เว็บไซต์ อนาคามี เผยแพร่คำพระศาสดา เผยแพร่คำสอนตถาคต เว็บไซต์เผยแพร่พระสุตรคำสอนของพระพุทธเจ้า คลิปคำสอน คลิปสาธยายธรรม
 
ค้นหาคำที่ต้องการ          

 
  รวมเรื่อง โลภะ โทสะ โมหะ (อกุศลมูล 3) 600
 
 

(โดยย่อ)

อกุศลมูล 3 คือ โลภะ โทสะ โมหะ (หรือ ราคะ โทสะ โมหะ)
กุศลมูล 3 คือ อโลภะ อโทสะ อโมหะ

อกุศลมูล 3 คือต้นตอของความชั่วทั้งปวง เมื่อกำเริบจะแสดง ออกมาเป็นทุจริตทาง กาย วาจา ใจ รวมเป็นเหตุให้เกิดกิเลส ซึ่งมี 3 ประการ ได้แก่

1. โลภะ (ความอยากได้) ความอยากได้ของคนอื่นมาเป็นของตน อยากให้ตนมีเหมือนคนอื่น หรือมีมากกว่าผู้อื่น ความอยากมีหลายรูปแบบ ซึ่งจะก่อให้เกิด รากเหง้า ของความชั่วทั้งปวง เช่น อิจฉา ความอยาก

2. โทสะ (ความคิดประทุษร้าย) การอยากฆ่า อยากทำลายผู้อื่น ความคิดประทุษร้ายเป็นรากเหง้า ให้เกิดกิเลสได้หลายอย่าง เช่น ปฏิฆะ ความหงุดหงิด โกธะ ความโกรธ อุปนาหะ ความผูกโกรธ พยาบาท ความคิดปองร้าย

3. โมหะ (ความหลงไม่รู้จริง) ความไม่รู้ไม่เข้าใจ ความมัวเมา ความประมาท เป็นรากเหง้าให้เกิด กิเลส ได้มากมาย เช่น มักขะ ลบหลู่คุณท่าน ปลาสะ ตีเสมอ มานะ ถือตัว มทะ มัวเมา ปมาทะ เลินเล่อ โมหะทำให้ขาดสติ
-------------------------------------------------------------------------------
โลภะ หรือ ราคะ หรือความกำหนัด (สิ่งเดียวกัน)

เรื่องสำคัญของพระพุทธเจ้า
การบำเพ็ญบารมีในอดีตชาติ
การประสูติ แสงสว่าง แผ่นดินไหว
แสวงหาสัจจะบำเพ็ญทุกรกิริยา
ปัญจวัคคีย์หลีก สิ่งที่ตรัสรู้
ตรัสรู้ แสดงเทศนาปัญจวัคคีย์
ปลงสังขาร ปรินิพพาน
ลำดับขั้นการปรินิพพาน
เทวดาแสดงฤทธิ์ขณะถวายเพลิง
แบ่งพระสรีระออกเป็น ๘ ส่วน
 
 


พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๐ หน้าที่ ๑๙๒

มูลสูตร
กุศลมูล ๓ - อกุศลมูล ๓
(โลภอกุศลมูล  โทสอกุศลมูล  โมหอกุศลมูล)

         [๕๐๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย อกุศลมูล ๓ อย่างนี้ ๓ อย่างเป็นไฉนคือ

โลภอกุศลมูล ๑
โทสอกุศลมูล ๑
โมหอกุศลมูล ๑


ดูกรภิกษุทั้งหลาย โลภะ จัดเป็นอกุศล บุคคลผู้โลภ กระทำกรรมใดด้วยกาย วาจา ใจ แม้กรรมนั้นก็เป็นอกุศล บุคคลผู้โลภ ถูกความโลภครอบงำ มีจิตอันความโลภ กลุ้มรุม ย่อมก่อให้เกิดทุกข์แก่ผู้อื่นโดยไม่เป็นจริง ด้วยการเบียดเบียน การจองจำ ให้เสื่อมติเตียน หรือโดยการขับไล่ ด้วยการอวดอ้างว่า ฉันเป็นคนมีกำลัง ตั้งอยู่ใน กำลังแม้ข้อนั้นก็เป็นอกุศล อกุศลธรรมอันลามกเป็นอันมากที่เกิดเพราะความโลภ มีความโลภเป็นเหตุ มีความโลภเป็นแดนเกิด มีความโลภเป็นปัจจัยนี้ ย่อมเกิดมีแก่ บุคคลนั้น ด้วยประการฉะนี้

