เรื่องหมอชีวกโกมารภัจจ์
(รวมรวมจากหลายๆพระสูตร)
หมอชีวกโกมารภัจจ์ (แพทย์ประจำพระพุทธเจ้า)
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
หมอ ชีวกโกมารภัจจ์ (อ่านว่า ชี-วะ-กะ-โก-มา-ระ-พัด) บรมครูแห่งการแพทย์แผนโบราณ เป็นบุคคลที่มีตัวตนจริงในประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา เรื่องราวขีวิตของท่าน มีกล่าวไว้ใน พระไตรปิฎก และคัมภีร์อรรถกถา
ตลอดชีวิตของหมอชีวกโกมารภัจจ์ ได้บำเพ็ญแต่คุณงามความดี ช่วยเหลือผู้เจ็บไข้โดยไม่เลือก ฐานะ จนได้รับยกย่องจากพระพุทธองค์ว่า เป็น เอตทัคคะ ผู้เลิศกว่าอุบาสกทั้งปวงในทาง "เป็นที่รักของปวงชน"
ประวัติ
หมอชีวกโกมารภัจจ์ เป็นบุตรของนางสาลวดี นครโสเภณีประจำเมืองราชคฤห์ แคว้นมคธ ในสมัยนั้นตำแหน่งนี้มีเกียรติยศต่างจากในสมัยนี้ นางสาลวดีตั้งครรภ์โดยบังเอิญ เมื่อคลอดบุตรชายออกมาจึงสั่งให้สาวใช้นำไปทิ้ง แต่ อภัยราชกุมาร พระราชโอรสของพระเจ้าพิมพิสารไปพบเข้า จึงนำมาเลี้ยงเป็นบุตรบุญธรรม
ชื่อ ชีวก ตั้งขึ้นตามคำกราบทูลตอบคำถามของพระองค์ที่ตรัสถามว่า เด็กยังมีชีวิตอยู่หรือเปล่า มหาดเล็กกราบทูลว่า ยังมีชีวิตอยู่ (ชีวโก) ส่วนคำว่า โกมารภัจจ์ แปลว่า กุมารที่ได้รับการเลี้ยงดู หรือ กุมารในราชสำนัก หมายถึง บุตรบุญธรรม นั่นเอง ฉะนั้น ชีวกโกมารภัจจ์ จึงหมายถึง บุตรบุญธรรมที่ยังมีชีวิตอยู่ นั่นเอง
เมื่อเติบโตขึ้นชีวกถูกพวกเด็ก ๆ ในวังล้อเลียนว่า เจ้าลูกไม่มีพ่อ ด้วยความมานะ จึงหนีพระบิดา ไปเรียนศิลปวิทยาที่ เมืองตักสิลา เพื่อเอาชนะคำดูหมิ่น วิชาที่เลือกเรียนคือวิชาแพทย์ แต่เนื่องจากไม่มีค่าเล่าเรียน จึงอาสารับใช้พระอาจารย์ เมื่อเรียนอยู่ถึง 7 ปี จึงลาอาจารย์กลับบ้าน ระหว่างทางอาจารย์ให้ไปหาต้นไม้ที่ทำยาไม่ได้ ให้เก็บตัวอย่างมาให้ดู ปรากฏว่ากลับมามือเปล่า เพราะต้นไม้ทุกต้นใช้ทำยาได้ อาจารย์บอกว่าเขาได้เรียนจบแล้ว จึงอนุญาตให้กลับได้
หลังจากกลับเมืองมาแล้ว ได้รักษาพระเจ้าพิมพิสารให้หายขาดจากภคันทลาพาธ (โรคริดสีดวงทวาร) และได้รับการแต่งตั้งให้เป็นหมอหลวง และได้รับพระราชทานสวนมะม่วง แต่ต่อมาหมอชีวกก็ได้ถวายสวนนี้ให้พระพุทธเจ้าและพระสาวกทั้งหลาย และได้ถวายตัวเป็น แพทย์ประจำพระองค์อีกด้วย ด้วยความที่เป็นคนบำเพ็ญแต่สิ่งที่ดีงาม ช่วยเหลือผู้เจ็บป่วย ไม่เลือกฐานะ จึงได้รับการยกย่องจากพระพุทธเจ้าว่าเป็นเอตทัคคะ ในด้าน เป็นที่รักของปวงชน
ในวงการแพทย์แผนโบราณในปัจจุบันนี้ ถือว่าหมอชีวกโกมารภัจจ์เป็น บรมครูแห่งการแพทย์แผนโบราณ เป็นที่เคารพของประชาชนทั่วไป
พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๓ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๕
มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์
๕. ชีวกสูตร เรื่องหมอชีวกโกมารภัจจ์
[๕๖] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้:-
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ อัมพวันของหมอชีวกโกมารภัจจ์ เขตพระนครราชคฤห์. ครั้งนั้นแล หมอชีวกโกมารภัจจ์เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง. ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระพุทธเจ้าได้ฟังคำนี้มาว่า ชนทั้งหลายย่อมฆ่าสัตว์เจาะจงพระสมณโคดม พระสมณโคดมทรงทราบข้อนั้นอยู่ ยังเสวยเนื้อที่เขาทำเฉพาะตน อาศัยตนทำ ดังนี้
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ชนเหล่าใดกล่าวอย่างนี้ว่า ชนทั้งหลายย่อมฆ่าสัตว์เจาะจงพระสมณโคดม พระสมณโคดมทรงทราบข้อนั้นอยู่ ยังเสวยเนื้อที่เขาทำเฉพาะตน อาศัยตนทำ ดังนี้ ชนเหล่านั้นชื่อว่า กล่าวตรงกับที่พระผู้มีพระภาคตรัส ไม่ชื่อว่ากล่าวตู่พระผู้มีพระภาค ด้วยคำอันไม่เป็นจริง ชื่อว่ายืนยันธรรมอันสมควรแก่ธรรม การกล่าวและกล่าวตามที่ชอบธรรม จะไม่ถึงข้อติเตียนละหรือ?
เนื้อที่ไม่ควรบริโภค และควรบริโภค ๓ อย่าง
[๕๗] พ. ดูกรชีวก ชนใดกล่าวอย่างนี้ว่า ชนทั้งหลายย่อมฆ่าสัตว์เจาะจง พระสมณโคดม พระสมณโคดมทรงทราบข้อนั้นอยู่ ก็ยังเสวยเนื้อสัตว์ที่เขาทำเฉพาะตน อาศัยตนทำ ดังนี้ชนเหล่านั้น จะชื่อว่ากล่าวตรงกับที่เรากล่าวหามิได้ ชื่อว่ากล่าวตู่เราด้วยคำอันไม่เป็นจริง
ดูกรชีวกเรากล่าวเนื้อว่า ไม่ควรเป็นของบริโภค ด้วยเหตุ ๓ ประการ คือ
เนื้อที่ตนเห็น
เนื้อที่ตนได้ยิน
เนื้อที่ตนรังเกียจ
ดูกรชีวก เรากล่าวเนื้อว่าเป็นของไม่ควรบริโภคด้วยเหตุ ๓ ประการ นี้แล
ดูกรชีวก เรากล่าวเนื้อว่า เป็นของ ควรบริโภค ด้วยเหตุ ๓ ประการ คือ
เนื้อที่ตนไม่ได้เห็น
เนื้อที่ตนไม่ได้ยิน
เนื้อที่ตนไม่ได้รังเกียจ
ดูกรชีวก เรากล่าวเนื้อว่า เป็นของควรบริโภคด้วยเหตุ ๓ ประการนี้แล.
