เว็บไซต์ อนาคามี เผยแพร่คำพระศาสดา เผยแพร่คำสอนตถาคต เว็บไซต์เผยแพร่พระสุตรคำสอนของพระพุทธเจ้า คลิปคำสอน คลิปสาธยายธรรม

     เรื่องทั่วไป ในวงการศาสนา ข่าวในวงการสงฆ์ กฎหมายปกครองสงฆ์
ค้นหาคำที่ต้องการ          

  ความเป็นมาของพระไตรปิฎกไทย N152

 

ที่มา : หอมรดกไทย

พระไตรปิฎก



             เป็นคัมภีร์ หรือตำราทางพระพุทธศาสนา ซึ่งรวบรวมคำสั่งสอน ของ พระพุทธเจ้า  ไว้เป็นหมวดหมู่  แบ่งออกเป็น 3 ปิฎก ด้วยกันคือ

    1. พระวินัยปิฎก ว่าด้วยวินัยหรือศีลของ ภิกษุและภิกษุณี
    2. พระสุตตันตปิฎก ว่าด้วยพระธรรมเทศนาโดยทั่วไป มีประวัติ และท้องเรื่องประกอบ
    3. พระอภิธรรมปิฎก  ว่าด้วยธรรมะล้วน ไม่มีประวัติ และท้องเรื่องประกอบ แผนผัง พระไตรปิฎก

พระวินัยปิฎก   มีอยู่ 5 หมวดด้วยกันคือ

    1.  มหาวิภังค์ ว่าด้วยข้อห้าม หรือวินัยที่เป็นหลักใหญ่ ๆ ของพระภิกษุ เป็นศีลของ ภิกษุ ที่มาในปาติโมกข์
    2. ภิกษุณีวิภังค์  ว่าด้วยข้อห้าม หรือวินัย ของพระภิกษุณี
    3.  มหาวัคค์ ว่าด้วยพุทธประวัติตอนแรก และพิธีกรรมทางพระวินัย แบ่งออกเป็น ขันธกะ 10  หมวด
    4.  จุลลวัคค์  ว่าด้วยพิธีกรรมทางพระวินัย ความเป็นมาของพระภิกษุณี และประวัติการ ทำสังคายนา แบ่งออกเป็นขันธกะ 12 หมวด
    5.  บริวาร ว่าด้วยข้อเบ็ดเตล็ดทางพระวินัย เป็นการย่อหัวข้อสรุปเนื้อความ วินิจฉัย ปัญหาใน 4 เรื่องข้างต้น

พระสุตตันตปิฎก   มีอยู่ 5 หมวดด้วยกันคือ

    1.  ทีฆนิกาย ว่าด้วยพระสูตร หรือพระธรรมเทศนาขนาดยาว มี 34 สูตร

    2.  มัชฌิมนิกาย ว่าด้วยพระสูตร หรือพระธรรมเทศนาขนาดกลาง ไม่ยาวและไม่สั้น เกินไป มี 152  สูตร

    3.  สังยุตตนิกาย ว่าด้วยพระสูตร หรือพระธรรมเทศนา ที่ประมวลธรรมะไว้เป็น พวก ๆ เรียกว่า สังยุต เช่นกัสสปสังยุต ว่าด้วยเรื่องของพระมหากัสสป  โกศลสังยุต ว่าด้วยเรื่อง ในแคว้นโกศล มัคคสังยุต ว่าด้วยเรื่องมรรคคือข้อปฎิบัติ เป็นต้น มี 7,762 สูตร

    4.  อังคุตตรนิกาย ว่าพระพระสูตร หรือพระธรรมเทศนาเป็นข้อ ๆ ตามลำดับ จำนวน เช่น ธรรมะหมวด 1  ธรรมะหมวด 2  ธรรมะหมวด 10 แต่ละข้อ ก็มีจำนวน ธรรมะ 1, 2, 10 ตามหมวดนั้น มี 9,557  สูตร

    5.  ขุททกนิกาย  ว่าด้วยพระสูตร หรือพระธรรมเทศนาเบ็ดเตล็ด รวมทั้งภาษิต ของ พระสาวก ประวัติต่าง ๆ  และชาดก รวบรวมหัวข้อธรรมที่ไม่จัดเข้าใน 4 หมวด ข้างต้น แบ่งเป็นหัวข้อใหญ่มี 15 เรื่อง

