เว็บไซต์ อนาคามี เผยแพร่คำพระศาสดา เผยแพร่คำสอนตถาคต เว็บไซต์เผยแพร่พระสุตรคำสอนของพระพุทธเจ้า คลิปคำสอน คลิปสาธยายธรรม
 
ค้นหาคำที่ต้องการ          

 
 พราหมณ์โสณทัณฑะ โต้วาทะกับพระผู้มีพระภาค เรื่องคุณสมบัติวรรณะพราหมณ์ 656
 
(เนื้อหาพอสังเขป)

พราหมณ์บัญญัติ

พราหมณ์โสณทัณฑะ แสดงสิ่งที่เป็นคุณสมบัติของพราหมณ์ว่ามี 5 ประการ
๑. ต้องเป็น อุภโตสุชาต(โคตร)ทั้งฝ่ายมารดา-บิดา มีครรภ์เป็นที่ถือปฏิสนธิ ตลอด ๗ ชั่วบรรพบุรุษ
๒. เป็นผู้เล่าเรียน ทรงจำมนต์ จบไตรเพท..ชำนาญในคัมภีร์โลกายตะ และมหาปุริสลักษณะ(ดูลักษณะ)
๓. เป็นผู้มีรูปงาม น่าเลื่อมใสผิวพรรณผุดผ่องคล้ายพรหม มีรูปร่างคล้ายพรหม
๔. เป็นผู้มีศีล มีศีลยั่งยืน ประกอบด้วยศีลยั่งยืน.
๕. เป็นบัณฑิต มีปัญญาเป็นที่ ๑ หรือที่ ๒ ของพวกปฏิคาหกผู้รับบูชา ด้วยกัน

พระผู้มีพระภาคตรัสกับคุณสมบัติของ พราหมณ์นี้ ว่าตัดออกสัก1 ข้อได้หรือไม่
พราหมณ์ ตอบว่าได้ (ตัดข้อ 3 เป็นผู้มีรูปงาม)
ทำให้คุณสมบัติของความเป็นพราหมณ์เหลือ 4 ข้อ คือข้อ 1 2 4 5

จากนั้นพระผู้มีพระภาคตรัสถามต่อไปว่า ตัดอีกสัก 1 ข้อได้หรือไม่
พราหมณ์ ตอบว่าได้ (ตัดข้อ 2 เป็นผู้เล่าเรียน ทรงจำมนต์)
ทำให้คุณสมบัติของความเป็นพราหมณ์เหลือ 3 ข้อ คือข้อ 1 4 5

จากนั้นพระผู้มีพระภาคตรัสถามต่อไปว่า ตัดอีกสัก 1 ข้อได้หรือไม่
พราหมณ์ ตอบว่าได้ (ตัดข้อ 1 คือต้องเป็น อุภโตสุชาต หรือ ต้องโคตรเท่านั้น)
ทำให้คุณสมบัติของความเป็นพราหมณ์เหลือ 2 ข้อ คือข้อ 4 5

มาถึงตอนนี้เหล่าพราหมณ์ที่นั่งฟังต่างไม่พอใจ หาว่าพราหมณ์โสณทัณฑะ ลบหลู่วรรณะด้วยกัน พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ก็พวกท่านมอบให้ พราหมณ์โสณทัณฑะ เป็นตัวแทนเพื่อตอบโต้กับตถาคต ทั้งยังกล่าวว่า เป็นผู้มีปัญญา เป็นพหูสูต ดังนั้นพวกท่านจงหยุดเสีย

เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว พราหมณ์โสณทัณฑะกราบทูลว่า ขอพระโคดมทรงหยุดเถิด ขอพระองค์ทรงนิ่งเสียเถิด... จากนั้นพราหมณ์โสณทัณฑะ ได้อธิบายถึงเหตุผลว่าทำไมจึงยอมตัด บางข้อออกไป โดยยกตัวอย่างหลานของตนที่ไม่ได้เพียบพร้อมเสียทุกข้อ มาเป็นข้ออธิบาย แต่ก็ต้องยอมรับว่าเป็นพราหมณ์ เพราะเป็นชาติตระกูลของพราหมณ์ ตามกฎข้อที่ 1

