ธรรมยุติกนิกาย
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ธรรมยุติกนิกาย หรือ คณะธรรมยุต เป็นคณะสงฆ์ที่พระวชิรญาณเถระ ทรงตั้งขึ้น เพื่อฟื้นฟู ศาสนาพุทธ ในสยาม และแก้ไขวัตรปฏิบัติให้ถูกต้องตามพระธรรมวินัย เมื่อพระบาทสมเด็จ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ผนวชอยู่นั้น ได้ทรงศึกษาพระไตรปิฎก อย่างแตกฉาน ทำให้มีพระวิจารณญาณ เกี่ยวกับความเป็นมาของ พระพุทธศาสนา และความประพฤติปฏิบัติของพระภิกษุสามเณร ได้อย่างละเอียดถี่ถ้วน เป็นเหตุให้มี พระราชดำริในอันที่จะฟื้นฟูการสั่งสอนพระพุทธศาสนา
และการประพฤติปฏิบัติของพระสงฆ์ ให้ถูกต้อง ตามพระธรรมวินัยตามที่ได้ทรงศึกษา และทรงพิจารณาสอบสวนจนเป็นที่แน่ แก่พระราชหฤทัยว่าถูกต้อง เป็นจริงอย่างไร แล้วพระองค์ได้ทรงนำประพฤติปฏิบัติขึ้นก่อน หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่งก็คือ ทรงเริ่มแก้ไข ที่พระองค์เองเป็นอันดับแรก
ต่อมาเมื่อมีบุคคลอื่นเห็นชอบและนิยมตาม จึงได้มีผู้ประพฤติปฏิบัติตามอย่าง พระองค์ขึ้น และมีจำนวนมากขึ้นเป็นลำดับ จนเกิดเป็นพระสงฆ์หมู่หนึ่ง หรือนิกายหนึ่ง ที่ได้ชื่อใน ภายหลังว่า ธรรมยุติกนิกาย หรือที่เรียกสั้น ๆ ว่า “ธรรมยุต”
อันมีความหมายว่า ผู้ประกอบด้วยธรรม หรือชอบ ด้วยธรรม หรือยุติตามธรรม ทั้งนี้ก็เพราะว่าพระสงฆ์นี้เกิดขึ้น ด้วยมุ่งแสวงหาว่า ข้อใดเป็นธรรม เป็นวินัย เป็นสัตถุศาสน์ (คือคำสั่งสอนของพระศาสดา) แล้วปฏิบัติ ข้อนั้น เว้นข้อที่ไม่เป็นธรรม ไม่เป็นวินัย ไม่เป็นสัตถุศาสน์ แม้จะเป็นอาจินปฏิบัติ (ข้อปฏิบัติตามกันมาแต่ผิดพระธรรมวินัย)
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการ ให้ประกาศใช้ พระราช บัญญัติ ลักษณะการปกครองคณะสงฆ์ขึ้น เป็นครั้งแรกในประเทศไทย พระราชบัญญัติฉบับนี้มีชื่อว่า พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ ร.ศ. 121 มีสาระสำคัญคือ ได้ยกสถานะคณะธรรมยุติ ให้เป็นนิกาย อย่างถูกต้อง ตามกฎหมาย
ธรรมยุติกนิกาย ตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อปฏิรูป และฟื้นฟูด้านวัตรปฏิบัติของสงฆ์ ให้มีความถูกต้อง และเข้มงวดตามพุทธบัญญัติ ให้พระภิกษุสงฆ์มีวัตรปฏิบัติ ที่ เคร่งครัดถูกต้อง ตามพระวินัยปฏิบัติในสิ่งที่ถูกต้องดีงาม ศึกษาพระปริยัติธรรม อย่างเข้าใจแจ่มแจ้ง เป็นการฟื้นฟูพระพุทธศาสนาในส่วนที่บกพร่อง ของพระสงฆ์ ไทยที่มีมาแต่โบราณ ให้สมบูรณ์ทั้งพระวินัยปิฎกและพระสุตตันตปิฎก ซึ่งเป็นความ พยายาม ของพระวชิรญาณเถระเพื่อช่วยปฏิรูปการคณะสงฆ์ และเผยแผ่ พระพุทธศาสนา ให้เจริญรุ่งเรือง อย่างบริบูรณ์ขึ้นในประเทศไทย
