรงถ่ายแล้ว จักสรงพระกาย ครั้น สรงพระกายแล้วจักถ่ายอีกครั้งหนึ่งอย่างนี้ พระผู้มีพระภาคจักทรงถ่ายครบ ๓๐ ครั้ง

ครั้งนั้นพระผู้มีพระภาคทรงทราบความปริวิตกแห่งจิตของชีวกโกมารภัจจ์ ด้วยพระทัย แล้วรับสั่ง กะท่านพระอานนท์ว่า อานนท์ ชีวกโกมารภัจจ์ กำลังเดินออกนอก ซุ้มประตูวิหารนี้ได้มีความปริวิตกดังนี้ว่า เราถวายพระโอสถถ่าย แด่พระผู้มีพระภาค เพื่อถ่ายครบ ๓๐ ครั้งแล้ว

พระกายของพระตถาคตหมักหมมด้วยสิ่งอันเป็นโทษ จักไม่ยังพระผู้มีพระภาค ให้ถ่ายครบ ๓๐ ครั้ง จักให้ถ่าย เพียง ๒๙ ครั้ง แต่พระผู้มีพระภาคทรงสรงพระกาย ครั้นสรงพระกาย แล้วจักถ่ายอีกครั้งหนึ่งอย่างนี้ พระผู้มีพระภาคจักทรงถ่ายครบ ๓๐ ครั้ง อานนท์ถ้าอย่างนั้น เธอจงจัดเตรียมน้ำร้อนไว้

พระอานนท์ทูลรับสนองพระพุทธพจน์แล้ว จัดเตรียมน้ำร้อนไว้ถวายต่อมา ชีวก โกมารภัจจ์ ไปในพุทธสำนัก ครั้นถึงแล้วถวายบังคมพระผู้มีพระภาคนั่งอยู่ ณ ที่ควร ส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า พระผู้มีพระภาคทรงถ่าย แล้วหรือ พระพุทธเจ้าข้า

ภ. เราถ่ายแล้ว ชีวก

ชี. พระพุทธเจ้าข้า ข้าพระพุทธเจ้ากำลังเดินออกไปนอกซุ้มประตูพระวิหารนี้ ได้มี ความปริวิตก ดังนี้ว่า เราถวายพระโอสถถ่ายแด่พระผู้มีพระภาคเพื่อถ่ายครบ ๓๐ ครั้งแล้ว พระกายของพระผู้มีพระภาคหมักหมมด้วยสิ่งอันเป็นโทษ จักไม่ยังพระผู้มี พระภาคให้ถ่ายครบ ๓๐ ครั้งแต่พระผู้มีพระภาคทรงถ่ายแล้วจักสรงพระกาย

ครั้นสรงพระกายแล้วจักถ่ายอีกครั้งหนึ่งอย่างนี้ พระผู้มีพระภาคจักทรงถ่ายครบ ๓๐ ครั้ง พระพุทธเจ้าข้าขอพระผู้มีพระภาค จงโปรดสรงพระกายขอพระสุคต จงโปรด สรงพระกาย

ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงสรงน้ำอุ่น ครั้นสรงแล้วทรงถ่ายอีกครั้งหนึ่ง อย่างนี้ เป็นอันพระผู้มีพระภาคทรงถ่าย ครบ ๓๐ ครั้ง ลำดับนั้นชีวกโกมารภัจจ์ ได้กราบทูลคำนี้แด่พระผู้มีพระภาคว่าพระพุทธเจ้าข้า

พระผู้มีพระภาคไม่ควรเสวยพระกระยาหารที่ปรุงด้วยน้ำต้มผักต่างๆ จนกว่าจะมีพระกายเป็นปกติ

ต่อมาไม่นานนัก พระกายของพระผู้มีพระภาค ได้เป็นปกติแล้ว.

กราบทูลขอพร


ครั้งนั้น ชีวกโกมารภัจจ์ ถือผ้าสิไวยกะคู่นั้น ไปในพุทธสำนัก ครั้นถึงแล้วถวายบังคม พระผู้มีพระภาค นั่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ชีวกโกมารภัจจ์นั่งเรียบร้อยแล้ว ได้กราบทูลคำนี้ แด่พระผู้มีพระภาคว่า ข้าพระพุทธเจ้าจะขอประทานพรต่อพระผู้มี พระภาคสักอย่างหนึ่ง พระพุทธเจ้าข้า

ภ. พระตถาคตทั้งหลายเลิกให้พรเสียแล้ว ชีวก
ชี. ข้าพระพุทธเจ้าขอประทานพรที่สมควร และไม่มีโทษ พระพุทธเจ้าข้า
ภ. จงว่ามาเถิด ชีวก
ชี. พระพุทธเจ้าข้า พระผู้มีพระภาคและพระสงฆ์ทรงถือผ้าบังสุกุล เป็นปกติอยู่
ผ้าสิไวยกะของข้าพระพุทธเจ้าคู่นี้ พระเจ้าปัชโชตทรงส่งมาพระราชทาน เป็นผ้า เนื้อดีเลิศ ประเสริฐมีชื่อเสียงเด่นอุดม และเป็นเยี่ยมกว่าผ้าทั้งหลายเป็นอันมาก ตั้งหลายคู่ ตั้งหลายร้อยคู่ หลายพันคู่ หลายแสนคู่

ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงพระกรุณาโปรดรับผ้าคู่ สิไวยกะ ของข้าพระพุทธเจ้า และขอจงทรงพระพุทธานุญาต คหบดีจีวร แก่พระสงฆ์ด้วยเถิด พระพุทธเจ้าข้า.

พระผู้มีพระภาคทรงรับผ้าคู่สิไวยกะแล้ว ครั้นแล้วทรงชี้แจงให้ชีวกโกมารภัจจ์ เห็นแจ้ง สมาทาน อาจหาญ ร่าเริงด้วยธรรมีกถา ครั้นชีวกโกมารภัจจ์ อันพระผู้มีพระภาค ทรงชี้แจงให้เห็นแจ้ง สมาทาน อาจหาญ ร่าเริงด้วยธรรมีกถา แล้วลุกจากที่นั่งถวาย บังคม พระผู้มีพระภาคทำประทักษิณกลับไป.

พระพุทธานุญาตคหบดีจีวร

                ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทำธรรมีกถา ในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ในเพราะเหตุแรกเกิดนั้น แล้วรับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาต คหบดีจีวร รูปใดปรารถนา จงถือผ้าบังสุกุล รูปใดปรารถนา จงถือผ้าบังสุกุล รูปใด ปรารถนา จงยินดี คหบดีจีวร แต่เราสรรเสริญการยินดี ด้วยปัจจัยตามมี ตามได้.