การแผ่เมตตา
[๕๘] ดูกรชีวก ภิกษุในธรรมวินัยนี้ อาศัยบ้านหรือนิคมแห่งใดแห่งหนึ่งอยู่ เธอมีใจประกอบด้วยเมตตา แผ่ไปตลอดทิศหนึ่ง อยู่ ที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ ก็เหมือนกัน ตามนัยนี้ทั้งเบื้องบน เบื้องล่าง เบื้องขวาง แผ่ไปตลอดโลก ทั่วสัตว์ทุกเหล่าโดยความมีตนทั่วไปในทุกสถาน ด้วยใจประกอบด้วยเมตตาอันไพบูลย์ ถึงความเป็นใหญ่ หาประมาณมิได้ ไม่มีเวรไม่มีความเบียดเบียนอยู่ คฤหบดีหรือบุตรคฤหบดี เข้าไปหาเธอแล้วนิมนต์ด้วยภัต เพื่อให้ฉันในวันรุ่งขึ้น
ดูกรชีวก เมื่อภิกษุหวังอยู่ ก็รับนิมนต์ พอล่วงราตรีนั้นไป เวลาเช้า ภิกษุนั้นนุ่งแล้ว ถือบาตรและจีวร เข้าไปยัง นิเวศน์ของคฤหบดี หรือบุตรของคฤหบดี แล้วนั่งลงบนอาสนะที่เขาปูลาดไว้ คฤหบดี หรือบุตรของ คฤหบดีนั้น อังคาสเธอด้วยบิณฑบาตอันประณีต ความดำริว่า ดีหนอ คฤหบดีหรือบุตรคฤหบดีผู้นี้ อังคาสเราอยู่ด้วย บิณฑบาต อันประณีต ดังนี้ ย่อมไม่มีแก่เธอ แม้ความดำริว่า โอหนอ คฤหบดีหรือบุตรคฤหบดีผู้นี้ พึงอังคาสเรา ด้วยบิณฑบาตอันประณีตเช่นนี้ แม้ต่อไปดังนี้ ก็ไม่มีแก่เธอ เธอไม่กำหนัด ไม่สยบ ไม่รีบกลืนบิณฑบาตนั้น มีปกติเห็นโทษ มีปัญญาเครื่องถอนตน บริโภคอยู่
ดูกรชีวก ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉนว่าในสมัยนั้น ภิกษุนั้นย่อมคิดเพื่อเบียดเบียนตน เพื่อเบียดเบียนผู้อื่น หรือเพื่อเบียดเบียนทั้งสองฝ่าย บ้างหรือ?
ไม่เป็นเช่นนั้น พระพุทธเจ้าข้า.
ดูกรชีวก สมัยนั้น ภิกษุนั้นชื่อว่าฉันอาหารอันไม่มีโทษมิใช่หรือ?
อย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระพุทธเจ้าได้สดับมาว่า พรหมมีปกติอยู่ด้วยเมตตา คำนั้นเป็นแต่ข้าพระพุทธเจ้าได้สดับมา คำนี้พระผู้มีพระภาคเป็นองค์พยานปรากฏแล้ว ด้วยว่าพระผู้มีพระภาค ทรงมีปกติอยู่ด้วยเมตตา.
ดูกรชีวก บุคคลพึงมีความพยาบาท เพราะราคะ โทสะ โมหะใด ราคะ โทสะโมหะนั้น ตถาคตละแล้ว มีมูลอันขาดแล้ว เป็นดุจตาลยอดด้วน ถึงความไม่มี มีอันไม่เกิดต่อไปเป็นธรรมดา ดูกรชีวก ถ้าแลท่านกล่าว หมายเอาการละราคะ โทสะ โมหะ เป็นต้นนี้เราอนุญาตการกล่าวเช่นนั้นแก่ท่าน.
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระพุทธเจ้ากล่าวหมายเอาการละราคะ โทสะ และโมหะเป็นต้นนี้.
การแผ่กรุณา มุทิตา อุเบกขา
[๕๙] ดูกรชีวก ภิกษุในธรรมวินัยนี้ อาศัยบ้านหรือนิคมแห่งใดแห่งหนึ่งอยู่ เธอมีใจประกอบด้วยกรุณา ... มีใจประกอบด้วยมุทิตา ... มีใจประกอบด้วยอุเบกขา แผ่ไปตลอดทิศหนึ่งอยู่ ทิศที่ ๒ ทิศที่ ๓ ทิศที่ ๔ ก็เหมือนกัน ตามนัยนี้ ทั้งเบื้องบน เบื้องล่าง เบื้องขวางแผ่ไปตลอดโลก ทั่วสัตว์ทุกเหล่าโดยความมีตนทั่วไป ในที่ทุกสถาน ด้วยใจประกอบด้วยอุเบกขาอันไพบูลย์ ถึงความเป็นใหญ่ หาประมาณมิได้ ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียน คฤหบดีหรือบุตรคฤหบดีเข้าไปหาเธอ แล้วนิมนต์ด้วยภัต เพื่อให้ฉันในวันรุ่งขึ้น
ดูกรชีวก เมื่อภิกษุหวังอยู่ย่อมรับนิมนต์ พอล่วงราตรีนั้นไป เวลาเช้า ภิกษุนั้นนุ่งแล้ว ถือบาตร และจีวรเข้าไปยัง นิเวศน์ของคฤหบดีหรือบุตรของคฤหบดี แล้วนั่งลงบนอาสนะที่เขาปูลาดไว้.
คฤหบดีหรือบุตรคฤหบดีนั้น อังคาสเธอด้วยบิณฑบาตอันประณีต ความดำริว่า ดีหนอคฤหบดี หรือบุตรคฤหบดี ผู้นี้ อังคาสเราอยู่ด้วยบิณฑบาตอันประณีต ดังนี้ ย่อมไม่มีแก่เธอ แม้ความดำริว่า โอหนอ คฤหบดี หรือบุตร คฤหบดีผู้นี้ พึงอังคาสเราด้วยบิณฑบาตอันประณีตนี้แม้ต่อไป ดังนี้ ก็ไม่มีแก่เธอ เธอไม่กำหนัด ไม่สยบ ไม่รีบกลืนบิณฑบาต นั้น มีปกติเห็นโทษมีปัญญาเครื่องถอนตน บริโภคอยู่
ดูกรชีวก ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉนว่า ในสมัยนั้นภิกษุนั้นย่อมคิดเพื่อเบียดเบียนตน เพื่อเบียดเบียนผู้อื่น หรือเพื่อเบียดเบียนทั้งสองฝ่าย บ้างหรือ?
ไม่เป็นเช่นนั้น พระพุทธเจ้าข้า.
ดูกรชีวก สมัยนั้น ภิกษุนั้นชื่อว่าฉันอาหารอันไม่มีโทษมิใช่หรือ?
อย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระพุทธเจ้าได้สดับมาว่า พรหมมีปกติอยู่ด้วยอุเบกขา คำนั้นเป็นแต่ข้าพระพุทธเจ้าได้สดับมา คำนี้พระผู้มีพระภาคเป็นองค์พยานปรากฏแล้ว ด้วยว่า พระผู้มีพระภาค ทรงมีปกติอยู่ด้วยอุเบกขา.
ดูกรชีวก บุคคลพึงมีความเบียดเบียน มีความไม่ยินดี มีความกระทบกระทั่งเพราะราคะโทสะ โมหะใด ราคะ โทสะ โมหะนั้น ตถาคตละแล้ว มีมูลอันขาดแล้ว เป็นดุจตาลยอดด้วนถึงความไม่มี มีอันไม่เกิดต่อไปเป็นธรรมดา ดูกรชีวก ถ้าแลท่านกล่าวหมายเอาการละราคะโทสะ โมหะ เป็นต้นนี้ เราอนุญาตการกล่าวเช่นนั้นแก่ท่าน.
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระพุทธเจ้ากล่าวหมายเอาการละราคะ โทสะ โมหะ เป็นต้นนี้.
