เว็บไซต์ อนาคามี แหล่งเผยแพร่คำพระศาสดา เผยแพร่คำสอนตถาคต เว็บไซต์เผยแพร่พระสุตรคำสอนของพระพุทธเจ้า คลิปคำสอน คลิปสาธยายธรรม
 
ค้นหาคำที่ต้องการ          

 
  จูฬทุกขักขันธสูตร ว่าด้วยกองทุกข์ .. คุณของกาม โทษของกาม 214  
 
  (ย่อ)

โลภะ โทสะ โมหะ ต่างเป็นอุปกิเลสแห่งจิต
ก็แหละเมื่อเป็นเช่นนั้น โลภธรรมก็ดี โทสธรรมก็ดี โมหธรรมก็ดี ยังครอบงำจิตของ ข้าพระองค์ไว้ได้เป็นครั้งคราว ข้าพระองค์เกิดความคิดเห็นอย่างนี้ว่า ธรรมชื่ออะไรเล่า ที่ข้าพระองค์ ยังละไม่ได้ เด็ดขาดในภายใน อันเป็นเหตุให้ โลภธรรมก็ดี โทสธรรมก็ดี โมหธรรมก็ดี ยัง ครอบงำจิต ของข้าพระองค์ไว้ได้เป็นครั้งคราว.

ดูกรมหานาม ก็ธรรมนั้นจักเป็นอันท่านละได้เด็ดขาด ในภายในแล้ว ท่านก็ไม่พึงอยู่ครองเรือน ไม่พึงบริโภคกาม แต่เพราะท่านละธรรม เช่นนั้นยังไม่ได้ เด็ดขาด ในภายใน ฉะนั้น ท่านจึงยังอยู่ครองเรือน ยังบริโภคกาม.
----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

กามให้ความยินดีน้อย มีทุกข์มาก มีความคับแค้นมาก

กามคุณ ๕ ประการ
คือ รูปที่พึงรู้แจ้งด้วยจักษุ น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ น่ารัก ประกอบด้วยกาม เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด เสียงที่พึงรู้แจ้งด้วยโสต ... กลิ่นที่พึงรู้แจ้ง ด้วยฆานะ ... รสที่พึงรู้แจ้งด้วยชิวหา ... โผฏฐัพพะที่พึงรู้แจ้งด้วยกาย เป็นที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ น่ารัก ประกอบด้วยกาม เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด นี้เป็นคุณของกามทั้งหลาย

 


พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๒ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๑๒๒-๑๒๖


๔. จูฬทุกขักขันธสูตร ว่าด้วยกองทุกข์

         [๒๐๙] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้: สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ นิโครธาราม เขตกรุงกบิลพัสดุ์แคว้นสักกะ ครั้งนั้นแล เจ้าศากยะทรงพระนามว่า มหานาม เสด็จเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้วประทับนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า

         ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์เข้าใจข้อธรรมที่พระผู้มีพระภาค ทรงแสดงมานาน แล้ว อย่างนี้ว่า โลภะ โทสะ โมหะ ต่างเป็นอุปกิเลสแห่งจิต ก็แหละเมื่อเป็นเช่นนั้น โลภธรรมก็ดี โทสธรรมก็ดี โมหธรรมก็ดี ยังครอบงำจิตของ ข้าพระองค์ไว้ได้เป็น ครั้งคราว ข้าพระองค์เกิดความคิดเห็นอย่างนี้ว่า ธรรมชื่ออะไรเล่า ที่ข้าพระองค์ ยังละไม่ได้ เด็ดขาดในภายใน อันเป็นเหตุให้ โลภธรรมก็ดี โทสธรรมก็ดี โมหธรรมก็ดี ยัง ครอบงำจิต ของข้าพระองค์ ไว้ได้เป็น ครั้งคราว.