ดูกรภิกษุทั้งหลาย โทสะ จัดเป็นอกุศล บุคคลผู้โกรธ กระทำกรรมใดด้วยกาย วาจา ใจ แม้กรรมนั้นก็เป็นอกุศล บุคคลนั้นก็เป็นอกุศล  บุคคลผู้โกรธถูกโทสะครอบงำ มีจิตอันโทสะกลุ้มรุม ย่อมก่อให้เกิดทุกข์แก่ผู้อื่นโดยไม่เป็นจริง ด้วยการเบียดเบียน การจองจำ ให้เสื่อม ติเตียน หรือด้วยการขับไล่ ด้วยการอวดอ้างว่า ฉันเป็นคนมีกำลัง ตั้งอยู่ในกำลัง แม้ข้อนั้นก็เป็นอกุศล อกุศลธรรมอันลามกเป็นอันมาก ที่เกิดเฉพาะ ความโกรธ มีความโกรธเป็นเหตุ มีความโกรธเป็นแดนเกิด มีความโกรธเป็นปัจจัยนี้ ย่อมเกิดมีแก่บุคคลนั้นด้วยประการฉะนี้

ดูกรภิกษุทั้งหลาย โมหะ จัดเป็นอกุศล บุคคลผู้หลง กระทำกรรมใดด้วยกาย วาจา ใจ แม้กรรมนั้นก็เป็นอกุศล บุคคลผู้หลงถูกโมหะครอบงำ มีจิตอันโมหะกลุ้มรุม ย่อม ก่อให้เกิดทุกข์แก่ผู้อื่นโดยไม่เป็นจริง ด้วยการเบียดเบียน จองจำ ให้เสื่อม ติเตียน หรือโดยการขับไล่ ด้วยการอวดอ้างว่าฉันเป็นคนมีกำลัง ตั้งอยู่ในกำลัง แม้ข้อนั้น ก็เป็นอกุศล อกุศลธรรมอันลามกเป็นอันมาก ที่เกิดเพราะความหลง มีความหลง เป็นเหตุ มีความหลงเป็นแดนเกิดมีความหลงเป็นปัจจัยนี้ ย่อมเกิดมีแก่บุคคลนั้น ด้วยประการฉะนี้
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็บุคคลเห็นปานนี้เรียกว่า พูดไม่ถูกกาลบ้าง พูดแต่คำไม่เป็นจริง บ้าง พูดไม่อิงอรรถบ้าง พูดไม่อิงธรรมบ้าง พูดไม่อิงวินัยบ้าง ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุไร บุคคลเห็นปานนี้จึงเรียกว่า พูดไม่ถูกกาลบ้าง พูดแต่คำไม่เป็นจริงบ้าง พูดไม่อิงอรรถบ้าง พูดไม่อิงธรรมบ้าง พูดไม่อิงวินัยบ้าง

ดูกรภิกษุทั้งหลาย จริงอย่างนั้น บุคคลนี้ย่อมก่อทุกข์ให้เกิดแก่ผู้อื่นโดยไม่เป็นจริง ด้วยการเบียดเบียน จองจำให้เสื่อม ติเตียน หรือขับไล่ ด้วยการอวดอ้างว่า ฉันเป็นคน มีกำลัง ตั้งอยู่ในกำลัง และเขาเมื่อถูกกล่าวโทษด้วยเรื่องที่เป็นจริงก็กล่าวคำปฏิเสธ ไม่ยอมรับรู้เมื่อถูกกล่าวโทษด้วยเรื่องที่ไม่เป็นจริง กลับไม่พยายามที่จะปฏิเสธเรื่องนั้น แม้เพราะเหตุนี้ๆ เรื่องนี้จึงไม่แท้ ไม่เป็นจริง เพราะฉะนั้น บุคคลเห็นปานนี้จึงเรียกว่า พูดไม่ถูกกาลบ้าง พูดแต่คำไม่เป็นจริงบ้าง พูดไม่อิงอรรถบ้าง พูดไม่อิงธรรมบ้าง พูดไม่อิงวินัยบ้าง

ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลเห็นปานนี้ ถูกธรรมที่เป็นบาปอกุศล ซึ่งเกิดเพราะ ความ โลภ ครอบงำ มีจิตอันอกุศลธรรมกลุ้มรุม ในปัจจุบันย่อมอยู่เป็นทุกข์ ลำบาก คับแค้น เดือดร้อน เมื่อแตกกายตายไปทุคติเป็นอันหวังได้ บุคคลเห็นปานนี้ ถูกธรรมที่เป็นบาป อกุศลซึ่งเกิดเพราะความโกรธครอบงำ ฯลฯ ถูกธรรมที่เป็นบาปอกุศลซึ่งเกิดเพราะ โมหะครอบงำ มีจิตอันอกุศลธรรมกลุ้มรุม ในปัจจุบันย่อมอยู่เป็นทุกข์ ลำบาก คับแค้น เดือดร้อนเมื่อแตกกายตายไป ทุคติเป็นอันหวังได้

ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลเห็นปานนี้ถูกธรรมที่เป็นบาปอกุศล ซึ่งเกิดเพราะโลภะ ครอบงำ ... เมื่อแตกกายตายไป ทุคติเป็นอันหวังได้ เปรียบเหมือนต้นสาละ ต้นตะแบก หรือต้นสะคร้อ ที่ถูกเครือเถาย่านทราย ๓ ชนิดคลุมยอด พันรอบต้น ย่อมถึงความเสื่อม ความพินาศ ความฉิบหาย ฉะนั้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย อกุศลมูล ๓ อย่างนี้แล
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

ดูกรภิกษุทั้งหลาย   กุศลมูล ๓ อย่างนี้  ๓ อย่างเป็นไฉน คือ

อโลภกุศลมูล ๑
อโทสกุศลมูล ๑
อโมกุศลมูล ๑

ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้ อโลภะ ก็จัดเป็นกุศล บุคคลผู้ไม่โลภ กระทำกรรมใดด้วย กาย วาจา ใจ แม้กรรมนั้นก็เป็นกุศล บุคคลผู้ไม่โลภ ไม่ถูกความโลภครอบงำ มีจิตอัน ความโลภไม่กลุ้มรุมไม่ก่อทุกข์ให้เกิดแก่ผู้อื่นโดยความไม่เป็นจริง ด้วยการ เบียดเบียน จองจำ ให้เสื่อม หรือโดยการขับไล่ด้วยการอวดอ้างว่า ฉันเป็นคนมีกำลัง ตั้งอยู่ในกำลัง แม้ข้อนั้นก็เป็นกุศล กุศลธรรมเป็นอันมากที่เกิดเพราะความไม่โลภ มีความไม่โลภเป็นเหตุ มีความไม่โลภเป็นแดนเกิด มีความไม่โลภเป็นปัจจัย ย่อมเกิดมีแก่บุคคลนั้น ด้วยประการฉะนี้

ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้ อโทสะ ก็จัดเป็นกุศล บุคคลผู้ไม่โกรธ กระทำกรรมใด  ด้วยกาย วาจา ใจ แม้กรรมนั้นก็เป็นกุศล บุคคลผู้ไม่โกรธ ไม่ถูกความโกรธครอบงำ มีจิตอันความโกรธไม่กลุ้มรุม ไม่ก่อให้เกิดทุกข์แก่ผู้อื่นโดยความไม่เป็นจริง  ด้วยการเบียดเบียน จองจำ ให้เสื่อมติเตียนหรือโดยการขับไล่ ด้วยการอวดอ้างว่า ฉันเป็นคนมีกำลัง ตั้งอยู่ในกำลังแม้ข้อนั้นก็เป็นกุศล กุศลธรรมเป็นอันมาก ที่เกิดเพราะความไม่โกรธ มีความไม่โกรธเป็นเหตุ มีความไม่โกรธเป็นแดนเกิด มีความไม่โกรธเป็นปัจจัยนี้ ย่อมเกิดมีแก่บุคคลนั้น ด้วยประการฉะนี้

ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้ อโมหะ ก็จัดเป็นกุศล บุคคลผู้ไม่หลง กระทำกรรมใดด้วย กาย วาจา ใจ แม้กรรมนั้นก็เป็นกุศล บุคคลผู้ไม่หลง ไม่ถูกความหลงครอบงำ มีจิต อันความหลงไม่กลุ้มรุม ไม่ก่อให้เกิดทุกข์แก่ผู้อื่นโดยความไม่เป็นจริง ด้วยการ เบียดเบียน จองจำ ให้เสื่อม ติเตียนหรือโดยการขับไล่ ด้วยการอวดอ้างว่าฉันเป็นคน มีกำลัง ตั้งอยู่ในกำลัง แม้ข้อนั้นก็เป็นกุศล กุศลธรรมเป็นอันมากที่ เกิดเพราะความ ไม่หลง มีความไม่หลงเป็นเหตุ มีความไม่หลงเป็นแดนเกิด มีความไม่หลงเป็นปัจจัยนี้ ย่อมเกิดมีแก่บุคคลนั้นด้วยประการฉะนี้
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------


ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็บุคคลเห็นปานนี้เรียกว่า พูดถูกกาลบ้าง พูดแต่คำที่เป็น จริงบ้าง พูดอิงอรรถบ้าง พูดอิงธรรมบ้าง พูดอิงวินัยบ้าง ก็เพราะเหตุไร บุคคลเห็นปานนี้เรียกว่า   พูดถูกกาลบ้าง พูดแต่คำที่เป็นจริงบ้าง พูดอิงอรรถบ้าง พูดอิงธรรมบ้าง พูดอิงวินัย  บ้างจริงอย่างนั้นบุคคลนี้ย่อมไม่ก่อให้เกิดทุกข์แก่ผู้อื่น โดยไม่เป็นจริง ด้วยการเบียดเบียน จองจำให้เสื่อม ติเตียน หรือโดยการขับไล่ ด้วยการอวดอ้างว่าฉันเป็นคนมีกำลัง ตั้งอยู่ในกำลังและเมื่อเขาถูกกล่าวโทษ ด้วยเรื่องที่เป็นจริงก็ยอมรับ ไม่กล่าวคำปฏิเสธ เมื่อถูกกล่าวโทษด้วยเรื่องที่ไม่เป็นจริง ก็พยายามที่จะปฏิเสธข้อที่ถูกกล่าวหานั้นว่า แม้เพราะเหตุนี้ๆ เรื่องนี้จึงไม่แท้ ไม่จริง เพราะเหตุนั้น บุคคลเห็นปานนี้จึงเรียกว่า พูดถูกกาลบ้าง พูดแต่คำที่เป็นจริงบ้าง พูดอิงอรรถบ้าง พูดอิงธรรมบ้าง พูดอิงวินัยบ้าง

ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลเห็นปานนี้ละธรรมฝ่ายบาปอกุศล ที่เกิดเพราะโลภะ ได้แล้ว ถอนรากขึ้นแล้ว ทำให้เป็นเหมือนตาลยอดด้วนทำให้ไม่มี ไม่ให้เกิดขึ้น อีกต่อไปเป็นธรรมดา ย่อมอยู่เป็นสุขในปัจจุบันไม่มีทุกข์ ไม่คับแค้นไม่เดือดร้อน ปรินิพพานในปัจจุบันนี้เอง บุคคลเห็นปานนี้ละธรรมฝ่ายบาปอกุศลที่เกิดเพราะ โทสะได้แล้ว ฯลฯ ละธรรมฝ่ายบาปอกุศลที่เกิดเพราะโมหะได้แล้ว ถอนรากขึ้นแล้ว ทำให้เป็น เหมือนตาลยอดด้วน ทำไม่ให้มี ไม่ให้เกิดขึ้นอีกต่อไปเป็นธรรมดา ย่อมอยู่ เป็นสุขในปัจจุบัน ไม่มีทุกข์ไม่คับแค้น ไม่เดือดร้อน ปรินิพพานใน ปัจจุบันนี้เอง