                [๑๓๖] ประชาชนในพระนครราชคฤห์ได้ทราบข่าวว่า พระผู้มีพระภาค ทรงอนุญาตคหบดีจีวร แก่ภิกษุทั้งหลาย ต่างพากันยินดีร่าเริงว่า บัดนี้แลพวกเราจัก ถวายทาน จักบำเพ็ญบุญเพราะพระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตคหบดีจีวรแก่ ภิกษุทั้งหลาย เพียงวันเดียวเท่านั้น จีวรหลายพันผืนได้เกิดขึ้นในพระนครราชคฤห์ ประชาชนชาวชนบทได้ทราบข่าวว่า พระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตคหบดีจีวร แก่ภิกษุทั้งหลาย ต่างพากันยินดี ร่าเริงว่า บัดนี้แล พวกเราจักถวายทาน จักบำเพ็ญ บุญเพราะพระผู้มีพระภาค ทรงอนุญาตคหบดีจีวรแก่ภิกษุทั้งหลาย เพียงวันเดียว เท่านั้น จีวรหลายพันผืนได้เกิดขึ้นแม้ในชนบท.

พระพุทธานุญาตผ้าปาวาร และผ้าโกเชาว์

 

                [๑๓๗] ก็โดยสมัยนั้นแล ผ้าปาวารเกิดขึ้นแก่สงฆ์ ภิกษุทั้งหลาย กราบทูล เรื่องนั้น แด่พระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาคตรัสอนุญาตว่า ดูกรภิกษุ ทั้งหลาย เราอนุญาต ผ้าปาวาร ผ้าปาวารแกมไหม เกิดขึ้นแก่พระสงฆ์ ภิกษุทั้งหลาย ได้กราบทูลเรื่องนั้น แด่พระผู้มีพระภาค.

พระผู้มีพระภาคตรัสอนุญาตว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตผ้าปาวารแกมไหม ผ้าโกเชาว์เกิดขึ้นแก่พระสงฆ์ ภิกษุทั้งหลาย กราบทูลเรื่องนั้น แด่พระผู้มีพระภาค.

พระผู้มีพระภาคตรัสอนุญาตว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตผ้าโกเชาว์.

ปฐมภาณวาร จบ.


พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๔ วินัยปิฎก มหาวรรค ภาค ๑ หน้าที่ ๑๑๗ – ๑๑๙


อันตรายิกธรรมโรค ๕ ชนิด

          [๑๐๑] ก็โดยสมัยนั้นแล ในมคธชนบทเกิดโรคระบาดขึ้น ๕ ชนิด คือ โรคเรื้อน ๑โรคฝี ๑ โรคกลาก ๑ โรคมองคร่อ ๑* โรคลมบ้าหมู ๑ ประชาชน อันโรค ๕ ชนิดกระทบเข้าแล้วได้เข้าไปหาหมอชีวกโกมารภัจจ์ แล้วกล่าวอย่างนี้ว่า ขอโอกาส ท่านอาจารย์ ขอท่านกรุณาช่วยรักษาพวกข้าพเจ้าด้วย.
* (มองคร่อ คือโรคไอเรื้อรัง)

          ชี. เจ้าทั้งหลาย ฉันน่ะ มีกิจมาก มีงานที่ต้องทำมาก ฉันต้องถวายอภิบาล พระเจ้าพิมพิสารจอมเสนามาคธราช ทั้งพวกฝ่ายใน และพระสงฆ์มีพระพุทธเจ้า เป็นประมุข ฉันไม่สามารถจะช่วยรักษาได้.

          ป. ท่านอาจารย์ ทรัพย์สมบัติทั้งหมดยกให้ท่าน และพวกข้าพเจ้ายอมเป็น ทาสของท่านขอโอกาส ท่านอาจารย์ ขอท่านกรุณาช่วยรักษาพวกข้าพเจ้าด้วย.

          ชี. เจ้าทั้งหลาย ฉันน่ะ มีกิจมาก มีงานที่ต้องทำมาก ฉันต้องถวายอภิบาล พระเจ้าพิมพิสาร จอมเสนามาคธราช ทั้งพวกฝ่ายใน และพระสงฆ์มีพระพุทธเจ้า เป็นประมุข ฉันไม่สามารถจะช่วยรักษาได้.

          จึงประชาชนพวกนั้นได้คิดว่า พระสมณะเชื้อสายพระศากยบุตรเหล่านี้แล มีปกติเป็นสุขมีความประพฤติ สบาย ฉันอาหารที่ดี นอนในห้องนอนอันมิดชิด ถ้ากระไร พวกเราพึงบวชในสำนักพระสมณะเชื้อสาย พระศากยบุตร ในที่นั้น ภิกษุทั้งหลายจักพยาบาล และหมอชีวกโกมารภัจจ์จักรักษา.

ต่อมา พวกเขาพากันเข้าไปหาภิกษุทั้งหลายแล้วขอบรรพชา.

ภิกษุทั้งหลายให้พวกเขาบรรพชาอุปสมบทแล้วต้องพยาบาล และหมอชีวก โกมารภัจจ์ ต้องรักษาพวกเขา.

          สมัยต่อมา ภิกษุทั้งหลายพยาบาลภิกษุอาพาธมากรูป ย่อมเป็นผู้มากด้วย การขอร้องมากด้วยการ ขออยู่ ว่าขอจงให้อาหารสำหรับภิกษุอาพาธ ขอจงให้อาหาร สำหรับภิกษุผู้พยาบาลภิกษุอาพาธ ขอจงให้เภสัชสำหรับ ภิกษุผู้อาพาธ.

แม้หมอชีวกโกมารภัจจ์มัวรักษาภิกษุอาพาธมากรูป ได้ปฏิบัติราชการบางอย่าง บกพร่อง.

บุรุษแม้คนหนึ่ง ถูกโรค ๕ ชนิดกระทบเข้าแล้วก็เข้าไปหาหมอชีวกโกมารภัจจ์ แล้วกราบเรียนว่า ขอโอกาส ท่านอาจารย์ ขอท่านกรุณาช่วยรักษากระผมด้วย.

          ชี. เจ้า ข้าน่ะ มีกิจมาก มีงานที่ต้องทำมาก ต้องถวายอภิบาลพระเจ้าพิมพิสาร จอมเสนามาคธราช ทั้งพวกฝ่ายใน และพระสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข ข้าไม่สามารถจะช่วยรักษาได้.

          บุรุษ. ท่านอาจารย์ ทรัพย์สมบัติทั้งหมดยกให้ท่าน และกระผมยอมเป็นทาส ของท่านขอโอกาส ท่านอาจารย์ ขอท่านกรุณาช่วยรักษากระผมด้วย.

          ชี. เจ้า ข้าน่ะ มีกิจมาก มีงานที่ต้องทำมาก ต้องถวายอภิบาลพระเจ้าพิมพิสาร จอมเสนามาคธราช ทั้งพวกฝ่ายใน และพระสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข ข้าไม่สามารถจะช่วยรักษาได้.