         [๒๑๐] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรมหานาม ธรรมนั้นนั่นแล ท่านยังละไม่ได้ เด็ดขาด ในภายใน อันเป็นเหตุให้ โลภธรรมก็ดี โทสธรรมก็ดี โมหธรรมก็ดี ยังครอบงำจิต ของท่าน ไว้ได้เป็นครั้งคราว ดูกรมหานาม ก็ธรรมนั้นจักเป็นอันท่านละ ได้เด็ดขาด ในภายในแล้ว ท่านก็ไม่พึงอยู่ครองเรือน ไม่พึงบริโภคกาม แต่เพราะ ท่านละธรรม เช่นนั้นยังไม่ได้เด็ดขาด ในภายใน ฉะนั้น ท่านจึงยังอยู่ครองเรือน ยังบริโภคกาม.

         [๒๑๑] ดูกรมหานาม ถ้าแม้ว่า อริยสาวกเล็งเห็นด้วยปัญญาโดยชอบ ตามเป็นจริงว่า กามให้ความยินดีน้อย มีทุกข์มาก มีความคับแค้นมาก โทษในกามนี้ ยิ่ง ดังนี้ แต่ อริยสาวก นั้นเว้นจากกาม เว้นจากอกุศลธรรม ยังไม่บรรลุปีติและสุข หรือ กุศลธรรม อื่น ที่สงบกว่านั้น เธอจะ ยังเป็นผู้ไม่เวียนมาในกามไม่ได้ก่อน แต่เมื่อใด อริยสาวก ได้เล็งเห็นด้วยปัญญาโดยชอบ ตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า กาม ให้ความยินดีน้อย มีทุกข์มาก มีความคับแค้นมาก โทษในกามนี้ยิ่ง ดังนี้ และเธอ ก็เว้นจากกาม เว้นจาก อกุศลธรรม บรรลุปีติและสุข หรือกุศลธรรมอื่นที่สงบกว่า นั้น เมื่อนั้น เธอย่อมเป็นผู้ ไม่เวียนมาในกามเป็นแท้.

         ดูกรมหานาม แม้เราเมื่อเป็นโพธิสัตว์ ยังมิได้ตรัสรู้ ก่อนตรัสรู้ทีเดียว ก็เล็งเห็น ด้วยปัญญาโดยชอบ ตามเป็นจริงอย่างนี้ว่า กามให้ความยินดีน้อย มีทุกข์มาก มีความ คับแค้นมาก โทษในกามนี้ยิ่ง ดังนี้ และเราก็เว้นจากกาม เว้นจากอกุศลธรรม ไม่บรรลุ ปีติ และสุข หรือกุศล ธรรมอื่นที่สงบกว่านั้น เราจึงปฏิญาณว่าเป็นผู้ไม่เวียนมา ในกาม มิได้ก่อน แต่เมื่อใด เราเล็งเห็น ด้วยปัญญาโดยชอบ ตามเป็นจริงอย่างนี้ว่า กามให้ความยินดีน้อย มีทุกข์มาก มีความคับแค้นมาก โทษในกามนี้ยิ่ง ดังนี้ และ เราก็เว้นจากกาม เว้นจากอกุศลธรรม บรรลุปีติและสุข และ กุศลอื่นที่สงบกว่านั้น เมื่อนั้น เราจึงปฏิญาณได้ว่า เป็นผู้ไม่เวียนมาในกาม.
------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

ว่าด้วยคุณของกาม

         [๒๑๒] ดูกรมหานาม ก็อะไรเล่าเป็นคุณของกามทั้งหลาย? ดูกรมหานาม กามคุณ ๕ ประการนี้ ๕ ประการเป็นไฉน? คือ รูปที่พึงรู้แจ้งด้วยจักษุ น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ น่ารัก ประกอบด้วยกาม เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด เสียงที่พึง รู้แจ้งด้วย โสต ... กลิ่นที่พึงรู้แจ้ง ด้วยฆานะ ... รสที่พึงรู้แจ้งด้วยชิวหา ... โผฏฐัพพะ ที่พึงรู้แจ้ง ด้วยกาย น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ น่ารัก ประกอบด้วยกาม เป็นที่ตั้ง แห่งความกำหนัด ดูกรมหานาม กามคุณ ๕ ประการ เหล่านี้แล ความสุข ความโสมนัสใด อาศัยกามคุณ ๕ เหล่านี้เกิดขึ้น นี้เป็นคุณของกามทั้งหลาย

