พระไตรปิฎกไทย ฉบับหลวง เล่ม ๒๓ หน้า ๓๔๖ - ๓๔๙
พราหมณสูตร
[๒๔๒] ครั้งนั้นแล พราหมณ์ผู้ชำนาญในคัมภีร์โลกายตะ ๒ คน เข้าไปเฝ้าพระผู้มี พระภาค ถึงที่ประทับ ได้ปราศรัยกับพระผู้มีพระภาค ครั้นผ่าน การปราศรัยพอ ให้ระลึกถึงกันไปแล้วนั่ง ณ ที่สมควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้ทูล ถาม พระผู้มีพระภาคว่า
ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ปูรณกัสสป เป็นผู้รู้สิ่งทั้งปวง เห็นสิ่งทั้งปวง ปฏิญาณการรู้ การเห็นอัน ไม่มีส่วนเหลือว่า เมื่อเราเดิน ยืน หลับ และ ตื่นอยู่ ญาณทัสสนะ ปรากฏ ติดต่อเนื่องกันไป ปูรณกัสสปนั้นกล่าวอย่างนี้ว่า เรารู้เราเห็น โลกอันไม่มีที่สุด ด้วยญาณอันไม่มีที่สุด
ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ แม้ นิครณฐนาฏบุตร ก็เป็นผู้รู้สิ่งทั้งปวง เห็นสิ่ง ทั้งปวง ปฏิญาณ การรู้ การเห็นไม่มีส่วนเหลือว่า เมื่อเราเดิน ยืนหลับ และตื่นอยู่ ญาณทัสนะปรากฏ ติดต่อ เนื่องกัน ไป นิครณฐนาฏบุตรนั้นกล่าวอย่างนี้ว่า เรารู้ เราเห็นโลก อันไม่มีที่สุด ด้วยญาณอันไม่มีที่สุด
ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ คนทั้ง ๒ ต่างก็พูดอวดรู้กัน มีวาทะเป็นข้าศึกกัน ใครจริง ใครเท็จฯ
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรพราหมณ์ อย่าเลย ข้อที่คนทั้ง ๒ นี้ต่างพูด อวดรู้กัน มีวาทะ เป็นข้าศึกกัน ใครจริง ใครเท็จนั้นพักไว้ก่อนเถิด
ดูกรพราหมณ์ เราจักแสดงธรรมแก่ท่านทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว พราหมณ์เหล่านั้นทูลรับพระผู้มีพระภาคแล้ว พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกรพราหมณ์ เปรียบเหมือนชาย ๔ คน ยืนอยู่ใน ๔ ทิศ ต่างก็มีฝีเท้า ในการเดิน และมีฝีเท้าในการวิ่ง เป็นเยี่ยมพอๆกัน เปรียบเหมือนนายขมังธนู ถือธนูไว้ อย่างมั่น ศึกษามาเจนฝีมือแล้ว ผ่านการประลองฝีมือแล้ว จะพึงใช้ลูกธนูอย่างเบา ยิงต้นตาลที่ เรียงแถวให้ทะลุโดยง่าย และยิงได้เร็วกว่าการวิ่งดังกล่าวมานั้น
เปรียบเหมือน มหาสมุทร ในทิศประจิม ตรงข้ามมหาสมุทรทิศบูรพา ถ้าคนๆ หนึ่งยืนอยู่ทางทิศบูรพาจะพึงกล่าวอย่างนี้ว่า เราจะเดินไปให้ถึงที่สุดโลก เขาเว้น การดื่ม การกิน การลิ้ม เว้นการถ่ายอุจจาระปัสสาวะ และเว้นจากการ หลับและการพัก เขามี อายุ ๑๐๐ ปี เป็นอยู่ ๑๐๐ ปี เดินไปตลอด ๑๐๐ ปี ยังไม่ทันถึงที่สุดโลกเลย ก็พึงกระทำกาละ ลงในระหว่าง
ถ้าคนๆหนึ่ง ยืนอยู่ในทิศประจิม ฯลฯ ถ้าคนๆหนึ่งยืนอยู่ในทิศทักษิณ จะพึง กล่าวอย่างนี้ว่า เราจะเดินไปให้ถึงที่สุดโลก เขาเว้นจาก การดื่ม การกิน การลิ้ม เว้น จากการถ่ายอุจจาระปัสสาวะ และเว้นจากการหลับ และการพัก เขามีอายุ ๑๐๐ ปี เป็นอยู่ ๑๐๐ ปี เดินไปตลอด ๑๐๐ ปี ยังไม่ถึงที่สุดโลกเลย พึงกระทำ กาละใน ระหว่าง ข้อนั้นเพราะเหตุไรเพราะเราไม่กล่าวว่า บุคคลจะพึงรู้จะพึงเห็น จะพึงถึง ที่สุด ของโลก ด้วยการวิ่งเห็นปานนั้น และเรายังไม่ถึงที่สุดแห่งโลก ก็ไม่กล่าว การกระทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ ฯ