          จึงบุรุษนั้นได้คิดว่า พระสมณะเชื้อสายพระศากยบุตรเหล่านี้แล มีปกติเป็นสุข มีความประพฤติสบาย ฉันอาหารที่ดี นอนในห้องนอนอันมิดชิด ถ้ากระไร เราพึงบวช ในสำนักพระสมณะเชื้อสายพระศากยบุตร ในที่นั้น ภิกษุทั้งหลายจักพยาบาล และ หมอชีวกโกมารภัจจ์จักรักษา เราหายโรคแล้วจักสึก จึงบุรุษนั้นเข้าไปหาภิกษุ ทั้งหลายแล้วขอบรรพชา.

ภิกษุทั้งหลาย ให้บุรุษนั้นบรรพชาอุปสมบทแล้วต้องพยาบาล และหมอ ชีวกโกมารภัจจ์ ต้องรักษาภิกษุนั้น.

ภิกษุนั้นหายโรคแล้วสึก.

หมอชีวกโกมารภัจจ์ได้เห็นบุรุษนั้นสึกแล้ว จึงได้ไต่ถามบุรุษนั้นว่า เจ้าบวชในสำนัก ภิกษุมิใช่หรือ?

บุรุษ. ใช่แล้วขอรับ ท่านอาจารย์.

ชี. เจ้าได้ทำพฤติการณ์เช่นนั้น เพื่อประสงค์อะไร? จึงบุรุษนั้นได้เรียนเรื่องนั้นให้หมอ ชีวกโกมารภัจจ์ทราบ.

หมอชีวกโกมารภัจจ์ จึงเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ไฉนพระคุณเจ้าทั้งหลาย จึงได้ให้กุลบุตรผู้ถูกโรค ๕ ชนิดกระทบเข้าแล้วบวชเล่า.

ครั้นแล้วเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้วนั่ง ณ ที่ควร ส่วนข้างหนึ่ง แล้วได้กราบทูลขอประทานพรต่อพระผู้มีพระภาคว่าข้าพระพุทธเจ้า ขอประทานพระวโรกาส ขอพระผู้เป็นเจ้าทั้งหลายไม่พึงยังกุลบุตรผู้ถูกโรค ๕ ชนิด กระทบเข้าแล้ว ให้บวช.

ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้หมอชีวกโกมารภัจจ์ เห็นแจ้ง สมาทาน อาจหาญร่าเริง ด้วยธรรมีกถา.

ครั้นหมอชีวกโกมารภัจจ์อันพระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้เห็นแจ้ง ให้สมาทาน ให้อาจหาญ ร่าเริงด้วยธรรมีกถา แล้วลุกจากที่นั่ง ถวายบังคมพระผู้มีพระภาค ทำประทักษิณแล้วกลับไป.

ทรงห้ามบวชคนเป็นโรคติดต่อ

ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทำธรรมีกถา ในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ในเพราะเหตุ แรกเกิดนั้น แล้วรับสั่งกะ ภิกษุทั้งหลายว่า

ดูกรภิกษุทั้งหลาย กุลบุตรผู้ถูกโรค ๕ ชนิด กระทบเข้าแล้ว ภิกษุไม่พึงให้บวช รูปใดให้บวช ต้องอาบัติทุกกฏ.



พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๕ วินัยปิฎก มหาวรรค ภาค ๒ หน้าที่ ๑๕๐


พระพุทธานุญาตผ้ากัมพล

[๑๓๘] ก็โดยสมัยนั้นแล พระเจ้ากาสีทรงพระกรุณาส่งผ้ากัมพล มีราคาครึ่งกาสีคือ ควรราคากึ่งกาสี มาพระราชทานแก่ชีวกโกมารภัจจ์ ครั้งนั้น ชีวกโกมารภัจจ์รับ พระราชทาน ผ้ากัมพล ราคากึ่งกาสีนั้นแล้ว เข้าไป ในพุทธสำนัก ครั้นถึงแล้วถวาย บังคมพระผู้มีพระภาคนั่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง

ชีวกโกมารภัจจ์ นั่งเฝ้าเรียบร้อยแล้ว ได้กราบทูลคำนี้แด่พระผู้มี-พระภาคว่า พระพุทธเจ้าข้า ผ้ากัมพลของ ข้าพระพุทธเจ้าผืนนี้ ราคาครึ่งกาสี คือ ควรราคา กึ่งกาสีพระเจ้ากาสี ทรงพระกรุณาส่งมาพระราชทาน ขอพระผู้มี พระภาคจงทรง พระกรุณาโปรดรับผ้ากัมพล ของข้าพระพุทธเจ้า เพื่อประโยชน์และความสุขแก่ ข้าพระพุทธเจ้า ตลอดกาลนาน ด้วยเถิด พระพุทธเจ้าข้า.

พระผู้มีพระภาคทรงรับผ้ากัมพล ครั้นแล้วทรงชี้แจงให้ชีวกโกมารภัจจ์ เห็นแจ้ง สมาทาน อาจหาญ ร่าเริง ด้วย ธรรมีกถา ครั้นชีวกโกมารภัจจ์ อันพระผู้มีพระภาค ทรงชี้แจง ให้เห็นแจ้ง สมาทาน อาจหาญ ร่าเริงด้วยธรรมีกถา แล้วลุกจากที่นั่ง ถวายบังคมพระผู้มีพระภาค ทำประทักษิณกลับไป.



พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๙ สุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค หน้าที่ ๔๕

เรื่องพระเจ้าอชาตศัตรู

[๙๑] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาค ประทับ ณ สวนอัมพวันของหมอชีวกโกมารภัจจ์ ใกล้พระนคร ราชคฤห์ พร้อมด้วยภิกษุ สงฆ์หมู่ใหญ่ประมาณ ๑๒๕๐ รูป วันนั้นเป็นวัน อุโบสถ ๑๕ ค่ำ เป็นวันครบ ๔ เดือน ฤดูดอกโกมุทบาน ในราตรี เพ็ญพระจันทร์ เต็มดวง พระเจ้าแผ่นดินมคธ พระนามว่า อชาตศัตรูเวเทหีบุตร(โอรสพระเจ้าพิมพิสาร) แวดล้อมด้วยราช อำมาตย์ประทับนั่ง ณ พระมหาปราสาท ชั้นบน.

ขณะนั้น ท้าวเธอทรงเปล่งพระอุทานว่า ดูกรอำมาตย์ ราตรีมีดวงเดือนแจ่มกระจ่าง น่ารื่นรมย์หนอ ราตรีมีดวงเดือนแจ่มกระจ่าง ช่างงามจริงหนอ ราตรีมีดวงเดือน แจ่มกระจ่าง น่าชมจริงหนอ ราตรีมีดวงเดือนแจ่มกระจ่าง น่าเบิกบานจริงหนอ ราตรีมีดวงเดือนแจ่มกระจ่าง เข้าลักษณะจริงหนอ วันนี้เราควรจะเข้าไปหาสมณะ หรือ พราหมณ์ผู้ใดดีหนอ ซึ่งจิตของเรา ผู้เข้าไปหาพึงเลื่อมใสได้.

