พระราชบัญญัติ ลักษณะปกครองคณะสงฆ์
ร.ศ. ๑๒๑
สมัยรัชกาลที่ ๕
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------
มีพระบรมราชโองการ ในพระบาทสมเด็จ พระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ดำรัสเหนือเกล้า ฯ ให้ประกาศจงทราบทั่วกันว่า
ทุกวันนี้ การปกครองข้างฝ่าย พระราชอาณาจักร ก็ได้ทรงพระราชดำริแก้ไข และ จัดตั้ง แบบแผนการปกครอง ให้เรียบร้อย เจริญดีขึ้นกว่าแต่ก่อนเป็นหลาย ประการแล้ว และฝ่ายพระพุทธจักรนั้น การปกครองสังฆมณฑล ย่อมเป็นการสำคัญ ทั้งในประโยชน์แห่ง พระศาสนา และในประโยชน์ความเจริญของพระราชอาณาจักร ด้วย ถ้าการปกครอง สังฆมณฑล เป็นไปตามแบบแผนอันเรียบร้อย พระศาสนา ก็จะ รุ่งเรืองถาวร และจะชักนำ ประชาชน ทั้งหลายให้เลื่อมใสศรัทธา ในพระพุทธศาสโนวาท ประพฤติสัมมาปฏิบัติ และ ร่ำเรียนวิชาคุณ ในสงฆ์สำนัก ยิ่งขึ้นเป็นอันมาก
มีพระราชประสงฆ์ จะทรงทำนุบำรุงสังฆมณฑล ให้เจริญคุณสมบัติมั่นคงสืบไป ในพระศาสนา จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ตราเป็นพระราชบัญญัติ ไว้สืบไปดังนี้ว่า
หมวดที่ ๑
ว่าด้วยนามและกำหนดใช้พระราชบัญญัติ
มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้ให้มีนามว่า พระราชบัญญัติลักษณะ ปกครอง คณะสงฆ์ รัตนโกสินทรศก ๑๒๑ (๑) และพระราชบัญญัตินี้ จะโปรดให้ใช้ใน มณฑลใด เมื่อใด จะได้
ประกาศในหนังสือพิมพ์ราชกิจจานุเบกษาเป็นสำคัญ
มาตรา ๒ ตั้งแต่วันที่ได้ใช้พระราชบัญญัตินี้ในที่ใด ให้ยกเลิกบรรดากฎหมาย แบบแผนประเพณี ที่ขัดขวางต่อพระราชบัญญัตินี้ มิให้ใช้ในที่นั้นสืบไป
หมวดที่ ๒
ว่าด้วยคณะใหญ่
มาตรา ๓ พระราชบัญญัตินี้ ไม่เกี่ยวด้วยนิกายสงฆ์ กิจและลัทธิเฉพาะใน นิกายนั้นๆ ซึ่งเจ้าคณะหรือสังฆนายกในนิกายนั้น ได้เคยมีอำนาจว่ากล่าวบังคับ มาแต่ก่อนประการใด ก็ให้คงเป็นไปตามเคยทุกประการ แต่การปกครองอันเป็นสามัญ ทั่วไปในนิกายทั้งปวง ให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้ (๒)
มาตรา ๔ สมเด็จเจ้าคณะใหญ่ทั้ง ๔ ตำแหน่ง คือ เจ้าคณะใหญ่คณะเหนือ ๑ เจ้าคณะใหญ่คณะใต้ ๑ เจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุตกา ๑ เจ้าคณะใหญ่คณะกลาง ๑ ทั้งพระราชาคณะเจ้าคณะรอง คณะเหนือ คณะใต้ คณะธรรมยุตกา คณะกลาง ทั้ง ๔ ตำแหน่งนั้น ยกเป็นพระมหาเถระ ที่ทรงปรึกษาในการพระศาสนา และการปกครอ งบำรุง สังฆมณฑลทั่วไป ข้อภารธุระในพระศาสนาหรือในสังฆมณฑล ซึ่งได้โปรดให้ พระมหาเถระ ทั้งนี้ ประชุมวินิจฉัยในที่มหาเถรสมาคม ตั้งแต่ ๕ พระองค์ขึ้นไป คำตัดสินของ มหาเถรสมาคม นั้น ให้เป็นสิทธิ์ขาด ผู้ใดจะอุทธรณ์ หรือโต้แย้ง ต่อไปอีกไม่ได้ (๓)
หมวดที่ ๓
ว่าด้วยวัด
มาตรา ๕ วัดกำหนด ตามพระราชบัญญัตินี้ เป็น ๓ อย่าง คือ พระอาราม หลวง อย่าง ๑ อารามราษฎร์อย่าง ๑ ที่สำนักสงฆ์อย่าง ๑
๑. พระอารามหลวง คือ วัดที่พระเจ้าแผ่นดินทรงสร้าง หรือทรงพระกรุณา โปรดให้ เข้าจำนวนในบาญชี นับว่าเป็นพระอารามหลวง
๒. อารามราษฎร์นั้น คือ วัดซึ่งได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา แต่มิได้เข้า บาญชี นับว่า เป็นวัดหลวง
๓. ที่สำนักสงฆ์นั้น คือ วัดซึ่งยังไม่ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา
มาตรา ๖ ที่วัดและที่ขึ้นวัดนั้น จำแนกตามพระราชบัญญัตินี้เป็น ๓ อย่าง คือ ที่วัด ๑ ที่ธรณีสงฆ์ ๑ ที่กัลปนา ๑
๑. ที่วัดนั้น คือ ที่ซึ่งตั้งวัดจนตลอดเขตวัดนั้น เรียกว่าที่วัด
๒. ที่ธรณีสงฆ์นั้น คือ ที่แห่งใด ๆ ซึ่งเป็นสมบัติของวัด
๓. ที่กัลปนานั้น คือ ที่แห่งใด ๆ ซึ่งพระเจ้าแผ่นดินได้ทรงพระราชอุทิศเงิน อากร ค่าที่แห่งนั้นขึ้นวัดก็ดี หรือที่ซึ่งเจ้าของมิได้ถวายกรรมสิทธิ์ อุทิศแต่ผล ประโยชน์ อันเกิดแต่ ที่นั้นขึ้นวัดก็ดี ที่เช่นนั้นเรียกว่า ที่กัลปนา
มาตรา ๗ ที่วัดก็ดี ที่ธรณีสงฆ์ก็ดี เป็นสมบัติสำหรับพระศาสนา พระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัว ผู้เป็นอัครศาสนูปถัมภก ทรงปกครองรักษาโดย พระบรมราชานุภาพ ผู้ใด ผู้หนึ่ง จะโอนกรรมสิทธิ์นั้นไม่ได้ (๔)
