เว็บไซต์ อนาคามี เผยแพร่คำพระศาสดา เผยแพร่คำสอนตถาคต เว็บไซต์เผยแพร่พระสุตรคำสอนของพระพุทธเจ้า คลิปคำสอน คลิปสาธยายธรรม
 
ค้นหาคำที่ต้องการ          

 
 พาหิยสูตร เมื่อใดเธอเห็น รูป แล้ว สักว่าเห็น ได้ฟังเสียงแล้ว สักว่าฟัง 183  
 
  พาหิยะ
เมื่อใดเธอเห็น รูป แล้ว สักว่าเห็น
ได้ฟังเสียงแล้ว สักว่าฟัง
ได้กลิ่น ลิ้มรส สัมผัสทางผิวกาย ก็สักว่า ดม ลิ้ม สัมผัส
ได้รู้แจ้งธรรมารมณ์ ก็สักว่าได้รู้แจ้งแล้ว
เมื่อนั้น “เธอ” จักไม่มี

เมื่อใด “เธอ” ไม่มี เมื่อนั้นเธอก็ไม่ปรากฏในโลกนี้
ไม่ปรากฏในโลกอื่น ไม่ปรากฏในระหว่างแห่งโลกทั้งสอง  
นั่นแหละ คือที่สุดแห่งทุกข์ละ
 
 


พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๕ หน้าที่ ๕๗

๑๐. พาหิยสูตร

          [๔๗] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้

          สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวันอาราม ของท่าน อนาถบิณฑิก เศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี ก็สมัยนั้นแล กุลบุตรชื่อ พาหิยทารุจีริยะ อาศัยอยู่ที่ ท่าสุปปารกะใกล้ฝั่งสมุทร เป็นผู้อันมหาชนสักการะ เคารพนับถือ บูชา ยำเกรง ได้จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร

           ครั้งนั้นแล พาหิยทารุจีริยะ หลีกเร้นอยู่ในที่ลับ เกิดความปริวิตกแห่งใจ อย่างนี้ว่า เราเป็นคนหนึ่ง ในจำนวนพระอรหันต์ หรือผู้ถึงอรหัตตมรรคในโลก ลำดับนั้นแลเทวดาผู้เป็นสายโลหิต ในกาลก่อนของพาหิยทารุจีริยะ เป็นผู้อนุเคราะห์ หวังประโยชน์ ได้ทราบความปริวิตกแห่งใจของพาหิยทารุจีริยะ ด้วยใจ แล้วเข้าไปหาพาหิยทารุจีริยะ ครั้นแล้วได้กล่าวว่า

           ดูกรพาหิยะ ท่านไม่เป็นพระอรหันต์ หรือไม่เป็นผู้ถึงอรหัตตมรรคอย่าง แน่นอน ท่านไม่มีปฏิปทา เครื่องให้ เป็นพระอรหันต์ หรือเครื่องเป็นผู้ถึง อรหัตตมรรค พาหิยทารุจีริยะ ถามว่าเมื่อเป็นอย่างนั้น บัดนี้ใครเล่าเป็นพระอรหันต์ หรือเป็นผู้ถึงอรหัตตมรรคในโลกกับเทวโลก เทวดาตอบว่า ดูกรพาหิยะ ในชนบท ทางเหนือ มีพระนครชื่อว่าสาวัตถี บัดนี้พระผู้มี พระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์นั้นประทับอยู่ในพระนครนั้น

           ดูกรพาหิยะ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น แลเป็นพระอรหันต์อย่างแน่นอน ทั้งทรงแสดงธรรมเพื่อความเป็นพระอรหันต์ด้วย ลำดับนั้นแล พาหิยทารุจีริยะผู้อัน เทวดานั้นให้สลดใจแล้ว หลีกไปจากท่าสุปปารกะ ในทันใดนั้นเองได้เข้าไปเฝ้า พระผู้มีพระภาคผู้ประทับอยู่ในพระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี โดยการพักแรมสิ้นราตรีหนึ่งในที่ทั้งปวง ฯ