ทำบุญได้บาปด้วยเหตุ ๕ ประการ
[๖๐] ดูกรชีวก ผู้ใดฆ่าสัตว์เจาะจงตถาคต หรือสาวกตถาคต ผู้นั้นย่อมประสพบาป มิใช่บุญเป็นอันมาก ด้วยเหตุ ๕ ประการ คือ
ผู้นั้นกล่าวอย่างนี้ว่า
ท่านทั้งหลาย จงไปนำสัตว์ชื่อโน้นมา ดังนี้ ชื่อว่าย่อมประสพบาปมิใช่บุญเป็นอันมาก ด้วยเหตุประการที่ ๑
นี้
สัตว์นั้นเมื่อถูกเขาผูกคอนำมา ได้เสวยทุกข์ โทมนัส ชื่อว่า ย่อมประสพบาปมิใช่บุญเป็นอันมาก ด้วยเหตุประการที่ ๒ นี้
ผู้นั้นพูดอย่างนี้ว่า ท่านทั้งหลายจงไปฆ่าสัตว์นี้ ชื่อว่า ย่อมประสพบาปมิใช่บุญเป็นอันมาก ด้วยเหตุประการที่ ๓ นี้
สัตว์นั้นเมื่อเขากำลังฆ่าย่อมเสวยทุกข์ โทมนัส ชื่อว่า ย่อมประสพบาปมิใช่บุญเป็นอันมาก ด้วยเหตุประการที่ ๔ นี้
ผู้นั้นย่อมยังตถาคต และสาวกตถาคต ให้ยินดีด้วยเนื้อเป็นอกัปปิยะ ชื่อว่า ย่อมประสพบาปมิใช่บุญเป็นอันมาก ด้วยเหตุประการที่ ๕ นี้
ดูกรชีวก ผู้ใดฆ่าสัตว์เจาะจงตถาคต หรือสาวกของตถาคต ผู้นั้นย่อมประสพบาปมิใช่บุญเป็นอันมาก ด้วยเหตุ ๕ ประการนี้.
[๖๑] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว ชีวกโกมารภัจจ์ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ น่าอัศจรรย์ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญไม่เคยมี ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญภิกษุทั้งหลาย ย่อมฉันอาหารอันไม่มีโทษหนอ
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์ แจ่มแจ้งนัก เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่คนหลงทาง หรือส่อง ประทีปในที่มืด ด้วยคิดว่า ผู้มีจักษุจักเห็นรูปฉันใด พระผู้มีพระภาคทรงประกาศพระธรรม โดย อเนกปริยายฉันนั้นเหมือนกัน
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์นี้ขอถึงพระผู้มีพระภาค พระธรรม และพระภิกษุสงฆ์ว่าเป็นสรณะ ขอพระผู้มีพระภาคทรงจำข้าพระองค์ว่า เป็นอุบาสก ผู้ถึงสรณะตลอดชีวิต ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ดังนี้แล.
จบ ชีวกสูตร ที่ ๕.
พระไตรปิฎก เล่มที่ ๕ พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๕
มหาวรรค ภาค ๒
กำเนิดชีวกโกมารภัจจ์
ก็สมัยนั้น ในพระนครราชคฤห์ มีกุมารีชื่อ สาลวดี เป็นสตรีทรงโฉมสคราญตา น่าเสน่หาประกอบด้วย ผิวพรรณ เฉิดฉายยิ่ง จึงพวกคนมีทรัพย์ชาวพระนครราชคฤห์ ได้คัดเลือกกุมารีสาลวดี เป็นหญิงงามเมือง
ครั้นนางกุมารีสาลวดี ได้รับเลือกเป็นหญิงงามเมืองแล้ว ไม่ช้านานเท่าไรนัก ก็ได้เป็นผู้ชำนาญในการฟ้อนรำ ขับร้อง บรรเลงเครื่องดนตรี มีคนที่มีความประสงค์ต้องการตัวไปร่วมอภิรมย์ ราคาตัวคืนละ ๑๐๐ กษาปณ์
ครั้นมิช้ามินาน นางสาลวดีหญิงงามเมืองก็ตั้งครรภ์ จึงนางมีความคิดเห็นว่า ธรรมดาสตรีมีครรภ์ ไม่เป็นที่พอใจของพวกบุรุษ ถ้าใครๆทราบว่าเรามีครรภ์ ลาภผลของเราจักเสื่อมหมด ถ้ากระไร เราควรแจ้งให้เขาทราบว่า เป็นไข้
ต่อมานางได้
สั่งคนเฝ้าประตูไว้ว่า นายประตูจ๋า โปรดอย่าให้ชายใดๆเข้ามา และผู้ใดถามหาดิฉัน จงบอกให้ เขาทราบว่าเป็นไข้นะ คนเฝ้าประตูนั้นรับคำนางสาลวดีหญิงงามเมืองว่า จะปฏิบัติตามคำสั่งเช่นนั้น หลังจากนั้นอาศัยความแก่แห่งครรภ์นั้น นางได้คลอดบุตรเป็นชาย และสั่งกำชับทาสีว่า แม่สาวใช้จงวางทารกนี้ ลงบนกระด้งเก่าๆ แล้วนำออกไปทิ้งที่กองยากเยื่อ ทาสีนั้นรับคำนางว่า ทำเช่นนั้นได้ เจ้าค่ะ ดังนี้ แล้ววางทารก นั้นลงบนกระด้งเก่าๆนำออกไปทิ้งไว้ ณ กองหยากเยื่อ
ก็ครั้งนั้นเป็นเวลาเช้า เจ้าชายอภัย (โอรสพระเจ้าพิมพิสาร) กำลังเสด็จเข้าสู่พระราชวัง ได้ทอดพระเนตรเห็นทารกนั้น อันฝูงกาห้อมล้อมอยู่ ครั้นแล้วได้ถามมหาดเล็กว่า พนายนั่นอะไรฝูงการุมกันตอม
ม. ทารก พ่ะย่ะค่ะ
อ. ยังเป็นอยู่หรือ พนาย (พนาย:คือคำที่ใช้เรียกขุนนางมหาดเล็ก)
ม. ยังเป็นอยู่ พ่ะย่ะค่ะ
อ. พนาย ถ้าเช่นนั้น จงนำทารกนั้นไปที่วังของเรา ให้นางนมเลี้ยงไว้
คนเหล่านั้นรับสนองพระบัญชาว่า อย่างนั้น พ่ะย่ะค่ะ แล้วนำทารกนั้นไปวังเจ้าชายอภัย มอบแก่นางนมว่า โปรดเลี้ยงไว้ด้วย อาศัยคำว่า ยังเป็นอยู่ เขาจึงขนานนามทารกนั้นว่า ชีวก ชีวกนั้น อันเจ้าชายรับสั่งให้เลี้ยงไว้ เขาจึงได้ตั้งนามสกุลว่า โกมารภัจจ์ ต่อมาไม่นานนัก ชีวกโกมารภัจจ์ก็รู้เดียงสา จึงเข้าเฝ้าเจ้าชายอภัย ครั้นแล้วได้ทูลคำนี้แด่เจ้าชายอภัยว่า ใครเป็นมารดาของเกล้ากระหม่อม ใครเป็นบิดาของเกล้ากระหม่อม พ่ะย่ะค่ะ
เจ้าชายรับสั่งว่า พ่อชีวก แม้ถึงตัวเราก็ไม่รู้จักมารดาของเจ้า ก็แต่ว่าเราเป็นบิดาของเจ้า เพราะเราได้ให้เลี้ยง เจ้าไว้.
จึงชีวกโกมารภัจจ์ มีความคิดเห็นว่า ราชสกุลเหล่านี้แล คนที่ไม่มีศิลปะ จะเข้าพึ่งพระบารมี ทำไม่ได้ ง่าย ถ้ากระไร เราควรเรียนวิชาแพทย์ไว้.
