พระไตรปิฎก ฉบับหลวง (ภาษาไทย) เล่มที่ ๑๓ หน้าที่ ๔๖
๖. อุปาลิวาทสูตร
เรื่องทีฆตปัสสีนิครนถ์
[๖๒] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ปาวาริกัมพวัน ใกล้เมืองนาลันทา. สมัยนั้น นิครนถ์นาฏบุตรอาศัยอยู่ ณ เมืองนาลันทา พร้อมด้วยบริษัทนิครนถ์ เป็นอันมาก ครั้งนั้นแล.
นิครนถ์ ชื่อว่า ทีฆตปัสสี เที่ยวบิณฑบาตไปในเมืองนาลันทา เวลาภายหลัง ภัต กลับจากบิณฑบาตแล้ว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงปาวาริกัมพวัน ได้ปราศรัย กับ พระผู้มีพระภาค ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว ได้ยืนอยู่ ณ ที่ควร ส่วนข้างหนึ่ง.
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระพุทธพจน์นี้กะ ทีฆตปัสสีนิครนถ์ ว่า ดูกรทีฆตปัสสี อาสนะมีอยู่ ถ้าท่านประสงค์ก็จงนั่งเถิด เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัส อย่างนี้แล้ว ทีฆตปัสสีนิครนถ์ ถือเอาอาสนะต่ำแห่งหนึ่ง นั่งณที่ควรส่วนข้างหนึ่ง.
กรรม ๓ ของนิครนถ์นาฏบุตร
[๖๓] พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระพุทธพจน์นี้กะ ทีฆตปัสสีนิครนถ์ ว่า ดูกรทีฆตปัสสี ก็นิครนถ์นาฏบุตร บัญญัติกรรม ในการทำบาปกรรม ในการเป็นไป แห่งบาปกรรม ไว้เท่าไร?
ทีฆตปัสสีนิครนถ์ได้ทูลว่า ท่านพระโคดม นิครนถ์นาฏบุตร จะบัญญัติว่ากรรมๆ ดังนี้ เป็นอาจิณหามิได้ท่านพระโคดม นิครนถ์นาฏบุตรบัญญัติว่า ทัณฑะๆ ดังนี้แล เป็นอาจิณ.
พ. ดูกรทีฆตปัสสี ก็นิครนถ์นาฏบุตร ย่อมบัญญัติทัณฑะ ในการทำบาปกรรม ในการเป็นไปแห่งบาปกรรมไว้เท่าไร?
ที. ท่านพระโคดม นิครนถ์นาฏบุตรย่อมบัญญัติทัณฑะในการทำบาปกรรม ในการเป็นไปแห่งบาปกรรมไว้ ๓ ประการ คือ กายทัณฑะ ๑ วจีทัณฑะ ๑ มโนทัณฑะ ๑.
ดูกรตปัสสี ก็กายทัณฑะอย่างหนึ่ง วจีทัณฑะอย่างหนึ่ง มโนทัณฑะอย่างหนึ่ง หรือ?
ท่านพระโคดม กายทัณฑะอย่างหนึ่ง วจีทัณฑะอย่างหนึ่ง มโนทัณฑะ อย่างหนึ่ง.
ดูกรตปัสสี ก็บรรดาทัณฑะ ๓ ประการนี้ ที่จำแนกออกแล้วเป็นส่วนละอย่าง ต่างกันเหล่านี้ ทัณฑะไหน คือ กายทัณฑะ วจีทัณฑะ หรือมโนทัณฑะ ที่นิครนถ์ นาฏบุตร บัญญัติว่า มีโทษมากกว่าในการทำบาปกรรม ในการเป็นไปแห่ง บาปกรรม?