การก่อตั้งคณะสงฆ์ธรรมยุติกนิกาย เป็นสาเหตุทำให้พระสงฆ์เถรวาทอื่น ซึ่งเป็นพระสงฆ์ ส่วนใหญ่ ที่ไม่ใช่คณะธรรมยุต ได้มีการประชุม และมีมติ ให้เรียกพระสงฆ์ ส่วนใหญ่ที่ไม่ใช่คณะธรรมยุต ว่า "มหานิกาย"
ประวัติ
การก่อตั้ง
พระสงฆ์ธรรมยุติกนิกาย เกิดขึ้นเมื่อไร ทางตำนานแสดงไว้ว่า ดังนี้
1. พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงรับเอาวินัยวงศ์ คือ ธรรมเนียมประพฤติ ปฏิบัติทางพระวินัย แบบรามัญมาเป็นข้อปฏิบัติเป็นครั้งแรก เมื่อ จ.ศ. 1187 ตรงกับ พ.ศ. 2368 อันเป็นปีที่ 2 แห่งการผนวช ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว การที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงรับเอาวินัยวงศ์ แบบรามัญนิกาย มาเป็นแบบปฏิบัตินั้น เป็นการเริ่มต้นแก้ไข การประพฤติปฏิบัติพระธรรมวินัย ของพระองค์ ซึ่งยังผลให้มีผู้ประพฤติปฏิบัติตาม จนเกิดเป็นพระสงฆ์คณะหนึ่ง ในเวลาต่อมา
2. สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ ซึ่งเป็นพระเถรชั้นเดิม แห่งคณะธรรมยุต พระองค์หนึ่ง ทรงแสดงพระมติ “อันที่จริงคณะธรรมยุตค่อยเป็นมา โดยลำดับ ปีที่ออกหน้า ควรจะกำหนดว่า เป็นปีที่ตั้งนั้น คือ จ.ศ. 1191” ปี จ.ศ. 1191 ตรงกับ พ.ศ. 2372 อันเป็นที่ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ผนวชได้ 6 พรรษา และเสด็จจากวัดมหาธาตุกลับไปประทับ ณ วัดสมอราย(วัดราชาธิวาส) อีกครั้งหนึ่ง เพื่อทรงสะดวกในการที่จะปรับปรุงแก้ไข การประพฤติปฏิบัติ พระธรรมวินัย ในส่วนพระองค์เองได้โดยสะดวกพระทัย เพราะการประทับอยู่ในวัด มหาธาตุ อันเป็นที่สถิต ของสมเด็จพระสังฆราช และเป็นพระราชอุปัธยาจารย์ของ พระองค์ด้วยนั้น คงทรงเห็นว่าไม่เป็นการ เหมาะสม ที่จะประพฤติปฏิบัติวัตร ปฏิบัติ ต่าง ๆ ที่แปลกจากทำเนียมปฏิบัติที่เคยเป็นมา ฉะนั้น การเสด็จ กลับไปประทับที่ วัดสมอราย จึงเท่ากับเป็นการเริ่มต้นการปรับปรุงแก้ใขวัตรปฏิบัติ ทางพระธรรมวินัย ของ พระองค์ พร้อมทั้งคณะศิษย์ที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างจริงจัง
3. สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงแสดงพระมติไว้ ตามที่ปรากฏในลายพระหัตถ์ ถวายพระพรพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า เจ้าอยู่หัวว่า “วันพรุ่งนี้ (คือวันที่ 11 มกราคม) เป็นวันที่คณะ ธรรมยุตและวัดบวรนิเวศ ตั้งมาได้ครบ 60 รอบปีบริบูรณ์” ตามความในลายพระหัตถ์ดังกล่าวนี้ หมายความว่า ทรงถือเอาวันที่ 11 มกราคม ร.ศ. 55 ( ตรงกับ พ.ศ. 2379) อันเป็นวันที่พระบาท สมเด็จ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จจากวัดสมอราย มาครองวัดบวรนิเวศวิหาร เป็นวันตั้งคณะธรรมยุต และเป็นวัน ตั้งวัดบวรนิเวศวิหาร