เมื่อโสณทัณฑะได้ทำความเข้าใจในหมู่พราหมณ์กันดีแล้ว พระผู้มีพระภาคจึงตรัสถามต่อว่าใน 2 ข้อนี้ เอาออกเสียข้อหนึ่ง แล้วบัญญัติความเป็นพราหมณ์ เหลือเพียง 1 ข้อได้หรือไม่ พราหมณ์โสณทัณฑะ ปฏิเสธ บอกข้อนี้ไม่ได้ เพราะว่า ปัญญาอันศีลชำระให้บริสุทธิ์ และศีลอันปัญญาชำระให้บริสุทธิ์ ศีลมีในบุคคลใด ปัญญาก็มีในบุคคลนั้น

พระผู้มีพระภาค ถามต่อว่า ศีลนั้นเป็นไฉน ปัญญานั้นเป็นไฉน โสณทัณฑะตอบไม่ได้ จึงกล่าวว่า พวกข้าพระองค์มีความรู้เท่านี้เอง

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ถ้าอย่างนั้นท่านจงฟัง จงตั้งใจให้ดี เราจักกล่าว
พระตถาคตเสด็จอุบัติในโลกนี้ เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้เองโดยชอบ ถึงพร้อมด้วยวิชชา และจรณะ เป็น ศาสดาของเทวดา และมนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้เบิกบานแล้ว เป็นผู้จำแนกพระธรรม เป็นผู้ทำโลกนี้ พร้อมทั้ง เทวโลก มารโลก พรหมโลก ให้แจ้งชัดด้วยพระปัญญาอันยิ่ง ทรงแสดงธรรมงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลางงาม ในที่สุด ทรงประกาศพรหมจรรย์ พร้อมทั้งอรรถ พร้อมทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์ บริบูรณ์ สิ้นเชิง ……

 
 


พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๙ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๑๒๓

พราหมณ์โสณทัณฑะเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค


          [๑๘๔] ลำดับนั้น พราหมณ์โสณทัณฑะ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถึงที่ ประทับ ได้ปราศรัยกับพระผู้มีพระภาค ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ฝ่ายพราหมณ์ และคฤหบดีชาว นครจัมปา บางพวก ก็ถวายอภิวาท บางพวกก็ปราศรัย บางพวกก็ประนมอัญชลีไปทางพระผู้มีพระภาค บางพวกก็ประกาศ ชื่อ และโคตร บางพวกก็นิ่งอยู่ แล้วต่างก็นั่ง ณ ที่ควรส่วน ข้างหนึ่งๆ ได้ยินว่า

          ในขณะนั้น พราหมณ์โสณทัณฑะ นั่งครุ่นคิดถึงแต่เรื่องนั้นว่า

          ถ้าเราจะพึงถามปัญหากะพระสมณโคดม หากพระองค์จะพึงตรัสกะเราอย่างนี้ว่า พราหมณ์ปัญหาข้อนี้ท่านไม่ควรถามอย่างนั้น ที่ถูกควรจะถามอย่างนี้ ดังนี้ บริษัทนี้ จะพึงดูหมิ่นเราได้ด้วยเหตุนั้นว่า พราหมณ์โสณทัณฑะเป็นคนเขลา ไม่ฉลาด ไม่อาจ ถามปัญหาโดยแยบคายกะ พระสมณโคดมได้ ผู้ที่ถูกบริษัทดูหมิ่นพึงเสื่อมยศ ผู้เสื่อมยศ ก็พึงเสื่อมโภคสมบัติ เพราะได้ยศเราจึงมีโภคสมบัติ

