- จตุกฺก.อํ.๒๑/๑๐๐/๗๓.
วาจาของสัตตบุรุษ และ อสัตตบุรุษ
๑. วาจาของอสัตบุรุษ
ภิกษุ ท. ! บุคคลประกอบด้วยธรรม ๔ ประการ เป็นที่รู้กันว่าเป็น อสัตบุรุษ.
สี่ประการ อย่างไรเล่า ? สี่ประการ คือ :-
(1) ภิกษุ ท. ! อสัตบุรุษในกรณีนี้
แม้ไม่มีใครถามถึงความไม่ดีของบุคคลอื่น ก็นำมาเปิดเผยให้ปรากฏ ไม่ต้องกล่าวถึงเมื่อถูกใครถาม
ก็เมื่อถูกใครถามถึงความไม่ดีของบุคคลอื่น ก็นำเอาปัญหาไปทำให้ไม่มีทางหลีก เลี้ยวลดหย่อน แล้วกล่าวความไม่ดีของผู้อื่นอย่างเต็มที่โดยพิสดาร.
ภิกษุ ท. ! ข้อนี้พึงรู้กันเถิดว่า คนคนนี้ เป็น อสัตบุรุษ.
(2) ภิกษุ ท. ! อสัตบุรุษอย่างอื่นยังมีอีก คือ
แม้ถูกใครถามอยู่ถึง ความดีของบุคคลอื่น ก็ไม่เปิดเผยให้ปรากฏ ไม่ต้องกล่าวถึงเมื่อไม่ถูกใครถาม
ก็เมื่อถูกใครถามถึงความดีของบุคคลอื่น ก็นำอาปัญหาไปทำให้ลดหย่อน ไขว้เขวแล้ว กล่าวความดีของผู้อื่นอย่างไม่พิสดารเต็มที่.
ภิกษุ ท. ! ข้อนี้พึงรู้กันเถิดว่า คนคนนี้ เป็น อสัตบุรุษ.
(3) ภิกษุ ท. ! อสัตบุรุษอย่างอื่นยังมีอีก คือ
แม้ถูกใครถามถึง ความไม่ดีของตน ก็ปกปิดไม่เปิดเผยให้ปรากฏ ไม่ต้องกล่าวถึงเมื่อไม่ถูกใครถาม
ก็เมื่อถูกใครถามถึงความไม่ดีของตน ก็นำเอาปัญหาไปทำให้ลดหย่อนไขว้เขว แล้วกล่าวความไม่ดีของตนอย่างไม่พิสดารเต็มที่.
ภิกษุ ท. ! ข้อนี้พึงรู้กันเถิดว่า คนคนนี้ เป็น อสัตบุรุษ.
(4) ภิกษุ ท. ! อสัตบุรุษอย่างอื่นยังมีอีก คือ
แม้ไม่มีใครถามถึงความ ดีของตน ก็นำมาโอ้อวดเปิดเผย จะต้องกล่าวทำไมถึงเมื่อถูกใครถาม
ก็เมื่อถูกใครถามถึงความดีของตน ก็นำเอาปัญหาไปทำให้ไม่ลดหย่อนหลีกเลี้ยว กล่าวความดีของตนอย่างเต็มที่โดยพิสดาร.
ภิกษุ ท. ! ข้อนี้พึงรู้กันเถิดว่า คนคนนี้ เป็น อสัตบุรุษ.
ภิกษุ ท. ! บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการเหล่านี้ แล เป็นที่ รู้กันว่าเป็นอสัตบุรุษ.
......................................................................................
๒. วาจาของสัตบุรุษ
ภิกษุ ท. ! บุคคลประกอบด้วยธรรม ๔ ประการ เป็นที่รู้กันว่าเป็น สัตบุรุษ. สี่ประการ อย่างไรเล่า ? สี่ประการ คือ :-
(1) ภิกษุ ท. ! สัตบุรุษในกรณีนี้
แม้มีใครถามถึง ความไม่ดีของบุคคลอื่น ก็ไม่เปิดเผยให้ปรากฏ จะกล่าวทำไมถึงเมื่อไม่ถูกใครถาม
ก็เมื่อถูก ใครถามถึงความไม่ดีของบุคคลอื่น ก็นำเอาปัญหาไปทำให้หลีกเลี้ยว ลดหย่อนลง กล่าวความไม่ดีของผู้อื่นอย่างไม่พิสดารเต็มที่.
ภิกษุ ท. ! ข้อนี้พึงรู้กันเถิดว่า คนคนนี้ เป็น สัตบุรุษ.
