พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๖สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๑๔๗ – ๑๖๒
๒. สนิทานสูตร
(กาม พยาบาท เบียดเบียน : เนกขัมมะ อัพพยาปาท อวิหิงสา )
[๓๕๕] พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของท่านอนาถ บิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลาย ... แล้วได้ตรัสว่า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย
กามวิตก ย่อมมีเหตุบังเกิดขึ้น มิใช่ไม่มีเหตุบังเกิดขึ้น
พยาบาทวิตก ย่อมมีเหตุบังเกิดขึ้น มิใช่ไม่มีเหตุบังเกิดขึ้น
วิหิงสาวิตก(เบียดเบียน) ย่อมมีเหตุบังเกิดขึ้น มิใช่ไม่มีเหตุบังเกิดขึ้น ฯ
[๓๕๖] ก็กามวิตก ย่อมมีเหตุบังเกิดขึ้น มิใช่ไม่มีเหตุบังเกิดขึ้น
พยาบาทวิตก ย่อมมีเหตุบังเกิดขึ้น มิใช่ไม่มีเหตุบังเกิดขึ้น
วิหิงสาวิตก ย่อมมีเหตุบังเกิดขึ้น มิใช่ไม่มีเหตุบังเกิดขึ้นอย่างไร
ดูกรภิกษุทั้งหลาย
ความหมายรู้ใน กาม บังเกิดขึ้น เพราะอาศัยกามธาตุ
ความดำริใน กาม บังเกิดขึ้น เพราะอาศัยความหมายรู้ในกาม
ความพอใจใน กาม บังเกิดขึ้น เพราะอาศัยความดำริในกาม
ความเร่าร้อนเพราะ กาม บังเกิดขึ้น เพราะอาศัยความพอใจในกาม
การแสวงหา กาม บังเกิดขึ้น เพราะอาศัยความเร่าร้อนเพราะกาม
ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ
เมื่อ แสวงหากาม ย่อมปฏิบัติผิด
โดยฐานะ ๓ คือ กาย วาจา ใจ
ความหมายรู้ใน พยาบาท บังเกิดขึ้น เพราะพยาปาทธาตุ
ความดำริใน พยาบาท บังเกิดขึ้น เพราะอาศัยความหมายรู้ในพยาบาท
ความพอใจใน พยาบาทบังเกิดขึ้น เพราะอาศัยความดำริในพยาบาท
ความเร่าร้อนเพราะ พยาบาท บังเกิดขึ้น เพราะอาศัยความพอใจในพยาบาท
การแสวงหา พยาบาท บังเกิดขึ้น เพราะอาศัยความเร่าร้อนเพราะพยาบาท
ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ เมื่อ แสวงหาพยาบาท ย่อมปฏิบัติผิด
โดยฐานะ ๓ คือ กาย วาจา ใจ
ความหมายรู้ใน วิหิงสา บังเกิดขึ้น เพราะอาศัยวิหิงสาธาตุ
ความดำริใน วิหิงสา บังเกิดขึ้น เพราะอาศัยความหมายรู้ในวิหิงสา
ความพอใจใน วิหิงสา บังเกิดขึ้น เพราะอาศัยความดำริในวิหิงสา
ความเร่าร้อนเพราะ วิหิงสา บังเกิดขึ้น เพราะอาศัยความพอใจในวิหิงสา
การแสวงหา วิหิงสา บังเกิดขึ้น เพราะอาศัยความเร่าร้อนเพราะวิหิงสา ดูกรภิกษุทั้งหลาย
ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ เมื่อ แสวงหาวิหิงสา ย่อมปฏิบัติผิดโดยฐานะ ๓ คือ กาย วาจา ใจ ฯ
[๓๕๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุรุษวางคบหญ้าที่ไฟติดแล้วในป่าหญ้าแห้ง ถ้าหากเขาไม่รีบดับด้วยมือ และเท้าไซร้ ก็เมื่อเป็นเช่นนี้ สัตว์มีชีวิตทั้งหลาย บรรดาที่อาศัยหญ้าและไม้อยู่ พึงถึงความพินาศฉิบหาย แม้ฉันใด
ดูกรภิกษุทั้งหลายสมณะ หรือพราหมณ์คนใดคนหนึ่ง ก็ฉันนั้นเหมือนกัน
ไม่รีบละ ไม่รีบบรรเทาไม่รีบทำให้สิ้นสุด ไม่รีบทำให้ไม่มีซึ่งอกุศลสัญญา
ที่ก่อกวนอันบังเกิดขึ้นแล้ว
สมณะหรือพราหมณ์นั้น ย่อมอยู่เป็นทุกข์ มีความ อึดอัด คับแค้น เร่าร้อนในปัจจุบัน เบื้องหน้าแต่มรณะ เพราะกายแตก พึงหวังทุคติได้
..............................................................................................................................
