เว็บไซต์ อนาคามี เผยแพร่คำพระศาสดา เผยแพร่คำสอนตถาคต เว็บไซต์เผยแพร่พระสุตรคำสอนของพระพุทธเจ้า คลิปคำสอน คลิปสาธยายธรรม
 
ค้นหาคำที่ต้องการ          

 
  กุศลกรรมบถ 10 106  
 
  กุศลกรรมบถ ๑๐ ความสะอาด ทางกาย วาจา ใจ
  1. ทางกาย (๓) ...ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักขโมย ไม่ประพฤติผิดในกาม
  2. ทางวาจา (๔) ..ไม่พูดเท็จ ส่อเสียด หยาบคาย เพ้อเจ้อ
  3. ทางใจ (๓) ..ไม่โลภ ไม่คิดพยาบาท เห็นชอบตามคลองธรรม

กุศลกรรมบถ 10

แบ่งออกเป็น 3 หมวด ดังนี้

กายกรรม 3 ประการ
(ความสะอาดทางกาย)
   1. ไม่ฆ่าหรือทำลายชีวิตผู้อื่น
   2. ไม่ลักขโมย ไม่เอาทรัพย์ของผู้อื่นมาเป็นของตน
   3. ไม่ประพฤติผิดในกาม

วจีกรรม 4 ประการ (ความสะอาดทางวาจา)
   4. ไม่พูดเท็จ
   5. ไม่พูดส่อเสียด
   6. ไม่พูดคำหยาบคาย
   7. ไม่พูดเพ้อเจ้อ

มโนกรรม 3 ประการ (ความสะอาดทางใจ)
   8. ไม่โลภอยากได้ของคนอื่น
   9. ไม่คิดพยาบาทปองร้ายผู้อื่น
  10. เห็นชอบตามคลองธรรม


กุศลกรรมบถ
(จุนทสูตร พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๔ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๖
อังคุตตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต )

ดูกรจุนทะ
ความสะอาดทางกายมี ๓ อย่าง
ความสะอาดทางวาจามี ๔ อย่าง
ความสะอาดทางใจมี ๓ อย่าง

ดูกรจุนทะ ความสะอาดทางกายมี ๓ อย่าง อย่างไรเล่า

ดูกรจุนทะบุคคลบางคนในโลกนี้

๑) ละการฆ่าสัตว์ เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ วางทัณฑะ วางศาตรา มีความละอาย มีความ เอ็นดู มีความกรุณาหวังประโยชน์เกื้อกูลแก่สัตว์ทั้งปวงอยู่ ๑

๒) ละการลักทรัพย์ เว้นขาดจากการลักทรัพย์ ไม่ถือเอาวัตถุเป็นอุปกรณ์แก่ทรัพย์ เครื่องปลื้มใจแห่งผู้อื่นของบุคคลอื่น ซึ่งอยู่ในบ้าน หรืออยู่ในป่าที่เจ้าของมิได้ให้ ด้วยจิตเป็นขโมย ๑

๓) ละการประพฤติผิดในกาม เว้นขาดจากการ ประพฤติผิดในกาม ไม่ถึงความประพฤติล่วง ในสตรีที่มารดารักษา บิดารักษาพี่ชายน้องชายรักษา พี่สาวน้องสาวรักษา ญาติรักษา ธรรมรักษา มีสามี มีอาชญาโดยรอบ โดยที่สุด แม้สตรี ที่บุรุษคล้องแล้วด้วยพวงมาลัย ๑

ดูกรจุนทะ ความสะอาดทางกายมี ๓ อย่าง อย่างนี้แล ฯ

---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

ดูกรจุนทะ ความสะอาดทางวาจามี ๔ อย่าง อย่างไรเล่า

ดูกรจุนทะบุคคลบางคน ในโลกนี้

๑) ละการพูดเท็จ เว้นขาดจากการพูดเท็จ อยู่ในสภา ในบริษัท ในท่ามกลางญาติ ในท่ามกลางเสนา หรือในท่ามกลางราชสกุล ถูกผู้อื่นนำไปเป็นพยานซักถามว่า มาเถิด บุรุษผู้เจริญ ท่านรู้สิ่งใดจงพูดสิ่งนั้น บุรุษนั้นเมื่อไม่รู้ก็บอกว่าไม่รู้ หรือเมื่อรู้ ก็บอกว่ารู้ เมื่อไม่เห็นก็บอกว่าไม่เห็น หรือเมื่อเห็นก็บอกว่าเห็น ไม่เป็นผู้กล่าวเท็จทั้งรู้ เพราะเหตุแห่งตน เพราะเหตุแห่งผู้อื่นบ้าง หรือเพราะเหตุเห็นแก่อามิสเล็กน้อย ๑