ว่าด้วยโทษแห่งกาม


         [๒๑๓] ดูกรมหานาม ก็อะไรเล่าเป็นโทษของกามทั้งหลาย? กุลบุตรในโลกนี้ เลี้ยง ชีวิตด้วยความขยันประกอบศิลปะใด คือ ด้วยการนับคะแนนก็ดี ด้วยการ คำนวณก็ดี ด้วยการ นับจำนวนก็ดี ด้วยการไถก็ดี ด้วยการค้าขายก็ดี ด้วยการเลี้ยงโค ก็ดี ด้วยการยิงธนูก็ดี ด้วยการเป็นราชบุรุษก็ดี ด้วยศิลปะอย่างใด อย่างหนึ่งก็ดี ต้องตรากตรำต่อความหนาว ต้องตรากตรำต่อ ความร้อน งุ่นง่าน อยู่ด้วยสัมผัสแต่เหลือบ ยุง ลม แดด และสัตว์เสือกคลาน ต้องตายด้วยความ หิวระหาย (ความไม่ชอบใจยินดีต่อการสัมผัส) ดูกรมหานาม แม้นี้ก็เป็นโทษของกาม ทั้งหลาย เป็นกองทุกข์ที่เห็นๆ กันอยู่ มีกามเป็นเหตุ มีกามเป็นต้นเค้า มีกามเป็นตัว บังคับ เกิดเพราะเหตุแห่งกาม ทั้งหลาย ทั้งนั้น

         ดูกรมหานาม ถ้าเมื่อกุลบุตรนั้น ขยัน สืบต่อพยายามอยู่อย่างนี้ โภคะเหล่านั้น ก็ไม่สำเร็จผล เขาย่อมเศร้าโศก ลำบาก รำพัน ตีอก คร่ำครวญ ถึงความหลงเลือนว่า ความขยันของเราเป็นโมฆะ หนอ ความพยายามของเราไม่มีผลหนอ (ขยันแต่ไม่สำเร็จ ผล ก็ไม่พอใจ) ดูกรมหานาม แม้นี้ก็เป็นโทษของกามทั้งหลาย เป็นกองทุกข์ที่เห็นๆ กันอยู่ มีกามเป็นเหตุ มีกามเป็นต้นเค้า มีกามเป็นตัวบังคับ เกิดเพราะเหตุ แห่งกาม ทั้งหลาย ทั้งนั้น

         ดูกรมหานาม ถ้าเมื่อกุลบุตรนั้นขยัน สืบต่อพยายามอยู่อย่างนี้ โภคะเหล่านั้น สำเร็จ ผล เขากลับเสวยทุกข์ โทมนัส ที่มีการคอยรักษาโภคะเหล่านั้นเป็นตัวบังคับว่า ทำอย่างไร พระราชาทั้งหลาย ไม่พึงริบโภคะเหล่านั้นไปได้ พวกโจรพึงปล้นไม่ได้ ไฟไม่พึงไหม้ น้ำไม่พึงพัด ทายาทอัปรีย์พึงนำไปไม่ได้ เมื่อกุลบุตรนั้น คอยรักษา คุ้มครองอยู่อย่างนี้ พระราชา ทั้งหลายริบโภคะเหล่านั้นไปเสียก็ดี โจรปล้นเอาไปเสีย ก็ดี ไฟไหม้เสียก็ดี น้ำพัดไปเสียก็ดี ทายาทอัปรีย์นำไปเสียก็ดี เขาย่อมเศร้าโศก ลำบาก รำพัน ตีอก คร่ำครวญ ถึงความหลงเลือนว่า สิ่งใดเคยเป็นของเรา แม้สิ่งนั้น ก็ไม่เป็นของเรา (ขยัน รักษาทรัพย์สำเร็จผล แต่เป็นทุกข์ เพราะกลัวโจรปล้น กลัวโดนริบ)
ดูกรมหานาม แม้นี้ ก็เป็นโทษของกามทั้งหลาย เป็นกองทุกข์ที่เห็นๆ กันอยู่ มีกาม เป็นเหตุ มีกามเป็นต้นเค้า มีกามเป็นตัวบังคับ เกิดเพราะเหตุแห่งกาม ทั้งหลาย ทั้งนั้น