พระอภิธรรมปิฎก 
  แบ่งออกเป็น 7 เรื่องด้วยกันคือ

    1. ธัมมสังคณี ว่าด้วยธรรมะ รวมเป็นหมวดเป็นกลุ่ม
    2. วิภังค์ ว่าด้วยธรรมะแยกเป็นข้อ ๆ
    3. ธาตุกถา ว่าด้วยธรรมะจัดระเบียบความสำคัญโดยถือธาตุเป็นหลัก
    4. ปุคคลบัญญัติ ว่าด้วยบัญญัติ 6 ชนิด และแสดงรายละเอียดเฉพาะบัญญัติ อัน เกี่ยวกับบุคคล
    5. กถาวัตถุ ว่าด้วยคำถามคำตอบในหลักธรรม จำนวนหนึ่งประมาณ 219  หัวข้อ  เพื่อถือเป็นหลักในการตัดสินพระธรรม
    6. ยมก ว่าด้วยธรรมะที่รวมเป็นคู่ ๆ
    7. ปัฏฐาน ว่าด้วยปัจจัย คือสิ่งที่เกื้อกูลสนับสนุน  24  อย่าง


ความเป็นมาของพระไตรปิฎก

    1.  พระพุทธเจ้าทรงแนะนำให้ร้อยกรองพระธรรมวินัย สมัยเมื่อนิครนถ์ นาฎบุตร  เจ้าลัทธิ สำคัญ คนหนึ่ง สิ้นชีพ พวกสาวกเกิดแตกกัน พระจุนทเถระเกรงจะเกิด เหตุการณ์ เช่นนั้น ในพระพุทธศาสนา  จึงพร้อมกับพระอานนท์ไปเฝ้าพระพุทธเจ้า  พระองค์ได้ทรง ตรัสบอก พระจุนทะ ให้รวบรวมธรรมภาษิต ของพระองค์ และทำ สังคายนา คือจัดระเบียบ ทั้งโดยอรรถ และ พยัญชนะ  เพื่อให้พรหมจรรย์ตั้งมั่นต่อไป

    2.  พระสารีบุตรแนะนำให้ร้อยกรองพระธรรมวินัย  ในห้วงเวลาเดียวกันนั้น ค่ำวันหนึ่ง  เมื่อพระผู้มีพระภาค แสดงธรรมจบแล้ว  ได้มอบหมายให้พระสารีบุตร แสดงธรรมต่อ  พระสารีบุตร ได้แนะนำให้รวบรวม  ร้อยกรอง พระธรรมวินัย   โดยจัดหมู่ธรรมะเป็นข้อ ๆ ตั้งแต่ข้อ 1 ถึงข้อ 10  ว่ามีธรรมะใดบ้าง อยู่ในหมวดนั้น ๆ  พระผู้มีพระภาคทรงรับรองว่า เป็นเรื่องที่ถูกต้อง  เห็นว่าบรรดาพระภิกษุทั้งหลาย ยังใคร่จะฟังธรรมต่อไปอีก พระองค์ จึงได้ มอบหมายให้พระสารีบุตร แสดงธรรมแทน  พระสารีบุตรได้  แนะนำให้รวบรวม ร้อยกรอง พระธรรมวินัย โดยจัดหมวดหมู่ธรรมะ เป็นข้อ ๆ ตั้งแต่ข้อ ๑ ถึงข้อ ๑๐ ว่า มีธรรมะใดบ้าง อยู่หมวด ๑ หมวด ๒ จนถึงหมวด ๑๐ ซึ่งพระผู้มีพระภาคทรงรับรองว่า เป็นเรื่องที่ถูกต้อง

    3.  พระมหากัสสป  เป็นผู้ริเริ่มให้มีการสังคายนา จัดระเบียบพระพุทธวจนะ ให้เป็น หมวดหมู่

    4.  พระอานนท์ เป็นผู้ที่ทรงจำพระพุทธวรนะไว้ได้มาก  เป็นพุทธอุปฐาก ได้ขอพร หรือขอรับ เงื่อนไขจาก พระพุทธเจ้า 8 ประการ ในเงื่อนไขประการที่ 7 และประการที่ 8  มีส่วนช่วย ในการ สังคายนา พระธรรมวินัยมาก กล่าวคือ

