พระราชบัญญัติลักษณะปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ. ๑๒๑ สมัยรัชกาลที่ ๕
พระราชบัญญัติ
ลักษณะปกครองคณะสงฆ์
มีพระบรมราชโองการ ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ดำรัสเหนือเกล้า ฯ ให้ประกาศจงทราบทั่วกันว่า
ทุกวันนี้ การปกครองข้างฝ่ายพระราชอาณาจักร ก็ได้ทรงพระราชดำริแก้ไข และจัดตั้งแบบแผน การปกครอง ให้เรียบร้อย เจริญดีขึ้นกว่าแต่ก่อน เป็นหลาย ประการแล้ว และฝ่ายพระพุทธจักรนั้น การปกครองสังฆมณฑล ย่อมเป็นการสำคัญ ทั้งในประโยชน์แห่งพระศาสนา และในประโยชน์ความเจริญของพระราชอาณาจักร ด้วย ถ้าการปกครอง สังฆมณฑล เป็นไปตามแบบแผนอันเรียบร้อย พระศาสนา ก็จะรุ่งเรืองถาวร และจะชักนำประชาชนทั้งหลาย ให้เลื่อมใส ศรัทธา ในพระพุทธศาสโนวาท ประพฤติสัมมาปฏิบัติและร่ำเรียนวิชาคุณ ในสงฆ์สำนัก ยิ่งขึ้น เป็นอันมาก
มีพระราชประสงฆ์จะทรงทำนุบำรุงสังฆมณฑล ให้เจริญคุณสมบัติมั่นคงสืบไป ในพระศาสนา จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ตราเป็นพระราชบัญญัติไว้สืบไป ดังนี้ว่า
หมวดที่ ๑
ว่าด้วยนามและกำหนดใช้พระราชบัญญัติ
มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้ให้มีนามว่า พระราชบัญญัติลักษณะปกครอง คณะสงฆ์ รัตนโกสินทรศก ๑๒๑ (๑) และพระราชบัญญัตินี้ จะโปรดให้ใช้ในมณฑล ใด เมื่อใด จะได้ประกาศในหนังสือพิมพ์ราชกิจจานุเบกษาเป็นสำคัญ
มาตรา ๒ ตั้งแต่วันที่ได้ใช้พระราชบัญญัตินี้ในที่ใด ให้ยกเลิกบรรดา กฎหมาย แบบแผนประเพณี ที่ขัดขวาง ต่อพระราชบัญญัตินี้ มิให้ใช้ในที่นั้นสืบไป
หมวดที่ ๒
ว่าด้วยคณะใหญ่
มาตรา ๓ พระราชบัญญัตินี้ไม่เกี่ยวด้วยนิกายสงฆ์ กิจและลัทธิเฉพาะในนิกายนั้นๆ ซึ่งเจ้าคณะหรือสังฆนายก ในนิกายนั้น ได้เคยมีอำนาจว่ากล่าวบังคับ มาแต่ก่อน ประการใด ก็ให้คงเป็นไปตามเคยทุกประการ แต่การปกครอง อันเป็นสามัญทั่วไป ในนิกายทั้งปวง ให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้ (๒)
มาตรา ๔ สมเด็จเจ้าคณะใหญ่ทั้ง ๔ ตำแหน่ง คือ เจ้าคณะใหญ่ คณะเหนือ ๑ เจ้าคณะใหญ่คณะใต้ ๑ เจ้าคณะใหญ่ คณะธรรมยุตกา ๑ เจ้าคณะใหญ่ คณะกลาง ๑ ทั้งพระราชาคณะเจ้าคณะรอง คณะเหนือ คณะใต้ คณะธรรมยุตกา คณะกลาง ทั้ง ๔ ตำแหน่งนั้น ยกเป็นพระมหาเถระที่ทรงปรึกษาในการพระศาสนา และการ ปกครองบำรุง สังฆมณฑลทั่วไป ข้อภารธุระในพระศาสนา หรือใน สังฆมณฑล ซึ่งได้โปรดให้พระมหาเถระทั้งนี้ ประชุมวินิจฉัย ในที่มหาเถรสมาคม ตั้งแต่ ๕ พระองค์ขึ้นไป คำตัดสินของมหาเถรสมาคมนั้น ให้เป็นสิทธิ์ขาด ผู้ใดจะอุทธรณ์ หรือโต้แย้งต่อไปอีกไม่ได้ (๓)
หมวดที่ ๓
ว่าด้วยวัด
มาตรา ๕ วัดกำหนดตามพระราชบัญญัตินี้ เป็น ๓ อย่าง คือ พระอารามหลวงอย่าง ๑ อารามราษฎร์อย่าง ๑ ที่สำนักสงฆ์อย่าง ๑
๑. พระอารามหลวง คือ วัดที่พระเจ้าแผ่นดินทรงสร้าง หรือทรงพระกรุณา โปรดให้เข้าจำนวนในบาญชี นับว่าเป็นพระอารามหลวง
๒. อารามราษฎร์นั้น คือ วัดซึ่งได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา แต่มิได้เข้า บาญชี นับว่าเป็นวัดหลวง
๓. ที่สำนักสงฆ์นั้น คือ วัดซึ่งยังไม่ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา
มาตรา ๖ ที่วัดและที่ขึ้นวัดนั้น จำแนก ตาม พระราชบัญญัตินี้เป็น ๓ อย่าง คือ ที่วัด ๑ ที่ธรณีสงฆ์ ๑ ที่กัลปนา ๑
๑. ที่วัดนั้น คือ ที่ซึ่งตั้งวัดจนตลอดเขตวัดนั้น เรียกว่าที่วัด
๒. ที่ธรณีสงฆ์นั้น คือ ที่แห่งใด ๆ ซึ่งเป็นสมบัติของวัด
๓. ที่กัลปนานั้น คือ ที่แห่งใด ๆ ซึ่งพระเจ้าแผ่นดิน ได้ทรงพระราชอุทิศ เงินอากร ค่าที่แห่งนั้นขึ้นวัดก็ดี หรือที่ซึ่งเจ้าของมิได้ถวายกรรมสิทธิ์ อุทิศแต่ ผลประโยชน์ อันเกิดแต่ที่นั้นขึ้นวัดก็ดี ที่เช่นนั้นเรียกว่า ที่กัลปนา
มาตรา ๗ ที่วัดก็ดี ที่ธรณีสงฆ์ก็ดี เป็นสมบัติสำหรับพระศาสนา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผู้เป็น อัครศาสนูปถัมภก ทรงปกครองรักษาโดย พระบรมราชานุภาพ ผู้ใดผู้หนึ่งจะโอนกรรมสิทธิ์นั้นไม่ได้ (๔)