ครั้นท้าวเธอดำรัสอย่างนี้แล้ว อำมาตย์ผู้หนึ่งจึงกราบทูลว่า ขอเดชะ ท่านปูรณะกัสสป ปรากฏว่าเป็นเจ้าหมู่ เจ้าคณะ เป็นคณาจารย์มีชื่อเสียง มีเกียรติยศ เป็นเจ้าลัทธิชน ส่วนมากยกย่องว่าดี เป็นคนเก่าแก่ บวชมานาน มีอายุล่วงกาล ผ่านวัยมาโดยลำดับ เชิญพระองค์เสด็จเข้าไปหาท่านปูรณะ กัสสปนั้นเถิด เห็นด้วยเกล้า ฯ ว่า เมื่อพระองค์เสด็จเข้าไปหาท่านปูรณะ กัสสป พระหฤทัยพึงเลื่อมใส.
เมื่ออำมาตย์ผู้นั้น กราบทูลอย่างนี้แล้วท้าวเธอก็ทรงนิ่งอยู่.

อำมาตย์อีกคนหนึ่ง จึงกราบทูลว่า ขอเดชะ ท่านมักขลิ โคศาล ปรากฏว่าเป็นเจ้าหมู่ เจ้าคณะ เป็นคณาจารย์ มีชื่อเสียง มีเกียรติยศ เป็นเจ้าลัทธิ ชนส่วนมากยกย่องว่าดี เป็นคนเก่าแก่ บวชมานาน มีอายุล่วงกาล ผ่านวัย มาโดยลำดับ เชิญพระองค์เสด็จ เข้าไปหาท่านมักขลิ โคศาลนั้นเถิด เห็นด้วยเกล้า ฯ ว่า เมื่อพระองค์เสด็จเข้า ไปหา ท่านมักขลิ โคศาลพระหฤทัย พึงเลื่อมใส
เมื่ออำมาตย์ผู้นั้นกราบทูลอย่างนี้แล้ว ท้าวเธอก็ทรงนิ่งอยู่.

อำมาตย์อีกคนหนึ่ง จึงกราบทูลว่า ขอเดชะ ท่านอชิต เกสกัมพล ปรากฏว่าเป็นเจ้าหมู่ เจ้าคณะเป็นคณาจารย์มีชื่อเสียง มีเกียรติยศ เป็นเจ้าลัทธิ ชนส่วนมากยกย่องว่าดี เป็นคนเก่าแก่ บวชมานานมีอายุ ล่วงกาล ผ่านวัยมาโดยลำดับ เชิญพระองค์เสด็จ เข้าไปหาท่านอชิต เกสกัมพล นั้นเถิด เห็นด้วยเกล้าฯ ว่า เมื่อพระองค์เสด็จเข้าไป หาท่าน อชิต เกสกัมพลพระหฤทัยพึงเลื่อมใส
เมื่ออำมาตย์ ผู้นั้น กราบทูล อย่างนี้แล้ว ท้าวเธอก็ทรงนิ่งอยู่.

อำมาตย์อีกคนหนึ่ง จึงกราบทูลว่า ขอเดชะ ท่านปกุธะ กัจจายนะ ปรากฏว่าเป็น เจ้าหมู่ เจ้าคณะ เป็นคณาจารย์ มีชื่อเสียง มีเกียรติยศ เป็นเจ้าลัทธิ ชนส่วนมาก
ยกย่องว่าดี เป็นคนเก่าแก่ บวชมานาน มีอายุล่วงกาล ผ่านวัย มาโดยลำดับ เชิญพระองค์เสด็จเข้าไป หาท่านปกุธะกัจจายนะนั้นเถิด เห็นด้วยเกล้า ฯ ว่า เมื่อพระองค์เสด็จ เข้าไปหาท่านปกุธะ กัจจายนะ พระหฤทัยพึงเลื่อมใส.
เมื่ออำมาตย์ผู้นั้นกราบทูลอย่างนี้แล้ว ท้าวเธอก็ทรง นิ่งอยู่.

อำมาตย์อีกคนหนึ่ง จึงกราบทูลว่า ขอเดชะ ท่านสญชัย เวลัฏฐบุตร ปรากฏว่า เป็นเจ้าหมู่ เจ้าคณะ เป็นคณาจารย์ มีชื่อเสียง มีเกียรติยศ เป็นเจ้าลัทธิ ชนส่วนมาก ยกย่องว่าดี เป็นคนเก่าแก่ บวชมานาน มีอายุล่วงกาล ผ่านวัย มาโดยลำดับ เชิญพระองค์เสด็จ เข้าไปหาท่านสญชัย เวลัฏฐบุตร นั้นเถิด เห็นด้วยเกล้า ฯ ว่า
เมื่อพระองค์เสด็จเข้าไปหาท่านสญชัยเวลัฏฐบุตร พระหฤทัยพึงเลื่อมใส.
เมื่ออำมาตย์ผู้นั้นกราบทูลอย่างนี้แล้ว ท้าวเธอก็ทรงนิ่งอยู่.

อำมาตย์อีกคนหนึ่ง จึงกราบทูลว่า ขอเดชะ ท่านนิครนถ์ นาฏบุตร ปรากฏว่า เป็นเจ้าหมู่ เจ้าคณะ เป็นคณาจารย์ มีชื่อเสียง มีเกียรติยศ เป็นเจ้าลัทธิ ชนส่วนมาก ยกย่องว่าดี เป็นคนเก่าแก่ บวชมานาน มีอายุล่วงกาล ผ่านวัย มาโดยลำดับ เชิญพระองค์เสด็จเข้าไปหา ท่านนิครนถ์ นาฏบุตร นั้นเถิด เห็นด้วยเกล้า ฯ ว่า เมื่อพระองค์เสด็จ เข้าไปหาท่านนิครนถ์ นาฏบุตร พระหฤทัยพึงเลื่อมใส.
เมื่ออำมาตย์ผู้นั้นกราบทูลอย่างนี้แล้ว ท้าวเธอก็ทรงนิ่งอยู่.