พัฒนาการของธรรมยุติกนิกาย
ตามความในพระราชประวัติแสดงให้เห็นว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงเริ่มปรับปรุง แก้ไข การประพฤติปฏิบัติพระธรรมวินัยในส่วนพระองค์ เพื่อให้ถูกต้องตามที่ทรงได้ศึกษาพิจารณา มาตั้งแต่ผนวชได้ 2 พรรษา ขณะที่ยัง ประทับอยู่วัดมหาธาตุ และเริ่มมีสหธรรมิกอื่น ๆ นิยมปฏิบัติ ตามพระองค์ขึ้นบ้างแล้ว แต่ยังคงไม่มากนัก
ครั้นปี พ.ศ. 2372 อันเป็นปีที่ผนวชได้ 6 พรรษา พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้า เจ้าอยู่หัว ทรงตั้งเป็น พระราชาคณะ มาถึงระยะนี้ คงมีภิกษุสามเณร ที่นิยมการปฏิบัติ ตามอย่างพระองค์ และมาถวายตัวเป็นศิษย์ มากขึ้น จึงได้เสด็จจากวัดมหาธาตุ กลับไปวัดสมอราย(วัดราชาธิวาส) อันเป็นวัดนอกกำแพงพระนคร และเป็นวัดฝ่าย อรัญญวาสี หรือวัดป่า ที่มีชื่ออยู่ในขณะนั้น ทั้งนี้ก็คงเพื่อความสะดวกพระทัย ในอันเป็นที่ พระองค์พร้อมทั้งคณะศิษย์จะได้ประพฤติปฏิบัติ และบำเพ็ญกิจวัตรต่าง ๆ ทางพระธรรมวินัยที่เห็นว่าถูก ว่าควรได้ตามประสงค์ แต่ศิษย์บางส่วนก็ยังคงอยู่ ที่วัดมหาธาตุต่อมา
แม้เมื่อเสด็จมาประทับที่วัดสมอรายแล้ว การปรับปรุงแก้ไขวัตรปฏิบัติต่าง ๆ ในคณะ ของพระองค์ก็คง ยังดำเนินไปได้ไม่ค่อยสะดวกนัก เพราะพระองค์มิได้ทรงเป็นอธิบดี สงฆ์แห่งสำนักนั้น ฉะนั้น ในขณะ เมื่อประทับอยู่ที่วัดมหาธาตุก็ดี ที่วัดสมอรายก็ดี ธรรมเนียมปฏิบัติต่าง ๆ ที่พระองค์ได้ทรงพระราชดำริ ปรับปรุง แก้ไขขึ้นใหม่คงยัง ไม่ได้ มีกำหนดเป็นรูปแบบที่ชัดเจนบริบูรณ์
ต่อเมื่อเสด็จมาครองวัดบวรนิเวศวิหาร เมื่อ พ.ศ. 2379 แล้ว จึงปรากฏหลักฐานว่า ทรงตั้งธรรมเนียมปฏิบัติ สำหรับพระสงฆ์ธรรมยุติขึ้นอย่างไรบ้าง ดังที่ปรากฏใน ตำนาน วัดบวรนิเวศวิหารเป็นต้น
โดยที่พระสงฆ์คณะธรรมยุติกนิกาย เกิดขึ้นจากผลของการแสวงหาความถูกต้อง ตามพระธรรมวินัย เริ่มแต่ การทรงศึกษาสอบสวน ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า เจ้าอยู่หัว ตลอดมาจนถึงการศึกษาสอบสวน ของพระเถรานุเถระ ผู้เป็นบูรพาจารย์ แห่งคณะธรรมยุตเป็นลำดับมา
ธรรมเนียมและแบบแผนของธรรมยุติกนิกาย
ระเบียบแบบแผนในด้านการปฏิรูปทางพระพุทธศาสนา ของธรรมยุติกนิกาย โดย พระ วชิรญาณเถระ (เจ้าฟ้ามงกุฏ : พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4)
1) ทรงตั้งธรรมเนียมนมัสการพระเช้าค่ำ ที่เรียกว่าทำวัตรเช้า ทำวัตรค่ำ เป็นประจำ และทรงพระราชนิพนธ์ บทสวดเป็นภาษาบาลี เป็นคาถา เป็น จุณณิยบท ซึ่งใช้แพร่หลาย มาจนถึงปัจจุบันนี้ มีการรักษาศีลอุโบสถ และแสดง พระธรรมเทศนา เวลาสามโมงเช้าและบ่ายสามโมง ในวันธรรมสวนะและวันอุโบสถ เดือนละ 4 ครั้ง