ท่านพระโคดม บรรดาทัณฑะทั้ง ๓ ประการ ที่จำแนกออกแล้วเป็นส่วนละอย่าง ต่างกัน เหล่านี้ นิครนถ์นาฏบุตรบัญญัติว่า กายทัณฑะ มีโทษมากกว่า ในการทำ บาปกรรม ในการเป็น ไปแห่งบาปกรรม จะบัญญัติวจีทัณฑะ มโนทัณฑะ ว่ามีโทษ มาก เหมือนกายทัณฑะหามิได้. (นิครนถ์บัญญัติว่า บาปทางกาย มีโทษมากกว่าบาป ทางวาจา และบาปทางใจ)
ดูกรตปัสสี ท่านกล่าวว่ากายทัณฑะหรือ? (ถามครั้งที่๑)
ท่านพระโคดม ข้าพเจ้าว่ากายทัณฑะ.
ดูกรตปัสสี ท่านกล่าวว่ากายทัณฑะหรือ? (ถามครั้งที่๒)
ท่านพระโคดม ข้าพเจ้ากล่าวว่ากายทัณฑะ.
ดูกรตปัสสี ท่านกล่าวว่ากายทัณฑะหรือ? (ถามครั้งที่๓)
ท่านพระโคดม ข้าพเจ้ากล่าวว่ากายทัณฑะ.
พระผู้มีพระภาคทรงให้ทีฆตปัสสีนิครนถ์ ยืนยันในเรื่องที่พูดนี้ถึง ๓ ครั้ง ด้วยประการ ฉะนี้.
[๖๔] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว ทีฆตปัสสีนิครนถ์ ได้กราบทูลถาม พระผู้มีพระภาคว่า ท่านพระโคดม พระองค์เล่าย่อมบัญญัติทัณฑะ ในการทำ บาปกรรม ในการเป็นไปแห่งบาปกรรมไว้เท่าไร?
ดูกรตปัสสี ตถาคตจะบัญญัติว่ากรรมๆ ดังนี้เป็นอาจิณ.
ท่านพระโคดม ก็พระองค์ย่อมบัญญัติกรรม ในการทำบาปกรรม ในการเป็นไป แห่งบาปกรรม ไว้เท่าไร?
ดูกรตปัสสี เราย่อมบัญญัติกรรม ในการทำบาปกรรม ในการเป็นไปแห่งบาป กรรม ไว้ ๓ประการ คือ กายกรรม ๑ วจีกรรม ๑ มโนกรรม ๑. (บัญญัติ ๓ ประการ เช่นเดียวกับนิครนถ์)
พระโคดม ก็กายกรรมอย่างหนึ่ง วจีกรรมอย่างหนึ่ง มโนกรรมอย่างหนึ่ง มิใช่หรือ?
ดูกรตปัสสี กายกรรมอย่างหนึ่ง วจีกรรมอย่างหนึ่ง มโนกรรมอย่างหนึ่ง.
ท่านพระโคดม ก็บรรดากรรมทั้ง ๓ ประการ ที่จำแนกออกแล้วเป็นส่วนละอย่าง ต่างกันเหล่านี้ กรรมไหน คือ กายกรรม วจีกรรม หรือมโนกรรม ที่พระองค์บัญญัติว่า มีโทษมากกว่าในการทำบาปกรรม ในการเป็นไปแห่งบาปกรรม?
ดูกรตปัสสี บรรดากรรมทั้ง ๓ ประการ ที่จำแนกออกแล้ว เป็นส่วนละอย่าง ต่างกันเหล่านี้ เราบัญญัติมโนกรรมว่ามีโทษมากกว่า ในการทำบาปกรรม ในการ เป็นไป แห่งบาปกรรม เราจะบัญญัติกายกรรม วจีกรรมว่ามีโทษมาก เหมือน มโนกรรม หามิได้. (พระศาสดาบัญญัติต่างกับนิครนถ์)
ท่านพระโคดม พระองค์ตรัสว่ามโนกรรมหรือ? (นิครนถ์ตรัสถามพระศาสดาครั้งที่๑)
ดูกรตปัสสี เรากล่าวว่ามโนกรรม.
ท่านพระโคดม พระองค์ตรัสว่ามโนกรรมหรือ? (นิครนถ์ตรัสถามพระศาสดาครั้งที่๒)
ดูกรตปัสสี เรากล่าวว่ามโนกรรม.
ท่านพระโคดม พระองค์ตรัสว่ามโนกรรมหรือ? (นิครนถ์ตรัสถามพระศาสดาครั้งที่๓)
ดูกรตปัสสี เรากล่าวว่ามโนกรรม.