ประการที่ 7 ถ้าความสงสัยของข้าพระองค์ เกิดขึ้นเมื่อใด  ขอให้ได้เข้าเฝ้า ทูลถาม เมื่อนั้น
ประการที่ 8  ถ้าพระองค์แสดงข้อความอันใด  ในที่ลับหลังข้าพระองค์ ครั้นเสด็จ มาแล้ว จักตรัสบอก ข้อความอันนั้น  แก่ข้าพระองค์

ทั้งนี้โดยเฉพาะประการที่ 8 อันเป็นข้อสุดท้ายมีเหตุผลว่า  ถ้ามีใครถามท่านในที่ ลับหลัง พระพุทธเจ้าว่า คาถานี้ สูตรนี้ ชาดกนี้ พระผู้มีพระภาดแสดงที่ไหน ถ้า พระอานนท์ ตอบไม่ได้  ก็จะมีผู้กล่าวว่าพระอานนท์ ตามเสด็จพระศาสดาไปดุจเงา ตามตัว  แม้เพียงเรื่องเท่านี้ก็ไม่รู้

ดังนั้น เมื่อพระพุทธเจ้า ปรินิพพานแล้ว พระอานนท์ จึงได้รับหน้าที่ตอบคำถาม เกี่ยวกับ พระธรรม ในคราวสังคายนาครั้งแรก หลังพุทธปรินิพพาน 3 เดือน

ในสมัยที่ยังไม่มีการจดจารึกเรื่องราวไว้ เป็นตัวอักษรอย่างกว้างขวาง เช่นในปัจจุบัน  มนุษย์จึงต้องอาศัย ความจำเป็นเครื่องสำคัญ ในการบันทึกเรื่องราวนั้น ๆ ไว้  แล้วบอกเล่าต่อ ๆ กันมา การทรงจำ และบอกต่อ ๆ กันมาด้วยปากนี้ เรียกว่า มุขปาฐะ

    5.  พระอุบาลี เป็นผู้ที่สนใจ และจดจำพระธรรมพระวินัย ได้เป็นพิเศษมี ความ เชี่ยวชาญ ในพระวินัย ในการทำสังคายนาครั้งแรก พระอุบาลีได้รับมอบหมาย ให้เป็นผู้ตอบคำถาม เกี่ยวกับ พระวินัยปิฎก

    6.  พระโสณกุฎิกัณณะ เป็นผู้ที่ทรงจำได้ดีมาก เคยท่องจำบางส่วนของ พระสุตตันตปิฎก เฉพาะพระพักตร์ ของพระพุทธเจ้า ได้รับสรรเสริญว่าทรงจำ ได้ดีมาก รวมทั้งท่วงทำนองในการกล่าว ว่าไพเราะ สละสลวย  แสดงให้เห็นถึง การท่องจำ พระธรรมวินัย ได้มีมาตั้งแต่ครั้งพระพุทธเจ้า

การสังคายนาพระไตรปิฎก

พระพุทธเจ้าตรัสกับพระอานนท์ สมัยเมื่อใกล้จะปรินิพพานว่า ธรรมวินัยที่เราแสดง แล้ว บัญญัติแล้ว แก่เธอทั้งหลาย ธรรมและวินัยนั้น จะเป็นศาสดาของเธอ ทั้งหลาย เมื่อเราล่วงลับไปแล้ว

ตามหลักฐานของพระเถระฝ่ายไทย กล่าวว่า การสังคายนามี 9 ครั้ง

    การสังคายนาครั้งที่ 1  กระทำที่ถ้ำสัตตบรรณคูหา ข้างเขาเวภารบรรพต ใกล้กรุง ราชคฤห์  ประเทศอินเดีย ปัจจุบัน  กระทำหลังพระพุทธเจ้าปรินิพพานได้ 3 เดือน มีพระอรหันต์ประชุมกัน 500 รูป พระมหากัสสปเป็นประธานและเป็นผู้สอบถาม พระอานนท์ เป็นผู้ตอบข้อซักถาม ทางพระธรรม พระอุบาลี เป็นผู้ตอบข้อซักถามทาง พระวินัย พระเจ้าอชาติศัตรู เป็นผู้อุปถัมภ์ กระทำอยู่ 7 เดือน จึงแล้วเสร็จ การสังคายนา ครั้งนี้ มีปรากฎอยู่ในพระวินัยปิฎก

