ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๒ สุตตันตปิฎก หน้า 300- 305
สัจจกนิครนถ์ (โต้วาทะกับพระพุทธเจ้า- แบบย่อ)
พระสูตรเต็ม คลิก
สัจจกนิครนถ์ เป็นชื่อนักบวชผู้หนึ่ง ในลัทธินิครนถ์ ซึ่งเป็นลัทธินอก พระพุทธ ศาสนาในสมัยพุทธกาล ในปัจจุบันคือ ศาสนาเชน ซึ่งมีนิครนถ์ นาฎบุตร หรือศาสดามหาวีระ เป็นเจ้าลัทธิ สัจจกนิครนถ์ เป็นนักโต้วาที ที่ฉลาดหลักแหลมคม มีชื่อเสียงโด่งดังหาผู้มาโต้ตอบได้ยาก ได้เรียนวาทะจากบิดา 500 วาทะ จากมารดา 500 วาทะ จนชำนาญ แล้วยังเรียนหลักคำสอน ในลัทธินิครนถ์และลัทธิอื่น ๆ อีกหลายลัทธิ จนได้รับยกย่องจากมหาชนว่าเป็น นักปราชญ์ และได้รับแต่งตั้งให้ เป็นพระอาจารย์ ของพระราชกุมารลิจฉวีทั้งหลาย ในกรุงเวสาลี สัจจกนิครนถ์ หลงตัวเองว่ามีปัญญามากขึ้น จนเกรงว่าท้องจะแตก จึงใช้แผ่นเหล็กคาดท้องไว้
ครั้งหนึ่ง ท่านได้ประกาศอวดอ้างว่า ท่านยังไม่เห็นใครเลย ไม่ว่าจะเป็นสมณะ หรือพราหมณ์ เจ้าหมู่เจ้าคณะ หรือแม้ผู้ประกาศตนว่าเป็น พระอรหันต์ ตรัสรู้เอง โดยชอบ ถ้าหากว่ามาโต้วาทะกับท่านแล้ว ที่จะไม่ประหม่า เหงื่อไหลไคลย้อย เป็นไม่มี
เช้าวันหนึ่ง สัจจกนิครนถ์ ได้พบพระอัสสชิเถระ ได้ขอสนทนาด้วย และได้ถามพระเถระว่า พระสมณโคดมแนะนำสาวกว่า อย่างไร คำสอนส่วนใหญ่ว่า ด้วยเรื่องอะไร พระเถระตอบว่า ทรงสอนว่า ขันธ์ห้าคือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ แต่ละอย่างไม่เพียงไม่ใช่ตัวตน สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง ธรรมทั้งปวงไม่ใช่ตัวตน
พระผู้มีพระภาค ตรัสสอนเรื่องเหล่านี้เป็นส่วนใหญ่ สัจจกนิครนถ์กล่าวว่า พระสมณโคดมเห็นผิดเห็นชั่ว ถ้ามีโอกาสเข้าเฝ้า จะโต้วาทะทำให้ ถ่ายถอนความเห็นผิด เห็นชั่ว นี้ให้ได้
จากนั้น สัจจกนิครนถ์ได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า พร้อมเจ้าลิจฉวีห้าร้อยองค์ แล้วทูลขออนุญาตถามปัญหา อย่างที่ถามพระอัสสชิเถระ พระพุทธเจ้าก็ตรัสตอบ อย่างที่พระอัสสชิเถระตอบทุกประการ สัจจกนิครนถ์โต้แย้งโดยใช้อุปมาโวหาร
พระพุทธเจ้าทรงย้อนถาม สัจจกนิครนถ์ว่า "ที่กล่าวว่า รูปเป็นตัวตนของท่าน ท่านมีอำนาจในรูปนั้นว่า จงเป็นอย่างนี้เถิด อย่าเป็นอย่างนั้นเลยได้หรือไม่"
สัจจกนิครนถ์ จำต้องยอมรับว่า ตนไม่มีอำนาจบังคับบัญชาให้รูปเป็นไปตาม ที่ตนต้องการได้ จากนั้น ทรงซักถามไล่เลียงจากเวทนา ไปจนถึงวิญญาณ สัจจกนิครนถ์ต้องยอมจำนนว่า ไม่มีอำนาจบังคับได้ เช่นเดียวกับรูป
พระพุทธเจ้า ทรงซักว่า ขันธ์ห้าเที่ยง หรือไม่เที่ยง
ทูลตอบว่า ไม่เที่ยง
ตรัสถามว่า สิ่งใดไม่เที่ยงนั้น เป็นทุกข์ หรือเป็นสุข
ทูลตอบว่า เป็นทุกข์
ตรัสถามว่า สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความเปลี่ยนแปลงไปเป็นธรรมดา ควรหรือไม่ที่จะถือว่า สิ่งนั้นเป็นของเรา เราเป็นสิ่งนั้น สิ่งนั้นเป็นตัวตนของเรา
ทูลตอบว่า ไม่ควร
สัจจกนิครนถ์ ทูลถามต่อไปว่า ภิกษุเป็นพระอรหันต์ขีณาสพ ด้วยเหตุใด
ตรัสตอบว่า ด้วยการไม่ยึดถือขันธ์ห้าว่า เป็นของเรา เราเป็นเช่นนั้น เป็นตัว ของเรา
การสนทนาจบลงด้วย สัจจกนิครนถ์ขอนิมนต์พระพุทธเจ้า พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ ไปฉันภัตตาหารในอารามของตน ในวันรุ่งขึ้น
..........................................................................................
สัจจกนิครนถ์ได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าอีกครั้งหนึ่ง ณ ที่เดิม ได้ทูลถามเรื่องการอบรม กาย และการอบรมจิต
พระพุทธเจ้าทรงย้อนถามว่า การอบรมกาย หมายความว่าอย่างไร
ทูลตอบว่า การบำเพ็ญตบะ อย่างนันทะ วัจฉโคตร กีสะ สัจกิจจโคตร และมักขลิ โคสาล (ซึ่งหมายถึง การทรมานร่างกาย)
ครั้นตรัสถามว่า การอบรมจิต หมายถึงอะไร
สัจจกนิครนถ์ ตอบไม่ได้
จึงตรัสสรุปว่า สัจจกนิครนถ์เข้าใจการอบรมกาย ไม่ถูกต้อง แล้วจะเข้าใจการ อบรมจิตได้อย่างไร
จากนั้น ทรงอธิบายการอบรมกาย และอบรมจิต ตามหลักพระพุทธศาสนา
(ดูรายละเอียดการอบรมกาย อบรมจิต ตรัสกับ อัคคิเวสสนะ คลิก)
|