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนต้นสาละ ต้นตะแบกหรือต้นสะคร้อ ถูกเครือ เถา ย่านทราย ๓ ชนิดคลุมยอดพันจนรอบ คราวนั้น บุรุษพึงถือเอาจอบและ ตะกร้ามา เขาตัดเครือเถาย่านทรายนั้นที่รากแล้วพึงขุดจนรอบ แล้วถอนเอาราก ขึ้นโดยที่สุด แม้เพียงเท่าต้นหญ้าคา เขาพึงหั่นเครือเถาย่านทรายนั้นให้เป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย แล้วผ่า แล้วเอารวมกันเข้าแล้วผึ่งที่ลมและแดด แล้วพึ่งเอาไฟเผา  แล้วทำให้เป็นเขม่า และ พึงโปรยที่ลมพาลุ หรือพึงลอยเสียในแม่น้ำที่มีกระแสไหลเชี่ยว

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เครือเถาย่านทรายเหล่านั้น ถูกบุรุษนั้นตัดรากขาด ทำให้ไม่มีที่ตั้ง ดุจตาลยอดด้วนทำให้ไม่มี ไม่ให้เกิดขึ้นอีกต่อไปเป็นธรรมดา ฉันใด

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกัน ธรรมฝ่ายบาปอกุศล ที่เกิดขึ้นแต่ โลภะ บุคคลเห็นปานนี้ละได้แล้ว ถอนรากขึ้นแล้ว ทำให้เหมือนตาลยอดด้วน ทำไม่ให้มี ไม่ให้เกิดขึ้นอีกต่อไปเป็นธรรมดา ย่อมอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน ไม่มีทุกข์ไม่คับแค้น ปรินิพพานในปัจจุบันนี้เอง

ที่เกิดแต่โทสะ บุคคลเห็นปานนี้ละได้แล้ว ถอนรากขึ้นแล้ว ทำให้เป็นเหมือนตาล ยอดด้วน ทำไม่ให้มี ไม่ให้เกิดขึ้นอีกต่อไปเป็นธรรมดา ย่อมอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน ไม่มี  ทุกข์ ไม่คับแค้น ปรินิพพานในปัจจุบันนี้เอง

ที่เกิดแต่โมหะ บุคคลเห็นปานนี้ ละได้แล้ว ถอนรากขึ้นแล้ว ทำให้เหมือนตาลยอด ด้วน ทำไม่ให้มี ไม่ให้เกิด ขึ้นอีกต่อไปเป็นธรรมดา ย่อมอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน ไม่มีทุกข์ ไม่คับแค้น ปรินิพพานในปัจจุบันนี้เอง

ดูกรภิกษุทั้งหลายกุศลมูล ๓ อย่างนี้แล ฯ
---------------------------------------------------------------------------

อกุศลมูล 3 โลภะ โทสะ โมหะ อันควรละ

สำหรับ อกุศลมูล 3 หากแปลตามตัวอักษรจะหมายความว่า รากเหง้าของความ ไม่ฉลาด หรือหมายถึง รากเหง้าหรือต้นตอของความชั่วทั้งปวง เมื่อกำเริบจะแสดง ออกมาเป็นทุจริตทาง กาย วาจา ใจ รวมเป็นเหตุให้เกิดกิเลส ซึ่งมี 3 ประการ ได้แก่

1. โลภะ (ความอยากได้) ความอยากได้ของคนอื่นมาเป็นของตน อยากให้ตน มีเหมือนคนอื่น หรือมีมากกว่าผู้อื่น ความอยากมีหลายรูปแบบ ซึ่งจะก่อให้เกิด รากเหง้า ของความชั่วทั้งปวง เช่น อิจฉา ความอยาก ปาปิจฉา ความอยากอย่าง ชั่วช้าลามก มหิจฉา ความอยากรุนแรง อภิชฌาวิสมโลภะ ความอยากได้ถึงขั้น เพ่งเล็ง ความอยากจะเกิดมากขึ้น ซึ่งจะก่อให้เกิดความชั่วในตัวเอง วิธีแก้ไขความ อยากคือ การใช้สติ ระลึกรู้ในตน

2. โทสะ (ความคิดประทุษร้าย)
การอยากฆ่า การอยากทำลายผู้อื่น ความคิด ประทุษร้ายเป็นรากเหง้า ให้เกิดกิเลสได้หลายอย่าง เช่น ปฏิฆะ ความหงุดหงิด โกธะ ความโกรธ อุปนาหะ ความผูกโกรธ พยาบาท ความคิดปองร้าย ถ้าปล่อยให้มี โทสะมาก ผู้นั้นจะเป็นคนชั่ว คนพาล และเป็นภัยต่อสังคม วิธีแก้ไขโทสะ คือ การใช้สติระงับตน และฝึกตนให้เป็นผู้มีอโทสะ