เรียนศิลปะทางแพทย์
[๑๒๙] ก็โดยสมัยนั้นแล นายแพทย์ทิศาปาโมกข์ตั้งสำนักอยู่ ณ เมืองตักกสิลา จึงชีวกโกมารภัจจ์ ไม่ทูลลาเจ้าชายอภัย ลอบเดินทางไปเมืองตักกสิลา เดินรอนแรมไปโดยลำดับ ถึงเมืองตักกสิลา แล้วเข้าไปหา นายแพทย์ผู้นั้น ครั้นแล้วได้กราบเรียนคำนี้แก่นายแพทย์ว่า ท่านอาจารย์ กระผมประสงค์จะศึกษาศิลปะ นายแพทย์สั่งว่า พ่อชีวก ถ้าเช่นนั้นจึงศึกษาเถิด.
ครั้งนั้นชีวกโกมารภัจจ์ เรียนวิชาได้มาก เรียนได้เร็ว เข้าใจดีด้วย และวิชาที่เรียนได้แล้วก็ไม่ลืม ครั้นล่วงมาได้ ๗ ปี ชีวกโกมารภัจจ์คิดว่า ตัวเราเรียนวิชาได้มาก เรียนได้เร็วเข้าใจดีด้วย ทั้งวิชาที่เรียนได้ก็ไม่ลืม และเราเรียนมาได้ ๗ ปีแล้วยังไม่สำเร็จศิลปะนี้ เมื่อไรจักสำเร็จสักที จึงเข้าไปหานายแพทย์ผู้นั้น แล้วได้เรียนถามว่า
ท่านอาจารย์ กระผมเรียนวิชาได้มากเรียนได้เร็ว เข้าใจดีด้วย ทั้งวิชาที่เรียนได้แล้วก็ไม่ลืม และกระผมได้เรียน มาเป็นเวลา ๗ ปีก็ยังไม่สำเร็จ เมื่อไรจักสำเร็จสักทีเล่า ขอรับ.
นายแพทย์ตอบว่า พ่อชีวก ถ้าเช่นนั้นเธอจงถือเสียมเที่ยวไปรอบเมืองตักกสิลาระยะทาง ๑ โยชน์ ตรวจดูสิ่งใด ไม่ใช่ตัวยา จงขุดสิ่งนั้นมา
ชีวกโกมารภัจจ์รับคำนายแพทย์ว่า เป็นเช่นนั้นท่านอาจารย์ ดังนั้นแล้ว ถือเสียมเดินไปรอบเมืองตักกสิลา ระยะทาง ๑ โยชน์ มิได้เห็นสิ่งใดที่ไม่เป็นตัวยาสักอย่างหนึ่ง จึงเดินทางกลับเข้าไปหานายแพทย์ และได้ กราบเรียนคำนี้ต่อนายแพทย์ว่า ท่านอาจารย์กระผมเดินไปรอบเมืองตักกสิลาระยะทาง ๑ โยชน์แล้ว มิได้เห็นสิ่งที่ไม่เป็นยาสักอย่างหนึ่ง
นายแพทย์บอกว่า พ่อชีวก เธอศึกษาสำเร็จแล้ว เท่านี้ก็พอที่เธอจะครองชีพได้ แล้วได้ให้เสบียงเดินทาง เล็กน้อยแก่ชีวกโกมารภัจจ์
ลำดับนั้น ชีวกโกมารภัจจ์ถือเสบียงเล็กน้อยนั้นแล้ว ได้เดินทางมุ่งไปพระนครราชคฤห์ ครั้นเดินทางไปเสบียง เพียงเล็กน้อยนั้นได้หมดลงที่เมืองสาเกต ในระหว่างทาง จึงเกิดความปริวิตกว่าหนทางเหล่านี้แล กันดารอัตคัด น้ำ อัตคัดอาหาร คนไม่มีเสบียงจะเดินไป ทำไม่ได้ง่ายจำเราจะต้องหาเสบียง.
ภาคปฏิบัติงานแพทย์
[๑๓๐] ก็โดยสมัยนั้นแล ภรรยาเศรษฐีที่เมืองสาเกต เป็นโรคปวดศีรษะอยู่ ๗ ปีนายแพทย์ทิศา ปาโมกข์ใหญ่ๆ หลายคนมารักษา ก็ไม่สามารถรักษาให้หาย ได้ขนเงินไปเป็นอันมาก จึงชีวกโกมารภัจจ์ เข้าไปสู่เมืองสาเกต ถามคนทั้งหลายว่า พนาย ใครเจ็บไข้บ้าง ฉันจะรักษา คนทั้งหลายพากันบอกว่า ท่านอาจารย์ ภรรยาเศรษฐีนั้นปวดศีรษะอยู่ ๗ ปี เชิญไปรักษาภรรยาเศรษฐีเถิดท่านอาจารย์
จึงชีวกโกมารภัจจ์เดินทางไปบ้านเศรษฐีคหบดี ครั้นถึงแล้วได้สั่งคนเฝ้าประตูว่า พ่อนายท่านจงไปกราบเรียน ภรรยาเศรษฐีว่า คุณนายขอรับ หมอมาแล้วเขามีความประสงค์จะเยี่ยมคุณนาย
คนเฝ้าประตูรับคำ ชีวกโกมาร ภัจจ์ว่า เป็นอย่างนั้นขอรับ อาจารย์ ดังนั้น แล้วเข้าไปหาภรรยาเศรษฐี แล้วได้กราบเรียนว่าคุณนาย ขอรับ หมอมาแล้ว เขามีความประสงค์จะเยี่ยมคุณนายภรรยาเศรษฐีถามว่า พ่อนายเฝ้าประตูจ๋า หมอเป็นคนเช่นไร
พ. เป็นหมอหนุ่มๆ ขอรับ
ภ. ไม่ละ พ่อนายเฝ้าประตู หมอหนุ่มๆ จักทำอะไรแก่ฉันได้ นายแพทย์ทิศาปาโมกข์ใหญ่ๆ หลายคนมารักษา ก็ไม่สามารถรักษาให้หาย ได้ขนเงินไปเป็นอันมาก จึงนายประตูนั้น เดินออกมาหาชีวกโกมารภัจจ์ แล้วได้เรียน ว่า ท่านอาจารย์ ภรรยาเศรษฐีพูดอย่างนี้ว่า ไม่ละ พ่อนายเฝ้าประตู หมอหนุ่มๆ จักทำอะไรแก่ฉันได้ นายแพทย์ ทิศาปาโมกข์ใหญ่ๆ หลายคนมารักษา ก็ไม่สามารถรักษาให้หาย ได้ขนเงินไปเป็นอันมาก
ชี. พ่อนายเฝ้าประตู ท่านจงไปกราบเรียนภรรยาเศรษฐีว่า คุณนายขอรับ คุณหมอสั่งมาอย่างนี้ว่า ขอคุณนาย อย่าเพิ่งให้อะไรๆ ต่อเมื่อหายโรคแล้วคุณนายประสงค์จะให้สิ่งใด จึงค่อยให้สิ่งนั้นเถิด นายประตู รับคำชีวก โกมารภัจจ์ว่า เป็นอย่างนั้น ขอรับอาจารย์ ดังนั้นแล้วเข้าไปหาภรรยาเศรษฐี ได้กราบเรียนว่า คุณนายขอรับ คุณหมอบอกข่าวมาอย่างนี้ว่า ขอคุณนายอย่าเพิ่งให้อะไรๆ ก่อน ต่อเมื่อคุณนายหายโรคแล้ว ประสงค์จะให้ สิ่งใด จึงค่อยให้สิ่งนั้นเถิด
ภรรยาเศรษฐีสั่งว่า พ่อนายประตู ถ้าเช่นนั้นเชิญคุณหมอมา
นายประตูรับคำภรรยาเศรษฐีว่า อย่างนั้นขอรับ แล้วเข้าไปหาชีวกโกมารภัจจ์ แล้วได้แจ้งให้ทราบว่า ท่านอาจารย์ ภรรยาเศรษฐี ขอเชิญท่านเข้าไป
เริ่มรักษาภรรยาเศรษฐี
ลำดับนั้นชีวกโกมารภัจจ์เข้าไปหาภรรยาเศรษฐี ครั้นแล้วตรวจดูความผันแปรของภรรยาเศรษฐี แล้วได้กล่าว คำนี้แก่ภรรยาเศรษฐีว่า คุณนายขอรับ ผมต้องการเนยใสหนึ่งซองมือ ครั้นภรรยาเศรษฐีสั่งให้หาเนยใส หนึ่งซองมือมาให้แก่ชีวกแล้ว ชีวกโกมารภัจจ์ จึงหุงเนยใสหนึ่งซองมือนั้น กับยาต่างๆ ให้ภรรยาเศรษฐีนอน
หงายบนเตียง แล้วให้นัตถุ์ ขณะนั้นเนยใสที่ให้นัตถุ์นั้นได้พุ่งออกจากปาก จึงภรรยาเศรษฐี ถ่มเนยใสนั้น ลงในกระโถน สั่งทาสีว่า แม่สาวใช้จงเอาสำลีซับเนยใสนี้ไว้ จึงชีวกโกมารภัจจ์ได้คิดว่า แปลกจริงพวกเรา แม่บ้านคนนี้ช่างสกปรก เนยใสนี้จำเป็นจะต้องทิ้ง ยังใช้ให้ทาสีเอาสำลีซับไว้ ส่วนยาของเรามีราคาแพงๆ มากกว่าปล่อยให้เสีย แม่บ้านคนนี้จักให้ขวัญข้าวอะไรแก่เราบ้าง
ขณะนั้นภรรยาเศรษฐีสังเกตรู้อาการอันแปลกของชีวกโกมารภัจจ์ แล้วได้ถามคำนี้แก่ชีวกโกมารภัจจ์ว่า อาจารย์ท่านแปลกใจอะไรหรือ
ชี. เวลานี้ผมกำลังคิดอยู่ว่า แปลกจริงแม่บ้านคนนี้ช่างสกปรกเหลือเกิน เนยใสนี้จำเป็นจะต้องทิ้ง ยังใช้ให้ทาสี เอาสำลีซับไว้ ส่วนยาของเรามีราคาแพงๆ มากกว่าปล่อยให้เสียแม่บ้านคน นี้จักให้ขวัญข้าวอะไรแก่เราบ้าง