มาตรา ๘ วัดใดร้างสงฆ์ไม่อาศัย (๕) ให้เจ้าพนักงานฝ่ายพระราช อาณาจักร เป็นผู้ปกครองรักษาวัด นั้น ทั้งที่ธรณีสงฆ์ ซึ่งขึ้นวัดนั้นด้วย
มาตรา ๙ ผู้ใดจะสร้างวัดขึ้นใหม่ ต้องได้รับพระราชทาน พระบรมราชานุญาต ก่อน จึงจะสร้างได้ และ พระบรมราชานุญาตนั้น จะพระราชทานดังนี้ คือ
ข้อ ๑ ผู้ใดจะสร้างที่สำนักสงฆ์ขึ้นใหม่ ในที่แห่งใด ให้ผู้นั้นมีจดหมาย แจ้งความต่อนายอำเภอ ผู้ปกครอง ท้องที่ แห่งนั้น ให้นายอำเภอปรึกษาด้วย เจ้าคณะแขวง นั้น ตรวจและพิเคราะห์ข้อความเหล่านี้ก่อน คือ
๑. ที่ดินซึ่งจะเป็นวัดนั้น ผู้ขออนุญาตมีอำนาจโดยชอบด้วยกฎหมาย ที่จะยกให้ได้หรือไม่ (๖)
๒. ถ้าสร้างวัดในที่นั้น จะเป็นความขัดข้องอันใดในราชการฝ่ายพระราช-อาณาจักรหรือไม่ (๗)
๓. วัดสร้างขึ้นในที่นั้นจะเป็นที่ควรสงฆ์อาศัยหรือไม่ (๘)
๔. สร้างวัดขึ้นในที่นั้น จะเป็นประโยชน์แก่ประชุมชนในท้องที่นั้นหรือไม่ (๙)
๕. วัดสร้างขึ้นในที่นั้น จะเสื่อมประโยชน์แห่งพระศาสนา ด้วยประการใด บ้าง เป็นต้นว่าจะพาให้วัด ที่มีอยู่แล้ว ร่วงโรยหรือร้างไปหรือไม่ (๑๐)
ถ้านายอำเภอและเจ้าคณะแขวง เห็นพร้อมกันว่า ไม่มีข้อขัดข้องอย่างใด อย่างหนึ่งใน ๕ ข้อนั้นแล้ว ก็พระราชทาน พระบรมราชานุญาตให้เจ้าคณะแขวง มีอำนาจที่จะทำหนังสืออนุญาตให้สร้างที่ สำนักสงฆ์ นั้นขึ้น และให้นายอำเภอ ประทับตรากำกับ ในหนังสือนั้นด้วย และเจ้าของที่ดินนั้นจะต้องจัดการโอนโฉนด เนื้อที่วัดถวายแก่สงฆ์ตามกฎหมายก่อน จึงจะสร้างที่สำนักสงฆ์ได้
ข้อ ๒ ในการที่จะขอรับพระราชทาน ที่วิสุงคามสีมา สำหรับอารามเดิม ที่ได้ก่อสร้างปฏิสังขรณ์ใหม่ก็ดี หรือจะสร้างที่ สำนักสงฆ์ขึ้นเป็นอารามก็ดี ให้ผู้ขอ ทำจดหมายยื่นต่อผู้ว่าราชการเมืองนั้น ๆ ให้มีใบบอก เข้ามากราบบังคมทูล ฯ ถ้าในจังหวัดกรุงเทพ ฯ ก็ให้ยื่นจดหมายนั้นต่อ กระทรวงธรรมการ ให้นำกราบ บังคมทูล ฯ เพื่อจะได้พระราชทาน ใบพระบรมราชานุญาต (๑๑)
ข้อ ๓ ถ้าจะสร้างอารามขึ้นใหม่ทีเดียว ต้องขออนุญาตอย่างสร้าง ที่สำนัก สงฆ์ก่อน ต่อได้อนุญาต นั้นแล้ว จึงจะขอรับพระราชทานที่วิสุงคามสีมาได้ (๑๒)
หมวดที่ ๔
ว่าด้วยเจ้าอาวาส
มาตรา ๑๐ วัดหนึ่งให้มีพระภิกษุเป็นเจ้าอาวาสรูปหนึ่ง การเลือกสรรและ ตั้งเจ้าอาวาสพระอารามหลวงนั้น แล้วแต่จะทรงพระราชดำริเห็นสมควร แม้อาราม ราษฎร์และ สำนักสงฆ์แห่งใด ถ้าทรงพระราชดำริ เห็นสมควร จะทรงเลือกสรร และตั้ง เจ้าอาวาสก็ได้ (๑๓)
มาตรา ๑๑ วัดในจังหวัดกรุงเทพ ฯ วัดหลวงก็ดี วัดราษฎร์ก็ดี ที่พระบาท สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ไม่ทรงเลือก และตั้งเจ้าอาวาส ให้เป็นหน้าที่ของพระราชา คณะผู้กำกับแขวง (๑๔) ที่วัดนั้นตั้งอยู่ จะปรึกษาสงฆ์และสัปปุรุษทายก แห่งวัดนั้น เลือกสรรพระภิกษุซึ่งสมควร จะเป็นเจ้าอาวาส ถ้าและพระราชาคณะนั้นเห็นว่า พระภิกษุรูปใดสมควร จะเป็นเจ้าอาวาส ก็ให้มีอำนาจที่จะทำตราตั้งพระภิกษุรูปนั้น เป็นเจ้าอาวาสวัดนั้น และตราตั้งนั้นต้องให้ผู้บัญชาการ กระทรวงธรรมการ ประทับตราเป็นสำคัญในฝ่ายพระราชอาณาจักรด้วย
มาตรา ๑๒ การเลือกสรรเจ้าอาวาสวัดในหัวเมือง ซึ่งพระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัว ไม่ทรงเลือก และตั้งเองนั้น ให้เป็นหน้าที่ของเจ้าคณะแขวง ที่จะ ปรึกษาสงฆ์ และสัปปุรุษทายก แห่งวัดนั้น เลือกสรรพระภิกษุซึ่งสมควร จะเป็น เจ้าอาวาส ถ้าปรึกษาเห็นพร้อมกันในพระภิกษุ รูปหนึ่งรูปใดก็ดี หรือเห็นแตกต่างกัน ในพระภิกษุหลายรูปก็ดี ให้เจ้าคณะแขวง นำความเสนอ ต่อเจ้าคณะเมือง ๆ เห็นว่า พระภิกษุรูปใดสมควรจะเป็นเจ้าอาวาส ก็ให้มีอำนาจ ที่จะทำตราตั้ง พระภิกษุรูปนั้น เป็นเจ้าอาวาสวัดนั้น และตราตั้งนั้นต้องให้ผู้ว่าราชการเมือง ประทับตราตำแหน่ง เป็นสำคัญ ในฝ่ายพระราชอาณาจักรด้วย
อนึ่ง เจ้าอาวาสทั้งปวงนั้น ถ้าไม่ได้อยู่ในสมณศักดิ์ที่สูงกว่า ก็ให้มีสมณศักดิ์ เป็นอธิการ (๑๕)