         [๒๑๔] ดูกรมหานาม อีกประการหนึ่ง มีกามเป็นเหตุ มีกามเป็นต้นเค้า มีกามเป็น ตัวบังคับ เพราะเหตุแห่งกามทั้งหลายนั้นแล แม้พระราชาทั้งหลาย ก็วิวาทกัน กับพวกพระราชา แม้พวกกษัตริย์ก็วิวาทกันกับพวกกษัตริย์ แม้พวก พราหมณ์ ก็วิวาท กันกับ พวกพราหมณ์ แม้คฤหบดี ก็วิวาทกันกับพวกคฤหบดี แม้มารดาก็วิวาทกัน กับบุตร แม้บุตรก็วิวาทกันกับมารดา แม้บิดาก็วิวาท กันกับบุตร แม้บุตรก็วิวาทกัน กับบิดา แม้พี่ชายน้องชายก็วิวาทกัน กับพี่ชายน้องชาย แม้พี่ชายก็ วิวาทกันกับ น้องสาว แม้น้องสาวก็วิวาทกันกับพี่ชาย แม้สหายก็วิวาทกันกับสหาย ชนเหล่านั้น ต่าง ถึงการทะเลาะแก่งแย่งวิวาทกันในที่นั้นๆ ทำร้ายซึ่งกันและกัน ด้วย ฝ่ามือบ้าง ด้วยก้อนดินบ้าง ด้วยท่อนไม้บ้าง ด้วยศาตราบ้าง ถึงความตายไป ตรงนั้น บ้าง ถึงทุกข์ปางตายบ้าง ดูกรมหานาม แม้นี้ก็เป็นโทษของกามทั้งหลายเกิดเพราะ เหตุแห่งกาม ทั้งหลาย ทั้งนั้น

         [๒๑๕] ดูกรมหานาม อีกประการหนึ่ง มีกามเป็นเหตุ มีกามเป็นต้นเค้า มีกามเป็น ตัวบังคับ เพราะเหตุแห่งกามทั้งหลายนั้นแล ฝูงชนต่างถือดาบและโล่ห์ สอดแล่งธนู วิ่งเข้าสู่ สงคราม ปะทะกันทั้ง ๒ ข้าง เมื่อลูกศรทั้งหลายถูกยิงไปบ้าง เมื่อหอก ทั้งหลายถูกพุ่งไปบ้าง เมื่อดาบทั้งหลายถูกกวัดแกว่งอยู่บ้าง ฝูงชนเหล่านั้น ต่างก็ถูก ลูกศรแทงเอาบ้าง ถูกหอกแทงเอาบ้าง ถูกดาบตัดศีรษะเสียบ้าง ในที่นั้น พากันถึง ตายไป ตรงนั้นบ้าง ถึงทุกข์ปางตายบ้าง ดูกรมหานาม แม้นี้ก็เป็นโทษ ของกาม ทั้งหลาย เกิดเพราะเหตุแห่งกามทั้งหลายทั้งนั้น

         [๒๑๖] ดูกรมหานาม อีกประการหนึ่ง มีกามเป็นเหตุ มีกามเป็นต้นเค้า มีกามเป็นตัว บังคับ เพราะเหตุแห่งกามทั้งหลายนั้นแล ฝูงชนถือดาบและโล่ห์ สอดแล่งธนู ตรูกันเข้าไปสู่เชิง กำแพงที่ฉาบด้วยเปือกตมร้อน เมื่อลูกศรถูกยิงไปบ้าง เมื่อหอก ถูกพุ่งไปบ้าง เมื่อดาบถูกกวัดแกว่งบ้าง ชนเหล่านั้นต่างถูกลูกศรแทงบ้าง ถูกหอกแทง บ้าง ถูกรดด้วยโคมัยร้อนบ้าง ถูกสับ ด้วยคราดบ้าง ถูกตัดศีรษะ ด้วยดาบบ้าง ในที่นั้น พากันถึงตายไปตรงนั้นบ้าง ถึงทุกข์ปางตายบ้าง ดูกรมหานาม แม้นี้ก็เป็นโทษของกามทั้งหลาย เกิดเพราะเหตุ แห่งกามทั้งหลายทั้งนั้น.