          ถ้าพระสมณโคดมจะพึงตรัสถามปัญหาเรา ถ้าเราแก้ไม่ถูกพระทัย ถ้าพระองค์จะพึง ตรัสกะเราอย่างนี้ว่า พราหมณ์ ปัญหาข้อนี้ท่านไม่ควรแก้อย่างนั้น ที่ถูกควรจะแก้ อย่างนี้ ดังนี้ บริษัทนี้จะพึงดูหมิ่นเราได้ด้วยเหตุนั้นว่า พราหมณ์โสณทัณฑะ เป็นคน เขลา ไม่ฉลาดไม่อาจแก้ปัญหาให้ถูกพระทัยพระสมณโคดมได้ ผู้ที่ถูกบริษัทดูหมิ่น พึงเสื่อมยศ ผู้เสื่อมยศก็พึงเสื่อมโภคสมบัติ เพราะได้ยศเราจึงมีโภคสมบัติ

          ถ้ากระไร ขอพระสมณโคดมพึงตรัสถามปัญหาเรา ในเรื่องไตรวิชาอันเป็นของ อาจารย์ เรา เราจะพึงแก้ให้ถูกพระทัยของพระองค์ได้เป็นแน่.

          [๑๘๕] ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบความคิดในใจ ของ พราหมณ์ โสณทัณฑะด้วยพระหฤทัย แล้วทรงดำริว่า พราหมณ์โสณทัณฑะนี้ ลำบากใจตัวเองอยู่ ถ้ากระไรเราพึงถามปัญหาเขาในเรื่องไตรวิชา อันเป็นของ อาจารย์เขา ต่อแต่นั้นจึงได้ ตรัสถามพราหมณ์โสณทัณฑะว่า

          ดูกรพราหมณ์ บุคคลผู้ประกอบด้วยองค์เท่าไร พวกพราหมณ์จึงบัญญัติว่าเป็น พราหมณ์ และเมื่อเขาจะกล่าวว่าเราเป็นพราหมณ์ ก็พึงกล่าวได้โดยชอบ ทั้งไม่ต้อง ถึงมุสาวาทด้วย

          พราหมณ์โสณทัณฑะดำริว่า เราได้ประสงค์จำนงหมายปรารถนาไว้แล้วว่า ถ้ากระไร ขอพระสมณโคดมพึงตรัสถามปัญหาเรา ในเรื่องไตรวิชาอันเป็นของ อาจารย์เรา เราจะพึงแก้ให้ถูกพระทัยของพระองค์ได้เป็นแน่นั้น เผอิญพระองค์ ก็ตรัสถามปัญหาเรา ในเรื่องไตรวิชาอันเป็นของอาจารย์เรา เราจักแก้ปัญหา ให้ถูกพระทัยได้เป็นแน่ทีเดียว.


พราหมณ์บัญญัติ

          [๑๘๖] ลำดับนั้น พราหมณ์โสณทัณฑะ จึงเผยอกายขึ้น เหลียวดูบริษัท แล้ว กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ บุคคลประกอบด้วยองค์ ๕ ประการ พวกพราหมณ์ย่อมบัญญัติว่าเป็นพราหมณ์ และเมื่อเขาจะกล่าวว่า เราเป็น พราหมณ์ ก็พึงกล่าวได้โดยชอบทั้งไม่ต้องถึงมุสาวาทด้วย ๕ ประการเป็นไฉน? ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ บุคคลผู้เป็นพราหมณ์ในโลกนี้
          ๑. เป็นอุภโตสุชาต(โคตร-ชาติตระกูล) ทั้งฝ่ายมารดาและบิดา มีครรภ์เป็น ที่ถือปฏิสนธิ หมดจดดี ตลอด๗ ชั่วบรรพบุรุษ ไม่มีใครจะคัดค้านติเตียนได้ด้วย อ้าง ถึงชาติ.
          ๒. เป็นผู้เล่าเรียน ทรงจำมนต์ รู้จบไตรเพท พร้อมทั้งคัมภีร์นิฆัณฑุ คัมภีร์เกตุภะ พร้อมทั้งประเภทอักษรมีคัมภีร์อิติหาสเป็นที่ ๕ เป็นผู้เข้าใจตัวบท เป็นผู้ เข้าใจไวยากรณ์ ชำนาญในคัมภีร์โลกายตะ และมหาปุริสลักษณะ.
          ๓. เป็นผู้มีรูปงาม น่าดูน่าเลื่อมใส กอปรด้วยผิวพรรณผุดผ่องยิ่งนัก มีพรรณ คล้ายพรหม มีรูปร่างคล้ายพรหม น่าดูน่าชมไม่น้อย.
          ๔. เป็นผู้มีศีล มีศีลยั่งยืน ประกอบด้วยศีลยั่งยืน.
          ๕. เป็นบัณฑิต มีปัญญาเป็นที่ ๑ หรือที่ ๒ ของพวกปฏิคาหกผู้รับบูชา ด้วยกัน

          ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ บุคคลประกอบด้วยองค์ ๕ เหล่านี้แล พวกพราหมณ์ ย่อมบัญญัติว่าเป็นพราหมณ์ และเมื่อเขาจะกล่าวว่า เราเป็นพราหมณ์ ก็พึงกล่าวได้ โดยชอบ ทั้งไม่ต้องถึงมุสาวาทด้วย.

          [๑๘๗] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรพราหมณ์ บรรดาองค์ทั้ง ๕ เหล่านี้ ยกเสียองค์หนึ่งแล้ว บุคคลประกอบด้วยองค์เพียง ๔ อาจจะบัญญัติว่าเป็น พราหมณ์ ได้หรือไม่ และเมื่อเขาจะกล่าวว่า เราเป็นพราหมณ์ ก็พึงกล่าวได้โดยชอบ ทั้งไม่ต้อง ถึงมุสาวาทด้วย?

พราหมณ์โสณทัณฑะทูลว่า ได้ พระโคดมผู้เจริญ บรรดาองค์ทั้ง ๕ เหล่านี้ ยก วรรณะเสียก็ได้ เพราะวรรณะจักทำอะไรได้ ด้วยเหตุว่าบุคคลผู้เป็นพราหมณ์
          ๑. เป็นอุภโตสุชาต ทั้งฝ่ายมารดาและบิดา มีครรภ์เป็นที่ถือปฏิสนธิ หมดจดดี ตลอด๗ ชั่วบรรพบุรุษ ไม่มีใครจะคัดค้านติเตียนได้ด้วยอ้างถึงชาติ.
          ๒. เป็นผู้เล่าเรียน ทรงจำมนต์ รู้จบไตรเพท พร้อมทั้ง คัมภีร์นิฆัณฑุ คัมภีร์เกตุภะ พร้อมทั้งประเภทอักษร มีคัมภีร์อิติหาสเป็นที่ ๕ เป็นผู้เข้าใจตัวบท เป็นผู้เข้าใจไวยากรณ์ ชำนาญในคัมภีร์ โลกายตะ และมหาปุริสลักษณะ.
          ๓. เป็นผู้มีศีล มีศีลยั่งยืน ประกอบด้วยศีลยั่งยืน.
          ๔. เป็นบัณฑิต มีปัญญาเป็นที่ ๑ หรือที่ ๒ ของพวกปฏิคาหก ผู้รับบูชา ด้วยกัน.

          ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ บุคคลประกอบด้วยองค์ ๔ เหล่านี้แล พวกพราหมณ์ ย่อมบัญญัติว่าเป็นพราหมณ์ และเมื่อเขาจะกล่าวว่า เป็นพราหมณ์ ก็พึงกล่าวได้โดย ชอบ ทั้งไม่ต้องมุสาวาทด้วย.