กถาปรารภพระพุทธคุณ

                [๙๒] สมัยนั้น หมอชีวก โกมารภัจจ์ นั่งนิ่งอยู่ในที่ไม่ไกลพระเจ้าแผ่นดิน มคธพระนามว่า อชาตศัตรู เวเทหีบุตร. ท้าวเธอจึงมีพระราชดำรัสกะหมอชีวก โกมารภัจจ์ ว่าชีวกผู้สหาย เธอทำไมจึงนิ่งเสียเล่า, หมอชีวก โกมารภัจจ์ กราบทูลว่า ขอเดชะ พระผู้มีพระภาค อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ประทับอยู่ ณ สวนอัมพวัน ของ ข้าพระพุทธเจ้า พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ประมาณ ๑๒๕๐ รูป

พระเกียรติศัพท์อันงามของพระองค์ขจรไปแล้ว อย่างนี้ว่า แม้เพราะเหตุนี้ ๆ พระผู้มีพระภาค พระองค์นั้น เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้เองโดยชอบ ถึงพร้อมด้วยวิชชา และจรณะ เสด็จไปดีแล้ว ทรงรู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึก บุรุษที่ควรฝึกไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่า เป็นศาสดาของเทวดา และมนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้เบิกบานแล้ว เป็นผู้จำแนก พระธรรมดังนี้

เชิญพระองค์เสด็จเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นเถิด เห็นด้วยเกล้า ฯ ว่า เมื่อพระองค์ เสด็จเข้าไปเฝ้า พระผู้มีพระภาค พระฤทัยพึงเลื่อมใส ท้าวเธอจึงมี พระราชดำรัสว่า ชีวกผู้สหาย ถ้าอย่างนั้นท่านจงสั่งให้เตรียม หัตถียานไว้.

หมอชีวก โกมารภัจจ์ รับสนองพระราชโองการแล้ว สั่งให้เตรียมช้างพังประมาณ ๕๐๐ เชือก และช้างพระที่นั่ง เสร็จแล้วจึงกราบทูลว่า ขอเดชะ ข้าพระพุทธเจ้าสั่งให้เตรียม หัตถียาน พร้อมแล้ว เชิญใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท เสด็จได้พระเจ้าข้า.

ลำดับนั้น ท้าวเธอโปรดให้พวกสตรีขึ้นช้างพัง ๕๐๐ เชือกๆ ละนาง แล้วจึงทรงช้าง พระที่นั่ง มีผู้ถือคบเพลิง เสด็จออกจากพระนครราชคฤห์ ด้วยพระราชานุภาพ อย่างยิ่งใหญ่ เสด็จไปสวน อัมพวันของหมอชีวก โกมารภัจจ์.

พอใกล้จะถึง ท้าวเธอเกิดทรงหวาดหวั่นครั่นคร้าม และทรงมีความสยดสยองขึ้น

ครั้นท้าวเธอทรงกลัว ทรงหวาดหวั่น มีพระโลมชาตชูชันแล้ว จึงตรัสกับหมอชีวก โกมารภัจจ์ว่า ชีวกผู้สหาย ท่านไม่ได้ลวงเราหรือ ชีวกผู้สหาย ท่านไม่ได้หลอกเรา หรือ ชีวกผู้สหาย ท่านไม่ได้ล่อเรามาให้ศัตรูหรือ เหตุไฉนเล่า

ภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ตั้ง ๑๒๕๐ รูป จึงไม่มีเสียงจาม เสียงกระแอม เสียงพึมพำเลย หมอชีวก โกมารภัจจ์กราบทูลว่า ขอพระองค์ อย่าได้ทรงหวาดหวั่นเกรงกลัวเลย พระเจ้าข้า ข้าพระพุทธเจ้าไม่ได้ลวงพระองค์ไม่ได้หลอก พระองค์ ไม่ได้ล่อพระองค์ มาให้ศัตรูเลย พระเจ้าข้า ขอเดชะ เชิญพระองค์เสด็จเข้าไปเถิดๆ นั่นประทีป ที่โรงกลม ยังตามอยู่.

ลำดับนั้น ท้าวเธอเสด็จพระราชดำเนินโดยกระบวนช้างพระที่นั่งไปจนสุดทาง เสด็จลงทรง พระดำเนิน เข้าประตู โรงกลม แล้วจึงรับสั่งกะหมอชีวกโกมารภัจจ์ว่า ชีวกผู้สหาย ไหนพระผู้มีพระภาค.

หมอชีวก โกมารภัจจ์ กราบทูลว่า ขอเดชะนั่นพระผู้มีพระภาค ประทับนั่งพิงเสากลาง ผินพระพักตร์ไปทางทิศ บูรพา ภิกษุสงฆ์แวดล้อมอยู่.

ลำดับนั้น ท้าวเธอเสด็จเข้าไปเฝ้า.

พระผู้มีพระภาค ประทับยืน ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้วทรงชำเลืองเห็น ภิกษุสงฆ์ นิ่งสงบ เหมือนห้วงน้ำใส ทรงเปล่งพระอุทานว่า ขอให้อุทยภัทท์กุมารของเราจงมี ความสงบ อย่างภิกษุสงฆ์เดี๋ยวนี้.

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรมหาบพิตร พระองค์เสด็จมาทั้งความรัก.

แล้วท้าวเธอทูลรับว่า พระเจ้าข้า อุทยภัทท์กุมาร เป็นที่รักของหม่อมฉัน ขอให้ อุทยภัทท์ กุมารของหม่อมฉัน จงมีความสงบอย่างภิกษุสงฆ์เดี๋ยวนี้เถิด.

                [๙๓] ลำดับนั้น ท้าวเธอทรงอภิวาทพระผู้มีพระภาค แล้วทรงประนมอัญชลี แก่ภิกษุสงฆ์ ประทับนั่ง ณ ที่ควร ส่วนข้างหนึ่ง.

ครั้นแล้ว ได้ตรัสพระดำรัสนี้กะพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉัน จะขอทูลถาม ปัญหาบางเรื่องสักเล็กน้อย ถ้าพระองค์จะประทานพระวโรกาส พยากรณ์ปัญหาแก่หม่อมฉัน.

พ. เชิญถามเถิด มหาบพิตร ถ้าทรงพระประสงค์.

อ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ศิลปศาสตร์เป็นอันมากเหล่านี้ คือ พลช้าง พลม้า พลรถ พลธนู พนักงานเชิญธง พนักงานจัดกระบวนทัพ พนักงานจัดส่งเสบียง พวกอุคค ราชบุตร พลอาสา ขุนพล พลกล้า พลสวมเกราะหนัง พวกบุตรทาส ช่างทำขนม ช่างกัลบก พนักงานเครื่องสรง พวกพ่อครัว ช่างดอกไม้ ช่างย้อม ช่างหูก ช่างจักสาน ช่างหม้อ นักคำนวณพวกนับคะแนน (นักการบัญชี) หรือศิลปศาสตร์เป็นอันมาก

แม้อย่างอื่นใดที่มีคติ เหมือน อย่างนี้คนเหล่านั้นย่อมอาศัยผลแห่งศิลปศาสตร์ ที่เห็นประจักษ์ เลี้ยงชีพในปัจจุบัน ด้วยผลแห่งศิลปศาสตร์นั้น เขาย่อมบำรุงตน มารดาบิดา บุตรภริยา มิตรอำมาตย์ให้เป็นสุขอิ่มหนำสำราญ บำเพ็ญทักษิณาทาน อันมีผล อย่างสูง เป็นไปเพื่อ ให้ได้อารมณ์ดี มีสุขเป็นผล ให้เกิดในสวรรค์ ในสมณพราหมณ์ ทั้งหลายฉันใด ข้าแต่พระองค์ ผู้เจริญ พระองค์อาจบัญญัติ สามัญผล ที่เห็นประจักษ์ในปัจจุบัน เหมือนอย่างนั้น ได้บ้าง หรือไม่?