3. โมหะ (ความหลงไม่รู้จริง) ความไม่รู้ไม่เข้าใจ ความมัวเมา ความประมาท เป็นรากเหง้าให้เกิดกิเลสได้ต่าง ๆ มากมาย เช่น มักขะ ลบหลู่คุณท่าน, ปลาสะ ตีเสมอ มานะ ถือตัว มทะ มัวเมา ปมาทะ เลินเล่อ โมหะทำให้ขาดสติ ไม่รู้ผิดชอบ ร้ายแรงกว่าโลภะ และโทสะ รวมทั้งส่งเสริมให้โลภะและโทสะมีกำลังมากขึ้นอีกด้วย วิธีที่จะทำให้โมหะลดลงนั้นจะต้องปฏิบัติตนเป็นผู้ที่มีอโมหะ ความไม่หลงงมงาย

(ส่วนกุศลมูล คือ อโลภะ อโทสะ อโมหะ)


อริยสัจจากพระโอษฐ์ ภาค 2 หน้า 384

ทุกแง่มุมที่เกี่ยวกับ อกุศลมูล

ภิกษุ ท. ! อกุศลมูล ๓ อย่างเหล่านี้ มีอยู่ สามอย่างเหล่าไหนเล่า?
สามอย่างคือ
โลภะ เป็น อกุศลมูล
โทสะ เป็น อกุศลมูล
โมหะ เป็น อกุศลมูล

ภิกษุ ท. ! แม้ โลภะ นั้น ก็เป็น อกุศล คนโลภแล้ว ประกอบกรรมใด ทางกาย ทางวาจา ทางใจ แม้กรรมนั้น ก็เป็น อกุศล คนโลภถูกความโลภครอบงำแล้ว มีจิตอันความโลภกลุ้มรุมแล้ว ทำความทุกข์ให้แก่ผู้อื่นโดยที่ไม่ควรจะมี ด้วยการฆ่าบ้าง ด้วยการจองจำบ้าง ด้วยการให้เสื่อม เสียบ้าง ด้วยการติเตียนบ้าง ด้วยการขับไล่บ้าง โดยการถือว่า เรามีกำลังเหนือกว่า ดังนี้แม้กรรมนี้ก็เป็น อกุศล

อกุศลธรรม อันลามกเป็นอเนก ที่เกิดจากความโลภมีความโลภเป็นเหตุ มีความ โลภเป็นสมุทัย มีความโลภเป็นปัจจัย เหล่านี้ ย่อมเกิดขึ้นแก่เขา ด้วยอาการอย่างนี้

(ในกรณีแห่ง โทสะ และ โมหะ ก็ได้ตรัสไว้ด้วยข้อความทำนองเดียวกันอย่าง ที่กล่าวได้ว่า ทุกตัวอักษร ผิดกันแต่ชื่อเท่านั้น)


 
 
พุทธวจน : อ่านคำสอนพระศาสดา อ่านแบบสบายตา โดยคัดลอกหนังสือทั้งเล่มมาจัดทำเป็นเว็บเพจ (คลิกอ่านพร้อมดาวน์โหลดไฟล์ pdf)
90 90 90 90
พุทธประวัติ ขุมทรัพย์ อริยสัจ
ภาคต้น
อริยสัจ
ภาคปลาย
ปฏิจจ ปฐมธรรม ตถาคต อนาคามี อินทรีย์
สังวร
สัตว์
สัตตานัง
ทาน
สกทาคามี
ฆราวาส
ชั้นเลิศ
มรรควิธี
ที่ง่าย
อริยวินัย เดรัจฉานวิชา กรรม สมถะ
วิปัสสนา
โสดาบัน นา
ปานสติ
จิต มโน
วิญญาณ
ก้าวย่าง
อย่างพุทธะ
ตามรอย
ธรรม
ภพ ภูมิ
พุทธวจน
สาธยาย
ธรรม
สังโยชน์