มาตรา ๑๓ เจ้าอาวาสมีหน้าที่ดังนี้ คือ
ข้อ ๑ ที่จะทำนุบำรุงรักษาวัดนั้น ตามกำลังและความสามารถ
ข้อ ๒ ที่จะตรวจตราอย่าให้วัดนั้นเป็นที่พำนักแอบแฝงของโจรผู้ร้าย
ข้อ ๓ ที่จะปกครองบรรพชิตและคฤหัสถ์ ซึ่งอาศัยอยู่ในวัดนั้น
ข้อ ๔ ที่จะรักษาความเรียบร้อยและระงับอธิกรณ์ ในหมู่บรรพชิต และ คฤหัสถ์ ซึ่งอาศัย อยู่ในวัดนั้น
ข้อ ๕ ที่จะเป็นธุระในการสั่งสอนพระศาสนาแก่บรรพชิต และคฤหัสถ์ ให้เจริญใน สัมมาปฏิบัติ ตามสมควร แก่อุปนิสัย
ข้อ ๖ ที่จะเป็นธุระให้กุลบุตรซึ่งอาศัยเป็นศิษย์อยู่ในวัดนั้น ได้ร่ำเรียน วิชาความรู้ตาม สมควร (๑๖)
ข้อ ๗ ที่จะเป็นธุระแก่สัปปุรุษและทายกผู้มาทำบุญในวัดนั้น ให้ได้บำเพ็ญ กุศลโดย สะดวก (๑๗)
ข้อ ๘ ที่จะทำบาญชีบรรพชิตและคฤหัสถ์ซึ่งอาศัยในวัดนั้น และทำ รายงาน การวัดยื่น ต่อ เจ้าคณะ (๑๘)
ข้อ ๙ ถ้าพระภิกษุสามเณรในวัดนั้นปรารถนา จะไปอยู่วัดอื่นก็ดี หรื อจะไป ทางไกลก็ดี เป็นหน้าที่ของเจ้าอาวาส จะต้องให้หนังสือสุทธิเป็นใบสำคัญ (๑๙) เว้นแต่ถ้าเจ้าอาวาสเห็นว่า ภิกษุสามเณรรูปใดจะไปเพื่อประพฤติ อนาจาร ในที่อื่น จะไม่ยอมให้หนังสือสุทธิก็ได้ แต่ต้องแจ้งเหตุให้พระภิกษุ หรือสามเณร รูปนั้น ทราบด้วย
มาตรา ๑๔ เป็นหน้าที่ของบรรพชิตและคฤหัสถ์บรรดา ซึ่งอาศัยในวัดนั้น จะต้องช่วย เจ้าอาวาสในการทั้งปวง อันเป็น ภาระของเจ้าอาวาสนั้น
มาตรา ๑๕ บรรดาพระภิกษุสามเณร ต้องมีสังกัดอยู่ในบาญชีวัดใด วัดหนึ่ง ทุกรูป
มาตรา ๑๖ คฤหัสถ์ซึ่งอาศัยอยู่ในวัด ย่อมมีหน้าที่และความรับผิดชอบต่อ พระราชกำหนด กฎหมาย (๒๐) เหมือนพลเมือง ทั้งปวง
มาตรา ๑๗ เจ้าอาวาสมีอำนาจเหล่านี้ คือ
ข้อ ๑ มีอำนาจที่จะบังคับว่ากล่าวบรรดาบรรพชิต และคฤหัสถ์ ซึ่งอยู่ ในวัดนั้น
ข้อ ๒ อธิกรณ์เกิดขึ้นในวัดใด ถ้าเป็นความตามลำพังพระวินัย เจ้าอาวาส วัดนั้น มีอำนาจที่จะพิพากษาได้ ถ้าเป็นความแพ่ง แม้คู่ความทั้งสองฝ่ายยอมให้เจ้า อาวาส เปรียบเทียบ ก็เปรียบเทียบได้
ข้อ ๓ บรรพชิตก็ดี คฤหัสถ์ก็ดี ถ้ามิได้รับอนุญาตของเจ้าอาวาส จะเข้าไป บวช หรือ ไปอยู่ในวัดนั้นไม่ได้ (๒๑)
ข้อ ๔ บรรพชิตก็ดี คฤหัสถ์ก็ดี ที่อยู่ในวัดนั้น ถ้าไม่อยู่ในโอวาทของ เจ้าอาวาส ๆ จะไม่ให้อยู่ในวัดนั้นก็ได้ (๒๒)
ข้อ ๕ ถ้าเจ้าอาวาสบังคับการอันชอบด้วยพระวินัยบัญญัติ หรือ พระราชบัญญัติ และ พระภิกษุสามเณรในวัดนั้น ไม่กระทำตามก็ดี หรือฝ่าฝืนคำสั่ง หมิ่นประมาทเจ้าอาวาส ก็ดี เจ้าอาวาสมีอำนาจที่จะกระทำทัณฑกรรม (๒๓) แก่ พระภิกษุสามเณรผู้มีความผิดนั้นได้
ข้อ ๖ ถ้าเจ้าอาวาสกระทำการตามหน้าที่ โดยชอบด้วยพระราชกำหนด กฎหมาย ถ้าและคฤหัสถ์ผู้ใดขัดขืน หรือลบล้างอำนาจหรือหมิ่นประมาทเจ้าอาวาส ผู้นั้นมีความผิด ต้องระวางโทษปรับครั้งหนึ่ง เป็นเงินไม่เกิน ๒๐ บาท หรือจำขัง เดือนหนึ่ง หรือทั้งปรับและจำ ด้วยทั้ง ๒ สถาน (๒๔)
มาตรา ๑๘ ผู้ใดจะอุทธรณ์คำสั่งของเจ้าอาวาส ถ้าวัดในจังหวัดกรุงเทพฯ ให้อุทธรณ์ ต่อพระราชาคณะผู้กำกับแขวง ถ้าวัดในหัวเมือง ให้อุทธรณ์ต่อเจ้า คณะแขวง
มาตรา ๑๙ วัดใดจำนวนสงฆ์มากก็ดี หรือเจ้าอาวาสวัด ไม่สามารถ จะ กระทำ การตามหน้าที่ ได้ทุกอย่าง ด้วยความชรา ทุพพลภาพ เป็นต้นก็ดี ในจังหวัด กรุงเทพฯ เมื่อพระราชาคณะผู้กำกับ แขวง เห็นสมควรจะตั้งพระภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง เป็นรองเจ้าอาวาส สำหรับรับภาระทั้งปวง หรือ แต่อย่างใดอย่างหนึ่งช่วยเจ้าอาวาส ก็ตั้งรองเจ้าอาวาสได้ รองเจ้าอาวาส มีอำนาจได้เท่าที่ พระราชาคณะซึ่งกำกับ แขวงได้มอบนั้น แต่จะมีอำนาจเกินเจ้าอาวาส หรือกระทำการฝ่าฝืนอนุมัติ ของเจ้าอาวาสไม่ได้ ส่วนวัดในหัวเมือง ก็ให้เป็นอำนาจและหน้าที่ของเจ้าคณะเมือง จะตั้ง รองเจ้าอาวาส เป็นผู้ช่วย เจ้าอาวาส ได้เหมือนเช่นนั้น (๒๕) รองเจ้าอาวาสนี้ ถ้าไม่ได้อยู่ใน สมณศักดิ์ที่สูงกว่า ให้มีสมณศักดิ์เป็นรองอธิการ
หมวดที่ ๕
ว่าด้วยคณะแขวง