          [๔๘] ก็สมัยนั้นแล ภิกษุมากด้วยกันจงกรมอยู่ในที่แจ้ง พาหิยทารุจีริยะ เข้าไปหาภิกษุทั้งหลายถึงที่อยู่ ครั้นแล้วได้ถามภิกษุเหล่านั้นว่า ข้าแต่ท่านทั้งหลาย ผู้เจริญ บัดนี้พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ ที่ไหนหนอ ข้าพเจ้าประสงค์จะเฝ้า พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์นั้น ภิกษุเหล่านั้นตอบว่า ดูกรพาหิยะพระผู้มีพระภาคเสด็จเข้าไปสู่ละแวกบ้าน เพื่อบิณฑบาต

           ลำดับนั้นแล พาหิยทารุจีริยะรีบด่วนออกจากพระวิหารเชตวัน เข้าไปยัง พระนครสาวัตถี ได้เห็นพระผู้มีพระภาคกำลังเสด็จเที่ยวบิณฑบาต ในพระนคร สาวัตถี น่าเลื่อมใส ควรเลื่อมใส มีอินทรีย์สงบ มีพระทัยสงบ ถึงความฝึก และ ความสงบ อันสูงสุด มีตนอันฝึกแล้ว คุ้มครองแล้ว มีอินทรีย์สำรวม แล้วผู้ประเสริฐ แล้วได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค หมอบลงแทบพระบาท ของพระผู้มีพระภาค ด้วยเศียรเกล้าแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า

           ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาค โปรดทรงแสดงธรรม แก่ข้าพระองค์ ขอพระสุคตโปรดทรงแสดงธรรม ที่จะพึงเป็นไปเพื่อประโยชน์ เกื้อกูล เพื่อความสุข แก่ข้าพระองค์สิ้นกาลนานเถิด

          [๔๙] เมื่อพาหิยทารุจีริยะกราบทูลอย่างนี้แล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า ดูกรพาหิยะเวลานี้ยังไม่สมควรก่อน เพราะเรายังเข้าไปสู่ละแวกบ้าน เพื่อบิณฑ บาตอยู่ แม้ครั้งที่ ๒ พาหิยทารุจีริยะก็ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า

           ข้าแต่พระองค์ ผู้เจริญ ก็ความเป็นไป แห่งอันตรายแก่ชีวิต ของพระผู้มี พระภาคก็ดี ความเป็นไปแห่ง อันตราย แก่ชีวิตของข้าพระองค์ก็ดี รู้ได้ยากแล ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาค โปรดทรงแสดงธรรม แก่ข้าพระองค์ ขอพระสุคตโปรดทรงแสดงธรรม ที่จะพึงเป็นไป เพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุข แก่ข้าพระองค์ตลอดกาลนานเถิด

          แม้ครั้งที่ ๒...แม้ครั้งที่ ๓ พาหิยทารุจีริยะก็ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็ความเป็นไปแห่งอันตรายแก่ชีวิต ของพระผู้มีพระภาคก็ดี ความเป็นไปแห่งอันตรายแก่ชีวิตของข้าพระองค์ก็ดี รู้ได้ยากแล

           ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคโปรดทรงแสดงธรรมแก่ข้าพระองค์ ขอพระสุคตโปรดทรงแสดงธรรม เพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุข แก่ข้าพระองค์ สิ้นกาลนานเถิด

          พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรพาหิยะ เพราะเหตุนั้นแล ท่านพึงศึกษาอย่างนี้ว่า

          เมื่อเห็น จักเป็นสักว่าเห็น
          เมื่อฟัง จักเป็นสักว่าฟัง
          เมื่อทราบ จักเป็นสักว่าทราบ
(ได้กลิ่น ได้ลิ้ม ได้สัมผัสทางกาย)
          เมื่อรู้แจ้ง จักเป็นสักว่ารู้แจ้ง

           ดูกรพาหิยะ ท่านพึงศึกษาอย่างนี้แล ดูกรพาหิยะ ในกาลใดแล เมื่อท่านเห็น จักเป็น สักว่าเห็น เมื่อฟังจักเป็นสักว่าฟัง เมื่อทราบจัก เป็นสักว่าทราบ เมื่อรู้แจ้ง จักเป็น สักว่ารู้แจ้ง ในกาลนั้น ท่านย่อมไม่มีในกาลใด ท่านไม่มี ในกาลนั้น ท่านย่อมไม่มี ในโลกนี้ ย่อมไม่มีในโลกหน้าย่อมไม่มี ในระหว่าง โลกทั้งสอง
นี้แลเป็นที่สุด แห่งทุกข์

