พระเจ้าสุทโธทนะ
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พระเจ้าสุทโธทนะ (บาลี: สุทฺโธทน; สันสกฤต: ศุทฺโธทน (शुद्धोदन); อังกฤษ: Suddhodana) มักเรียกว่า พระเจ้าสิริสุทโธทน์ สุทรรศน์ มีพระนามราชสกุลว่าโคตมะ เป็นพระมหากษัตริย์แคว้นสักกะ (ซึ่งมีนครหลวงคือกรุงกบิลพัสดุ์) เป็นพุทธบิดาของ พระโคตมพุทธเจ้า
พระองค์เป็นพระราชโอรสของพระเจ้าสีหหนุ กับพระนางกัญจนา มีพระอนุชา และพระกนิษฐา ร่วมพระชนกชนนีอีก 6 พระองค์ ได้แก่ สุกโกทนะ อมิโตทนะ โธโตทนะ ฆนิโตทนะ ปมิตา และอมิตา พระเจ้าสุทโธทนะ มีพระอัครมเหสีนามว่า พระนางสิริมหา มายา เจ้าหญิง โกลิยวงศ์ จากกรุง เทวทหะ และมีพระราชโอรสพระองค์หนึ่งคือ “เจ้าชายสิทธัตถะ” ซึ่งต่อมาตรัสรู้เป็น พระสัมมาสัมพุทธเจ้า
และหลังจาก พระสิทธัตถราชกุมาร ประสูติได้ 7 วัน พระนางสิริมหามายา ก็สวรรคต พระสุทโธทนะ จึงอภิเษกสมรสใหม่ กับพระนางมหาปชาบดี หรือโคตมี ซึ่งเป็นพระกนิษฐา ร่วมชนนี กับพระนาง สิริมหามายา และมีพระโอรสคือ “เจ้าชายนันทะ” และพระธิดาคือ “เจ้าหญิงรูปนันทา”
พระเจ้าสุทโธทนะเป็นกษัตริย์ ที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของคุณธรรม และยึดมั่นในราชประเพณีอย่าง เคร่งครัด ในการปกครองบ้านเมือง ประชาชนอยู่ เย็นเป็นสุข ตลอดรัชสมัยของพระองค์ ทรงมุ่งหวัง ที่จะให้พระโอรสโดยเฉพาะสิทธัตถะได้รับเลือกจากสภาศากยะให้เป็นราชาสืบต่อจากตน แต่เจ้าชาย สิทธัตถะเสด็จออกผนวช และพอทราบว่า เจ้าชายสิทธัตถะได้บรรลุสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว จึงเชิญ พระศาสดากลับมาที่กรุงกบิลพัสดุ์
เมื่อพระบรมศาสดาที่เสด็จมายังกรุงกบิลพัสดุ์คราวนี้ พระเจ้าสุทโธทนะได้สดับรับฟังพระธรรมเทศนา ทรงเกิดความเลื่อมใสศรัทธา ในพระพุทธศาสนา บรรลุพระโสดาบันเป็นอุบาสกพุทธบริษัท
ในพรรษาที่ 5 ของพระโคตมพุทธเจ้า พระเจ้าสุทโธทนะประชวรหนัก พระบรมศาสดาเสด็จจาก กูฎาคาร ป่ามหาวัน เมืองเวสาลี แคว้นวัชชี มายังเมืองกบิลพัสดุ์ แสดงธรรมโปรดพระพุทธบิดา 7 วัน ในวันสุดท้าย พระเจ้าสุทโธทนะได้บรรลุพระอรหัตผลและนิพพาน
ภาพวาดพุทธประวัติ: พระเจ้าสุทโธทนะทรงอุ้มเจ้าชายสิทธัตถะ (พระราชโอรส)
ให้กาฬเทวินดาบสทำนายมหาบุรุษลักษณะของพระราชกุมาร
|