เว็บไซต์ อนาคามี เผยแพร่คำพระศาสดา เผยแพร่คำสอนตถาคต เว็บไซต์เผยแพร่พระสุตรคำสอนของพระพุทธเจ้า คลิปคำสอน คลิปสาธยายธรรม
 
ค้นหาคำที่ต้องการ          

 
สัตบุรุษ-อสัตบุรุษ (ผู้มีความเห็นชอบ ผู้มีความเห็นผิด) 504
 
(นัยยะที่๑)

ก็อสัตบุรุษเป็นไฉน?
เป็นผู้มีความเห็นผิด ดำริผิด เจรจาผิด ทำการงานผิด เลี้ยงชีพผิด พยายามผิด ระลึกผิด ตั้งใจผิด

ก็สัตบุรุษเป็นไฉน?
เป็นผู้มีความเห็นชอบ ดำริชอบ เจรจาชอบ ทำการงานชอบ เลี้ยงชีพชอบ พยายามชอบ ระลึกชอบ ตั้งใจชอบ


(นัยยะที่๒)

ธรรม ๔ ประการของ อสัตบุรุษ
(๑) แม้ไม่ถูกถามก็เปิดเผย ความเสียหายของผู้อื่น
(๒) แม้ถูกถามก็ไม่เปิดเผยความดีของผู้อื่น
(๓) แม้ถูกถามก็ไม่เปิดเผยความเสียหายของตน
(๔) แม้ไม่ถูกถามก็เปิดเผยความดีของตน

ธรรม ๔ ประการของ สัตบุรุษ
(๑) แม้ถูกถามก็ไม่เปิดเผย ความเสียหายของผู้อื่น
(๒) แม้ไม่ถูกถามก็เปิดเผยความดีของผู้อื่น
(๓) แม้ไม่ถูกถามก็เปิดเผยความเสียหายของตน
(๔) แม้ถูกถามก็ไม่เปิดเผยความดีของตน



 
 
 

พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๙ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๑๘

อสัปปุริสสูตรที่ ๑
ว่าด้วยอสัตบุรุษ-สัตบุรุษ

          [๗๐] สาวัตถีนิทาน. ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงอสัตบุรุษและสัตบุรุษแก่เธอทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงฟังเรื่องนั้น

          [๗๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อสัตบุรุษเป็นไฉน?
บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้มีความเห็นผิด ดำริผิด เจรจาผิด ทำการงานผิด เลี้ยงชีพผิด พยายามผิด ระลึกผิด ตั้งใจผิดบุคคลนี้เรียกว่า อสัตบุรุษ

          [๗๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สัตบุรุษเป็นไฉน?
บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้มีความเห็นชอบ ดำริชอบ เจรจาชอบ ทำการงานชอบ เลี้ยงชีพชอบ พยายามชอบ ระลึกชอบ ตั้งใจชอบ บุคคลนี้เรียกว่า สัตบุรุษ



พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๑ พระสุตตันตปิฎก หน้าที่ ๘๙-๙๑

ธรรม ๔ ประการ ของอสัตบุรุษ และสัตบุรุษ (สัปปุริสสูตร)

          [๗๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการ พึงทราบว่า เป็นอสัตบุรุษ ธรรม ๔ ประการเป็นไฉน คือ

(ธรรม ๔ ประการของ อสัตบุรุษ)


          อสัตบุรุษในโลกนี้ (๑) แม้ไม่ถูกถามก็เปิดเผย ความเสียหายของผู้อื่น จะกล่าวอะไรถึงถูกถามเล่า และเมื่อถูกถามเข้าก็แก้ปัญหา โดยตรง ไม่อ้อมค้อม ไม่หน่วงเหนี่ยว แล้วกล่าวความเสียหายของผู้อื่นเต็มที่อย่าง กว้างขวาง ดูกรภิกษุทั้งหลาย พึงทราบว่าท่านผู้นี้เป็นอสัตบุรุษ

          อีกประการหนึ่ง อสัตบุรุษในโลกนี้ (๒) แม้ถูกถามก็ไม่เปิดเผยความดีของ ผู้อื่น จะกล่าวอะไรถึงไม่ถูกถาม และเมื่อถูกถามแล้ว ก็ไม่แก้ปัญหาโดยตรง อ้อมค้อม หน่วงเหนี่ยว แล้วกล่าวสรรเสริญคุณผู้อื่นโดยย่อ ไม่เต็มที่ ดูกรภิกษุทั้งหลาย พึงทราบว่า ท่านผู้นี้เป็นอสัตบุรุษ

          อีกประการหนึ่ง อสัตบุรุษในโลกนี้ (๓) แม้ถูกถามก็ไม่เปิดเผยความเสียหาย ของตน จะกล่าวอะไรถึงไม่ถูกถาม และเมื่อถูกถามแล้ว ก็ไม่แก้ปัญหาโดยตรง อ้อมค้อม หน่วงเหนี่ยว แล้วกล่าวความเสียหายของตนโดยย่อ ไม่เต็มที่ ดูกรภิกษุทั้งหลาย พึงทราบว่า ท่านผู้นี้เป็นอสัตบุรุษ

          อีกประการหนึ่ง อสัตบุรุษในโลกนี้ (๔) แม้ไม่ถูกถามก็เปิดเผยความดีของตน จะกล่าวอะไรถึงถูกถามเล่า และเมื่อถูกถามแล้วก็แก้ปัญหาโดยตรง ไม่อ้อมค้อม ไม่หน่วงเหนี่ยว แล้วกล่าวความดีของตนเต็มที่อย่างกว้างขวาง ดูกรภิกษุทั้งหลาย พึงทราบว่า ท่านผู้นี้เป็นอสัตบุรุษ ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการนี้แล พึงทราบว่า เป็นอสัตบุรุษ

