การลงโทษสงฆ์ผิดศีลสมัยรัชกาลที่ 1
ในสมัยแห่งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก นี้ ทรงตระหนัก ดีว่า คณะสงฆ์แม้ว่ามีสิกขาบทวินัย เป็นข้อบังคับ แต่เมื่อไม่มีใครว่ากล่าว ไม่มีการ ลงโทษ อย่างรุนแรง ก็ทำให้ภิกษุสามเณรประพฤติหละหลวม ยิ่งไกลเมืองหลวง หรือไกลหู ไกลตา พระเถระผู้ใหญ่แล้ว ก็ยิ่งปล่อยปละละเลยมากขึ้น ทั้งนี้เพราะว่า สภาพ บ้านเมือง ในเวลานั้นเพิ่งจะฟื้นตัวจากภัยสงคราม แต่ก็ไม่ใช่ว่า จะสิ้น สงคราม เอาเสียทีเดียว
ทางบ้านเมืองจะต้องเอาใจใส่กับข้าศึกศัตรูอยู่ไม่ว่างเว้น พระองค์ทรงเห็นว่า หากจะ ปล่อยให้พระสงฆ์ เป็นอยู่อย่างเดิม การพระศาสนาก็จะเลวลง พระเกียรติยศ ของ พระองค์ ก็จะพลอยมัวหมอง จนถึงกับทรงกล่าวประณามภิกษุสามเณร เหล่านั้น ว่า “มหาโจรทำลายพระศาสนา” ดังข้อความที่ปรากฏในพระราชปรารภว่า “
...และทุกวันนี้ เป็นฝ่ายพุทธจักรวางมือเสีย ประการหนึ่งเข้าใจว่าศาสนา ถึงเพียงนี้ แล้ว (ไม่)เห็นจะบำรุงให้วัฒนาขึ้นได้ จึงมิได้ระวัง ระไว ว่ากล่าวกัน ให้เกิดมหาโจร ปล้นทำลายพระศาสนา ทั้งสมณะและสามเณร มิได้รักษาพระ จตุปาริสุทธิศีล ร่ำเรียน ธุระทั้งสอง ประการ แลชวนกันเที่ยวเข้าตลาด แลดูสีกา มีอาการกิริยานุ่งห่มเดินเหิน อย่างฆราวาส มิได้สำรวมรักษาอินทรีย์ มิได้เป็นที่ เลื่อมใส ศรัทธา แก่ทายก...
ฝ่ายภิกษุสามเณร บาป ลามก ครั้งคุ้นเคยกัน เข้ากับสีกาแล้ว ก็เข้าบ้านนอน บ้านผิด เพลาราตรี พูดจาสีการูปชีก็มีความเสน่หารักใคร่ ทั้งสองฝ่ายสัมผัสกาย กระทำเมถุนธรรม เป็นปาราชิก และลึงคเถรไถยสังวาส เป็นครุโทษ ห้ามบรรพชา อุปสมบท จะบวช มิได้เป็น ภิกษุสามเณรเลย...”
และอีกตอนหนึ่งว่า “บัดนี้ บัดนี้ให้พระราชาคณะ ฐานานุกรม สังฆการี ธรรมการ ราชบัณฑิตพร้อมกัน ชำระพระสงฆ์ ซึ่งเป็นอลัชชีภิกษุ พิจารณารับเป็นสัตย์ ให้พระราชทานผ้าขาว สึกออกเสียจากศาสนา เป็นคนร้อยยี่สิบแปด สักแขก เป็นไพร่หลวง ใช้ราชการ ให้หนัก หวังมิให้ดูเยื่องอย่างกัน...”