มาตรา ๘ วัดใดร้างสงฆ์ไม่อาศัย (๕) ให้เจ้าพนักงานฝ่ายพระราชอาณาจักร เป็นผู้ ปกครองรักษาวัดนั้น ทั้งที่ธรณีสงฆ์ซึ่งขึ้นวัดนั้นด้วย
มาตรา ๙ ผู้ใดจะสร้างวัดขึ้นใหม่ ต้องได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาต ก่อน จึงจะสร้างได้ และพระบรมราชานุญาตนั้น จะพระราชทานดังนี้ คือ
ข้อ ๑ ผู้ใดจะสร้างที่สำนักสงฆ์ขึ้นใหม่ ในที่แห่งใด ให้ผู้นั้นมีจดหมาย แจ้งความ ต่อนายอำเภอผู้ปกครองท้องที่แห่งนั้น ให้นายอำเภอปรึกษาด้วยเจ้า คณะแขวง นั้นตรวจ และ พิเคราะห์ข้อความเหล่านี้ก่อน คือ
๑. ที่ดินซึ่งจะเป็นวัดนั้น ผู้ขออนุญาตมีอำนาจ โดยชอบด้วยกฎหมาย ที่จะยกให้ ได้หรือไม่ (๖)
๒. ถ้าสร้างวัดในที่นั้น จะเป็นความขัดข้องอันใด ในราชการฝ่ายพระราช อาณาจักร หรือไม่ (๗)
๓. วัดสร้างขึ้นในที่นั้นจะเป็นที่ควรสงฆ์อาศัยหรือไม่ (๘)
๔. สร้างวัดขึ้นในที่นั้น จะเป็นประโยชน์แก่ประชุมชน ในท้องที่นั้นหรือไม่ (๙)
๕. วัดสร้างขึ้นในที่นั้น จะเสื่อมประโยชน์แห่งพระศาสนา ด้วยประการใด บ้าง เป็นต้นว่าจะพาให้วัดที่มีอยู่แล้วร่วงโรย หรือร้างไปหรือไม่ (๑๐)
ถ้านายอำเภอและเจ้าคณะแขวง เห็นพร้อมกันว่า ไม่มีข้อขัดข้องอย่างใด อย่างหนึ่ง ใน ๕ ข้อนั้นแล้ว ก็พระราชทานพระบรมราชานุญาต ให้เจ้าคณะแขวง มีอำนาจที่จะทำ หนังสืออนุญาต ให้สร้างที่สำนักสงฆ์นั้นขึ้น และให้นายอำเภอ ประทับ ตรากำกับใน หนังสือ นั้นด้วย และเจ้าของที่ดินนั้นจะต้องจัดการ โอน โฉนดเนื้อที่วัดถวายแก่สงฆ์ ตามกฎหมาย ก่อน จึงจะสร้างที่สำนักสงฆ์ได้
ข้อ ๒ ในการที่จะขอรับพระราชทาน ที่วิสุงคามสีมาสำหรับอารามเดิม ที่ได้ ก่อสร้าง ปฏิสังขรณ์ใหม่ก็ดี หรือจะสร้างที่สำนักสงฆ์ขึ้นเป็นอารามก็ดี ให้ผู้ขอทำ จดหมายยื่นต่อ ผู้ว่าราชการเมืองนั้น ๆ ให้มีใบบอกเข้ามากราบบังคมทูล ฯ ถ้าใน จังหวัดกรุงเทพ ฯ ก็ให้ยื่น จดหมายนั้น ต่อกระทรวงธรรมการให้นำกราบบังคมทูล ฯ เพื่อจะได้พระราชทาน ใบพระบรมราชานุญาต (๑๑)
ข้อ ๓ ถ้าจะสร้างอารามขึ้นใหม่ทีเดียว ต้องขออนุญาต อย่างสร้างที่สำนัก สงฆ์ก่อน ต่อได้อนุญาตนั้นแล้ว จึงจะขอรับพระราชทานที่วิสุงคามสีมาได้ (๑๒)
หมวดที่ ๔
ว่าด้วยเจ้าอาวาส
มาตรา ๑๐ วัดหนึ่งให้มีพระภิกษุ เป็นเจ้าอาวาสรูปหนึ่ง การเลือกสรรและตั้ง เจ้าอาวาส พระอารามหลวงนั้น แล้วแต่จะทรงพระราชดำริเห็นสมควร แม้อารามราษฎร์ และสำนักสงฆ์แห่งใด ถ้าทรงพระราชดำริเห็นสมควร จะทรงเลือกสรรและตั้งเจ้าอาวาส ก็ได้ (๑๓)
มาตรา ๑๑ วัดในจังหวัดกรุงเทพ ฯ วัดหลวงก็ดี วัดราษฎร์ก็ดี ที่พระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัวไม่ทรงเลือกและตั้งเจ้าอาวาส ให้เป็นหน้าที่ของพระราชาคณะผู้กำกับแขวง (๑๔) ที่วัดนั้นตั้งอยู่ จะปรึกษาสงฆ์ และสัปปุรุษทายกแห่งวัดนั้น เลือกสรรพระภิกษุ ซึ่ง สมควรจะเป็นเจ้าอาวาส ถ้าและพระราชาคณะนั้นเห็นว่า พระภิกษุรูปใด สมควรจะเป็น เจ้าอาวาส ก็ให้มีอำนาจที่จะทำตราตั้งพระภิกษุรูปนั้น เป็นเจ้าอาวาสวัดนั้น และตราตั้งนั้น ต้องให้ผู้บัญชาการ กระทรวงธรรมการ ประทับตราเป็นสำคัญ ในฝ่ายพระราชอาณาจักรด้วย
มาตรา ๑๒ การเลือกสรรเจ้าอาวาสวัดในหัวเมือง ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ไม่ทรงเลือกและตั้งเองนั้น ให้เป็นหน้าที่ของเจ้าคณะแขวง ที่จะปรึกษาสงฆ์ และ สัปปุรุษทายก แห่งวัดนั้น เลือกสรรพระภิกษุซึ่ งสมควรจะเป็นเจ้าอาวาส ถ้าปรึกษาเห็น พร้อมกัน ในพระภิกษุรูปหนึ่งรูปใดก็ดี หรือเห็นแตกต่างกันในพระภิกษุหลายรูปก็ดี ให้เจ้าคณะแขวง นำความเสนอต่อเจ้าคณะเมือง ๆ เห็นว่า พระภิกษุรูปใด สมควรจะเป็น เจ้าอาวาส ก็ให้มีอำนาจที่จะทำตราตั้งพระภิกษุรูปนั้น เป็นเจ้าอาวาสวัดนั้น และตราตั้งนั้น ต้องให้ผู้ว่าราชการเมืองประทับตราตำแหน่งเป็นสำคัญ ในฝ่ายพระราชอาณาจักรด้วย
อนึ่ง เจ้าอาวาสทั้งปวงนั้น ถ้าไม่ได้อยู่ในสมณศักดิ์ที่สูงกว่า ก็ให้มีสมณศักดิ์เป็น อธิการ (๑๕)
