พระมหาปันถกเถระ
เอตทัคคะในทางผู้เจริญวิปัสสนา
พระมหาปันถก เป็นลูกชายของธิดาของธนเศรษฐี ในเมืองราชคฤห์ มีน้องชายอีกคน
หนึ่ง ซึ่งพี่น้องทั้งสองคนนี้เดิมชื่อว่า “ปันถก” เหมือนกันแต่เพราะท่านเป็นคนพี่ จึงได้นามว่า “มหาปันถก” ส่วนคนน้องได้นามว่า “จูฬปันถก” ทั้งสองพี่น้องถือว่าอยู่ในวรรณะจัณฑาล เพราะพ่อแม่ต่างวรรณะกัน โดยพ่อเป็นวรรณศูทร ส่วนแม่เป็นวรรณแพศย์
ประวัติมีดังต่อไปนี้:-
ธิดาเศรษฐีหนีตามชายหนุ่ม
มารดาของท่านนั้น เป็นธิดาของธนเศรษฐี ในเมืองราชคฤห์ เมื่อเจริญเติบโตย่างเข้าสู่วัย
สาว เป็นผู้มีความงามเป็นเลิศ บิดามารดาจึงห่วงและหวงเป็นนักหนา ได้ป้องกันรักษาให้อยู่บน
ปราสาทชั้นสูงสุด มิให้คบหากับบุคคลภายนอก จึงเป็นหตุให้นางมีความใกล้ชิดกับคนรับใช้ ซึ่ง
เป็นชายหนุ่มในเรือนของตนจนได้เสียเป็นสามีภรรยากัน
ต่อมาทั้งสองกลัวว่าบิดามารดาและคน
อื่นจะล่วงรู้การกระทำของตน จึงพากันหนีออกจากบ้านไปอาศัยอยู่ในหมู่บ้านอื่นที่ไม่มีคนรู้จัก
อยู่ร่วมทุกข์ร่วมสุขกันมาจนภรรยาตั้งครรภ์
เมื่อภรรยาตั้งครรภ์ใกล้คลอด ได้ปรึกษากับสามีว่า “ถึงอย่างไร พ่อแม่ก็คงไม่ทำ
อันตรายลูกของตนได้ ดังนั้น ขอให้ท่านช่วยพาดิฉันกลับไปคลอดที่บ้านเดิมด้วยเถิด การคลอด
ในที่ห่างไกลพ่อแม่นั้นไม่ค่อยจะปลอดภัย” ฝ่ายสามีเกรงว่าบิดามารดา ของภรรยาจะลงโทษจึงไม่กล้าพาไป และได้พยายามพูดบ่าย
เบี่ยงผัดวันประกันพรุ่ง ออกไปเรื่อย ๆ จนภรรยาเห็นท่าไม่ได้การเมื่อสามีออกไปทำงานข้างนอก
จึงหนี ออกจากบ้าน เดินทางมุ่งหน้าสู่บ้างเกิดของตนเองแต่ครรภ์ของนางได้รับการกระทบ
กระเทือนจึงคลอดบุตรในระหว่างทางฝ่ายสามีกลับเข้าบ้านไม่พบภรรยา ถามได้ทราบความจาก
คนใกล้เคียงแล้ว ออกติดตามโดยด่วน ได้มาพบภรรยาคลอดลูกอยู่ในระหว่างทาง และแม่ลูกทั้งสองก็แข็งแรงปลอดภัยดี กิจที่จะไปคลอดลูกยังบ้านเกิดของตน นั้นก็เสร็จสิ้นลงแล้ว จึงพากัน
กลับสู่บ้านของตน และได้ตั้งชื่อกุมารนั้นว่า “ปันถก” เพราะว่าเกิดในระหว่างหนทาง
ครั้นต่อมา นางได้ตั้งครรภ์เป็นครั้งที่สอง และเหตุการณ์ก็เป็นเหมือนครั้งแรก นางได้
คลอดลูกระหว่างทางอีก และตั้งชื่อให้ว่า “ปันถก” เหมือนคนแรกแต่เพิ่มคำว่า มหา ให้คนพี่
เรียกว่า “มหาปันถก” และเพิ่มคำว่า จูฬ ให้คนน้องเรียกว่า “จูฬปันนถก”
มาอยู่กับตายายจึงได้บวช
สองสามีภรรยานั้นได้ช่วยกันเลี้ยงดูลูกทั้งสอง อยู่ครองรักกันมานาน จนกระทั่งลูกเจริญ
เติบโตขึ้น ได้วิ่งเล่นกับเด็กเพื่อน ๆ กัน ได้ฟังเด็กคนอื่น ๆ เรียกญาติผู้ใหญ่ว่า ปู่ ย่า ตา ยาย
เป็นต้น ส่วนของตนไม่มีคนเหล่านั้นให้เรียกเลย จึงซักไซ้ถามจากบิดามารดาอยู่บ่อย ๆ จนทราบ
ว่าญาติผู้ใหญ่ของตนนั้นอยู่ที่เมืองราชคฤห์ จึงรบเร้าให้บิดามารดาไปพบท่านเหล่านั้น จนในที่