ทีฆตปัสสีนิครนถ์ ให้พระผู้มีพระภาค ทรงยืนยันในเรื่องที่ตรัสนี้ถึง ๓ ครั้ง ด้วยประการฉะนี้ แล้วลุกจากอาสนะเข้าไปหานิครนถ์นาฏบุตรถึงที่อยู่.
[๖๕] ก็สมัยนั้น นิครนถ์นาฏบุตรนั่งอยู่ พร้อมด้วย คิหิบริษัท (คฤหัสถ์ ผู้ครองเรือน) เป็นอันมาก ผู้มีความเขลา มีอุบาลิคฤหบดี เป็นประมุข. ได้เห็น ทีฆตปัสสีนิครนถ์มาแต่ไกล ได้กล่าวกะทีฆตปัสสีนิครนถ์ว่า ดูกรตปัสสี ดูเถอะ ท่านมาจากไหน แต่ยังวันเทียวหนอ?
ทีฆตปัสสีตอบว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้ามาจากสำนักพระโคดมนี้เอง.
นิ. ดูกรตปัสสี ก็ท่านได้เจรจาปราศรัยกับพระสมณโคดมเรื่องอะไรบ้างหรือ?
ที. ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าได้เจรจาปราศรัยกับพระสมณโคดมมาบ้าง.
ดูกรตปัสสี ก็ท่านได้เจรจาปราศรัยกับพระสมณโคดมมาอย่างไร?
ลำดับนั้น ทีฆตปัสสีนิครนถ์บอกเรื่อง การเจรจาปราศรัยกับพระผู้มีพระภาค จนหมดสิ้น แก่นิครนถ์นาฏบุตร. เมื่อทีฆตปัสสีกล่าวอย่างนี้แล้ว นิครนถ์นาฏบุตร ได้กล่าวกะทีฆตปัสสีนิครนถ์ว่า
ดูกรตปัสสี ดีละๆ ข้อที่ทีฆตปัสสีนิครนถ์พยากรณ์ แก่พระสมณโคดม ตรงตามที่ สาวกผู้ฟังผู้รู้ทั่วถึงคำสอนของศาสดาโดยชอบ มโนทัณฑะอันต่ำทราม จะงาม อะไรเล่า เมื่อเทียบกับกายทัณฑะอันยิ่งใหญ่อย่างนี้ โดยที่แท้ กายทัณฑะเท่านั้น มีโทษมากกว่า ในการทำบาปกรรมในการเป็นไป แห่ง บาปกรรม วจีทัณฑะ มโนทัณฑะ หามีโทษมากเหมือนกายทัณฑะไม่.
[๖๖] เมื่อนิครนถ์นาฏบุตรกล่าวอย่างนี้แล้ว อุบาลีคฤหบดี ได้กล่าว กะ นิครนถ์นาฏบุตรว่า ท่านผู้เจริญ ท่านทีฆตปัสสีพยากรณ์ดีแล้วๆ ข้อที่ท่าน ทีฆตปัสสี พยากรณ์ แก่พระสมณโคดม ตรงตามที่สาวกผู้ฟัง ผู้รู้ทั่วถึงคำสอนของ ศาสดาโดย ชอบ มโนทัณฑะอันต่ำทราม จะงามอะไรเล่า เมื่อเทียบกับกายทัณฑะ อันยิ่งใหญ่ อย่างนี้ โดยที่แท้ กายทัณฑะเท่านั้น มีโทษมากกว่า ในการทำบาปกรรม ในการ เป็นไปแห่งบาปกรรม วจีทัณฑะ มโนทัณฑะ หามีโทษมากเหมือน กายทัณฑะไม่
ท่านผู้เจริญ เอาเถอะ ข้าพเจ้าจะไป จักยกวาทะ ในเรื่องที่พูดนี้ แก่พระสมณ โคดม ถ้าพระสมณโคดมจักยืนยันแก่ข้าพเจ้า เหมือนอย่างที่ยืนยัน กับท่านตปัสสี ไซร้ ข้าพเจ้าจักฉุดกระชากลากไปมา ซึ่งวาทะด้วยวาทะ กะพระสมณโคดม เหมือนบุรุษ มีกำลังพึงจับแกะมีขนยาวที่ขนแล้วฉุดกระชากลากไปมา ฉะนั้น