มาตรา ๑๓ เจ้าอาวาสมีหน้าที่ดังนี้ คือ
ข้อ ๑ ที่จะทำนุบำรุงรักษาวัดนั้น ตามกำลังและความสามารถ
ข้อ ๒ ที่จะตรวจตราอย่าให้วัดนั้น เป็นที่พำนักแอบแฝงของโจรผู้ร้าย
ข้อ ๓ ที่จะปกครองบรรพชิตและคฤหัสถ์ ซึ่งอาศัยอยู่ในวัดนั้น
ข้อ ๔ ที่จะรักษาความเรียบร้อย และระงับอธิกรณ์ ในหมู่บรรพชิตและคฤหัสถ์ ซึ่งอาศัยอยู่ในวัดนั้น
ข้อ ๕ ที่จะเป็นธุระ ในการสั่งสอนพระศาสนาแก่บรรพชิต และคฤหัสถ์ให้เจริญ ในสัมมาปฏิบัติ ตามสมควรแก่อุปนิสัย
ข้อ ๖ ที่จะเป็นธุระให้กุลบุตรซึ่งอาศัย เป็นศิษย์อยู่ในวัดนั้น ได้ร่ำเรียนวิชา ความรู้ ตามสมควร (๑๖)
ข้อ ๗ ที่จะเป็นธุระแก่สัปปุรุษ และทายกผู้มาทำบุญในวัดนั้น ให้ได้บำเพ็ญกุศล โดยสะดวก (๑๗)
ข้อ ๘ ที่จะทำบาญชีบรรพชิต และคฤหัสถ์ซึ่งอาศัยในวัดนั้น และทำรายงาน การวัดยื่นต่อเจ้าคณะ (๑๘)
ข้อ ๙ ถ้าพระภิกษุสามเณรในวัดนั้น ปรารถนาจะไปอยู่วัดอื่นก็ดี หรือจะไป ทางไกล ก็ดี เป็นหน้าที่ของเจ้าอาวาส จะต้องให้หนังสือสุทธิเป็นใบสำคัญ (๑๙) เว้นแต่ถ้าเจ้าอาวาสเห็นว่า ภิกษุสามเณรรูปใดจะไปเพื่อประพฤติอนาจารในที่อื่น จะไม่ยอมให้หนังสือสุทธิก็ได้ แต่ต้องแจ้งเหตุให้พระภิกษุ หรือสามเณรรูปนั้นทราบด้วย
มาตรา ๑๔ เป็นหน้าที่ของบรรพชิต และคฤหัสถ์บรรดาซึ่งอาศัยในวัดนั้น จะต้อง ช่วยเจ้าอาวาส ในการทั้งปวง อันเป็นภาระของเจ้าอาวาสนั้น
มาตรา ๑๕ บรรดาพระภิกษุสามเณร ต้องมีสังกัดอยู่ในบาญชีวัดใดวัดหนึ่งทุกรูป
มาตรา ๑๖ คฤหัสถ์ซึ่งอาศัยอยู่ในวัด ย่อมมีหน้าที่และความรับผิดชอบต่อพระราช กำหนด กฎหมาย (๒๐) เหมือนพลเมืองทั้งปวง
มาตรา ๑๗ เจ้าอาวาสมีอำนาจเหล่านี้ คือ
ข้อ ๑ มีอำนาจที่จะบังคับว่า กล่าวบรรดาบรรพชิต และคฤหัสถ์ซึ่งอยู่ในวัดนั้น
ข้อ ๒ อธิกรณ์เกิดขึ้นในวัดใด ถ้าเป็นความตามลำพังพระวินัย เจ้าอาวาสวัดนั้น มีอำนาจที่จะพิพากษาได้ ถ้าเป็นความแพ่ง แม้คู่ความทั้งสองฝ่ายยอมให้เจ้าอาวาส เปรียบเทียบก็เปรียบเทียบได้
ข้อ ๓ บรรพชิตก็ดี คฤหัสถ์ก็ดี ถ้ามิได้รับอนุญาตของเจ้าอาวาส จะเข้าไปบวช หรือไปอยู่ในวัดนั้นไม่ได้ (๒๑)
ข้อ ๔ บรรพชิตก็ดี คฤหัสถ์ก็ดี ที่อยู่ในวัดนั้น ถ้าไม่อยู่ในโอวาทของเจ้าอาวาส ๆ จะไม่ให้อยู่ในวัดนั้นก็ได้ (๒๒)
ข้อ ๕ ถ้าเจ้าอาวาส บังคับการอันชอบด้วยพระวินัยบัญญัติ หรือพระราชบัญญัติ และพระภิกษุสามเณรในวัดนั้น ไม่กระทำตามก็ดี หรือฝ่าฝืนคำสั่งหมิ่นประมาท เจ้าอาวาส ก็ดี เจ้าอาวาสมีอำนาจที่จะกระทำ ทัณฑกรรม (๒๓) แก่พระภิกษุสามเณร ผู้มีความผิดนั้น ได้
ข้อ ๖ ถ้าเจ้าอาวาส กระทำการตามหน้าที่ โดยชอบด้วยพระราชกำหนด กฎหมาย ถ้าและคฤหัสถ์ผู้ใดขัดขืน หรือลบล้างอำนาจหรือหมิ่นประมาทเจ้าอาวาส ผู้นั้น มีความผิด ต้องระวางโทษปรับครั้งหนึ่ง เป็นเงินไม่เกิน ๒๐ บาท หรือจำขังเดือนหนึ่ง หรือ ทั้งปรับ และจำด้วยทั้ง ๒ สถาน (๒๔)
มาตรา ๑๘ ผู้ใดจะอุทธรณ์คำสั่งของเจ้าอาวาส ถ้าวัดในจังหวัดกรุงเทพฯ ให้อุทธรณ์ ต่อพระราชาคณ ะผู้กำกับแขวง ถ้าวัดในหัวเมือง ให้อุทธรณ์ต่อเจ้าคณะแขวง
มาตรา ๑๙ วัดใดจำนวนสงฆ์มากก็ดี หรือเจ้าอาวาสวัด ไม่สามารถจะกระทำ การ ตามหน้าที่ได้ทุกอย่าง ด้วยความชราทุพพลภาพเป็นต้นก็ดี ในจังหวัดกรุงเทพฯ เมื่อ พระราชา คณะ ผู้กำกับแขวง เห็นสมควรจะตั้งพระภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง เป็นรอง เจ้าอาวาส สำหรับรับภาระทั้งปวง หรือแต่อย่างใดอย่างหนึ่งช่วยเจ้าอาวาส ก็ตั้ง รองเจ้าอาวาสได้ รองเจ้าอาวาสมีอำนาจได้เท่าที่พระราชาคณะ ซึ่งกำกับแขวง ได้มอบนั้น แต่จะมีอำนาจ เกินเจ้าอาวาส หรือกระทำการฝ่าฝืนอนุมัติของ เจ้าอาวาสไม่ได้ ส่วนวัดในหัวเมือง ก็ให้เป็นอำนาจและหน้าที่ของเจ้าคณะเมือง จะตั้งรองเจ้าอาวาส เป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาส ได้เหมือนเช่นนั้น (๒๕) รองเจ้าอาวาสนี้ ถ้าไม่ได้อยู่ในสมณศักดิ์ที่สูงกว่า ให้มีสมณศักดิ์ เป็นรองอธิการ
หมวดที่ ๕