มาตรา ๒๐ ในท้องที่อำเภอหนึ่ง ให้กำหนดตามพระราชบัญญัตินี้ เป็น แขวงหนึ่ง ในจังหวัด กรุงเทพฯ จะโปรดให้ พระราชาคณะ เป็นผู้กำกับคณะแขวง ละรูป ส่วนท้องที่ในหัวเมืองนอก จังหวัด กรุงเทพฯ นั้น แขวงหนึ่ง ให้มีเจ้าคณะ แขวง รูปนึ่ง แต่ถ้าแขวงใดมีวัดน้อย จะรวม หลายแขวงไว้ในหน้าที่เจ้าคณะแขวงใด แขวงหนึ่งก็ได้ ทั้งนี้ แล้วแต่เจ้าคณะมณฑล จะเห็นสมควร
มาตรา ๒๑ พระราชาคณะผู้กำกับแขวง ในจังหวัดกรุงเทพฯ นี้ จะโปรด ให้ พระราชาคณะ รูปใด เป็นผู้กำกับ คณะแขวงใด แล้วแต่จะทรงพระราชดำริ เห็นสมควร
ส่วนการเลือกตั้งเจ้าคณะแขวงในหัวเมืองนั้น เป็นหน้าที่เจ้าคณะเมือง จะเลือก รรเจ้า อาวาสวัดซึ่งอยู่ในแขวงนั้น เสนอต่อเจ้าคณะมณฑล แล้วแต่เจ้าคณะมณฑล จะเห็นสมควร และให้เจ้าคณะมณฑลมีอำนาจที่จะทำ ตราตั้ง เจ้าคณะแขวง และ ตราตั้งนั้นต้องให้ข้าหลวงใหญ่ (๒๖) ซึ่งสำเร็จราชการมณฑลประทับตรากำกับ เป็นสำคัญ ข้างฝ่ายพระราชอาณาจักร ด้วย อนึ่ง เจ้าคณะแขวงนี้ ถ้าไม่ได้อยู่ใน สมณศักดิ์ที่สูงกว่า ให้มีสมณศักดิ์เป็นพระครู ถ้าทรงพระราชดำริ เห็นสมควร จะทรงเลือกสรรหรือจะพระราชทานสัญญาบัตรราชทินนาม ตั้งเจ้าคณะแขวงให้มี สมณศักดิ์ยิ่งขึ้นไปก็ได้ (๒๗)
มาตรา ๒๒ บรรดาวัดในจังหวัดกรุงเทพฯ อยู่ในแขวงใด ให้ขึ้นอยู่ใน พระราชาคณะ ผู้กำกับ แขวงนั้น ส่วนวัด ในหัวเมือง วัดอยู่ในแขวงใด ก็ให้ ขึ้นอยู่ใน เจ้าคณะแขวงนั้น เว้นแต่วัดทั้งใน กรุงเทพฯ และในหัวเมือง ที่โปรดให้ขึ้นอยู่ เฉพาะคณะ หรือเฉพาะพระราชาคณะรูปใดรูปหนึ่ง ซึ่งทรงพระราชดำริเห็นสมควร (๒๘)
มาตรา ๒๓ ให้พระราชาคณะผู้กำกับ แขวงในจังหวัดกรุงเทพ ฯ มีฐานานุศักดิ์ ตั้ง ฐานานุกรม ตำแหน่ง พระสังฆรักษ์ ได้อีกรูปหนึ่ง เว้นแต่ถ้าพระราชาคณะรูปนั้น มีฐานานุศักดิ์ ควรตั้งฐานานุกรมเกิน ๓ รูป อยู่แล้ว ก็ไม่ต้องตั้ง
มาตรา ๒๔ พระราชาคณะผู้กำกับ แขวงมีหน้าที่ดังนี้ คือ
ข้อ ๑ ที่จะตรวจตราอำนวยการวัด และการสงฆ์ (๒๙) บรรดา ซึ่งอยู่ใน ปกครอง ให้เรียบร้อย เป็นไปตาม พระวินัยบัญญัติ และพระราชบัญญัตินี้
ข้อ ๒ ที่จะเลือกและตั้งรองเจ้าคณะแขวง (๓๐) เจ้าอาวาสและรองเจ้า อาวาส อันมี อำนาจ เลือกตั้งได้ ตามพระราชบัญญัตินี้
ข้อ ๓ ที่จะตรวจตราทำนุบำรุงการสั่งสอนพระศาสนา และการศึกษาในวัด ซึ่งอยู่ใน ความปกครอง
ข้อ ๔ ที่จะไปดูแลตรวจตราการตามวัดขึ้นในแขวงนั้น เป็นครั้งเป็นคราว ตามสมควร
ข้อ ๕ ที่จะช่วยระงับอธิกรณ์แก้ไขความขัดข้องของเจ้าอาวาส และ วินิจฉัย ข้ออุทธรณ์ เจ้าอาวาส
มาตรา ๒๕ พระราชาคณะผู้กำกับแขวง ในจังหวัดกรุงเทพฯ มีอำนาจดังนี้ คือ
ข้อ ๑ รองเจ้าคณะแขวงก็ดี เจ้าอาวาสก็ดี รองเจ้าอาวาสก็ดี ที่พระราชาคณะนั้น ตั้งได้ ตามพระราชบัญญัตินี้ แม้ไม่สมควรจะอยู่ในตำแหน่งต่อไป เพราะความประพฤติก็ดี เพราะไม่ สามารถก็ดี พระราชาคณะผู้กำกับแขวงมีอำนาจ ที่จะเอาออกจากตำแหน่งได้
ข้อ ๒ มีอำนาจที่จะตัดสินข้ออุทธรณ์ หรือการเกี่ยงแย่งในคำสั่ง และคำ วินิจฉัยของ เจ้าอาวาสวัดขึ้นในแขวงนี้
ข้อ ๓ มีอำนาจที่จะบังคับว่ากล่าวพระภิกษุสามเณรในวัด ซึ่งขึ้นอยู่ใน แขวงนั้นในกิจ อันชอบด้วยพระวินัยบัญญัติ และพระราชบัญญัติ
มาตรา ๒๖ พระครูเจ้าคณะแขวงหัวเมือง มีหน้าที่ดังนี้ คือ
ข้อ ๑ ที่จะตรวจตราอำนวยการวัด และการสงฆ์ บรรดาที่อยู่ในปกครอง ให้เรียบร้อย เป็นไปตามพระวินัยบัญญัติ และพระราชบัญญัติ
ข้อ ๒ ที่จะเลือกเจ้าอาวาสและรองเจ้าอาวาส ตามความในพระราชบัญญัติ นี้
ข้อ ๓ ที่จะตรวจตราทำจะบำรุงการสั่งสอนพระศาสนา และการศึกษา ในวัด ซึ่งอยู่ ในปกครอง
ข้อ ๔ ที่จะไปดูแลตรวจตราตามวัดขึ้นในแขวงนั้น เป็นครั้งเป็นคราว ตามสมควร
ข้อ ๕ ที่จะช่วยแก้ไขความขัดข้องของเจ้าอาวาส และวินิจฉัยข้ออุทธรณ์ คำสั่ง ของ เจ้าอาวาส
ข้อ ๖ ถ้าเกิดเหตุหรืออธิกรณ์อย่างใดในการวัด หรือการสงฆ์ในแขวง นั้น อันเหลือกำลังที่จะระงับได้ ก็ให้รีบนำความเสนอต่อเจ้าคณะเมือง
มาตรา ๒๗ เจ้าคณะแขวงมีอำนาจดังนี้ คือ