[๓๕๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เนกขัมมวิตกย่อมมีเหตุบังเกิดขึ้น มิใช่ไม่มีเหตุบังเกิดขึ้น อัพยาปาทวิตกย่อมมีเหตุบังเกิดขึ้น มิใช่ไม่มีเหตุบังเกิดขึ้น อวิหิงสาวิตก ย่อมมีเหตุบังเกิดขึ้นมิใช่ไม่มีเหตุบังเกิดขึ้น ฯ
[๓๕๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย
ก็เนกขัมมวิตกย่อมมีเหตุบังเกิดขึ้น มิใช่ไม่มีเหตุบังเกิดขึ้น
อัพยาปาทวิตก ย่อมมีเหตุบังเกิดขึ้น มิใช่ไม่มีเหตุบังเกิดขึ้น
อวิหิงสาวิตก ย่อมมีเหตุบังเกิดขึ้น มิใช่ไม่มีเหตุบังเกิดขึ้น อย่างไร
ภิกษุทั้งหลาย
ความหมายรู้ใน เนกขัมมะบังเกิดขึ้น เพราะอาศัยเนกขัมมธาตุ
ความดำริใน เนกขัมมะ บังเกิดขึ้น เพราะอาศัยความหมายรู้ในเนกขัมมะ
ความพอใจใน เนกขัมมะ บังเกิดขึ้น เพราะอาศัยความดำริในเนกขัมมะ
ความเร่าร้อนเพราะ เนกขัมมะ บังเกิดขึ้น เพราะอาศัยความพอใจในเนกขัมมะ
การแสวงหาใน เนกขัมมะ บังเกิดขึ้น เพราะอาศัยความเร่าร้อนเพราะเนกขัมมะ
อริยสาวกผู้ได้สดับ เมื่อแสวงหาเนกขัมมะ ย่อมปฏิบัติชอบโดยฐานะ ๓ คือกาย วาจา ใจ
ความหมายรู้ใน อัพยาบาท บังเกิดขึ้น เพราะอาศัยอัพยาปาทธาตุ
ความดำริ ในอัพยาบาท บังเกิดขึ้น เพราะอาศัยความหมายรู้ในอัพยาบาท
ความพอใจ ในอัพยาบาท บังเกิดขึ้น เพราะอาศัยความดำริในอัพยาบาท
ความเร่าร้อน เพราะอัพยาบาท บังเกิดขึ้น เพราะอาศัยความพอใจในอัพยาบาท
การแสวงหา ในอัพยาบาท บังเกิดขึ้น เพราะอาศัยความเร่าร้อนเพราะอัพยาบาท
อริยสาวกผู้ได้สดับ เมื่อแสวงหาอัพยาบาท ย่อมปฏิบัติชอบโดยฐานะ ๓ คือ กาย วาจา ใจ
ความหมายรู้ใน อวิหิงสา บังเกิดขึ้น เพราะอาศัยอวิหิงสาธาตุ
ความดำริใน อวิหิงสา เกิดขึ้น เพราะอาศัยความหมายรู้ในอวิหิงสา
ความพอใจใน อวิหิงสา บังเกิดขึ้น เพราะอาศัยความดำริในอวิหิงสา
ความเร่าร้อนเพราะ อวิหิงสา บังเกิดขึ้น เพราะอาศัยความพอใจในอวิหิงสา
การแสวงหาใน อวิหิงสา บังเกิดขึ้น เพราะอาศัยความเร่าร้อนเพราะอวิหิงสา
ดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้ได้สดับ เมื่อแสวงหาอวิหิงสา ย่อมปฏิบัติชอบ โดยฐานะ ๓ คือ กาย วาจา ใจ ฯ
[๓๖๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุรุษพึงวางคบหญ้าที่ไฟติดแล้วในป่าหญ้าแห้ง เขาจึงรีบดับคบนั้นเสียด้วยมือ และเท้า ก็เมื่อเป็นเช่นนี้สัตว์ มีชีวิตทั้งหลาย บรรดาที่อาศัยหญ้า และไม้อยู่ไม่พึงถึงความพินาศฉิบหาย แม้ฉันใด
ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมณะหรือพราหมณ์คนใดคนหนึ่ง ก็ฉันนั้นเหมือนกัน รีบละ รีบบรรเทา รีบทำให้หมด รีบทำให้ไม่มีซึ่งอกุศลสัญญา ที่ก่อกวนอัน บังเกิดขึ้นแล้ว เขาย่อมอยู่เป็นสุข ไม่มีความอึดอัด ความคับแค้น ความเร่าร้อน ในปัจจุบันเบื้องหน้า แต่มรณะ เพราะกายแตก พึงหวังสุคติได้
|