ว่าด้วยคณะแขวง
มาตรา ๒๐ ในท้องที่อำเภอหนึ่ง ให้กำหนดตามพระราชบัญญัตินี้ เป็น แขวงหนึ่ง ในจังหวัดกรุงเทพฯ จะโปรดให้พระราชาคณะ เป็นผู้กำกับคณะแขวงละรูป ส่วนท้องที่ใน หัวเมือง นอกจังหวัดกรุงเทพฯ นั้น แขวงหนึ่งให้มีเจ้าคณะแขวงรูปนึ่ง แต่ถ้าแขวงใด มีวัดน้อย จะรวมหลายแขวงไว้ในหน้าที่เจ้าคณะแขวงใด แขวงหนึ่ง ก็ได้ ทั้งนี้ แล้วแต่ เจ้าคณะมณฑล จะเห็นสมควร
มาตรา ๒๑ พระราชาคณะผู้กำกับแขวง ในจังหวัดกรุงเทพฯ นี้ จะโปรดให้ พระราชา คณะรูปใด เป็นผู้กำกับคณะแขวงใด แล้วแต่จะทรงพระราชดำริ เห็นสมควร
ส่วนการเลือกตั้งเจ้าคณะแขวง ในหัวเมืองนั้น เป็นหน้าที่เจ้าคณะเมือง จะเลือกสรร เจ้าอาวาสวัด ซึ่งอยู่ในแขวงนั้น เสนอต่อเจ้าคณะมณฑล แล้วแต่ เจ้าคณะมณฑลจะเห็น สมควร และให้เจ้าคณะมณฑล มีอำนาจที่จะทำตราตั้งเจ้า คณะแขวง และตราตั้งนั้น ต้องให้ข้าหลวงใหญ่ (๒๖) ซึ่งสำเร็จราชการมณฑล ประทับตรากำกับเป็นสำคัญ ข้างฝ่ายพระราชอาณาจักรด้วย อนึ่ง เจ้าคณะแขวงนี้ ถ้าไม่ได้อยู่ในสมณศักดิ์ที่สูงกว่า ให้มีสมณศักดิ์เป็นพระครู ถ้าทรงพระราชดำริ เห็นสมควร จะทรงเลือกสรร หรือจะ พระราชทาน สัญญาบัตรราชทินนาม ตั้งเจ้า คณะแขวง ให้มีสมณศักดิ์ยิ่งขึ้นไปก็ได้ (๒๗)
มาตรา ๒๒ บรรดาวัดในจังหวัดกรุงเทพฯ อยู่ในแขวงใด ให้ขึ้นอยู่ในพระ ราชาคณะ ผู้กำกับแขวงนั้น ส่วนวัดในหัวเมืองวัด อยู่ในแขวงใด ก็ให้ขึ้นอยู่ใน เจ้าคณะแขวงนั้น เว้นแต่วัดทั้งในกรุงเทพฯ และในหัวเมือง ที่โปรดให้ขึ้นอยู่เฉพาะ คณะ หรือเฉพาะ พระราชาคณะ รูปใดรูปหนึ่ง ซึ่งทรงพระราชดำริเห็นสมควร (๒๘)
มาตรา ๒๓ ให้พระราชาคณะผู้กำกับแขวง ในจังหวัดกรุงเทพ ฯ มีฐานานุศักดิ์ ตั้งฐานานุกรมตำแหน่งพระสังฆรักษ์ ได้อีกรูปหนึ่ง เว้นแต่ถ้า พระราชาคณะ รูปนั้น มีฐานานุศักดิ์ควร ตั้งฐานานุกรมเกิน ๓ รูป อยู่แล้ว ก็ไม่ต้องตั้ง
มาตรา ๒๔ พระราชาคณะผู้กำกับแขวงมีหน้าที่ดังนี้ คือ
ข้อ ๑ ที่จะตรวจตราอำนวยการวัด และการสงฆ์ (๒๙) บรรดาซึ่งอยู่ใน ปกครอง ให้เรียบร้อย เป็นไปตามพระวินัยบัญญัติ และพระราชบัญญัตินี้
ข้อ ๒ ที่จะเลือกและตั้งรองเจ้าคณะแขวง (๓๐) เจ้าอาวาสและรอง เจ้าอาวาส นั้น มีอำนาจเลือกตั้งได้ตามพระราชบัญญัตินี้
ข้อ ๓ ที่จะตรวจตราทำนุบำรุง การสั่งสอนพระศาสนา และการศึกษา ในวัด ซึ่งอยู่ใน ความปกครอง
ข้อ ๔ ที่จะไปดูแลตรวจตราการตามวัดขึ้น ในแขวงนั้น เป็นครั้งเป็นคราว ตามสมควร
ข้อ ๕ ที่จะช่วยระงับอธิกรณ์ แก้ไขความขัดข้องของเจ้าอาวาส และ วินิจฉัยข้อ อุทธรณ์เจ้าอาวาส
มาตรา ๒๕ พระราชาคณะผู้กำกับแขวง ในจังหวัดกรุงเทพฯ มีอำนาจดังนี้ คือ
ข้อ ๑ รองเจ้าคณะแขวงก็ดี เจ้าอาวาสก็ดี รองเจ้าอาวาสก็ดี ที่พระราชา คณะนั้น ตั้งได้ตามพระราชบัญญัตินี้ แม้ไม่สมควรจะอยู่ในตำแหน่งต่อไป เพราะ ความประพฤติก็ดี เพราะไม่สามารถก็ดี พระราชาคณะผู้กำกับแขวง มีอำนาจที่จะ เอาออกจากตำแหน่งได้
ข้อ ๒ มีอำนาจที่จะตัดสินข้ออุทธรณ์ หรือการเกี่ยงแย่งในคำสั่ง และคำ วินิจฉัย ของ เจ้าอาวาสวัด ขึ้นในแขวงนี้
ข้อ ๓ มีอำนาจที่จะบังคับว่ากล่าวพระภิกษุสามเณร ในวัดซึ่งขึ้นอยู่ใน แขวงนั้น ในกิจอันชอบด้วย พระวินัยบัญญัติและพระราชบัญญัติ
มาตรา ๒๖ พระครูเจ้าคณะแขวงหัวเมือง มีหน้าที่ดังนี้ คือ
ข้อ ๑ ที่จะตรวจตราอำนวยการวัด และการสงฆ์บรรดาที่อยู่ในปกครอง ให้เรียบร้อย เป็นไปตามพระวินัยบัญญัติ และพระราชบัญญัติ
ข้อ ๒ ที่จะเลือกเจ้าอาวาส และรองเจ้าอาวาสตามความ ในพระราช บัญญัตินี้
ข้อ ๓ ที่จะตรวจตราทำจะบำรุงการ สั่งสอนพระศาสนา และการศึกษา ในวัด ซึ่งอยู่ในปกครอง
ข้อ ๔ ที่จะไปดูแลตรวจตรา ตามวัดขึ้นในแขวงนั้น เป็นครั้งเป็นคราว ตามสมควร
ข้อ ๕ ที่จะช่วยแก้ไขความขัดข้อง ของเจ้าอาวาส และวินิจฉัยข้ออุทธรณ์ คำสั่ง ของเจ้าอาวาส
ข้อ ๖ ถ้าเกิดเหตุหรืออธิกรณ์อย่างใด ในการวัดหรือการสงฆ์ในแขวงนั้น อันเหลือกำลังที่จะระงับได้ ก็ให้รีบนำความเสนอต่อเจ้าคณะเมือง
มาตรา ๒๗ เจ้าคณะแขวงมีอำนาจดังนี้ คือ
