พ.ร.บ.คณะสงฆ์ เปลี่ยนตั้งกรรมการ มส. มีผลบังคับใช้แล้ว
ที่มา ไทยโพสต์ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2561 โปรดเกล้าฯ พ.ร.บ.คณะสงฆ์ (ฉบับที่ 4) มีผลบังคับใช้แล้ว "วิษณุ" เผยเลือกกรรมการ มส. แล้วแต่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ชี้ชุดเก่า ยังทำงานได้จนกว่ามีชุดใหม่ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 17 ก.ค. เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คณะสงฆ์ (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2561 โดยมีใจความว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร มีพระราชโองการ โปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมาย ว่าด้วย คณะสงฆ์ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตรา พ.ร.บ.ขึ้นไว้โดยคำแนะนำ และ ยินยอม ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ทำหน้าที่รัฐสภา ทั้งนี้ ให้ใช้บังคับตั้งแต่วัน ถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป โดยผู้รับสนองพระราชโองการ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี สำหรับ พ.ร.บ.ฉบับนี้ มีทั้งหมด 11 มาตรา โดยมีการแก้ไขอันเป็นสาระสำคัญ ในมาตรา 3 ยกเลิกความในมาตรา 5 ตรี แห่ง พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 ซึ่งแก้ไข เพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.คณะสงฆ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2535 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “มาตรา 5 ตรี เพื่อให้การอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนา ตลอดจน การดูแล การปกครองคณะสงฆ์ เป็นไปเพื่อส่งเสริมการเผยแผ่หลักธรรม ของพระพุทธศาสนา ให้เกิดการพัฒนาจิตใจและปัญญา และมีการรักษาพระธรรมวินัย ของคณะสงฆ์ ให้เป็นไปอย่างถูกต้องดีงามโดยเคร่งครัด เป็นที่เลื่อมใสศรัทธา แก่พุทธศาสนิกชน ทั่วไป พระมหากษัตริย์จึงทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจ ในการแต่งตั้ง สถาปนา และ ถอดถอนสมณศักดิ์ของพระภิกษุในคณะสงฆ์ และแต่งตั้ง กรรมการมหาเถรสมาคม ตามพระราชบัญญัตินี้” ส่วนมาตรา 4 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นวรรคเจ็ดของมาตรา 10 แห่ง พ.ร.บ. คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.คณะสงฆ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2535 “ความในมาตรานี้ไม่กระทบกระเทือนพระราชอำนาจ ที่จะทรงพระกรุณาโปรด หรือมีพระราชวินิจฉัย ให้ปฏิบัติเป็นประการอื่น” มาตรา 5 ให้ยกเลิกความในมาตรา 12 แห่ง พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.คณะสงฆ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2535 และให้ใช้ความ ต่อไปนี้ แทน “มาตรา 12 มหาเถรสมาคมประกอบด้วย สมเด็จพระสังฆราชซึ่งทรง ดำรงแหน่งประธานกรรมการโดยตำแหน่ง และกรรมการอื่นอีกไม่เกินยี่สิบรูป ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งจากสมเด็จพระราชาคณะ พระราชาคณะ หรือพระภิกษุ ซึ่งมีพรรษาอันสมควร และมีจริยวัตรในพระธรรมวินัยที่เหมาะสม แก่การปกครอง คณะสงฆ์ การแต่งตั้งตามวรรคหนึ่ง และการดำเนินการตามมาตรา 15 (4) และ วรรคสอง ให้เป็นไปตามพระราชอัธยาศัย โดยจะทรงปรึกษาหารือกับ สมเด็จ พระสังฆราช ก่อนก็ได้” มาตรา 6 ให้ยกเลิกความในมาตรา 14 แห่ง พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “มาตรา 14 กรรมการมหาเถรสมาคม ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง อยู่ในตำแหน่ง คราวละสองปี และอาจได้รับการแต่งตั้งอีกได้” มาตรา 7 ให้ยกเลิกความในมาตรา 15 แห่ง พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 และให้ใช้ ความต่อไปนี้แทน “มาตรา 15 นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระตามมาตรา 14 กรรมการมหาเถรสมาคม ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งพ้นจากตำแหน่งเมื่อ (1) มรณภาพ (2) พ้นจากความเป็นพระภิกษุ (3) ลาออก (4) พระมหากษัตริย์ มี พระบรมราชโองการให้ออก ในกรณีที่กรรมการมหาเถรสมาคมพ้นจากตำแหน่ง ก่อน วาระ พระมหากษัตริย์ อาจทรงแต่งตั้งพระภิกษุตามมาตรา 12 รูปใดรูปหนึ่งเป็น กรรมการ แทน กรรมการซึ่งได้รับแต่งตั้งตามความในวรรคสองให้อยู่ในตำแหน่ง เท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของผู้ซึ่งตนแทน” มาตรา 8 ให้ยกเลิกความในมาตรา 15 ทวิ แห่งพ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.คณะสงฆ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2535 และให้ใช้ความ ต่อไปนี้แทน “มาตรา 15 ทวิ พระบรมราชโองการตามมาตรา 10 วรรคเจ็ด การ แต่งตั้ง กรรมการมหาเถรสมาคม ตามมาตรา 12 และการให้กรรมการ มหาเถรสมาคม พ้นจากตำแหน่งตามมาตรา 15 ให้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้ลงนามรับสนอง พระบรมราชโองการ” มาตรา 10 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา 20/2 แห่ง พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 “มาตรา 20/2 การแต่งตั้งและถอดถอนเจ้าคณะใหญ่ และเจ้าคณะภาค หากมี พระราชดำริเป็นประการใด ให้ดำเนินการไปตามพระราชดำรินั้น สำหรับการแต่งตั้ง และถอดถอนพระภิกษุ ผู้ดำรงแหน่งปกครองคณะสงฆ์ตำแหน่งอื่น ให้ดำเนินการ ไปตามพระราชบัญญัตินี้ เว้นแต่จะมีพระราชดำริเป็นประการอื่น” มาตรา 11 ให้กรรมการมหาเถรสมาคม ซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อนวันที่ พ.ร.บ.นี้ ใช้บังคับ ยังคงดำรงแหน่งต่อไป จนกว่าพระมหากษัตริย์จะทรงแต่งตั้ง กรรมการมหาเถรสมาคมขึ้นใหม่ ตาม พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติม โดย พ.ร.บ.นี้ ท้าย พ.ร.บ. ได้ระบุเหตุผลในการประกาศใช้ พ.ร.บ.ฉบับนี้คือ โดยที่ รัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทย ได้บัญญัติให้พระมหากษัตริย์ ทรงเป็น พุทธมามกะ และทรงเป็นอัครศาสนูปถัมภก และตามโบราณราชประเพณี ที่ได้ปฏิบัติสืบทอดกันมาเป็นเวลาช้านานนั้น พระมหากษัตริย์ทรงอุปถัมภ์ และ คุ้มครองพระพุทธศาสนา รวมทั้งทรงทำนุบำรุงสังฆมณฑล ให้เจริญมั่นคงเป็นไปตาม แบบแผนอันเรียบร้อยตลอดมา เพื่อให้พระพุทธศาสนารุ่งเรืองถาวร เป็นที่เลื่อมใส ศรัทธา แก่พุทธศาสนิกชน ซึ่งจะก่อให้เกิดการประพฤติปฏิบัติที่ดีงาม มีความร่มเย็น ผาสุกแก่ประชาชน และเป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติ สมควรบัญญัติกฎหมาย ให้เป็นการสืบทอด และธำรงรักษาไว้ซึ่งพระราชอำนาจตามโบราณราชประเพณี จึงจำเป็นต้องตรา พ.ร.บ.นี้ ด้านนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการเลือกกรรมการ มหาเถรสมาคม (มส.) ใหม่ภายหลัง พ.ร.บ.คณะสงฆ์มีผลบังคับใช้ว่า แล้วแต่จะ โปรดเกล้าฯ เพราะอย่างน้อย ขณะนี้หายไปหลายรูป ซึ่งในมาตราสุดท้ายของ พ.ร.บ.คณะสงฆ์ ระบุไว้ว่า ให้กรรมการมหาเถรสมาคม ที่มีอยู่ในปัจจุบันยังคง ดำรงตำแหน่งต่อไป จนกว่าจะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง ซึ่งขณะนี้มีไม่ครบ 20 ตามที่กำหนด.