          ลำดับนั้นแล จิตของพาหิยทารุจีริยะ กุลบุตรหลุดพ้นแล้วจากอาสวะทั้งหลาย เพราะไม่ถือมั่นในขณะนั้นเอง ด้วยพระธรรมเทศนาโดยย่อนี้ ของพระผู้มีพระภาค ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสสอนพาหิยทารุจีริยะ กุลบุตรด้วยพระโอวาท โดยย่อนี้แล้ว เสด็จหลีกไป

          [๕๐] ครั้งนั้นแล เมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จหลีกไปแล้วไม่นาน แม่โคลูกอ่อน ขวิด พาหิยทารุจีริยะ ให้ล้มลงปลงเสียจากชีวิต ครั้นพระผู้มีพระภาค เสด็จเที่ยว บิณฑบาต ในพระนครสาวัตถี เสด็จกลับจากบิณฑบาตในเวลาปัจฉาภัต เสด็จ ออกจากพระนครพร้อมกับภิกษุเป็นอันมาก ได้ทอดพระเนตรเห็น พาหิยทารุจีริยะ ทำกาละแล้ว จึงตรัสกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลายท่าน ทั้งหลายจงช่วยกัน จับสรีระของพาหิยทารุจีริยะ ยกขึ้นสู่เตียงแล้ว จงนำไปเผาเสีย แล้วจงทำสถูปไว้

          ดูกรภิกษุทั้งหลาย พาหิยทารุจีริยะประพฤติธรรมอันประเสริฐ เสมอกับท่าน ทั้งหลาย ทำกาละแล้ว ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระผู้มีพระภาคแล้ว ช่วยกันยกสรีระของ พระพาหิย ทารุจีริยะ ขึ้นสู่เตียง แล้วนำไปเผา และทำสถูปไว้แล้วเข้าไปเฝ้า พระผู้มี พระภาค ถึงที่ประทับ ได้นั่งอยู่ณ ที่ควรข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้ทูลถาม พระผู้มีพระภาค ว่า ข้าแต่พระองค์ ผู้เจริญ สรีระของพาหิยทารุจีริยะข้าพระองค์ทั้งหลายเผาแล้ว และสถูปของ พาหิย ทารุจีริยะนั้น ข้าพระองค์ทั้งหลาย ทำไว้แล้วคติของ พาหิยทารุจีริยะ นั้นเป็นอย่างไร ภพเบื้องหน้าของเขาเป็นอย่างไร

          พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย พาหิยทารุจีริยะ เป็นบัณฑิต ปฏิบัติธรรม สมควรแก่ธรรม ทั้งไม่ทำเราให้ลำบาก เพราะเหตุแห่งการแสดงธรรม
ดูกรภิกษุทั้งหลาย พาหิยทารุจีริยะปรินิพพานแล้ว

 
 
พุทธวจน : อ่านคำสอนพระศาสดา อ่านแบบสบายตา โดยคัดลอกหนังสือทั้งเล่มมาจัดทำเป็นเว็บเพจ (คลิกอ่านพร้อมดาวน์โหลดไฟล์ pdf)
90 90 90 90
พุทธประวัติ ขุมทรัพย์ อริยสัจ
ภาคต้น
อริยสัจ
ภาคปลาย
ปฏิจจ ปฐมธรรม ตถาคต อนาคามี อินทรีย์
สังวร
สัตว์
สัตตานัง
ทาน
สกทาคามี
ฆราวาส
ชั้นเลิศ
มรรควิธี
ที่ง่าย
อริยวินัย เดรัจฉานวิชา กรรม สมถะ
วิปัสสนา
โสดาบัน นา
ปานสติ
จิต มโน
วิญญาณ
ก้าวย่าง
อย่างพุทธะ
ตามรอย
ธรรม
ภพ ภูมิ
พุทธวจน
สาธยาย
ธรรม
สังโยชน์