(2)ภิกษุ ท. ! สัตบุรุษอย่างอื่นยังมีอีก คือ
แม้ไม่ถูกใครถามถึง ความดีของบุคคลอื่น ก็ยังนำมาเปิดเผยให้ปรากฏ จะต้องกล่าวทำไมถึงเมื่อถูกใครถาม
ก็เมื่อถูกใครถามถึงความดีของบุคคลอื่น ก็นำเอาปัญหาไปทำให้ไม่หลีกเลี้ยว ลดหย่อน กล่าวความดีของผู้อื่นโดยพิสดารบริบูรณ์.
ภิกษุ ท. ! ข้อนี้พึงรู้กันเถิดว่า คนคนนี้ เป็น สัตบุรุษ.
(3) ภิกษุ ท. ! สัตบุรุษอย่างอื่นยังมีอีก คือ
แม้ไม่มีใครถามถึงความไม่ ดีของตน ก็ยังนำเปิดเผยทำให้ปรากฏทำไมจะต้อง กล่าวถึงเมื่อถูกถามเล่า
ก็เมื่อถูกใครถามถึงความไม่ดีของตน ก็ไม่นำเอาปัญหาไปทำให้ลดหย่อนบิดพลิ้ว แต่กล่าวความไม่ดีของตนอย่างโดยพิสดารเต็มที่.
ภิกษุ ท. ! ข้อนี้พึงรู้กันเถิดว่า คนคนนี้ เป็น สัตบุรุษ.
(4) ภิกษุ ท. ! สัตบุรุษอย่างอื่นยังมีอีก คือ
แม้มีใครถามถึงความดีของตน ก็ไม่เปิดเผยให้ปรากฏ ทำไมจะต้องกล่าวถึง เมื่อไม่ถูกใครถามเล่า
ก็เมื่อถูกใครถามถึงความดีของตน ก็นำเอาปัญหาไปกระทำให้ลดหย่อนหลีก เลี้ยวเสีย กล่าวความดีของตนโดยไม่พิสดารเต็มที่.
ภิกษุ ท. ! ข้อนี้พึงรู้กันเถิดว่า คนคนนี้ เป็น สัตบุรุษ.
ภิกษุ ท. ! บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการเหล่านี้ แล เป็นที่รู้กันว่าเป็นสัตบุรุษ.
......................................................................................
๓. วาจาของสะใภ้ใหม่-สะใภ้เก่า
ภิกษุ ท. ! เปรียบเหมือนหญิงสะใภ้ใหม่ อันเขาเพิ่งนำมาชั่วคืนชั่ววัน ตลอดเวลา เท่านั้น ก็ยังมีความละอาย และความกลัวที่ดำรงไว้ได้อย่างเข้มแข็ง ในแม่ผัวบ้าง ในพ่อผัวบ้าง ในสามีบ้าง แม้ที่สุดแต่ในทาสกรรมกรคนใช้.
ครั้นล่วงไปโดยสมัยอื่น เพราะอาศัยความคุ้นเคยกัน หญิงสะใภ้นั้น ก็ตวาดแม่ผัวบ้าง พ่อผัวบ้าง แม้แต่กะสามี ว่า ‘หลีกไป ๆพวกแกจะรู้อะไร’ ดังนี้ นี้ฉันใด
ภิกษุ ท. ! ข้อนี้ก็ฉันนั้น : ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ ออกบวชจากเรือน เป็นผู้ไม่มีเรือน ได้ชั่วคืนชั่ววัน ตลอดเวลาเพียงเท่านั้น หิริและโอตตัปปะของเธอนั้น ยังดำรงอยู่ อย่างเข้มแข็ง ในภิกษุ ในภิกษุณี ในอุบาสก ในอุบาสิกา แม้ที่สุดแต่ในคนวัด และสามเณร.
ครั้นล่วงไปโดยสมัยอื่น เพราะอาศัยความคุ้นเคยกัน เธอก็กล่าว ตวาดอาจารย์บ้าง อุปัชฌาย์บ้าง ว่า ‘หลีกไปๆ พวกท่านจะรู้อะไร’ ดังนี้.
ภิกษุ ท. ! เพราะเหตุนั้น ในเรื่องนี้ เธอทั้งหลายพึงทำการศึกษาสำเหนียก อย่างนี้ว่า “เราจักอยู่อย่างมีจิตเสมอกันกับหญิงสะใภ้ใหม่ผู้มาแล้วไม่นาน” ดังนี้.
ภิกษุ ท. ! พวกเธอทั้งหลาย พึงทำการศึกษาสำเหนียกอย่างนี้ แล.
|