    การสังคายนาครั้งที่ 2  กระทำที่วาลิการาม เมืองเวสาลี แคว้นวัชชี ประเทศ อินเดีย ปัจจุบัน  กระทำเมื่อ พระพุทธเจ้าปรินิพพานได้ 100 ปี มีพระสงฆ์ประชุมกัน 700 รูป พระยสะ กากัณฑกบุตร เป็นผู้ชักชวน พร้อมพระผู้ใหญ่อีก 8 รูป พระเรวตะ เป็นผู้ถาม พระสัพพกามีเป็นผู้ตอบปัญหาทางพระวินัย ที่เกิดขึ้น กระทำอยู่ 8 เดือน  จึงแล้วเสร็จ การสังคายนาครั้งนี้ มีปรากฎในพระวินัยปิฎก

    การสังคายนาครั้งที่ 3  กระทำที่อโศการาม กรุงปาตลีบุตร ประเทศอินเดีย กระทำ เมื่อพระพุทธเจ้า ปรินิพพานแล้ว 235 ปี  มีพระสงฆ์ประชุมกัน 1,000 รูป พระโมคคลีบุตร ติสสเถระ เป็นหัวหน้า พระเจ้าอโศกมหาราชเป็นผู้อุปถัมภ์ กระทำอยู่ 9 เดือน  จึงแล้วเสร็จ การสังคายนาครั้งนี้  พระโมคคลีบุตร ได้แต่งกถาวัตถุ ซึ่งเป็นคัมภีร์ ในพระอภิธรรมเพิ่มขึ้น  เมื่อทำสังคายนาเสร็จแล้วได้ส่ง คณะทูต ไปประกาศ พระพุทธศาสนา ในประเทศต่าง ๆ พระมหินทเถระ ได้นำพระพุทธศาสนา ไปประดิษฐาน ในลังกา

    การสังคายนาครั้งที่ 4  กระทำที่อินเดียภาคเหนือ ณ เมืองชาลันทร แต่บางหลักฐาน ก็ว่ากระทำ ที่เมือง กาษมีระหรือแคชเมียร์  ภิกษุที่เข้าประชุม มีทั้งฝ่ายเถรวาท และ มหายาน  กระทำเมื่อ พ.ศ. 643  มีกษัตริย์ประเทศราชมาร่วม 21 พระองค์  มีทั้งพระสงฆ์ ผู้คงแก่เรียนและพราหมณ์ผู้ทรงความรู้ประชุมกัน การสังคายนาครั้งนี้ จึงมีลักษณะผสม คือ มีทั้งพุทธและพราหมณ์ ภาษาที่ใช้สำหรับ พระไตรปิฎก ไม่เหมือนกัน คือฝ่าย เถรวาท ใช้ภาษาบาลี ฝ่ายมหายานใช้ภาษา สังสฤต (บางครั้งก็ปนปรากิต) การสังคายนา ครั้งนี้ ไม่มีบันทึกหลักฐานทาง ฝ่ายเถรวาท

    การนับสังคายนาของไทย
ไทยเรายอมรับรองการสังคายนาครั้งที่ 1,2 และ 3 ในอินเดีย  และครั้งที่ 1, 2, 3 และ 4 ในลังกา ซึ่งกระทำ เมื่อ  พ.ศ. 238,  พ.ศ. 433,  พ.ศ. 956 และ พ.ศ. 1587 รวมกัน เป็น 7 ครั้ง

    การสังคายนาครั้งที่ 8  ทำในประเทศไทย เมื่อประมาณ พ.ศ. 2020 พระเจ้า ติโลกราช แห่งเชียงใหม่ ได้อาราธนาพระภิกษุผู้ทรงพระไตรปิฎก หลายร้อยรูป ช่วยกัน ชำระ พระไตรปิฎก ที่วัดโพธาราม ใช้เวลา 1 ปี  จึงแล้วเสร็จ การสังคายนา ครั้งนี้ นับเป็นครั้งที่ 1 ในประเทศไทย