ข้อ ๑ มีอำนาจที่จะตัดสินข้ออุทธรณ์ หรือการเกี่ยงแย่งในคำสั่ง และคำ วินิจฉัย ของเจ้าอาวาสวัด ขึ้นในแขวงนั้น
ข้อ ๒ มีอำนาจที่จะบังคับว่า กล่าวพระภิกษุสามเณร ตลอดท้องที่ แขวงนั้น ในกิจ อันชอบด้วยพระวินัยบัญญัติ และพระราชบัญญัติ
มาตรา ๒๘ เจ้าคณะแขวงมีฐานานุศักดิ์ตั้งฐานานุกรม ผู้ช่วยการคณะได้ ๒ รูป คือ พระสมุห์ ๑ พระใบฎีกา ๑ ถ้าเจ้าคณะแขวงนั้น ได้รับพระราชทานสัญญาบัตร เป็นพระครู ราชทินนาม ตั้งพระปลัดได้อีกรูป ๑
มาตรา ๒๙ แขวงใดในจังหวัดกรุงเทพฯก็ดี ในหัวเมืองก็ดี มีวัดมากพระราชา คณะ ผู้กำกับแขวง ในจังหวัดกรุงเทพฯ หรือเจ้าคณะเมืองนั้น เห็นสมควร จะมีผู้ช่วย ตรวจตรา การอยู่ประจำท้องแขวง จะตั้งเจ้าอาวาสวัดใดวัดหนึ่งในแขวงนั้น ให้เป็น รองเจ้าคณะแขวง กำกับตรวจตราการวัด ในตำบลหนึ่ง หรือหลายตำบลก็ได้ และ ในจำนวนแขวงหนึ่ง จะมีรองเจ้าคณะแขวง กี่รูปก็ได้ตามสมควร แต่รองเจ้าคณะ แขวง รูปหนึ่ง ต้องมีจำนวนวัด อยู่ในหมวดนั้น ไม่น้อยกว่า ๕ วัดจึงควรตั้ง (๓๑) และรองเจ้าคณะแขวงมีหน้าที่ฟังคำสั่ง และเป็นผู้ช่วยเจ้าคณะแขวง อนึ่ง รองเจ้า คณะแขวงนั้น ถ้าไม่ได้อยู่ในสมณศักดิ์ที่สูงกว่า ให้มีสมณศักดิ์เป็นเจ้าอธิการ
หมวดที่ ๖
ว่าด้วยคณะเมือง
มาตรา ๓๐ หัวเมืองหนึ่ง ให้มีพระราชาคณะ หรือพระครูเป็นเจ้าคณะเมืองรูป ๑ การเลือกสรร และตั้งตำแหน่งเจ้าคณะเมืองนี้ แล้วแต่จะทรงพระราชดำริ เห็นสมควร (๓๒)
มาตรา ๓๑ เจ้าคณะเมืองมีหน้าที่ดังนี้ คือ
ข้อ ๑ ที่จะตรวจตราอำนวยการวัด และการสงฆ์บรรดาอยู่ในเขต เมือง นั้น ให้เรียบร้อย เป็นไปตามพระวินัยบัญญัติ และพระราชบัญญัติ
ข้อ ๒ ที่จะตั้งรองเจ้าคณะแขวง เจ้าอาวาส และรองเจ้าอาวาสวัดในเขต เมืองนั้น ซึ่งมีอำนาจตั้งได้ตามพระราชบัญญัตินี้
ข้อ ๓ ที่จะตรวจตราทำนุบำรุง การสั่งสอนพระศาสนา และการศึกษาใน บรรดาวัด ในเขตเมืองนั้น
ข้อ ๔ ที่จะช่วยแก้ไขความขัดข้อง ของเจ้าคณะแขวงและระงับอธิกรณ์ วินิจฉัย ข้ออุทธรณ์คำสั่ง และคำวินิจฉัยของเจ้าคณะแขวง ในเมืองนั้น
ข้อ ๕ ที่จะเลือกเจ้าอาวาส ซึ่งสมควรเป็นเจ้าคณะแขวง เสนอต่อเจ้าคณะ มณฑล
มาตรา ๓๒ เจ้าคณะเมืองมีอำนาจดังนี้ คือ
ข้อ ๑ มีอำนาจที่จะบังคับบัญชา ว่ากล่าวสงฆมณฑลตลอดเมืองนั้น ในกิจ อันชอบ ด้วยพระวินัยบัญญัติ และพระราชบัญญัติ
ข้อ ๒ รองเจ้าคณะแขวงก็ดี เจ้าอาวาสก็ดี รองเจ้าอาวาสก็ดี ซึ่งเจ้า คณะเมืองตั้งได้ตามพระราชบัญญัตินี้ ถ้าไม่สมควร จะคงอยู่ในตำแหน่งต่อไป เพราะความ ประพฤติก็ดี หรือเพราะขาดความสามารถก็ดี เจ้าคณะเมืองมีอำนาจ ที่จะเอาออกจาก ตำแหน่งได้
ข้อ ๓ มีอำนาจที่จะตัดสินข้ออุทธรณ์คำสั่ง หรือคำวินิจฉัยของเจ้าคณะ แขวง
มาตรา ๓๓ เจ้าคณะเมือง มีฐานานุศักดิ์ ตั้งฐานานุกรมได้ ๕ รูป คือ พระปลัด ๑ พระวินัยธร ๑ พระวินัยธรรม ๑ พระสมุห์ ๑ พระใบฎีกา ๑ สำหรับช่วยในการคณะ
มาตรา ๓๔ หัวเมืองใดมีกิจภาระมาก จะทรงพระกรุณาโปรดตั้งพระครูเจ้าคณะ รองเป็นผู้ช่วยเจ้าคณะเมืองรูป ๑ หรือหลายรูป ตามแต่จะทรงพระราชดำริเห็นสมควร
หมวดที่ ๗
ว่าด้วยคณะมณฑล
มาตรา ๓๕ หัวเมืองมณฑล ๑ จะทรงพระกรุณาโปรด ให้พระราชาคณะผู้ใหญ่ เป็นเจ้าคณะมณฑลรูป ๑ พระราชาคณะรูปใดควรจะเป็นเจ้าคณะมณฑลไหนนั้น แล้วแต่จะทรงพระราชดำริเห็นสมควร
มาตรา ๓๖ ถ้ามณฑลใดมีกิจภาระมาก จะทรงพระกรุณาโปรดให้มี พระราชา คณะ เป็นเจ้าคณะ รองผู้ช่วยภาระมณฑลนั้น อีกรูป ๑ หรือหลายรูป ทั้งนี้ แล้วแต่ จะทรง พระราชดำริ เห็นสมควร
มาตรา ๓๗ เจ้าคณะมณฑลมีหน้าที่ดังนี้ คือ
ข้อ ๑ ที่จะรับพระบรมราชานุมัติ ไปจัดการทำนุบำรุงพระศาสนา และบำรุง การศึกษาตามวัด ในมณฑลนั้น ให้เจริญรุ่งเรือง ตามพระราชประสงค์
ข้อ ๒ ที่จะออกไปตรวจตราการ คณะสงฆ์ และการศึกษาในมณฑลนั้น ๆ บ้าง เป็นครั้งคราว (๓๓)
ข้อ ๓ ที่จะตั้งพระครูเจ้าคณะแขวง ตามหัวเมืองในมณฑลนั้น บรรดาซึ่ง มิได้รับ พระราชทานสัญญาบัตร
ข้อ ๔ ที่จะช่วยแก้ไขความขัดข้อง ของเจ้าคณะเมืองในมณฑลนั้น
มาตรา ๓๘ เจ้าคณะมณฑลมีอำนาจดังนี้ คือ