ภ. อาจารย์ พวกดิฉันชื่อว่าเป็นคนมีเหย้าเรือน จำเป็นจะต้องรู้จักสิ่งที่ควรสงวน เนยใสนี้ยังดีอยู่จะใช้เป็นยา สำหรับทาเท้าพวกทาส หรือกรรมกรก็ได้ ใช้เป็นน้ำมันเติมตะเกียงก็ได้ อาจารย์ท่านอย่าได้คิดวิตกไปเลย ค่าขวัญข้าวของท่านจักไม่ลดน้อย
คราวนั้นชีวกโกมารภัจจ์ได้กำจัดโรคปวดศีรษะของภรรยาเศรษฐี ซึ่งเป็นมา ๗ ปีให้หายโดยวิธี นัตถุ์ยา คราวเดียวเท่านั้น ครั้นภรรยาเศรษฐีหายโรคแล้ว ได้ให้รางวัลชีวกโกมารภัจจ์เป็นเงิน ๔,๐๐๐ กษาปณ์ บุตรเศรษฐีได้ทราบว่ามารดาของเราหายโรคแล้ว ได้ให้รางวัลเพิ่มอีก ๔,๐๐๐ กษาปณ์
บุตรสะใภ้ได้ทราบว่า แม่ผัวของเราหายโรคแล้ว ก็ได้ให้รางวัล ๔,๐๐๐ กษาปณ์ เศรษฐีคหบดีทราบว่า ภรรยาของเราหายโรคแล้ว ได้เพิ่มรางวัลให้อีก ๔,๐๐๐ กษาปณ์ และให้ทาสทาสี รถม้าอีกด้วย
จึงชีวก โกมารภัจจ์ รับเงิน ๑๖,๐๐๐ กษาปณ์ กับทาส ทาสี และรถม้า เดินมุ่งไปพระนครราชคฤห์ ถึงพระนคร ราชคฤห์ โดยลำดับ เข้าเฝ้า เจ้าชายอภัย ครั้นแล้วได้กราบทูลว่าเงิน ๑๖,๐๐๐ กษาปณ์ กับทาส ทาสี และรถม้านี้ เป็นการกระทำครั้งแรกของเกล้ากระหม่อม ขอใต้ฝ่าพระบาทจงทรงพระกรุณา โปรดรับค่าเลี้ยงดูเกล้ากระหม่อมเถิด พระเจ้าข้า
พระราชกุมารรับสั่งว่า อย่าเลยพ่อนายชีวก ทรัพย์นี้จงเป็นของเจ้าคนเดียวเถิด และเจ้าจงสร้างบ้านอยู่ในวัง ของเราเถิด
ชีวกโกมารภัจจ์ทูลรับพระบัญชาเจ้าชายอภัยว่า เป็นพระกรุณายิ่งพระเจ้าข้า แล้วได้สร้างบ้านอยู่ในวังของ เจ้าชายอภัย.
พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๓ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๕
อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต
ชีวกสูตร
[๑๑๖] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ สวนมะม่วง ของหมอชีวก ใกล้พระนครราชฤห์ ครั้งนั้น หมอชีวกโกมารภัจจ์เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง
ครั้นแล้วได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ด้วยเหตุมีประมาณเท่าไรหนอ บุคคลชื่อว่าเป็น อุบาสก พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรชีวก เมื่อใดแลบุคคลถึงพระพุทธเจ้า ถึงพระธรรม ถึงพระสงฆ์ ว่าเป็นสรณะ ด้วยเหตุมีประมาณเท่านี้แลชื่อว่าเป็นอุบาสก ฯ
ช. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ด้วยเหตุมีประมาณเท่าไร อุบาสกชื่อว่าเป็นผู้มีศีล ฯ
พ. ดูกรชีวก เมื่อใดแล อุบาสกงดเว้นจากปาณาติบาต ฯลฯ งดเว้นจากการดื่มน้ำเมา คือ สุราและเมรัย อันเป็น ที่ตั้งแห่งความประมาท ด้วยเหตุมีประมาณเท่านี้แล อุบาสกชื่อว่าเป็นผู้มีศีล ฯ
ช. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็ด้วยเหตุมีประมาณเท่าไร อุบาสกชื่อว่า ปฏิบัติเพื่อโยชน์ตน ไม่ปฏิบัติเพื่อประโยชน์ผู้อื่น ฯ
พ. ดูกรชีวก เมื่อใดแล อุบาสกถึงพร้อมด้วยศรัทธาด้วยตนเอง แต่ไม่ชักชวนผู้อื่นให้ถึงพร้อมด้วยศรัทธา ฯลฯ ตนเองเป็นผู้รู้ทั่วถึงอรรถรู้ทั่วถึงธรรมแล้ว ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม แต่ไม่ชักชวนผู้อื่นในการปฏิบัติธรรม สมควรแก่ธรรม ด้วยเหตุมีประมาณเท่านี้แล อุบาสกชื่อว่าเป็นผู้ปฏิบัติเพื่อประโยชน์ตน ไม่ปฏิบัติเพื่อประโยชน์ผู้อื่น ฯ
ช. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็ด้วยเหตุมีประมาณเท่าไร อุบาสกชื่อว่าเป็นผู้ปฏิบัติเพื่อประโยชน์ตน และเพื่อ ประโยชน์ ผู้อื่น ฯ
พ. ดูกรชีวก เมื่อใดแล อุบาสกเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศรัทธาด้วยตนเอง และชักชวนผู้อื่นให้ถึงพร้อมด้วย ศรัทธา ๑
ตนเองเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศีล และชักชวนผู้อื่นให้ถึงพร้อมด้วย ศีล ๑
ตนเองเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยจาคะ และชักชวนผู้อื่นให้ถึงพร้อมด้วย จาคะ ๑
ตนเองเป็นผู้ใคร่เพื่อเห็นภิกษุ และชักชวนผู้อื่นในการ เห็นภิกษุ ๑
ตนเองเป็นผู้ใคร่เพื่อฟังสัทธรรม และชักชวนผู้อื่นในการ ฟังสัทธรรม ๑
ตนเองเป็นผู้ทรงจำธรรมที่ตนเองฟังแล้ว และชักชวนผู้อื่นเพื่อการ ทรงจำธรรม ๑ ตนเองเป็นผู้พิจารณาอรรถแห่งธรรมที่ตนฟังแล้ว และชักชวนผู้อื่นในการ พิจารณาอรรถแห่งธรรม ๑
ตนเองรู้ทั่วถึงอรรถผู้ทั่วถึงธรรมแล้วปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม และชักชวนผู้อื่นในการ ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ๑
ด้วยเหตุมีประมาณเท่านี้แลอุบาสกชื่อว่าเป็นผู้ปฏิบัติ เพื่อประโยชน์ตน และ เพื่อประโยชน์ผู้อื่น ฯ
จบสูตรที่ ๖
พระไตรปิฎก เล่มที่ ๙ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑
ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค ๒. สามัญญผลสูตร
เรื่องพระเจ้าอชาตศัตรู
[๙๑] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาค ประทับ ณ สวนอัมพวัน ของหมอชีวก โกมารภัจจ์ ใกล้พระนครราชคฤห์ พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ประมาณ ๑๒๕๐ รูป วันนั้นเป็นวันอุโบสถ ๑๕ ค่ำ (วันแสดงโอวาทปาติโมกข์) เป็นวันครบ ๔ เดือน ฤดูดอกโกมุทบาน ในราตรีเพ็ญพระจันทร์เต็มดวง พระเจ้าแผ่นดินมคธ
พระนามว่าอชาตศัตรูเวเทหีบุตร แวดล้อมด้วยราชอำมาตย์ประทับนั่ง ณ พระมหาปราสาทชั้นบน.
