พระเจ้าอชาตศัตรู
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พระเจ้าอชาตศัตรู (สันสกฤต: अजातशत्रु; ครองราชย์ 2 ปีก่อน พ.ศ.- พ.ศ. 83) พระราชาองค์ที่ 3 แห่งแคว้นมคธ ปกครองทางตอนเหนือของอินเดีย เป็นพระราชโอรสในพระเจ้าพิมพิสาร และพระนางเวเทหิ พระธิดาของพระเจ้ามหาโกศล แห่งแคว้นโกศล และพระภคินี ของพระเจ้า ปเสนทิโกศล พระเจ้าอชาตศัตรูเป็นอุบาสก และผู้อุปถัมภ์สังคายนาครั้งที่หนึ่ง ในศาสนาพุทธ
พระราชประวัติ
เมื่อครั้งที่ยังอยู่ในพระครรภ์ พระนางเวเทหิของพระเจ้าพิมพิสาร พระนางประชวร พระครรภ์ อยากเสวยพระโลหิตของพระสวามี ด้วยความรักพระมเหสีและบุตรในครรภ์ พระองค์จึงรองพระโลหิต ของพระองค์ไปให้พระมเหสีเสวย ทางด้านโหราจารย์ ทำนายว่า ราชกุมารในครรภ์ จะเป็นทำปิตุฆาต (ฆ่าพ่อ) พระนางเวเทหิ จึงพยายาม ทำแท้งหลายครั้ง แต่ไม่สำเร็จ พระเจ้าพิมพิสารเมื่อทรงทราบ ก็ทรงห้าม พอประสูติมีพระนามว่า “อชาตศัตรู” (แปลว่า ผู้ที่ไม่เป็นศัตรู)
ในวัยเยาว์ ทรงเลี้ยงดูพระโอรสเป็นอย่างดี และทรงสถาปนาเป็นรัชทายาท เมื่อเข้าวัยรุ่น ทรงมีสติปัญญาเฉียบแหลม แต่ก็ได้รู้จักกับพระเทวทัต ที่กำลังจะ แสวงหาผู้ที่จะมาช่วยตนปลงพระชนม์ พระโคตมพุทธเจ้า ซึ่งต้องการ ได้รับความสนับสนุน จากผู้มีอำนาจทางบ้านเมือง และด้วยที่พระเจ้าอชาตศัตรู ขาดประสบการณ์ สามารถชักจูงได้ง่าย ทำให้พระเจ้าอชาตศัตรู เกิดความศรัทธา ในพระเทวทัต ถูกเสี้ยมสอนว่า ชีวิตคนเรานั้นไม่เที่ยง ไม่แน่ว่าจะได้ครอง ราชย์สมบัติ จึงควรปลงพระชนม์พระเจ้าพิมพิสารเสีย แล้วขึ้นครองราชย์แทน ส่วนพระเทวทัต จะปลงพระชนม์พระศาสดา และทำหน้าที่ปกครองสงฆ์
พระเจ้าอชาตศัตรูก็หลงเชื่อ พระองค์ก็ได้นำพระกริชมาแนบกับพระชงฆ์ (แข้งขา) และห่มผ้าบดบังไว้ แล้วไปเข้าเฝ้าพระราชบิดาที่ตำหนัก เพื่อลอบปลงพระชนม์ แต่องครักษ์ ก็ได้เห็นสังเกตความผิดปกติ ที่ขาของราชกุมาร จึงขอตรวจค้นพระองค์ แต่อชาตศัตรูราชกุมาร ก็เกิดความร้อนพระทัย จึงหันหลังกลับออกจากตำหนัก
องค์รักษ์จึงสั่งให้ทหารจับกุม และทำการตรวจค้นพระองค์ จนพระกริช ที่ซ่อนไว้ที่พระชงฆ์ จึงแน่ใจว่าอชาตศัตรูราชกุมาร กำลังจะลอบปลงพระชนม์ พระเจ้าพิมพิสาร จึงได้นำตัว พระราชกุมาร ไปให้เหล่าเสนาอำมาตย์ตัดสินลงโทษ เหล่าเสนาอำมาตย์ ก็ได้ไต่สวนกับพระราชกุมาร จนพระองค์ยอมรับ และตรัสว่า ถูกพระเทวทัตยุยง ทำให้เหล่าเสนาอำมาตย์เกิดแตกแยกเป็น 3 พวก 3 ความเห็น
พวกเสนาอำมาตย์แรก มีความเห็นว่า ให้ควรประหารพระเทวทัต พระราชกุมาร และพร้อมด้วยภิกษุสาวกของพระเทวทัตเสีย
พวกเสนาอำมาตย์ที่สอง มีความเห็นว่า ให้ควรประหารพระเทวทัต และพระราชกุมาร เท่านั้น
ส่วนพวกเสนาอำมาตย์ที่สาม ซึ่งนำโดยวัสสการพราหมณ์อำมาตย์ มีความเห็นว่า ไม่ประควรประหารพระเทวทัต พระราชกุมาร และพร้อมด้วยภิกษุสาวก ของพระเทวทัตใด ๆ และออกความเห็นว่า ให้นำพระราชกุมารไปให้ พระเจ้าพิมพิสารทรงตัดสิน
