พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๒ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๔ ๔. จูฬโคปาลสูตร อุปมาด้วยนายโคบาล [๓๘๘] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้:- สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับ อยู่ที่ ริมฝั่ง แม่น้ำคงคา เมืองอุกกเวลา แคว้นวัชชี. ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียก ภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเหล่านั้น ทูลรับพระดำรัสของ พระผู้มีพระภาคแล้ว. อุปมานายโคบาล กับสมณพราหมณ์ [๓๘๙] พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระพุทธพจน์นี้ว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรื่องเคยมี มาแล้ว นายโคบาลชาวมคธรัฐ เป็นชาติปัญญาเขลา มิได้พิจารณา ในสารทสมัย เดือนท้าย ฤดูฝน มิได้ พิจารณาฝั่งข้างนี้แห่งแม่น้ำคงคา ให้ฝูงโคข้าม โดยสถานที่ มิใช่ท่าไปสู่ฝั่ง ข้างโน้น ซึ่งเป็นฝั่งเหนือแห่งหมู่ชนชาววิเทหรัฐ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้นแล ฝูงโคว่ายไปเข้าวนในกระแส กลางแม่น้ำ คงคา ถึงความพินาศ ในแม่น้ำนั้น นั่นเป็นเพราะอะไร? ดูกรภิกษุทั้งหลาย เป็นเพราะนายโคบาล ชาว มคธรัฐนั้น มีปัญญาเขลา มิได้พิจารณาในสารทสมัย เดือนท้ายฤดูฝน มิได้พิจารณา ฝั่งข้างนี้แห่งแม่น้ำคงคา ให้ฝูงโคข้ามโดยสถานที่ มิใช่ท่า ไปสู่ฝั่งข้างโน้น ซึ่งเป็นฝั่งเหนือ แห่งหมู่ชนชาววิเทหรัฐ ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมณะหรือพราหมณ์พวกใดพวกหนึ่ง ที่ไม่ฉลาดในโลกนี้ ไม่ฉลาด ในโลกหน้า ไม่ฉลาดในเตภูมิกธรรม อันเป็นแก่งแห่งมาร ไม่ฉลาดใน นวโลกุตรธรรม อันไม่เป็นแก่งแห่งมาร ไม่ฉลาดในเตภูมิกธรรมอันเป็นแก่งแห่งมัจจุ ไม่ฉลาดใน นวโลกุตรธรรม อันไม่เป็นแก่งแห่งมัจจุ ชนเหล่าใด นับถือถ้อยคำของ สมณะ หรือ พราหมณ์พวกนั้นว่า เป็นถ้อยคำอันตนควรฟัง ควรเชื่อ ความนับถือ ของชน เหล่านั้น จักเป็นไปเพื่อไม่เป็นประโยชน์ เพื่อทุกข์ตลอดกาลนาน ฉันนั้นนั่นแล. [๓๙๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรื่องเคยมีมาแล้ว นายโคบาลชาวมคธรัฐเป็น ชาติ มีปัญญา พิจารณาในสารทสมัย เดือนท้ายฤดูฝน พิจารณาฝั่งข้างนี้แห่งแม่น้ำ คงคา ให้ฝูงโค ข้าม โดยสถานที่เป็นท่าไปสู่ฝั่งข้างโน้น ซึ่งเป็นฝั่งเหนือแห่งหมู่ ชน ชาววิเทหรัฐ นายโคบาลนั้น ให้เหล่าโคที่เป็นพ่อฝูงนำฝูงข้ามไปก่อน โคเหล่านั้น ว่ายตัด กระแส แม่น้ำคงคา ขวางไปได้ถึงฝั่งโดยสวัสดี ต่อนั้น จึงให้เหล่าโคที่มีกำลัง และโค