ข้าพเจ้าจักฉุดกระชาก ลากไปมา ซึ่งวาทะด้วยวาทะกะพระสมณโคดมเหมือน บุรุษ มีกำลัง ผู้ทำการงานโรงสุรา พึงทิ้งกระสอบเครื่องประกอบสุราใหญ่ไว้ ในห้วง น้ำลึก แล้วจับที่มุมฉุด กระชากลากไปมา ฉะนั้น ข้าพเจ้าจักขจัด ขยี้ บด ซึ่งวาทะ ด้วย วาทะ กะพระสมณโคดม เหมือนบุรุษที่มีกำลังเป็นนักเลงสุรา พึงจับถ้วยสุรา ที่หูถ้วยแล้ว พลิกลง พลิกขึ้นไสไป ฉะนั้น ข้าพเจ้าจักเล่นดังเล่นล้างเปลือกป่าน กะพระสมณโคดม เหมือนช้างแก่อายุ ๖๐ ปีลงไปยังสระลึก เล่นล้างเปลือกป่าน ฉะนั้น ข้าแต่ท่านผู้เจริญ เอาเถอะ ข้าพเจ้าจะไป จักยกวาทะในเรื่องที่พูดนี้ แก่พระสมณโคดม.
นิ. ดูกรคฤหบดี ท่านจงไป จงยกวาทะในเรื่อง ที่พูดนี้แก่พระสมณโคดม ดูกรคฤหบดี เราก็ได้ ทีฆตปัสสีนิครนถ์ก็ได้ ท่านก็ได้ พึงยกวาทะแก่ พระสมณโคดม.
[๖๗] เมื่อนิครนถ์นาฏบุตรกล่าวอย่างนี้แล้ว ทีฆตปัสสีนิครนถ์ ได้กล่าวกะ นิครนถ์นาฏบุตรว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ข้อที่ อุบาลีคฤหบดี จะพึงยกวาทะ แก่ พระสมณโคดมนั้น ข้าพเจ้าไม่ชอบใจเลย ด้วยว่า พระสมณโคดมเป็นคนมีมายา ย่อมรู้มายา เป็นเครื่องกลับใจสาวกของพวก อัญญเดียรถีย์.
นิ. ดูก่อนตปัสสี ข้อที่อุบาลีคฤหบดี จะพึงเข้าถึงความเป็นสาวก ของพระสมณ โคดม มิใช่ฐานะ มิใช่โอกาส แต่ข้อที่พระสมณโคดม จะพึงเข้าถึงความเป็นสาวก ของ อุบาลีคฤหบดี เป็นฐานะ ที่จะมีได้ ดูกรคฤหบดี ท่านจงไป จงยกวาทะ ในเรื่อง ที่พูดนี้ แก่พระสมณโคดม เราก็ได้ ทีฆตปัสสีก็ได้ ท่านก็ได้ พึงยกวาทะ แก่พระสมณโคดม.
ทีฆตปัสสีนิครนถ์ ได้กล่าวเตือน นิครนถ์นาฏบุตรเป็นครั้งที่ ๒ ว่าข้าแต่ ท่านผู้เจริญ ข้อที่ อุบาลีคฤหบดีจะพึงยกวาทะแก่พระสมณโคดมนั้น ข้าพเจ้า ไม่ชอบใจเลย ด้วยพระสมณโคดมเป็นคนมีมายา ย่อมรู้มายาเป็นเครื่องกลับใจ สาวก ของพวกอัญญเดียรถีย์.
นิ. ดูกรตปัสสี ข้อที่อุบาลีคฤหบดี จะพึงเข้าถึงความเป็นสาวก ของ พระสมณ โคดม มิใช่ฐานะ มิใช่โอกาส แต่ข้อที่พระสมณโคดมจะพึงเข้าถึง ความเป็นสาวก ของ อุบาลีคฤหบดี เป็นฐานะที่จะมีได้ ดูกรคฤหบดี ท่านจงไป จงยกวาทะในเรื่อง ที่พูดนี้ แก่ พระสมณโคดมเราก็ได้ ทีฆตปัสสีก็ได้ ท่านก็ได้พึงยกวาทะแก่พระสมณ โคดม.