เมื่อพระเจ้าพิมพิสารทรงทราบ และสดับความเห็นของเหล่าเสนาอำมาตย์ทั้งสามพวก พระเจ้าพิมพิสาร ก็ได้ตรัสบอกว่าพระพุทธเจ้าได้ให้สงฆ์ ทำปกาสนียกรรม(การประกาศ) ว่าการกระทำของพระเทวทัตไม่ว่าจะเป็นทางกาย วาจา ใจ มิได้เกี่ยวข้องพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ เป็นการกระทำของพระเทวทัต แต่เพียงผู้เดียวมิใช่รึ
พระเจ้าพิมพิสาร ทรงได้ปลดตำแหน่ง แก่พวกเสนาอำมาตย์พวกแรก ลดตำแหน่ง แก่พวกเสนาอำมาตย์ที่สอง และให้เลื่อนตำแหน่งแก่วัสกาพราหมณ์อำมาตย์ และพวกเสนาอำมาตย์ที่สาม หลังจากนั้นพระเจ้าพิมพิสาร ทรงตรัสถาม พระราชโอรสว่า ทำอย่างนี้ทำไม พระราชโอรสได้ตรัสตอบว่า ต้องการราชสมบัติ
พระเจ้าพิมพิสาร ทรงตัดสินพระทัยสละราชสมบัติ มอบให้แก่อชาตศัตรูราชกุมาร เมื่ออชาตศัตรูราชกุมาร ได้ขึ้นครองราชย์เป็นพระเจ้าอชาตศัตรูแล้ว แต่พระเทวทัต ก็ยังยุยงพระเจ้าอชาตศัตรูอีกว่า แม้พระเจ้าพิมพิสาร จะทรงสละราชสมบัติ มอบให้แก่พระองค์ พระเจ้าพิมพิสารอาจ จะมาแย่งชิงตำแหน่งคืนก็เป็นไปได้ ทำให้พระองค์หลงเชื่อ จึงมีรับสั่งให้จับพระเจ้าพิมพิสาร ไปจองจำขังในคุก และทรมานโดยวิธีการต่าง ๆ จนพระบิดาสิ้นพระชนม์
แต่หลังพระบิดา สิ้นพระชนม์ ก็สำนึกได้ว่าได้ทำกรรมอันหนักยิ่ง จึงทรงบำเพ็ญ กุศลต่าง ๆ เพื่อลบล้างความผิด ให้เจือจางลงไปบ้าง และทรงปฏิญาณตน เป็นอุบาสกบริษัท ตั้งมั่นในคำสอนของพระพุทธองค์
ทรงปกครองการเมืองโดยตั้งอยู่ในทศพิธราชธรรม และราชสังควัตถุ ทำให้ประชาราษฎร์ อยู่อย่างเป็นสุข และยังมีแสนยานุภาพ เป็นที่เกรงขาม ของแคว้นอื่น แต่ก็ไม่สามารถอุปสมบท หรือบรรลุธรรมขั้นสูง เพราะการกระทำหนัก คือปิตุฆาต พระองค์ทำนุบำรุงศาสนาพุทธด้วยดีโดยตลอด
ผลกรรมจากการปิตุฆาต
คัมภีร์สุมังคลวิลาสินี (1) อาสวักขยญาณกถาวัณณนา ระบุว่าพระเจ้าอชาตศัตรู ถูกพระเจ้าอุทัยภัทร พระราชโอรสกระทำปิตุฆาต จากนั้นพระองค์ได้ไปเกิด ในโลหกุมภีนรก ใช้เวลาสามหมื่นปี จึงจะจมลงถึงพื้นล่างของโลหกุมภี และใช้เวลาอีกสามหมื่นปี จึงจะโผล่ขึ้นมาถึงปากโลหกุมภี รวมระยะเวลาชดใช้กรรม ถึงหกหมื่นปี แต่ในอนาคตพระองค์จะได้ตรัสรู้ เป็นพระปัจเจกพุทธเจ้าพระนามว่า ชีวิตวิเสส
(1) สุมังคลวิลาสินี (จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี)
สุมังคลวิลาสินี เป็นคัมภีร์อรรถกถาอธิบายความในพระสุตตันตปิฎก หมวดทีฆนิกาย พระพุทธโฆษาจารย์ หรือพระพุทธโฆสะ เรียบเรียงขึ้น โดยอาศัยอรรกถาเก่าภาษาสิงหฬที่แปลมาจากภาษมคธหรือภาษาบาลีมาแต่เดิม แต่ต่อมาต้นฉบับสูญหายไปพระพุทธโฆษาจารย์ จึงเดินทางไปยังลังกาทวีป เพื่อแปลอรรกถาเหล่านี้ กลับคืนเป็นภาษาบาลีอีกครั้ง ซึ่งหนึ่งในนั้นคือคัมภีร์สุมังคลวิลาสินี ที่เรียบเรียงขึ้นเมื่อราวพ.ศ. 1,000
พระเจ้าอชาตศัตรู
พระอิสริยยศ : พระมหากษัตริย์แห่งแคว้นมคธ
ราชวงศ์ : ราชวงศ์หารยังกะ
ครองราชย์ : 2 ปี ก่อน พ.ศ. - ไม่ทราบ
รัชกาลก่อน : พระเจ้าพิมพิสาร
รัชกาลถัดไป : พระเจ้าอุทัยภัทร
ข้อมูลส่วนพระองค์
พระราชสมภพ : ไม่ทราบ ณ ราชคฤห์
สวรรคต : ไม่ทราบ ณ ปาฏลีบุตร (ถูกลอบปลงพระชนม์)
พระราชบิดา : พระเจ้าพิมพิสาร
พระราชมารดา : พระนางเวเทหิ
พระมเหสี : พระนางปัทมาวดี
พระราชบุตร : พระเจ้าอุทัยภัทร
สถูปพระเจ้าอชาตศัตรู เมืองราชคฤห์
|