ข้อ ๑ มีอำนาจที่จะตัดสินข้ออุทธรณ์ หรือการเกี่ยงแย่งในคำสั่ง และคำ วินิจฉัยของ เจ้าอาวาสวัดขึ้น ในแขวงนั้น
ข้อ ๒ มีอำนาจที่จะบังคับว่ากล่าวพระภิกษุสามเณร ตลอดท้องที่แขวงนั้น ในกิจ อันชอบ ด้วยพระวินัยบัญญัติ และพระราชบัญญัติ
มาตรา ๒๘ เจ้าคณะแขวงมีฐานานุศักดิ์ ตั้งฐานานุกรมผู้ช่วยการคณะ ได้ ๒ รูปคือพระสมุห์ ๑ พระใบฎีกา ๑ ถ้าเจ้าคณะแขวงนั้น ได้รับพระราชทาน สัญญาบัตร เป็นพระครูราชทินนาม ตั้งพระปลัดได้อีกรูป ๑
มาตรา ๒๙ แขวงใดในจังหวัดกรุงเทพฯ ก็ดี ในหัวเมืองก็ดี มีวัดมาก ระราชา คณะผู้กำกับ แขวง ในจังหวัดกรุงเทพฯ หรือเจ้าคณะเมืองนั้น เห็นสมควร จะมี ผู้ช่วยตรวจตรา การอยู่ประจำ ท้องแขวง จะตั้งเจ้าอาวาสวัดใดวัดหนึ่ง ในแขวงนั้น ให้เป็นรองเจ้าคณะแขวงกำกับ ตรวจตรา การวัด ในตำบลหนึ่ง หรือ หลายตำบลก็ได้ และในจำนวนแขวงหนึ่ง จะมีรอง เจ้าคณะแขวง กี่รูป ก็ได้ตามสมควร แต่รองเจ้า คณะแขวงรูปหนึ่ง ต้องมีจำนวนวัดอยู่ในหมวดนั้น ไม่น้อยกว่า ๕ วัดจึงควรตั้ง (๓๑) และรองเจ้าคณะแขวงมีหน้าที่ฟังคำสั่ง และ เป็นผู้ช่วยเจ้าคณะแขวง อนึ่ง รองเจ้าคณะแขวง นั้น ถ้าไม่ได้อยู่ในสมณศักดิ์ ที่สูงกว่า ให้มีสมณศักดิ์เป็นเจ้าอธิการ
หมวดที่ ๖
ว่าด้วยคณะเมือง
มาตรา ๓๐ หัวเมืองหนึ่ง ให้มีพระราชาคณะ หรือพระครูเป็นเจ้าคณะ เมืองรูป ๑ การเลือกสรรและตั้ง ตำแหน่งเจ้าคณะ เมืองนี้ แล้วแต่จะทรงพระราชดำริ เห็นสมควร (๓๒)
มาตรา ๓๑ เจ้าคณะเมืองมีหน้าที่ดังนี้ คือ
ข้อ ๑ ที่จะตรวจตราอำนวยการวัด และการสงฆ์บรรดาอยู่ในเขตเมืองนั้น ให้เรียบร้อย เป็นไปตามพระวินัย บัญญัติ และพระราชบัญญัติ
ข้อ ๒ ที่จะตั้งรองเจ้าคณะแขวง เจ้าอาวาส และรองเจ้าอาวาสวัดในเขต เมืองนั้น ซึ่งมี อำนาจตั้งได้ตาม พระราชบัญญัตินี้
ข้อ ๓ ที่จะตรวจตราทำนุบำรุงการสั่งสอนพระศาสนา และการศึกษาใน บรรดาวัดในเขต เมืองนั้น
ข้อ ๔ ที่จะช่วยแก้ไขความขัดข้องของเจ้าคณะแขวงและระงับอธิกรณ์ วินิจฉัยข้ออุทธรณ์ คำสั่งและคำ วินิจฉัย ของเจ้าคณะแขวงในเมืองนั้น
ข้อ ๕ ที่จะเลือกเจ้าอาวาสซึ่งสมควรเป็นเจ้าคณะแขวง เสนอต่อเจ้าคณะ มณฑล
มาตรา ๓๒ เจ้าคณะเมืองมีอำนาจดังนี้ คือ
ข้อ ๑ มีอำนาจที่จะบังคับบัญชา ว่ากล่าวสงฆมณฑล ตลอดเมืองนั้น ในกิจอันชอบ ด้วย พระวินัยบัญญัติและ พระราชบัญญัติ
ข้อ ๒ รองเจ้าคณะแขวงก็ดี เจ้าอาวาสก็ดี รองเจ้าอาวาสก็ดี ซึ่งเจ้า คณะเมืองตั้งได้ตาม พระราชบัญญัตินี้ ถ้าไม่สมควรจะคงอยู่ในตำแหน่งต่อไป เพราะความประพฤติก็ดี หรือเพราะขาด ความสามารถก็ดีเจ้าคณะเมืองมีอำนาจ ที่จะเอาออกจากตำแหน่งได้
ข้อ ๓ มีอำนาจที่จะตัดสินข้ออุทธรณ์คำสั่งหรือ คำวินิจฉัยของเจ้า คณะแขวง
มาตรา ๓๓ เจ้าคณะเมืองมีฐานานุศักดิ์ ตั้งฐานานุกรมได้ ๕ รูป คือ พระปลัด ๑ พระวินัยธร ๑ พระวินัยธรรม ๑ พระสมุห์ ๑ พระใบฎีกา ๑ สำหรับช่วยในการคณะ
มาตรา ๓๔ หัวเมืองใดมีกิจภาระมาก จะทรงพระกรุณาโปรดตั้งพระครู เจ้าคณะ รองเป็นผู้ช่วย เจ้าคณะเมืองรูป ๑ หรือหลายรูป ตามแต่จะทรงพระราชดำริ เห็นสมควร
หมวดที่ ๗
ว่าด้วยคณะมณฑล
มาตรา ๓๕ หัวเมืองมณฑล ๑ จะทรงพระกรุณาโปรดให้พระราชาคณะผู้ใหญ่ เป็นเจ้าคณะมณฑลรูป ๑ พระราชาคณะรูปใดควร จะเป็นเจ้าคณะมณฑลไหนนั้น แล้วแต่จะทรงพระราชดำริเห็นสมควร
มาตรา ๓๖ ถ้ามณฑลใดมีกิจภาระมาก จะทรงพระกรุณาโปรดให้มี พระราชาคณะ เป็นเจ้าคณะ รองผู้ช่วยภาระ มณฑลนั้น อีกรูป ๑ หรือหลายรูป ทั้งนี้แล้ว แต่จะทรงพระราชดำริเห็นสมควร
มาตรา ๓๗ เจ้าคณะมณฑลมีหน้าที่ดังนี้ คือ
ข้อ ๑ ที่จะรับพระบรมราชานุมัติไปจัดการทำนุบำรุงพระศาสนา และ บำรุงการศึกษา ตามวัดในมณฑลนั้น ให้เจริญรุ่งเรืองตามพระราชประสงค์
ข้อ ๒ ที่จะออกไปตรวจตราการคณะสงฆ์ และการศึกษาในมณฑลนั้น ๆ บ้างเป็นครั้งคราว (๓๓)
ข้อ ๓ ที่จะตั้งพระครูเจ้าคณะแขวงตามหัวเมืองในมณฑลนั้น บรรดาซึ่ง มิได้รับ พระราชทานสัญญาบัตร
ข้อ ๔ ที่จะช่วยแก้ไขความขัดข้องของเจ้าคณะเมืองในมณฑลนั้น
มาตรา ๓๘ เจ้าคณะมณฑลมีอำนาจดังนี้ คือ