          [๑๘๘] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรพราหมณ์ บรรดาองค์ ๔ เหล่านี้ ยกเสีย องค์หนึ่งแล้ว บุคคลประกอบด้วยองค์เพียง ๓ อาจบัญญัติว่าเป็นพราหมณ์ได้หรือไม่ และเมื่อเขาจะกล่าวว่า เราเป็นพราหมณ์ ก็พึงกล่าวได้โดยชอบ ทั้งไม่ต้องถึงมุสาวาท ด้วย?

พราหมณ์โสณทัณฑะทูลว่า ได้ พระโคดมผู้เจริญ บรรดาองค์ ๔ เหล่านี้ จะยก มนต์เสียก็ได้ เพราะมนต์จักทำอะไรได้ด้วยเหตุว่า บุคคลผู้เป็นพราหมณ์.
          ๑. เป็นอุภโตสุชาต ทั้งฝ่ายมารดาและบิดา มีครรภ์เป็นที่ถือปฏิสนธิหมดจดดี ตลอด๗ ชั่วบรรพบุรุษ ไม่มีใครจะคัดค้านติเตียนได้ด้วยอ้างถึงชาติ.
          ๒. เป็นผู้มีศีล มีศีลยั่งยืน ประกอบด้วยศีลยั่งยืน.
          ๓. เป็นบัณฑิตมีปัญญา เป็นที่ ๑ หรือที่ ๒ ของพวกปฏิคาหกผู้รับบูชาด้วยกัน

          ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ บุคคลผู้ประกอบด้วยองค์ ๓ เหล่านี้แล พวกพราหมณ์ ย่อมบัญญัติว่าเป็นพราหมณ์ และเมื่อเขาจะกล่าวว่า เราเป็นพราหมณ์ ก็พึงกล่าวได้ โดยชอบทั้งไม่ต้องถึงมุสาวาทด้วย.

          [๑๘๙] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรพราหมณ์ บรรดาองค์ ๓ เหล่านี้ ยกเสีย องค์หนึ่งแล้ว บุคคลประกอบด้วยองค์เพียง ๒ อาจจะบัญญัติว่าเป็นพราหมณ์ ได้หรือ ไม่ และเมื่อเขาจะกล่าวว่าเราเป็นพราหมณ์ ก็พึงกล่าวได้โดยชอบ ทั้งไม่ต้อง ถึง มุสาวาทด้วย?

พราหมณ์โสณทัณฑะทูลว่า ได้ พระโคดมผู้เจริญ บรรดาองค์ ๓ เหล่านี้ ยกชาติ เสียก็ได้ เพราะชาติจักทำอะไรได้ด้วยเหตุว่าบุคคลผู้เป็นพราหมณ์.
          ๑. เป็นผู้มีศีล มีศีลยั่งยืน ประกอบด้วยศีลยั่งยืน.
          ๒. เป็นบัณฑิต มีปัญญา เป็นที่ ๑ หรือที่ ๒ ของพวกปฏิคาหกผู้รับบูชาด้วย กัน.

          ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ บุคคลประกอบด้วยองค์ ๒ เหล่านี้แล พวกพราหมณ์ ย่อมบัญญัติว่าเป็นพราหมณ์ และเมื่อเขาจะกล่าวว่า เราเป็นพราหมณ์ก็พึงกล่าว ได้ โดยชอบ ทั้งไม่ต้องถึงมุสาวาทด้วย.

          [๑๙๐] เมื่อพราหมณ์โสณทัณฑะทูลอย่างนี้แล้ว พราหมณ์เหล่านั้นได้กล่าว ว่า ท่านโสณทัณฑะอย่าได้กล่าวอย่างนั้นเลย ท่านโสณทัณฑะอย่าได้กล่าวอย่างนั้น เลย ท่านโสณทัณฑะกล่าวลบหลู่วรรณะ กล่าวลบหลู่มนต์ กล่าวลบหลู่ชาติ กล่าว คล้อยตามวาทะของพระสมณโคดมถ่ายเดียวเท่านั้น.

          ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกะพราหมณ์เหล่านั้นว่า ถ้าพวกท่านคิด อย่างนี้ว่า พราหมณ์โสณทัณฑะอ่อนการศึกษา พูดไม่ดี มีปัญญาทราม และไม่ สามารถจะโต้ตอบ กับพระสมณโคดมในเรื่องนี้ได้ พราหมณ์โสณทัณฑะก็จงหยุดเสีย พวกท่านจงพูด กับเราเถิด แต่ถ้าพวกท่านคิดอย่างนี้ว่า พราหมณ์โสณทัณฑะ เป็นผู้พหูสูต พูดดีเป็น บัณฑิต และสามารถจะโต้ตอบกับพระสมณโคดมในเรื่องนี้ได้ พวกท่านจงหยุดเสีย พราหมณ์โสณทัณฑะจงโต้ตอบกับเรา.

          [๑๙๑] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว พราหมณ์โสณทัณฑะได้ กราบทูลว่า ขอพระโคดมผู้เจริญทรงหยุดเถิด ขอพระโคดมผู้เจริญทรงนิ่ง เสียเถิด ข้าพระองค์เองจักโต้ตอบเขาโดยชอบแก่เหตุ แล้ว จึงกล่าวกะพราหมณ์ พวกนั้นว่า ท่านทั้งหลาย อย่าได้กล่าวอย่างนี้ๆ ว่าท่านพราหมณ์โสณทัณฑะ กล่าว ลบหลู่วรรณะ กล่าวลบหลู่มนต์ กล่าวลบหลู่ชาติ กล่าวคล้อยตามวาทะของพระสมณ โคดมถ่ายเดียวอย่างนี้เลย ท่านทั้งหลาย ข้าพเจ้าไม่ได้กล่าวลบหลู่วรรณะ หรือมนต์ หรือชาติเลย.

ว่าด้วยคุณของมาณพอังคกะ

          [๑๙๒] สมัยนั้น อังคกะมาณพ หลานของพราหมณ์โสณทัณฑะ นั่งอยู่ใน บริษัทนั้นด้วยพราหมณ์โสณทัณฑะได้กล่าวกะพราหมณ์พวกนั้นว่า

ท่านทั้งหลาย นี้อังคกะมาณพหลานของข้าพเจ้า พวกท่านเห็นหรือไม่ พราหมณ์ เหล่านั้นตอบว่า เห็นแล้วท่าน พราหมณ์โสณทัณฑะกล่าวต่อไปว่า อังคกะมาณพเป็น คนมีรูปงาม น่าดูน่าเลื่อมใส กอปรด้วยผิวพรรณผุดผ่องยิ่งนักมีพรรณคล้ายพรหม มีรูปร่างคล้ายพรหม น่าดูน่าชมไม่น้อย ในบริษัทนี้ยกพระสมณโคดมเสีย ไม่มีใครมี วรรณเสมอ อังคกะมาณพเลย

          อังคกะมาณพเป็นผู้เล่าเรียน ทรงจำมนต์ รู้จบไตรเพท พร้อมทั้ง คัมภีร์นิฆัณฑุ คัมภีร์เกตุภะ พร้อมทั้งประเภทอักษร มีคัมภีร์อิติหาสเป็นที่ ๕ เป็นผู้เข้าใจตัวบท เป็นผู้เข้าใจไวยากรณ์ ชำนาญในคัมภีร์โลกายตะ และมหาปุริสลักษณะ

          ข้าพเจ้าเป็นผู้บอกมนต์แก่เธอ เธอเป็นอุภโตสุชาต ทั้งฝ่ายมารดาบิดา มีครรภ์เป็นที่ถือ ปฏิสนธิหมดจดดีตลอด ๗ ชั่วบรรพบุรุษ ไม่มีใครจะคัดค้านติเตียนได้ ด้วยอ้างถึงชาติ ข้าพเจ้ารู้จักมารดาบิดาของเธอ ถึงอังคกะมาณพจะพึงฆ่าสัตว์บ้าง จะพึงถือเอาสิ่งของ ที่เจ้าของเขาไม่ได้ให้บ้าง จะพึงคบหาภริยาของบุคคลอื่นบ้าง จะพึงกล่าวเท็จบ้าง จะพึงดื่มน้ำเมาบ้าง ในเวลานี้ ในฐานะเช่นนี้วรรณะจักทำอะไรได้ มนต์จักทำอะไรได้ และชาติจักทำอะไรได้