ทีฆตปัสสีนิครนถ์ได้กล่าวเตือนนิครนถ์นาฏบุตรเป็นครั้งที่ ๓ ว่าข้าแต่ท่าน ผู้เจริญ ข้อที่อุบาลีคฤหบดี จะพึงยกวาทะแก่พระสมณโคดมนั้น ข้าพเจ้าไม่ชอบใจ เลย ด้วยพระสมณโคดมเป็นคนมีมายา ย่อมรู้มายา เป็นเครื่องกลับใจสาวก ของพวก อัญญเดียรถีย์.
นิ. ดูกรตปัสสี ข้อที่ อุบาลีคฤหบดี จะพึงเข้าถึงความเป็นสาก ของพระสมณ โคดม มิใช่ฐานะ มิใช่โอกาส แต่ข้อที่พระสมณโคดม จะพึงเข้าถึงความเป็นสาวก ของ อุบาลีคฤหบดี เป็นฐานะที่จะมีได้ดูกรคฤบดี ท่านจงไป จงยกวาทะในเรื่อง ที่พูดนี้ แก่พระสมณโคดม เราก็ได้ทีฆตปัสสีก็ได้ ท่านก็ได้ พึงยกวาทะแก่ พระสมณโคดม.
[๖๘] อุบาลีคฤหบดี รับคำ นิครนถ์นาฏบุตรแล้ว ลุกจากอาสนะไหว้ นิครนถ์นาฏบุตร ทำประทักษิณแล้ว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงปาวาริกัมพวัน ถวายบังคมพระผู้มีพระภาค แล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง. ได้ทูลถาม พระผู้มี พระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ทีฆตปัสสีนิครนถ์ได้มา ณ ที่นี้หรือ?
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสตอบว่า ดูกรคฤหบดี ทีฆตปัสสีนิครนถ์ได้มา ณ ที่นี้.
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็พระองค์ได้เจรจาปราศรัยเรื่องอะไรๆ กับทีฆตปัสสีนิครนถ์ บ้างหรือ?
ดูกรคฤหบดี เราได้เจรจาปราศรัยกับ ทีฆตปัสสีนิครนถ์บ้าง.
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็พระองค์ได้เจรจาปราศรัยกับทีฆตปัสสีนิครนถ์ อย่างไรบ้าง?
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาค ตรัสบอกเรื่องการเจรจาปราศรัย กับทีฆตปัสสี นิครนถ์ จนหมดสิ้นแก่ อุบาลีคฤหบดี.
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสบอกอย่างนี้แล้ว อุบาลีคฤหบดี ได้กราบทูลพระผู้มี พระภาค ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ทีฆตปัสสี พยากรณ์ ดีแล้วๆ ข้อที่ ทีฆตปัสสี พยากรณ์แก่ พระผู้มีพระภาคนั้น ตรงตามที่สาวก ผู้ฟัง ผู้รู้ทั่วถึงคำสอนของ พระศาสดา โดยชอบ มโนทัณฑะ อันต่ำทรามนั้น จะงาม อะไรเล่า เมื่อเทียบกับ กายทัณฑะนี้ อันยิ่งใหญ่อย่างนี้ โดยที่แท้ กายทัณฑะเท่านั้น มีโทษมากกว่า ในการทำ บาปกรรม ในการเป็นไปแห่งบาปกรรม วจีทัณฑะ มโนทัณฑะ หามีโทษมากเหมือน กายทัณฑะไม่.
ดูกรคฤหบดี ถ้าแลท่านจะพึงมั่นอยู่ในคำสัตย์เจรจากัน เราทั้งสองพึงเจรจา ปราศรัยกันได้ในเรื่องนี้.
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าจักมั่น อยู่ในคำสัตย์เจรจากัน ขอเราทั้งสอง จงเจรจา ปราศรัยกันในเรื่องนี้เถิด.
|