พระโสณโกฬิวิสเถระ
เอตทัคคะในทางผู้ปรารภความเพียร
พระโสณโกฬิวิสะ เกิดในตระกูลเศรษฐี เมืองจำปา แคว้นอังคะ มีชื่อเต็มว่า “โสณะ” ซึ่งแปลว่า “ทองคำ” เพราะท่านมีผิวพรรณสวยงาม มาแต่กำเนิดส่วนคำว่า “โกฬิวิสะ” เป็น
ชื่อโคตรตระกูล บิดาชื่ออุสภเศรษฐีมีขนสีเขียวขึ้น ที่ฝ่ายเท้า
ท่านโสณะ เป็นผู้มีความชำนาญในการดีดพิณสามสาย เป็นคนสุขุมมาลชาติ มีความละเอียดอ่อน ได้รับการเลี้ยงดูอย่างดี บิดาได้สร้างปราสาท ๓ หลัง เพื่อเป็นที่พักอยู่อันเหมาะสมกับภูมิอากาศใน ๓ ฤดูกาล ให้บริโภคเฉพาะอาหาร ที่ประณีต ซึ่งหุงจากข้าวสาลีชนิดเลิศ และที่ฝ่าเท้าทั้งสองของท่านมีขนสีเขียว เหมือนแก้วมณี งอกออกมาด้วยขณะที่พระบรมศาสดาประทับอยู่ที่เขาคิชกูฎ เมืองราชคฤห์ ครั้งนั้นพระเจ้าพิมพิสาร รับสั่งให้พสกนิกร ของพระองค์ในหมู่บ้าน ๘๐,๐๐๐ ตำบล ในแคว้นอังคะ มาประชุมกันที่ลานบริเวณพระราชวัง เพื่อรับฟัง พระราโชบาย พร้อมกันนี้ ได้รับสั่งให้อุสภเศรษฐี ส่งโสณโกฬิวิสะบุตรของตน เฝ้าด้วยเพื่อจะทอดพระเนตรฝ่าเท้า ที่มีขนสีเขียว เหมือนแก้วมณีงอก ออกมา ตามที่มีข่าวเล่าลือ
อุสภเศรษฐีได้อบรมบุตรของตนให้ทราบถึงระเบียบมารยาท ในการเข้าเฝ้า โดยห้ามเหยียดเท้าไปทางที่ประทับ อันเป็นการไม่สมควร แต่ให้นั่งขัดสมาธิ ซ้อนเท้าทั้งสองไว้บนตัก หงายฝ่าเท้าขึ้น เพื่อให้ทอดพระเนตรโสณโกฬิวิสะ เมื่อเข้าเฝ้า ก็ได้ปฏิบัติตามที่บิดาสั่งสอนทุกประการ พระเจ้าพิมพิสารทอดพระเนตร แล้วหายสงสัย จากนั้นได้ประทานโอวาท และชี้แจงพระราโชบายเกี่ยวกับ กิจการบ้านเมือง ให้พสกนิกรทราบแล้ว ทรงนำพสกนิกรเหล่านั้น พร้อมทั้ง โสณโกฬิวิสะ ไปเข้าเฝ้าสมเด็จพระบรมศาสดาถึงที่ประทับ
ขณะนั้น พระสาคตะ รับหน้าที่เป็นพุทธอุปัฏฐาก เมื่อพระเจ้าพิมพิสารทรงพาพสกนิกร มาขอโอกาสเพื่อเข้าเฝ้า พระบรมศาสดา ท่านได้แสดงฤทธิ์ โดยดำดินลงไป แล้วโผล่ขึ้น ที่หน้าพระคันธกุฎีบนยอดภูเขาคิชฌกูฏนั้น ประชาชนทั้งหลายเป็นแล้ว ก็เกิดศรัทธาเลื่อมใสต่างพากันคิดว่า “พระพุทธสาวก ยังมีความสามารถึงเพียงนี้ พระบรมศาสดาจะต้องมีความสามารถมากกว่านี้อย่างแน่นอน” แล้วพากันเข้าเฝ้า พระผู้มีพระภาค ได้รับฟัง พระธรรมเทศนา อนุปุพพิกถา และอริยสัจ ๔ แล้วได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน แสดงตนเป็นอุบาสกอุบาสิกา ขอถึงพระรัตนตรัย เป็นที่พึ่งที่ระลึกตลอดชีวิตแล้ว กราบทูลลากลับนิวาสถานของตน ๆ