ข้อ ๑ มีอำนาจที่จะบังคับบัญชาพระภิกษุสามเณรทั่วทั้งมณฑลนั้น ในกิจ อันชอบด้วย พระวินัยบัญญัติ และพระราชบัญญัติ
ข้อ ๒ ที่จะมอบอำนาจให้เจ้าคณะรองออกไปตรวจจัดการ ในมณฑลได้ ตามเห็นสมควร จะให้มีอำนาจเท่าใด แต่มิให้เกินแก่อำนาจและฝ่าฝืนอนุมัติของ เจ้าคณะมณฑล
ข้อ ๓ ผู้มีตำแหน่งสมณศักดิ์ชั้นใด ๆ ในมณฑลนั้น นอกจากที่ได้รับ พระราชทาน สัญญาบัตรแล้ว ถ้าไม่สมควร จะอยู่ในตำแหน่ง เพราะความประพฤติ ก็ดี เพราะขาดความสามารถก็ดี เจ้าคณะมณฑลมีอำนาจ ที่จะเอาออกจากตำแหน่ง ได้
ข้อ ๔ เจ้าคณะมณฑลมีอำนาจที่จะตัดสินข้ออุทธรณ์ คำสั่งหรือคำวินิจฉัย ของเจ้าคณะเมือง
มาตรา ๓๙ เจ้าคณะมณฑลมีฐานานุศักดิ์ ตั้งฐานานุกรมได้ ๖ รูป คือ พระครูปลัด ๑ พระครูวินัยธร ๑ พระครูวินัยธรรม ๑ พระสังฆรักษ์ ๑ พระสมุห์ ๑ พระใบฎีกา ๑ แต่ถ้าในฐานานุศักดิ์เดิม มีตำแหน่งใดแล้ว ไม่ต้องตั้งตำแหน่งนั้น
หมวดที่ ๘
ว่าด้วยอำนาจ
มาตรา ๔๐ เป็นหน้าที่ของเจ้ากระทรวง ธรรมการ และเจ้าพนักงาน ผู้ปกครอง ท้องที่ จะช่วยอุดหนุน เจ้าคณะให้ได้กำลัง และอำนาจพอที่จะจัดการ ให้เป็นไปตาม พระราชบัญญัตินี้
มาตรา ๔๑ พระภิกษุสามเณร ต้องฟังบังคับบัญชาเจ้าคณะ ซึ่งตน อยู่ในความ ปกครอง ตามพระราชบัญญัตินี้ ถ้าไม่ฟังบังคับบัญชา หรือหมิ่นละเมิดต่อ อำนาจ เจ้าคณะ มีความผิด เจ้าคณะมีอำนาจที่จะทำทัณฑกรรมได้
มาตรา ๔๒ ถ้าเจ้าคณะกระทำการ ตามหน้าที่ในพระราชบัญญัติ และคฤหัสถ์ ผู้ใดลบล้าง ขัดขืน ต่ออำนาจเจ้าคณะ ผู้นั้นมีความผิดต้องระวางโทษ ฐานขัดอำนาจ เจ้าพนักงาน
มาตรา ๔๓ คดีที่จำเลยเป็นเจ้าอาวาสก็ดี หรือเป็นคดีอุทธรณ์คำตัดสิน หรือ คำสั่ง ของ เจ้าอาวาสก็ดี หรือจำเลยเป็นรองเจ้าคณะแขวง หรือเป็นฐานานุกรม ของเจ้าคณะแขวงก็ดี หรือ อุทธรณ์คำสั่งรองเจ้าคณะแขวง หรือฐานานุกรมเจ้าคณะ แขวงก็ดี ถ้าข้อวินิจฉัยคดีนั้น อยู่ในลำพัง พระวินัยบัญญัติ หรือในการบังคับบัญชา ตามพระราชบัญญัตินี้ คดีเกิดขึ้นในแขวงใด ให้เจ้าคณะแขวงนั้น มีอำนาจที่จะ ตัดสินคดีนั้นได้
คดีเช่นนั้น ถ้าจำเลยหรือผู้ต้องอุทธรณ์เป็นเจ้าคณะแขวง หรือ รองเจ้า คณะ เมือง หรือ ฐานานุกรม เจ้าคณะหัวเมืองใด ให้เจ้าคณะเมืองนั้นมีอำนาจ ที่จะตัดสิน ได้ ถ้าจำเลย หรือ ผู้ต้องอุทธรณ์ เป็นเจ้าคณะเมือง หรือรองเจ้าคณะ มณฑล หรือ ฐานานุกรมของเจ้าคณะมณฑล ของรองเจ้าคณะมณฑลใด ให้เจ้าคณะ มณฑลนั้น มีอำนาจตัดสินได้ ถ้าจำเลยหรือผู้ต้องอุทธรณ์ เป็นเจ้าคณะมณฑล หรือเป็นพระราชา คณะผู้กำกับแขวง ให้โจทก์หรือผู้อุทธรณ์ทำฎีกายื่นต่อ กระทรวงธรรมการ ให้นำความกราบบังคมทูลพระกรุณา (๓๔)
มาตรา ๔๔ พระราชาคณะหรือสังฆนายก ซึ่งโปรดให้ปกครองคณะพิเศษ นอกจาก ที่ได้กล่าวมา ในพระราชบัญญัตินี้ เช่น พระราชาคณะซึ่งได้ว่า กล่าววัด ในจังหวัดกรุงเทพฯ หลายวัด (๓๕) แต่มิได้กำกับเป็นแขวงเป็นต้นก็ดี มีอำนาจและ หน้าที่ ในการปกครองวัดขึ้น เหมือนพระราชาคณะผู้กำกับแขวงฉะนั้น
มาตรา ๔๕ ให้เป็นหน้าที่เสนาบดีกระทรวงธรรมการ ที่จะรักษาการ ให้เป็นไป ตามพระราชบัญญัตินี้
ประกาศมา ณ วันที่ ๑๖ มิถุนายน รัตนโกสินทรศก ๑๒๑ เป็นวันที่ ๑๒๒๗๐ ในรัชกาลปัจจุบันนี้
บันทึก
เรื่องพระราชบัญญัติลักษณะปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ. ๑๒๑
“ภิกษุสงฆ์ แม้มีพระวินัยเป็นกฎหมาย สำหรับตัวอยู่ส่วนหนึ่งแล้ว ก็ยังจะต้อง อยู่ในใต้อำนาจ แห่งกฎหมายฝ่ายอาณาจักรอีกส่วนหนึ่ง ซึ่งตราไว้เฉพาะ หรือ เพื่อคน ทั่วไป และยังควรอนุวัต จารีต ของบ้านเมือง อันไม้ขัดต่อกฎหมาย สองประเภท นั้นอีก
สรุปความ ภิกษุสงฆ์มีกฎหมายอันจะพึงฟังอยู่ ๓ ประเภท คือ กฎหมาย แผ่นดิน ๑ พระวินัย ๑ จารีต ๑
พระราชบัญญัตินี้ เป็นกฎหมายแผ่นดินจึงสมควรจะรู้จะเข้าใจ และปฏิบัติให้ ถูกต้อง”
บทความข้างต้นนี้ เป็นพระนิพนธ์ของ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยา วชิรญาณ วโรรส ซึ่งได้ทรงนิพนธ์ ไว้ในตอนท้าย แห่ง แถลงการณ์คณะสงฆ์ ก่อนหน้าพระราช บัญญัติ ลักษณะ ปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ. ๑๒๑ เมื่อวันที่ ๑๕ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๕๗