ข้อ ๑ มีอำนาจที่จะบังคับบัญชาพระภิกษุสามเณร ทั่วทั้งมณฑลนั้น ในกิจ อันชอบ ด้วยพระวินัยบัญญัติ และพระราชบัญญัติ
ข้อ ๒ ที่จะมอบอำนาจให้ เจ้าคณะรองออกไปตรวจจัดการ ในมณฑล ได้ตามเห็นสมควรจะให้มีอำนาจเท่าใด แต่มิให้เกินแก่อำนาจ และฝ่าฝืนอนุมัติของ เจ้าคณะ มณฑล
ข้อ ๓ ผู้มีตำแหน่ง สมณศักดิ์ชั้นใด ๆ ในมณฑลนั้น นอกจากที่ได้รับ พระราชทาน สัญญาบัตรแล้ว ถ้าไม่สมควรจะอยู่ในตำแหน่ง เพราะความประพฤติก็ดี เพราะขาดความ สามารถก็ดี เจ้าคณะมณฑล มีอำนาจที่จะเอาออกจากตำแหน่งได้
ข้อ ๔ เจ้าคณะมณฑลมีอำนาจ ที่จะตัดสินข้ออุทธรณ์คำสั่ง หรือคำ วินิจฉัย ของเจ้าคณะเมือง
มาตรา ๓๙ เจ้าคณะมณฑลมีฐานานุศักดิ์ ตั้งฐานานุกรมได้ ๖ รูป คือ พระครูปลัด ๑ พระครูวินัยธร ๑ พระครูวินัยธรรม ๑ พระสังฆรักษ์ ๑ พระสมุห์ ๑ พระใบฎีกา ๑ แต่ถ้าใน ฐานานุศักดิ์ เดิมมีตำแหน่งใดแล้ว ไม่ต้องตั้งตำแหน่งนั้น
หมวดที่ ๘
ว่าด้วยอำนาจ
มาตรา ๔๐ เป็นหน้าที่ของเจ้ากระทรวงธรรมการ และเจ้าพนักงานผู้ปกครอง ท้องที่ จะช่วยอุดหนุนเจ้าคณะ ให้ได้กำลังและอำนาจพอที่จะจัดการ ให้เป็นไปตาม พระราชบัญญัตินี้
มาตรา ๔๑ พระภิกษุสามเณร ต้องฟังบังคับบัญชาเจ้าคณะซึ่งตน อยู่ในความ ปกครอง ตามพระราชบัญญัตินี้ ถ้าไม่ฟังบังคับบัญชา หรือหมิ่นละเมิดต่ออำนาจ เจ้าคณะ มีความผิด เจ้าคณะมีอำนาจที่จะทำทัณฑกรรมได้
มาตรา ๔๒ ถ้าเจ้าคณะกระทำการตามหน้าที่ ในพระราชบัญญัติ และคฤหัสถ์ ผู้ใด ลบล้างขัดขืน ต่ออำนาจเจ้าคณะ ผู้นั้นมีความผิด ต้องระวางโทษฐานขัดอำนาจ เจ้าพนักงาน
มาตรา ๔๓ คดีที่จำเลย เป็นเจ้าอาวาสก็ดี หรือเป็นคดีอุทธรณ์คำตัดสิน หรือคำสั่ง ของเจ้าอาวาสก็ดี หรือจำเลยเป็นรองเจ้าคณะแขวง หรือเป็นฐานานุกรม ของเจ้าคณะแขวง ก็ดี หรืออุทธรณ์คำสั่งรองเจ้าคณะแขวง หรือฐานานุกรมเจ้าคณะ แขวง ก็ดี ถ้าข้อวินิจฉัย คดีนั้น อยู่ในลำพังพระวินัยบัญญัติ หรือในการบังคับบัญชา ตามพระราชบัญญัตินี้ คดีเกิดขึ้น ในแขวงใด ให้เจ้าคณะแขวงนั้น มีอำนาจ ที่จะตัดสินคดีนั้นได้
คดีเช่นนั้น ถ้าจำเลย หรือผู้ต้องอุทธรณ์ เป็นเจ้าคณะแขวง หรือรองเจ้าคณะ เมือง หรือฐานานุกรม เจ้าคณะหัวเมืองใด ให้เจ้าคณะเมืองนั้นมีอำนาจที่จะตัดสินได้ ถ้าจำเลย หรือผู้ต้องอุทธรณ์เป็นเจ้าคณะเมือง หรือรองเจ้าคณะมณฑล หรือ ฐานานุกรม ของเจ้าคณะ มณฑล ของรองเจ้าคณะมณฑลใด ให้เจ้าคณะมณฑลนั้น มีอำนาจตัดสินได้ ถ้าจำเลย หรือผู้ต้องอุทธรณ์เป็นเจ้าคณะมณฑล หรือเป็นพระราชา คณะ ผู้กำกับแขวง ให้โจทก์ หรือผู้อุทธรณ์ทำฎีกายื่นต่อ กระทรวงธรรมการ ให้นำ ความกราบบังคมทูลพระกรุณา (๓๔)
มาตรา ๔๔ พระราชาคณะ หรือสังฆนายก ซึ่งโปรดให้ปกครองคณะพิเศษ นอกจาก ที่ได้กล่าวมา ในพระราชบัญญัตินี้ เช่น พระราชาคณะซึ่งได้ว่ากล่าววัด ในจังหวัดกรุงเทพฯ หลายวัด (๓๕) แต่มิได้กำกับเป็นแขวงเป็นต้นก็ดี มีอำนาจ และหน้าที่ในการปกครอง วัดขึ้น เหมือนพระราชาคณะ ผู้กำกับแขวงฉะนั้น
มาตรา ๔๕ ให้เป็นหน้าที่ เสนาบดีกระทรวงธรรมการ ที่จะรักษาการให้เป็นไป ตามพระราชบัญญัตินี้
ประกาศมา ณ วันที่ ๑๖ มิถุนายน รัตนโกสินทรศก ๑๒๑ เป็นวันที่ ๑๒๒๗๐ ในรัชกาลปัจจุบันนี้
บันทึก
เรื่องพระราชบัญญัติลักษณะปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ. ๑๒๑
“ภิกษุสงฆ์ แม้มีพระวินัยเป็นกฎหมาย สำหรับตัวอยู่ส่วนหนึ่ง แล้ว ก็ยังจะต้อง อยู่ ในใต้อำนาจ แห่งกฎหมายฝ่ายอาณาจักรอี กส่วนหนึ่ง ซึ่งตราไว้เฉพาะ หรือเพื่อ คนทั่วไป และ ยังควรอนุวัตจารีตของบ้านเมือง อันไม้ขัดต่อกฎหมายสองประเภท นั้นอีก
สรุปความ ภิกษุสงฆ์มีกฎหมาย อันจะพึงฟังอยู่ ๓ ประเภท คือ กฎหมาย แผ่นดิน ๑ พระวินัย ๑ จารีต ๑
พระราชบัญญัตินี้ เป็นกฎหมายแผ่นดิน จึงสมควรจะรู้จะเข้าใจ และปฏิบัติ ให้ถูกต้อง”