พ. มหาบพิตร ทรงจำได้หรือไม่ว่า ปัญหาข้อนี้ มหาบพิตรได้ตรัสถาม สมณพราหมณ์ พวกอื่นแล้ว.

อ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ จำได้อยู่ ปัญหาข้อนี้ หม่อมฉันได้ถามสมณพราหมณ์พวกอื่น แล้ว.

พ. ดูกรมหาบพิตร สมณพราหมณ์เหล่านั้นพยากรณ์อย่างไร ถ้ามหาบพิตรไม่หนัก พระทัย ก็ตรัสเถิด.

อ. ณ ที่ที่พระผู้มีพระภาค หรือท่านผู้เปรียบดังพระผู้มีพระภาค ประทับนั่งอยู่ หม่อมฉัน ไม่หนักใจ พระเจ้าข้า.

พ. ถ้าอย่างนั้น มหาบพิตรตรัสเถิด.



พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๓ สุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ หน้าที่ ๔๒- ๔๕


 ๕. ชีวกสูตร
เรื่องหมอชีวกโกมารภัจจ์

                [๕๖] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้:
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ อัมพวันของหมอชีวกโกมารภัจจ์ เขตพระนคร ราชคฤห์.

ครั้งนั้นแล หมอชีวกโกมารภัจจ์เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคม พระผู้มี พระภาคแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วน ข้างหนึ่ง.

ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระพุทธเจ้าได้ฟังคำนี้มาว่า ชนทั้งหลายย่อมฆ่าสัตว์เจาะจงพระสมณโคดม พระสมณโคดมทรงทราบข้อนั้นอยู่ ยังเสวยเนื้อที่เขาทำเฉพาะตน อาศัยตนทำดังนี้ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ชนเหล่าใด กล่าวอย่างนี้ว่า ชนทั้งหลายย่อมฆ่าสัตว์เจาะจงพระสมณโคดม พระสมณโคดม ทรงทราบข้อนั้นอยู่ ยังเสวยเนื้อ ที่เขาทำเฉพาะตน อาศัยตนทำดังนี้

ชนเหล่านั้นชื่อว่า กล่าวตรงกับ ที่พระผู้มีพระภาคตรัส ไม่ชื่อว่ากล่าวตู่พระผู้มีพระภาค ด้วยคำอันไม่เป็นจริง ชื่อว่ายืนยันธรรมอันสมควรแก่ธรรม การกล่าวและกล่าวตาม ที่ชอบธรรมจะไม่ถึง ข้อติเตียนละหรือ?

เนื้อที่ไม่ควรบริโภค และควรบริโภค ๓ อย่าง

                [๕๗] พ. ดูกรชีวก ชนใดกล่าวอย่างนี้ว่า ชนทั้งหลายย่อมฆ่าสัตว์ เจาะจงพระสมณโคดม พระสมณ โคดมทรงทราบข้อนั้นอยู่ ก็ยังเสวยเนื้อสัตว์ ที่เขาทำเฉพาะตน อาศัยตนทำ ดังนี้ชนเหล่านั้นจะชื่อว่ากล่าวตรงกับ ที่เรากล่าวหา มิได้ ชื่อว่ากล่าวตู่เราด้วยคำ อันไม่เป็นจริง ดูกรชีวกเรากล่าวเนื้อว่า ไม่ควรเป็นของ บริโภคด้วยเหตุ ๓ ประการ คือ เนื้อที่ตนเห็น เนื้อที่ตนได้ยิน เนื้อที่ตนรังเกียจ

ดูกรชีวก เรากล่าวเนื้อว่าเป็นของไม่ควรบริโภคด้วยเหตุ ๓ ประการ นี้แล

ดูกรชีวก เรากล่าวเนื้อ ว่าเป็นของควรบริโภคด้วยเหตุ ๓ ประการ คือ เนื้อที่ตนไม่ได้เห็น เนื้อที่ตนไม่ได้ยิน เนื้อที่ตนไม่ได้รังเกียจ

ดูกรชีวก เรากล่าวเนื้อว่า เป็นของควรบริโภคด้วยเหตุ ๓ ประการนี้ แล.

การแผ่เมตตา

                [๕๘] ดูกรชีวก ภิกษุในธรรมวินัยนี้ อาศัยบ้านหรือนิคมแห่งใดแห่งหนึ่ง อยู่ เธอมีใจประกอบด้วย เมตตา แผ่ไปตลอดทิศหนึ่ง อยู่ ที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ ก็เหมือนกัน ตามนัยนี้ ทั้งเบื้องบน เบื้องล่าง เบื้องขวาง แผ่ไปตลอดโลก ทั่วสัตว์ทุกเหล่า โดยความมีตนทั่วไป ในทุกสถาน ด้วยใจประกอบด้วยเมตตาอันไพบูลย์ ถึงความเป็น ใหญ่ หาประมาณมิได้ ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่

คฤหบดีหรือบุตรคฤหบดี เข้าไปหาเธอแล้วนิมนต์ด้วยภัต เพื่อให้ฉันในวันรุ่งขึ้น

ดูกรชีวก เมื่อภิกษุหวังอยู่ ก็รับนิมนต์ พอล่วงราตรีนั้นไป เวลาเช้า ภิกษุนั้นนุ่งแล้ว ถือบาตร และจีวรเข้าไปยัง นิเวศน์ของคฤหบดีหรือบุตรของคฤหบดี แล้วนั่งลงบน อาสนะที่เขาปูลาดไว้ คฤหบดีหรือบุตรของคฤหบดีนั้น อังคาสเธอด้วยบิณฑบาต อันประณีต ความดำริว่า ดีหนอ

คฤหบดีหรือบุตรคฤหบดีผู้นี้ อังคาสเราอยู่ด้วยบิณฑบาตอันประณีต ดังนี้ ย่อมไม่มี แก่เธอ แม้ความดำริว่า โอหนอ คฤหบดีหรือบุตรคฤหบดีผู้นี้ พึงอังคาสเราด้วย บิณฑบาตอันประณีต เช่นนี้ แม้ต่อไป ดังนี้ ก็ไม่มีแก่เธอ เธอไม่กำหนด ไม่สยบ ไม่รีบกลืนบิณฑบาตนั้น มีปกติ เห็นโทษ มีปัญญาเครื่องถอนตน บริโภคอยู่

ดูกรชีวก ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉนว่าในสมัยนั้น ภิกษุนั้นย่อมคิดเพื่อ เบียดเบียนตน เพื่อเบียดเบียนผู้อื่น หรือเพื่อเบียดเบียนทั้งสองฝ่าย บ้างหรือ?

ไม่เป็นเช่นนั้น พระพุทธเจ้าข้า.

ดูกรชีวก สมัยนั้นภิกษุนั้นชื่อว่าฉันอาหารอันไม่มีโทษมิใช่หรือ?

