เว็บไซต์ อนาคามี เผยแพร่คำพระศาสดา เผยแพร่คำสอนตถาคต เว็บไซต์เผยแพร่พระสุตรคำสอนของพระพุทธเจ้า คลิปคำสอน คลิปสาธยายธรรม
 
ค้นหาคำที่ต้องการ          

 
  อุปาทาน ๔..เหตุเกิดของอุปาทาน 492
 
เนื้อหาในพระสูตรนี้พอสังเขป
1. กามุปาทาน 2. ทิฏฐุปาทาน 3. สีลัพพัตตุปาทาน 4. อัตตวาทุปาทาน
อุปาทาน ๔ เหล่านี้ มีอะไรเป็นต้นเหต... มีตัณหาเป็นต้นเหตุ


 
 
 

-ปฏิจจสมุปบาทจากพระโอษฐ์ หน้า ๑๘๓
-พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๒ สุตตันตปิฎก จูฬสีหนาทสูตร ที่ ๑

อุปาทาน ๔

ดูกรภิกษุทั้งหลาย อุปาทาน ๔ อย่างเหล่านี้. ๔ อย่างเป็นไฉน? คือ

       1. กามุปาทาน ถือมั่น เพลิน พอใจในกามอันเกิดจาก ตา หู จมูก ลิ้น กาย
       2. ทิฏฐุปาทาน ถือมั่นใน ความคิด ความเชื่อ ในทฤฎีของตน
       3. สีลัพพัตตุปาทาน ความถือมั่นใน ศีลพรต ความงมงายในพิธีกรรมต่างๆ
       4. อัตตวาทุปาทาน การยึดมั่นว่ามีตัวตน ว่าขันธ์5 เป็นของเรา

(เนื้อหาส่วนนี้สรุปย่อ เพื่อให้เข้าใจง่ายขึ้น)
ดูกรภิกษุทั้งหลาย มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่ง ปฏิญาณลัทธิว่ารอบรู้อุปาทานทุกอย่าง (๔ ประการ) แต่พวกเขาย่อมไม่บัญญัติ ความรอบรู้อุปาทานทุกอย่างโดยชอบ คือ
          ย่อมบัญญัติ ความรอบรู้กามุปาทาน
          ไม่บัญญัติความรอบรู้ทิฏฐุปาทาน
          ไม่บัญญัติความรอบรู้ สีลัพพัตตุปาทาน
          ไม่บัญญัติความรอบรู้อัตตวาทุปาทาน.


ข้อนั้นเพราะเหตุอะไร? เพราะสมณพราหมณ์เหล่านั้น ไม่รู้ทั่วถึงฐานะ ๓ ประการเหล่านี้ ตามความเป็นจริง เพราะฉะนั้น พวกเขา จึงปฏิญาณลัทธิว่ารอบรู้ อุปาทานทุกอย่าง แต่พวกเขาไม่บัญญัติความรอบรู้อุปาทานทุกอย่างโดยชอบคือ
(สรุป..สมณพราหมณ์พวกหนึ่ง บัญญัติข้อ1 แต่ไม่บัญญัติข้อ 2-4)
…………………………………………………………………............................................................……………………

(เนื้อหาส่วนนี้สรุปย่อ เพื่อให้เข้าใจง่ายขึ้น)
ดูกรภิกษุทั้งหลาย มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่ง ปฏิญาณลัทธิว่ารอบรู้อุปาทานทุกอย่าง (๔ ประการ) แต่พวกเขา ไม่บัญญัติความรอบรู้อุปาทานทุกอย่างโดยชอบ คือ
          ย่อมบัญญัติ ความรอบรู้กามุปาทาน
          บัญญัติ ความรอบรู้ทิฏฐปาทาน
          ไม่บัญญัติความรอบรู้สีลัพพัตตุปาทาน
          ไม่บัญญัติความรอบรู้อัตตวาทุปาทาน


ข้อนั้นเพราะเหตุอะไร? เพราะสมณพราหมณ์เหล่านั้น ไม่รู้ทั่วถึงฐานะ ๒ ประการ เหล่านี้ ตามความเป็นจริง เพราะฉะนั้น พวกเขาจึงปฏิญาณลัทธิว่ารอบรู้อุปาทาน ทุกอย่าง แต่พวกเขา ไม่บัญญัติความรอบรู้อุปาทานทุกอย่างโดยชอบ
(สรุป..สมณพราหมณ์พวกหนึ่ง บัญญัติข้อ1-2 แต่ไม่บัญญัติข้อ 3-4)
…………………………………………………………………............................................................……………………