    การสังคายนาครั้งที่ 9  ทำในประเทศไทย เมื่อ พ.ศ. 2331 พระบาทสมเด็จ พระพุทธยอดฟ้า ฯ ได้ทรง อาราธนาพระสงฆ์ให้ชำระพระไตรปิฎก มีพระสงฆ์ 218 รูป  กับราชบัณฑิตาจารย์อุบาสก 32 คน ช่วยกัน ชำระพระไตรปิฎก แล้วจารึกลงใน ใบลาน แล้วเสร็จใน 5 เดือน  นับเป็นการสังคายนาครั้งที่ 2 ในประเทศไทย

การชำระและจารึกกับการพิมพ์พระไตรปิฎกในประเทศไทย

    สมัยที่ ๑ ชำระและจารลงในใบลาน  กระทำที่เมืองเชียงใหม่ สมัยพระเจ้า ติโลกราช ประมาณ พ.ศ. ๒๐๒๐ ตัวอักษรที่ใช้ในการจารึก คงเป็นอักษรแบบไทย ล้านนา ซึ่งคล้ายกับ อักษรพม่า

    สมัยที่ ๒ ชำระและจารลงในใบลาน  กระทำที่กรุงเทพ ฯ  เมื่อ พ.ศ. ๒๓๓๑ รัชสมัย พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า ฯ ให้ชำระและแปลฉบับอักษรลาว และ อักษรรามัญ เป็น อักษรขอม ใส้ตู้ไว้ใน  หอมณเฑียรธรรม และถวายพระสงฆ์ไว้ทุก พระอารามหลวง

    สมัยที่ ๓ ชำระและพิมพ์เป็นเล่ม  กระทำที่กรุงเทพ ฯ รัชสมัยพระบาทสมเด็จ พระจุลจอมเกล้า ฯ  เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๓๑  ถึง พ.ศ. ๒๓๓๖ ได้คัดลอกตัวอักษรขอม ในคัมภีร์ ใบลาน  เป็นตัวอักษรไทย และชำระแก้ไข  แล้วพิมพ์เป็นเล่มหนังสือรวม ๓๙ เล่ม มีการ ประกาศสังคายนา แต่คนทั่วไป  ไม่ถือว่าเป็นการสังคายนา พิมพ์ออกมา ๑,๐๐๐ ชุด นับว่าเป็นครั้งแรกในประเทศไทย  ที่มีการพิมพ์พระไตรปิฎก เป็นเล่มด้วย ตัวอักษรไทย ในการพิมพ์ครั้งนี้พิมพ์ได้ ๓๙ เล่มชุด  ยังไม่ได้พิมพ์อีก ๖ เล่ม มาพิมพ์ เพิ่มเติม ในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระปกเกล้า ฯ

    สมัยที่ ๔ ชำระและพิมพ์เป็นเล่ม  กระทำที่กรุงเทพ ฯ รัชสมัยพระบาทสมเด็จ พระปกเกล้า ฯ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๘ ถึง พ.ศ. ๒๔๗๓ เรียกว่าพระไตรปิฎก ฉบับ สยามรัฐ พิมพ์ ๑,๕๐๐ จบ  พระราชทานในพระราชอาณาจักร ๒๐๐ จบ พระราชทาน ในนานา ประเทศ ๔๕๐ จบ อีก ๘๕๐ จบ พระราชทานแก่ผู้บริจาคทรัพย์ขอรับ หนังสือ พระไตรปิฎก

ผลจากการส่งพระไตรปิฎกไปต่างประเทศ ทำให้มีผู้พยายามอ่านอักษรไทย เพื่อให้ สามารถอ่านพระไตรปิฎกฉบับภาษาไทยได้ และได้มีภิกษุชาวเยอร มันเขียนหนังสือ สดุดีไว้ว่า พระไตรปิฎกฉบับ ของไทยสมบูรณ์กว่า ฉบับพิมพ์ด้วยอักษรโรมัน ของสมาคม บาลีปกรณ์ ในอังกฤษ เป็นอันมาก

ลำดับชั้นคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา

    พระไตรปิฎก  เป็นหลักฐานชั้น ๑ เรียกว่า  พระบาลี
    อรรถกถา หรือวัณณนา  เป็นคำอธิบายพระไตรปิฎก เป็นหลักฐานชั้น ๒ มีขึ้นเมื่อ ประมาณ  พ.ศ. ๙๕๖
    ฎีกา  เป็นคำอธิบายอรรถกถา เป็นหลักฐานชั้น ๓ มีขึ้นเมื่อประมาณ พ.ศ. ๑๕๘๗
    อนุฎีกา  เป็นคำอธิบายฎีกา เป็นหลักฐานชั้น ๔