ดังนั้น ในปี พ.ศ. 2325 นั่นเอง พระองค์จึงได้โปรดเกล้าฯ ให้ออกกฎหมาย เกี่ยวกับ คณะสงฆ์ เป็นครั้งแรกและได้โปรดเกล้าฯ ให้ออกต่อๆ กันมาหลายปี มีจำนวน 10 ฉบับ เพื่อเป็นการปกครองคณะสงฆ์ ซึ่งไม่ขัดต่อพระธรรมวินัย และ กฎหมายของ บ้านเมือง ตลอดจนถึง ขนบธรรมเนียม ประเพณี ของสังคม ทั้งนี้ เพื่อกวดขัน ความ ประพฤติของพระสงฆ์ ชำระพระศาสนาให้บริสุทธิ์ และ เป็น มาตรการในการเข้ามา ควบคุม หรือลงโทษแก่ภิกษุสงฆ์ ที่ชอบประพฤติก้าวล่วง พระธรรมวินัยเป็นประจำ
กฎหมายพระสงฆ์ที่โปรดเกล้าฯ ให้ตราไว้มีอยู่ 10 ฉบับ (ออกมาต่างปีกัน) นั้นเป็น ลักษณะการประพฤติ ของพระสงฆ์เองที่ไม่เหมาะสม และรัชกาลที่ 1 ทรงตรา กฎหมายออกมาบังคับใช้
หากพิจารณาดูความผิดอะไรบ้างที่พระสงฆ์สามเณรในครั้งนั้น กระทำกันตามที่มี ปรากฏ ในกฎพระสงฆ์ ก็อาจสรุปได้ดังนี้
1. เมถุนปาราชิก
2. อทินนาทานปาราชิก
3. เกี้ยวพานสีกา
4. จับต้องกายหญิง
5. นอนให้สีกาพัดวี
6. เป็นทูตให้ฆราวาสใช้สอย
7. เป็นหมอนวด หมอยา
8. สงเคราะห์ฆราวาส
9. ดูลักษณะ ดูเคราะห์
10. เรียนรู้อิทธิฤทธิ์
11. เที่ยวร้านตลาดดูสีกา
12. นุ่งห่มเดินเหินกระด้างอย่างฆราวาส
13. เที่ยวดูโขน หนัง ละคร ฟ้อนรำ
14. เล่นหมากรุก สกา
15. คบคฤหัสถ์ชายหญิงเล่นเบี้ย
16. ผูกพันเรียกฆราวาสชายหญิงเป็นพ่อเป็นแม่ เคารพนอบอย่างทาส
17. ให้มงคลด้วยมงคลสูตร เป็นต้น แก่ฆราวาสเพื่อลาภ
18. เข้าบ้านนอนบ้านผิดเพลาราตรี...
ซึ่งลักษณะโทษบางอย่าง ที่เกิดขึ้นก็เป็นโทษ ที่ผิดหลักวินัยร้ายแรง เช่น อาบัติปาราชิก 2 ข้อต้นจัดว่าเป็นโทษที่ร้ายแรง ขาดจากความเป็นพระภิกษุ เมื่อต้อง ละเมิด ไป แต่ในข้อหาอื่นๆ ปรากฏว่าบางข้อเป็นอาบัติเล็กน้อย สำหรับพระภิกษุ เช่น การเป็นหมอนวด หมอยา หรือแม้กระทั่ง การเล่นหมากรุก สกา เหล่านี้ เป็น อาบัติเล็กน้อย แต่ในฐานะทางสังคมแล้ว รัชกาลที่ 1 ถือว่าเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจ อย่างยิ่ง และไม่สมควร ที่พระภิกษุจะประพฤติปฏิบัติตนเช่นนั้น แม้ธรรมวินัยได้ระบุ โทษไว้น้อยทำให้พระภิกษุในขณะนั้นกล้าล่วงละเมิด จึงจำเป็นที่รัชกาลที่ 1 อาศัยกฎหมายของบ้านเมือง ออกเป็นกฎข้อบังคับใช้