(เนื้อหาส่วนนี้สรุปย่อ เพื่อให้เข้าใจง่ายขึ้น)
ดูกรภิกษุทั้งหลาย มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่ง ปฏิญาณลัทธิว่ารอบรู้อุปาทานทุกอย่าง (๔ ประการ) แต่พวกเขาไม่บัญญัติความรอบรู้อุปาทานทุกอย่างโดยชอบ คือ
          ย่อมบัญญัติ ความรอบรู้กามุปาทาน
          บัญญัติ ความรอบรู้ทิฏฐุปาทาน
          บัญญัติ ความรอบรู้สีลัพพัตตุปาทาน
          ไม่บัญญัติความรอบรู้อัตตวาทุปาทาน

ข้อนั้นเพราะเหตุอะไร? เพราะสมณพราหมณ์เหล่านั้น ไม่รู้ทั่วถึงฐานะอย่างหนึ่งนี้ตาม ความเป็นจริง เพราะฉะนั้น พวกเขาจึงปฏิญาณลัทธิว่ารอบรู้อุปาทานทุกอย่าง แต่พวกเขา ไม่บัญญัติความรอบรู้อุปาทานทุกอย่างโดยชอบ
(สรุป..สมณพราหมณ์พวกหนึ่ง บัญญัติข้อ1-3 แต่ไม่บัญญัติข้อ4 )

............................................................................................................................................

ดูกรภิกษุทั้งหลาย
ความเลื่อมใสในศาสดาใด ความเลื่อมใสนั้น เราไม่กล่าวว่า ไปแล้วโดยชอบ
ความเลื่อมใสในธรรมใด ความเลื่อมใสนั้น เราไม่กล่าวว่า ไปแล้วโดยชอบ
ความกระทำให้บริบูรณ์ในศีลใด ข้อนั้น เราไม่กล่าวว่า ไปแล้วโดยชอบ
ความเป็นที่รักและน่าพอใจในหมู่สหธรรมิกใด ข้อนั้น เราไม่กล่าวว่าไปแล้วโดยชอบ
ในธรรมวินัยเห็นปานนี้แล ข้อนั้นเพราะเหตุอะไร?

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะข้อนั้น เป็นความเลื่อมใสในธรรมวินัยที่ศาสดากล่าวชั่วแล้ว ประกาศชั่วแล้ว มิใช่สภาพนำออกจากทุกข์ ไม่เป็นไปเพื่อความสงบ มิใช่อันผู้รู้เอง โดยชอบประกาศไว้.

ดูกรภิกษุทั้งหลาย
พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเท่านั้นแล เป็นผู้มีวาทะว่า รอบรู้อุปาทาน ทุกอย่าง ปฏิญาณอยู่ ย่อมบัญญัติความรอบรู้อุปาทานทุกอย่างโดยชอบ คือ
ย่อมบัญญัติความรอบรู้ กามุปาทาน
ย่อมบัญญัติความรอบรู้ ทิฏฐุปาทาน
ย่อมบัญญัติความรอบรู้ สีลัพพัตตุปาทาน
ย่อมบัญญัติความรอบรู้ อัตตวาทุปาทาน

ดูกรภิกษุทั้งหลาย
ความเลื่อมใสในศาสดาใด ความเลื่อมใสนั้น เรากล่าวว่า ไปแล้วโดยชอบ
ความเลื่อมใสในธรรมใด ความเลื่อมใสนั้น เรากล่าวว่า ไปแล้วโดยชอบ
ความกระทำให้บริบูรณ์ในศีลใด ข้อนั้น เรากล่าวว่า ไปแล้วโดยชอบ
ความเป็นที่รักและน่าพอใจในหมู่สหธรรมิกใด ข้อนั้น เรากล่าวว่า ไปแล้วโดยชอบ
ในพระธรรมวินัยเห็นปานนี้แล ข้อนั้นเพราะเหตุอะไร?
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะข้อนั้น เป็นความเลื่อมใสในธรรมวินัยอันศาสดากล่าวดีแล้ว ประกาศดีแล้ว เป็นสภาพนำออกจากทุกข์ เป็นไปเพื่อความสงบอันท่านผู้รู้เอง โดยชอบประกาศแล้ว.

เหตุเกิดอุปาทานเป็นต้น
ดูกรภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง อุปาทาน ๔ เหล่านี้ มีอะไรเป็นต้นเหตุ มีอะไรเป็นเหตุเกิด  มีอะไรเป็นกำเนิด มีอะไรเป็นแดนเกิด? อุปาทาน ๔ เหล่านี้ มีตัณหาเป็นต้นเหตุ มีตัณหาเป็นเหตุเกิด มีตัณหาเป็นกำเนิด มีตัณหาเป็นแดนเกิด

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ตัณหานี้ เล่ามีอะไรเป็นต้นเหตุ มีอะไรเป็นเหตุเกิด มีอะไรเป็นกำเนิด มีอะไรเป็นแดนเกิด? ตัณหา มีเวทนาเป็นต้นเหตุ มีเวทนาเป็นเหตุเกิด มีเวทนาเป็นกำเนิด มีเวทนาเป็นแดนเกิด