การแปลพระไตรปิฎกภาษาบาลีเป็นภาษาไทย

การแปลพระไตรปิฎกเป็นภาษาไทย ได้กระทำกันมาช้านานตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ในสมัย กรุงรัตนโกสินทร์  พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้า ฯ  ได้โปรดเกล้า ฯ ให้จัดแปลไว้ เป็นจำนวนมาก  ในรัชสมัยต่อ ๆ มา การแปลก็ยังคงดำเนินไป เป็นครั้งคราว ส่วนใหญ่ จะแปลพระสุตตันตปิฎก พระวินัยปิฎกและพระอภิธรรมปิฎก มีน้อย  สำนวนโวหาร ในการแปลก็ผิดกันมาก เพราะต่างยุคต่างสมัย

ต่อมาในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๓ สมเด็จ พระอริยวงศาคตญาณ  สมเด็จพระสังฆราช (แพ ติสสเทว) วัดสุทัศน์ เทพวราราม ทรง ปรารภว่า พระไตรปิฎกเป็นภาษาบาลี  ผู้ใคร่ศึกษาต้องรู้ภาษาบาลี อย่างลึกซึ้ง จึงจะศึกษา ได้สมประสงค์ แม้มีผู้รู้แปลสู่ภาษาไทยอยู่บ้าง ก็เลือกแปล เฉพาะบางตอน ไม่ตลอดเรื่อง ถ้าสามารถแปลจบครบบริบูรณ์ ก็จะเป็นอุปการคุณแก่ พุทธบริษัทชาวไทย อย่างใหญ่หลวง ในต่างประเทศ ได้มีนักปราชญ์ อุตสาหะ แปลบาลี พระไตรปิฎก ฝ่ายเถรวาท ออกเป็นภาษา ของเขาแล้ว 

สำหรับฝ่ายมหายานนั้น ได้มีการแปล พระไตรปิฎกจากฉบับภาษาสันสกฤต ออกเป็น ภาษาของชาวประเทศที่นับถือลัทธิมหายาน มาแล้วช้านาน การที่นักปราชญ์ดังกล่าว จัดแปลพระไตรปิฎกเป็นภาษาของเขา ก็ด้วยเห็น ประโยชน์ที่มหาชนชาวประเทศนั้น ๆ จะพึงได้รับการศึกษา พระไตรปิฎกเป็นสำคัญ จึงเป็นการสมควรด้วยประการ ทั้งปวง ที่จะคิดจัดแปล พระไตรปิฎกเป็นภาษาไทย ให้ตลอดสาย จะเป็นเครื่องเฉลิม พระเกียรติ แห่งพระมหากษัตริย์ และประเทศไทย ให้ปรากฎไป ในนานาประเทศ แต่เนื่องด้วยการนี้ เป็นการใหญ่ เกินวิสัยที่เอกชนคนสามัญ จะทำให้สำเร็จได้   จึงขอให้กระทรวงธรรมการ นำความกราบบังคมทูลพระกรุณา ขอพระราชทาน พระบรมราชูปถัมภ์

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล  ทรงมีพระราชดำริเห็นชอบ จึงมี พระบรมราช โองการ โปรดเกล้า ฯ  ห้รับการจัดแปลพระไตรปิฎก เป็นภาษาไทย  ไว้ในพระบรม ราชูปถัมภ์ ถวายให้สมเด็จพระสังฆราชทรงเป็นประธานในการนี้  ให้กรมธรรมการ เป็นผู้อำนวยการฝ่ายคฤหัสถ์ จัดพิมพ์ พระไตรปิฎกเป็นสมุดตีพิมพ์ และลงในใบลาน เพื่อ เผยแพร่ แก่พุทธบริษัทสืบไป

คณะกรรมการแปลพระไตรปิฎก เริ่มดำเนินการแปลตั้งแต่ปลายปี พ.ศ. ๒๔๘๓ โดยแบ่งเป็น ๒ ประเภทคือ