ที่ฝึกไว้ ข้ามไป โคเหล่านั้น ว่ายตัดกระแส แม่น้ำ คงคาขวางไปได้ถึงฝั่งโดยสวัสดี ต่อนั้น จึงให้เหล่าโคหนุ่มโคสาวข้ามไป โคเหล่านั้นว่ายตัดกระแสแม่น้ำคงคา ขวางไป ได้ถึงฝั่งโดยสวัสดี ต่อนั้น จึงให้พวกลูกโคที่มีกำลังยังน้อยข้ามไป ลูกโคเหล่านั้นว่าย ตัดกระแส แม่น้ำ คงคาขวางไป ได้ถึงฝั่งโดยสวัสดี ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรื่องเคยมีมาแล้ว ลูกโคเล็กที่เกิดในวันนั้น ลอยไป ตามเสียง โคเมีย ที่เป็นแม่ แม้ลูกโคนั้น ก็ว่ายตัดกระแส แม่น้ำคงคาขวางไป ได้ถึงฝั่งโดยสวัสดี นั่นเป็นเพราะอะไร? เพราะนายโคบาลนั้นเป็นคนฉลาด ดูกรภิกษุทั้งหลาย เหมือนอย่างนายโคบาล ชาวมคธ รัฐนั้นเป็นชาติมีปัญญา พิจารณาในสารทสมัยเดือนท้ายฤดูฝน พิจารณาฝั่งข้างนี้ แห่งแม่น้ำคงคา ให้ฝูงโค ข้ามโดยสถานที่เป็นท่าไปสู่ฝั่งข้างโน้น ซึ่งเป็นฝั่ง เหนือแห่ง หมู่ชนชาววิเทหรัฐ ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมณะหรือพราหมณ์พวกใดพวกหนึ่ง ที่ฉลาดในโลกนี้ ฉลาดใน โลกหน้า ฉลาดในเตภูมิกธรรม อันเป็นแก่งแห่งมาร ฉลาดในนวโลกุตรธรรม อันไม่ เป็นแก่งแห่งมาร ฉลาดในเตภูมิธรรมอันเป็นแก่งแห่งมัจจุ ฉลาดใน นวโลกุตรธรรม อันไม่เป็นแก่งแห่งมัจจุ ชนเหล่าใด นับถือถ้อยคำของสมณะ หรือ พราหมณ์พวกนั้นว่า เป็นถ้อยคำอันตนควรฟัง ควรเชื่อ ความนับถือของชนเหล่านั้น จักเป็นไปเพื่อ ประโยชน์ เพื่อสุขตลอดกาลนาน ฉันนั้นนั่นแล. อุปมาภิกษุตัดกระแสมาร เหมือนโคตัดกระแสน้ำ [๓๙๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เหล่าโคผู้ที่เป็นพ่อฝูง เป็นผู้นำฝูง (โคจำพวกที่ 1) ว่ายตัดกระแสแม่น้ำ คงคาขวางไป ได้ถึงฝั่งโดยสวัสดี แม้ฉันใด ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกภิกษุที่เป็นอรหันต์ มีอาสวะสิ้นแล้ว อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว มีกิจที่ควรทำทำเสร็จแล้ว ปลงภาระเสียแล้ว มีประโยชน์ตนถึงแล้วโดยลำดับ มีกิเลสเครื่องประกอบไว้ในภพหมดสิ้นแล้ว พ้นวิเศษ แล้ว เพราะรู้ทั่วถึงโดยชอบ พวกภิกษุแม้นั้น ว่ายตัดกระแสมารขวางไป ถึงฝั่งแล้วโดย สวัสดี ฉันนั้นเหมือนกัน ดูกรภิกษุทั้งหลาย เหล่าโคที่มีกำลังและโคที่ฝึกไว้ (โคจำพวกที่ 2) ว่ายตัดกระแสแม่น้ำคงคาขวางไป ได้ถึงฝั่งโดยสวัสดี แม้ฉันใด ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกภิกษุที่มีสัญโญชน์ส่วนเบื้องต่ำ ๕ ประการทั้งหมดสิ้นไป เป็นโอปปาติกะ ปรินิพพานในโลกนั้น ไม่ต้องเวียนกลับมาจาก โลกนั้น แม้ภิกษุพวกนั้น ก็ชื่อว่าตัดกระแสมารขวางไป