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เวทนานี้เล่า มีอะไรเป็นต้นเหตุ มีอะไรเป็นเหตุเกิด มีอะไรเป็นกำเนิด มีอะไรเป็นแดนเกิด? เวทนา มีผัสสะเป็นต้นเหตุ มีผัสสะเป็นเหตุเกิด มีผัสสะเป็นกำเนิด มีผัสสะเป็นแดนเกิด

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ผัสสะนี้เล่า มีอะไรเป็นต้นเหตุ มีอะไรเป็นเหตุเกิด มีอะไรเป็นกำเนิด มีอะไรเป็นแดนเกิด? ผัสสะ มีสฬายตนะเป็นต้นเหตุ มีสฬายตนะเป็นเหตุเกิด มีสฬายตนะเป็นกำเนิด มีสฬายตนะเป็นแดนเกิด

ดูกรภิกษุทั้งหลาย สฬายตนะนี้เล่า มีอะไรเป็นต้นเหตุ มีอะไรเป็นเหตุเกิด มีอะไรเป็นกำเนิด มีอะไรเป็นแดนเกิด? ดูกรภิกษุทั้งหลาย สฬายตนะ มีนามรูปเป็นต้นเหตุ มีนามรูปเป็นเหตุเกิด มีนามรูปเป็นกำเนิด มีนามรูปเป็นแดนเกิด

ดูกรภิกษุทั้งหลาย นามรูปนี้เล่า มีอะไรเป็นต้นเหตุ มีอะไรเป็นเหตุเกิด มีอะไรเป็นกำเนิด มีอะไรเป็นแดนเกิด? นามรูป มีวิญญาณเป็นต้นเหตุ มีวิญญาณเป็นเหตุเกิด มีวิญญาณเป็นกำเนิด มีวิญญาณเป็นแดนเกิด

ดูกรภิกษุทั้งหลาย วิญญาณนี้เล่า มีอะไรเป็นต้นเหตุ มีอะไรเป็นเหตุเกิด มีอะไรเป็นกำเนิด มีอะไรเป็นแดนเกิด? วิญญาณ มีสังขารเป็นต้นเหตุ มีสังขารเป็นเหตุเกิด มีสังขารเป็นกำเนิด มีสังขารเป็นแดนเกิด

ดูกรภิกษุทั้งหลาย สังขารนี้เล่า มีอะไรเป็นต้นเหตุ มีอะไรเป็นเหตุเกิด มีอะไรเป็นกำเนิด มีอะไรเป็นแดนเกิด? สังขาร มีอวิชชาเป็นต้นเหตุ มีอวิชชาเป็นเหตุเกิด มีอวิชชาเป็นกำเนิด มีอวิชชาเป็นแดนเกิด

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็เมื่อใดแล ภิกษุละ อวิชชาได้แล้ว วิชชาเกิดขึ้นแล้ว เมื่อนั้น ภิกษุนั้น พราะสำรอกอวิชชาเสียได้ เพราะวิชชาบังเกิดขึ้น ย่อมไม่ถือมั่น กามุปาทาน ย่อมไม่ถือมั่นทิฏฐุปาทาน ย่อมไม่ถือมั่นสีลัพพัตตุปาทาน ย่อมไม่ถือมั่น อัตตวาทุปาทาน เมื่อไม่ถือมั่น ย่อมไม่สะดุ้ง เมื่อไม่สะดุ้ง ย่อมปรินิพพาน เฉพาะตน นั่นเทียว เธอย่อมรู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้ มิได้มี ดังนี้.

พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระพุทธพจน์นี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นมีใจชื่นชม ยินดีภาษิตของพระผู้มีพระภาค แล้วแล.

 


 
 
พุทธวจน : อ่านคำสอนพระศาสดา อ่านแบบสบายตา โดยคัดลอกหนังสือทั้งเล่มมาจัดทำเป็นเว็บเพจ (คลิกอ่านพร้อมดาวน์โหลดไฟล์ pdf)
90 90 90 90
พุทธประวัติ ขุมทรัพย์ อริยสัจ
ภาคต้น
อริยสัจ
ภาคปลาย
ปฏิจจ ปฐมธรรม ตถาคต อนาคามี อินทรีย์
สังวร
สัตว์
สัตตานัง
ทาน
สกทาคามี
ฆราวาส
ชั้นเลิศ
มรรควิธี
ที่ง่าย
อริยวินัย เดรัจฉานวิชา กรรม สมถะ
วิปัสสนา
โสดาบัน นา
ปานสติ
จิต มโน
วิญญาณ
ก้าวย่าง
อย่างพุทธะ
ตามรอย
ธรรม
ภพ ภูมิ
พุทธวจน
สาธยาย
ธรรม
สังโยชน์