ขณะนั้น ท้าวเธอทรงเปล่งพระอุทานว่า ดูกรอำมาตย์ ราตรีมีดวงเดือนแจ่มกระจ่าง น่ารื่นรมย์หนอ ราตรีมี ดวงเดือน แจ่มกระจ่าง ช่างงามจริงหนอ ราตรีมีดวงเดือนแจ่มกระจ่าง น่าชมจริงหนอราตรี มีดวงเดือนแจ่ม กระจ่าง น่าเบิกบานจริงหนอ ราตรีมีดวงเดือนแจ่มกระจ่าง เข้าลักษณะ
จริงหนอ
วันนี้เราควรจะเข้าไปหาสมณะ หรือพราหมณ์ผู้ใดดีหนอ ซึ่งจิตของเราผู้เข้าไปหาพึงเลื่อมใสได้.
ครั้นท้าวเธอดำรัสอย่างนี้แล้ว อำมาตย์ผู้หนึ่งจึงกราบทูลว่า ขอเดชะ ท่าน ปูรณะกัสสป ปรากฏว่าเป็นเจ้าหมู่ เจ้าคณะ เป็นคณาจารย์มีชื่อเสียง มีเกียรติยศ เป็นเจ้าลัทธิ
ชนส่วนมากยกย่องว่าดี เป็นคนเก่าแก่ บวชมานาน มีอายุล่วงกาล ผ่านวัยมาโดยลำดับ
เชิญพระองค์เสด็จเข้าไปหาท่านปูรณะ กัสสปนั้นเถิด เห็นด้วยเกล้า ฯ ว่า เมื่อพระองค์เสด็จ
เข้าไปหาท่านปูรณะ กัสสป พระหฤทัยพึงเลื่อมใส.
เมื่ออำมาตย์ผู้นั้น กราบทูลอย่างนี้แล้ว
ท้าวเธอก็ทรงนิ่งอยู่.
อำมาตย์อีกคนหนึ่ง จึงกราบทูลว่า ขอเดชะ ท่าน มักขลิ โคศาล ปรากฏว่าเป็นเจ้าหมู่
เจ้าคณะ เป็นคณาจารย์มีชื่อเสียง มีเกียรติยศ เป็นเจ้าลัทธิ ชนส่วนมากยกย่องว่าดี เป็นคนเก่าแก่ บวชมานาน มีอายุล่วงกาล ผ่านวัยมาโดยลำดับ เชิญพระองค์เสด็จเข้าไปหาท่าน
มักขลิ โคศาลนั้นเถิด เห็นด้วยเกล้า ฯ ว่า เมื่อพระองค์เสด็จเข้าไปหาท่านมักขลิ โคศาล
พระหฤทัยพึงเลื่อมใส เมื่ออำมาตย์ผู้นั้นกราบทูลอย่างนี้แล้ว ท้าวเธอก็ทรงนิ่งอยู่.
อำมาตย์อีกคนหนึ่ง จึงกราบทูลว่า ขอเดชะ ท่าน อชิต เกสกัมพล ปรากฏว่าเป็น
เจ้าหมู่ เจ้าคณะ เป็นคณาจารย์มีชื่อเสียง มีเกียรติยศ เป็นเจ้าลัทธิ ชนส่วนมากยกย่องว่าดี
เป็นคนเก่าแก่ บวชมานาน มีอายุล่วงกาล ผ่านวัยมาโดยลำดับ เชิญพระองค์เสด็จเข้าไปหา
ท่านอชิต เกสกัมพล นั้นเถิด เห็นด้วยเกล้า ฯ ว่า เมื่อพระองค์เสด็จเข้าไปหาท่านอชิต เกสกัมพล
พระหฤทัยพึงเลื่อมใส เมื่ออำมาตย์ผู้นั้นกราบทูลอย่างนี้แล้ว ท้าวเธอก็ทรงนิ่งอยู่.
อำมาตย์อีกคนหนึ่ง จึงกราบทูลว่า ขอเดชะ ท่าน ปกุธะ กัจจายนะ ปรากฏว่าเป็นเจ้าหมู่
เจ้าคณะ เป็นคณาจารย์มีชื่อเสียง มีเกียรติยศ เป็นเจ้าลัทธิ ชนส่วนมากยกย่องว่าดี เป็นคน
เก่าแก่ บวชมานาน มีอายุล่วงกาล ผ่านวัยมาโดยลำดับ เชิญพระองค์เสด็จเข้าไปหาท่านปกุธะ
กัจจายนะนั้นเถิด เห็นด้วยเกล้า ฯ ว่า เมื่อพระองค์เสด็จเข้าไปหาท่านปกุธะ กัจจายนะ พระหฤทัย
พึงเลื่อมใส.
เมื่ออำมาตย์ผู้นั้นกราบทูลอย่างนี้แล้ว ท้าวเธอก็ทรงนิ่งอยู่.
อำมาตย์อีกคนหนึ่ง จึงกราบทูลว่า ขอเดชะ ท่าน สญชัย เวลัฏฐบุตร ปรากฏว่าเป็น
เจ้าหมู่ เจ้าคณะ เป็นคณาจารย์มีชื่อเสียง มีเกียรติยศ เป็นเจ้าลัทธิ ชนส่วนมากยกย่องว่าดี
เป็นคนเก่าแก่ บวชมานาน มีอายุล่วงกาล ผ่านวัยมาโดยลำดับ เชิญพระองค์เสด็จเข้าไปหา
ท่านสญชัย เวลัฏฐบุตร นั้นเถิด เห็นด้วยเกล้า ฯ ว่า เมื่อพระองค์เสด็จเข้าไปหาท่านสญชัย
เวลัฏฐบุตร พระหฤทัยพึงเลื่อมใส. เมื่ออำมาตย์ผู้นั้นกราบทูล อย่างนี้แล้ว ท้าวเธอก็ทรงนิ่งอยู่.