๒) ละคำส่อเสียด เว้นขาดจากคำส่อเสียด ฟังข้าง นี้แล้วไปบอกข้างโน้น เพื่อทำลายคนหมู่นี้ หรือฟังจากข้างโน้นแล้วไม่มาบอกข้างนี้เพื่อทำลาย คนหมู่โน้น สมานคนที่แตกร้าวกันแล้วบ้าง ส่งเสริมคนที่พร้อมเพรียงกันแล้วบ้าง ชอบคนผู้พร้อม เพรียงกัน ยินดีคนผู้พร้อมเพรียงกันเพลิดเพลินในคนผู้พร้อมเพรียงกัน กล่าววาจาที่ทำให้คนพร้อมเพรียงกัน ๑

๓) ละคำหยาบ เว้นขาดจากคำหยาบ กล่าววาจาที่ไม่มีโทษ เพราะหู ชวนให้รักจับใจ เป็นของชาวเมือง คนส่วนมากรักใคร่ พอใจ ๑

๔) ละคำเพ้อเจ้อ เว้นขาดจาก คำเพ้อเจ้อ พูดถูกกาล พูดแต่คำที่เป็นจริง พูดอิงอรรถ พูดอิงธรรม พูดอิงวินัยพูดแต่คำ มีหลักฐาน มีที่อ้างอิง มีที่กำหนด ประกอบด้วยประโยชน์ โดยกาลอันควร ๑

ดูกรจุนทะ ความสะอาดทางวาจามี ๔ อย่าง อย่างนี้แล ฯ

---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------


ดูกรจุนทะ ความสะอาดทางใจมี ๓ อย่าง อย่างไรเล่า

ดูกรจุนทะบุคคลบางคนในโลกนี้

๑) ไม่อยากได้ของผู้อื่น คือ ไม่อยากได้วัตถุเป็นอุปกรณ์แก่ทรัพย์เครื่อง ปลื้มใจ แห่งผู้อื่น ของบุคคลอื่นว่า ไฉนหนอ วัตถุที่เป็นเครื่องอุปกรณ์แก่ทรัพย์เครื่องปลื้ม แห่งผู้อื่นของ บุคคลอื่นพึงเป็นของเรา ดังนี้ ๑

๒) ไม่มีจิตปองร้าย คือ ไม่มีความดำริในใจอันชั่วร้ายว่า สัตว์ เหล่านี้จงเป็นผู้ไม่มีเวร ไม่มีความมุ่งร้ายกัน ไม่มีทุกข์ มีสุข รักษาตนเถิดดังนี้ ๑

๓) มีความเห็นชอบ คือ มีความเห็นไม่วิปริตว่า ทานที่บุคคลให้แล้วมีผล การเซ่นสรวงมีผล การบูชา มีผล ผลวิบากของกรรมที่บุคคลทำดีทำชั่วมีอยู่ โลกนี้มีโลกหน้ามี มารดามี บิดามี สัตว์ผู้เป็น อุปปาติกะมี สมณพราหมณ์ผู้ดำเนินไป ชอบ ผู้ปฏิบัติชอบ ผู้ทำโลกนี้และโลกหน้าให้แจ้งชัด ด้วยปัญญาอันยิ่งด้วยตนเอง แล้วสอนผู้อื่นให้รู้ตาม มีอยู่ ดังนี้ ๑

ดูกรจุนทะ ความสะอาดทางใจมี ๓ อย่าง อย่างนี้แล ฯ



 
พุทธวจน : อ่านคำสอนพระศาสดา อ่านแบบสบายตา โดยคัดลอกหนังสือทั้งเล่มมาจัดทำเป็นเว็บเพจ (คลิกอ่านพร้อมดาวน์โหลดไฟล์ pdf)
90 90 90 90
พุทธประวัติ ขุมทรัพย์ อริยสัจ
ภาคต้น
อริยสัจ
ภาคปลาย
ปฏิจจ ปฐมธรรม ตถาคต อนาคามี อินทรีย์
สังวร
สัตว์
สัตตานัง
ทาน
สกทาคามี
ฆราวาส
ชั้นเลิศ
มรรควิธี
ที่ง่าย
อริยวินัย เดรัจฉานวิชา กรรม สมถะ
วิปัสสนา
โสดาบัน นา
ปานสติ
จิต มโน
วิญญาณ
ก้าวย่าง
อย่างพุทธะ
ตามรอย
ธรรม
ภพ ภูมิ
พุทธวจน
สาธยาย
ธรรม
สังโยชน์