ส่วน โสณโกฬิวิสะ ก็เกิดศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา เหมือนกัน ได้พิจารณา เห็นว่าการอยู่ครองเพศฆราวาสนั้น ยากนักที่จะประพฤติพรหมจรรย์ ให้บริสุทธิ์ บริบูรณ์ได้ จึงกราบทูลขออุปสมบท ซึ่งพระบรมศาสดารับสั่ง ให้กลับไปขออนุญาต จากบิดามารดาก่อน เมื่อโสณโกฬิวิสะ ปฏิบัติตามเรียบร้อยแล้ว จึงประทาน การอุปสมบท ให้ตามความประสงค์
ทรงแนะให้ทำความเพียรเหมือนพิณ ๓ สาย
ครั้นบวชแล้ว ได้ไปบำเพ็ญเพียรที่ป่าสีตวัน เขตเมืองราชคฤห์ ท่านเดินจงกรม อย่างหนัก จนฝ่าเท้าแตก เลือดไหล เมื่อเดินด้วยเท้าไม่ได้ ท่านจึงใช้วิธีคลานด้วยเข่า และฝ่ามือทั้งสอง จนกระทั่งเข่า และฝ่ามือทั้งสอง แตกอีก แม้กระนั้น ท่านก็ยังไม่บรรลุมรรคผลอันใด ท่านจึงเกิดความท้อแท้ น้อยใจในวาสนาบารมีของตนว่า
“บรรดาสาวกของพระพุทธเจ้า ผู้บำเพ็ญเพียรอย่างหนักนั้น เราก็เป็นผู้หนึ่ง ที่มิได้ย่อหย่อนกว่าผู้อื่น ๆ ถ้ากระไรเราควรลาสิกขาออกไปครองเพศฆราวาส ทำบุญสร้างกุศลตามสมควรแก่ฆราวาสวิสัยจะดีกว่า”
พระบรมศาสดา ทรงทราบดำริขอท่านเช่นนั้น จึงเสด็จมาตรัสสอนให้บำเพ็ญเพียร แต่พอปานกลาง อย่าให้ตึงเกินไป หรือหย่อนเกินไป แล้วทรงยกพิณสามสาย ซึ่งท่านมีความนาญในการดีดพิณอยู่ก่อนแล้ว ขึ้นมาแสดงเป็นเครื่องเปรียบเทียบ ให้เห็นว่า
“พิณที่สายตึงเกินไป เมื่อดีดแล้วสายก็จะขาด พิณที่สายหย่อนเกินไป เมื่อดีดแล้วเสียงก็ไม่ไพเราะ ต้องสายที่ตึงพอปานกลาง จึงจะไม่ขาด และมีเสียงเพาะ”
ท่านโสณโกฬิวิสะ ปฏิบัติตามพระดำรัสที่ทรงแนะนำ ไม่ตึงเกินไป หรือไม่หย่อน เกินไป ปรับอินทรีย์ให้เสมอกันได้แล้ว ไม่นานนักก็ได้บรรลุพระอรหัตผล เป็นพระอริย บุคคลในพระอริยบุคคลในพระพุทธศาสนา ณ ป่าสีตวันนั้น
มูลเหตุทรงอนุญาตให้ภิกษุสวมรองเท้าได้
เพราะท่านโสณโกฬิวิสะ ทำความเพียรจนฝ่าเท้าเข่ามือแตกเลือดไหล ได้รับ ทุกขเวทนาอย่างหนัก ทรงปรารภเหตุนี้ จึงทรงอนุญาต ให้เธอสวมรองเท้าชั้นเดียวได้ แต่ท่านได้กราบทูลขอโอกาส ให้ทรงมีพระบรมพุทธานุญาต แก่พระสาวกรูปอื่น ๆ ด้วย พระพุทธองค์ประทานให้ตามที่ขอโดยรับสั่งให้ประชุมสงฆ์แล้วตรัสอนุญาตว่า:-
“ภิกษุทั้งหลาย ตถาคตอนุญาตให้พวกเธอสวมรองเท้าชั้นเดียวได้ แต่ไม่อนุญาตรองเท้าหลายชั้น”
(ต่อมาภายหลัง พระมหากัจจายนะ กราบทูลขออนุญาตรองเท้าหลายชั้นใน ปัจจันตชนบท ตั้งแต่นั้นมาพระภิกษุสงฆ์ จึงสวมรองเท้ามีพื้นหลายชั้นได้)
ด้วยเหตุที่ท่านทำความเพียงอย่างหนักดังกล่าวมา พระบรมศาสดาจึงทรงยกย่องท่านในตำแหน่งเอตทัคคะ เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลาย ในทางผู้ปรารภความเพียร
ท่านดำรงอายุสังขาร สมควรแก่กาลเวลาแล้ว ก็ดับขันธปรินิพพาน
ที่มา : http://www.84000.org/one/1/30.html
|