          ด้วยเหตุว่าบุคคลผู้เป็นพราหมณ์เป็นผู้มีศีล มีศีลยั่งยืน ประกอบด้วยศีลยั่งยืน และเป็น บัณฑิต มีปัญญา เป็นที่ ๑ หรือที่ ๒ ของปฏิคาหก ผู้รับบูชาด้วยกัน บุคคลผู้ประกอบ ด้วยองค์ ๒ เหล่านี้แล พวกพราหมณ์จะบัญญัติว่า เป็นพราหมณ์ก็ได้ และเมื่อเขาจะ กล่าวว่าเราเป็นพราหมณ์ ก็จะพึงกล่าวได้โดยชอบ ทั้งไม่ต้องถึงมุสาวาทด้วย.

          [๑๙๓] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรพราหมณ์ บรรดาองค์ ๒ นี้ ยกเสีย องค์หนึ่งแล้วบุคคลผู้ประกอบด้วยองค์เพียง ๑ อาจจะบัญญัติว่าเป็นพราหมณ์ ได้หรือไม่ และเมื่อเขาจะกล่าวว่าเราเป็นพราหมณ์ ก็พึงกล่าวได้โดยชอบ ทั้งไม่ต้องถึง มุสาวาทด้วย พราหมณ์โสณทัณฑะทูลว่า ข้าแต่ พระโคดมผู้เจริญ

ข้อนี้ไม่ได้ เพราะว่าปัญญาอันศีลชำระให้บริสุทธิ์ และศีลอันปัญญาชำระให้บริสุทธิ์ ศีลมีในบุคคลใด ปัญญาก็มีในบุคคลนั้น ปัญญามีในบุคคลใด ศีลก็มีในบุคคลนั้น ปัญญาเป็นของบุคคลผู้มีศีล ศีลเป็นของบุคคลผู้มีปัญญา และนักปราชญ์ย่อมกล่าว ศีลกับปัญญาว่าเป็นยอดในโลก เหมือนบุคคลล้างมือด้วยมือ หรือล้างเท้าด้วยเท้า ฉะนั้น.

          [๑๙๔] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรพราหมณ์ ข้อนี้เป็นอย่างนั้น ข้อนี้เป็น อย่างนั้นปัญญาอันศีลชำระให้บริสุทธิ์ ศีลอันปัญญาชำระให้บริสุทธิ์ ศีลมีในบุคคลใด ปัญญาก็มีในบุคคลนั้น ปัญญามีในบุคคลใด ศีลก็มีในบุคคลนั้น ปัญญาเป็นของบุคคล ผู้มีศีล ศีลเป็นของบุคคลผู้มีปัญญา และนักปราชญ์ย่อมกล่าวศีลกับปัญญาว่า เป็นยอดในโลก เหมือนบุคคลล้างมือด้วยมือ หรือล้างเท้าด้วยเท้าฉะนั้น

          ดูกรพราหมณ์ ศีลนั้นเป็นไฉน ปัญญานั้นเป็นไฉนพราหมณ์โสณทัณฑะทูลว่า ข้าแต่ พระโคดมผู้เจริญ พวกข้าพระองค์มีความรู้เท่านี้เอง เมื่อเนื้อความมีเช่นไร ขอเนื้อความแห่งภาษิตนี้ จงแจ่มแจ้งแด่พระโคดมผู้เจริญเองเถิด.