จักถึงฝั่งโดยสวัสดี ฉันนั้น เหมือนกัน ดูกรภิกษุทั้งหลาย เหล่าโคหนุ่มและโคสาว (โคจำพวกที่ 3) ว่ายตัด กระแสแม่น้ำคงคาขวางไป ได้ถึงฝั่ง โดยสวัสดี แม้ฉันใดดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกภิกษุที่มีสัญโญชน์ ๓ หมดสิ้นไป และมี ราคะ โทสะ โมหะ เบาบางเป็น สกทาคามีบุคคล มาสู่โลกนี้คราวเดียว ก็จักทำที่สุด แห่งทุกข์ได้ แม้ภิกษุพวกนั้น ก็ชื่อว่าตัดกระแสมารขวางไป จักถึงฝั่งโดยสวัสดี ฉันนั้น เหมือนกัน ดูกรภิกษุทั้งหลาย เหล่าลูกโคที่มีกำลังยังน้อย (โคจำพวกที่ 4) ว่ายตัดกระแสแม่น้ำคงคา ขวางไป ได้ถึงฝั่งโดยสวัสดี แม้ฉันใด ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกภิกษุที่มีสัญโญชน์ ๓ หมดสิ้นไป เป็นโสดาบัน มีความเป็นผู้ไม่ ตกต่ำเป็น ธรรมดา เป็นผู้เที่ยง มีอันจะตรัสรู้เป็นเบื้องหน้า แม้พวกภิกษุนั้น ก็ชื่อว่าตัด กระแสมารขวางไป จักถึงฝั่งโดยสวัสดี ฉันนั้น เหมือนกัน ดูกรภิกษุทั้งหลาย ลูกโคเล็กที่เกิดในวันนั้น (โคจำพวกที่ 5) ลอยไปตามเสียง โคเมียที่เป็นแม่ ว่ายตัด กระแสแม่น้ำคงคาขวางไป ได้ถึงฝั่ง โดยสวัสดี แม้ฉันใด ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกภิกษุ ที่เป็น มัคคสมังคีบุคคล ชั้นต้น ที่เป็น ธัมมานุสารีและที่เป็นสัทธานุสารี แม้พวกภิกษุนั้น ก็ชื่อว่าตัดกระแสมารขวางไป จักถึงฝั่งโดยสวัสดี ฉันนั้นเหมือนกัน ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็เราแล เป็นผู้ฉลาดในโลกนี้ ฉลาดในโลกหน้า ฉลาดใน เตภูมิก ธรรมอันเป็นแก่งแห่งมาร ฉลาดในนวโลกุตรธรรมอันไม่เป็นแก่งแห่งมาร ฉลาดใน เตภูมิกธรรมอันเป็นแก่งแห่งมัจจุ ฉลาดในนวโลกุตรธรรมอันไม่เป็นแก่ง แห่งมัจจุ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ชนเหล่าใด จักนับถือถ้อยคำของเรานั้นว่า เป็นถ้อยคำ อันตน ควรฟัง ควรเชื่อ ความนับถือของชนเหล่านั้น จักเป็นไปเพื่อประโยชน์ เพื่อสุข ตลอดกาลนาน. พระผู้มีพระภาคผู้พระสุคตศาสดา ครั้นตรัสไวยากรณ์ภาษิตนี้จบแล้ว จึงได้ตรัส คาถา ประพันธ์ต่อไปอีกว่าโลกนี้และโลกหน้า เราผู้รู้อยู่ ประกาศดีแล้ว เราเป็นผู้ ตรัสรู้เอง ทราบชัดซึ่งสรรพโลก ทั้งที่เป็นโลกอันมารถึงได้ ทั้งที่เป็นโลกอันมัจจุ ถึงไม่ได้ ด้วยความรู้ยิ่ง จึงได้เปิดอริยมรรคอันเป็นประตูแห่งอมตะเพื่อให้ถึงนิพพาน อัน เป็น แดนเกษม กระแสแห่งมารอันลามก เราตัดแล้ว กำจัดแล้ว ทำให้ปราศจาก ความเหิมแล้ว ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงเป็นผู้มากด้วยความปราโมทย์ ปรารถนาถึงธรรม อันเป็น แดนเกษมเถิด ดังนี้.