พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๙ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๑
สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค
นาวาสูตร
ผู้เจริญอริยมรรคทำให้สังโยชน์สงบหมดไป
[๒๘๘] สาวัตถีนิทาน. ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อเรือเดินสมุทรที่ผูกด้วย เครื่องผูก คือหวาย แช่อยู่ในน้ำตลอด ๖ เดือน เขายกขึ้นบกในฤดูหนาว เครื่องผูก ต้องลม และแดดแล้วอันฝนตกรดแล้ว ย่อมจะเสียไป ผุไป โดยไม่ยากเลย แม้ฉันใด
ภิกษุเมื่อเจริญอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ กระทำให้มากซึ่งอริยมรรค อันประกอบ ด้วยองค์ ๘ สังโยชน์ทั้งหลาย ย่อมสงบหมดไป โดยไม่ยากเลย ฉันนั้น เหมือนกัน.
[๒๘๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเมื่อเจริญอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ กระทำให้มากซึ่งอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ อย่างไรเล่า สังโยชน์ทั้งหลาย จึงจะสงบหมดไป โดยไม่ยากเลย?
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้
ย่อมเจริญสัมมาทิฏฐิ อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปในการสละ ฯลฯ ย่อมเจริญสัมมาสมาธิ อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปในการ สละ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเมื่อเจริญอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ กระทำ ให้มากซึ่งอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ อย่างนี้แล สังโยชน์ทั้งหลาย จึงสงบ หมดไปโดยไม่ยากเลย.
สังโยชน์สิบ
โอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. สักกายทิฏฐิ (ความเห็นว่าเป็นตัวของตน)
๒. วิจิกิจฉา (ความลังเลสงสัย)
๓. สีลัพพตปรามาส (ความถือมั่นศีลพรต)
๔. กามฉันทะ (ความพอใจในกาม)
๕. พยาบาท (ความคิดร้าย)
อุทธัมภาคิยสังโยชน์ ๕ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. รูปราคะ (ความติดใจในอารมณ์แห่งรูปฌาน)
๒. อรูปราคะ (ความติดใจในอารมณ์แห่งอรูปฌาน)
๓. มานะ (ความถือตัว)
๔. อุทธัจจะ (ความฟุ้งซ่าน)
๕. อวิชชา (ความไม่รู้แจ้ง)
|