          [๑๙๕] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรพราหมณ์ ถ้าอย่างนั้นท่านจงฟัง จงตั้งใจ ให้ดีเราจักกล่าว พราหมณ์โสณทัณฑะรับสนองพระพุทธพจน์แล้ว พระผู้มีพระภาค ได้ตรัสพระพุทธพจน์นี้กะพราหมณ์โสณทัณฑะนั้นว่า

          ดูกรพราหมณ์ พระตถาคตเสด็จอุบัติในโลกนี้ เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้เอง โดยชอบ ถึงพร้อมด้วยวิชชา และจรณะ เสด็จไปดีแล้ว ทรงรู้แจ้งโลกเป็นสารถี ฝึกบุรุษที่ควรฝึก ไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่า เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้เบิกบานแล้ว เป็นผู้จำแนกพระธรรม

          พระตถาคตพระองค์นั้น ทรงทำโลกนี้พร้อมทั้งเทวโลกมารโลก พรหมโลก ให้แจ้งชัด ด้วยพระปัญญาอันยิ่งของพระองค์เองแล้ว ทรงสอนหมู่สัตว์พร้อมทั้ง สมณพราหมณ์ เทวดา และมนุษย์ให้รู้ตาม ทรงแสดงธรรมงามในเบื้องต้น งามใน ท่ามกลางงาม ในที่สุด ทรงประกาศพรหมจรรย์ พร้อมทั้งอรรถ พร้อมทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์ บริบูรณ์ สิ้นเชิง

          คฤหบดี บุตรคฤหบดี หรือผู้เกิดเฉพาะในตระกูลใดตระกูลหนึ่ง ย่อมฟังธรรม นั้นครั้น ฟังแล้ว ได้ศรัทธาในพระตถาคต เมื่อได้ศรัทธาแล้วย่อมเห็นตระหนักว่า ฆราวาสคับ แคบเป็นทางมาแห่งธุลี บรรพชาเป็นทางปลอดโปร่ง การที่บุคคล ผู้ครองเรือน จะประพฤติพรหมจรรย์ให้บริบูรณ์ ให้บริสุทธิ์โดยส่วนเดียวดุจสังข์ขัด ไม่ใช่ทำได้ง่าย ถ้ากระไร เราพึงปลงผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ ออกบวชเป็นบรรพชิต

          สมัยต่อมา เขาละกองโภคสมบัติน้อยใหญ่ ละเครือญาติน้อยใหญ่ ปลงผม และหนวด นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ ออกบวชเป็นบรรพชิตเมื่อบวชแล้ว สำรวมระวัง ในพระ ปาติโมกข์ อยู่ถึงพร้อมด้วยมรรยาทและโคจร มีปกติเห็นภัยในโทษเพียง เล็กน้อย สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย ประกอบด้วย กายกรรม วจีกรรม ที่เป็นกุศล มีอาชีพบริสุทธิ์ ถึงพร้อมด้วยศีล คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย ประกอบด้วย สติสัมปชัญญะเป็นผู้สันโดษ.

 
 
พุทธวจน : อ่านคำสอนพระศาสดา อ่านแบบสบายตา โดยคัดลอกหนังสือทั้งเล่มมาจัดทำเป็นเว็บเพจ (คลิกอ่านพร้อมดาวน์โหลดไฟล์ pdf)
90 90 90 90
พุทธประวัติ ขุมทรัพย์ อริยสัจ
ภาคต้น
อริยสัจ
ภาคปลาย
ปฏิจจ ปฐมธรรม ตถาคต อนาคามี อินทรีย์
สังวร
สัตว์
สัตตานัง
ทาน
สกทาคามี
ฆราวาส
ชั้นเลิศ
มรรควิธี
ที่ง่าย
อริยวินัย เดรัจฉานวิชา กรรม สมถะ
วิปัสสนา
โสดาบัน นา
ปานสติ
จิต มโน
วิญญาณ
ก้าวย่าง
อย่างพุทธะ
ตามรอย
ธรรม
ภพ ภูมิ
พุทธวจน
สาธยาย
ธรรม
สังโยชน์