อย่างนั้นพระพุทธเจ้าข้า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระพุทธเจ้าได้สดับมาว่า พรหม มีปกติ อยู่ด้วยเมตตา คำนั้นเป็นแต่ข้าพระพุทธเจ้าได้สดับมา คำนี้พระผู้มีพระภาค เป็นองค์พยานปรากฎแล้ว ด้วยว่าพระผู้มีพระภาค ทรงมีปกติอยู่ด้วยเมตตา.

ดูกรชีวก บุคคลพึงมีความพยาบาท เพราะราคะ โทสะ โมหะใด ราคะ โทสะโมหะนั้น ตถาคต ละแล้ว มีมูล อันขาดแล้ว เป็นดุจตาลยอดด้วน ถึงความไม่มี มีอันไม่เกิด ต่อไป เป็นธรรมดา

ดูกรชีวก ถ้าแลท่านกล่าวหมายเอาการละราคะ โทสะ โมหะ เป็นต้นนี้เราอนุญาต การกล่าวเช่นนั้นแก่ท่าน.

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระพุทธเจ้ากล่าวหมายเอาการละราคะ โทสะ และโมหะ เป็นต้นนี้.


การแผ่กรุณา มุทิตา อุเบกขา


                [๕๙] ดูกรชีวก ภิกษุในธรรมวินัยนี้ อาศัยบ้านหรือนิคมแห่งใดแห่งหนึ่ง อยู่ เธอมีใจประกอบด้วย กรุณา ... มีใจประกอบด้วยมุทิตา ... มีใจประกอบด้วย อุเบกขา แผ่ไปตลอดทิศหนึ่งอยู่ ทิศที่ ๒ ทิศที่ ๓ ทิศที่ ๔ ก็เหมือนกัน ตามนัยนี้ ทั้งเบื้องบน เบื้องล่าง เบื้องขวางแผ่ไปตลอดโลก ทั่วสัตว์ทุกเหล่าโดยความมีตน ทั่วไป ในที่ทุกสถาน

ด้วยใจประกอบด้วยอุเบกขาอันไพบูลย์ ถึงความเป็นใหญ่ หาประมาณมิได้ ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียน คฤหบดี หรือบุตรคฤหบดีเข้าไปหาเธอ แล้วนิมนต์ด้วยภัต เพื่อให้ฉัน ในวันรุ่งขึ้น ดูกรชีวก เมื่อภิกษุหวังอยู่ย่อมรับนิมนต์ พอล่วงราตรีนั้นไป เวลาเช้า ภิกษุนั้น นุ่งแล้ว ถือบาตรและจีวรเข้าไปยังนิเวศน์ของคฤหบดี หรือบุตร ของคฤหบดี แล้วนั่งลงบน อาสนะที่เขาปูลาดไว้.

คฤหบดีหรือบุตรคฤหบดีนั้น อังคาสเธอด้วยบิณฑบาตอันประณีต ความดำริว่า ดีหนอ คฤหบดีหรือบุตรคฤหบดีผู้นี้ อังคาสเราอยู่ด้วยบิณฑบาตอันประณีต ดังนี้ ย่อมไม่มี แก่เธอ แม้ความดำริว่า

โอหนอ คฤหบดีหรือบุตรคฤหบดีผู้นี้ พึงอังคาสเราด้วยบิณฑบาตอันประณีตนี้แม้ต่อไป ดังนี้ ก็ไม่มีแก่เธอ เธอไม่กำหนัด ไม่สยบ ไม่รีบกลืนบิณฑบาตนั้น มีปกติเห็นโทษ มีปัญญา เครื่องถอนตน บริโภคอยู่

ดูกรชีวก ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉนว่า ในสมัยนั้นภิกษุนั้นย่อมคิด เพื่อ เบียดเบียนตน เพื่อเบียดเบียนผู้อื่น หรือเพื่อเบียดเบียนทั้งสองฝ่าย บ้างหรือ?

ไม่เป็นเช่นนั้น พระพุทธเจ้าข้า.

ดูกรชีวก สมัยนั้น ภิกษุนั้นชื่อว่าฉันอาหารอันไม่มีโทษมิใช่หรือ?

อย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระพุทธเจ้าได้สดับมาว่า พรหม มีปกติอยู่ ด้วยอุเบกขา คำนั้น เป็นแต่ข้าพระพุทธเจ้าได้สดับมา คำนี้พระผู้มีพระภาค เป็นองค์พยาน ปรากฎแล้ว ด้วยว่า พระผู้มีพระภาคทรงมี ปกติ อยู่ด้วยอุเบกขา.

ดูกรชีวก บุคคลพึงมีความเบียดเบียน มีความไม่ยินดี มีความกระทบกระทั่ง เพราะ ราคะโทสะ โมหะใด ราคะ โทสะ โมหะนั้น ตถาคตละแล้วมีมูลอันขาดแล้ว เป็นดุจ ตาลยอดด้วน ถึงความไม่มี มีอันไม่เกิดต่อไปเป็นธรรมดา

ดูกรชีวก ถ้าแลท่านกล่าวหมายเอาการละราคะโทสะ โมหะ เป็นต้นนี้ เราอนุญาต การกล่าว เช่นนั้นแก่ท่าน.

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระพุทธเจ้ากล่าวหมายเอาการละราคะ โทสะ โมหะ เป็นต้นนี้.

ทำบุญได้บาปด้วยเหตุ ๕ ประการ


                [๖๐] ดูกรชีวก ผู้ใดฆ่าสัตว์เจาะจงตถาคต หรือสาวกตถาคต ผู้นั้น ย่อมประสพ บาปมิใช่บุญ เป็นอันมาก ด้วยเหตุ ๕ ประการ คือ ผู้นั้นกล่าวอย่างนี้ว่า ท่านทั้งหลายจงไป นำสัตว์ ชื่อโน้นมาดังนี้ ชื่อว่าย่อม ประสพบาปมิใช่บุญเป็นอันมาก

ด้วยเหตุประการที่ ๑ นี้ สัตว์นั้นเมื่อถูกเขาผูกคอนำมาได้เสวยทุกข์โทมนัส ชื่อว่าย่อม ประสพ บาป มิใช่บุญเป็นอันมาก

ด้วยเหตุประการที่ ๒ นี้ ผู้นั้นพูดอย่างนี้ว่า ท่านทั้งหลายจงไปฆ่าสัตว์นี้ ชื่อว่าย่อม ประสพบาป มิใช่บุญเป็นอันมาก

ด้วยเหตุประการที่ ๓ นี้ สัตว์นั้นเมื่อกำลังเขาฆ่าย่อมเสวยทุกข์ โทมนัส ชื่อว่าย่อม ประสพบาปมิใช่บุญเป็นอันมาก

ด้วยเหตุประการที่ ๔ นี้ ผู้นั้นย่อมยังตถาคต และสาวกตถาคต ให้ยินดีด้วยเนื้อเป็น อกัปปิยะ ชื่อว่าย่อมประสพบาป มิใช่บุญเป็นอันมาก

ด้วยเหตุประการที่ ๕ นี้ ดูกรชีวก ผู้ใดฆ่าสัตว์เจาะจงตถาคต หรือสาวกของตถาคต ผู้นั้นย่อมประสพบาป มิใช่บุญ เป็นอันมาก ด้วยเหตุ ๕ ประการนี้.

