|
หนังสือ ปฏิบัติ สมถะวิปัสสนา-พุทธวจน หัวข้อ 66-67-68-69
ความหมายของคำว่า “สัญญา”
-บาลี ขนฺธ. สํ. ๑๗/๗๔,๑๐๕-๑๐๖/๑๑๕,๑๕๙.
ภิกษุทั้งหลาย.
ก็สัญญาเป็นอย่างไร ภิกษุทั้งหลาย สัญญา ๖ หมวดนี้ คือ สัญญาในรูป สัญญาในเสียง สัญญาในกลิ่น สัญญาในรส สัญญาในโผฏฐัพพะ สัญญาในธรรม ภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่าสัญญา
ภิกษุทั้งหลาย.
เพราะอะไรจึงเรียกว่าสัญญาเพราะจำได้หมายรู้ จึงเรียกว่าสัญญา
จำได้หมายรู้อะไร จำได้หมายรู้สี เขียวบ้าง สีเหลืองบ้าง สีแดงบ้าง สีขาวบ้าง ภิกษุทั้งหลาย เพราะจำได้หมายรู้ จึงเรียกว่าสัญญา
อุปมาแห่งสัญญา
-บาลี ขนฺธ. สํ. ๑๗/๑๗๒/๒๔๔.
ภิกษุทั้งหลาย. เมื่อเดือนสุดท้ายแห่งฤดูร้อนยังอยู่ พยับแดด ย่อมไหวระยิบระยับ ในเวลากลางวัน บุรุษผู้มีจักษุ เห็นพยับแดดนั้น ย่อมเพ่งพินิจ พิจารณาโดยแยบคาย เมื่อบุรุษนั้นเห็นอยู่ เพ่งพินิจพิจารณา โดยแยบคายอยู่ พยับแดดนั้น พึงปรากฏเป็น ของว่าง ของเปล่า เป็นของหาแก่นสาร มิได้เลย ก็แก่นสารในพยับแดดนั้นจะพึง มีได้อย่างไร แม้ฉันใด
ภิกษุทั้งหลาย ฉันนั้นก็เหมือนกัน สัญญาอย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งที่เป็นอดีต อนาคต หรือปัจจุบันก็ตาม เป็นภายใน หรือ ภายนอก ก็ตามหยาบ หรือละเอียดก็ตาม เลวหรือ ประณีต ก็ตามอยู่ในที่ไกลหรือในที่ใกล้ก็ตาม ภิกษุเห็นสัญญานั้น ย่อมเพ่งพินิจ พิจารณาโดยแยบคาย.
เมื่อภิกษุนั้นเห็นอยู่ เพ่งพินิจพิจารณาโดยแยบคายอยู่ สัญญานั้นย่อมปรากฏเป็นของ ว่าง ของเปล่า เป็นของหาแก่นสารมิได้เลย ก็แก่นสารในสัญญานั้นจะพึงมีได้อย่างไร
หลักที่ควรรู้เกี่ยวกับสัญญา
-บาลี ฉกฺก. อํ. ๒๒/๔๖๒-๔๖๓/๓๓๔.
ภิกษุทั้งหลาย. ข้อที่เรากล่าวว่า เธอทั้งหลาย พึงรู้จักสัญญา พึงรู้จักเหตุเกิดแห่ง สัญญา พึงรู้จักความต่างกันแห่งสัญญา พึงรู้จักวิบากแห่งสัญญา พึงรู้จักความดับ แห่งสัญญา พึงรู้จักข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งสัญญา ดังนี้นั้น เราอาศัยอะไรกล่าว
ภิกษุทั้งหลาย. สัญญา ๖ ประการนี้ คือ สัญญาในรูป สัญญาในเสียง สัญญาในกลิ่น สัญญาในรส สัญญาในโผฏฐัพพะ และ สัญญาในธรรม
ภิกษุทั้งหลาย. เหตุเกิดแห่งสัญญา เป็นอย่างไร
ภิกษุทั้งหลาย. ผัสสะ เป็นเหตุเกิดแห่งสัญญา
ภิกษุทั้งหลาย. ก็ความต่างกันแห่งสัญญา เป็นอย่างไร
คือสัญญาในรูป เป็นอย่างหนึ่ง สัญญาในเสียงเป็นอย่างหนึ่ง สัญญาในกลิ่น เป็นอย่างหนึ่ง สัญญาในรสเป็นอย่างหนึ่ง
สัญญาในโผฏฐัพพะ เป็นอย่างหนึ่ง สัญญาในธรรมเป็นอย่างหนึ่ง
นี้เรียกว่า ความต่างกันแห่งสัญญา
ภิกษุทั้งหลาย. ก็วิบากแห่งสัญญา เป็นอย่างไร คือ เราย่อมกล่าวสัญญาว่ามีคำพูดเป็นผล.(เพราะว่า)
บุคคลย่อม หมายรู้โดยประการใดๆ ก็ย่อมพูดโดยประการนั้นๆ
ว่าเราเป็น ผู้มีสัญญาอย่างนั้น นี้เรียกว่า วิบาก แห่งสัญญา
ภิกษุทั้งหลาย. ก็ความดับแห่งสัญญา เป็นอย่างไร คือ ความดับแห่งสัญญาย่อมมี เพราะความดับแห่งผัสสะ ภิกษุทั้งหลาย อริยมรรคอัน ประกอบด้วยองค์ ๘ นี้นั่นเอง เป็นข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งสัญญา ได้แก่ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ และสัมมาสมาธิ
ภิกษุทั้งหลาย. ก็เมื่อใดอริยสาวกย่อมรู้ชัดซึ่งสัญญา รู้ชัดเหตุเกิดแห่งสัญญา รู้ชัด ความต่างกันแห่งสัญญา รู้ชัดวิบาก แห่งสัญญา รู้ชัดความดับ แห่งสัญญา รู้ชัดข้อ ปฏิบัติ ให้ถึงความดับแห่งสัญญา ว่าเป็น อย่างนี้ๆ เมื่อนั้นอริยสาวกนั้น ย่อมทราบชัด พรหมจรรย์อันเป็นไป ในส่วนแห่งการ ชำแรกกิเลส อันเป็นที่ดับแห่งสัญญา ข้อที่เรา กล่าวว่า
ภิกษุทั้งหลาย. เธอทั้งหลายพึงรู้จักสัญญา พึงรู้จักเหตุเกิดแห่งสัญญา พึงรู้จักความ ต่างกันแห่งสัญญา พึงรู้จักวิบากแห่งสัญญา พึงรู้จักความดับแห่งสัญญา พึงรู้จักข้อ ปฏิบัติ ให้ถึงความดับแห่งสัญญา ดังนี้นั้น เราอาศัยข้อนี้ กล่าวแล้ว
69 อัสสาทะและอาทีนวะของสัญญา
-บาลี ขนฺธ. สํ. ๑๗/๓๔/๕๙.
ภิกษุทั้งหลาย.
สุขโสมนัสอันใด อาศัยสัญญาเกิดขึ้น
นี้เป็นคุณของสัญญา(อัสสาทะ)
สัญญาไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา
นี้เป็นโทษของสัญญา(อาทีนวะ)
การกำจัดฉันทราคะ การละฉันทราคะในสัญญาเสียได้
นี้เป็นอุบายเครื่องสลัดออกแห่งสัญญา(นิสสรณะ)
|