            ๑.  แปลโดยอรรถ ตามความในบาลีพระไตรปิฎก ฉบับสยามรัฐ  สำหรับ พิมพ์ เป็นเล่มสมุด เรียกว่า  "พระไตรปิฎกภาษาไทย"

            ๒.  แปลโดยสำนวนเทศนา  สำหรับพิมพ์ลงใบลาน เป็นคัมภีร์เทศนา เรียกว่า "พระไตรปิฎกเทศนาฉบับหลวง" แบ่งออกเป็น ๑,๒๕๐ กัณฑ์ โดยถือเกณฑ์ พระอรหันต์ ๑,๒๕๐ รูป เมื่อคราวจตุรงคสันนิบาต ในสมัยพุทธกาล เป็นพระวินัยปิฎก ๑๘๒ กัณฑ์ พระสุตตันตปิฎก ๑,๐๕๔ กัณฑ์ พระอภิธรรมปิฎก ๑๔ กัณฑ์ พิมพ์ลง ใบลานเสร็จ เรียบร้อย เป็นครั้งแรก เมื่อ พ.ศ.๒๔๙๒

ต่อมาเมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๕ รัฐบาลไทยดำริ จะจัดทำพิธีฉลองยี่สิบห้าพุทธศตวรรษ ในปี พ.ศ. ๒๕๐๐ คณะสังฆมนตรีพิจารณาเห็นสมควร  จัดสร้างพระไตรปิฎกภาษาไทย  ซึ่งคณะสงฆ์ ได้ตั้งกรรมการจัดแปล และกำลังตรวจสำนวน  ทำต้นฉบับสำหรับพิมพ์ อยู่แล้วนั้น เพื่อเป็น อนุสาสนีย์ เนื่องในงานนั้นด้วยจึงได้กำหนดจำนวน หนังสือ ที่จะพิมพ์ จากจำนวนที่กำหนด ไว้เดิม ๑,๐๐๐ จบ  เป็น ๒,๕๐๐ จบ เพื่อให้เหมาะสม แก่งานฉลอง ยี่สิบห้า พุทธศตวรรษ

ในปี พ.ศ. ๒๕๑๔  กรมศาสนาได้ดำเนินการจัดพิมพ์เป็นครั้งที่ ๒ เห็นว่าจำนวนเล่ม ที่พิมพ์ ครั้งแรกชุดละ ๘๐ เล่ม  เพื่อให้ไม่หนาเกินไป  และมีจำนวนเล่มเท่าจำนวน พระชนมายุ ของพระพุทธเจ้า แต่ทำให้การอ้างอิงไม่ตรงกับเล่มในฉบับบาลี ซึ่งมีอยู่ ๔๕ เล่ม ในการพิมพ์ ครั้งนี้ จึงพิมพ์จบละ ๔๕ เล่ม  และประจวบกับปี พ.ศ. ๒๕๑๔ นับเป็น มหามงคลสมัย ซึ่ง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จเถลิงถวัลย ราชสมบัติ มาบรรจบครบ ๒๕ ปี ทางราชการ ได้จัดพระราชพิธีรัชดาภิเษก ถวายเป็นการ เฉลิมพระเกียรติ จึงตกลง เรียก พระไตรปิฎก ฉบับนี้ว่า

"พระไตรปิฎกภาษาไทยฉบับหลวง" จัดพิมพ์จำนวน ๒,๐๐๐ จบ จบละ ๔๕ เล่ม

ที่มา : หอมรดกไทย



 
หนังสือพุทธวจน : ออนไลน์
90 90 90 90
พุทธประวัติ ขุมทรัพย์ อริยสัจ
ภาคต้น
อริยสัจ
ภาคปลาย
ปฏิจจ ปฐมธรรม ตถาคต อนาคามี อินทรีย์
สังวร
สัตว์
สัตตานัง
ทาน
สกทาคามี
ฆราวาส
ชั้นเลิศ
มรรควิธี
ที่ง่าย
อริยวินัย เดรัจฉานวิชา กรรม สมถะ
วิปัสสนา
โสดาบัน นา
ปานสติ
จิต มโน
วิญญาณ
ก้าวย่าง
อย่างพุทธะ
ตามรอย
ธรรม
ภพ ภูมิ
พุทธวจน
สาธยาย
ธรรม
สังโยชน์