         [๒๑๗] ดูกรมหานาม อีกประการหนึ่ง มีกามเป็นเหตุ มีกามเป็นต้นเค้า มีกามเป็น ตัวบังคับ เพราะเหตุแห่งกามทั้งหลายนั้นแล ฝูงชนตัดที่ต่อบ้าง ปล้นอย่าง กวาดล้างบ้าง กระทำ การปล้นในเรือนหลังเดียวบ้าง ดักปล้นในหนทางบ้าง สมสู่ภรรยาคนอื่นบ้าง พระราชาทั้งหลาย จับคนนั้นๆ ได้แล้ว ให้กระทำกรรมกรณ์ ต่างๆ คือเฆี่ยนด้วยแส้บ้าง เฆี่ยนด้วยหวายบ้าง ตีด้วยไม้ค้อนบ้าง กระทำกรรมกรณ์ ชื่อโชติมาสิกะบ้าง ชื่อหัตถปัชโชติกะบ้าง ชื่อเอรกวัตติกะบ้าง ชื่อจีรกวาสิกบ้าง ชื่อเอเณยกะบ้าง ชื่อพลิสมังสิกะบ้าง ชื่อกหาปณกะบ้าง ชื่อขาราปฏิจฉกะบ้าง ชื่อปลิฆปริวัตติกะบ้าง ชื่อปลาลปีฐกะบ้าง รดด้วยน้ำมันที่ร้อนบ้าง ให้สุนัขกัดกินบ้าง เสียบที่ หลาวทั้งเป็นบ้าง ใช้ดาบตัดศีรษะเสียบ้าง คนเหล่านั้นถึงตายไปตรงนั้นบ้าง ถึงทุกข์ปางตายบ้าง ดูกรมหานาม แม้นี้ ก็เป็นโทษของกามทั้งหลาย เป็นกองทุกข์ ที่เห็นๆ กันอยู่ มีกามเป็นเหตุ มีกามเป็นตัวบังคับ เกิดเพราะเหตุแห่งกาม ทั้งหลาย ทั้งนั้น

         [๒๑๘] ดูกรมหานาม อีกประการหนึ่ง มีกามเป็นเหตุ มีกามเป็นต้นเค้า มีกามเป็นตัว บังคับ เพราะเหตุแห่งกามทั้งหลายนั้นแล ฝูงชนต่างประพฤติกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ชนเหล่านั้น ครั้นประพฤติกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริตแล้ว เบื้องหน้า แต่ตาย เพราะกายแตก ย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ดูกรมหานาม แม้นี้ ก็เป็นโทษของกามทั้งหลาย เป็นกองทุกข์ในสัมปรายภพ มีกาม เป็นเหตุ มีกาม เป็นต้นเค้า มีกามเป็นตัวบังคับ เกิดเพราะเหตุแห่งกาม ทั้งหลาย ทั้งนั้น

         ทรงปรารภพวกนิครนถ์ที่ถือการยืนเป็นวัตร

 
 
 
พุทธวจน : อ่านคำสอนพระศาสดา อ่านแบบสบายตา โดยคัดลอกหนังสือทั้งเล่มมาจัดทำเป็นเว็บเพจ (คลิกอ่านพร้อมดาวน์โหลดไฟล์ pdf)
90 90 90 90
พุทธประวัติ ขุมทรัพย์ อริยสัจ
ภาคต้น
อริยสัจ
ภาคปลาย
ปฏิจจ ปฐมธรรม ตถาคต อนาคามี อินทรีย์
สังวร
สัตว์
สัตตานัง
ทาน
สกทาคามี
ฆราวาส
ชั้นเลิศ
มรรควิธี
ที่ง่าย
อริยวินัย เดรัจฉานวิชา กรรม สมถะ
วิปัสสนา
โสดาบัน นา
ปานสติ
จิต มโน
วิญญาณ
ก้าวย่าง
อย่างพุทธะ
ตามรอย
ธรรม
ภพ ภูมิ
พุทธวจน
สาธยาย
ธรรม
สังโยชน์