--------------------------------------------- --------------------

(ธรรม ๔ ประการของ สัตบุรุษ)

          ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการ พึงทราบว่าเป็น สัตบุรุษ ธรรม ๔ ประการเป็นไฉน

          คือสัตบุรุษในโลกนี้ (๑) แม้ถูกถามก็ไม่เปิดเผย ความเสียหายของผู้อื่น จะกล่าวอะไรถึงไม่ถูกถามเล่า แต่เมื่อถูกถามเข้า ก็ไม่แก้ปัญหา โดยตรง อ้อมค้อม หน่วงเหนี่ยว กล่าวความเสียหายของผู้อื่นโดยย่อไม่เต็มที่ ดูกรภิกษุทั้งหลาย พึงทราบว่า ท่านผู้นี้เป็นสัตบุรุษ

          อีกประการหนึ่ง สัตบุรุษในโลก(๒) แม้ไม่ถูกถามก็เปิดเผยความดีของผู้อื่น จะกล่าว อะไรถึงถูกถามเล่า แต่เมื่อถูกถามเข้าก็แก้ปัญหาโดยตรง ไม่อ้อมค้อม ไม่หน่วงเหนี่ยว กล่าวความดีของผู้อื่นเต็มที่อย่างกว้างขวาง ดูกรภิกษุทั้งหลาย พึงทราบว่า ท่านผู้นี้เป็นสัตบุรุษ

          อีกประการหนึ่ง สัตบุรุษในโลกนี้(๓) แม้ไม่ถูกถามก็เปิดเผยความเสียหาย ของตน จะกล่าวอะไรถึงถูกถามเล่า แต่เมื่อถูกถามเข้าก็แก้ปัญหาโดยตรง ไม่อ้อมค้อม ไม่หน่วงเหนี่ยว แล้วกล่าวความเสียหายของตน เต็มที่อย่างกว้างขวาง ดูกรภิกษุทั้งหลาย พึงทราบว่า ท่านผู้นี้เป็นสัตบุรุษ

          อีกประการหนึ่ง สัตบุรุษในโลกนี้ (๔) แม้ถูกถามก็ไม่เปิดเผยความดีของตน จะกล่าวอะไรถึงไม่ถูกถามเล่า แต่เมื่อถูกถามเข้าก็ไม่แก้ปัญหาโดยตรง อ้อมค้อม หน่วงเหนี่ยว แล้วกล่าวความดีของตนโดยย่อ ไม่เต็มที่ ดูกรภิกษุทั้งหลาย พึงทราบว่า ท่านผู้นี้เป็นสัตบุรุษ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ประการนี้แล พึงทราบว่าเป็นสัตบุรุษ

          ดูกรภิกษุทั้งหลาย หญิงสะใภ้ที่ถูกนำมาคืนหนึ่งหรือวันหนึ่งเท่านั้น นางตั้งหิริ และโอตตัปปะได้อย่างแรงกล้าในแม่ผัว พ่อผัว และผัว โดยที่สุดในคนรับใช้และคน ทำงาน สมัยต่อมา นางอาศัยอยู่คุ้นเคย จึงกล่าวกะแม่ผัวบ้าง พ่อผัวบ้าง และผัวบ้าง อย่างนี้ว่า จงหลีกไป ก็พวกท่านรู้อะไร ดังนี้ฉันใด ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ ก็ฉันนั้น เหมือนกัน เพียงออกบวชได้วันหนึ่งหรือคืนหนึ่งเท่านั้น เธอตั้งหิริและโอตตัปปะไว้ อย่างแรงกล้า ในพวกภิกษุภิกษุณี อุบาสก และอุบาสิกาทั้งหลาย โดยที่สุดในคนวัด และสามเณร

          สมัยต่อมาเธออาศัยความอยู่ร่วม จึงกล่าวกะอาจารย์บ้าง กะอุปัชฌาย์บ้าง อย่างนี้ว่า จงหลีกไปก็พวกท่านรู้อะไร ดังนี้ เพราะเหตุนั้นแหละ ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้ว่า เราจักมีใจเสมือนหญิงสะใภ้ซึ่งมาใหม่อยู่

           ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้แล


 
 
พุทธวจน : อ่านคำสอนพระศาสดา อ่านแบบสบายตา โดยคัดลอกหนังสือทั้งเล่มมาจัดทำเป็นเว็บเพจ (คลิกอ่านพร้อมดาวน์โหลดไฟล์ pdf)
90 90 90 90
พุทธประวัติ ขุมทรัพย์ อริยสัจ
ภาคต้น
อริยสัจ
ภาคปลาย
ปฏิจจ ปฐมธรรม ตถาคต อนาคามี อินทรีย์
สังวร
สัตว์
สัตตานัง
ทาน
สกทาคามี
ฆราวาส
ชั้นเลิศ
มรรควิธี
ที่ง่าย
อริยวินัย เดรัจฉานวิชา กรรม สมถะ
วิปัสสนา
โสดาบัน นา
ปานสติ
จิต มโน
วิญญาณ
ก้าวย่าง
อย่างพุทธะ
ตามรอย
ธรรม
ภพ ภูมิ
พุทธวจน
สาธยาย
ธรรม
สังโยชน์