อนึ่ง บทความเชิงอรรถใต้มาตราต่าง ๆ แห่งพระราชบัญญัติ ลักษณะปกครอง คณะสงฆ์ ร.ศ. ๑๒๑ ข้างท้ายบันทึกนี้ ก็เป็นพระนิพนธ์ของ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส
เช่นเดียวกัน
(๑) พุทธศักราช ๒๔๔๕
(๒) หมายเอาคณะธรรมยุตกา ที่เคยได้พระบรมราชานุญาตให้ปกครอง กัน ตามลำพัง แลวัด ในกรุงอันยังแยกขึ้นก้าวก่าย ในคณะ นั้น ๆ ฯ การปกครองสามัญ ทั่วไปในนิกายทั้งปวงนั้น เช่น หน้าที่แลอำนาจเจ้า-อาวาส เป็นตัวอย่าง ฯ
(๓) ในเวลาตั้งพระราชบัญญัตินี้ ว่างสมเด็จพระมหาสมณะ หรือสมเด็จ พระสังฆราช มีแต่เจ้า คณะใหญ่ ๔ รูป เจ้าคณะรอง ๔ รูป คณะใหญ่ทั้ง ๔ นั้นต่างมิได้ขึ้นแก่กัน เมื่อมีกิจ อันจะพึงทำ ร่วมกัน เสนาบดีกระทรวงธรรมการ รับพระบรมราชโองการสั่ง ฯ เจ้าคณะ รูปใด มีสมณศักดิ์สูง เสนาบดี ก็พูดทาง เจ้าคณะรูปนั้น ๆ เป็นการกในการประชุม ในครั้งนั้น ข้าพเจ้า เป็นการก ฯ ในแผ่นดินปัตยุบัน โปรดให้ข้าพเจ้าเป็นผู้บัญชาการคณะสงฆ์ได้ทั่วไป การประชุม ตาม พระราชบัญญัตินี้ ก็ชื่อว่าเป็นอันงดชั่วคราวโดยนัย หรือกล่าวอีกโวหาร หนึ่งว่า ยังไม่ถึงคราวเรียก ประชุมตามพระราชบัญญัติ ตลอดเวลาที่ข้าพเจ้ายังบัญชาการอยู่ ข้าพเจ้าปรารถนา จะให้มหาเถร สมาคม คงมียืนอยู่ด้วยประการหนึ่ง จึงยังคง เรียกประชุม แลบัญชากิจการอันจะพึงทำเป็นการสงฆ์ ในที่ประชุมนั้น ฯ เจ้าคณะใหญ่ ชราโดยมาก มาได้บ้าง มาไม่ได้บ้าง เจ้าคณะรองเป็น ผู้บัญชาการ คณะมณฑล ทั้งนั้นว่างบ้างก็มี บางคราวไม่ครบกำหนด สงฆ์ปัญจวรรค ที่เป็นองค์ ของสมาคมในพระราชบัญญัติ จึงเรียกพระราชา คณะชั้น ธรรมเข้าเพิ่มด้วย นี้ประชุมโดยปกติอย่าง ๑ เรียกเจ้า คณะมณฑล หรือคณาจารย์เอก เข้าประชุม ด้วยก็มี นี้เป็นประชุมพิเศษอย่าง ๑ ฯ
(๔) ไม่ใช่ห้ามเด็ดขาดทีเดียว เคยพระราชทานพระบรมราชานุญาต ให้โอนได้ ก็มี แปลว่า ทำตามลำพังไม่ได้ ต้องขอพระราชทาน พระบรมราชานุญาต
(๕) ร้างตามลำพัง หรือมีรูปเดียวหรือน้อยรูป เจ้าคณะเห็นไม่สมควรจะตั้ง สั่งถอนไป เข้ากับ วัดอื่นเสีย ฯ
(๖) ผู้สร้างจะยกที่ดินตำบลใดเป็นวัด ต้องเป็นผู้มีกรรมสิทธิ์เป็นเจ้าของ ที่ดิน นั้น หรือมี กรรมสิทธิ์ เพื่อจะทำได้ฯ
(๗) ที่ขัดข้องแก่ราชการนั้น เช่นได้กะไว้ว่าจะตัดถนนหรือจะสร้าง ที่ทำการ รัฐบาล เป็นตัวอย่าง ฯ
(๘) ที่สงฆ์ไม่ควรอาศัยนั้น เช่นอยู่ในตำบลที่ตั้งแห่งคนถือศาสนาอื่น เป็นอันมาก มีคนถือ พระพุทธศาสนาน้อยไม่พอจะบำรุง อยู่ในตำบลที่มากไป ด้วยอโคจร เช่น เป็นถิ่นของ หญิงแพศยา หรือใกล้โรงสุรายาฝิ่น หรืออยู่ในตำบล อันกันดารเกินไป ฯ
(๙) ถ้าตั้งขึ้นในหมู่คนศาสนาอื่น ถือศาสนาอื่น หาเป็นประโยชน์แก่ประชุมชน ในท้องที่ นั้น ไม่ ตั้งในหมู่คนถือพระพุทธศาสนา จึงเป็นประโยชน์
(๑๐) ในตำบลเดียว ชาวบ้านมีกำลังพอจะบำรุงได้วัดหนึ่ง ตั้งขึ้นอีก วัดหนึ่ง ชาวบ้าน แยกกัน ออกเป็นทายกของวัดนั้นบ้าง ของวัดนี้บ้าง วัดตั้งใหม่ ถ้าแข็งแรง ชักเอาทายกมา ได้มาก ก็ทำวัดเดิม ร่วงโรย ถ้าไม่แข็งแรงก็ร่วงโรยเอง เว้นไว้แต่ตั้งขึ้นในตำบลที่ห่าง ชาวบ้านไปมา ไม่ถึงกัน หรือต้องไปทำบุญไกล ฯ
(๑๑) เดิมเจ้าวัดกับทายกผู้สร้างหรือปฏิสังขรณ์ เป็นผู้เข้าชื่อขอพระราชทาน มาบัดนี้ (ศก ๒๔๕๗) จัดให้เป็นหน้าที่ ของเจ้าคณะ มณฑล กับเจ้าคณะเมือง จะขอเองฯ
(๑๒) เป็นธรรมเนียมที่ต้องรอกว่าจะเห็นว่า สำนักสงฆ์นั้น ตั้งติดและเป็น หลักฐาน พอจึงขอ ฯ
(๑๓) ทรงตั้งเจ้าอาวาสแห่งอารามราษฎร์ นั้น พึงเห็นเช่นพระราชทาน สัญญาบัตร ตั้งให้ เป็นพระครูเจ้าอาวาส มีสมณศักดิ์ต่ำกว่า พระครูเจ้าอาวาส แห่งพระอารามหลวง ภิกษุ ผู้ได้รับ นั้นเป็น เจ้าอาวาสอยู่แล้วแทบทั้งนั้น ฯ
