พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๒ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๔ อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต
๓. อิณสูตร
[๓๑๖] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความเป็นคนจน เป็นทุกข์ ของบุคคลผู้บริโภคกามในโลก ภิกษุทั้งหลาย กราบทูลว่าอย่างนั้น พระเจ้าข้า
พ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย คนจนเข็ญใจยากไร้ย่อมกู้ยืม แม้การกู้ยืมก็เป็นทุกข์ ของบุคคลผู้บริโภคกามในโลก
ภิ. อย่างนั้น พระเจ้าข้า
พ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย คนจนเข็ญใจยากไร้กู้ยืมแล้วย่อมรับใช้ดอกเบี้ย แม้การรับใช้ดอกเบี้ยก็เป็นทุกข์ ของผู้บริโภคกามในโลก
ภิ. อย่างนั้น พระเจ้าข้า
พ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย คนจนเข็ญใจยากไร้ รับใช้ดอกเบี้ยแล้วไม่ใช้ดอกเบี้ย ตามกำหนดเวลา เจ้าหนี้ทั้งหลายย่อมทวงเขา แม้การทวงก็เป็นทุกข์ ของบุคคล ผู้บริโภคกามในโลก
ภิ. อย่างนั้น พระเจ้าข้า
พ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย คนจนเข็ญใจยากไร้ ถูกเจ้าหนี้ทวงไม่ให้เจ้าหนี้ ทั้งหลายย่อมติดตามเขา แม้การติดตามก็เป็นทุกข์ ของบุคคลผู้บริโภคกามในโลก
ภิ. อย่างนั้น พระเจ้าข้า
พ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย คนจนเข็ญใจยากไร้ ถูกเจ้าหนี้ติดตามทันไม่ให้ทรัพย์ เจ้าหนี้ทั้งหลายย่อมจองจำเขา แม้การจองจำก็เป็นทุกข์ของบุคคล ผู้บริโภคกามในโลก
ภิ. อย่างนั้น พระเจ้าข้า
พ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย
แม้ความเป็นคนจน ก็เป็นทุกข์ของบุคคล ผู้บริโภคกามในโลก
แม้การกู้ยืม ก็เป็นทุกข์ของบุคคลผู้บริโภคกามในโลก
แม้การรับใช้ดอกเบี้ย ก็เป็นทุกข์ของบุคคลผู้บริโภคกามในโลก
แม้การทวง ก็เป็นทุกข์ของบุคคลผู้บริโภคกามในโลก
แม้การติดตาม ก็เป็นทุกข์ของบุคคลผู้บริโภคกามในโลก
แม้การจองจำ ก็เป็นทุกข์ของบุคคลผู้บริโภคกามในโลก ด้วยประการฉะนี้
ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนไม่มีศรัทธาในกุศลธรรม ไม่มีหิริในกุศลธรรม ไม่มีโอตตัปปะในกุศลธรรม ไม่มีวิริยะในกุศลธรรม ไม่มีปัญญาในกุศลธรรม บุคคลนี้เรียกว่า เป็นคนจนเข็ญใจยากไร้ในวินัยของ พระอริยเจ้าฉันนั้น เหมือนกัน
ดูกรภิกษุทั้งหลาย คนจนเข็ญใจยากไร้นั้นแล เมื่อไม่มีศรัทธาในกุศลธรรม ไม่มีหิริในกุศลธรรม ไม่มีโอตตัปปะ ในกุศลธรรม ไม่มีวิริยะในกุศลธรรม ไม่มีปัญญา ในกุศลธรรม ย่อมประพฤติทุจริตด้วยกาย วาจา ใจเรากล่าวการประพฤติทุจริต ของเขาว่า เป็นการกู้ยืม เขาย่อมตั้งความปรารถนาลามก เพราะเหตุแห่งการ ปกปิด กายทุจริตนั้น ย่อมปรารถนาว่า ชนเหล่าอื่นอย่ารู้จักเรา ย่อมดำริ ย่อมกล่าววาจา ย่อมพยายามด้วยกายว่า ชนเหล่าอื่นอย่ารู้จักเรา เขาย่อมตั้ง ความ ปรารถนา ลามก เพราะเหตุแห่งการปกปิดวจีทุจริตนั้น ฯลฯ
เขาย่อมตั้งความปรารถนาลามก เพราะเหตุแห่งการปกปิดมโนทุจริตนั้น ย่อมปรารถนาว่า ชนเหล่าอื่น อย่ารู้จักเรา ย่อมพยายามด้วยกายว่า ชนเหล่าอื่น อย่ารู้จักเรา เรากล่าวเหตุการณ์ ปกปิดทุจริตของเขานั้นว่า เป็นการ รับใช้ดอกเบี้ย เพื่อนพรหมจรรย์ผู้มีศีลเป็นที่รักได้กล่าวกะเขาอย่างนี้ว่า ก็ท่านผู้มีอายุรูปนี้ เป็นผู้กระทำอย่างนี้ เป็นผู้ประพฤติอย่างนี้