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ได้ทรงเอาภาระธุระในการศาสนา เป็นอย่างยิ่ง กฎหมายที่ใช้สำหรับพระสงฆ์นี้ ถือว่ามี บทลงโทษ ที่ไม่เฉพาะตัวผู้ กระทำผิดเท่านั้น แต่ยังให้ลงโทษ ผู้ที่เป็นบิดามารดาของพระภิกษุ ที่กระทำผิดนั้น ด้วย ดังกล่าวตาม ที่ปรากฏในกฎพระสงฆ์ สรุปได้ดังนี้
1. พระสงฆ์สามเณรใดไม่ประพฤติตามกฎหมายนี้ พระสงฆ์สามเณรนั้น พร้อมทั้งญาติโยม จะต้องเป็นโทษตามโทษานุโทษ
2. พระราชาคณะ เจ้าอธิการ ภิกษุสามเณร ฆราวาส สังฆการี ธรรมการใด ไม่ทำตามกฎหมายนี้ และละเลยไม่กำชับว่ากล่าวกัน ฝ่ายพระราชาคณะ ภิกษุสามเณร จะเอาญาติโยมเป็นโทษ ฝ่ายฆราวาสทั้งปวง จะต้องลงพระราชอาญา เฆี่ยนตามโทษานุโทษ
3. บิดามารดาคณาญาติของภิกษุสามเณรที่ ทำผิด รู้แล้วปกปิดความผิด ลูกหลานของตัว จะเอาเป็นโทษด้วย
4. พระราชาคณะและพระสงฆ์สามเณร ทั้งปวง ผู้ใดมิได้ระวังระไวตรวจตรา ว่ากล่าวกัน เป็นโทษเสมอ ด้วยสมคบพระสงฆ์สามเณร ที่กระทำความผิดนั้น
5. ภิกษุสามเณรใดเป็นปาราชิก ให้สึกเสียแล้วให้สักหน้า หมายไว้อย่าให้ ปลอมบวชชีต่อไป
6. ผู้เป็นปาราชิก แล้วปกปิดไว้ร่วมทำสังฆกรรม กับสงฆ์ ถ้าพิจารณาได้เป็น สัตย์ เป็นโทษถึงสิ้นชีวิต แล้วให้ริบราชบาตร ขับเฆี่ยนตี โบยญาติโยม จงหนัก
7. พระสงฆ์ใดเป็นปาราชิก แล้วปริวัติออกเสีย ทรงพระกรุณา หาเอาโทษไม่ ถ้าพระสงฆ์ปาราชิก แล้วปกปิดไว้ ร่วมทำสังฆกรรมกับสงฆ์ พิจารณารับเป็นสัตย์ จะเอาตัวเป็นโทษถึง 7 ชั่วโคตร แล้วให้ลงพระราช อาญา ญาติโยม พระราชาคณะ ฐานานุกรม เจ้าอธิการ อันดับ ซึ่งกระทำความผิด และละเมิดเสียมิได้ระวัง ตรวจตรากัน
มีข้อน่าสังเกตเกี่ยวกับบทลงโทษ ตามกฎสงฆ์นี้ คือ ผู้ที่จะต้องรับโทษ ในการทำผิดในกรณีนั้นๆ มิใช่เฉพาะตัวพระสงฆ์สามเณร ผู้กระทำผิดเท่านั้น แต่ว่า บุคคลอื่น ที่เกี่ยวข้อง กับผู้กระทำผิดจะต้องโทษด้วย กล่าวคือ ถ้าเป็นผู้ปกครอง หรือผู้บังคับบัญชา ก็ต้องมีโทษด้วย ฐานละเลย ไม่ระวังว่ากล่าวตักเตือน ถ้าเป็น ญาติพี่น้อง หรือผู้ร่วมสถานะเดียวกัน ก็ต้องมีโทษ ด้วย ฐานไม่ระวังระไวว่ากล่าวกัน ทั้งนี้คง ถือว่า ทุกคนมีส่วนรับผิดชอบในความ เสื่อมความเจริญ ของพระศาสนาด้วย
ที่มา https://www.posttoday.com/dhamma/351803
โดย...สมาน สุดโต วันที่ 08 มี.ค. 2558
|