(๑๔) ในรัชกาลที่ ๕ จัดคณะแขวงกรุงเทพ ฯ แล้ว เฉพาะแขวงดุสิต มาใน รัชกาลปัตยุบัน ได้จัดทั่วทุกแขวง รวมเข้าในคณะกลาง พระราชาคณะกำกับแขวง ในพระราชบัญญัตินี้ เป็นตัวเจ้า คณะแขวง มีตำแหน่งเสมอเจ้าคณะเมือง ถ้าไม่ได้ อยู่ในตำแหน่งที่สูงกว่า ฯ
(๑๕) เจ้าอาวาสเป็นพระอธิการ รองแขวงที่เรียกอีกโวหารหนึ่งว่า เจ้าคณะ หมวดเป็นเจ้าอธิการ ในบัดนี้พระอุปัชฌายะ ก็เป็นเจ้าอธิการเหมือนกัน ฯ
(๑๖) ไม่ใช่จะต้องสอนเอง เป็นแต่ดูแลให้ได้เล่าเรียน ด้วยประการใด ประการหนึ่ง ฯ
(๑๗) เช่นรับนิมนต์พระให้ ช่วยจัดที่ให้ ให้ยืมสิ่งของเครื่องใช้ ย่นลงว่า ช่วยเป็นสหาย ในการบุญของเขา ฯ
(๑๘) ผู้เป็นใหญ่เหนือตนในลำดับ กล่าวคือรองแขวง ถ้าเจ้าคณะแขวง จัดทำเอง ส่งเจ้า คณะแขวงทีเดียว ก็ได้ ฯ
(๑๙) ในหนังสือสุทธินั้น สำหรับพระภิกษุ มีข้อสำคัญจะพึงแสดง คือ เป็นผู้มี สังวาส เสมอ ด้วยสงฆ์ในวัด ที่ไปจาก กล่าวคือ ได้ร่วมอุโบสถปวารณา สังฆกรรม อยู่ด้วยกัน นอกจากนี้ บอกชื่อ ภิกษุ ชื่อวัดที่ไปจาก ชื่อวัด ที่จะไปอยู่ หรือตำบล ที่จะไป ธุระเป็นเหตุไป ยิ่งบอกให้รู้ว่า อุปสมบท ที่ไหน ใครเป็นอุปัชฌายะ ใครเป็น กรรม วาจาจารย์ ยิ่งดี สำหรับสามเณร ไม่มีข้อว่า ด้วยสังวาส เป็นแต่บอกให้รู้ว่า เป็นสามเณรโดยปกติก็พอ ฯ
(๒๐) เช่นถูกเรียกเข้ารับราชการ ต้องเสียเงินค่ารัชชูปการ ถูกเรียกเป็นพยาน ต้องไปเบิก ความ ที่ศาล เป็นตัวอย่างไม่ได้รับยกเว้น ดุจภิกษุ
(๒๑) คำว่า เข้าไปบวช หมายความว่า เป็นคฤหัสถ์เข้าไปบวชแล้ว อยู่ใน วัดนั้น ฯ คำว่า ไปอยู่ ในวัดนั้น หมายความว่า บวชในที่อื่น เป็นภิกษุหรือเป็น สามเณร เข้าไปอยู่เป็นเจ้าถิ่น ฯ แต่คำในพระราชบัญญัติว่า กว้าง แม้จะขออาศัย สีมาวัดนั้น อุปสมบทแล้วจะพาไปอยู่ที่อื่น หรือ ภิกษุเป็นอาคันตุกะมา จะขออาศัย อยู่ชั่วกาล ก็อยู่ในฐานะ จะต้องได้รับอนุญาตก่อนเหมือนกัน ฯ
(๒๒) หมายเอาคำสั่งเนื่องด้วยการปกครอง ฯ
(๒๓) ทัณฑกรรมนี้ หมายความว่า ลงโทษใช้ให้ทำการ เช่นใช้ให้ตักน้ำ ขนทราย กวาด หรือกักตัวไว้ แต่ไม่ได้ จำไม่ได้ขัง เป็นตัวอย่าง ไม่ใช่ลงอาชญา มีเฆี่ยนแลมัด เป็นต้น
(๒๔) นี้เป็นธุระของฝ่ายอาณาจักร หาใช่หน้าที่ของเจ้าอาวาสไม่ ฯ
(๒๕) ตำแหน่งรองเจ้าอาวาสนี้ไม่จำเป็นจะตั้งทุกวัด ฯ
(๒๖) ในบัดนี้(๒๔๕๗)เรียกสมุหเทศาภิบาล ฯ
(๒๗) มีธรรมเนียมว่าในชั้นต้น เจ้าคณะมณฑล ตั้งก่อน ต่อทำการมานาน โดยเรียบร้อย หรือมีความชอบจึง พระราชทานสัญญาบัตร เป็นพระครูมีชื่อ ฯ
(๒๘) วัดที่ขึ้นเฉพาะคณะนั้น เช่น วัดธรรมยุตกา ไม่ว่าอยู่ในกรุง หรือ ใน หัวเมือง ขึ้นเฉพาะ คณะธรรมยุตกนิกาย แม้วัดในกุรงเทพฯ ที่ขึ้นก้าวก่าย ในคณะเหนือบ้าง ในคณะใต้บ้าง ในคณะ กลางบ้างในเวลานั้น ก็นับเข้าในมาตรานี้ ฯ วัดที่ขึ้นเฉพาะพระราชาคณะนั้น เช่น โปรดให้พระราชา คณะรูปใดรูปหนึ่ง ผู้อยู่ต่างจังหวัดเป็นผู้กำกับวัดใดวัดหนึ่ง เฉพาะวัดหรือน้อยวัดไม่ถึงจัดเป็น หมวด ฯ
(๒๙) “การวัด” เนื่องด้วยปกครองถิ่นเช่น รักษาความสะอาด ดูแลปฏิสังขรณ์ ปกครองคน “การสงฆ์” เนื่องด้วย ปกครองภิกษุสามเณร เช่น รับคนเข้าบวช ให้โอวาทสั่งสอนจัดภิกษุเป็น เจ้าหน้าที่ทำการสงฆ์ เป็นต้นว่า เป็นผู้แจก ภัตตาหาร หรือเป็นผู้จัดเสนาสนะ ฯ
(๓๐) ในกรุงเทพ ฯ เรียกเจ้าคณะหมวด ฯ
(๓๑) นี้เป็นแต่กำหนดโดยประมาณ ควรถือเอาย่านเป็นสำคัญ เช่น ในย่านหนึ่ง มีวัดเพียง ๓ หรือ ๔ วัด ก็ควรจัดเป็นหมวดได้ แต่เป็นหมวดที่ไม่เต็ม จำนวน เจ้าหมวดควร เป็นผู้รั้ง ถ้ามี แต่ ๒ วัด ควรให้วัดหนึ่งขึ้นอีกวัดหนึ่ง ถ้าใน ย่านเดียวกันมี ๘ วัด จะแบ่งจัดหมวดหนึ่ง ๕ วัด อีกหมวดหนึ่ง ๓ วัด ดังนี้ไม่ได้ ต้องรวมเป็นหมวดเดียว ฯ
(๓๒) คือเป็นตำแหน่งที่ทรงตั้ง ฯ
(๓๓) ในครั้งนั้น เจ้าคณะมณฑล อยู่ในกรุงเทพฯ แทบทั้งนั้น พระราชบัญญัติ จึงเรียงไปตามนั้น ฯ
(๓๔) เมื่อทรงสถาปนา สมเด็จพระมหาสมณะขึ้นแล้ว เปลี่ยนเป็นถวายสมเด็จ พระมหา สมณะ ก่อนแต่ สมเด็จพระมหาสมณะ ทรงวินิจฉัยในมหาเถรสมาคมแล้ว ก็เป็นเด็ดขาดเหมือนกัน ตามพระราชบัญญัตินี้ ฯ
(๓๕) หมายความอย่างเดียวกับหมายเหตุที่ ๒๘ ฯ
|