ดูกรพราหมณ์ กามคุณ ๕ ประการนี้ เรียกว่าโลกในวินัยของพระอริยเจ้า กามคุณ ๕ ประการเป็นไฉน คือ รูปที่จะพึงรู้แจ้งด้วยจักษุ อันน่าปรารถนาน่าใคร่ น่าพอใจ เป็นที่รัก ยั่วยวน ชวนให้กำหนัด เสียงที่จะพึงรู้แจ้งด้วยหู ฯลฯ กลิ่นที่จะพึง รู้แจ้ง ด้วยจมูก ฯลฯ รสที่จะพึงรู้แจ้งด้วยลิ้น ฯลฯ โผฏฐัพพะที่จะพึงรู้แจ้งด้วยกาย อันน่า ปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจเป็นที่รัก ยั่วยวนชวนให้กำหนัด ดูกรพราหมณ์ กามคุณ ๕ ประการนี้แล เรียกว่าโลกในวินัยของพระอริยเจ้าฯ
ดูกรพราหมณ์ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม บรรลุ ปฐมฌาน มีวิตก วิจาร มีปีติและสุขเกิดแต่วิเวกอยู่ ภิกษุนี้เรียกว่า ได้ถึงที่สุด แห่งโลกแล้ว และอยู่ในที่สุดแห่งโลก คนเหล่าอื่นกล่าวภิกษุนั้น อย่างนี้ว่าแม้ภิกษุนี้ ก็ยัง นับเนื่อง อยู่ในโลก ยังสลัดตน ไม่พ้นไปจากโลก ดูกรพราหมณ์เป็นความจริง แม้เรา ก็กล่าวอย่างนี้ว่า แม้ภิกษุนี้ก็ยังนับเนื่องอยู่ในโลก ยังสลัดตนไม่พ้นไป จาก โลกฯ
อีกประการหนึ่ง ภิกษุ บรรลุทุติยฌาน ฯลฯ บรรลุตติยฌาน ฯลฯ บรรลุ จตุตถฌาน ฯลฯ ภิกษุนี้เรียกว่า ได้ถึงที่สุดแห่งโลกแล้ว และอยู่ในที่สุด แห่งโลก แต่ชนเหล่าอื่นกล่าวภิกษุนั้นอย่างนี้ว่า แม้ภิกษุนี้ก็ยังนับเนื่องอยู่ในโลก ยังสลัดตน ไม่พ้นไปจากโลก ดูกรพราหมณ์ เป็นความจริง แม้เราก็กล่าวอย่างนี้ว่า แม้ภิกษุนี้ ก็ยังนับเนื่องอยู่ในโลก ยังสลัดตนไม่พ้นไปจากโลก ฯ
อีกประการหนึ่ง ภิกษุ เพราะล่วงรูปสัญญาโดยประการทั้งปวง ...
บรรลุ อากาสานัญจายตนฌาน ... ภิกษุนี้เรียกว่า ได้ถึงที่สุดแห่งโลกแล้ว และอยู่ในที่สุด แห่งโลก แต่ชนเหล่าอื่น กล่าวภิกษุนั้นอย่างนี้ว่า แม้ภิกษุนี้ก็ยังนับ เนื่อง อยู่ในโลก ยังสลัดตนไม่พ้น ไปจากโลก ดูกรพราหมณ์ เป็นความจริง แม้เรา ก็กล่าว อย่างนี้ว่า แม้ภิกษุนี้ยังนับเนื่อง อยู่ในโลก ยังสลัดตนไม่พ้นไปจากโลกฯ
อีกประการหนึ่ง
ภิกษุ
เพราะล่วงอากาสานัญจายตนฌาน โดยประการ ทั้งปวง บรรลุ วิญญาณัญจายตนฌาน ฯลฯ เพราะล่วงวิญญาณัญจายตนฌาน โดยประการ ทั้งปวง บรรลุอากิญจัญญายตนฌาน ฯลฯ
เพราะล่วงอากิญจัญญายตนะ โดยประการ ทั้งปวง บรรลุเนวสัญญานา สัญญา ยตนฌาน ฯลฯ ภิกษุนี้เรียกว่าได้ถึงที่สุดโลกแล้ว และอยู่ในที่สุดโลกแห่งโลก
แต่ชนเหล่าอื่นกล่าวภิกษุนั้น อย่างนี้ว่า ภิกษุนี้ ยังนับเนื่องอยู่ในโลก ยังสลัดตน ไม่พ้น ไปจากโลก ดูกรพราหมณ์ เป็นความจริง แม้เราก็กล่าวอย่างนี้ว่า แม้ภิกษุนี้ ยังนับเนื่องอยู่ในโลก ยังสลัดตนไม่พ้นไปจากโลกฯ
อีกประการหนึ่ง ภิกษุ เพราะล่วงเนวสัญญานาสัญญายตนฌาน โดยประการ ทั้งปวง บรรลุสัญญาเวทยิตนิโรธ อาสวะของเธอสิ้นรอบแล้ว เพราะเห็นด้วยปัญญา ดูกรพราหมณ์ ภิกษุนี้เรียกว่า ได้ถึงที่สุดแห่งโลกแล้ว และ อยู่ในที่สุดแห่งโลก ข้ามพ้น ตัณหาเครื่องข้องในโลกได้แล้ว ฯ
จบสูตรที่ ๗
|