2) ทรงปฏิรูปการเทศน์และการอธิบายธรรม ทรงเริ่มการเทศนาด้วย ฝีพระโอษฐ์ ชวนให้ผู้ฟังเข้าใจง่าย และเกิดศรัทธา ไม่โปรดเขียนหนังสือไว้เทศน์ นอกจากนี้ ยังทรง ฝึกหัดศิษย์ให้ปฏิบัติตาม ทรงอธิบาย เพื่อให้คนเข้าใจในเนื้อหา ของหลักธรรม เผยแพร่หลักธรรมสู่ราษฎร อธิบายหลักอันยุ่งยากซับซ้อน คณะสงฆ์ธรรมยุติได้เพิ่ม บทสวดมนต์ภาษาไทยลงไป ทำให้คนนิยมฟังเป็นอันมาก
3) ทรงกำหนดวันมาฆบูชา เป็นวันสำคัญทางศาสนา เพิ่มขึ้นจากวันวิสาขบูชา ทรงพระราชนิพนธ์คำบูชา และวางระเบียบให้เดินเวียนเทียนและสดับพระธรรมเทศนา ทรงชักนำให้บำเพ็ญกุศลตามเทศกาลต่าง ๆ เช่น ถวายสลากภัตร ตักบาตรน้ำผึ้ง ถวายผ้าจำนำพรรษา
4) ทรงแก้ไขการรับผ้ากฐินให้ถูกต้องตามพุทธบัญญัติ คือเริ่มแต่การซัก ตัด เย็บ ย้อม ให้เสร็จภายในวันเดียวกัน
5) ทรงแก้ไขการขอบรรพชา และการสวดกรรมวาจาในอุปสมบทกรรม ให้ถูกต้อง ยิ่งขึ้น เช่น ระบุนาม อุปสัมปทา และนามอุปัชฌายะ ซึ่งเป็นภาษาบาลีในกรรมวาจา การออกเสียง อักษรบาลี ทรงให้ถือหลัก การ ออกเสียงให้ถูกฐานกรณ์ของอักขระ ตามหลักบาลีไวยากรณ์
6) ทรงวางระเบียบการครองผ้า คือการนุ่งห่มของภิกษุสามเณร ให้ปฏิบัติไปตามหลัก เสขิยวัตรในพระวินัย เพื่อให้สุภาพเรียบร้อย (เดิมพระธรรมยุติครองจีวรห่มม้วนซ้าย แต่ตอนปลายรัชกาลพระบาทสมเด็จ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เปลี่ยนมาห่มห่ม ม้วนขวา (ห่มมังกร) ตามแบบพระสงฆ์มหานิกาย ครั้นถึง รัชกาลพระบาทสมเด็จ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสวยราชย์ จึงได้กลับมาห่มม้วนซ้ายตามเดิม) ทรงวาง ระเบียบการกราบไหว้ของพระภิกษุสามเณร และระเบียบอาจารยะมารยาท ต้องวางตัวให้น่าเลื่อมใสศรัทธา สังวรในกิริยามารยาทและขนบธรรมเนียม
7) ทรงให้พระสงฆ์ธรรมยุติ ศึกษาพระปริยัติธรรมให้แตกฉาน สามารถแสดงธรรม เทศนา สั่งสอน สามารถแยกระหว่างความเชื่อที่มีเหตุผล และความเชื่อในสิ่งที่ ไม่สามารถ อธิบายได้ การศึกษาในด้าน วิปัสสนาธุระ ไม่ใช่รับรู้เฉพาะสมถะ วิธีอันเป็นเบื้องต้น แต่ให้รับรู้ไปถึงขั้นวิปัสสนากรรมฐาน การปฏิบัติตาม พระวินัย ทรงให้ถือหลักว่าสิ่งใดที่สงสัยและน่ารังเกียจไม่ควรกระทำโดยเด็ดขาด พึงเคารพ พระวินัย อย่างเคร่งครัด
8) ทรงเห็นความสำคัญในการศึกษาหา ความรู้สาขาอื่น ๆ ของพระสงฆ์ จึงทรง อนุญาตให้พระสงฆ์ เข้าศึกษาภาษาอังกฤษกับหมอแคสเวล (Reverend Jesse Caswell) ตามความสนใจ ทำให้มีการสืบสาน การเข้าศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม ของพระสงฆ์มาจนถึงปัจจุบัน |