                [๖๑] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว ชีวกโกมารภัจจ์ได้กราบทูล พระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ น่าอัศจรรย์ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญไม่เคยมี ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญภิกษุทั้งหลาย ย่อมฉันอาหารอันไม่มีโทษหนอ ข้าแต่พระองค์ ผู้เจริญ

ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก เปรียบเหมือนบุคคล หงายของที่คว่ำเปิดของที่ปิด บอกทางแก่คนหลงทาง หรือส่อง ประทีปในที่มืด ด้วยคิดว่าผู้มีจักษุจัก เห็นรูป ฉันใด

พระผู้มีพระภาคทรงประกาศพระธรรมโดยอเนกปริยาย ฉันนั้นเหมือนกัน ข้าแต่ พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์นี้ ขอถึงพระผู้มีพระภาค พระธรรม และพระภิกษุสงฆ์ว่า เป็นสรณะ ขอพระผู้มีพระภาคทรงจำ ข้าพระองค์ว่า เป็นอุบาสก ผู้ถึงสรณะตลอดชีวิต ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปดังนี้แล.

จบ ชีวกสูตร ที่ ๕.



พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๓ สุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต หน้าที่ ๑๗๐

ชีวกสูตร

                [๑๑๖] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ สวนมะม่วงของหมอชีวก ใกล้ พระนครราชฤห์ ครั้งนั้น หมอชีวก โกมารภัจจ์ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึง ที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง

ครั้นแล้วได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ด้วยเหตุมีประมาณเท่าไร หนอ บุคคลชื่อว่าเป็นอุบาสก พระผู้มีพระภาคตรัสว่าดูกรชีวก เมื่อใดแลบุคคล ถึงพระพุทธเจ้า ถึงพระธรรม ถึงพระสงฆ์ ว่าเป็นสรณะ ด้วยเหตุมีประมาณเท่านี้ แลชื่อว่า เป็นอุบาสก ฯ

ช. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ด้วยเหตุมีประมาณเท่าไร อุบาสกชื่อว่าเป็นผู้มีศีล ฯ

พ. ดูกรชีวก เมื่อใดแล อุบาสกงดเว้นจากปาณาบิบาต ฯลฯ งดเว้นจากการดื่มน้ำเมา คือ สุราและเมรัย อันเป็น ที่ตั้งแห่งความประมาท ด้วยเหตุมีประมาณเท่านี้แล อุบาสก ชื่อว่าเป็นผู้มีศีล ฯ

ช. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็ด้วยเหตุมีประมาณเท่าไร อุบาสกชื่อว่าปฏิบัติเพื่อ ประโยชน์ตน ไม่ปฏิบัติเพื่อประโยชน์ผู้อื่น ฯ

พ. ดูกรชีวก เมื่อใดแล อุบาสกถึงพร้อมด้วยศรัทธาด้วยตนเอง แต่ไม่ชักชวนผู้อื่น ให้ถึงพร้อมด้วยศรัทธา ฯลฯ ตนเองเป็นผู้รู้ทั่วถึงอรรถรู้ทั่วถึงธรรมแล้ว ปฏิบัติธรรม สมควรแก่ธรรม แต่ไม่ชักชวนผู้อื่นในการปฏิบัติธรรม สมควรแก่ธรรม ด้วยเหตุมี ประมาณเท่านี้แล อุบาสกชื่อว่าเป็นผู้ปฏิบัติเพื่อประโยชน์ตน ไม่ปฏิบัติเพื่อประโยชน์ ผู้อื่น ฯ

ช. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็ด้วยเหตุมีประมาณเท่าไร อุบาสกชื่อว่าเป็นผู้ปฏิบัติเพื่อ ประโยชน์ตน และเพื่อประโยชน์ผู้อื่น ฯ

พ. ดูกรชีวก เมื่อใดแล อุบาสกเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศรัทธาด้วยตนเอง และชักชวนผู้อื่น ให้ถึงพร้อมด้วยศรัทธา ๑

ตนเองเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศีล และชักชวนผู้อื่นให้ถึงพร้อมด้วยศีล ๑

ตนเองเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยจาคะ และชักชวน ผู้อื่นให้ถึงพร้อมด้วยจาคะ ๑

ตนเองเป็นผู้ใคร่เพื่อเห็นภิกษุ และชักชวนผู้อื่นในการเห็นภิกษุ ๑

ตนเองเป็นผู้ใคร่เพื่อฟังสัทธรรม และชักชวนผู้อื่นในการฟังสัทธรรม ๑

ตนเองเป็นผู้ทรงจำธรรมที่ตนเองฟังแล้ว และชักชวนผู้อื่นเพื่อการทรงจำธรรม ๑

ตนเองเป็นผู้พิจารณาอรรถแห่งธรรมที่ตนฟังแล้ว และชักชวนผู้อื่นในการ พิจารณา อรรถแห่งธรรม ๑

ตนเองรู้ทั่วถึงอรรถผู้ทั่วถึงธรรมแล้ว ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม และชักชวนผู้อื่น ในการ ปฏิบัติธรรมสมควร แก่ธรรม ๑

ด้วยเหตุมีประมาณเท่านี้แล อุบาสกชื่อว่าเป็นผู้ปฏิบัติ เพื่อประโยชน์ตน และเพื่อ ประโยชน์ ผู้อื่น ฯ

จบสูตรที่ ๖

 
 
พุทธวจน : อ่านคำสอนพระศาสดา อ่านแบบสบายตา โดยคัดลอกหนังสือทั้งเล่มมาจัดทำเป็นเว็บเพจ (คลิกอ่านพร้อมดาวน์โหลดไฟล์ pdf)
90 90 90 90  
 
พุทธประวัติ ขุมทรัพย์
อริยสัจ
ภาคต้น
อริยสัจ
ภาคปลาย
ปฏิจจ ปฐมธรรม ตถาคต อนาคามี อินทรีย์
สังวร
สัตว์
สัตตานัง
ทาน
สกทาคามี
ฆราวาส
ชั้นเลิศ
มรรควิธี
ที่ง่าย
 
   
อริยวินัย เดรัจฉานวิชา กรรม สมถะ
วิปัสสนา
โสดาบัน อานา
ปานสติ
จิต มโน
วิญญาณ
ก้าวย่าง
อย่างพุทธะ
ตามรอย
ธรรม
ภพ ภูมิ
พุทธวจน
สาธยาย
ธรรม
สังโยชน์