สุดบิดามารดาอดทนต่อการรบเร้าไม่ไหว จึงตัดสินใจพาลูกทั้งสองไปพบ ตา ยาย ที่เมือง
ราชคฤห์
เมื่อเดินทางมาถึงเมืองราชคฤห์แล้ว ได้พักอยู่ที่ศาลาหน้าประตูเมือง ไม่กล้าที่จะ เข้าไปหา
บิดามารดาในทันที เมื่อพบคนรู้จักจึงสั่งความให้ไปบอกแก่เศรษฐีว่า ขณะนี้ลูกสาวของท่านพาหลานชายสองคนมาเยี่ยม
ฝ่ายเศรษฐียังมีความแค้นเคืองอยู่ จึงบอกแก่คนที่มาส่งข่าวว่า “สองผัว
เมียนั้น อย่ามาให้เห็นหน้าเลย ถ้าอยากได้ทรัพย์สินเงินทอง ก็จงเอาไปเลี้ยงชีพเถิด แต่ขอให้ส่งหลานชายทั้งสองคนมาให้ก็แล้วกัน”
สองสามีภรรยานั้น รับทรัพย์สินเงินทองไปเลี้ยงชีวิต แล้วส่งลูกชายทั้งสองคนให้มาอยู่
กับเศรษฐีผู้เป็นตา ฝ่ายเศรษฐีก็เลี้ยงดูหลาน ๆ ด้วยความรักใคร่ พาไปฟังพระธรรม เทศนาจากพระบรมศาสดาที่วัดเวฬุวันเป็นประจำ
แต่ถึงอย่างไร หลานทั้งสองก็สร้างความลำบากใจแก่
เศรษฐีผู้เป็นตาอยู่ไม่น้อย เพราะเมื่อมีคนถามว่า “หลานชายทั้งสองคนนี้เป็นบุตรของลูกสาวคนไหนของท่าน ” ก็รู้สึกละอายที่จะตอบ “ เป็นบุตรของลูกสาวคนที่หนีตามชายหนุ่มไป”
ดังนั้นเมื่อต่อมา มหาปันถก หลานคนโตเกิดศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา กล่าว
ขออนุญาตเพื่อบรรพชาเป็นสามเณร
คุณตาผู้เศรษฐีจึงรีบอนุญาตด้วยความยินดีเป็นอย่างยิ่ง พาไปบวชเป็นสามเณร ท่านเป็นสามเณรจนอายุครบ ๒๐ ปี จึงได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุในพระ
พุทธศาสนา ท่านพยายามบำเพ็ญเพียรเจริญ วิปัสสนากรรมฐาน จนได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ สิ้น
อาสวกิเลสทั้งปวง
ได้รับยกย่องในตำแหน่งเอตทัคคะ
พระมหาปันถก เมื่อได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้ว ได้ช่วยกิจการพระศาสนาเป็นกำลัง
ช่วยงานพระบรมศาสดา ตามกำลังความสามารถ พระบรมศาสดา ได้ทรงมอบหมายให้ท่านรับหน้าที่ “ภัตตุทเทศก์” ผู้แจกจ่ายภัตตาหารและกิจนิมนต์ ตามบ้านทายกทายิกา และอุบาสก
อุบาสิกาทั้งหลาย เพื่อให้ภิกษุสงฆ์ได้รับลาภ สักการะ โดยทั่วถึงกัน ท่านได้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเรียบร้อยยุติธรรม จนเป็นที่พอใจ ของบรรดาเพื่อนสหธรรมิก และทายกทายิกาอุบาสก
อุบาสิกาทั้งหลาย
ท่านได้รับความสุขจากการหลุดพ้นสิ้นกิเลสาสวะทั้งปวงแล้ว ท่านได้ระลึกถึง
น้องชายของท่าน ต้องการที่จะให้น้องชายได้รับความสุขเช่นเดียวกับตนบ้าง จึงไปขออนุญาต
จากคุณตาแล้วพาจูฬปันถก ผู้เป็นน้องชายมาบวชเป็นศาสนทายาท อีกคนหนึ่ง
พระมหาปันถก เป็นผู้มีความชำนาญในการเจริญวิปัสสนา
จึงได้รับยกย่องจากพระบรมศาสดาในตำแหน่งเอตทัคคะ เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลาย ในทาง ผู้เจริญวิปัสสนา
ท่านดำรงอายุสังขาร สมควรแก่กาลเวลา แล้วก็ดับขันธปรินิพพาน
ที่มา : http://www.84000.org/one/1/34.html
|