เรากล่าวการถูกว่ากล่าวของเขาว่าเป็นการทวงดอกเบี้ย อกุศลวิตก ที่เป็น บาป ประกอบด้วยความเดือดร้อน ย่อมครอบงำเขาผู้อยู่ป่า ผู้อยู่โคนไม้ หรือผู้อยู่ใน เรือนว่าง เรากล่าวการถูกอกุศลวิตกครอบงำนี้ของเขาว่า เจ้าหนี้ติดตามเขา คนจน เข็ญใจยากไร้นั้นแล ครั้นประพฤติทุจริตด้วยกาย วาจา ใจ เมื่อตายไปแล้ว ย่อมถูก จองจำในเรือนจำ คือ นรก หรือในเรือนจำ คือ กำเนิดดิรัจฉาน
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราย่อมไม่พิจารณาเห็นเรือนจำอื่นเพียงแห่งเดียว ซึ่งร้ายกาจ เป็นทุกข์ กระทำอันตราย แก่การบรรลุนิพพานซึ่งเป็นธรรมเกษมจากโยคะ หาธรรมอื่นยิ่งกว่ามิได้ อย่างนี้ เหมือนเรือนจำ คือ นรก หรือเรือนจำ คือ กำเนิด ดิรัจฉานเลย
ความเป็นคนจน และการกู้ยืม เรียกว่าเป็นทุกข์ในโลก คนจนกู้ยืมเลี้ยง ชีวิตย่อมเดือดร้อน เจ้าหนี้ทั้งหลาย ย่อมติด ตามเขา เพราะไม่ใช้หนี้นั้น เขาย่อมเข้า ถึงแม้การจองจำก็การจองจำนั้น เป็นทุกข์ของชนทั้งหลายผู้ปรารถนา การได้
กาม ในวินัยของพระอริยเจ้า ผู้ใดไม่มีศรัทธา ไม่มีหิริ ไม่มีโอตตัปปะ พอกพูนบาปกรรม กระทำกายทุจริต วจีทุจริต และมโนทุจริต ย่อมปรารถนา ย่อมดำริ ว่า คนเหล่าอื่นอย่ารู้จักเรา พอกพูนบาปกรรมในที่นั้นๆ อยู่ บ่อยๆ ด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ เราตถาคตย่อมกล่าวว่า เป็นทุกข์เหมือนอย่างนั้น เขาผู้มีบาปกรรม มีปัญญา ทราม ทราบความชั่วของตนอยู่ เป็นคนจน มีหนี้สิน เลี้ยงชีวิตอยู่ย่อมเดือดร้อน
ลำดับนั้น ความดำริที่มีในใจ เป็นทุกข์เกิดขึ้นเพราะความเดือดร้อนของเขา ย่อมติดตามเขาที่บ้าน หรือที่ป่า เขาผู้มีบาปกรรม มีปัญญาทราม ทราบความชั่ว ของตนอยู่ ย่อมเข้าถึงกำเนิดดิรัจฉานบางอย่าง หรือถูกจองจำในนรก ก็การจองจำนั้น เป็นทุกข์ ที่นักปราชญ์หลุดพ้นไปได้ บุคคลผู้ยังใจให้เลื่อมใส ให้ทานด้วยโภคทรัพย์ ทั้งหลาย ที่ได้มา โดยชอบธรรม ย่อมเป็นผู้ยึดถือชัยชนะไว้ได้ในโลกทั้งสอง ของผู้มี ศรัทธาอยู่ครองเรือน คือ เพื่อประโยชน์เกื้อกูลใน ปัจจุบัน และเพื่อความสุขใน สัมปรายภพ การบริจาคของคฤหัสถ์ดังกล่าวมานั้น ย่อมเจริญบุญ ผู้ใดมีศรัทธาตั้งมั่น มีใจประกอบด้วยหิริ มีโอตตัปปะ มีปัญญา และสำรวมในศีล ในวินัยของพระอริยเจ้า ผู้นั้นแลเราเรียกว่ามีชีวิตเป็นสุข ในวินัยของพระอริยเจ้า ฉันนั้นเหมือนกัน
เขาได้ความสุขที่ไม่มีอามิส ยังอุเบกขา (ในจตุตถฌาน) ให้ดำรงมั่น ละนิวรณ์ ๕ ประการ เป็นผู้ปรารภความเพียร เป็นนิตย์ บรรลุฌานทั้งหลาย มีเอกัคคตา จิตปรากฏ มีปัญญารักษาตัว มีสติจิตของเขาย่อม หลุดพ้น โดยชอบ เพราะทราบเหตุ ในนิพพาน เป็นที่สิ้นสังโยชน์ทั้งปวง ตามความเป็นจริง เพราะไม่ถือมั่น โดยประการ ทั้งปวง หากว่าเขาผู้มีจิตหลุดพ้นโดยชอบ คงที่อยู่ในนิพพาน เป็นที่สิ้นไปแห่งกิเลส เป็นเครื่องประกอบสัตว์ ไว้ในภพ ย่อมมีญาณหยั่งรู้ว่า ความหลุดพ้นของเรา ไม่กำเริบ ไซร้ ญาณนั้นแลเป็นญาณชั้นเยี่ยม ญาณนั้นเป็นสุขไม่มีสุขอื่นยิ่งกว่า ญาณนั้นไม่มี โศก หมดมัวหมองเป็นญาณเกษมสูงสุดกว่าความไม่มีหนี้
|