อำมาตย์อีกคนหนึ่ง จึงกราบทูลว่า ขอเดชะ ท่าน นิครนถ์ นาฏบุตร ปรากฏว่าเป็น
เจ้าหมู่ เจ้าคณะ เป็นคณาจารย์มีชื่อเสียง มีเกียรติยศ เป็นเจ้าลัทธิ ชนส่วนมากยกย่องว่าดี
เป็นคนเก่าแก่ บวชมานาน มีอายุล่วงกาล ผ่านวัยมาโดยลำดับ เชิญพระองค์เสด็จเข้าไปหา
ท่านนิครนถ์ นาฏบุตร นั้นเถิด เห็นด้วยเกล้า ฯ ว่า เมื่อพระองค์เสด็จเข้าไปหาท่านนิครนถ์
นาฏบุตร พระหฤทัยพึงเลื่อมใส.
เมื่ออำมาตย์ผู้นั้นกราบทูลอย่างนี้แล้ว ท้าวเธอก็ทรงนิ่งอยู่.
กถาปรารภพระพุทธคุณ
[๙๒] สมัยนั้น หมอชีวก โกมารภัจจ์ นั่งนิ่งอยู่ในที่ไม่ไกลพระเจ้าแผ่นดิน มคธพระนามว่า อชาตศัตรู เวเทหีบุตร. ท้าวเธอจึงมีพระราชดำรัสกะหมอชีวก โกมารภัจจ์ ว่าชีวกผู้สหาย เธอทำไมจึงนิ่งเสียเล่า, หมอชีวก โกมารภัจจ์ กราบทูลว่า ขอเดชะ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ประทับอยู่ ณ สวนอัมพวันของ ข้าพระพุทธเจ้า พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ประมาณ ๑๒๕๐ รูป
พระเกียรติศัพท์อันงามของพระองค์ขจรไปแล้วอย่างนี้ว่า แม้เพราะเหตุนี้ๆ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้เองโดยชอบ ถึงพร้อมด้วยวิชชา และจรณะ เสด็จไปดีแล้ว ทรงรู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกบุรุษ ที่ควรฝึกไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่า เป็นศาสดาของเทวดา และมนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้เบิกบานแล้ว เป็นผู้จำแนกพระธรรม ดังนี้ เชิญพระองค์เสด็จเข้าไปเฝ้า พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นเถิด เห็นด้วยเกล้า ฯ ว่า เมื่อพระองค์เสด็จเข้าไป เฝ้าพระผู้มีพระภาค พระหฤทัยพึงเลื่อมใส ท้าวเธอจึงมีพระราชดำรัสว่า ชีวกผู้สหาย ถ้าอย่างนั้นท่าน จงสั่งให้ เตรียมหัตถียานไว้.
หมอชีวก โกมารภัจจ์ รับสนองพระราชโองการแล้ว สั่งให้เตรียมช้างพังประมาณ ๕๐๐ เชือก และช้างพระที่นั่ง เสร็จแล้วจึงกราบทูลว่า ขอเดชะ ข้าพระพุทธเจ้าสั่งให้เตรียมหัตถียานพร้อมแล้ว เชิญใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท เสด็จ ได้พระเจ้าข้า.
ลำดับนั้น ท้าวเธอโปรดให้พวกสตรีขึ้นช้างพัง ๕๐๐ เชือกๆ ละนาง แล้วจึงทรงช้างพระที่นั่ง มีผู้ถือคบเพลิง เสด็จออกจากพระนครราชคฤห์ ด้วยพระราชานุภาพอย่างยิ่งใหญ่ เสด็จไปสวน อัมพวันของหมอชีวก โกมารภัจจ์. พอใกล้จะถึง ท้าวเธอเกิดทรงหวาดหวั่นครั่นคร้าม และทรงมีความสยดสยองขึ้น ครั้นท้าวเธอทรงกลัว ทรงหวาดหวั่น มีพระโลมชาติชูชันแล้ว จึงตรัสกับหมอชีวก โกมารภัจจ์ว่า
ชีวกผู้สหาย ท่านไม่ได้ลวงเราหรือ ชีวกผู้สหาย ท่านไม่ได้หลอกเราหรือ ชีวกผู้สหาย ท่านไม่ได้ล่อเรา มาให้ ศัตรู หรือ เหตุไฉนเล่า ภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ตั้ง ๑๒๕๐ รูป จึงไม่มีเสียงจาม เสียงกระแอม เสียงพึมพำเลย หมอชีวก โกมารภัจจ์กราบทูลว่า ขอพระองค์อย่าได้ทรงหวาดหวั่นเกรงกลัวเลยพระเจ้าข้า ข้าพระพุทธเจ้าไม่ได้ ลวงพระองค์ไม่ได้หลอกพระองค์ ไม่ได้ล่อพระองค์มาให้ศัตรูเลย พระเจ้าข้า ขอเดชะ เชิญพระองค์เสด็จ เข้าไปเถิดๆ นั่นประทีปที่โรงกลมยังตามอยู่.
ลำดับนั้น ท้าวเธอเสด็จพระราชดำเนิน โดยกระบวนช้างพระที่นั่งไปจนสุดทาง เสด็จลงทรงพระดำเนิน เข้าประตูโรงกลม แล้วจึงรับสั่งกะหมอชีวกโกมารภัจจ์ว่า ชีวกผู้สหาย ไหนพระผู้มีพระภาค.
หมอชีวก โกมารภัจจ์ กราบทูลว่า ขอเดชะ
นั่นพระผู้มีพระภาค ประทับนั่งพิงเสากลาง ผินพระพักตร์ไปทางทิศบูรพา (ทิศตะวันออก) ภิกษุสงฆ์แวดล้อมอยู่.
ลำดับนั้น ท้าวเธอเสด็จเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ประทับยืน ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง แล้วทรงชำเลืองเห็น ภิกษุสงฆ์นิ่งสงบเหมือนห้วงน้ำใส ทรงเปล่งพระอุทานว่า ขอให้อุทยภัทท์กุมารของเรา จงมีความสงบอย่าง ภิกษุสงฆ์เดี๋ยวนี้. พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรมหาบพิตร พระองค์เสด็จมาทั้งความรัก. แล้วท้าวเธอทูลรับว่า พระเจ้าข้า อุทยภัทท์กุมาร เป็นที่รัก ของหม่อมฉัน ขอให้อุทยภัทท์กุมารของหม่อมฉัน จงมีความสงบอย่าง ภิกษุสงฆ์เดี๋ยวนี้เถิด.
[๙๓] ลำดับนั้น ท้าวเธอทรงอภิวาทพระผู้มีพระภาค แล้วทรงประนมอัญชลี แก่ภิกษุสงฆ์ ประทับนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง. ครั้นแล้ว ได้ตรัสพระดำรัสนี้กะพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉันจะขอ ทูลถามปัญหาบางเรื่องสักเล็กน้อย ถ้าพระองค์จะประทานพระวโรกาสพยากรณ์ปัญหาแก่หม่อมฉัน.
พ. เชิญถามเถิด มหาบพิตร ถ้าทรงพระประสงค์.
