เว็บไซต์ อนาคามี เผยแพร่คำพระศาสดา เผยแพร่คำสอนตถาคต เว็บไซต์เผยแพร่พระสุตรคำสอนของพระพุทธเจ้า คลิปคำสอน คลิปสาธยายธรรม
 
ค้นหาคำที่ต้องการ          

 
 อัสสุตวตาสูตร๑ จิตเหมือนลิงจับกิ่งไม้ จิตดวงหนึ่งเกิดขึ้น ดวงหนึ่งดับไป ตลอดวัน ตลอดคืน 477
 
(เนื้อหาพอสังเขป)

ผู้ไม่ได้สดับ(คำตถาคต)
บุคคลผู้ไม่ได้สดับ ย่อมเบื่อหน่ายคลายกำหนัด ในร่างกาย เพราะเหตุว่า ความเจริญก็ดี ความเสื่อมก็ดี การเกิดก็ดี การตายก็ดี ของร่างกาย อันเป็นที่ประชุมแห่งมหาภูตทั้ง ๔ นี้ ย่อมปรากฏ

แต่บุคคล ไม่อาจเบื่อหน่าย คลายกำหนัด หลุดพ้น ในจิต ได้เลย เพราะรวบรัดถือไว้ ด้วยตัณหา ยึดถือ ด้วยทิฐิว่า (จิตนั้น) นั่นของเรา นั่นเป็นเรา นั่นเป็นตัวตนของเรา ตลอดกาลเวลาช้านาน
(เบื่อกาย แต่ไม่เบื่อจิต)

อุปมาจิต เปรียบเหมือนลิงจับกิ่งไม้
วานรจับกิ่งไม้ ปล่อยกิ่งนั้น ยึดเอากิ่งอื่น ปล่อยกิ่งที่ยึดเดิม เหนี่ยวกิ่งใหม่ต่อไป แม้ฉันใด ร่างกาย อันเป็นที่ ประชุม แห่ง มหาภูตทั้ง ๔ นี้ ที่ตถาคตเรียกว่า จิตบ้าง มโนบ้าง วิญญาณบ้าง จิตเป็นต้นนั้นดวงหนึ่งเกิดขึ้น ดวงหนึ่งดับไป ในกลางคืน และกลางวัน

ผู้สดับคำตถาคต
อริยสาวกผู้สดับ ย่อมใส่ใจโดยแยบคายด้วยดี ถึงปฏิจจสมุปบาทธรรม ในร่างกายและจิตว่า เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี เพราะสิ่งนี้เกิดขึ้น สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น เมื่อสิ่งนี้ไม่มีสิ่งนี้จึงไม่มี เพราะสิ่งนี้ดับ สิ่งนี้จึงดับ... คือ เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย จึงมีสังขารเพราะสังขารเป็นปัจจัย จึงมีวิญญาณ เพราะวิญญาณเป็นปัจจัย จึงมีนามรูป เพราะนามรูปเป็นปัจจัย จึงมีสฬายตนะ

อริยสาวกผู้ได้สดับ พิจารณาอยู่อย่างนี้ ย่อมหน่ายแม้ในรูป ย่อมหน่ายแม้ในเวทนา ย่อมหน่ายแม้ ในสัญญา ย่อมหน่ายแม้ใน สังขารทั้งหลาย ย่อมหน่ายแม้ในวิญญาณ

มื่อหน่าย ย่อมคลายกำหนัด เพราะคลายกำหนัด จึงหลุดพ้น เมื่อหลุดพ้นแล้ว ก็เกิดญาณหยั่งรู้ว่า หลุดพ้นแล้ว ย่อมทราบชัดว่าชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อ ความเป็นอย่างนี้มิได้มี ดังนี้แล

 
 


พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๖  พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๘ สังยุตตนิกาย นิทานวรรค

๑. อัสสุตวตาสูตรที่ ๑


             [๒๓๐] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้-

             สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของท่านอนาถ บิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลาย ว่า ...

             ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปุถุชนผู้มิได้สดับ จะพึงเบื่อหน่ายบ้างคลายกำหนัดบ้าง หลุดพ้นบ้าง ในร่างกายอันเป็นที่ประชุมแห่งมหาภูตทั้ง ๔ นี้ ข้อนั้นเพราะเหตุไร

เพราะเหตุว่า ความเจริญก็ดี ความเสื่อมก็ดี การเกิดก็ดี การตายก็ดี ของร่างกาย อันเป็นที่ประชุมแห่งมหาภูตทั้ง ๔ นี้ ย่อมปรากฏ ปุถุชนผู้มิได้สดับ จึงเบื่อหน่ายบ้าง คลายกำหนัดบ้าง หลุดพ้นบ้าง ในร่างกายนั้น

แต่ตถาคต เรียกร่างกาย อันเป็นที่ประชุม แห่งมหาภูตทั้ง ๔ นี้ว่า จิตบ้าง มโนบ้าง วิญญาณบ้าง ปุถุชนผู้มิได้สดับ ไม่อาจเบื่อหน่าย คลายกำหนัด หลุดพ้นในจิต เป็นต้นนั้นได้เลย

ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะว่าจิตเป็นต้นนี้ อันปุถุชนมิได้สดับ รวบรัดถือไว้ด้วยตัณหา ยึดถือด้วยทิฐิว่า นั่นของเรา นั่นเป็นเรา นั่นเป็นตัวตนของเรา ดังนี้ ตลอดกาลช้านาน ฉะนั้น ปุถุชนผู้มิได้สดับ จึงไม่อาจจะเบื่อหน่าย คลายกำหนัด หลุดพ้นในจิต เป็นต้นนั้น ได้เลย