บทความข้างต้นนี้ เป็นพระนิพนธ์ ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยา วชิรญาณ วโรรส ซึ่งได้ทรงนิพนธ์ไว้ในตอนท้าย แห่งแถลงการณ์คณะสงฆ์ ก่อนหน้า พระราช บัญญัติ ลักษณะปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ. ๑๒๑ เมื่อวันที่ ๑๕ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๕๗
อนึ่ง บทความเชิงอรรถใต้มาตราต่าง ๆ แห่งพระราชบัญญัติลักษณะปกครอง คณะสงฆ์ ร.ศ. ๑๒๑ ข้างท้ายบันทึกนี้ ก็เป็นพระนิพนธ์ของ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยา วชิรญาณวโรรส เช่นเดียวกัน
(๑) พุทธศักราช ๒๔๔๕
(๒) หมายเอาคณะธรรมยุตกา ที่เคยได้พระบรมราชานุญาต ให้ปกครองกัน ตาม ลำพัง แลวัดในกรุง อันยังแยกขึ้นก้าวก่าย ในคณะ นั้น ๆ ฯ การปกครองสามัญ ทั่วไป ในนิกายทั้งปวงนั้น เช่น หน้าที่แลอำนาจเจ้า-อาวาส เป็นตัวอย่าง ฯ
(๓) ในเวลาตั้งพระราชบัญญัตินี้ ว่างสมเด็จพระมหาสมณะ หรือสมเด็จ พระสังฆราช มีแต่เจ้าคณะใหญ่ ๔ รูป เจ้าคณะรอง ๔ รูป คณะใหญ่ทั้ง ๔ นั้นต่าง มิได้ขึ้นแก่กัน เมื่อมีกิจอันจะพึงทำร่วมกัน เสนาบดีกระทรวงธรรมการ รับพระบรม ราชโองการสั่ง ฯ เจ้าคณะรูปใดมีสมณศักดิ์สูง เสนาบดีก็พูดทางเจ้าคณะรูปนั้น ๆ เป็นการกในการประชุม
ในครั้งนั้นข้าพเจ้าเป็นการก ฯ ในแผ่นดินปัตยุบัน โปรดให้ข้าพเจ้าเป็น ผู้บัญชาการ คณะสงฆ์ได้ทั่วไป การประชุมตามพระราชบัญญัตินี้ ก็ชื่อว่าเป็นอันงด ชั่วคราวโดยนัย หรือกล่าวอีกโวหารหนึ่งว่า ยังไม่ถึงคราวเรียกประชุมตาม พระราช บัญญัติ ตลอด เวลา ที่ข้าพเจ้า ยังบัญชาการอยู่
ข้าพเจ้าปรารถนาจะให้มหาเถรสมาคม คงมียืนอยู่ด้วยประการหนึ่ง จึงยังคง เรียกประชุม แลบัญชากิจการ อันจะพึงทำเป็นการสงฆ์ในที่ประชุมนั้น ฯ เจ้าคณะใหญ่ ชราโดยมาก มาได้บ้าง มาไม่ได้บ้าง เจ้าคณะรองเป็นผู้บัญชาการ คณะมณฑล ทั้งนั้น ว่างบ้างก็มี บางคราวไม่ครบกำหนดสงฆ์ปัญจวรรค ที่เป็นองค์ ของสมาคม ในพระราชบัญญัติ จึงเรียกพระราชาคณะ ชั้นธรรมเข้าเพิ่มด้วย นี้ประชุม โดยปกติ อย่าง ๑ เรียกเจ้าคณะมณฑล หรือคณาจารย์เอกเข้าประชุมด้วยก็มี นี้เป็นประชุม พิเศษอย่าง ๑ ฯ
(๔) ไม่ใช่ห้ามเด็ดขาดทีเดียว เคยพระราชทานพระบรมราชานุญาต ให้โอน ได้ก็มี แปลว่าทำตามลำพังไม่ได้ ต้องขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต
(๕) ร้างตามลำพัง หรือมีรูปเดียวหรือน้อยรูป เจ้าคณะเห็นไม่สมควรจะตั้ง สั่งถอนไปเข้ากับวัดอื่นเสีย ฯ
(๖) ผู้สร้างจะยกที่ดินตำบลใดเป็นวัด ต้องเป็นผู้มีกรรมสิทธิ์เป็นเจ้าของ ที่ดิน นั้น หรือมีกรรมสิทธิ์เพื่อจะทำได้ฯ
(๗) ที่ขัดข้องแก่ราชการนั้น เช่นได้กะไว้ว่าจะตัดถนน หรือจะสร้างที่ทำการ รัฐบาล เป็นตัวอย่าง ฯ
(๘) ที่สงฆ์ไม่ควรอาศัยนั้น เช่น อยู่ในตำบลที่ตั้งแห่งคนถือศาสนาอื่น เป็นอันมาก มีคนถือพระพุทธศาสนาน้อยไม่พอจะบำรุง อยู่ในตำบลที่มากไปด้วย อโคจร เช่น เป็นถิ่นของหญิงแพศยา หรือใกล้โรงสุรายาฝิ่น หรืออยู่ในตำบล อัน กันดารเกินไป ฯ
(๙) ถ้าตั้งขึ้นในหมู่คนศาสนาอื่น ถือศาสนาอื่น หาเป็นประโยชน์แก่ ประชุมชน ในท้องที่นั้นไม่ ตั้งในหมู่คนถือพระพุทธศาสนา จึงเป็นประโยชน์
(๑๐) ในตำบลเดียว ชาวบ้านมีกำลังพอจะบำรุงได้วัดหนึ่ง ตั้งขึ้นอีกวัดหนึ่ง ชาวบ้านแยกกันออกเป็นทายกของวัดนั้นบ้าง ของวัดนี้บ้าง วัดตั้งใหม่ ถ้าแข็งแรง ชักเอาทายกมาได้มากก็ทำวัดเดิมร่วงโรย ถ้าไม่แข็งแรงก็ร่วงโรยเอง เว้นไว้แต่ ตั้งขึ้น ในตำบลที่ห่าง ชาวบ้านไปมาไม่ถึงกัน หรือต้องไปทำบุญไกล ฯ
(๑๑) เดิมเจ้าวัดกับทายกผู้สร้าง หรือปฏิสังขรณ์ เป็นผู้เข้าชื่อขอพระราชทาน มาบัดนี้ (ศก ๒๔๕๗) จัดให้เป็นหน้าที่ของเจ้าคณะมณฑล กับเจ้าคณะเมือง จะขอเองฯ
(๑๒) เป็นธรรมเนียม ที่ต้องรอกว่าจะเห็นว่า สำนักสงฆ์นั้นตั้งติด และเป็น หลักฐาน พอจึงขอ ฯ
(๑๓) ทรงตั้งเจ้าอาวาส แห่งอารามราษฎร์นั้น พึงเห็นเช่นพระราชทาน สัญญาบัตร ตั้งให้เป็นพระครูเจ้าอาวาส มีสมณศักดิ์ต่ำกว่าพระครูเจ้าอาวาส แห่ง พระอารามหลวง ภิกษุผู้ได้รับนั้น เป็นเจ้าอาวาสอยู่แล้วแทบทั้งนั้น ฯ