อ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ศิลปศาสตร์เป็นอันมากเหล่านี้ คือ พลช้าง พลม้า พลรถพลธนู พนักงานเชิญธง พนักงานจัดกระบวนทัพ พนักงานจัดส่งเสบียง พวกอุคคราชบุตรพลอาสา ขุนพล พลกล้า พลสวมเกราะหนัง พวกบุตรทาส ช่างทำขนม ช่างกัลบก พนักงานเครื่องสรง พวกพ่อครัว ช่างดอกไม้ ช่างย้อม ช่างหูก ช่างจักสาน ช่างหม้อ นักคำนวณพวกนับคะแนน(นักการบัญชี) หรือศิลปศาสตร์เป็นอันมาก
แม้อย่างอื่นใดที่มีคติเหมือนอย่างนี้ คนเหล่านั้นย่อมอาศัยผลแห่งศิลปศาสตร์ ที่เห็นประจักษ์เลี้ยงชีพในปัจจุบัน ด้วยผลแห่งศิลปศาสตร์นั้น เขาย่อมบำรุงตน มารดาบิดา บุตรภริยา มิตรอำมาตย์ให้เป็นสุขอิ่มหนำสำราญ บำเพ็ญทักษิณาทานอันมีผลอย่างสูง เป็นไปเพื่อให้ได้อารมณ์ดี มีสุขเป็นผล ให้เกิดในสวรรค์ ในสมณพราหมณ์ ทั้งหลาย ฉันใด ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระองค์อาจบัญญัติสามัญผลที่เห็นประจักษ์ในปัจจุบัน เหมือนอย่างนั้น ได้บ้างหรือไม่?
พ. มหาบพิตร ทรงจำได้หรือไม่ว่า ปัญหาข้อนี้ มหาบพิตรได้ตรัสถามสมณพราหมณ์พวกอื่นแล้ว.
อ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ จำได้อยู่ ปัญหาข้อนี้ หม่อมฉันได้ถามสมณพราหมณ์พวกอื่นแล้ว.
พ. ดูกรมหาบพิตร สมณพราหมณ์เหล่านั้นพยากรณ์อย่างไร ถ้ามหาบพิตรไม่หนักพระทัย ก็ตรัสเถิด.
อ. ณ ที่ที่พระผู้มีพระภาคหรือท่านผู้เปรียบดังพระผู้มีพระภาค ประทับนั่งอยู่ หม่อมฉันไม่หนักใจ พระเจ้าข้า.
พ. ถ้าอย่างนั้น มหาบพิตรตรัสเถิด.
วาทะของศาสดาปูรณะ กัสสป
[๙๔] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ สมัยหนึ่ง ณ กรุงราชคฤห์นี้ หม่อมฉันเข้าไปหาครูปูรณะกัสสป ถึงที่อยู่ ได้ปราศรัยกับปูรณะ กัสสป ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้วจึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง
ครั้นแล้วหม่อมฉันได้กล่าวคำนี้กะปูรณะ กัสสปว่า ท่านกัสสป ศิลปศาสตร์เป็นอันมากเหล่านี้ คือพลช้าง พลม้า พลรบ พลธนู พนักงานเชิญธง พนักงานจัดกระบวนทัพ พนักงานจัดส่งเสบียง พวกอุคคราชบุตร พลอาสา ขุนพล พลกล้า พลสวมเกราะหนัง พวกบุตรทาส ช่างทำขนม ช่างกัลบก พนักงานเครื่องสรง พวกพ่อครัว ช่างดอกไม้ ช่างย้อม ช่างหูก ช่างจักสาน ช่างหม้อ นักคำนวณ พวกนับคะแนน (นักการบัญชี) หรือ ศิลปศาสตร์เป็นอันมาก แม้อย่างอื่นใดที่มีคติเหมือนอย่างนี้
คนเหล่านั้น ย่อมอาศัยผลแห่งศิลปศาสตร์ ที่เห็นประจักษ์เลี้ยงชีพในปัจจุบัน ด้วยผลแห่งศิลปศาสตร์นั้น เขาย่อมบำรุงตนมารดาบิดา บุตรภริยา มิตร อำมาตย์ ให้เป็นสุขอิ่มหนำสำราญ บำเพ็ญทักษิณาทานอันมีผล อย่างสูง เป็นไปเพื่อให้ได้อารมณ์ดี มีสุขเป็นผล ให้เกิดในสวรรค์ ในสมณพราหมณ์ทั้งหลายฉันใด ท่านอาจ บัญญัติสามัญผลที่เห็นประจักษ์ในปัจจุบัน เหมือนอย่างนั้นได้หรือไม่
เมื่อหม่อมฉันกล่าวอย่างนี้ ครูปูรณะ กัสสป ได้กล่าวคำนี้กะหม่อมฉันว่า ดูกรมหาบพิตร เมื่อบุคคลทำเอง ใช้ให้ ผู้อื่นทำ ตัดเอง ใช้ให้ผู้อื่นตัด เบียดเบียนเอง ใช้ผู้อื่นให้เบียดเบียน ทำเขาให้เศร้าโศกเองใช้ผู้อื่นทำเขา ให้เศร้าโศก ทำเขาให้ลำบากเอง ใช้ผู้อื่นทำเขาให้ลำบาก ดิ้นรนเอง ทำเขาให้ดิ้นรน ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ตัดที่ต่อ ปล้นไม่ให้เหลือ ทำโจรกรรมในเรือนหลังเดียว ซุ่มอยู่ที่ทางเปลี่ยว ทำชู้ภริยาเขา พูดเท็จ ผู้ทำไม่ชื่อว่าทำบาป แม้หาผู้ใดจะใช้จักร ซึ่งมีคมโดยรอบ เหมือนมีดโกน สังหารเหล่าสัตว์ในปัฐพีนี้ ให้เป็นลาน เป็นกองมังสะ อันเดียวกัน
บาปที่มีการทำเช่นนั้นเป็นเหตุ ย่อมไม่มีแก่เขา ไม่มีบาปมาถึงเขา แม้หากบุคคลจะไปยังฝั่งขวา แห่งแม่น้ำคงคา ฆ่าเอง ใช้ให้ผู้อื่นฆ่า ตัดเอง ใช้ให้ผู้อื่นตัด เบียดเบียนเอง ใช้ผู้อื่นให้เบียดเบียนบาป ที่มีการทำ เช่นนั้นเป็นเหตุ ย่อมไม่มีแก่เขา ไม่มีบาปมาถึงเขา แม้หากบุคคลจะไปยังฝั่งซ้ายแห่งแม่น้ำคงคา ให้เอง ใช้ให้ผู้อื่นให้ บูชาเอง ใช้ให้ผู้อื่นบูชา บุญที่มีการทำเช่นนั้นเป็นเหตุย่อมไม่มีแก่เขา ไม่มีบุญมาถึงเขา ด้วยการให้ทาน การทรมาน อินทรีย์ การสำรวมศีลการกล่าวคำสัตย์ บุญที่มีการทำเช่นนั้นเป็นเหตุ ย่อมไม่มีแก่เขา ไม่มีบุญมาถึงเขา ดังนี้
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อหม่อมฉันถามถึงสามัญผลที่เห็นประจักษ์ ครูปูรณะ กัสสป กลับตอบถึงการที่ทำแล้ว ไม่เป็นอันทำ ฉะนี้ (ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อหม่อมฉันถามถึงสามัญผล ที่เห็นประจักษ์ ครูปูรณะ กัสสป กลับตอบถึงการที่ทำแล้วไม่เป็นอันทำ ฉะนี้)
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญหม่อมฉันถามถึงสามัญผลที่เห็นประจักษ์ ครูปูรณะ กัสสป กลับตอบถึงการที่ทำแล้วไม่เป็น อันทำเปรียบเหมือนเขาถามถึงมะม่วง ตอบขนุนสำมะลอ หรือเขาถามถึงขนุนสำมะลอ ตอบมะม่วงฉะนั้น หม่อมฉันมีความดำริว่า ไฉน คนอย่างเรา จะพึงมุ่งรุกรานสมณะ หรือพราหมณ์ผู้อยู่ในราชอาณาเขต ดังนี้ แล้วไม่ยินดี ไม่คัดค้านภาษิตของครูปูรณะ กัสสป ไม่พอใจ แต่ก็มิได้เปล่งวาจาแสดงความไม่พอใจ ไม่เชื่อถือ ไม่ใส่ใจถึงวาจานั้น ลุกจากที่นั่งหลีกไป.
วาทะของศาสดามักขลิ โคศาล |