             [๒๓๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปุถุชนผู้มิได้สดับ จะพึงเข้าไปยึดถือเอาร่างกาย อันเป็นที่ประชุมแห่งมหาภูต ๔ นี้ โดยความเป็นตน ยังชอบกว่า แต่จะเข้าไปยึดถือ เอาจิต โดยความเป็นตนหาชอบไม่ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะร่างกายอันเป็นที่ประชุม แห่งมหาภูตทั้ง ๔ นี้ เมื่อดำรงอยู่ ปีหนึ่งบ้าง สองปีบ้าง สามปีบ้าง สี่ปีบ้าง ห้าปีบ้าง สิบปีบ้าง ยี่สิบปีบ้าง สามสิบปีบ้าง สี่สิบปีบ้าง ห้าสิบปีบ้าง ร้อยปีบ้าง ยิ่งกว่า ร้อยปี บ้าง ย่อมปรากฏ แต่ว่าตถาคตเรียกร่างกายอันเป็นที่ประชุมแห่งมหาภูตทั้ง ๔ นี้ว่า จิตบ้าง มโนบ้าง วิญญาณบ้าง จิตเป็นต้นนั้นดวงหนึ่งเกิดขึ้น ดวงหนึ่งดับไป ใน กลางคืนและกลางวัน

             [๒๓๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย วานรเมื่อเที่ยวไปในป่าใหญ่จับกิ่งไม้ ปล่อยกิ่งนั้น ยึดเอากิ่งอื่น ปล่อยกิ่งที่ยึดเดิม เหนี่ยวกิ่งใหม่ต่อไป แม้ฉันใด ร่างกาย อันเป็นที่ประชุมแห่งมหาภูตทั้ง ๔ นี้ ที่ตถาคตเรียกว่า จิตบ้าง มโนบ้าง วิญญาณบ้าง จิตเป็นต้นนั้นดวงหนึ่งเกิดขึ้น ดวงหนึ่งดับไป ในกลางคืน และกลางวัน ก็ฉันนั้นแล

             [๒๓๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้สดับ ย่อมใส่ใจโดยแยบคายด้วยดี ถึงปฏิจจสมุปบาทธรรม ในร่างกายและจิตที่ตถาคตกล่าวมานั้นว่า เพราะเหตุดังนี้ เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี เพราะสิ่งนี้เกิดขึ้น สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น เมื่อสิ่งนี้ไม่มีสิ่งนี้จึงไม่มี เพราะสิ่งนี้ดับ สิ่งนี้จึงดับ คือ เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย จึงมีสังขาร เพราะสังขารเป็นปัจจัย จึงมีวิญญาณ เพราะวิญญาณเป็นปัจจัย จึงมีนามรูป เพราะนามรูปเป็นปัจจัย จึงมีสฬายตนะ เพราะสฬายตนะเป็นปัจจัย จึงมีผัสสะ เพราะผัสสะเป็นปัจจัย จึงมีเวทนา เพราะเวทนาเป็นปัจจัย จึงมีตัณหา เพราะตัณหาเป็นปัจจัย จึงมีอุปาทาน เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย จึงมีภพ เพราะภพเป็นปัจจัย จึงมีชาติ เพราะชาติเป็นปัจจัย จึงมีชราและมรณะ โสกปริเทว ทุกขโทมนัส และอุปายาส ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วยประการอย่างนี้ อนึ่ง เพราะอวิชชาดับด้วยสำรอกโดยไม่เหลือ สังขารจึงดับ เพราะสังขารดับวิญญาณจึงดับ ฯลฯ ความดับแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วยประการอย่างนี้

             [๒๓๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้ได้สดับ มาพิจารณาอยู่อย่างนี้ ย่อมหน่ายแม้ในรูป ย่อมหน่ายแม้ในเวทนา ย่อมหน่ายแม้ในสัญญา ย่อมหน่ายแม้ใน สังขารทั้งหลาย ย่อมหน่ายแม้ในวิญญาณ

เมื่อหน่าย ย่อมคลายกำหนัด

เพราะคลายกำหนัด จึงหลุดพ้น
เมื่อหลุดพ้นแล้ว ก็เกิดญาณหยั่งรู้ว่าหลุดพ้นแล้ว
ย่อมทราบชัดว่าชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว
กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้วกิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี
ดังนี้แล

จบสูตร๑

 
 
พุทธวจน : อ่านคำสอนพระศาสดา อ่านแบบสบายตา โดยคัดลอกหนังสือทั้งเล่มมาจัดทำเป็นเว็บเพจ (คลิกอ่านพร้อมดาวน์โหลดไฟล์ pdf)
90 90 90 90
พุทธประวัติ ขุมทรัพย์ อริยสัจ
ภาคต้น
อริยสัจ
ภาคปลาย
ปฏิจจ ปฐมธรรม ตถาคต อนาคามี อินทรีย์
สังวร
สัตว์
สัตตานัง
ทาน
สกทาคามี
ฆราวาส
ชั้นเลิศ
มรรควิธี
ที่ง่าย
อริยวินัย เดรัจฉานวิชา กรรม สมถะ
วิปัสสนา
โสดาบัน นา
ปานสติ
จิต มโน
วิญญาณ
ก้าวย่าง
อย่างพุทธะ
ตามรอย
ธรรม
ภพ ภูมิ
พุทธวจน
สาธยาย
ธรรม
สังโยชน์