(๑๔) ในรัชกาลที่ ๕ จัดคณะแขวงกรุงเทพ ฯ แล้วเฉพาะแขวงดุสิต มาใน รัชกาล ปัตยุบัน ได้จัดทั่วทุกแขวง รวมเข้าในคณะกลาง พระราชาคณะ กำกับ แขวงใน พระราช บัญญัติ นี้ เป็นตัวเจ้าคณะแขวง มีตำแหน่งเสมอเจ้าคณะเมือง ถ้าไม่ได้อยู่ใน ตำแหน่งที่สูงกว่า ฯ
(๑๕) เจ้าอาวาส เป็นพระอธิการ รองแขวงที่เรียกอีกโวหารหนึ่งว่า เจ้าคณะ หมวด เป็นเจ้าอธิการ ในบัดนี้พระอุปัชฌายะ ก็เป็นเจ้าอธิการเหมือนกัน ฯ
(๑๖) ไม่ใช่จะต้องสอนเอง เป็นแต่ดูแลให้ได้เล่าเรียน ด้วยประการใด ประการหนึ่ง ฯ
(๑๗) เช่นรับนิมนต์พระให้ ช่วยจัดที่ให้ ให้ยืมสิ่งของเครื่องใช้ ย่นลงว่า ช่วยเป็นสหายในการบุญของเขา ฯ
(๑๘) ผู้เป็นใหญ่เหนือตน ในลำดับ กล่าวคือรองแขวง ถ้าเจ้าคณะแขวง จัดทำเอง ส่งเจ้าคณะแขวงทีเดียวก็ได้ ฯ
(๑๙) ในหนังสือสุทธินั้น สำหรับพระภิกษุ มีข้อสำคัญจะพึงแสดง คือเป็นผู้มี สังวาส เสมอด้วยสงฆ์ในวัดที่ไปจาก กล่าวคือได้ร่วมอุโบสถ ปวารณา สังฆกรรม อยู่ด้วยกัน นอกจากนี้บอกชื่อภิกษุ ชื่อวัดที่ไปจาก ชื่อวัดที่จะไปอยู่ หรือตำบลที่จะ ไปธุระเป็นเหตุไป ยิ่งบอกให้รู้ว่าอุปสมบทที่ไหน ใครเป็นอุปัชฌายะ ใครเป็นกรรม วาจาจารย์ยิ่งดี สำหรับสามเณร ไม่มีข้อว่าด้วยสังวาส เป็นแต่บอกให้รู้ว่าเป็น สามเณร โดยปกติก็พอ ฯ
(๒๐) เช่นถูกเรียกเข้ารับราชการ ต้องเสียเงินค่า รัชชูปการ ถูกเรียกเป็นพยาน ต้องไปเบิกความที่ศาล เป็นตัวอย่างไม่ได้รับยกเว้นดุจภิกษุ
(๒๑) คำว่า เข้าไปบวช หมายความว่า เป็นคฤหัสถ์เข้าไปบวชแล้ว อยู่ใน วัดนั้น ฯ คำว่าไปอยู่ในวัดนั้น
หมายความว่า บวชในที่อื่น เป็นภิกษุหรือเป็นสามเณร เข้าไปอยู่เป็นเจ้าถิ่น ฯ แต่คำ ในพระราชบัญญัติว่ากว้าง แม้จะขออาศัยสีมาวัดนั้น อุปสมบทแล้วจะพาไปอยู่ ที่อื่น หรือภิกษุเป็นอาคันตุกะมา จะขออาศัยอยู่ชั่วกาล ก็อยู่ในฐานะจะต้องได้รับ อนุญาต ก่อนเหมือนกัน ฯ
(๒๒) หมายเอาคำสั่งเนื่องด้วยการปกครอง ฯ
(๒๓) ทัณฑกรรมนี้ หมายความว่า ลงโทษใช้ให้ทำการเช่นใช้ให้ตักน้ำ ขนทรายกวาด หรือกักตัวไว แต่ไม่ได้จำ ไม่ได้ขัง เป็นตัวอย่าง ไม่ใช่ลงอาชญา มีเฆี่ยนแลมัด เป็นต้น
(๒๔) นี้เป็นธุระของฝ่ายอาณาจักร หาใช่หน้าที่ของเจ้าอาวาสไม่ ฯ
(๒๕) ตำแหน่งรองเจ้าอาวาสนี้ ไม่จำเป็นจะตั้งทุกวัด ฯ
(๒๖) ในบัดนี้ (๒๔๕๗)เรียกสมุหเทศาภิบาลฯ
(๒๗) มีธรรมเนียมว่า ในชั้นต้น เจ้าคณะมณฑลตั้งก่อน ต่อทำการมานาน โดยเรียบร้อย หรือมีความชอบจึงพระราชทานสัญญาบัตรเป็นพระครูมีชื่อ ฯ
(๒๘) วัดที่ขึ้นเฉพาะคณะนั้น เช่น วัดธรรมยุตกา ไม่ว่าอยู่ในกรุง หรือใน หัวเมือง ขึ้นเฉพาะคณะธรรมยุตกนิกาย แม้วัดในกุรงเทพฯที่ขึ้นก้าวก่าย ในคณะเหนือ บ้าง ในคณะใต้บ้าง ในคณะกลางบ้าง ในเวลานั้น ก็นับเข้าใน มาตรานี้ ฯ วัดที่ขึ้นเฉพาะพระราชาคณะนั้น เช่น โปรดให้พระราชาคณะรูปใดรูปหนึ่ง ผู้อยู่ต่างจังหวัด เป็นผู้กำกับวัดใดวัดหนึ่งเฉพาะวัด หรือน้อยวัดไม่ถึงจัดเป็นหมวด ฯ
(๒๙) “การวัด” เนื่องด้วยปกครองถิ่น เช่น รักษาความสะอาด ดูแล ปฏิสังขรณ์ ปกครองคน “การสงฆ์” เนื่องด้วยปกครองภิกษุสามเณร เช่น รับคนเข้า บวช ให้โอวาทสั่งสอนจัดภิกษุเป็นเจ้าหน้าที่ทำการสงฆ์ เป็นต้นว่า เป็นผู้แจก ภัตตาหาร หรือเป็นผู้จัดเสนาสนะ ฯ
(๓๐) ในกรุงเทพ ฯ เรียกเจ้าคณะหมวด ฯ
(๓๑) นี้เป็นแต่กำหนดโดยประมาณ ควรถือเอาย่านเป็นสำคัญ เช่น ในย่านหนึ่ง มีวัดเพียง ๓ หรือ ๔ วัด ก็ควรจัดเป็นหมวดได้ แต่เป็นหมวดที่ไม่เต็ม จำนวน เจ้าหมวดควรเป็นผู้รั้ง ถ้ามีแต่ ๒ วัด ควรให้วัดหนึ่งขึ้นอีกวัดหนึ่ง ถ้าใน ย่านเดียวกันมี ๘ วัด จะแบ่งจัดหมวดหนึ่ง ๕ วัด อีกหมวดหนึ่ง ๓ วัด ดังนี้ไม่ได้ ต้องรวมเป็นหมวดเดียว ฯ
(๓๒ ) คือเป็นตำแหน่งที่ทรงตั้ง ฯ
(๓๓) ในครั้งนั้น เจ้าคณะมณฑลอยู่ในกรุงเทพฯ แทบทั้งนั้น พระราชบัญญัติ จึงเรียงไปตามนั้น ฯ
(๓๔) เมื่อทรงสถาปนา สมเด็จพระมหาสมณะขึ้นแล้ว เปลี่ยนเป็นถวาย สมเด็จ พระมหาสมณะก่อน แต่สมเด็จพระมหาสมณะ ทรงวินิจฉัยในมหาเถรสมาคม แล้ว ก็เป็นเด็ดขาดเหมือนกัน ตามพระราชบัญญัตินี้ฯ
(๓๕) หมายความอย่างเดียวกับหมายเหตุที่ ๒๘ ฯ |